ตุ่น บางพรม:
เดิมทีทุกคนในกองบรรณาธิการบอกว่าเราเป็นมนุษย์ที่ดู ‘green’ ที่สุด
นั่นเป็นความเชื่อ อาจเป็นเพราะภาพที่เห็นคือหอบถุงผ้า กระติกน้ำ กล่องข้าว ไม่ทิ้งก้นบุหรี่ลงพื้น ไม่สั่งน้ำตอนกินข้าวนอกบ้าน (ไม่ใช่เพราะพยายามไม่ใช้หลอด แต่กลัวเขาคิดเงิน) แยกขยะ ตั้งแต่ก่อนกระแสชาวโลกเขาฮิตกัน หรือมาก่อนกาล before it was cool มากๆ – พูดไปเหมือนจะดูดี
และนั่นก็เป็นความเชื่อจริงๆ เพราะบรรดาสรรพสิ่งทรัพย์สินติดตัวข้างต้นมันแทบไม่ได้เกี่ยวกับการผลิตหรือไม่ผลิตขยะประจำวันเท่าไรนัก ใช่ เราอาจไม่รับทุกพลาสติก (เพื่อให้ใบเสร็จเซเว่นต้องพิมพ์ข้อความเพิ่มมาอีกหนึ่งบรรทัด ‘ขอบคุณที่ไม่รับถุงพลาสติก’) เป็นเรื่องฟีลกู๊ดๆ สำหรับสิ่งแวดล้อม แท้จริงแล้วเป็นเรื่องดีมากๆ ที่มีการปฏิบัติในเชิงนโยบายของห้างร้านใหญ่ๆ ที่ไม่แจกถุงมันเสียเลย
แต่ปัญหาใหญ่มากๆ ที่ตามมาคือ แล้วจะเอาถุงที่ไหนใส่ขยะ เฮ้ย ต้องซื้อถุงดำหรือเปล่าวะ ไม่นะ…มันเป็นการเพิ่มขยะเข้าไปอีก หรือต้องซื้อถุงแบบย่อยสลายได้ ข้อดีคือ ‘ย่อยสลาย’ แต่ย่อยสลายแล้วเป็นอะไร เป็นอินทรีย์วัตถุทั้งหมดก็คงไม่ใช่ หรือจะค่อยๆ แตกตัวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยตามกาลเวลา สุดท้ายที่ได้มาก็คือปัญหาไมโครพลาสติกท่วมโลก อยู่ในฝน ในดิน ในอากาศ ไปยันก้นทะเล โอย…
ไม่ได้คิดเล่นๆ เพราะอาการ pro / con ถุงพลาสติกก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันยาวเหยียด
คิดไปคิดมา ถึงเราจะพกถุงผ้า ก็ต้องรับถุงพลาสติกอยู่ดี อย่างน้อยประหยัดกระดาษใบเสร็จเซเว่นไปได้นิดหนึ่ง และได้ถุงขยะ 1 ใบ
ตัดประเด็นถุงพลาสติกออกไป เราพบว่า ในชีวิตประจำวันถุงพลาสติกนี่มันยอดภูเขาน้ำแข็งชัดๆ
ขยะที่งอกขึ้นมาจากวิถีชีวิตประจำวันของเราคือบรรดาแพ็คเกจทั้งหลาย ซื้อนมหนึ่งกล่องคือขยะ 3 ชิ้น กล่อง หลอด พลาสติกหุ้มหลอด นมขวดเล็กคือขวดพลาสติก บวกฝา บวกพลาสติกหุ้มติดแบรนด์ ซื้อกล้วยหอม นอกจากได้เปลือกกล้วยยังได้ถุงพลาสติกเล็กๆ มาขยำเล่น เพราะคิดไม่ออกว่าจะเอาไปใช้ทำอะไรซ้ำได้อย่างไร
ทั้งหมดนี้ไม่รวมของเสพติด เช่น โค้กซีโร่ ยาสูบ ลูกอม ซึ่งมาพร้อมบรรจุภัณฑ์หลายชั้น ใบเสร็จ แผงยา ก็เหมือนกัน หรือวันที่ต้องทำอาหารกินเองก็มี มาม่า (ที่มาพร้อมเครื่องปรุง 3 ซอง) เปลือกไข่ ถาดไข่ ถาดโฟมใส่เนื้อไก่ เศษผักสด ถ้าประคองชีวิตเหล่านี้ตามวิถีปกติก็ไม่รู้จะหาช่องว่างหลบเลี่ยงอย่างไร
ดังนั้น ถ้าคิดแบบจริงจัง การเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองเพื่อสิ่งแวดล้อม – จริงๆ ขยายความได้ถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อสาธารณะ และการเคารพสิทธิของมนุษย์ว่ามีเท่ากัน – นั้นดี เชิงนโยบายก็ดี แต่จะช่วยอะไรได้กี่มากน้อยกัน ในเมื่อระดับอุตสาหกรรมยังงงๆ อยู่ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบบรรจุภัณฑ์หรือเทคโนโลยีการผลิตที่ทำให้เกิดของเหลือทิ้งน้อยที่สุดจะทำอย่างไร
อันนี้ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ พรุ่งนี้ก็คงต้องรับถุงเซเว่นมาใส่ขยะในบ้านอีกใบ แล้วก็เริ่มลูปใหม่ที่ไม่ว่าวันไหนๆ ก็เกิดขยะเสมอ
เป็นฮิปสเตอร์มันเหนื่อย:
งานวิจัยบอกว่า หากอยากแก้ปัญหาหนี้สินในครัวเรือน ให้เริ่มที่การจดบัญชีรายรับรายจ่าย
ส่วนข้าพเจ้าได้เรียนรู้ว่า ถ้าอยากลดปริมาณขยะ ให้เริ่มที่การจดบันทึกขยะ
ไม่ได้จู่ๆ รักโลกหรอก… ขี้เกียจจดน่ะ
แม่จูริ:
ตามข้อตกลงที่ประชุมกองบรรณาธิการ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่าเราจะทำสกู๊ปการผลิตขยะของแต่ละคนภายใน 1 วัน เป็นเวลา 7 วัน …
นี่จึงเป็นเสมือนการจดบันทึกพฤติกรรมการบริโภค ใช้จ่าย รวมถึงขยะที่ข้าพเจ้าผลิตในสัปดาห์ที่ผ่านมา
เมื่อภารกิจเริ่ม สิ่งที่ต้องระมัดระวังที่สุดก็คือ ‘การมีสติ’ … ก่อนทิ้งขยะทุกชิ้นลงถัง อ๊ะๆ อย่าลืมถ่ายรูปเก็บไว้ก่อนล่ะ
แต่กระนั้นวันแรกของภารกิจ ข้าพเจ้าก็กลับไม่มีขยะเหลือทิ้ง (ยกเว้นกระดาษชำระ) เมื่อในตู้เย็นมีข้าวสวย น้ำพริก และผักต้มของมื้อก่อนหน้าเหลืออยู่
22.8.19 (วันที่ 2)
07.00 เป็นวันที่ต้องออกไปทำธุระที่โรงพยาบาล แต่ลืมพกกระติกน้ำไปด้วย จึงจำเป็นต้องซื้อน้ำขวด พร้อมด้วยอาหารรองท้องมื้อเช้า
13.00 มื้อกลางวันเป็นอาหารที่แคนทีนโรงพยาบาล กินเกลี้ยงตามนิสัย (กินจุ)
22.30 อยู่โรงพยาบาลทั้งวัน หัวค่ำฝนกระหน่ำ รถก็ติดดดดดด… สิ่งที่โหยหาไม่ใช่อาหาร แต่เป็นเครื่องดื่มหวานๆ เย็นๆ … จึงได้ขยะเพิ่มมาอีก 1 ชิ้น
23.8.19 (วันที่ 3)
7.30 แวะซื้อข้าวเหนียวหมูปิ้งระหว่างเดินมาออฟฟิศ หมู 4 ไม้ ข้าวเหนียว 1 ห่อ (ช่วงนี้สังเกตว่าข้าวเหนียวห่อเล็กลงแต่ราคาเท่าเดิม) ดูแล้วจะไม่อิ่ม แวะซื้อกล้วยหอมอีก 1 ลูก
8.00 ให้ข้าวแมวที่ออฟฟิศ อาหารแมวถุงยักษ์ที่ใช้ตั้งแต่ต้นเดือน หมดในวันนี้แล้ว จึงได้ขยะมา 2 ชิ้น (แต่ก็เก็บถุงเอาไว้ให้แม่บ้านใส่พวกกระป๋องไปขายต่อ)
12.00 มื้อกลางวันไม่ได้ซื้ออะไรกินเพราะอิ่มข้าวเหนียวมาจากมื้อเช้า สบายยย…
17.00 พกไข่ต้มมาจากบ้านเป็นมื้อเย็น (ใส่มาในถุงของเมื่อวันก่อนนู้น)
24.8.19 (วันที่ 4)
7.00 มื้อเช้าวันเสาร์
13.00 มื้อกลางวัน… (คือมันก็ค่อนไปทางปลายเดือนแล้วอะเนาะ…)
25.8.19 (วันที่ 5)
7.00 ขยะของมื้อเช้า
กลางวัน-เย็น หุงข้าวกินกับอะไรๆ ที่ยังคงมีในตู้เย็น (ไม่มีขยะเพิ่ม)
26.8.19 (วันที่ 6)
7.30 หยิบนม 1 กล่องและกาแฟ 1 ซองมากินที่ออฟฟิศ ระหว่างทางรู้สึกว่ามันต้องไม่อิ่มแน่ๆ ที่คิดอยากจะลดนิสัยการซื้อของตัวเอง ก็พ่ายแพ้ให้แก่น้ำย่อยน้อยๆ ในกระเพาะ แวะ…ซื้อกล้วย
12.00 มื้อกลางวันเป็นข้าวและกับที่เหลือในตู้เย็นออฟฟิศ (ไม่มีขยะเพิ่ม)
16.00 จิบชาเก๊กฮวยระหว่างนั่งประชุม เพิ่มน้ำตาลในเลือดเสียหน่อย (เดี๋ยวหลับ)
*วันนี้จบการบริโภคที่เวลา 16.30*
27.8.19 (วันที่ 7)
8.00 พกกาแฟซองมาจากบ้าน ระหว่างทางไปออฟฟิศแวะซื้อไข่ปิ้ง 2 ลูก ที่ตั้งใจว่าจะไม่รับถุง แต่ความเคยชินและขาดสติก็ทำให้เราคว้าถุงหมับตอนที่แม่ค้ายื่นมาให้ทันที
12.00 มื้อกลางวันกินข้าวที่หุงมาจากบ้าน กับแกงถุงที่ซื้อจากตลาดนัดของเย็นเมื่อวาน
*วันนี้จบการบริโภคที่เวลา 12.30*
มนุษย์พ่อบ้าน
สภาพชีวิตการกินอยู่ตลอด 7 วัน 7 คืน ดำเนินไปอย่างซ้ำซากบนพื้นฐานของความพอเพียง ทุกๆ วันจะเริ่มด้วยมื้อเช้าผสมมื้อเที่ยง อย่างขนมปังหรือแครกเกอร์โง่ๆ กินคู่กับกาแฟผงสำเร็จรูป หรือบางวันก็ซดกาแฟแกล้มข้าวเหนียวหมูปิ้ง
ตามด้วยมื้อเที่ยงอย่างข้าวราดแกง กินคู่กับสะตอ ตบด้วยกล้วยน้ำว้าสักลูก ผลลัพธ์ที่ได้คือ ขยะชีวภาพจากเศษกระดูกหมู หัวปลา ก้างปลา ฝักสะตอเหี่ยวๆ และเปลือกกล้วย
มื้อเย็น อาหารประทังชีวิตคือการเก็บกวาดเศษที่เหลือจากมื้อกลางวันอีกที บางวันหากแม่บ้านขี้เกียจหุงหาอาหาร ก็ต้องดำรงชีพด้วยแกงถุงสารพัดชนิด สลับกับมาม่าบ้างในบางโอกาส พอหมดแต่ละวันจึงมีขยะจากถุงพลาสติกขนาดย่อมๆ เฉลี่ยวันละ 1-2 ถุง
ขยะที่ผลิตอย่างเสมอต้นเสมอปลาย หนีไม่พ้นเศษซากก้นบุหรี่ราวๆ วันละ 15 มวน กับเบียร์ราคาถูกที่สุดในเซเว่นวันละประมาณ 2 กระป๋อง ซึ่งถูกยัดรวมไว้ในถุงดำขนาดใหญ่อย่างที่เห็น
ประเด็นก็คือ ทั้งขยะพลาสติกและขยะชีวภาพอย่างเศษอาหาร จะถูกซุกรวมกันโดยไม่มีการคัดแยก คงมีเพียงกระป๋อง/ขวดเบียร์เท่านั้นที่ได้รับการคัดแยกอย่างประณีตบรรจง ด้วยหวังว่าจะเกิดประโยชน์กับชาวโลกได้บ้าง
ธิดาป่าแดด:
สิ่งหนึ่งที่มองเห็นจากการถ่ายรูปขยะบ้าง (ลืมถ่ายบ้าง) มาตลอด 7 วัน คือ มันไม่ใช่แค่ปัญหา ‘นี่ขยะของฉัน’ ‘โน่นขยะของเธอ’ แต่มีผู้เล่นเต็มไปหมดในวงจรการผลิตสินค้าหนึ่งชิ้นไปสู่ผู้บริโภค และสุดท้ายก็ถูกทำให้เป็นขยะ
เราเก็บถุงยืด กล่องนมและขวดน้ำพลาสติกเก็บไว้ กะว่าจะรวบรวมบริจาคให้องค์กรที่รับรีไซเคิล แต่ขยะจำนวนไม่น้อยของเราเคยเป็นอดีตถุงขนม ถุงเหล่านี้รีไซเคิลยาก ไม่มีใครรับนอกจากจะเอาไปทำเป็นอิฐ eco brick ซึ่ง อ้า… เราบิดขวดน้ำลงถุงสะสมจนยับเยินแล้ว เอาเป็นว่ารีไซเคิลได้อย่างก็ต้องสละอีกอย่าง นั่นคือเท่าที่เราทำได้
ส่วนที่เราทำไม่ได้ เคยคิดเล่นๆ ขณะที่จำใจต้องหย่อนถุงขนมลงถังขยะว่า โรงงานผลิตขนมกำลังทำให้คนซื้อ ซึ่งมีเงินซื้อคราวละ 5 บาท 10 บาท รู้สึกผิดอย่างใหญ่หลวงที่ต้องรับผิดชอบภาระกำจัดขยะปลายทางแทนโรงงาน ถ้าหากเราส่งคืนถุงเหล่านี้ให้โรงงานต้นทางรับไปจะได้ไหมนะ ถ้าจำไม่ผิด ตามหลักเศรษฐศาสตร์ บริษัทขนาดใหญ่มีต้นทุนกำจัดมลพิษต่ำกว่าประชาชนรายบุคคลอยู่แล้วนี่นะ
นั่นคือตัวละครอีกตัวที่เรามองเห็นในวงจรขยะ
อีกอย่างที่คิดเล่นๆ ตอนที่พกขวดน้ำเดินไปกินข้าวก็คือ มีคนพูดกันว่าจำนวนการใช้ขวดน้ำพลาสติกจะลดลงอย่างจริงจังกว่านี้หากมีตู้กดน้ำสาธารณะตามจุดต่างๆ ในเมือง มิฉะนั้นคนที่พกกระติกและลืมกดน้ำมาจากบ้านก็ต้องจำใจซื้อน้ำขวดอยู่ดี กลายเป็นว่าวันนั้นปณิธานที่จะช่วยโลกลดขยะก็ทำไม่สำเร็จ
ช่วงที่ผ่านมาบังเอิญได้เดินทางไปต่างจังหวัด ที่เขาไม่มีแบบเราหรอก ประเภทรวบรวมขยะส่งให้องค์กรอิสระนำไปรีไซเคิล เพราะต้องล้าง ตาก แพ็ค แบกไปไปรษณีย์ นั่นไม่ใช่วิถีชีวิตเขา ไม่มีถังขยะสี่ห้าถังจากเทศบาลตั้งไว้ให้ด้วย มีตะกร้าสานเก่าๆ ครอบถุงดำจากบ้านใดบ้านหนึ่งตั้งไว้ให้แทน การกำจัดและคัดแยกก็ทำโดย ‘ลุงซาเล้ง’ ตัวละครลับในแผนผังการจัดการขยะ แต่ไม่ยักเห็นรัฐยื่นมือเข้ามาพยุงหน้าพยุงหลังตัวละครคนอื่นคนไหน
เราจัดการ ‘ขยะของฉัน’ แล้ว เราอยากเห็นการจัดการ ‘ขยะของเรา’ ด้วยการวางระบบระเบียบที่เอื้อให้เกิดการกำจัดขยะอย่างครบวงจรจากหน่วยงานรัฐและบริษัทเอกชนด้วย
ไอแอมบักโก
แปลกใจเล็กน้อยที่วันหนึ่งๆ ชีวิตข้องแวะกับกิจกรรมที่ทำให้เกิดขยะน้อยมาก กินอาหารวันละ 2 มื้อ ทั้งหมดมักเกิดขึ้นที่ร้านอาหารตามสั่ง และร้านลาบ น้ำชากาแฟไม่ซื้อเพราะที่ออฟฟิศก็มีกาแฟสดรสเลิศกว่าการแวะเสี่ยงดวงข้างทาง เพราะนอกจากปริมาณคาเฟอีนไม่คงที่แล้ว น้ำตาลยังคงทนอีกต่างหาก
กระนั้นสัปดาห์ที่ชาว WAY ทดลองบันทึกว่าตนเองสร้างขยะสักกี่มากน้อย เป็นห้วงเวลาเดียวกันที่ผมมีธุระต้องพาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่แล้งไร้อาหารการกิน บะหมี่สำเร็จรูป ข้าวกล่อง และกาแฟ 3 in 1 จึงปรากฏตัวเพื่อประทังความหิว และบรรเทาความง่วง
ใช้น้อย ทิ้งน้อย กินน้อย ขนาดเพียงนี้ นี่ก็นึกสงสัยว่าพุงกลมๆ ที่แบกอยู่ทุกวันนี้มาจากไหน คำตอบน่าจะอยู่มุมโต๊ะของภาพใดภาพหนึ่งนั่นแหละ
มี ALL member ไหมคะ?:
หลังจากครบ 1 สัปดาห์ของการบันทึกขยะ ก็ค้นพบว่ามีรูปขยะเต็มมือถือเลย ใช่สิ ฮ่าาาา (ไม่มีจะเอางานที่ไหนไปส่งล่ะคุณ)
เอาล่ะเข้าเรื่องๆ ออกตัวก่อนว่าไม่ได้เป็นคนสายกรีน และตลอดหนึ่งสัปดาห์ ก็พยายามทำทุกอย่างให้เป็นปกติ แต่มันก็มีบ้างแหละที่กำลังจะกินขนมแล้วรู้สึกว่า อ่า…ขยะอีกแล้ว ขี้เกียจถ่ายรูปจัง ก็เลยอดกิน อาจพูดได้ว่า ถ้ารู้สึกว่ามีคนจับตาดูอยู่ว่าเราจะทิ้งขยะอะไรบ้างอาจทำให้เราบริโภคน้อยลงเพื่อผลิตขยะน้อยลง งั้นก็เป็นวิธีลดขยะได้นะเนี่ย แต่ถ้าต้องมากังวลตลอด ชีวิตก็น่าจะลำบากเหมือนกัน
แม้จะเข้าร้านสะดวกซื้อแล้วบอกไม่รับถุง แต่บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ก็ยังเป็นพลาสติกอยู่ดี ต้องยอมรับว่าพลาสติกทำให้ชีวิตเราสะดวกขึ้นจริงๆ ความขี้เกียจก็อีกเรื่อง บางทีอยู่บ้านฉันก็ใช้หลอดพลาสติกดูดน้ำ เพราะขี้เกียจล้างแก้ว ก็ดูสิ้นเปลืองไม่รักโลกอยู่หน่อยๆ เนอะ เอาเป็นว่าถ้าลดการบริโภคลง ขยันขึ้นสักหน่อย ก็น่าจะช่วยลดขยะได้นะ
เทพีรามคำแหง:
- ตื่นนอน เข้าห้องน้ำแปรงฟัน อ้าว…ยาสีฟันหมด แกะกล่องใหม่ ทิ้งหลอดเก่า ขยะสเต็ปที่ 1
- อาบน้ำเสร็จทาครีมซะหน่อย อ้าว…ครีมซองหมด ทิ้ง ซื้อใหม่ “ขอบคุณที่ไม่รับถุงค่า” พนักงานพูดพร้อมยื่นใบเสร็จให้ ขยะสเต็ปที่ 2
- เริ่มมื้อแรกของวันด้วยความร้อนรน แกะซีล เปิดฝาถ้วย เทน้ำร้อน ใส่เครื่องปรุง พร้อมใช้ส้อมพลาสติกที่ให้มาด้วยจ้วงเส้นเข้าปาก ขยะ 9 ชิ้น ต่ออาหาร 1 มื้อ ขยะสเต็ปที่ 3
- สายแล้ววิ่งขึ้นรถเมล์ “ลาดพร้าว xx ค่ะ” ตั๋วกระดาษใบจิ๋วถูกยื่นใส่มือ ขยะสเต็ปที่ 4
.
- ถึงเวลากินข้าว บทเรียนจากมาม่าเมื่อเช้าคือ กินที่ร้านดีกว่า แต่ก็ยังมิวายมีเศษซากต้นหอม ผักชี ในจานข้าวมันไก่ที่ไม่ได้เขี่ยเข้าปาก ขยะสเต็ปที่ 5
- ท้องร้องจ๊อกๆ หยิบนมมากินสักกล่อง แกะหลอด จิ้ม ดูด ขยะสามชิ้น ในสเต็ปที่ 6
- ขากลับแวะลงกลางทาง ซื้อชาไข่มุก 1 แถม 1 ขยะคูณสองในทันที แถมยังต้องขึ้นรถเมล์อีกรอบเพื่อกลับบ้าน วันนี้ได้ขยะเพิ่มจากปกติมาหนึ่งชิ้น
.
- อ๊ะ! ทุเรียนของโปรด…อิ่มแปล้ เหลือเม็ดทุเรียนและกระดาษห่อไว้ให้แม่ดูต่างหน้า
- เช็ดหน้า ล้างหน้า ชีวิตผู้หญิงอย่างเราๆ ก็ต้องพิถีพิถันในระดับนึง สำลี 5 แผ่น ชีทมาสก์ 1 แผ่น
- ก่อนล้มตัวลงนอนใช้ทิชชู่สั่งน้ำมูกหนึ่งที ปื้ดดด…หลับฝันดีราตรีสวัสดิ์
…ขยะสเต็ปที่เท่าไหร่ลืมนับ เพราะเยอะเกินไป หลังจากสำรวจตัวเองมา 1 สัปดาห์เต็ม เฮ้ย…ทุกอิริยาบถล้วนมีขยะ อย่างมาม่ามื้อเดียวปาไป 9 ชิ้น และยังมีทิชชู่ที่ต้องใช้ทุกครั้งเวลาเข้าห้องน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีก ก็พยายามช่วยโลกอย่างเต็มที่เท่าที่มนุษย์ตัวจ้อยคนหนึ่งจะทำได้ ข้าวก็กินที่ร้านเอา น้ำก็กรอกไปเอง พยายามจะพกถุงผ้าให้ติดมือ แต่ก็นั่นแหละบางครั้งมันก็ต้องใช้ถุงพลาสติก เช่น ใส่ถ้วยมาม่าร้อนๆ แต่ก็จะใช้ประโยชน์ให้คุ้มที่สุดนะ เก็บมาใส่ขยะที่บ้านต่อ…
นางฟ้าเกษตรนวมินทร์
การที่เรามั่นใจว่า เรามีกระเป๋าผ้าจำนวนมากที่สุดในกองบรรณาธิการ ไม่ได้แปลว่าเราจะใช้พลาสติกน้อยกว่าคนอื่น
เรามั่นใจว่าเรามีกระเป๋าผ้าไม่ต่ำว่า 30 ใบ ที่กองๆ ทับๆ กันอยู่ในห้องนอน
แต่การมีถุงผ้าของเรากลับไม่ได้ตอบโจทย์การใช้งานเท่าที่ควร ทั้งที่ความตั้งใจเดิม เราซื้อถุงผ้ามาใช้เพราะต้องการลดปริมาณถุงพลาสติกที่ได้จากการซื้อของ แต่ผลสรุปการสะสมขยะทั้งหมด 7 วัน ช่วยสะกิดไหล่เบาๆ แล้วมีเสียงสะท้อนว่า ‘เฮ้ย นี่ใช้ถุงพลาสติกเยอะไรขนาดนั้นอะ’
สารภาพตรงๆ ภาพขยะที่เห็นในแต่ละวัน ถ่ายครบบ้างไม่ครบบ้าง นึกได้ก็ถ่าย นึกไม่ได้ก็ลืม แต่พยายามเลือกขยะตัวท็อปๆ มาให้ดู ขยะในชีวิตประจำวัน ขยะ everyday จำพวก สำลีเช็ดเครื่องสำอาง ทิชชู่ไว้สั่งน้ำมูก คอตตอนบัดแคะหู ก็ขอสงวนไว้ไม่ได้ถ่ายให้ดู
เห็นได้ว่าขยะตัวท็อปของเราในแต่ละวัน ล้วนมาจากของกินทั้งนั้น ตามปกติเราชอบซื้ออาหารกลางวันเข้ามากินที่ออฟฟิศ เพราะ 1. ไม่อยากนั่งที่ร้าน 2. อยากเปิดยูทูบดังๆ ดูคลิปนักร้องเกาหลีที่เราชอบระหว่างกินข้าว และนั่นเป็นเหตุให้เรากลายเป็นเจ้าหญิงถุงก๊อบแก๊บทันที
ขยายภาพให้เห็นเพิ่มเติม ผ่านเมนูโปรดอย่างก๋วยเตี๋ยวไก่ ประกอบไปด้วย ถุงพลาสติกหูหิ้ว 1 ถุง / ถุงร้อนใส่เส้น 1 ถุง / ถุงร้อนแยกน้ำซุป 1 ถุง / ถุงเครื่องปรุง 3 ถุงเล็ก (น้ำส้ม-พริก-น้ำตาล) นี่ยังไม่รวมน้ำหวานแก้วพลาสติกหน้าออฟฟิศอีก
ข้อดีของการบันทึกขยะทั้ง 7 วัน ทำให้เห็นพฤติกรรมของตัวเองมากขึ้น แต่ครั้นจะให้เราลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเอง ย้อมตัวให้กลายเป็นสายกรีนตั้งแต่หัวจรดเท้า โดยที่ไม่มีนโยบายกรีนๆ (a.k.a นโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างๆ) มาช่วยสนับสนุน มันก็คงจะ…ฮึ่ม
ดังนั้นสิ่งที่เราพอทำได้ ทำแล้วสบายใจ ก็จะขอทำต่อไป อย่างการพยายามปฏิเสธหลอด ปฏิเสธถุงพลาสติก น่าจะช่วยโลกได้ไม่มากก็น้อยล่ะมั้ง
Rich Man’s War Poor Man’s Blood:
ขยะส่วนใหญ่ที่ถูกผลิตจากกิจวัตรของข้าพเจ้ามักจะเป็นขยะจากการบริโภค เริ่มวันด้วยกาแฟ ถ้าใช้วิธีชงแบบดริปก็จะมีกระดาษกรองและกากกาแฟ ถ้าซื้อกาแฟจากร้านก็จะได้แก้วกระดาษกับฝาปิดแก้วพลาสติก แต่ช่วงนี้รวบรวมความง่วงงุนจากบ้านมานั่งดื่มกาแฟที่สำนักงาน จึงไม่ได้ผลิตขยะจากกาแฟ นอกจากกากกาแฟ ยามเช้าของกาแฟย่อมต้องมีก้นบุหรี่ ก้นบุหรี่ก็เป็นขยะที่ข้าพเจ้าขยันผลิตประหนึ่งเป็นโรงงานก้นยาสูบ ก๊าซที่บรรจุในไฟแช็กก็ดันมาหมดในช่วงทำภารกิจ ข้าพเจ้าจึงตระหนักว่าตนผลิตขยะอันตรายอยู่ไม่น้อย ไฟแช็กเอย แบตเตอรีที่ใช้ในการทำงาน แบตไมค์บันทึกเสียง ฯลฯ
เช้า เที่ยง หรือเย็น คือช่วงไพรม์ไทม์แห่งการผลิตขยะในชีวิตประจำวันของทุกคนกันอยู่แล้ว บางคนผลิตขยะอินทรีย์ เช่น เปลือกไข่ กระดูกหมู เปลือกสะตอ บางคนผลิตขยะเคมีจำพวกถุงพลาสติก กระดาษที่มาในรูปของใบเสร็จ
ประสบการณ์ของข้าพเจ้าที่ปรี่ล้นออกมาในช่วงของการทำภารกิจร่วมกับพี่ๆ น้องๆ ในกองบรรณาธิการ WAY ก็คือ การตระหนักรู้ว่าตนผลิตขยะจนเป็นสันดาน ข้าพเจ้าทิ้งขยะจนเคยชิน ฝังในจิตใต้สำนึก ขยะหลายชิ้นจึงไม่ถูกบันทึกเพราะกว่าจะรู้เนื้อรู้ตัวว่าต้องบันทึกขยะที่ตนผลิตมันก็ลงไปอยู่ในถังขยะเสียแล้ว นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังเกิดคำถามที่ยังไม่ได้ค้นหาคำตอบอย่างจริงจัง คนที่มีความสามารถจัดการเรื่องเงินได้ดีกับจัดการได้แย่ ใครมีแนวโน้มจะผลิตขยะมากกว่ากัน