การใส่ ‘ชาร์โคล’ ในอาหาร ไม่ได้ทำให้มันดู healthy ขึ้น

ภาพ: ฌ ยลมน

ราวสองปีที่ผ่านมา ชาร์โคลในขนมปัง ยาสีฟัน ครีมล้างหน้า ยาสระผม กระทั่งในน้ำผลไม้หรือสมูทตี้ ดูจะกลายเป็น ‘ซิกเนเจอร์’ ของความสุขภาพดีไปแล้ว

หากเอาเข้าจริง…นอกจาก ‘ความดำ’ ที่ให้ความรู้สึกไม่น่ากิน และความไม่น่ากินมักลิงค์ไปสู่คำว่า ‘สุขภาพดี’ สรรพคุณของชาร์โคลมีไว้เพื่อการใดบ้าง

Activated charcoal ผงถ่านกัมมันต์หรือถ่านชาร์โคล ถูกโฆษณาในวงการอาหารสุขภาพในฐานะเป็นตัวดูดซับสารพิษ (detoxifying) ที่ ฮิลารี พอลแลค (Hilary Pollack) คอลัมนิสต์แห่ง MUNCHIES เว็บไซต์ที่สนใจเรื่องอาหารและวัฒนธรรมเปรียบไว้ว่า

ในยุคของเธอ ชาร์โคลคือยาที่เอาไว้ล้างท้องเวลาน้องชายเผลอกินน้ำยาล้างห้องน้ำหรือยาแก้ปวดเกินขนาด

ไม่เกินจริงไปกว่านั้น ทิม คอลฟิลด์ (Tim Caulfield) หัวหน้าทีมวิจัยด้านกฎหมายสุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา (University of Alberta) ประเทศแคนาดา ผู้เขียนหนังสือ Is Gwyneth Paltrow Wrong About Everything?  หนังสือที่ตั้งคำถามกับ กวินเน็ธ พัลโทรว์ นักแสดงที่เป็นไอคอนของคนรักสุขภาพ ใช้ทวิตเตอร์บอกเล่าวิธีกินและออกกำลังกายของเธอ โดยที่มีผู้ติดตามราว 2.87 ล้านคน หนังสือเล่มนี้ของคอลฟิลด์เป็นที่รู้จักในแวดวงอาหารว่า เป็นไปเพื่อลบล้างความเชื่อเรื่องการรักสุขภาพสุดโต่ง

เขาอธิบายว่า ชาร์โคลมีคุณสมบัติป้องกันการดูดซับสารพิษจริง หากก็มีประโยคทัดทานว่า…

“แม้ธุรกิจอาหารสุขภาพจะเฟื่องขึ้นมาก แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์พิสูจน์ว่าการ ‘ดีท็อกซ์’ จะมีผลต่อสุขภาพดีอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร เพราะอวัยวะภายในของเรามันทำหน้าที่นั้นอย่างเพียงพอต่อสมดุลในร่างกายอยู่แล้ว

“เหมือนเวลาที่คุณฉี่น่ะ นั่นมันก็คือการดีท็อกซ์อย่างหนึ่ง ซึ่งฟรีและก็ไม่เสียเวลาเลยด้วย” คอลฟิลด์ให้สัมภาษณ์ผ่านอีเมลแก่เว็บไซต์ MUNCHIES

credit: Gwyneth Paltrow at the 2000 Toronto International Film Festival. by Jared Purdy

เว้นการแดกดันว่าเราควรดีท็อกซ์หรือไม่ แล้วกลับไปดูสรรพคุณของผงถ่านกัมมันต์หรือถ่านชาร์โคลในเชิงวิทยาศาสตร์กันบ้าง

เป็นข้อเท็จจริงที่ผงถ่านกัมมันต์มีคุณสมบัติป้องกันการดูดซับสารพิษในร่างกาย แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกสารเคมีในร่างกาย จะต้องถูกชาร์โคลป้องกันไม่ให้ร่างกายดูดซึม หรือถูกชาร์โคลผลักออกไป และบางครั้งอาจกลายเป็นสั่งร่างกายไม่ให้ดูดซึมสารอาหารที่มีประโยชน์ไปเลยก็ได้

คอลฟิลด์อธิบายเพิ่มเติมว่า ชาร์โคลมีคุณสมบัติทางการแพทย์ ที่จะถูกใช้เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายดูดซับสารเคมีเฉพาะอย่าง และไม่ใช่ว่าร่างกายจะต้องดีท็อกซ์อยู่บ่อยครั้ง

และการรับชาร์โคลเข้าร่างกายมากเกินไป อาจมีผลข้างเคียงให้อาเจียน ท้องเสีย หรือไม่เช่นนั้นก็อาจทำให้ท้องผูกได้


อ้างอิงข้อมูลจาก: munchies.vice.com

 

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า