เรื่อง : รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาหารเป็นผลผลิตทางอารยธรรม ที่แต่ละชนชาติสั่งสมและถ่ายทอดสืบต่อกันมา อาหารจึงเป็นร่องรอยและหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพื่อบอกเล่าความเป็นมาของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี
วัฒนธรรมบนโลกมีความหลากหลายเพราะเหตุผลหลายด้าน ทั้งลม ฟ้า ดิน น้ำ อากาศ ทำให้วิถีชีวิตและพฤติกรรมของมนุษย์ในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน อาหารก็เป็นสิ่งหนึ่งที่แปรผันตามไปด้วย
1 มื้อของชาวประมงเอสกิโม คงไม่เหมือน 1 มื้อของนักธุรกิจดูไบ
เมื่อการเดินทางของวัฒนธรรมอาหารเริ่มต้นขึ้น คนก็เริ่มกินอาหารต่างสัญชาติ
ฟาสต์ฟู้ดเป็นหนึ่งในการก้าวข้ามพรมแดนวัฒนธรรม ที่เดินทางข้ามทะเลหลายพันไมล์ เพื่อสร้างการบริโภคด่วนๆ ให้กลายเป็นแฟชั่น โดยไม่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและคุณค่าทางอาหาร
ความพยายามทำอาหารด่วนให้กลายเป็นมื้อหลักของโลกนี่เอง เป็นสาเหตุของวิถีการกินแบบผิดๆ เมื่อหญิงในเขตร้อนดันกินมื้อเที่ยงของชายในนิวยอร์ก กลายเป็นบริโภคพลังงานเข้าไปมากเกินความจำเป็น ผลลัพธ์จึงกลายเป็นปัญหาสุขภาพ
หลังโลกาภิวัตน์ มนุษย์เริ่มตระหนักว่า อาหารเป็นวัฒนธรรมที่ยึดโยงและส่งผลโดยตรงต่อชีวิตมนุษย์ ความจำเป็นของแต่ละบุคคลจึงกลายเป็นปัจจัยหลักในการเลือกบริโภค
เราจึงต้องเริ่มตั้งคำถามว่า
‘ในความหลากหลายของมนุษย์โลก เราควรกินอาหารเหมือนกันหรือไม่?’
……………………………………….
ช่างภาพอิสระวัย 62 ปี ปีเตอร์ เมนเซล และ เฟธ ดาลุยโซ ผู้เป็นภรรยา ลงทุนควักเงินส่วนตัว 640,000 ปอนด์ (ประมาณ 44 ล้านบาท) เดินทางไปยัง 30 ประเทศ เพื่อสำรวจ 80 มื้ออาหารประจำวันของแต่ละมุมโลก
บันทึกการเดินทางนี้ใช้ชื่อว่า ‘What I Eat: Around the World in 80 Diets’
หลังว่างเว้นจากงาน เมนเซล-ช่างภาพระดับรางวัล และ ดาลุยโซ-อดีตผู้ประกาศข่าวทีวี อุทิศเวลา 3 ปีครึ่งเพื่อเดินทางไปเก็บภาพอาหารพร้อมเรื่องราวของมันมารวมเป็นรูปเล่ม
ไม่ใช่เล่มแรก เมนเซล เคยทำโปรเจ็คท์ภาพถ่ายอาหารมาแล้วในปี 2005 ‘Hungry Planet: What the World Eats’ เล่าเรื่องราวของอาหารของหลากหลายครอบครัวบนโลก จนสามารถคว้ารางวัล Book of the Year จากหลายสถาบันมาครอง
เพราะเป็นช่างภาพ Around the World in 80 Diets จึงเล่าเรื่องด้วยรูป โดยใช้ตัวละครในการถ่ายทอดเรื่องราว 80 คนจากทุกภูมิภาค ที่เมนเซลและดาลุยโซเดินทางไปเยือน พวกเขาจะปรากฏตัวบนภาพถ่ายเคียงข้างสรรพอาหารประจำวันที่วางเรียงรายบนโต๊ะ
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลการวิเคราะห์เชื้อชาติ อายุ ส่วนสูง น้ำหนัก อาชีพ เปรียบเทียบกับปริมาณสารอาหาร พลังงาน เพื่อหาคำตอบเรื่องความเหมาะสมระหว่างอาหารกับตัวผู้รับประทาน
หลากหลายมื้ออาหาร
เมื่อต้องใช้แรงงานหนัก ช่างเชื่อมเหล็กบนยอดตึก 50 ชั้นในชิคาโก เจฟฟ์ ดีไวน์ วัย 39 ปี เจ้าของส่วนสูง 185 เซนติเมตร หนักถึง 105 กิโลกรัม รับพลังงานเข้าไป 6,600 แคลอรีต่อวัน จากอาหารให้กำลังงานมากมาย
เคอร์ติส นิวคัมเมอร์ วัย 20 ปี ทหารหนุ่มผู้กำลังฝึกหนักเพื่อเตรียมไปประจำการในอิรัก ต้องอาศัยอาหารพิเศษจากกองทัพเพื่อเลี้ยงร่างกายที่สูง 196 เซนติเมตร หนัก 87 กิโลกรัม ให้อยู่รอดสนามฝึกทะเลทรายโมฮาวี เขาจึงต้องรับพลังงานจากอาหารวันละ 4,000 แคลอรี
ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งของกองทัพอเมริกา ฟิลิปเป อาดัมส์ ทหารผ่านศึกร่างผอมบางวัย 30 ปี บริโภคเพียง 2,100 แคลอรีต่อวัน เมื่อเทียบกับส่วนสูง 177 เซนติเมตร หนักแค่ 60 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าเหมาะสมกับอาชีพนอนเล็งปืนยาว-สไนเปอร์ในสงครามอิรัก
ข้ามไปยังอีกซีกโลก อาหารประจำวันของ นูลคิซารูนิ ทาราคอย วัย 38 ปี ภรรยาคนที่ 3 จากทั้งหมด 4 คน ของหัวหน้าเผ่ามาไซ ในเคนยา กินอาหารหลักในแต่ละวันเป็นนมและเนื้อสัตว์ต่างๆ ที่เลี้ยงไว้ โดยอาหารรอบๆ บ้านนี้ ให้พลังงานกับเธอราว 800 แคลอรีต่อวัน
ในทะเลทราย พ่อค้าอูฐ ซาเลห์ อับดุล ฟาดัลลาห์ วัย 40 ปี ทำการค้าอยู่ที่ตลาดเบอร์แกช ชานกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ แต่รับพลังงานเข้าไปถึง 3,200 แคลอรี เมื่อเทียบกับส่วนสูง 172 กิโลเมตร หนัก 73 กิโลกรัม เขาควรเปลี่ยนอาชีพเป็นนักวิ่ง เพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกินออกไปบ้าง
ครูสอนดนตรีวัย 36 ปี แอนซิส เซากา ชาวลัตเวีย ทำงานกับคณะประสานเสียงทั้งวัน ซึ่งถือว่าใช้แรงไม่มาก แต่เขากลับบริโภคอาหารมื้อใหญ่จำพวกแป้งและแฮม ทำให้ได้พลังงานมากถึง 3,900 แคลอรี
ในเซียงไฮ เจ้า เสี่ยวหลี สาว 16 นักกายกรรม ผู้มีส่วนสูงเพียง 157 เซนติเมตร หนัก 44 กิโลกรัม รับพลังงานเข้าไป 1,700 แคลอรี จากข้าวต้ม ชา และโยเกิร์ต เพื่อชดเชยกับการฝึกหนัก 5 ชั่วโมงต่อวัน อาจเป็นเหตุผลเรื่องน้ำหนักและการทรงตัว ทำให้สาวจีนคนนี้ต้องพยายามควบคุมอาหาร
[ข้อมูล : www.aroundtheworldin80diets.com]
********************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2554)