ข้อถกเถียงในสังคมไทยว่าด้วยปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลชุดปัจจุบันมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวด้วยการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้สังคมเกิดความกังวลระหว่างความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจกับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นตามมา
มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลพยายามผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีนำเข้าไวน์ การลดภาษีสุราชุมชน การขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงจนถึงตี 4 ในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด 1 อำเภอ ได้แก่ เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต และอำเภอเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี และเตรียมขยายเวลาการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากเดิม 10 ชั่วโมงต่อวัน (11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น.) เป็น 14 ชั่วโมงต่อวัน รวมถึงการอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงแรมหรือสถานบริการที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงสถานศึกษา หรืองานแสดงดนตรีที่จัดขึ้นในสนามกีฬาของทางราชการ ตลอดจนการเตรียมพิจารณาหลักเกณฑ์การโฆษณาประชาสัมพันธ์
นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าจะมีการเปิดเสรีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น เช่น การยกเลิกการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านทางออนไลน์ การลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นศูนย์ ตามความตกลง FTA ไทย-อียู เป็นต้น
ทุกวันนี้มูลค่าการตลาดของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งสุรา เบียร์ ไวน์ ฯลฯ ในประเทศไทยสูงถึงเกือบ 500,000 ล้านบาทต่อปี โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่ผูกขาดอยู่เพียงไม่กี่ราย และปัจจุบันยังไม่มีการปลดล็อกกฎหมายเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม
อีกด้านหนึ่ง เมื่อพิจารณาจากรายงาน ‘การประเมินต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์จากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย พ.ศ. 2564’ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์ และคณะ พบว่า ต้นทุนจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2564 มีมูลค่าสูงถึง 165,450 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.02% ต่อ GDP โดยต้นทุนจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมีมูลค่าสูงถึง 157,918 ล้านบาท อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุและปัญหาสุขภาพ
และจากผลสำรวจข้อมูลการขยายเวลาเปิดสถานบริการจำนวน 1,800 แห่ง ในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด 1 อำเภอ ตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2566 บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในเดือนมกราคม 2567 จำนวน 205 คน ถือว่าเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยผู้เสียชีวิต 49 คน ประสบอุบัติเหตุในช่วง 02.00-06.00 น.
หากพิจารณาในแง่มุมทางเศรษฐกิจจะพบว่ามีทั้งข้อดี-ข้อเสียในเวลาเดียวกัน หลายมาตรการมีส่วนช่วยปลดล็อกข้อกำหนดที่ไม่สมเหตุผลในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การจำกัดเวลาจำหน่าย การปิดกั้นการโฆษณา และช่องทางจำหน่ายออนไลน์ แต่ขณะเดียวกัน คำถามที่ตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือ มาตรการทั้งหลายที่รัฐบาลพยายามเข็นออกมานั้นยังคงเอื้อประโยชน์ต่อการผูกขาดของทุนขนาดใหญ่ ส่วนรายเล็กแม้จะได้ประโยชน์อยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่อาจแข่งขันได้อย่างเป็นธรรมเมื่อกติกาหลักยังมีความเหลื่อมล้ำ
ในทางกลับกัน เมื่อรัฐบาลเล็งผลลัพธ์ที่การกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มาตรการป้องกันและลดผลกระทบทางสังคมกลับยังไม่มีความชัดเจน นำมาสู่การตั้งคำถามและข้อกังวลถึงผลกระทบมากมายที่จะเกิดขึ้นตามมา
ประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับผลกระทบทางสังคมไม่อาจมองแบบแยกส่วนจากกันได้ และไม่สามารถเลือกเพียงฝั่งใดฝั่งหนึ่งได้ การสร้างความเป็นธรรมและหาจุดสมดุลระหว่างตัวเลขทางเศรษฐกิจกับสุขภาวะของสังคม จึงเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงแลกเปลี่ยนเพื่อให้ทั้งสองสิ่งนี้สามารถเดินไปด้วยกัน
ผู้ประกอบการขานรับ มาตรการผ่อนปรนสุราภายใต้การควบคุม
เวทีเสวนาวิชาการ หัวข้อ ‘การกระตุ้นทางเศรษฐกิจกรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์: เหตุผลทางเศรษฐกิจ และมุมมองทางสังคม’ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิชีววิถี (BioThai) ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับประโยชน์ทางเศรษฐกิจและผลกระทบจากนโยบายของรัฐที่อาจจะเกิดขึ้น
ในมุมมองของตัวแทนผู้ประกอบการ ธนากร คุปตจิตต์ ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยมีจุดเด่นในด้านผลผลิตทางการเกษตร เมื่อนำมาแปรรูปเป็นสินค้าทั่วไปจะสามารถเพิ่มมูลค่าได้ 5-10 เท่า แต่หากนำไปแปรรูปเป็นสินค้าในหมวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะสามารถเพิ่มมูลค่าได้สูงถึง 50 เท่า
หากมองในแง่การกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องมีการทบทวนกฎหมายที่ล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน เช่น การจำกัดเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วง 14.00-17.00 น. มาตรการนี้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 ในประกาศคณะปฏิวัติสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งมีจุดประสงค์หลักเพียงเพื่อป้องกันไม่ให้ข้าราชการดื่มสุราในช่วงเวลาทำงาน ดังนั้นควรมีการทบทวนมาตรการและกฎหมายให้เหมาะสม
ในด้านการแข่งขันทางการค้า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญแก่สุราชุมชนมากขึ้น โดยทบทวนกฎหมายการโฆษณา เปิดโอกาสให้มีการประชาสัมพันธ์สินค้าและสร้างช่องทางการจัดจำหน่าย
อย่างไรก็ตาม ธนากรยืนยันว่า แม้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวได้ แต่ก็ต้องมีการควบคุมผลกระทบทางสังคมด้วยเช่นกัน ทั้งการบังคับใช้กฎหมายเมาแล้วขับที่เข้มงวดมากขึ้น และห้ามจำหน่ายแก่เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี พร้อมๆ ไปกับการสร้างความตระหนักรู้แก่เด็กและเยาวชน เช่นเดียวกับในอดีตที่มีการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาในระบบการศึกษามากขึ้น
สอดคล้องกับความเห็นของ สุภัค ก่ออิฐ ตัวแทนกลุ่ม ‘ประชาชนเบียร์’ ที่มองว่า มาตรการผ่อนปรนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ได้ โดยเฉพาะในหลายจังหวัดที่มีการผลิตสุราชุมชนหรือการตั้งโรงสุราพื้นบ้าน ซึ่งเป็นการกระจายรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน ทั้งในแง่การใช้วัตถุดิบและแรงงานท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม กฎหมายปัจจุบันยังมีข้อจำกัดให้ชุมชนผลิตได้เพียงสุราขาว ไม่สามารถยกระดับไปสู่การผลิตสุรากลั่น (เหล้าสี) ได้ ทั้งที่ชุมชนมีศักยภาพมากพอที่จะผลิตได้ ทำให้ขาดโอกาสในการแข่งขันหรือเพิ่มมูลค่าสินค้าของตนเอง
“สุราประชาชนไม่ใช่สุราเสรี ผลประโยชน์ต้องตกถึงประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ตกอยู่กับกลุ่มคนที่มีเม็ดเงินมากกว่า ดังนั้นต้องหาจุดสมดุลที่ทำให้ทุกฝ่ายไปด้วยกันได้”
มากไปกว่านั้นอยากเห็นรัฐบาลให้ความสำคัญต่อการสร้าง ecosystem และวัฒนธรรมการดื่ม เช่น ระบบการรับส่งผู้ดื่ม เพื่อไม่ให้คนเมาขับรถ ไปจนถึงการเพิ่มโทษเมาแล้วขับ โดยเชื่อว่ามาตรการการแก้ไขผลกระทบทางสังคมกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจสามารถเดินควบคู่กันได้
ขณะที่ความเห็นของฝ่ายการเมือง วรภพ วิริยะโรจน์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มองว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและยืดอายุสินค้าเกษตรได้ นอกจากนั้นยังมีผลต่อการกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่สิ่งที่ยังไม่เห็นจากรัฐบาลคือ การปลดล็อกการผูกขาดของทุนขนาดใหญ่และเปิดโอกาสการแข่งขันให้กับผู้ผลิตรายย่อย
สำหรับมาตรการขยายเวลาเปิดสถานบริการในพื้นที่ 4 จังหวัด และ 1 อำเภอนั้น ถือเป็นพื้นที่โซนนิ่งที่ไม่ได้ปรับมาเป็นเวลาสิบกว่าปีแล้ว นอกจากนี้ควรมีการปรับแก้มาตรการห้ามจำหน่ายสุราในวันสำคัญทางพุทธศาสนา รัฐไม่ควรอ้างประเด็นความเชื่อของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยไปจำกัดสิทธิของคนส่วนน้อย เพราะเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพในการดื่มของแต่ละบุคคล
อย่างไรก็ดี แม้การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเป็นสิทธิเสรีภาพ แต่ก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการรณรงค์ว่าการเมาแล้วขับเป็นสิ่งที่สังคมไม่อาจยอมรับได้
Free trade ไม่ใช่ Fair trade มาตรการลดหย่อนต้องไม่เอื้อแค่รายใหญ่
ดร.เฉลิมภัทร พงศ์อาจารย์ จากคณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร หนึ่งในคณะวิจัยโครงการ ‘การประเมินผลทางเศรษฐกิจ สุขภาพ และสังคม หากมีการอนุญาตให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ หากมีการยกเลิกการกําหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหากมีการกําหนดพื้นที่พิเศษเพื่อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สําหรับการท่องเที่ยวยามค่ำคืน’ (2566) ให้ข้อมูลว่า มองในมุมเศรษฐกิจ หากรัฐลดมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยได้ประโยชน์ในการแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะสุราแช่ (สาโท ไวน์ เบียร์) ถือเป็นกลุ่มสินค้าที่ช่วยสนับสนุนผลผลิตด้านการเกษตรได้มากที่สุด
“แต่สิ่งที่ผู้ผลิตรายย่อยกังวลคือ เมื่อรัฐลดภาษีนำเข้าไวน์ จะส่งผลให้เกิดการทดแทนกันของสินค้า โดยเฉพาะการนำเข้าไวน์จากต่างประเทศในราคาที่ถูกลง ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศไม่สามารถสู้ได้ เปรียบเหมือนเอาอุตสาหกรรมตั้งไข่ไปสู้กับอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงมานานนับร้อยปี”
จากการศึกษาพบว่า ปัญหาสำคัญของผู้ประกอบการรายย่อยคือ อุปสรรคเรื่องการโฆษณาและต้นทุนบรรจุภัณฑ์ เพราะหากอนุญาตให้โฆษณาได้อย่างเต็มที่ กลุ่มทุนรายใหญ่ย่อมได้ผลประโยชน์มากที่สุด ขณะที่รายย่อยจะได้รับโอกาสในการสร้างที่ยืนของสินค้าตนเอง ส่วนเรื่องบรรจุภัณฑ์ รายย่อยก็ยังคงต้องแบกรับต้นทุนส่วนนี้อยู่ อีกทั้งด้วยหลักเกณฑ์ในการผลิตที่รัฐวางเงื่อนไขไว้ ทำให้รายย่อยจำนวนมากต้องหันไปผลิตต่างประเทศแทน
หากจำแนกกลุ่มผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทย จะแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ กลุ่ม thematic drinkers หรือ cultural drinkers คือกลุ่มที่ดื่มเพื่อลิ้มลองรสชาติใหม่ๆ กับกลุ่ม party drinkers หรือ hard drinkers คือกลุ่มที่ดื่มอย่างจริงจัง ซึ่งการใช้มาตรการควบคุมสำหรับนักดื่มกลุ่มนี้ในทางปฏิบัติถือว่าค่อนข้างยาก
เรื่องการจำกัดเวลาจำหน่ายในร้านอาหารหรือสถานบริการ ผู้บริโภคชาวไทยจะมีการปรับพฤติกรรมการดื่มที่ยืดหยุ่นกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่มาตรการควบคุมเวลาก็มีช่องโหว่อยู่มาก เพราะขึ้นอยู่กับอำนาจและดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ด้วยเหตุนี้การใช้กลไกด้านราคาหรือการขึ้นภาษีจึงเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพมากกว่าและช่วยให้ลดการดื่มลงได้
จากงานศึกษาวิจัย มีตัวเลขคาดการณ์ว่าหากรัฐลดเงื่อนไขข้อจำกัดในการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 45,000 ล้านบาท แต่ขณะเดียวกันรายจ่ายทางสังคมก็จะเพิ่มขึ้นตามมา 30,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการด้านภาษีจะมีประสิทธิภาพในการกำกับควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เงินจากภาษีก็ไม่สามารถชดเชยผู้ได้รับผลกระทบทางสังคมโดยตรง อีกทั้งผู้ได้รับประโยชน์จากเม็ดเงินทางเศรษฐกิจกับผู้ที่สูญเสียก็นับเป็นคนละกลุ่มกัน ดังนั้นต้องมีการปรับโครงสร้างภาษีให้มีความชัดเจนมากขึ้น
ดร.เฉลิมภัทร สรุปทิ้งท้ายด้วยว่า “free trade ไม่ใช่ fair trade การใช้มาตรการลดหย่อนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจไม่สำคัญเท่ากับการปรับโครงสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้น เพราะการลดหย่อนทั้งหมดอาจทำให้รายใหญ่ได้เปรียบมากขึ้น
“อีกประเด็นถัดมาคือ การออกแบบนโยบายทั้งระยะสั้นและระยะยาวต้องคำนึงถึงจุดที่มีช่องโหว่ ทั้งในแง่ความเป็นธรรมทางการค้าและผลกระทบทางสังคม เพราะหากยังมีรูรั่วอยู่ มาตรการเหล่านั้นก็ย่อมใช้ไม่ได้ผล อีกทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดเป็นสินค้าพิเศษ การออกนโยบายที่เอื้อต่อสินค้าประเภทนี้จึงต้องทำควบคู่ไปกับนโยบายการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ”
ขยายเวลาเปิดผับ ไม่ใช่ปัจจัยดึงดูดนักท่องเที่ยว
ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยในโครงการเดียวกัน ได้ตั้งประเด็นคำถามที่น่าสนใจว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการขยายเวลาเปิดผับ บาร์ และสถานบันเทิงในพื้นที่พิเศษนั้นคุ้มค่าแล้วจริงหรือ และยังมีวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีกว่านี้หรือไม่
หนึ่งในคำตอบที่ชัดเจนคือ ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจในเชิงบวกจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน การกระตุ้นการจับจ่ายทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ผลกระทบเชิงลบก็เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งปริมาณการดื่มที่เพิ่มขึ้นและอุบัติบนท้องถนนที่อาจเกิดขึ้นตามมา
ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ ให้ความเห็นจากงานวิจัยชิ้นนี้ว่า การท่องเที่ยวเชิงสังสรรค์ (party tourism) มีความเกี่ยวพันกับพฤติกรรมการดื่มที่สูงเกินปกติ หรือการดื่มอย่างหนักภายในช่วงเวลาอันสั้น การท่องเที่ยวประเภทนี้จึงมักสร้างผลกระทบทางลบต่อตัวนักท่องเที่ยวเองและผู้อื่น
“จากการคำนวณเบื้องต้น ถ้ามีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติดื่มสุราเพิ่มขึ้นเฉพาะในพื้นที่พิเศษที่อนุญาตให้จำหน่ายหลังเที่ยงคืนได้ พบว่า ความสูญเสียทางสุขภาพและสังคมจะเพิ่มขึ้น 258.37 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่สูงมาก แต่เป็นการสูญเสียที่ป้องกันได้ หากรัฐมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นที่เหมาะสม” ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ กล่าว
งานวิจัยยังพบด้วยว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียงร้อยละ 32.12 เท่านั้นที่เห็นว่า การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่พิเศษเป็นปัจจัยให้มาท่องเที่ยว และร้อยละ 84.31 ไม่ได้คิดว่าการขยายเวลาจำหน่ายจะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย
วัฒนธรรมการดื่มที่ถูกทำลาย
สรัช สินธุประมา หัวหน้าทีมสื่อสารสาธารณะเเละนักวิจัย 101 PUB มองว่า ที่ผ่านมาการดีเบตประเด็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักประกอบไปด้วยคู่ขัดแย้ง 2 ฝ่าย คือฝ่ายสนับสนุนเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และฝ่ายคัดค้านที่มองถึงผลกระทบทางสุขภาวะของสังคม ซึ่งเรื่องนี้มีปัญหาในตัวเองใน 2 ประเด็นคือ
1) ผลบวกทางเศรษฐกิจและผลกระทบทางสุขภาพ
กรอบแนวคิดเรื่องผลกระทบทางสุขภาพจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่แนวคิดใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นสิ่งที่สังคมโลกถกเถียงกันมากว่า 20 ปีแล้ว กล่าวคือ การคำนึงถึงปัจจัยสังคมที่กำหนดสุขภาพ (determinances of health) ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) หมายถึง ปัจจัยทั้งในระดับบุคคล สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม คือตัวกำหนดสุขภาพของคนในสังคม ซึ่งถือเป็นปัจจัยต้นนํ้า ดังนั้นการพิจารณาปัญหาต่างๆ ต้องมองอย่างครอบคลุมทุกมิติ เพราะเศรษฐกิจกับสังคมไม่สามารถแยกขาดจากกัน
ปัญหาก็คือ ดื่มอย่างไรจึงจะนับว่าเป็นปัญหา จะเห็นว่าในประเทศที่มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูง มีแนวโน้มที่จะมี GDP สูงกว่า ยิ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจดีก็ยิ่งบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก แต่เมื่อดูตัวเลขการดื่มในระดับเป็นอันตรายต่อชีวิต (harmful drink) จากทั้งปัญหาสุขภาพและอุบัติเหตุ พบว่า ประเทศที่มีการบริโภคสูงเหล่านี้กลับมีผลกระทบน้อยกว่า นั่นหมายความว่า การดื่มมากอาจจะไม่สำคัญเท่ากับรูปแบบของการดื่ม
2) การต้องเลือกระหว่างเศรษฐกิจกับสุขภาพ
สรัชเสนอว่า สุราต้องมีการควบคุม แต่ต้องมีการแก้ไขทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ และต้องมองไปถึงต้นเหตุด้วยว่า ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีสาเหตุมาจากอะไร
“การต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างผลบวกทางเศรษฐกิจหรือผลเสียต่อสุขภาพ อาจเป็นการมองปัญหาในมุมที่ต่างกัน เปรียบเหมือนกับการมองแม่น้ำสายเดียวกัน แต่ยืนอยู่คนละตำแหน่งของสายน้ำ”
เขาให้ข้อสังเกตว่า หากย้อนดูประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมานั้น รัฐไทยมักเลือกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่าที่จะเน้นการควบคุมผลกระทบเสมอ จึงไม่แปลกที่ผลกระทบทางสังคมจะถูกละเลยมาตลอด
เมื่อมองผ่านแว่นทางวัฒนธรรมจะพบว่า การดื่มที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมักมาพร้อมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น ประเทศเปรูซึ่งมีลักษณะการดื่มคล้ายกับสังคมไทย เมื่อเกษตรกรในแถบเทือกเขาแอนดีส (Andes) มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีกำลังซื้อมากขึ้น แต่ไม่สามารถที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปมากกว่านี้ได้แล้ว การบริโภคสุราจึงกลายเป็นปัจจัยที่ถูกนำมาใช้ในการผ่อนคลายสุขภาพของพวกเขาจากการทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยเพื่อสู้กับสภาวะทางเศรษฐกิจ ผลที่ตามมาคือ เกิดปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว พ่อแม่ไม่มีเวลา เยาวชนจำนวนมากต้องหันไปหาที่พึ่งจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเติมเต็มช่องว่างทางจิตใจ
เช่นเดียวกับงานศึกษากรณีประเทศแกมเบีย แต่เดิมผู้หญิงในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้จากการเป็นส่วนหนึ่งของผู้ผลิตเบียร์ แต่หลังจากมีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ ผู้ชายในชุมชนหันไปบริโภคสุราแบบอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงสูญเสียความสามารถในการพึ่งพาตนเอง และได้รับความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น
ขณะที่ประเทศไทย การดื่มในระดับอันตรายเพิ่งจะก่อตัวขึ้นเมื่อ 30-40 ปีมานี้ อันเป็นผลพวงจากปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง จากงานศึกษาคนไทยในจังหวัดขอนแก่นพบว่า เดิมทีนิยมดื่มสุราแช่หรือสาโท ซึ่งมีดีกรีตํ่า แต่ดื่มอย่างสมํ่าเสมอ ไม่ได้ดื่มคราวละมากๆ ทว่ารูปแบบการดื่มเริ่มเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและภาคการเกษตร ภายหลังจากนายทุนเข้ามาตั้งโรงงานอ้อยและนํ้าตาล ทำให้คนงานในโรงหีบอ้อยเริ่มดื่มหนักขึ้น และเมื่อถึงฤดูกาลปิดหีบอ้อยจึงมักมีการดื่มเพื่อเฉลิมฉลองที่หนักขึ้น
ดังนั้น รูปแบบของการดื่มจึงเป็นปัจจัยสำคัญ อันมีที่มาจากการทำงานอย่างหนัก กลายเป็นการดื่มคราวละมากๆ หรือดื่มเพื่อเฉลิมฉลอง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศในยุโรปที่มีวัฒนธรรมการดื่มแต่น้อยในระหว่างวัน และไม่นิยมดื่มหนักในช่วงสุดสัปดาห์ อันตรายที่เกิดจากการดื่มจึงน้อยกว่ามาก
อย่างไรก็ตาม การควบคุมการผลิตและการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายนํ้า ทั้งยังมีช่องโหว่อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว การผูกขาดของทุนขนาดใหญ่ได้ผลักให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปสู่วิถีชุมชนและชีวิตประจำวันไปแล้ว
“เรามักพูดถึงปัญหาการผูกขาดการผลิตสุรา แต่สิ่งที่ต้องจับตาดูคือการผูกขาดทางวัฒนธรรม ที่ผ่านมารัฐไทยกำกับความหมายของสุรามาโดยตลอด ทำให้สิทธิและวัฒนธรรมชุมชนถูกพรากไป การจะบริโภคสุราได้ต้องหันไปซื้อจากผู้ผลิตรายใหญ่แต่เพียงเท่านั้น” สรัชกล่าว
บทเรียนจากต่างประเทศ ควบคุมเคร่งครัด ดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ
จากการศึกษาในเชิงเศรษฐศาสตร์และการทำวิจัยเกี่ยวกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เคร่งครัดสามารถช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ โดยยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ที่ดำเนินนโยบายการท่องเที่ยวแบบเน้นคุณภาพ ตั้งแต่ปี 2013 เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังทางเศรษฐกิจสูง จนกระทั่งในปี 2015 สิงคโปร์ได้ออกกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้มงวดขึ้น โดยลดเวลาการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในซูเปอร์มาเก็ตและร้านสะดวกซื้อถึงแค่เวลา 22.30 น. และห้ามจำหน่ายจนถึงเวลา 07.00 น. ของอีกวัน ส่วนสถานบริการที่ได้รับใบอนุญาตจะสามารถดื่มได้จนถึงเวลา 23.59 น. และห้ามดื่มหลังเวลาดังกล่าวจนถึงเวลา 06.00 น. ของอีกวัน
ทั้งนี้ สิงคโปร์ได้กำหนดพื้นที่ควบคุมแอลกอฮอล์ที่เข้มงวดคือ ย่านสถานบันเทิงอย่างเกย์ลาง (Geylang) และลิตเติลอินเดีย (Little India) ที่ห้ามการดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่สาธารณะตั้งแต่ 07.00 น. ของวันเสาร์จนถึง 07.00 น. ของเช้าวันจันทร์ โดยล่าสุดสิงคโปร์ยกระดับความเข้มงวดของกฎหมายเมื่อปีที่ผ่านมา หากผู้ประกอบการฝ่าฝืนจะมีโทษปรับเป็นเงิน 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 230,000 บาท ส่วนนักดื่มจะมีโทษปรับเป็นเงิน 1,000-2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 23,000-46,000 บาท
อย่างไรก็ดี เกิดคำถามว่าเหตุใดรัฐบาลสิงคโปร์จึงต้องออกกฎหมายที่เข้มข้นในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งที่สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีปัญหาอาชญากรรมหรือปัญหาที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ค่อนข้างน้อย คำตอบคือ รัฐบาลสิงคโปร์ตั้งเป้าในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับประเทศ เพื่อดึงดูด ‘นักท่องเที่ยวคุณภาพ’ ซึ่งมีกำลังซื้อมหาศาลได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น
นอกจากนี้ ผศ.ดร.ชิดตะวัน ยังได้แบ่งปันประสบการณ์จากการเดินทางไปยังประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวด มีการจัดเก็บภาษีในอัตราสูง กำหนดช่วงเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ไม่เกิน 20.00 น. ในวันธรรมดา ส่วนวันเสาร์จำหน่ายได้ไม่เกิน 18.00 น. และงดจำหน่ายในวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ยกเว้นสถานบริการที่สามารถจำหน่ายได้ทั่วไป ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีดีกรีสูงจะสามารถซื้อได้เพียงแค่ร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Vinmonopolet) เท่านั้น ซึ่งผลจากมาตรการดังกล่าวทำให้ประชาชนได้ใช้เวลาที่มีคุณภาพกับครอบครัว เพื่อเป็นการพัฒนาทรัพยากรที่มีคุณภาพ สร้างทุนมนุษย์ที่มีสุขภาพดี สุขภาพจิตดี และส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต
“เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าที่มีผลกระทบต่อผู้อื่น ตราบใดที่รัฐยังแก้ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ รัฐบาลก็ไม่ควรลดมาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”
FTA หายนะของผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย
นอกเหนือไปจากมาตรการของรัฐบาลที่พยายามผ่อนปรนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในประเทศแล้ว สิ่งที่น่ากังวลไม่น้อยก็คือ การเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความตกลงการค้าเสรี FTA ที่รัฐบาลกำลังเร่งเจรจากับสหภาพยุโรป (EU) ที่สุดท้ายแล้วประเทศไทยอาจเป็นฝ่ายเสียประโยชน์
ในประเด็นนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อริศรา ร่มเย็น เณรานนท์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เสนอว่า หากมองในเชิงเศรษฐกิจ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกจัดอยู่ในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการที่เหมาะสมกับหมวดสินค้าประเภทนี้ โดยมีงานศึกษาพบว่า เบียร์เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทเดียวที่ผู้ดื่มจะลดการบริโภคลงหากมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น แต่ก็มีผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าที่มีลักษณะทดแทนกันได้ การเพิ่มภาษีเบียร์จึงไม่ช่วยให้ลดปริมาณการดื่มลง แต่อาจช่วยเพิ่มรายได้ทางภาษีแก่รัฐบาลได้ ดังนั้น หากรัฐบาลจะใช้มาตรการด้านราคาเพื่อลดปริมาณการดื่ม ก็ควรพิจารณาเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทไปพร้อมกัน
จากงานศึกษาของ ผศ.ดร.อริศรา ในหัวข้อ ‘การลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้บริบทการเจรจาเปิดเสรีทางการค้าและผลกระทบจากการศึกษาเบื้องต้น’ พบว่า
เมื่อมีความตกลง FTA เข้ามาเกี่ยวข้อง อาจส่งผลให้การนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต่างประเทศมีราคาที่ถูกลง แม้จะยังมีกำแพงภาษีอยู่ก็ตาม ทำให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น เพราะสามารถเข้าถึงสินค้าจากต่างชาติได้ง่ายขึ้น
“สุรามีกลไกการตลาดเฉพาะตัว สุรานำเข้าจากต่างประเทศมักสื่อถึงรสนิยม หากมีราคาถูกลงก็จะเกิดนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นไปอีก”
ทั้งนี้ การเปิดเจรจา FTA จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยใน 2 มิติด้วยกันคือ
1) อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่จะกระทบมากกว่ารายใหญ่
2) เกิดการไหลบ่าเข้ามาของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต่างประเทศ แม้ไทยจะพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสาธารณสุขที่จะต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการดูแลสุขภาพประชาชน ขณะที่มิติทางเศรษฐศาสตร์ที่มุ่งไปการเจริญเติบโตของ GDP เราไม่สามารถมองผลลัพธ์เพียงแค่ตัวเลข แต่ต้องมองไปถึงคุณภาพชีวิตที่มีความเสมอภาค การกระจายรายได้จะต้องเท่าเทียม เพื่อให้ทุกมิติของสังคมพัฒนาไปพร้อมๆ กัน
ผศ.ดร.อริศรา ระบุว่า ปัจจัยสำคัญของการเจรจาการค้าระหว่างประเทศมี 2 บริบท คือ การค้า และการลงทุน ในแง่การค้านั้นประกอบด้วยการส่งออกและนำเข้า ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าจะมีการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากประเทศแถบยุโรปจำนวนมาก ขณะที่การส่งออก ไทยยังคงมุ่งเน้นไปที่ตลาดในภูมิภาคอาเซียน และประเทศในแถบยุโรปเพียงบางประเทศเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึงเรื่องดุลการค้าเป็นสำคัญ ซึ่งประเมินเบื้องต้นได้ว่า การส่งออก-นำเข้าสินค้าประเภทเบียร์จะเกินดุลการค้า เพราะอุตสาหกรรมเบียร์ของไทยมีความเข้มแข็ง ส่วนไวน์และสุราจะมีลักษณะขาดดุลการค้า
ท้ายที่สุด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการพุ่งเป้าไปที่ธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควรที่จะได้รับการทบทวน ตรวจสอบ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายให้มากขึ้น เพื่อให้การกำหนดนโยบายของรัฐเป็นไปด้วยความรอบคอบรัดกุม ที่สำคัญรัฐต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติ เพื่อชั่งน้ำหนักหาจุดสมดุลระหว่างตัวเลขรายได้ทางเศรษฐกิจกับรายจ่ายที่สังคมต้องสูญเสีย