[อภิชาต สถิตนิรามัย: ภูมิทัศน์เศรษฐกิจไทยในหม้อต้มกบ] ตอนที่ 1: จากเสือตัวที่ 5 กลายร่างเป็น ‘กบตุ๋น’

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2560 รองศาสตราจารย์ ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปรียบเปรยสภาพเศรษฐกิจไทยในวันนั้นว่าเป็นเหมือนสภาวะ ‘ต้มกบ’ เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 

แม้เวลาล่วงเลยมาถึง 7 ปีแล้ว ประเทศไทยผ่านเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองมามากหลาย ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหาร คสช. ผ่านการเลือกตั้ง 2 ครั้ง โดยที่พรรคอันดับ 1 ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ผ่านความบอบชํ้าทางเศรษฐกิจอันเป็นผลจากการไร้ความสามารถในการบริหารประเทศของรัฐบาลทหาร และผลพวงจากวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยผุดขึ้นผุดลงมาโดยตลอด จนเกิดดิเบตกันว่ามันคือภาวะวิกฤตหรือเพียงแค่ถดถอยกันแน่ 

กระทั่งวันหนึ่งตื่นเช้าขึ้นมาแล้วอ่านข่าวในหน้าฟีดพบว่า ‘หนี้สินครัวเรือน’ ของคนไทยทะลุ 90 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ไปแล้ว รายได้โตไม่ทันรายจ่าย หนี้บ้านลามหนี้รถ ชวนให้นึกถึงภาพในอนาคตว่า ‘วิกฤตเศรษฐกิจ’ ที่แท้ทรูกำลังจะมาถึงในไม่ช้าหรือไม่ 

ดังนั้น WAY จึงหอบคำถามทางเศรษฐกิจเพื่อไปหาคำตอบกับอาจารย์อภิชาตอีกครั้งว่า เหตุใดเราจึงเดินมาถึงจุดนี้ได้ ภายใต้บทสัมภาษณ์ชุด ‘ภูมิทัศน์เศรษฐกิจไทยในหม้อต้มกบ’ ในวาระครบรอบ 1 ทศวรรษการรัฐประหาร 2557 ผ่านการคลี่ปมภูมิทัศน์เศรษฐกิจไทยทีละชั้นเพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมด ภายใต้กรอบประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ยุค ‘เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย’ จนถึง ‘กบในหม้อต้ม’ 

อาจารย์อภิชาตยืนยันหนักแน่นเช่นเดิมว่า ไทยยังคงอยู่ในภาวะต้มกบ อุณหภูมิของนํ้ากำลังเดือดพล่าน กระโดดออกไปไม่ได้ เพราะฝาถูกปิดไว้ พร้อมกับจุดประเด็นที่น่าสนใจคือ 1) สภาวะถดถอยและการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน 2) นายทุน-ขุนศึก ดึงขากบไม่ให้กระโดด 3) ปัญหาเชิงโครงสร้างและฉันทามติของประชาชน และ 4) วิกฤตหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นข้อสังเกตและบทวิพากษ์อันเข้มข้น ตรงไปตรงมา และคมชัดที่สุดในรอบทศวรรษ

7 ปีที่แล้ว อาจารย์มองว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ใน ‘ภาวะต้มกบ’ ถึงตอนนี้เรายังคงอยู่ในภาวะเดิม ในหม้อเดิมหรือไม่

ใช่ เรายังคงอยู่ในภาวะต้มกบที่นํ้ากำลังเดือดขึ้นเรื่อยๆ ในระดับที่มากกว่าเมื่อ 7-8 ปีก่อนด้วยซํ้า กบในหม้อกำลังจะสุกแล้วด้วยซํ้า ปัญหาเดิมเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ยังไม่ได้รับการแก้ไขในสาระสำคัญ อีกทั้งยังมีปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาที่ทำให้นํ้าเดือดเร็วและแรงขึ้น รากฐานของปัญหาภาวะต้มกบก็คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเติบโตช้าลงเรื่อยๆ 

ทำไมประเทศไทยจึงเดินมาถึงจุดนี้ได้

หากมองย้อนกลับไปช่วงก่อน ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ในช่วงทศวรรษ 2530-2540 เศรษฐกิจไทยเติบโตโดยเฉลี่ยปีละ 7-8 เปอร์เซ็นต์ ไทยหมายมั่นปั้นมือจะเป็น ‘เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย’ ตามหลังฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งได้กลายมาเป็นประเทศอุตสาหกรรม มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงตั้งแต่ทศวรรษก่อนหน้าแล้ว เรามีความหวังที่จะกระโจนไปข้างหน้า แต่ก็ต้องพังทลายในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 (รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท) ไทยต้องเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 

ภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวภายหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อไทยกลายมาเป็นฐานการผลิตและส่งออกในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้การนำของทุนยานยนต์ญี่ปุ่น รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ผลักดันให้ไทยกลายเป็น ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากไทยสามารถผลิตและประกอบรถยนต์ได้ปีละ 1 ล้านคัน รวมไปถึงการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (hard disk drive) ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดคอมพิวเตอร์ทั่วโลก และไทยก็เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยที่ -2.8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2540 และ -7.6 เปอร์เซ็นต์ในปี 2541 พุ่งสูงขึ้นถึง 7.2 เปอร์เซ็นต์ในปี 2546 ตามตัวเลขของธนาคารโลก (World Bank) 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเมืองเริ่มก่อตัวขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากการเลือกตั้งท่วมท้นถล่มทลาย จนนำไปสู่การรัฐประหาร 2549 

อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย ส่งสัญญาณคงที่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แม้จะผ่านวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) แต่ก็ยังเติบโตต่อไปได้จากอุตสาหกรรมจากการส่งออกยานยนต์และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ กระทั่งเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 ทำให้วงการคอมพิวเตอร์เป็นอัมพาต เมื่อโรงงานผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากนํ้าท่วม เพราะไทยคือผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก 

สินค้าหลัก 2 ตัว ที่เราส่งออกมีส่วนแบ่งในตลาดสูง (แต่เป็นฐานการผลิตให้กับต่างประเทศ) ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงไปและถูกดิสรัปต์อย่างมาก ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์หมดความสำคัญลงไปและถูกแทนที่ด้วย SSD (solid state drive) ซึ่งอยู่ในสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์อื่นๆ ขณะที่รถยนต์สันดาปภายในกำลังถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า เมืองไทยเองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รถยนต์ไฟฟ้ากำลังได้รับความนิยมและมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ถ้าเปรียบเทียบสินค้าส่งออกหลักนี้ ถือว่าอยู่ในห้วงเวลาที่เรียกว่า ‘Kodak Moment’ ที่กล้องฟิล์มถูกแทนที่ด้วยกล้องดิจิทัล ทำให้โกดักซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่โตมโหฬารต้องเจ๊งไป

รถยนต์สันดาปภายในและฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว สินค้าประเภทนี้ยังคงไปได้สวยในตลาดโลก แต่วันนี้หากไม่มีการปรับตัว เปลี่ยนการผลิตเป็นสินค้าใหม่ เทคโนโลยีใหม่ เศรษฐกิจไทยก็จะยิ่งโตช้า สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกเข้าไปอีก และนี่คือเหตุที่ทำให้นํ้าในหม้อต้มกบยิ่งเดือดเข้าไปอีก

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เราแทบไม่ได้แก้ไขปัญหาหรือปรับตัวเลยหรือ 

การรัฐประหาร 2557 คือต้นทุนที่สูงมาก ที่สำคัญที่สุดทำให้ไทยเสียโอกาส เพราะเรามัวแต่นั่งเฉยๆ ขณะเดียวกันก็มีความขัดแย้งทางการเมือง จนไม่ได้มาสนใจแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุด นอกจากต้นทุนความไม่เป็นประชาธิปไตยทางการเมืองแล้ว ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการรัฐประหาร ยิ่งเพิ่มเชื้อไฟใต้หม้อต้มกบ ทำให้นํ้าร้อนถึงจุดเดือดในอัตราเร่งที่มากขึ้น และยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่หมายถึงปัญหานี้มันแก้ไขยาก ต้องตั้งใจและพยายามแก้ แก้ไปแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จได้ง่ายๆ

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เราไม่ได้ทำอะไรเลยที่จะแก้ปัญหาเช่นนี้ในเชิงโครงสร้าง สังคมไทย เทคโนแครต นักวิชาการไทย พูดถึง ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ (middle-income trap) เห็นปัญหานี้มานานกว่า 10 ปี องค์ความรู้เรามี เรารู้ปัญหา แผนแก้ไขก็มี อย่างเช่นแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล คสช. มีกำหนดไว้ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหากับดักรายได้ปานกลาง ต้องการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง พูดง่ายๆ คือ การแก้ไขปัญหาต้มกบนี้ไง 

ไม่กี่วันมานี้ สว. ก็ตั้งคำถามต่อรัฐบาลเศรษฐา 8 ข้อ ว่าแก้ปัญหากับดักรายได้ปานกลางไปถึงไหนแล้ว คำถามคือ ทำไมเพิ่งมาถามรัฐบาลใหม่ แสดงว่ามีแผนยุทธศาสตร์ชาติมา 8 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้ทำเลยสักอย่าง หรือทำก็ไม่ถึงจุดที่ตั้งไว้ พอไม่ทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน นํ้าในหม้อต้มกบมันก็เดือดขึ้นเรื่อยๆ จนกบสุกและเปื่อยไปในที่สุด

จริงหรือไม่ที่หลายฝ่ายมองว่า รัฐไทยลงทุนตํ่าในการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ และการลงทุนของรัฐส่วนใหญ่ก็ไม่ตอบโจทย์นี้ นอกจากการสร้างถนนเป็นหลัก

การแก้ปัญหาโครงสร้าง ในความหมายแท้จริงของมันคือ การแก้ปัญหาที่ยากที่สุด แล้วการแก้ปัญหาโครงสร้างนี้ต้องการความสามารถของรัฐที่ดีกว่ารัฐไทยที่ตัดถนนเก่งที่สุดตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อใช้เป็นเส้นทางเข้าไปปราบคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันก็ยังตัดถนนอยู่ 

การตัดถนนนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการลงทุนในโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่ดี เพราะจะช่วยลดต้นทุนในการขนส่ง สามารถเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบัน รัฐไทยต้องเผชิญกับภาระใหม่ๆ โครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น แต่รัฐก็ยังไม่ปรับตัว หนำซํ้าโครงสร้างระบบราชการไทยยังใหญ่เทอะทะขึ้นไปเรื่อยๆ ภายหลังการรัฐประหาร 2557 ที่ได้เอาอำนาจนำของระบบเศรษฐกิจไปไว้ที่ระบบราชการแล้วนำโดยทหาร ทำให้ความสามารถของรัฐไทยที่จะไปแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างศักยภาพของประเทศมันลดลงเรื่อยๆ ประสิทธิภาพลดลงไปอีก ไม่ใช่แค่จะมาตัดถนนอย่างเดียว แต่ในความจริงแล้วต้องนำงบประมาณไปทำส่วนอื่นๆ ด้วย

รัฐต้องปรับตัวอย่างไรจึงจะสามารถสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อสร้างศักยภาพของประเทศได้

ระบบราชการจำเป็นต้องถูกปฏิรูปครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล (efficiency and effectiveness) ยกเลิกงานเก่าๆ ที่ไม่จำเป็น แล้วไปโฟกัสงานใหม่ๆ ที่จำเป็น ซึ่งการปฏิรูประบบราชการยังเป็นปัญหาทางการเมือง เพราะข้าราชการเป็นองคาพยพที่มีอำนาจทางการเมืองสูง อย่างเช่น ทหารก็เป็นราชการ ‘ระบอบประยุทธ์’ ก็คือระบอบที่เอาราชการขึ้นมามีอำนาจนำ ดังนั้น มันจึงไม่นำไปสู่การปฏิรูประบบได้ เพราะตัวเองผูกพันกับผลประโยชน์เช่นเดิม ดังนั้น การปฏิรูประบบราชการจึงแยกไม่ออกจากการปฏิรูปการเมืองที่ให้พลังนอกระบบราชการเป็นตัวขับเคลื่อน การปฏิรูประบบราชการครั้งสุดท้ายคือ เมื่อ 20 ปีที่แล้วในสมัยทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนทางการเมืองสูง และนำไปสู่การปฏิรูประบบราชการได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน

เมื่อเศรษฐกิจไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ตลาดไม่มีกลไกอัตโนมัติในการแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยตนเอง หรือภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ‘ระบบตลาดล้มเหลว’ (market failure) ดังนั้น รัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทชี้นำในการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขัน ผ่านนโยบายด้านอุตสาหกรรม (industrial policy) เช่น โลกตะวันตกหันมาให้ความสำคัญกับนโยบายอุตสาหกรรมเพื่อให้สามารถแข่งขันกับจีนได้ เป็นต้น สรุปง่ายๆ คือ รัฐต้องนำตลาด ขณะที่รัฐไทยกลับไม่มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากพอที่จะมานำเช่นนี้ ทั้งยังกลายมาเป็นอุปสรรคหลักที่ทำให้เราสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของเอเชีย หลายประเทศมักจะมีรัฐนำตลาด อย่างเกาหลีใต้ พอจะเป็นต้นแบบของไทยได้หรือไม่ 

จริงๆ แล้วเราไม่สามารถเลียนแบบเกาหลีใต้ได้หรอก เราไม่ได้มีขีดความสามารถในยุคเดียวกันที่เหมือนกัน แม้จะมีการปฏิรูประบบราชการสมัยจอมพลสฤษดิ์ครั้งใหญ่ภายใต้การช่วยเหลือของธนาคารโลก และเป็นจุดเริ่มต้นในการกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าได้ ทำให้ไทยหลุดพ้นจากประเทศยากจนเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้ แต่ก็ไม่สามารถสู้เกาหลีใต้ในยุคเดียวกันได้ ถึงทำได้ก็อยู่ในดีกรีที่ตํ่ากว่าอยู่ดี และเราก็ยังติดกับดักรายปานกลางมาตลอด 

ระบบราชการไทยในอดีตมีความสามารถในการผลักไทยออกจากประเทศยากจนได้ แต่ไม่ได้มีความสามารถพอในการผลักไทยออกจากประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งจำเป็นต้องมีความสามารถมากกว่าเดิม เพิ่มขึ้นไปอีก ยากขึ้นไปอีกระดับ การหลุดออกจากกับดับความยากจนมันง่าย แค่คุณผลิตเสื้อผ้ารองเท้า ใช้เครื่องจักรนำเข้า มีแรงงานเพียงพอ ต้นทุนตํ่า แต่การหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลาง คุณต้องมีการวิจัยและพัฒนา คุณต้องมีเทคโนโลยี แรงงานมีทักษะสูงขึ้น เป็นต้น 

อย่างเกาหลีใต้เขาเริ่มจากอุตสาหกรรมเบา ไปอุตสาหกรรมหนัก เคมีภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ จนถึงมาถึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่รัฐเกาหลีใต้เขาเห็นศักยภาพแล้วหนุนให้ออกไปสู่ตลาดโลก จะเห็นได้ว่า รัฐเองต้องยื่นมือเข้าไปช่วยตรงนี้ ลำพังเอกชนลงทุนในส่วนนี้ด้วยตัวเองย่อมมีความเสี่ยงสูง ต้องใช้เงินมหาศาล แต่รัฐที่จะทำแบบนี้ได้ต้องมีวิสัยทัศน์ มีประสิทธิภาพ มีการทดลอง และนี่เป็นแค่หนึ่งในเงื่อนไขอันจำเป็นที่จะช่วยให้เราหลุดออกจากภาวะต้มกบได้

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ

Photographer

เจนจิรา สิริพรรณยศ
คุยกับหมารู้เรื่องกว่าคุยกับปลา มีเพื่อนเป็นหมาทั่วจังหวัดเชียงใหม่ หลงใหลในเรื่องนามธรรม แต่บ้าคลั่งการซื้อโคมไฟมือสอง โดยปกติทำงานวิชวล แต่ก็แอบๆ อยากเขียนด้วยบ้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า