เมื่อทุนต่างชาติไม่สนใจไทย น้ำยารัฐราชการจะรับมืออย่างไร

ไม่นานมานี้ KKP Research โดย เกียรตินาคินภัทร เปิดเผยรายงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นข้อกังวล ท่ามกลางภาวะข้าวยากหมากแพง หลังจับสัญญาณได้ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะที่นักลงทุนจากนานาชาติให้ความสนใจลดลง อาทิ การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินทั้งจากนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนไทยเองที่เริ่มออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกัน การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศก็ลดลง รวมถึงการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก ซึ่งแม้ว่าการส่งออกจะขยายตัวในหลายประเทศ แต่การส่งออกของไทยยังถือว่าฟื้นตัวได้ช้ากว่าหลายประเทศในโลก 

หนึ่งในข้อถกเถียงสำคัญของเศรษฐศาสตร์การเมืองไทยเสมอมา คือ บทบาทของ ‘รัฐราชการ’ และ ‘กลุ่มทุน’ ที่ดูจะมีปฏิสัมพันธ์กันตลอดหน้าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยมาหลายสิบปี ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่สังคมกำลังเรียกร้องให้รัฐกระทำหน้าที่ในการรับมือกับการระบาดของไวรัส COVID-19 เราจำเป็นต้องกลับมาทบทวนความเป็นไประหว่างรัฐราชการไทยและกลุ่มทุนใหญ่ทั้งหลายเสียใหม่ เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ถดถอยที่กำลังเกิดขึ้น

WAY Conversation ชวนสนทนากับผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจใต้อุ้งมือรัฐราชการไทย 2 ท่าน คือ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร อาจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง ประจำมหาวิทยาลัย National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) ประเทศญี่ปุ่น และ ชัชฎา กำลังแพทย์ จากศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี อิทธิพล โคตะมี กองบรรณาธิการ WAY เปิดประเด็นอภิปรายในหัวข้อ ‘เมื่อทุนต่างชาติไม่สนใจไทย น้ำยารัฐราชการจะรับมืออย่างไร’ โดยเผยแพร่ผ่านทาง Facebook LIVE เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา

ทุนต่างประเทศกำลังทอดทิ้งไทย คำกล่าวนี้เป็นจริงแค่ไหนในสภาวะปัจจุบัน

วีระยุทธมองว่า สัญญาณดังกล่าวไม่ใช่เพิ่งเกิดในช่วงนี้ จากสถานการณ์พิเศษอย่างการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 สภาวะถดถอยของเศรษฐกิจไทยได้ดำเนินมาสักพักหนึ่งแล้ว เพียงแต่สถานการณ์กำลังเข้าขั้นวิกฤติในช่วงเวลานี้เท่านั้น หากมองอย่างผิวเผินจะพบว่า รายงานทั่วไปทางเศรษฐกิจอย่างการค้าการส่งออกทั้งหลายดูจะมีแนวโน้มกลับเข้าใกล้สภาวะปกติขึ้นบ้าง แต่การมองเห็นเพียงแค่ส่วนนี้จะทำให้เรามองไปไม่ถึงสภาพความเป็นจริงที่ว่า ต่อให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวกลับมาได้เท่าเดิมก่อน COVID-19 ก็ยังไม่สามารถกลับมาเทียบเท่าประเทศเพื่อนบ้านได้ หากจะให้มองเห็นภาพชัดขึ้น ให้ลองเอาตัวเลขของไทยเราไปเปรียบเทียบกับเวียดนาม 

ขณะเดียวกัน หัวหอกที่เข้มแข็งของไทยเราอย่างการส่งออกฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงชิ้นส่วนยานยนต์ ก็เริ่มส่อแววเข้าสู่ทางตันมากขึ้น เราจึงทำได้แค่ส่งออกชิ้นส่วนเหล่านี้ในรุ่นที่ค่อนข้างเก่า เนื่องจากโลกกำลังเคลื่อนไปในทิศทางอื่นแล้ว 

“เราจะยังพึ่งพาการส่งออกสินค้าเหล่านี้อยู่เหมือนเดิมได้อย่างไร หากโลกกำลังใช้ระบบ cloud หรือรถยนต์พลังงานสะอาดกันมากขึ้น” วีระยุทธเน้นย้ำหนักแน่นถึงประเด็นดังกล่าว

สถานการณ์ที่วีระยุทธกล่าว ดูเหมือนจะเลวร้ายลงไปอีกเมื่อประเทศไทยต้องรับมือกับวิกฤติไวรัส COVID-19 ตรงจุดนี้เองจึงเป็นประเด็นตามมาว่า บริบทของรัฐราชการไทยในยุคสมัยของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความแตกต่างจากการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเรือนดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีตอย่างไร 

“ช่วงวิกฤติราคาน้ำมันสมัยพลเอกเปรม (ติณสูลานนท์) โครงสร้างรัฐไทยเป็นโครงสร้างรัฐราชการที่เปิดให้กลุ่มทุนเข้ามาร่วมถ่วงดุลการส่งออกและกำหนดนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ เห็นได้จากกลไกร่วมภาครัฐ-เอกชน และเปิดให้มีภาคสังคมเข้าไปร่วมด้วยในกลไกภาคีรัฐ-สังคม จึงไม่ได้เป็นรัฐราชการปิดที่มีแต่ทหารพลเรือนเหมือนสมัยก่อน การรับมือวิกฤติจึงถือว่าไม่ได้เป็นการตัดสินใจแบบรวมศูนย์” ชัชฎากล่าว

ชัชฎายกตัวอย่างวิกฤติราคาน้ำมันที่เข้าจู่โจมเศรษฐกิจไทยในช่วงสมัยของพลเอกเปรม โดยกล่าวว่า รัฐราชการไทยในสมัยนั้นเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนมีบทบาทเข้าร่วมเป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจ ลักษณะของรัฐราชการในสมัยนั้นจึงไม่ได้มีเพียงข้าราชการทหารพลเรือนเพียงอย่างเดียว ซึ่งดูเหมือนว่าบริบทจากวิกฤติราคาน้ำมันในระดับโลกและการเปิดโอกาสให้หลายภาคส่วนเข้าไปร่วมเป็นกลไกกับรัฐราชการ จะทำให้ลักษณะการรับมือวิกฤตการณ์ครั้งนั้นแตกต่างไปจากการรับมือกับโรคระบาด COVID-19 ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ 

ถึงแม้ในสมัยของพลเอกเปรมจะมีมาตรการอย่างการกำหนดเวลาเปิด-ปิดของสถานบันเทิงบ้าง เพื่อประหยัดการใช้พลังงาน แต่การควบคุมมาตรการดังกล่าวก็เกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละพื้นที่ที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการสอดส่องสถานการณ์ในจังหวัดของตนเอง เพื่อกำกับนโยบายออกมาให้เหมาะสมกับบริบทที่สุด ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความแตกต่างจากสมัยปัจจุบัน ที่ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจมักจะเป็นคนในแวดวงใกล้ชิดกับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เช่น ทหารและกลุ่มทุนใหญ่ จนทำให้การรับมือวิกฤติไม่เกิดผลดีเท่าที่ควรจะเป็น 

ระบบเศรษฐกิจไทยกำลังก้าวไปสู่ ‘ทุนนิยมช่วงชั้น’ หรือไม่ ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ลุกลาม 

วีระยุทธกล่าวถึงงานศึกษา ระบอบประยุทธ์: การสร้างรัฐทหารและทุนนิยมแบบช่วงชั้น ที่เขียนร่วมกับ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ เมื่อปี 2561 ว่า เป้าหมายของงานชิ้นนี้เกิดขึ้นเพื่อหาคำตอบว่าระบอบประยุทธ์ก่อนการเลือกตั้ง 2562 มีความคล้ายกับระบอบเปรมหรือไม่ ซึ่งมีข้อค้นพบว่าไม่เหมือนกัน เนื่องจากระบอบประยุทธ์มีความกระจุกตัวของอำนาจมากกว่าระบอบเปรม และมีท่าทีเปิดโอกาสในการกระจายอำนาจที่น้อยกว่ามาก 

ปัจจัยอีกหนึ่งอย่างที่สำคัญของรัฐบาลในระบอบประยุทธ์คือ การจับคู่ระหว่างรัฐและกลุ่มทุนใหญ่ ปัจจัยนี้อาจจะเริ่มเห็นได้ตั้งแต่หลังการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. เป็นต้นมา ก็ได้มีการตั้งกลุ่มทำงานทางการเมืองขึ้นในนาม ‘ประชารัฐ’ โดยแบ่งหมวดแยกย่อยภายในออกเป็นหลายสาย หัวใจสำคัญของกลุ่มนี้คือ การจับคู่กันระหว่างตัวแทนจากบรรษัทเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นผู้บริหารของกลุ่มทุนใหญ่ คู่กับตัวแทนของภาครัฐอย่างรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ 

“ข้อสรุปทางการเมืองค่อนข้างชัดเจนว่า ทหารไม่ได้ต้องการจะแบ่งอำนาจ แต่มีความพยายามที่จะเข้าไปควบคุมสังคมผ่านกลไกต่างๆ ทั้งตัวกองทัพเอง และ กอ.รมน. ที่มีการขยายตัวออกไปชัดเจนมาก รวมถึงการออกแบบรัฐธรรมนูญที่มีการวางกับดักเอาไว้เป็นจำนวนมาก”

ชุดความคิดในการดำเนินงานลักษณะนี้ วีระยุทธกล่าวว่า คล้ายกับเป็นชุดความคิดที่มีที่มาจากค่ายทหาร คือแนวคิด ‘พี่ช่วยน้อง’ ที่ความสัมพันธ์จะเกิดขึ้นระหว่างตัวแสดงที่วางตัวเป็น ‘พี่’ ผู้มีอิทธิพล บารมี จะคอยช่วยเหลือและแนะนำรุ่นน้องให้เข้าสู่การหาผลประโยชน์ในเศรษฐกิจ แต่หัวใจสำคัญคือ รุ่นน้องต้องไม่ ‘ทับเส้น’ กับผลประโยชน์เดิมของรุ่นพี่ เมื่อคิดดังนี้แล้ว การมอบสัมปทานของรัฐต่างๆ จึงดูสมเหตุสมผลในชุดความคิดแบบพี่ช่วยน้องของรัฐราชการทันที ทุนนิยมช่วงชั้นแบบนี้จึงคล้ายกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคลาตินอเมริกา 

“เพราะว่ากลไกขับเคลื่อนหลักมันไม่ใช่ตลาดแล้ว มันเป็นทุนนิยมที่มีการซื้อขายทำกำไรกันเกิดขึ้นจริง ตัวจักรขับเคลื่อนไม่ใช่กลไกราคา แต่คือช่วงชั้น” วีระยุทธอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในลาตินอเมริกาอย่างการที่บรรษัทยักษ์ใหญ่จากอเมริกาเข้าไปตั้งฐานในภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยไม่จำเป็นต้องใส่ใจตลาดท้องถิ่นเท่าที่ควร ทำให้บรรษัทเหล่านี้มีอำนาจในการควบคุม supplier สูง

ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 จะพบว่า ทุนนิยมช่วงชั้นแบบอ่อนในไทยนั้นจะเกิดลักษณะของการบีบตัวของโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมตรงกลาง โดยวีระยุทธกล่าวชัดเจนว่า ถ้าหากโครงสร้างสังคมของไทยแบ่งได้กว้างๆ 3 ชนชั้น คือ คนรวย ชนชั้นกลาง และคนจน วิกฤติที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะบีบให้ชนชั้นกลางมีขนาดเล็กลง เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน การเติบโตขึ้นไปเป็นคนรวยก็เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น ลักษณะความเป็นช่วงชั้นจึงมีแนวโน้มที่จะเข้มข้นมากขึ้น 

photo: จรณ์ ยวนเจริญ

การปรับตัวอย่างเชื่องช้า รัฐราชการไทยจะพาสถานการณ์ให้ย่ำแย่ลงไปได้อีกมากน้อยเพียงใดในบริบทปัจจุบัน

ประเด็นดังกล่าว ชัชฎากล่าวว่า ถึงแม้จะดูเหมือนมีการปรับตัว แต่กลไกต่างๆ ที่เกิดจากการเลือกตั้งกลับไม่มีพลังเพียงพอที่จะถ่วงดุลกลไกที่ คสช. ได้ทิ้งเอาไว้ อาทิ วุฒิสมาชิก รัฐธรรมนูญ และยุทธศาสตร์ชาติ การรับมือวิกฤติ COVID-19 จึงเป็นไปในลักษณะเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะการสำรวจประสิทธิภาพในการรับมือวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสในปีที่แล้วที่มีประสิทธิภาพสูงมากกว่าในปีนี้ แต่ในปัจจุบันแทบจะกล่าวได้ว่า รัฐราชการกำลังล้มเหลวในการจัดการกับโรคระบาด รวมไปถึงอาจจะส่งผลให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิมมาก

“รัฐราชการที่ยึดติดกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ เป็นหลัก ถึงแม้จะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และอำนาจพิเศษแล้ว ก็ยังคงทำงานได้ล่าช้า เห็นได้ชัดจากกรณีจัดซื้อวัคซีน” 

การแก้ไขปัญหาของภาครัฐในปัจจุบันยังคงใช้รูปแบบเดิม คือการตั้งคณะกรรมการต่างๆ ขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ แต่คณะกรรมการเหล่านี้สามารถทำได้เพียงเสนอข้อคิดเห็น และไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการจัดการปัญหา การตั้งขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ จึงไม่สามารถตอบโจทย์วิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นได้ สิ่งนี้คือภาพสะท้อนของรัฐราชการไทยว่ายังไม่รู้สึกว่าตนเองจะต้องปรับตัว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นต่อเมื่อถูกสังคมภายนอกกดดัน 

“ในความเป็นจริงแล้ว หน่วยงานที่มีอำนาจบริหารราชการคือหน่วยงานระดับกรม… ปัญหาคือหน่วยงานที่ขยายตัวขึ้นเหล่านี้มีหน่วยงานของตนเอง กำลังคนของตัวเอง และงบประมาณของตนเอง ที่กลายเป็นฐานอำนาจของรัฐราชการไทย”

ชัชฎาระบุว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นกลไกขับเคลื่อนรัฐราชการไทย คืออำนาจของกรมที่แฝงอยู่ภายในกระทรวงต่างๆ เสียมากกว่า เนื่องจากรัฐไทยมีการรวมศูนย์เป็นอย่างมาก แต่กลับยิ่งทำให้เกิดปัญหาในการบริหารราชการ เพราะหน่วยงานที่มีอำนาจจริง คือหน่วยงานระดับกรม ไม่ใช่ระดับกระทรวง เมื่อเกิดการขยายตัวของอำนาจรัฐ จึงไม่ได้หมายความว่ากระทรวงมีอำนาจมากขึ้น เนื่องจากกระทรวงมีสภาวะหยุดนิ่งมานาน แต่กลับเป็นหน่วยงานในระดับกรมที่มีการขยายตัว ขยายงบประมาณ และทรัพยากร กระบวนการพึ่งพิงฐานอำนาจในระดับกรมของรัฐราชการไทยเช่นนี้ เรียกว่าเป็นลักษณะของ ‘กรมาธิปไตย’ ตามคำของ ศาสตราจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช 

“การจัดการเรื่อง COVID-19 เวลาออกคำสั่งต่างๆ ปัญหาคือไม่มีหน่วยงานที่จะมาเป็นเจ้าภาพหรือเข้ามารับผิดชอบได้ ด้วยความที่กรมเป็นนิติบุคคลและดำเนินงานค่อนข้างเป็นอิสระต่อกัน ที่สำคัญคือมักจะไม่อยากรับภารกิจมาทำ เพราะไม่อยากรับผิดชอบ และการอ้างกฎหมายในการดำเนินการก็ทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้น”

photo: จรณ์ ยวนเจริญ

อำนาจรัฐกับการใช้เงิน กู้อย่างไรให้เหลือใช้ไม่เพียงพอ

วีระยุทธกล่าวว่า “พ.ร.ก.กู้เงิน เมื่อปีที่แล้ว 1 ล้านล้านบาท พบว่าใช้ไปแล้วจนถึงกลางเดือนกรกฎาคมถึงร้อยละ 78 หรือใช้ไปแล้ว 900,000 กว่าล้านบาท” 

ตัวเลขที่น่าตกใจนี้ทำให้เรารู้ว่า ประสิทธิภาพของรัฐราชการไทยนั้นมีความสามารถในการใช้เงินสูงมาก แต่เม็ดเงินเหล่านั้นกลับลงมาช่วยเหลือสถานการณ์จริงได้น้อยมาก เป็นเพราะปัญหาด้านการออกแบบระบบการใช้เงินตั้งแต่ต้นน้ำ

กรณีนี้วีระยุทธได้ยกตัวอย่างแนวคิดของสำนักเศรษฐศาสตร์ Keynesian ขึ้นมาอธิบาย เนื่องจากเป็นแนวคิดที่รัฐใช้ชี้แจงในการกู้เงินมาอัดฉีด กล่าวคือ เมื่อรัฐมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินกู้ยืมจำนวนมหาศาล รัฐก็มีความจำเป็นที่จะต้องคิดวางแผนถึง 3 สิ่งใหญ่ๆ คือ การไหลเวียนของเงิน การลดความไม่แน่นอน และการรักษาอัตราการจ้างงาน

ประการแรก เมื่อรัฐใช้จ่ายเงินลงไปก็ต้องคำนึงถึงการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ต้องหาวิธีที่จะทำให้เงินก้อนนั้นลงไปถึงมือพ่อค้าแม่ค้า คนงานก่อสร้าง หรือถึงมือประชาชนทั่วไป หากปล่อยให้เงินไหลออกไปสู่ร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่โดยตรง หรือเงินไหลกลับเข้ามาสู่ระบบทันที ก็จะสะท้อนได้ว่ารัฐแทบไม่ได้ใช้เงินให้เกิดประโยชน์เลย ทำได้แค่เพียงเยียวยาในระยะสั้นเท่านั้น

ประการที่สอง เงินที่ใช้ไปนั้นต้องเป็นไปเพื่อลดความไม่แน่นอน เนื่องจากแก่นของวิกฤติต่างๆ คือความไม่แน่นอน ประชาชนไม่มั่นใจว่าควรทำอาชีพเดิมต่อไป หรือควรนำเงินไปใช้ทำอะไรบ้าง ความมั่นใจนี้ควรถูกเงินของรัฐลงมาเติม และรัฐจะต้องกล้าที่จะประกาศว่า อนาคตคนควรจะใช้เงินไปกับอะไรบ้าง การลดความไม่แน่นอนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น 

ปัจจัยสุดท้าย รัฐต้องนำเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลเหล่านี้ไปใช้เพื่อทำให้เกิดการจ้างงาน อย่างน้อยๆ คือต้องใกล้จุดที่เรียกว่าเกิดการจ้างงานเต็มที่ ซึ่งการให้เงินเปล่าของรัฐก็เหมือนการเอาเงินไปถมทะเล หรืออาจจะใช้คำว่าเอาเงินไปรักษาอดีต แต่ไม่ได้สนใจอนาคตเลย

“งบประมาณไทย 3 ล้านล้านบาท เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ใช้ไปแล้ว 900,000 กว่าล้านบาท ทำได้แค่เยียวยาบางอย่าง แต่ไม่ได้เป็นไปตามหลักวิชาเรื่องการออกแบบการใช้เงินมโหฬารขนาดนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

ทำไมงบฟื้นฟูและเยียวยาในช่วงโควิดจึงไม่สามารถดูดซับความทุกข์ร้อนของประชาชนได้ 

ในประเด็นงบประมาณฟื้นฟูที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 วีระยุทธไม่เห็นด้วยที่ภาครัฐยังคงมีการปฏิบัติแบบเดิมประหนึ่งไม่มีการระบาดขนานใหญ่ ขณะเดียวกันก็สนับสนุนหลักการกระจายอำนาจลงไปสู่ท้องถิ่น 

ขณะที่ชัชฎาเสนอว่า ภาครัฐควรทุ่มความสนใจในเรื่องที่สำคัญกว่า อย่างการจัดหาวัคซีนที่เหมาะสม และแบ่งงานดูแลประชาชนไปให้แต่ละพื้นที่และจังหวัดไปจัดการ ในแง่นี้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐราชการและกลไกอำนาจรัฐที่ลงไปทำงานในส่วนต่างๆ ของสังคม จะพบว่า กลไกหลายส่วนเป็นกลไกเดิมที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัย คสช. ก่อการรัฐประหาร เป้าหมายของกลไกเหล่านี้ตั้งแต่แรกจวบจนปัจจุบันจึงเป็นการหาทางกำกับและควบคุมรัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งในอนาคต 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของยุทธศาสตร์ชาติที่มีผลบังคับใช้และมีบทลงโทษ รวมถึงจงใจให้แก้ไขได้ยาก เนื่องจากถูกบรรจุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ถึงแม้ว่าจะมีการแบ่งออกเป็น 3 ระยะคือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวก็ตาม แต่หากย้อนกลับไปดูตั้งแต่เกิดวิกฤติการระบาดขนานใหญ่เป็นต้นมา ยุทธศาสตร์และกลไกเหล่านี้กลับไม่มีการปรับตัวไปตามบริบทสังคมแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ความแข็งตัวของกลไกรัฐในลักษณะนี้จึงไม่ตอบโจทย์สำหรับการบริหารประเทศในสภาวะวิกฤติโรคระบาด แต่ตอบโจทย์เพียงแค่การกำกับดูแลรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตเท่านั้น

“หากดูประเทศอื่นจะเห็นว่า เขาปรับแผนยุทธศาสตร์ระยะสั้นหรือระยะกลางให้เหมาะกับวิกฤตการณ์หรือบริบทที่เกิดขึ้น แต่รัฐไทยกลับไม่มีการปรับ ไม่ว่าจะยุทธศาสตร์สั้นหรือกลาง เพราะความแข็งตัวของยุทธศาสตร์ชาติที่มีเป้าหมายสำคัญเพียงเพื่อกำกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง”

ระบอบประยุทธ์ vs ระบอบเปรม เหมือนแค่ไหนหรืออะไรที่แตกต่าง

นอกเหนือไปจากการมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มทุนใหญ่และรัฐราชการที่เหมือนกันแล้ว ดูเหมือนว่าโจทย์ของสองรัฐบาลนี้จะแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยวีระยุทธอธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า ในสมัยก่อนภาครัฐไทยจะทำการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศด้วยการตั้งกำแพงภาษีการค้า จนกระทั่งในช่วงยุคเปลี่ยนผ่านก่อนสมัยของพลเอกเปรมไม่นานที่ตลาดในประเทศค่อนข้างอิ่มตัวแล้ว ภาคเอกชนและกลุ่มธุรกิจมีความต้องการที่จะส่งออกมากขึ้น จึงเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงไปยังรัฐบาล ประจวบเหมาะกับวิกฤติราคาน้ำมันที่รัฐบาลต้องลดค่าเงินบาท เป้าหมายร่วมกันของทั้งสองกลุ่มจึงเป็นไปได้โดยง่ายกว่าในยุคสมัยของพลเอกประยุทธ์ เนื่องจากการส่งออกก็เติบโตอยู่แล้ว แต่ตลาดแรงงานกลับไม่มีฝีมือเพียงพอที่จะแข่งขันกับแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านได้ ประกอบกับความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โจทย์ในยุคสมัยนี้สำหรับรัฐราชการไทยจึงเปลี่ยนแปลงไป

ส่วนชัชฎาสนับสนุนคำอธิบายดังกล่าว โดยยกตัวอย่างการทำงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ในยุคสมัยของพลเอกเปรมที่ยังมีการทำงานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่กลุ่มเอกชนที่เข้าร่วมกับภาครัฐกลับกลายสภาพเป็นเสมือนตรายางเพียงเท่านั้น เพราะไม่สามารถส่งเสียงเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงหรือตัดสินใจเชิงนโยบายต่อภาครัฐได้ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถยุบองค์กรนี้ทิ้งไปได้ด้วยเช่นกัน ดุลอำนาจจึงเอนไปทางรัฐราชการมากกว่ากลุ่มทุน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ทำให้กลุ่มทุนต้องมองรัฐในฐานะที่พึ่งพิงมากยิ่งขึ้น

ถึงแม้จะมีจุดที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างสองรัฐบาล แต่จุดร่วมที่เหมือนกันคือ การพยายามผลักดันโครงการเศรษฐกิจให้เป็นเพชรน้ำเอก เช่น ในยุคสมัยของพลเอกเปรม มีโครงการ Eastern Seaboard ส่วนในยุคของพลเอกประยุทธ์ก็มีโครงการ Eastern Economic Corridor (EEC) ที่หวังว่าจะรุ่งโรจน์ไม่แพ้กัน 

สำหรับในประเด็นนี้ วีระยุทธได้ยกตัวอย่างกลุ่มเป้าหมายทางเศรษฐกิจของโครงการ EEC ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ขึ้นมาว่า มีทั้งหมด 12 กลุ่ม คำถามสำคัญคือช่วงปีที่ผ่านมาหลายประเทศมีการปรับยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมทั้งหมดเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เช่น เกาหลีใต้เดินหน้าเข้าสู่ Green New Deal ขณะที่บางประเทศก็เพิ่มความสามารถด้านอุตสาหกรรมการแพทย์หรือคลังเก็บสินค้าขนาดใหญ่ แต่ EEC ของไทยนั้นอุตสาหกรรมการบินและคมนาคมกลับยังคงอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

คำถามคือ “ไทยมีความยืดหยุ่นพอที่จะปรับยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมหรือไม่ ถ้าไม่ ผมว่าอันตรายมาก เพราะไม่มีใครอยู่ในโลกยุคก่อน COVID-19 ได้อีกแล้ว” 

อนาคตและข้อเสนอแนะ แสงสว่างที่ส่องทะลุผ่านร่มเงารัฐราชการ

หากพยายามจะมองออกไปให้เห็นถึงอนาคตอันสดใส วีระยุทธเสนอว่า รัฐไทยควรปรับแผนยุทธศาสตร์ชาติให้เหมาะสมกับบริบท และขณะเดียวกันการเลือกเป้าหมายอุตสาหกรรมก็ควรที่จะเป็นรูปธรรมและโฟกัสมากกว่านี้ โดยยกตัวอย่างอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC อย่างการบินและการคมนาคม จะเห็นได้ว่าเพียงแค่การคมนาคมก็มีหลากหลายจนมากเกินไปที่จะเพ่งความสนใจแล้ว หากไปดูประเทศอื่นจะพบว่าอุตสาหกรรมที่เขาเลือกเป็นเป้าหมายจะอยู่ที่ประมาณ 6 อย่างเท่านั้น ไม่ใช่ 12 อย่างแบบไทย ซึ่งเนื้อในของแต่ละอุตสาหกรรมก็มาคู่กับอีกหนึ่งอุตสาหกรรม ซึ่งในหลักการถือว่ามากเกินไป 

“การมีจุดโฟกัสเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าคุณให้ความสำคัญกับทุกอุตสาหกรรมก็จะไม่เรียกว่ามียุทธศาสตร์”

ขณะเดียวกัน ทุกอุตสาหกรรมของภาครัฐอาจเป็นเพียงแค่ฉากหน้า โดยชัชฎาระบุว่า หากอยากรู้ว่ารัฐราชการกำลังสนใจอะไรมากที่สุด ก็ต้องไปดูที่การใช้เงินของภาครัฐ ซึ่งส่วนใหญ่รัฐราชการไทยยังคงขอและใช้จ่ายงบประมาณในรูปแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะมีวิกฤติโรคระบาดหรือสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจแบบใดก็ตาม โดยอาจจะเปลี่ยนแปลงไปแค่คำในเอกสารโครงการ อย่าง ‘ยั่งยืน’ หรือ ‘ดิจิทัล’ แต่ในแง่รูปธรรมกลับไม่ได้มีอะไรใหม่ขึ้นกว่าเดิม 

“ข้อเสนอให้ภาครัฐปรับโครงสร้างและข้อเสนออื่นๆ ไม่ได้เพิ่งมามีใน KKP Research แต่มีมานานแล้วจากหลายหน่วยงาน การที่ยังมีการนำเสนอแบบนี้อยู่เรื่อยๆ ประกอบกับดูจากการใช้งบประมาณต่างๆ แสดงว่าภาครัฐยังไม่มีการปรับเปลี่ยนอย่างเป็นรูปธรรมสู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ หรืออุตสาหกรรมใหม่ๆ แต่อย่างใด”

ขณะเดียวกัน การกลับตัวในสภาวะวิกฤติชาติครั้งนี้คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้เหมือนเมื่อสมัยวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 โดยวีระยุทธอธิบายว่า วิกฤติการเงินในปี 2540 มีการปรับเปลี่ยนดุลอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจด้วย กล่าวคือ การครอบงำเศรษฐกิจโดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์หมดไป และทำให้กลุ่มทุนเอกชนมีที่ทางเติบโตขึ้นมาได้อย่างฉับพลัน 

แต่วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างทันที แต่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้รัฐราชการสามารถยึดกุมอำนาจไว้ได้อย่างเหนียวแน่นมากกว่าแต่ก่อน ส่วนกลุ่มทุนก็ยังต้องพึ่งพิงรัฐด้วยสัมปทานต่างๆ เพื่อเป็นทางรอด เรียกได้ว่าอำนาจรัฐในการขยับขยายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์มีมากกว่าอำนาจรัฐในสมัยก่อนจะมีการระบาดเสียอีก 

สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปอย่างแน่นอนแล้วก็คือ การตระหนักรู้ทางการเมืองของประชาชนในสังคม วีระยุทธเชื่อมั่นว่า หลังจากสถานการณ์ครั้งนี้ผ่านพ้นไปแล้ว ประชาชนจะมองเห็นความสำคัญของการเลือกตั้ง กลไกการทำงานของรัฐธรรมนูญ และการเอาใจใส่ในนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น 

ขณะที่ชัชฎามองว่า ในวิกฤติครั้งนี้ประชาชนได้เห็นแล้วว่า ผู้มีบทบาทสำคัญไม่ใช่อำนาจรัฐส่วนกลาง แต่เป็นท้องถิ่น การกระจายอำนาจให้ระดับท้องถิ่นได้ดูแลจัดการประชาชนของตัวเองจึงเป็นเรื่องที่ควรจะทำให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งหลายฝ่ายเห็นร่วมกันแล้วว่าจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง ภาคการเมืองในปัจจุบันจึงควรจะกระตือรือร้นในเรื่องนี้มากขึ้น มิเช่นนั้นปัญหาเชิงโครงสร้างและวิธีคิดเหล่านี้ก็จะยังคงอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลไปอีกกี่สมัยก็ตาม 

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า