วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 การรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศโดยกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตรวจจับปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ณ เวลา 07.00 น. ของ กทม. ได้ที่ 62-139 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่ตรวจจับได้ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา และเกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ว่าไม่ควรเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
เมื่อจำแนกข้อมูลคุณภาพอากาศตามเขตที่ตั้งของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานครของเช้าวันนี้ พบว่ามี 39 เขตพื้นที่ซึ่งดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) อยู่ในระดับ ‘มีผลกระทบต่อสุขภาพ’ โดยเขตหนองแขมเป็นพื้นที่ที่มี PM 2.5 สูงที่สุด คือ 139 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ สถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ในสภาวะที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากอากาศลอยตัวต่ำ มีแรงลมต่ำ ทำให้ฝุ่นระบายออกจากพื้นที่ได้ยาก ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณมลพิษทางอากาศที่เพิ่มสูงขึ้น
สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคงหนีไม่พ้นปัญหาสุขภาพอันมีสาเหตุมาจากการรับสารพิษเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลจากรายงานสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 24 มกราคม 2566 พบว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศในประเทศไทยรวม 212,674 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าถึง 96,109 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และกลุ่มโรคตาอักเสบ
เมื่อสำรวจข้อมูลสุขภาพที่เป็นผลกระทบมาจากมลพิษทางอากาศในระดับโลก จะพบว่าโรคที่เกิดขึ้นจากมลพิษเหล่านี้ไม่เพียงแค่ทำร้ายผู้ที่หายใจรับ PM2.5 เข้าปอดโดยตรง แต่ยังส่งผลถึงทารกในครรภ์ของมารดาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศอีกด้วย
ข้อมูลการวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications ซึ่งศึกษาปัจจัยจากมลพิษทางอากาศที่ส่งผลเชื่อมโยงกับภาวะตายคลอด (stillbirth) หรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ กล่าวคือ เป็นการเสียชีวิตของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยมารดาอาจยังสามารถคลอดเด็กออกมาได้ แต่เด็กที่คลอดออกมาจะไม่มีสัญญาณของการมีชีวิต ได้แก่ ไม่สามารถหายใจได้เอง ไม่มีการเต้นของหัวใจ และไม่มีการเคลื่อนไหว
การวิจัยดังกล่าวเป็นการเก็บข้อมูลภาวะตายคลอดและมลพิษทางอากาศระหว่างปี 2541-2559 หรือเกือบ 20 ปี จากประเทศรายได้ต่ำและปานกลางจำนวน 54 ประเทศ เพื่อประเมินจำนวนการตายคลอดที่เกิดจากการสัมผัสกับ PM2.5 และพบว่าในปี 2558 หญิงตั้งครรภ์ที่สัมผัสกับ PM2.5 ในระดับที่สูงกว่ามาตรฐาน ต้องเผชิญกับภาวะการตายคลอดกว่า 950,000 คน นอกจากนี้ การศึกษาดังกล่าวยังพบว่า การได้รับ PM2.5 เพิ่มขึ้นประมาณ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตายคลอดของหญิงตั้งครรภ์ถึง 11 เปอร์เซ็นต์
ข้อมูลที่นักวิจัยใช้สนับสนุนความเชื่อมโยงดังกล่าวคือ การที่จำนวนการตายคลอดทั่วโลกลดลงจาก 2.31 ล้านคน ในปี 2553 เป็น 1.93 ล้านคนในปี 2562 โดยเฉพาะในประเทศจีนที่กำหนดมาตรการควบคุมปริมาณ PM2.5 ให้อยู่ในระดับไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทำให้สามารถป้องกันการตายคลอดได้ถึง 710,000 รายต่อปี
ดร.เทา ซเว (Dr.Tao Xue) นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประเทศจีน กล่าวว่า มลพิษทางอากาศอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสียหายของตัวอ่อนอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ และอาจเป็นอันตรายต่อรกซึ่งเป็นช่องทางลำเลียงสารอาหารและออกซิเจนให้แก่ทารกในครรภ์ การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศของประชากรจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดภาวะตายคลอดทั่วโลก
ซเวยังกล่าวอีกว่า นโยบายอากาศสะอาดซึ่งประกาศใช้ในจีนและอีกหลายประเทศ สามารถป้องกันการตายคลอดได้ รวมไปถึงมาตรการป้องกันมลพิษทางอากาศ อย่างการสวมหน้ากากอนามัย การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ และการหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งเมื่อมีมลพิษทางอากาศ ก็อาจช่วยปกป้องสตรีมีครรภ์ที่มีภาวะเปราะบางได้เช่นกัน
แม้สาเหตุของการเกิดภาวะตายคลอดที่มีผลจากมลพิษทางอากาศจะยังไม่ถูกระบุออกมาอย่างแน่ชัด แต่ความเห็นจาก ศาสตราจารย์เกรกอรี เวลเลนเนียส (Prof. Gregory Wellenius) ผู้อำนวยการศูนย์ Climate and Health แห่งมหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา ออกมายอมรับว่า ผลการศึกษาดังกล่าวเป็นข้อมูลใหม่ที่แสดงให้เห็นผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพแม่และเด็ก ทั้งนี้ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมมากขึ้น เพื่อยืนยันให้ได้ว่าการลดระดับมลพิษทางอากาศจะช่วยปกป้องสุขภาพของผู้คนทั่วโลกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มบุคคลที่เปราะบาง
ที่มา
รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
Air pollution linked to almost a million stillbirths a year
Bangkok air pollution prompts advice to work from home
ปลัด สธ. กำชับทุกจังหวัดเฝ้าระวังสถานการณ์ PM 2.5 หากเกินเกณฑ์มาตรฐานให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ รับมือ