วันนี้ (18 พฤษภาคม 2566) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แถลงจัดตั้งรัฐบาลจากความร่วมมือของ 8 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทยรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ จากผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ มีจำนวนผู้แทนราษฎรรวมกันทั้งสิ้น 313 คน พร้อมประกาศแนวทางจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ดังต่อไปนี้
หนึ่ง-ทุกพรรคเห็นชอบสนับสนุนหัวหน้าพรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตามเสียงข้างมากจากผลการเลือกตั้งของประชาชน
สอง-ทุกพรรคจะจัดทำข้อตกลงร่วมหรือ Memorandum of Understanding (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อแสดงถึงแนวทางการทำงานร่วมกัน โดยจะจัดแถลงต่อสาธารณชนในวันที่ 22 พฤษภาคม อีกครั้ง เพื่อแก้ไขวิกฤตทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
สาม-ทุกพรรคจะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เตรียมความพร้อมให้สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อจากรัฐบาลเดิมได้อย่างไร้รอยต่อ
ในช่วงถาม-ตอบ ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อกังวลต่อการโหวตนายกฯ ในสภา พิธาตอบว่า คณะทำงานเจรจาและคณะทำงานเปลี่ยนผ่านได้วางแผนฉากทัศน์ไว้ มี road map และมีเป้าหมายที่ชัดเจน จึงไม่มีความกังวล โดยทุกพรรคมีคณะทำงานและมีการทำงานเป็นทีมเวิร์ค
“ผมคิดว่า 313 เสียง ณ วันนี้เป็นความปกติของระบบประชาธิปไตยที่เพียงพอ การต้องมานั่งคิดหรือตามหา 376 เสียง จึงไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญในตอนนี้” พิธากล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ดี อาจมีหลายฉากทัศน์ที่คาดไม่ถึง ซึ่งให้กรอบคณะทำงานในการเจรจาหาตัวเลขที่สมดุลในการจัดตั้งรัฐบาลและลดความเสี่ยงที่จะตามมา ตนจึงไม่มีความกังวล จัดตั้งรัฐบาลได้แน่นอน
พิธาเน้นย้ำว่า การจัดตั้งรัฐบาลหนนี้ไม่ได้นำเก้าอี้แต่ละกระทรวงหรือผลปรโยชน์ของแต่ละพรรคการเมืองเป็นปัจจัยหลักในการจัดตั้งรัฐบาล หากแต่นำวาระของประชาชนและนโยบายแต่ละพรรคเป็นตัวตั้ง เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด
ขณะเดียวกัน นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยสนับสนุนพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี และจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเป็นรัฐบาลแห่งความหวัง ความฝัน ของพี่น้องประชาชนให้ได้ แม้จะต้องพูดเป็นพันครั้งก็ตาม
“เรามั่นใจว่าจะมีเสียงในรัฐสภา 376 เสียง เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีและเข้าสู่กระบวนการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเป็นรัฐบาลของประชาชน” ชลน่านทิ้งท้าย