‘รัฐอากาศยาน’ คือ ปาฐกถาดิเรกชัยนาม ประจำปี 2562 โดย ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กล่าวเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2562 ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กองบรรณาธิการ WAY เล็งเห็นว่าเป็นบทปาฐกถาที่มีประโยชน์และน่าสนใจ จึงถอดความมาเผยแพร่ ณ ที่นี้
ดังนั้นการแบ่งบทในบทความชิ้นนี้จึงเป็นการแบ่งบทตอนของกองบรรณาธิการ WAY
บทนำ: หอกกับโสเครติส
เมื่อเร็วๆ นี้ โตมร ศุขปรีชา นักคิดนักเขียนรุ่นใหม่ เขียนบทความเรื่อง ‘ทำไมโสเครติสเกลียดประชาธิปไตย’ เขาเริ่มต้นโดยการกล่าวว่าคนที่กล่าวเช่นนี้ มักยกเรื่องเรือมาเล่า โตมรก็เตือนผู้อ่านให้ระมัดระวังด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า โสเครติสไม่เคยเขียนอะไรไว้ในนามของตนเลย เป็นที่รู้จักกันภายหลังก็ล้วนมาจากบันทึกของเพลโตผู้เป็นศิษย์ทั้งนั้น
เรื่องเรือที่นำมาประกอบเรื่องก็เช่นเดียวกัน โตมรเขียนว่า “เอเธนส์ก็เหมือนเรือที่แล่นอยู่ท่ามกลางพายุ ฝรั่งเรียกอุปมานี้ว่า ‘Ship of State’ จะต้องนำเรือฝ่าพายุฝนไปให้ได้ คำถามคือ ถ้าใช้แทนประชาธิปไตยแบบให้คนเลือกผู้นำกันเอง ก็มีโอกาสจะได้ใครก็ไม่รู้ ที่ไม่มีความรู้เรื่องการบังคับเรือมาเป็นกัปตัน จึงเป็นไปได้ที่เรือจะล่มชิบหายไปทั่วลำ”
ประเด็นก็คือว่า คนในกรีกสมัยนั้น คนในเอเธนส์สมัยนั้น ไม่ได้รู้จักโสเครติสจากงานอย่าง Republic อย่างเดียว แต่รู้จักจากงานอย่างโสเครติสรำลึก ของ เซโนฟอน รู้จักจาก Clouds บทละครของ อริสโตเติล ผมอยากจะบอกว่า คนรู้จักเรื่อง Clouds มากกว่างานของเพลโต ผมเดานะครับ มันก็เหมือนกับคนรู้จัก บุพเพสันนิวาส มากกว่างานของอาจารย์เกษียร (เตชะพีระ)
ใน Republic ตอนที่โตมรเอามาเขียน โสเครติสพยายามอธิบายว่า เหตุใดนครจะไม่มีวันสงบสุขถ้าไม่ได้ปกครองโดยราชาปราชญ์ โดยการใช้ภาพพจน์เรือมาประกอบ เพลโตเขียนข้อความตอนนี้อย่างพิสดารว่า คำถามของอะไดแมนทัส น่าสนใจมาก เพลโตเขียนอย่างนี้นะครับบอกว่า ถ้าต้องตอบ จะต้องตอบโดยใช้ภาพพจน์ โสเครติสกล่าวว่า “จงฟังภาพพจน์ที่ว่า เพื่อท่านจะได้เห็น” อันนี้อยู่ใน Republic นะครับ
นี่คือวิธีที่อุปลักษณ์ทำงานผ่านภาษาภาพ เมื่ออาศัยถ้อยคำ ผู้ฟังจะได้ยินภาพที่ว่า แต่จากการได้ยิน ผู้ฟังจะเห็นภาพนั้น แล้วภาพนั้นคือภาพเรือที่เจ้าของมีอาการยังไง ที่โตมรไม่ได้เขียนนั่นคือ เจ้าของมีอาการหูตึง สายตาก็สั้น บรรดาลูกเรือก็ไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับการเดินเรืออะไรเลย แค่อยากจะมาทำหน้าที่บังคับเรือเท่านั้น บทตอนนี้ใน Republic ถูกใช้เพื่อแสดงว่า ผู้ปกครองควรมีที่มาแต่ไหน และเพื่อชี้ให้เห็นว่าคนไม่ได้มีความรู้เท่าเทียมกัน ดังนั้นในสถานการณ์เช่นการบังคับเรือ คนส่วนใหญ่ซึ่งไม่มีความรู้เรื่องบังคับเรือ จะสู้บางคนซึ่งรู้ได้อย่างไร อุปลักษณ์เรือของโสเครติสมักถูกใช้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของประชาธิปไตย ดังที่โตมรได้เสนอมา
ผมขอเสนออุปลักษณ์ ‘รัฐอากาศยาน’ มาแทน ‘รัฐนาวา’ โดยจะตั้งคำถามว่า รูปแบบการปกครองของรัฐอากาศยานจะเป็นอย่างไรในปัจจุบันและในอนาคต?
อุปลักษณ์รัฐนาวา ที่ท่านเห็นนี้จะเห็นงานของ นอร์มา ทอมป์สัน (Norma Thompson) จาก Yale University นั่นคือหนังสือชื่อ The Ship of State งานชิ้นนี้เป็นการอภิปรายปัญหาศิลปศาสตร์แห่งการปกครองและการเมือง คือ Statecraft ตั้งแต่กรีกโบราณไปจนถึงอเมริกาประชาธิปไตย ประเด็นสำคัญของชิ้นนี้อยู่ที่ ประเด็นสัมพันธภาพระหว่างชายหญิง เธออธิบายว่า สิ่งที่สำคัญไม่ใช่การแยกขั้วตรงข้ามระหว่างชายกับหญิง แต่คือการเติมเต็มและสถาปนาดุลยภาพระหว่างกัน เช่นที่นักคิดกรีกโบราณเคยเข้าใจ เธอแบ่งงานเขียนของเธอเป็น 3 ส่วน คือ ว่าด้วยสังคมการเมือง (politics) รัฐ (state) และ อเมริกาประชาธิปไตย (Democratic America)
และที่ผมชอบงานชิ้นนี้มากก็คือว่า เธอใช้แหล่งข้อมูลการศึกษาเยอะมาก เช่น เธอใช้มหากาพย์ Odyssey ของ โฮเมอร์ ใช้บทละครร้ายลึกของ มาเคียเวลลี (นิโคโล มาเคียเวลลี) เรื่อง The Mandragola ใช้เรื่อง Emile ของ รุสโซ (ฌอง-ฌาค รุสโซ) และใช้ต้นกำเนิดนิยายสยองขวัญ Frankenstein ของ แมรี เชลลีย์ (Mary Shelley) สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผมคือ หนังสือเหล่านี้ไม่ได้มีอะไรกล่าวถึงรัฐนาวาเลย แกไปกล่าวถึงรัฐนาวาในบทสุดท้ายซึ่งเป็น afterword ทอมป์สันเขียนถึงชะตากรรมของอุปลักษณ์ทางการเมืองของรัฐนาวา ไว้น่าสนใจมาก เธอบอกว่า การแพร่หลายของอุปลักษณ์รัฐนาวาเริ่มต้นในสมัยจักรวรรดิโรมันในยุคของออกัสตัส เปรียบเปรยสาธารณรัฐไว้ว่า เป็นพาหานะทางทะเล การเทียบเคียงถอยไปถึงกรีกยุคต้น ถอยไปถึงโฮรัส โฮรัสก็ภูมิใจที่อ้างอิงรัฐนาวาที่ใช้ มีร่องรอยมาจาก อัลกีอุส แห่งมิธิลิน ผู้ใช้อุปลักษณ์รัฐนาวา
ที่น่าสนใจก็คือ หนังเรื่อง 300 ซึ่งมี 2 ภาค ผมคิดว่าภาคที่ 2 ว่าด้วยวีรบุรุษของเรา คือ เธมิสโตคลีส (Themistocles) มันมีคำพยากรณ์แห่งเมืองเดลฟี (Delphi) ที่บอกว่า “มหาเทพผู้รอบรู้ ตอบสนองคำภาวนาของชาวเอเธนส์ ให้เอเธนส์มีกำแพงไม้ มีเพียงกำแพงนี้ที่จะดำรงอยู่คงไม่สลาย จะช่วยเจ้าและบุตรหลานของเจ้า”
นี่เป็นคำพยากรณ์ เธมิสโตคลีสไม่ยอมจำนนกับสถานการณ์ เขาเลือกตีความคำพยากรณ์ที่เดลฟีเสียใหม่ ทอมป์สันให้ข้อถกเถียงว่า สังคมการเมืองเอเธนส์จะคงอยู่ ตราบเท่าที่กองทัพเรือของเอเธนส์ยังดำรงอยู่ คือกองทัพเป็นฐานของสังคมการเมือง เพราะไม่ว่าจะเป็นอำนาจ ความชอบธรรมหรือสารัตถะทางการเมือง เอเธนส์ในฐานะของสังคมการเมืองก็ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากกองเรือนาวีของตน
เธมิสโตคลีสนำกองเรือเอเธนส์ขับไล่กองทัพเปอร์เซียออกไป ทั้งหมดนี้คือที่มาของอุปลักษณ์รัฐนาวาที่ใช้กันมาแต่เก่าก่อน และทอมป์สันได้ไล่เรียงรัฐนาวาเรื่อยมาในประวัติศาสตร์ฝรั่งตั้งแต่ อริสโตเติล, จอห์น ล็อค พูบลิอัส (Publius) ผู้เขียน Federalist Paper อันเป็นรากฐานการเมืองอเมริกัน ไปจนถึง เฮอร์แมน เมลวิลล์ ผู้แต่ง Moby Dick ทั้งหมดนี้คือที่มาของอุปลักษณ์ ‘รัฐนาวา’
อุปลักษณ์รัฐนาวาในสังคมไทย
ปราปต์ บุนปาน เขียนบทความเรื่องรัฐนาวา อภิปรายการเสนอความคิดของ อ.ธีรยุทธ บุญมี ที่วิพากษ์การทำงานของรัฐบาล คสช. ว่าเหมือน “ยุทธเรือโยง ป้อมเรือพ่วง” โดยเรียกแนวทางการปฏิรูปรัฐบาลของ คสช. ที่ถือว่าเข้ามารักษาบ้านเมืองไม่ให้เผชิญกับความรุนแรง และสถาปนาความมั่นคงที่ยั่งยืนผ่านการปฏิรูปว่า “เรือแป๊ะกับแม่น้ำ 5 สาย” ตอนนี้ไม่รู้เรือแป๊ะไปอยู่ไหนแล้ว และแม่น้ำก็เพิ่มเป็น 11-12 สาย…เท่าไหร่นะตอนนี้ 19 สายแล้ว ซึ่งมีลักษณะเหมือนพายเรือวนในอ่าง
จากนั้นปราปต์ก็ตั้งคำถามแหลมคมว่า
รัฐนาวาที่กล่าวถึงนั้นเป็นรถ เรือลำเล็ก ยานพาหนะส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเป็นเรือที่บรรทุกผู้โดยสารร่วมชะตากรรมไว้มากมายหลายสิบล้านราย
เพื่อตอบคำถามนี้ ปราปต์หันไปหา เกษียร เตชะพีระ ที่เคยเสนอว่า อาจคิดถึงเรื่องเรือในรูปความสัมพันธ์ทางอำนาจ 2 แบบ คือแบบประชาชนเป็นฝีพายที่ต้องทำตามทุกอย่างที่นายท้ายกำหนด จะโต้แย้งอะไรไม่ได้ อีกแบบหนึ่งก็คือประชาชนที่ผ่านประสบการณ์และเรียนรู้เรื่องการเมืองการปกครองมาชั่วชีวิต ย่อมมีศักยภาพ เป็นคนถือหางเสือเรือเองได้
ที่จริงอาจารย์เกษียรก็พูดเรื่องนี้อีกนะครับ โดยเปรียบเทียบคิดถึงเรื่องการเมืองวัฒนธรรม หยิบเนื้อเพลง ชาติมหาชัย ที่พระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นผู้แต่งในเดือนมิถุนายน 2475 ก่อนการอภิวัฒน์ 2475 นะครับ เนื้อเพลงตอนหนึ่งมีว่า
“ชาวสยามนำสยาม เหมือนนำเรือผ่านเกาะแก่ง
เพราะเพื่อชาติพ้นภัย เราร่วมใจร่วมรักสมัครหนุน
วางธรรมนูญสถาปนาพาราใหม่”
เกษียรเปรียบการปกครองของไทยภายใต้ลัทธิรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่างจากตอนก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ว่า “ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ลูกเรือผู้โดยสารรัฐนาวาสยาม ถูกนายท้ายเรียกร้องให้ช่วยกันลงมือจ้วงพายและอย่าอวดดีเถียงนายท้าย นายท้ายจะคัดเรือไปทางไหน ก็ควรพายไปทางนั้นโดยดุษณี มิฉะนั้นก็จงโดดน้ำให้พ้นๆ ไป ไม่หนักเรือเสียจะดีกว่าแล้ว”
ในระบอบรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐนาวาสยามกลับอยู่ใต้การนำและเป็นของลูกเรือชาวสยามทั้งปวงที่จะนำพาเรือผ่านเกาะแก่งภยันตรายไปอย่างปลอดภัย
ที่น่าสนุกคืออันนี้ ผมลองค้นหาคำว่า รัฐนาวา จากพจนานุกรมมาตรฐานหลายเล่ม เช่น พจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 อีกอันหนึ่งคือ ฉบับ พ.ศ. 2554 แต่กลับไม่พบคำที่ว่านี้ เมื่อค้นดูคำว่า ‘รัฐ’ เฉยๆ ในพจนานุกรมฉบับหลัง ก็พบคำสมาสของคำว่า รัฐ ทั้งหมด 16 คำ ได้แก่ รัฐ+ประศาสโนบาย รัฐ+มนตรี รัฐ+พิธี รัฐ+บุรุษ และ รัฐ+ประหาร
ถ้าการดำรงอยู่ของคำบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับความสำคัญของสิ่งนั้นในสังคม ก็ควรจะเข้าใจการอันตรธานของคำว่า ‘รัฐ’ เช่นนี้ เราจะเข้าใจอันตรธานของคำว่าของรัฐจากพจนุกรมร่วมสมัยของไทยอย่างไร
ที่น่าสนใจก็คือ ขณะที่รัฐนาวาเหมือนจะอันตรธานไปจากพจนานุกรมภาษาไทย ในที่อื่นไม่ใช่เช่นนั้น เพราะดูเหมือนว่ารัฐนาวาจะอวตารกลายเป็นอะไรต่างๆ ได้อีกมาก
อันตรธานกับอวตาร
ในสหรัฐ อุปลักษณ์นี้ถูกใช้เป็นเกมเพื่อให้สาธารณชนได้เรียนรู้กระบวนการบริหารงบประมาณประเทศอันสลับซับซ้อน ในเกมที่ชื่อ ‘The Fiscal Ship’ รัฐนาวาการคลัง อันนี้ถูกสร้างขึ้นโดย Serious Games Initiative ที่สถาบันวิชาการชื่อดังก้องโลก ที่ชื่อ Woodrow Wilson International Center for scholars และ Hutchins Center on Fiscal and Monetary Policy ที่ Brookings Institution เกมนี้พิเศษ เพราะเมื่อผู้เล่นพยายามจะออกแบบงบประมาณของประเทศให้ได้ดุล ก็จะถูกบังคับให้ต้องเลือกเป้าหมายเชิงคุณค่าที่สำคัญที่แฝงอยู่ ซึ่งเป็นตัวกำหนดความสำคัญก่อนหลังเวลาผู้กำหนดนโยบายตัดสินใจเลือกทิศทางและการวางแผน เช่น ระหว่างการเผชิญหน้าพยายามเอาชนะปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วยการกำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม การเพิ่มงบประมาณกลาโหมและการลดภาษี ผู้เล่นจะชนะเกมนี้ถ้าเกิดว่าบริหารงบประมาณให้สมดุล ขณะที่บรรลุเป้าหมายของตน
ผู้ออกแบบเกมที่ Wilson Center มีแนวคิดว่าจะท้าทายตนเองอย่างไร และจะทำให้เกมยากขึ้นอย่างไร
พวกเขาตอบคำถามนี้โดยพยายามหวนไปศึกษาว่า อดีตประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของของสหรัฐ วูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) จัดการกับปัญหาชนิดนี้ได้อย่างไร แต่เพราะเหตุใดรัฐนาวาได้อวตารเป็นเกมบริหารงบประมาณที่อาศัยแนวทางการตัดสินใจของ วูดโรว์ วิลสัน และรัฐคืออะไรกันแน่ คำตอบที่ชัดคือ เกมนี้ถูกผลิตโดย Hutchins Center on Fiscal and Monetary Policy เพราะงั้นพอเป็นแบบนี้ก็เป็นเหตุผลที่ชัดเจน
อีกเหตุผลหนึ่งคือ วิลสันนอกจากจะเป็นประธานาธิบดีคนที่ 28 ของสหรัฐ เขายังเป็นนักรัฐศาสตร์คนสำคัญ และเป็นอธิการบดีของ Princeton University และเขียนงานชิ้นสำคัญชื่อ The State
แม้ว่าหนังสือของวิลสัน จะชื่อรัฐ แต่เรื่องที่เขาเขียนเป็นเรื่องของการปกครองและรัฐบาล ในสารบัญ 16 บทไม่มีคำว่า รัฐ อยู่เลย มีแต่คำว่า government อยู่ใน 12 บท ซึ่งกล่าวถึงพัฒนาการในการปกครองโบราณตั้งแต่กรีกโรมัน และประเทศต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐ 4 บทที่เหลือ เป็นกฎหมาย โรมัน ระบบราชาธิปไตยของออสเตรีย ฮังการี สวีเดน นอร์เวย์ พัฒนารัฐธรรมนูญและการบริหาร ธรรมชาติกับพัฒนาการกฎหมาย สำหรับวิลสันแล้ว ประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์พิสูจน์ว่า รัฐบาลเป็นสิ่งธรรมชาติและมีรากอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้นเขาถึงไม่เห็นว่ารัฐเป็นสิ่งชั่วร้ายที่จำเป็น หากแต่เป็นสิ่งที่เป็นองคาพยพที่มีคุณค่าและขาดไม่ได้ของสังคม
ผมไม่ได้เขียนผิดนะครับ ใช้คำว่ารัฐบาลและรัฐไม่ตรงกัน แต่เหตุผลก็คือ สำหรับวิลสันเขาเองไม่แยกคำว่า รัฐ รัฐบาล และ politics ที่ไม่ได้แยกคำสำคัญๆ พวกนี้ อาจเป็นเพราะว่า คำว่า government เอาเข้าจริง มันมีนัยยะของเรือแฝงอยู่ตั้งแต่ต้น เพราะว่า government ในรากภาษาละตินมันแปลว่า หางเสือ เพราะฉะนั้นนัยยะของนาวานั้นซ่อนอยู่ใน government มาตั้งแต่แรกแล้ว
ครึ่งศตวรรษต่อมา คืองาน Man and The State ของ ฌาคส์ มาริเตน (Jacques Maritain) เขาเห็นว่ารัฐไม่ใช่อวตารสูงสุดของความคิดเช่นที่เฮเกล (Hegel) คิด และไม่ใช่ชุมชนของอภิมนุษย์นะครับ แต่เป็นเพียงหน่วยงานที่ถูกมอบให้ใช้อำนาจและบังคับบัญชา มีหน้าที่รักษากฎหมาย ส่งเสริมการกินดีอยู่ดี ธำรงระเบียบสังคม บริหารกิจการสาธารณะ รัฐไม่ใช่อะไรอื่นแต่เป็นการร้อยเรียงบรรสานสถาบันต่างๆ ให้กลายเป็นกลไกสูงสุด มีระบบการใช้เหตุผลสูงสุด เป็นโครงสร้างส่วนบนที่คงทน รัฐจึงมีลักษณะที่เป็นนามธรรมและไร้น้ำใจ
ยิ่งกว่าปัจเจกชนใดๆ มาริเตนบอกว่า รัฐเป็นงานศิลปะที่มนุษย์สร้างด้วยมันสมองและสองแขนของตน กล่าวได้ว่ารัฐจะไม่มีความหมายใดๆ หากปราศจากมนุษย์ ดังนั้นรัฐจึงดำรงอยู่เพื่อมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์ดำรงอยู่เพื่อรัฐ เขาเป็นนักปรัชญาคาทอลิก แล้วมันสู้กับรัฐที่มันยิ่งใหญ่อย่างที่คุณเห็น ที่เริ่มจากเฮเกล แล้วพัฒนามาเป็นนาซีและอื่นๆ
แต่อาจจะเพราะเช่นนี้ ประกอบกับภัยที่เกิดขึ้นจากลัทธิบูชารัฐที่ดูจะระบาดอยู่ในโลกยุคนั้น นักรัฐศาสตร์อเมริกันอย่าง เดวิด อิสตัน (David Easton) จึงเสนอหนทางที่ radical มาก อิสตันบอกว่าเลิกใช้แนวคิดรัฐเถอะ โยนทิ้งไปเลย หันมาใช้แนวคิดเรื่องระบบแทน เพื่อชี้ว่าการเมืองคือการใช้อำนาจอันชอบ แบ่งสรรสิ่งที่มีคุณค่าสู่สังคมโดยรวม
รัฐถูกนำกลับมาใหม่ในงานของ เธดา สคอคพอล (Theda Skocpol) ชื่อ ‘Bringing the State Back In’ เธออธิบายว่า ในอดีตรัฐมันเป็นเรื่องน่าเบื่อ เพราะเป็นการศึกษาที่แห้งแล้ง ฝุ่นจับ ประเภท legal formalist ไปไม่พ้นการศึกษารัฐธรรมนูญ แต่หันกลับมาสนใจรัฐด้วยอิทธิพลของมาร์กซิสม์ใหม่ และที่สำคัญคือการฟื้นความสนใจมามองแบบยุโรปภาคพื้นทวีป คือ Continental เปลี่ยนจาก Anglo-Saxon มา สคอคพอลชี้ว่า จุดออกของทฤษฎีมาร์กซิสม์ ทฤษฎี functionalist ทั้งหลาย ก็คือ ทำให้ต้องมาพิจารณาศักยภาพความเป็นอิสระของรัฐ
พูดง่ายๆ รัฐที่มีประสบการณ์ มีระบบราชการที่เสถียรพอควร จะสามารถทำการของตนอย่างอิสระได้ เช่น พัฒนาเศรษฐกิจหรือเปลี่ยนแปลงสังคม ในขณะที่สคอคพอลประสบความสำเร็จในการนำรัฐกลับมา แต่ผมคิดว่างานที่น่าสนใจมากคือ Seeing Like a State ของ เจมส์ สก็อต (James Scott)
ผมคิดว่า สก็อตทำให้เรื่องรัฐเปลี่ยนทิศทาง เพราะว่าในความพยายามจะตรวจสอบดูว่าทำไมโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐต่างๆ พยายามสร้างขึ้นทั่วโลกกลับล้มเหลว สก็อตบอกว่าจะตอบคำถามนี้ได้ต้องผ่านการตั้งคำถามที่ผมคิดว่าแปลกมาก คือการเห็นอย่างรัฐเป็นอย่างไร
สก็อตบอกว่า ปัญหาใจกลางศิลปศาสตร์ทางการปกครองคือ การอ่านสังคมให้ออก รัฐทุกหนแห่งต้องทำหน้าที่คล้ายกันคือเก็บภาษี เกณฑ์คนไปรบ ป้องกันกบฏ ไม่ให้ใครมาล้มหรือประหารรัฐ แต่ข้อแตกต่างระหว่างรัฐก่อนสมัยใหม่กับรัฐสมัยใหม่คือ รัฐก่อนสมัยใหม่ตาบอดบางส่วน
รัฐประเภทนั้นแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับผู้คนพลเมืองของตน ไม่เคยรู้ว่าพวกเขามั่งคั่งยากจนอย่างไร ไม่รู้ว่าครอบครองที่ดินตรงไหน มีผลผลิตมากน้อยแค่ไหน ไม่รู้ตำแหน่งแห่งที่และอัตลักษณ์ของคนใต้รัฐนั้นเอง รัฐเก่าไม่มีแผนที่บ่งบอกภูมิประเทศและผู้คนของตน ไม่มีวิธีวัดสิ่งเหล่านั้นเพื่อช่วยให้รัฐแปลความที่ตนรู้เป็นระบบที่มีเป็นมาตรฐานเพียงพอที่จะเห็นภาพรวมของรัฐได้อย่างชัดเจน ดังนั้นจึงไม่สามารถควบคุมรัฐได้อย่างครอบคลุม
แต่รัฐสมัยใหม่ทำได้ ผ่านกลไกยิบย่อยต่างๆ ปัญหาตอนนี้ก็คือ หากเราจะพิจารณารัฐ เราอาจจะพิจารณาว่ารัฐตาบอด ตาบอดบางส่วนหรือบอดสนิทหรือตาบอดสีหรือบอดข้างเดียว อันนี้ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่พูดจริงๆ นะ ตาบอดกับใจบอดก็ไม่เหมือนกัน
ที่น่าสนใจก็คือว่า ยุคสมัยใหม่ก็พาความท้าทายใหม่มาจ่อหน้ารัฐอยู่แล้ว ถ้าดูใน IR ภัยจากการก่อการร้ายข้ามพรมแดน อำนาจการต่อรองระหว่างประเทศ โรคระบาด อิทธิฤทธิ์การเงินระหว่างประเทศ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ท้าทายรัฐในฐานะหน่วยการเมืองที่ตนคิดว่ามัน autonomous กระทรวงการต่างประเทศก็เจอเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลาถูกไหมครับ ใครหรืออำนาจใดจะมาละเมิดไม่ได้
ในศตวรรษที่ 21 นี้ เปลี่ยนจากคำถามของสก็อตที่ว่า รัฐแลเห็นโลกอย่างไร มาเป็นรัฐอยากให้โลกเห็นตัวรัฐอย่างไร คำถามก็คือรัฐอยากถูกจัดวางอยากถูกเห็นอยากถูกรู้สึกอย่างไร ในสมัยแห่งการเป็นภาพตัวแทนทางสุนทรียะ Aesthetic Representation เพราะรัฐยังมีหน้าที่ปกปักรักษาบูรณภาพแห่งดินแดน ป้องกันรักษาชีวิตของพลเมืองให้พวกเขามีสวัสดิการที่อยู่กินดี รัฐเลยต้องหาทางสร้างความหมายให้พลเมืองของตนในมิติต่างๆ ภาพลักษณ์ของรัฐจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะรัฐต้องถูกมองว่ามีความชอบธรรมในการปกครอง รัฐจึงต้องก้าวสู่การเมืองแห่งภาพที่เห็น visual global politics ใน IR ก็หันไปหาทิศทางนั้นแล้ว ต้องสร้างยี่ห้อของรัฐ ไม่ว่าจะผ่านสื่อมวลชนสาธารณะ สื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะผ่านวัตถุต่างๆ เช่น ธงชาติ อาคารรัฐสภา หรือเฟซบุ๊ค หรือทวิตเตอร์ของผู้นำประเทศ
ดูเหมือนชีวิตของรัฐในทางวิชารัฐศาสตร์ก็เหมือนนาวาลอยละล่องเคลื่อนที่ผ่านแผ่นน้ำทั้งที่เป็นลำธารเล็ก คลองน้อย และมหาสมุทรไพศาล ทั้งในวันคืนที่คลื่นลมสงบและในเวลาที่พายุพัดแรง
ถึงเวลาเปลี่ยนอุปลักษณ์
เพื่อให้อุปลักษณ์นี้ยังคงสมสมัย (relevant)เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงย่อมต้องการอุปลักษณ์ใหม่มาแทนอุปลักษณ์เดิม จึงขอเสนออุปลักษณ์ ‘รัฐอากาศยาน’ (Aircraft of State) มาแทน ‘รัฐนาวา’ (Ship of State)
ปาฐกถาของผมวันนี้ไม่ได้ต้องการถามว่าอำนาจในการควบคุมรัฐนาวามาจากไหน อันเป็นแนวการตรวจสอบปัญหาอุปลักษณ์ของรัฐ แต่ผมถามว่าในยุคสมัยที่เทคโนโลยีของมนุษย์ก้าวล้ำรวดเร็ว จนความเร็วนั้นเองกลายเป็นมนตร์คาถาทรงอำนาจ โดยเฉพาะยิ่งเมื่อวันนี้ ‘รัฐนาวา’ ดูเหมือนจะติดปีกอวตารเป็น ‘รัฐอากาศยาน’ ไปแล้วนั้น การปกครองใน ‘รัฐอากาศยาน’ มีหน้าตาเป็นอย่างไร
เพื่อจะตอบคำถามนี้คงต้องไปต่างประเทศกันครับ เพื่อที่จะขึ้นเรือบินไปต่างประเทศก็ต้องไปสนามบินนานาชาติ
ปัญหาคือการปกครองที่สนามบินเป็นยังไง สนามบินเป็นพื้นที่พิเศษครับ สนามบินมีพื้นที่หวงห้าม security restricted area ซึ่งเป็นพื้นที่ของเขตการบินที่สนามบินถือว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงจนต้องมีการควบคุมการเข้าพื้นที่และควบคุมรักษาความปลอดภัยต่างๆ ซึ่งพื้นที่เหล่านั้นคือพื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาออก ตั้งแต่จุดตรวจค้นจนถึงอากาศยาน พื้นที่ลานจอดอากาศยาน พื้นที่คัดดแยกรับสัมภาระ พื้นที่ไปรษณียภัณฑ์ พื้นที่ครัวการบิน พื้นที่ทำความสะอาด พื้นที่ทั้งหมดจะถูกควบคุมผ่านระบบอนุญาต ใช้พื้นที่ด้วยลักษณะต่างๆ เช่น ผู้โดยสารไปต่างประเทศจะมีหนังสือเดินทาง ตั๋วโดยสาร บัตรโดยสาร บัตรโดยสารมีสองส่วน พอฉีกเสร็จท่านจะมีบอร์ดดิงพาส แล้วท่านก็ขึ้นไปนั่งในที่ที่เขาอนุญาตให้นั่ง ทั้งหมดนี้เป็นใบผ่านพื้นที่ต่างๆ ขณะที่ญาติที่ไปส่งจะทำไม่ได้ ผมเพิ่งกลับจากอินเดียเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา ออกจากสนามบินมามีญาติมาเกือบแสนคน พูดจริงนะ คือมีเกือบแสนคนอยู่ข้างหน้า แต่เขาไม่ได้มารับผม ผมนึกว่าเขามารับผม
คราวนี้ทั้งหมดถูกควบคุมผ่านการอนุญาตอย่างที่ว่า แต่นอกจากท่าอากาศยานจะเป็นพื้นที่พิเศษที่จำกัดคนผ่านการเคลื่อนไหวแล้ว ยังจำกัดสิทธิเสรีภาพเรื่องการแสดงออกอีก freedom of expression ของท่านในสนามบิน เช่น คุณเดินเข้าไปในสนามบินแล้วคุณก็ลุกขึ้นจะประกาศใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เช่น ร้องคำว่าบอมบ์ ระเบิด คุณก็ทำไม่ได้
แล้วอีกอย่างอำนาจอธิปไตยในรัฐก็เปลี่ยน ภาษี สกุลเงิน ภาคปฎิบัติการของอำนาจอธิปไตยในรัฐก็เปลี่ยนหมด ในสนามบินโดยเฉพาะสนามบินพาณิชย์นะครับ เป็นพื้นที่ซึ่งมีสินค้าปลอดภาษี ภาษีเป็นเรื่องสำคัญของรัฐมาก แต่มีสิ่งซึ่งเรียกว่าปลอดภาษีจากมุมโลกต่างซื้อหาสินค้าได้ด้วยสกุลเงินต่างๆ เป็นปกติ นอกจากอำนาจในการอนุมัติให้ได้บัตรโดยสารหรือขึ้นเครื่องบินยังขึ้นกับพนักงานสายการบินซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ พวกเขามีอำนาจในการตรวจสอบบัตรโดยสารและหนังสือเดินทาง เขาปฏิเสธไม่ให้ผู้โดยสารขึ้นเครื่องก็ได้นะครับ ถ้าชื่อในบัตรโดยสารไม่ตรงกับหนังสือเดินทาง
เมื่อผู้โดยสารจากเครื่องบินพาณิชย์ก้าวเท้าออกจากสนามบินซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษอยู่แล้วเข้าไปในเครื่องบิน เขากำลังก้าวเท้าสู่พื้นที่พิเศษยิ่งกว่าเดิม คือพื้นที่ในอากาศยาน แบ่งออกเป็นสองช่วง ผมใช้คำว่า moments เพราะไม่ใช่การแบ่งตามสเปซแต่เป็นการแบ่งตามเวลา ไม่ใช่ spatial แต่เป็น temporal หมายความว่าอะไร? พื้นที่ในอากาศยานแบ่งออกเป็นสองช่วง moments คือห้วงที่เครื่องบินยังจอดอยู่ที่สนามบิน กับเมื่อเครื่องบินปิดประตูแล้ว กฎหมายเรียกสถานะดังกล่าวว่า ‘อากาศยานระหว่างการบิน’ ที่ผมจะพูดต่อไปนี้ทั้งหมดมาจากพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ 2558
อากาศยานระหว่างการบินหมายความว่ายังไง? หมายถึง ‘อากาศยานซึ่งอยู่ในเวลาตั้งแต่ประตูด้านนอกทุกบานของอากาศยานได้ปิดภายหลังที่ผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยานขึ้น จนถึงขณะที่ประตูด้านนอกบานใดบานหนึ่งของอากาศยานนั้นได้เปิดออกเพื่อให้ผู้โดยสาร และเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยานลงจากอากาศยานตามปกติ’ น่าสนใจมากเลยนะครับสำหรับผม ไม่รู้ว่าท่านอื่นจะคิดว่ายังไง แต่ผมว่าน่าสนใจมากในแง่ของอำนาจนะครับ
ทีนี้เมื่ออากาศยานอยู่ระหว่างการบิน อำนาจอธิปไตยก็เปลี่ยนจากที่เคยอยู่ในมือรัฐมาประดิษฐานอยู่ในมือคู่หนึ่งของกัปตันผู้เดียวซึ่งกฎหมายเรียกว่า ‘ผู้ควบคุมอากาศยาน’ ซึ่งกฎหมายอธิบายว่าคือ “นักบินที่ดำเนินการเดินอากาศหรือนักบินที่เจ้าของอากาศยานกำหนดให้เป็นผู้ควบคุมและกำหนดรับผิดชอบเที่ยวบินแต่ละเที่ยวบิน”
กัปตันอากาศยานหรือผู้ควบคุมอากาศยานมีหน้าที่พาผู้โดยสารไปสู่จดหมายโดยต้องคุ้มครองความปลอดภัยของอากาศยาน บุคคล ทรัพย์สินของอากาศยานนั้น แต่เพราะการเดินทางในอากาศมีปัจจัยที่แตกต่างจากการเดินทางบนบกหรือในน้ำหากเกิดภยันตราย โอกาสรอดปลอดภัยของผู้โดยสารน่าจะน้อยกว่าการเดินทางแบบอื่นๆ ด้วยเหตุที่ความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินสูงมาก เงื่อนไขในเชิงอำนาจควบคุมสถานการณ์จึงเข้มงวดและสูงตามไปด้วยนะครับ
เมื่อเครื่องบินทะยานขึ้นสู่ฟากฟ้า อำนาจการปกครองในอากาศยานก็จะเด็ดขาดและอยู่ในมือของผู้ควบคุมอากาศยานแต่ผู้เดียว เมื่อผู้โดยสารนั่งอยู่ในเครื่องบิน ชีวิตแทบทุกมิติจะถูกควบคุมและตกอยู่ใต้อำนาจของผู้ควบคุมอากาศยาน ผู้โดยสารต้องนั่งเมื่อเจ้าหน้าที่บอกให้นั่ง จะลุกเดินไปไหนก็ไม่ได้นะ จะเข้าห้องน้ำจะไปจัดการธรรมชาติส่วนตัวก็ต่อเมื่อมีสัญญาณอนุญาตให้ไปได้ อาหารก็ต้องมีเวลากำหนดไม่ใช่เมื่อตนหิว ชนิดของอาหารก็มีจำกัด ถ้าต้องการอาหารพิเศษเช่นผมต้องการอาหารฮาลาลสำหรับมุสลิม เป็นฮินดูต้องการอาหารมังสวิรัติ ก็ต้องสั่งล่วงหน้า
เพราะฉะนั้นพื้นที่ในเครื่องบินจำกัด ขั้นตอนการบริการออกแบบไว้ชัดเจนแล้ว กล่าวได้ว่าแม้ลมหายใจของผู้คนก็ถูกควบคุมอยู่ในมือของกัปตันเพราะอุณหภูมิ ความดันอากาศและออกซิเจนสำหรับหายใจขณะอยู่ในเครื่อง ถูกควบคุมอยู่ตลอดการเดินทาง
ถ้าผู้โดยสารไม่ทำตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยาน กัปตันก็มีอำนาจจัดการกับผู้โดยสารนั้น กฎหมายระบุว่า “ผู้ควบคุมอากาศยานของอากาศยานไทยในระหว่างการบิน อาจใช้มาตรการอันสมควรรวมทั้งการควบคุมบุคคลผู้ที่อยู่ในอากาศยานเท่าที่จำเป็น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของอากาศยานหรือบุคคลหรือทรัพย์สินในอากาศยานเพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งกฎระเบียบ ความเรียบร้อย หรือเพื่อส่งตัวบุคคลนั้นแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับความผิดในอากาศยาน หรือนำตัวบุคคลนั้นลงจากอากาศยานได้เมื่อพบเห็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลดังกล่าวกระทำการหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด”
ความผิดที่ระบุไว้ในกฎหมายมีตั้งแต่สูบบุหรี่ในห้องน้ำ ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในขณะที่ห้ามไว้ มีโทษทั้งจำหรือปรับ หรือทั้งจำและปรับ ไปจนกระทั่งถึงโทษประหารก็มีนะครับในกรณีที่ทำให้อากาศยานเสียหายในระหว่างที่อากาศยานอยู่ในขณะบิน จนเป็นเหตุให้หรือน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่ออากาศยานในระหว่างบิน
ในกฎหมายของออสเตรเลียระบุชัดว่ากัปตันมีอำนาจสูงสุด (final authority) ระบุชัดว่ากัปตันผู้ควบคุมอากาศยานมีอำนาจสูงสุด ใช้คำว่า final authority นะครับ ทั้งในการบังคับอากาศยานและการบังคับควบคุมระเบียบวินัยทุกคนที่อยู่บนเครื่องบิน เมื่อพบการกระทำความผิดหรือสงสัยอย่างมีเหตุผลว่าจะมีผู้กระทำผิด กัปตันสามารถไล่ผู้โดยสารจากเครื่องบิน ในกรณีที่เครื่องปิดประตูแล้วแต่ยังไม่ขึ้นฟ้าหรือใช้กำลังควบคุมผู้โดยสารได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะอยู่ในเขตอากาศนอกประเทศหรือในประเทศก็ตาม นี่แปลว่าอำนาจของอากาศยานนั้นเหนือกว่าอำนาจอธิปไตยของรัฐที่ครองอำนาจน่านฟ้าอยู่นะครับ
อำนาจอันเหมือนจะเป็นสมบูรณาญาสิทธิของกัปตันบนเครื่องบิน ออกแบบไว้ให้เบ็ดเสร็จเพราะสองเงื่อนไข
ข้อแรก อากาศยานเดินทางอยู่เหนือฟากฟ้าแล้ว ทุกชีวิตและทรัพย์สินอยู่ในสภาพที่ไม่มีอะไรรองรับนอกจากตัวอากาศยานนั้นเอง ก็หมายความว่าอากาศยานนั้นเป็นฐานของการมีชีวิตและความปลอดภัยของคนในอากาศยาน ถ้าเครื่องตกทุกชีวิตในอากาศยานก็ดับสูญทั้งสิ้น โอกาสรอดก็ยาก อากาศยานบินอยู่ได้ด้วยกลไกและอุปกรณ์แวดล้อมละเอียดมากมาย ด้วยเหตุนี้การพยายามทำอันตรายต่ออากาศยานก็อาจจะส่งผลให้อากาศยานพบกับหายนะได้
ข้อสอง ในส่วนของฝ่ายที่กระทำผิด ความผิดในอากาศยานอาจเป็นความผิดที่สำเร็จแล้ว กำลังจะทำความผิดหรือพยายามจะทำ ความผิดเหล่านี้ล้วนถือว่าผิดและเป็นสิ่งที่ผู้ควบคุมอากาศยานเข้าไปจัดการหยุดหรือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ แม้ผู้กระทำเพียงจะคิดแต่ไม่ได้ลงมือกระทำ
ถ้าอากาศยานเป็นรัฐก็กล่าวได้ว่ารัฐเป็นทุกสิ่งของชีวิตในรัฐ ไม่ว่าจะเป็นอาหารรับประทาน อากาศหายใจ พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ท่องเที่ยวอะไรทั้งหลาย ห้องน้ำห้องท่า ดังนั้นอำนาจเหนือชีวิตก็เข้มข้นไพศาลไปด้วย กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ไม่ว่ากัปตันหรือผู้ควบคุมอากาศยานจะมีที่มาจากไหน จะผ่านการคัดเลือกการเห็นชอบจากคนส่วนใหญ่ก็ตาม แต่เมื่อรัฐทะยานขึ้นฟ้าเป็นรัฐอากาศยานแล้ว ระบอบการปกครองในรัฐอากาศยานก็จะแปลงร่างเป็นระบอบอำนาจสมบูรณาญาสิทธิในมือของผู้คุมอากาศยานนั้นเอง
Wall-E กับรัฐอากาศยาน
สองทศวรรษมาแล้วที่นักปรัชญาการเมืองคอร์แนลที่ลุ่มลึกที่สุดคนหนึ่งเสนอว่ารัฐทุกรัฐที่อ้างในอำนาจอธิปัตย์ของตนย่อมมีศักยภาพที่จะครอบครองเขตอำนาจเถื่อน ที่ไม่จำกัดและไร้การควบคุมทั้งนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดผลสำคัญ ไม่ว่าธรรมนูญของระบอบรัฐจะมีความเป็นประชาธิปไตยเพียงใด รัฐก็จะเป็นอะไรที่มากกว่าประชาธิปไตย และดังนั้นก็จะเป็นอะไรที่น้อยกว่าประชาธิปไตยไปมากเสมอ ผมพูดอีกครั้งนะครับ ไม่ว่าธรรมนูญของระบอบรัฐจะมีความเป็นประชาธิปไตยเพียงใด รัฐก็จะเป็นอะไรที่มากกว่าประชาธิปไตย และดังนั้นก็จะเป็นอะไรที่น้อยกว่าประชาธิปไตยไปมากเสมอ
กล่าวอีกอย่างคือเพราะความเป็นรัฐนั้นเองทำให้โอกาสที่จะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จแฝงอยู่ในตัวเสมอ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงและถ้าโลกเข้าใกล้ความเป็นรัฐอากาศยานด้วยแล้ว จะมีหนทางใดที่มนุษย์จะหลุดพ้นจากกับดักอันตรายแห่งอำนาจเบ็ดเสร็จที่มากับรัฐอากาศยาน
นักปรัชญาการเมืองที่ผมพูดถึงคือ ซูซาน บัค มอร์ส (Susan Buck-Morss) ในงาน Dreamworld and Catastrophe
ปี 2008 บริษัท PIXAR ในการบริหารของ Walt Disney สร้างแอนิเมชั่นเรื่องเยี่ยมชื่อ Wall-E ได้รับรางวัลมากมาย ในปี 2016 Wall-E ถูกยกย่องให้เป็นภาพยนตร์ดีที่สุดของโลก 1 ใน 100 ตั้งแต่ปี 2000 ได้ลำดับที่ 29
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องของโลกที่แห้งแล้งหมดสิ้นชีวิต เหลือแต่หุ่นยนต์เก็บขยะตัวนึงชื่อ วอลล์-อี (Wall-E) ซึ่งย่อมาจาก West Allocation Load Lifter Earth Class
Wall-E มีเพียงเพื่อนแมลงสาบตัวหนึ่งและพืชสีเขียวเล็กๆ เป็นเพื่อนที่มีชีวิต วันหนึ่งมีเพื่อนล้ำสมัยสุดสวยที่ลงมาสู่โลก นางเอกของเราชื่อ อีฟ (EVE) ย่อมาจาก Extraterrestrial Vegetation Evaluator มีหน้าที่แสวงหาตัวอย่างชีวิตในจักรวาลที่เงียบงันไร้ชีวิต เธอจะเดินทางไปทั่วจักรวาล แสวงหาสัญญาณชีพของดวงดาวต่างๆ ผ่านสิ่งมีชีวิตที่หลงเหลืออยู่ เมื่ออีฟพบพืชสีเขียวเล็กๆ ของวอลล์-อีภารกิจของเธอก็เปลี่ยนไปเป็นเก็บตัวอย่างชีวิตนั้นและมุ่งหน้ากลับสู่อวกาศยานของเธอ
ที่น่าสนใจคืออวกาศยานของเธอชื่อว่า Axiom
ถ้าวัตถุของวอลล์-อี คือวัตถุบรรจุความทรงจำของโลกที่ไม่มีอยู่อีกแล้วเพราะเป็นอดีตของจักรวาล สิ่งมีชีวิตที่อีฟแสวงหาก็เป็นร่องรอยในปัจจุบันที่จะชี้ไปสู่อนาคตที่มีชีวิต ไม่แห้งแล้งหมดสิ้นเหมือนดังอดีตที่วอลล์-อีมีหน้าที่เก็บจัดระเบียบ หรือเก็บสะสมไว้เองในที่พำนัก
เมื่ออีฟมุ่งหน้าสู่อวกาศยานของเธอวอลล์-อีก็ตามเธอไปสู่การผจญภัยแสนสนุกที่รอพวกเขาทั้งสองอยู่
อวกาศยานที่วอลล์-อีไปใหญ่โตมโหฬารเต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อุปโภคบริโภคครบครัน มีกัปตันซึ่งมีหน้าที่ควบคุมยานแต่ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยทำให้งานการต่างๆ ในอากาศยานนี้ถูกควบคุมโดยหุ่นยนต์ซึ่งมีหน้าที่ต่างกันออกไป ผลก็คือผู้โดยสารในอากาศยานรวมทั้งกัปตันด้วยมีรูปร่างอ้วนท้วน น้ำหนักเกินสมควร กล้ามเนื้อทุกส่วนไร้กำลัง ทำงานอะไรก็ไม่ได้ แต่ของเราบางคนไม่ต้องขึ้นไปบนยานก็เป็นแล้วนะครับ
ยานอวกาศ Axiom จึงกลายเป็นรัฐที่มีทุกสิ่งที่รัฐพึงมี ทำทุกอย่างที่รัฐทำได้จนเป็นทุกอย่างให้มนุษย์ จนมนุษย์ในรัฐหมดความหมายในฐานะมนุษย์มีชีวิต กลายเป็นดังเครื่องประดับไร้ชีวิต รอรับบริการจากรัฐ ได้แต่กินอิ่มนอนอุ่น เหมือนมีความสุขในเรือนร่างตัวใหญ่ที่ไร้ทั้งกำลังและวิญญาณไปวันๆ
เมื่ออีฟพบว่าสิ่งที่อากาศยานยังต้องการไม่ใช่การรักษาสัญญาณชีวิตที่เธอนำมาจากโลกให้งอกงาม แต่มุ่งจะทำลายเสียเพื่อให้คนในรัฐอากาศยานไร้วิญญาณอยู่ในสภาพงอมืองอเท้าเรื่อยไป เธอก็ต่อสู้เพื่อรักษาร่องรอยชีวิตที่เธอค้นพบ เธอร่วมมือร่วมใจกับวอลล์-อีเพื่อร่วมพิทักษ์พืชสีเขียวนั้นไว้ ที่สุดมนุษย์ในอากาศยานก็ตระหนักว่ารัฐอากาศยานนั้นไม่ใช่ Axiom คือสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่จริง
ชีวิตในอากาศยานที่แท้ไม่ใช่ชีวิตเลย พวกเขาจึงบังคับเอาอากาศยานร่อนลงสู่พื้นดินและเริ่มต้นชุมชนใหม่ ปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารด้วยสองมือของพวกตนและชีวิตแห่งสังคมการเมืองก็หวนคืนมาพร้อมๆ กับความรักแสนหวานระหว่างวอลล์-อีกับอีฟด้วย
บางทีคำตอบต่อการจำกัดอำนาจสมบูรณาญาสิทธิของรัฐอากาศยานอาจอยู่ที่การฟื้นความเป็นจริงให้เห็นว่า แม้อำนาจรัฐอากาศยานจะดูเหมือนเบ็ดเสร็จแต่ก็เป็นเช่นนั้นเฉพาะเมื่อขึ้นฟ้า เพราะรัฐอากาศยานไม่สามารถล่องลอยอยู่ในอากาศตลอดไปได้ เมื่อใดอำนาจรัฐอากาศยานลงสู่พื้นดิน เมื่อนั้นอำนาจรัฐอากาศยานน่าจะสิ้นสุดลงเมื่อประตูของอากาศยานนั้นเปิดออก และเมื่อลมหายใจของเสรีภาพคืนกลับมา