ระบบความปลอดภัยในท้องป่องๆ ของแม่อาจสั่นสะเทือนเพราะงานวิจัยชิ้นใหม่เพิ่งแสดงให้เห็นว่า ต่อให้แม่ระวังตัวแจแค่ไหน มลพิษทางอากาศก็สามารถเดินทางผ่านทางปอดและคืบคลานเข้าไปหาเด็กๆ ได้ โดยผ่านรกของแม่เอง
ก่อนหน้านี้แม้จะรู้กันดีว่ามลพิษในอากาศเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ แต่ยังไม่พบวิธีการหรือช่องทางที่แน่ชัด กระทั่งผลการศึกษาชิ้นใหม่ที่สำรวจบรรดาแม่ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้เผยให้เห็นอนุภาคเขม่าควันที่เกาะตัวในรกของแต่ละคน โดยนักวิจัยบอกว่า มีความเป็นไปได้สูงที่อนุภาคเหล่านี้จะเข้าไปสู่ตัวอ่อนในครรภ์ได้ด้วย
“ปัญหาที่น่ากังวลอย่างมากคือ ความเป็นไปได้ที่มลพิษจะปนกับลมหายใจของแม่ และเข้าไปส่งผลต่อตัวอ่อนในครรภ์” ลิซา มิยาชิตะ (Lisa Miyashita) หนึ่งในทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนแมรี กรุงลอนดอน บอก “ถ้าคุณสามารถเดินทางบนเส้นทางที่มีมลภาวะน้อยลงขณะตั้งท้องอยู่ได้ก็คงดี หรือต่อให้ไม่ท้อง ฉันก็เลี่ยงถนนที่พลุกพล่านตอนเดินไปสถานีรถไฟอยู่ดีนั่นแหละ”
รกเปื้อนเขม่าควัน
ก่อนหน้าผลการศึกษานี้ยังมีอีกหลายครั้งที่พร้อมใจกันชี้ให้เห็นว่า มลพิษทางอากาศเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดและทำให้น้ำหนักแรกเกิดต่ำ จนสามารถทำลายสุขภาพเด็กไปได้ตลอดชีวิต หนึ่งในนั้นเป็นการรวบรวมข้อมูลการคลอดมากกว่า 500,000 ครั้งในลอนดอน และได้ยืนยันถึงความเชื่อมโยงดังกล่าว ทำให้แพทย์ส่วนใหญ่มองว่า สิ่งเหล่านี้ “แสดงให้เห็นความล้มเหลวของระบบสาธารณสุข”
บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างค้นคว้าหาผลกระทบจากมลพิษทางอากาศต่อปัญหาสุขภาพในส่วนอื่นๆ มากกว่าปัญหาในปอด เนื่องจาก อากาศเป็นพิษมีผลต่อความฉลาดทางสติปัญญาที่ลดลง “อย่างมหาศาล” และในปี 2016 อนุภาคนาโนที่เป็นพิษจากมลภาวะทางอากาศถูกพบในสมองของมนุษย์
นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยใหม่ที่ทดสอบรกในครรภ์ของผู้หญิงไม่สูบบุหรี่ห้าคน ที่คลอดทารกสุขภาพดีทุกคน โดยแยกเซลล์แมคโครฟาจ (macrophage cell) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและดักจับอนุภาคที่เป็นอันตราย เช่น แบคทีเรียและมลพิษทางอากาศ พวกเขาพบอนุภาคสีดำ 72 แห่งท่ามกลางเซลล์ 3,500 เซลล์ ก่อนจะใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนทดสอบรูปร่างของอนุภาคเหล่านี้บางส่วน พวกมันดูเหมือนอนุภาคเขม่าที่ถูกพบในเซลล์แมคโครฟาจในปอด
ขณะที่การวิเคราะห์ดังกล่าวยังต้องการการยืนยันครั้งสุดท้าย มิยาชิตะกล่าวว่า “เราไม่อาจคิดถึงอย่างอื่นได้อีกเลย มันเป็นหลักฐานที่ชัดมากว่าเป็นอนุภาคเขม่าควัน” ช่วงต้นของการทดลองยังแสดงให้เห็นว่าอนุภาคที่สัตว์กำลังตั้งครรภ์หายใจเข้าไปจะผ่านกระแสเลือดไปยังตัวอ่อนในครรภ์ได้
“เรายังไม่อาจยืนยันได้เต็มที่ว่า อนุภาคที่ค้นพบจะเคลื่อนตัวเข้าไปสู่ตัวอ่อนในครรภ์ได้หรือไม่ แต่หลักฐานชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้” นอร์ริซ ลิว (Norrice Liu) หนึ่งในทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนแมรีกล่าว “เรายังรู้ว่า อนุภาคเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเข้าไปถึงตัวทารก เพราะแค่มีผลต่อรกในครรภ์ก็จะส่งผลโดยตรงต่อตัวอ่อนไปด้วย”
ผลการวิจัยนี้ถูกนำเสนอในการประชุมระดับนานาชาติของสมาคมโรคทางเดินหายใจแห่งยุโรป (European Respiratory Society: ERS) ที่กรุงปารีส โดยศาสตราจารย์มินา กากา (Mina Gaga) ประธานสมาคมและแพทย์จากโรงพยาบาลเอเธนส์ เชสต์ ประเทศกรีซ กล่าวว่า “นี่แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ทางเทคนิคของหนทางที่ทารกจะได้รับผลกระทบจากมลพิษ ทั้งที่ตามทฤษฎีแล้ว พวกเขากำลังได้รับการปกป้องอยู่ในมดลูก
“สิ่งนี้ควรกระตุ้นให้แพทย์และสาธารณชนตระหนักถึงผลกระทบจากมลภาวะทางอากาศที่เป็นอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์” เธอบอก “เราต้องการนโยบายอากาศสะอาดที่เข้มงวดกว่านี้ เพื่อลดผลกระทบจากมลภาวะทางอากาศต่อสุขภาพคนทั่วโลก เพราะเราได้เห็นกันแล้วว่า ประชากรรุ่นใหม่ๆ ต่างมีปัญหาสุขภาพกันเป็นจำนวนมาก”
หอบหืดขโมยความสุขในการเรียน
โรคหอบหืดคือหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงของมลพิษทางอากาศ ซึ่งงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในการประชุมดังกล่าวระบุว่า โรคหอบหืดทำให้เด็กๆ มีความสุขในการเรียนน้อยกว่าคนที่ไม่เป็น ไม่ว่าจะเพิ่งเริ่มหรือเป็นหอบหืดมานานแล้วก็ตาม
ผลการวิจัยในสวีเดนที่ทำมานานกว่า 20 ปียังบอกว่า เด็กๆ ที่เป็นหอบหืดมีโอกาสออกจากโรงเรียนตอนอายุ 16 ปีมากกว่าเด็กที่ไม่เป็นถึงสามเท่าครึ่ง และมีโอกาสออกจากมหาวิทยาลัยกลางคันถึงสองเท่า
คริสเตียน ชิลเลิร์ท (Christian Schyllert) จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแคโรลินสกา (Karolinska) กรุงสต็อกโฮล์ม กล่าวว่า “เมื่อเป็นเรื่องของการศึกษาและหน้าที่การงานในอนาคต หอบหืดทำให้โอกาสของเด็กๆ แย่ลง” เขาบอกว่า เหตุผลหนึ่งที่เป็นไปได้คือ เด็กๆ ที่เป็นหอบหืดมักขาดเรียนบ่อยๆ
นอกจากนี้ แอนโธนี เลค (Anthony Lake) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูนิเซฟ ยังบอกว่า “ไม่เพียงแต่สารพิษเท่านั้นที่เป็นอันตรายต่อการพัฒนาปอดของทารก แต่มันยังทำลายการพัฒนาสมองได้อย่างถาวรอีกด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงทำลายอนาคตของพวกเขาเลยทีเดียว”
อ้างอิงข้อมูลจาก:
theguardian.com