ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์: ประชาชนอยู่กับความไม่เชื่อมานานเกินไป รัฐต้องให้ข้อมูลวัคซีนอย่างซื่อสัตย์

ท่ามกลางการระบาดของไวรัส COVID-19 ระลอกที่สาม กับข่าวสารเรื่องการจะซื้อหรือจะนำเข้าวัคซีน และแผนการฉีดวัคซีนให้แก่บุคคลประเภทต่างๆ ของรัฐบาล ล้วนเต็มไปด้วยความเห็นที่หลากหลายเสียจนสร้างความสับสนและส่งผลถึงการดำเนินชีวิต  

WAY ชวนมาทำความกระจ่างถึงความพร้อมของไทยในการฉีดวัคซีนกับ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รักษาการรองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา การพูดคุยครั้งนี้มิใช่ในฐานะของตัวแทนองค์กรใด แต่เป็นการให้ความเห็นในฐานะของแพทย์และนักวิจัยทางด้านโรคติดเชื้อคนหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นกลุ่มวิชาชีพระดับแนวหน้าในการต่อสู้กับโรค COVID-19 ที่กำลังกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ทุกขณะ และพยายามจะช่วยกันมองปัญหาวัคซีนและการรับมือต่างๆ ของไทยให้รอบด้าน 

โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารจากรัฐที่คุณหมอย้ำว่า “ต้องซื่อสัตย์ต่อข้อมูล” เพราะประชาชนอยู่กับความไม่เชื่อมานานเกินไปแล้ว 

อีกสถานะหนึ่ง เราคุยกับหมอประสิทธิ์ในฐานะผู้สูงวัย ที่ห่วงใยทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ ตัวเองและผู้อื่น คุณหมอจึงให้ความรู้เรื่องวัคซีนชนิดต่างๆ อย่างละเอียดผ่านทางเฟซบุ๊คส่วนตัว (ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์) แทบไม่เว้นวัน  

ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบจากโรคระบาด การสนทนาครั้งนี้จึงจำเป็นต้องพูดคุยผ่านระบบออนไลน์ภายใต้มาตรการ Social Distancing ที่ยังไม่รู้ว่าไวรัสจะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน เช่นเดียวกับวัคซีนที่ยังไม่รู้ว่าประชาชนจะเข้าถึงได้เมื่อไร

ไทยพร้อมแค่ไหนกับการฉีดวัคซีนล็อตแรก ท่ามกลางการระบาดระลอกที่สาม

การจะฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ทั่วประเทศระดับนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะสเกลการฉีดวัคซีนที่ประกาศออกมาคือ ตั้งเป้าว่าจะฉีดให้คนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน ขณะที่สเกลที่เราเคยทำมาอย่างกรณีไข้หวัดใหญ่ก็เพียงแค่ไม่กี่ล้านคนเท่านั้น ซึ่งวัคซีนอื่นๆ ที่เราเคยฉีดมานั้นแทบจะไม่ต้องถามอะไรกันก่อน ฉีดก็คือฉีด แต่สำหรับวัคซีนไวรัส COVID-19 เราต้องถามก่อนว่ามีโรคประจำตัวอะไรบ้าง เป็นความดันโลหิตสูงหรือไม่ ถ้าเป็นแล้วการรักษาไปถึงไหนแล้ว ต้องวัดความดันฯ ดู กว่าจะไปถึงขั้นที่ฉีดได้ก็ต้องอาศัยการพูดคุยหลายขั้นตอน ซึ่งการสื่อสารจะเป็นปัญหาแน่ๆ สำหรับการฉีดในระดับใหญ่เช่นนี้ ยิ่งมีข่าวเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนตัวต่างๆ ยิ่งต้องอธิบายตอบคำถาม และก็จำเป็นที่จะต้องมีจุดบริการให้พักรอหลังการฉีด และตรงนี้ก็ต้องจัดบุคลากรมาดูแลเพิ่มเติม ดังนั้นระบบการฉีดจึงจำเป็นต้องถูกจัดการอย่างหนักมาก

ขั้นต่อมา เราลองนึกถึงสเกลการฉีดวัคซีนที่รัฐบาลต้องการให้มีการฉีดให้ได้ 500 คนต่อหนึ่งโรงพยาบาล คำถามคือเราจะฉีดยังไงให้ได้ตามจำนวนดังกล่าว ตัวผมเองซึ่งเป็นหมอมานานยังมองไม่ออกว่าจะสามารถทำได้ หากเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็อาจจะพอทำได้ แต่หากเป็นโรงพยาบาลชุมชนทั่วไปที่ปกติรับผู้ป่วยได้ประมาณ 200 คนต่อวัน ไม่น่าที่จะรับมือไหว ไหนจะเรื่องการเก็บรักษาวัคซีนแต่ละประเภทที่ต้องใช้ตู้เย็นต่างชนิดกันอีก 

อย่างวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ต้องเก็บรักษาในตู้เย็นอุณหภูมิระดับ -80 องศาเซลเซียส ซึ่งยังไม่แน่ใจว่ามีโรงพยาบาลไหนพร้อมบ้าง ขณะที่วัคซีนบางตัวสามารถจัดเก็บได้ด้วยอุณหภูมิตู้เย็นปกติ ทำอย่างไรจึงจะแน่ใจว่า เจ้าหน้าที่ไม่สับสน ยังมีคำถามว่า เมื่อเอาวัคซีนออกจากตู้เย็นหรือตู้แช่แข็งแล้ว เอาเก็บกลับเข้าไปได้หรือไม่ มีรายละเอียดกระบวนการอีกมากมายแยกย่อยกันไปที่ต้องสื่อสารให้เจ้าหน้าที่นับหมื่นนับแสน เราจะสื่อสารอย่างไรในระยะเวลาอันสั้น ให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทุกคนในทุกโรงพยาบาลสามารถทำงานได้อย่างถูกต้องพร้อมกันทั่วประเทศ

เรามีเวลาเตรียมตัวนานแค่ไหนก่อนที่วัคซีนจะมาถึง

ผมคิดว่า มีเวลา วัคซีนคงมาเป็นระลอกๆ ตอนนี้เราคงได้วัคซีนซิโนแวค (Sinovac) มาสัก 2-3 ล้านโดส ที่เหลือยังเป็นสัญญาว่าเขาจะมาขายให้ แต่ตัววัคซีนจริงๆ ที่รัฐบาลสั่งซื้อนั้น ส่วนใหญ่ยังมาไม่ถึงเลย บางส่วนยังไม่มีกำหนดเวลา เรามีเอกสารว่าเรา ‘น่าจะ’ ได้ตัวไหนมาบ้าง แต่เงินก็คงยังไม่ได้จ่าย ระหว่างนี้เราจึงมีเวลาเตรียมความพร้อมกันไปได้อีกสักพัก ซึ่งในการบริหารเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการฉีดวัคซีนนั้น ผมมองว่าหลักๆ มีอยู่สองด้าน ด้านแรกเป็นการเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานกับด้านที่สองคือการเตรียมความพร้อมให้บุคลากรใช้โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวเป็น

เรื่องการฉีดวัคซีน ก็คงต้องเสริมอุปกรณ์เพิ่มเข้าไปบ้างเช่น ตู้เย็น หรือ ถุงมือสำหรับจับของอุณหภูมิต่ำมากๆ เครื่องมือฉุกเฉินสำหรับรักษาผู้ป่วยที่แพ้ และคงต้องมีการทำความเข้าใจกับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างรีบด่วน

นับจากสังคมไทยรอดพ้นวิกฤตการณ์ไข้หวัดนก/ไข้หวัดใหญ่ เมื่อสิบปีก่อน บุคลากรทางสาธารณสุข ก็อาจมีความสนใจเรื่องโรคอุบัติใหม่ลดลง แม้ว่าเครื่องมือมีความพร้อมพอสมควร ก็ไม่ค่อยได้มีการฝึกซ้อมเตรียมรับสถานการณ์ระบาดแบบนี้อย่างสม่ำเสมอเลย ภาครัฐจึงควรมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้นในอนาคต

ส่วนทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สวทช. และหน่วยงานต่างๆ ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์กันมาต่อเนื่องนานแล้ว กำลังคนโดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์เราค่อนข้างพร้อม แต่เรายังขาดโครงสร้างพื้นฐานและกำลังในฝั่งการผลิตยาและวัคซีนที่จะมารองรับระบบดังกล่าว แม้ว่าจะพัฒนาขึ้นมาพอสมควร เป็นปัญหาที่เราต้องเตรียมความพร้อมให้มากขึ้นจริงๆ

สิ่งที่ผมไม่ได้ข่าวว่ามีการเตรียมความพร้อมมากขึ้น นับตั้งแต่การระบาดระลอกแรก และระลอกที่สองผ่านพ้นมา คือการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยอาการหนัก มีแต่การออกมาบอกว่า ไม่เป็นไร สถานการณ์ยังควบคุมได้ การดูแลผู้ป่วยอาการหนัก หรือการใช้เครื่องช่วยหายใจ ต้องการบุคลากรที่ได้รับการฝึกฝน ไม่ทราบเหมือนกันว่า ระหว่างปีที่ผ่านมาคนที่ได้รับการฝึกฝนแล้วมีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือไม่ ปัจจุบันเข้าใจว่า หาคนใช้เครื่องมือเป็นยากกว่าหาเครื่องมือ

ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน มีความน่ากังวลแค่ไหน

เราต้องตั้งคำถามอยู่บนหลักประเมินตนเองก่อนว่า เรามีสิทธิป่วยด้วยโรคร้ายแรงต่างๆ แค่ไหน การฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันผลจากโรคร้ายแรงที่กำลังระบาดได้แน่นอน ถ้าคุณคิดว่าตัวเองแทบไม่มีโอกาสติดเชื้อ อาจจะลองไม่ฉีดไปก่อนก็ได้ แต่ถ้าเป็นผู้หญิงอายุประมาณ 40 ปี แล้วต้องออกไปทำงานข้างนอกบ่อยๆ คุณอาจอยากหลีกเลี่ยงวัคซีนอย่างแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาลิ่มเลือด แล้วไปฉีดวัคซีนชนิดอื่นแทน ส่วนถ้าคุณอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้ออกไปไหนเลยคุณจะคิดว่าไม่จำเป็นต้องฉีดดูก็ได้ แต่ถ้าคุณเป็นผู้สูงอายุที่ยังไงก็มีโอกาสติดโรคได้ง่าย ผมว่าอย่าไปลองของเลย ฉีดเถอะ

อย่างไรก็ตาม สำหรับความเห็นส่วนตัว ผมมองว่าเราต้องผลักดันให้ประชาชนจำนวนมากได้รับการฉีดวัคซีน ก็ต้องสื่อสารอย่างเป็นระบบ ไม่อย่างนั้นวัยรุ่นที่ร่างกายค่อนข้างแข็งแรงอยู่อาจจะพูดว่า “ไม่ฉีดก็ได้ ไม่เห็นเป็นอะไร” ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของประเทศ แต่ถ้าจะให้ไปสื่อสารในทำนองว่า ‘ฉีดวัคซีนใจ’ แบบนั้นเขาคงรู้สึกไม่อยากจะมาฉีดด้วย แล้วจะยิ่งไปซ้ำเติมเรื่องแผนการฉีดวัคซีนที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะฉีดพร้อมกันให้ได้วันละ 500,000 คน หรือการรณรงค์ให้มีการลงทะเบียน ‘หมอพร้อม’ ให้ถึง 50 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลให้แผนการฉีดวัคซีนให้ครบทั้ง 50 ล้านคนนั้น จะยิ่งใช้เวลานานออกไป

ยิ่งถ้าการสื่อสารให้คนหันมาฉีดวัคซีนทำได้ไม่ดีเท่าไหร่ จำนวนการฉีดก็จะน้อยลงเท่านั้น แล้วทุกอย่างก็จะยิ่งแย่ เพราะการฉีดวัคซีนไม่ใช่การฉีดเพื่อรักษาปัจเจกบุคคล แต่เป็นปฏิบัติการที่เล็งเป้าเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาเดินไปได้อีกครั้ง เพราะฉะนั้นฉีดเถอะครับ ตัวไหนมาก็ฉีดไปก่อน ไม่อย่างนั้นเราก็ต้องอยู่กันแบบนี้ต่อไปแน่ๆ

ซิโนแวค ไฟเซอร์ สปุตนิก วี วัคซีนแต่ละตัวมีรายละเอียดสำคัญแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

สำหรับซิโนแวค เขาตีพิมพ์ผลของเฟส 2 ไปแล้ว แต่เฟส 3 อย่างเป็นทางการนั้นยังไม่ออก แต่ข้อมูลบางอย่างก็น่าจะไปถึงคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งข้อมูลเอกสารตรงนั้นจะไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นการทั่วไป ดังนั้นต้องรอการตีพิมพ์ซึ่งก็เป็นการตรวจสอบซ้ำอีกทีหนึ่งภายหลัง อย่างไรก็ตาม ถ้าหากวัคซีนตัวนี้เข้าไปถึง อย. ได้ ก็แปลว่าต้องมีมาตรฐานแล้วในระดับหนึ่ง

สำหรับไฟเซอร์ที่สังคมกำลังจับตามองว่าดีเป็นอันดับหนึ่งนั้น ผมก็ว่าจริงและดีกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก เอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีน (mRNA) เขาได้มีการพัฒนากันมาสักพักใหญ่ๆ แล้ว แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงมีปัญหาทางทฤษฎี ทำให้คนจำนวนหนึ่งขอฉีดวัคซีนอื่นแทน บางคนกลัวปัญหาระยะยาว หาก mRNA หลุดเข้าไปทำงานในระดับนิวเคลียส ซึ่งตามทฤษฎีปกติแล้วไม่ควรจะเป็นไปได้ เรื่องนี้เป็นความกลัวที่ไม่ถึงกับไม่มีเหตุผล แต่ผมมองว่าไม่จำเป็นต้องไปกังวลเรื่องนี้มาก ยังมีเรื่องให้ติดตามต่อกันในระยะยาวอีกเยอะ

ส่วนสปุตนิก วี (Sputnik V) ที่ดูเหมือนว่าข้อมูลต่างๆ จะมีน้อยอยู่ เพราะเขามีแนวโน้มที่จะตีพิมพ์ข้อมูลเป็นภาษาของเขา เช่น ภาษารัสเซีย ขณะที่รายงานที่ส่งให้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็เป็นภาษาอังกฤษ เพียงแต่เขาอาจไม่ได้แปลออกมาทั้งหมด คนอื่นๆ จึงประเมินผลของวัคซีนตัวนี้ได้ยาก

พูดถึงวัคซีนและผลข้างเคียง วัคซีนตัวใดเหมาะกับการฉีดในเด็ก เนื่องจากเด็กเล็กติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ตามทฤษฎีก็ฉีดได้ทุกตัว เพียงแต่หลักฐานเชิงประจักษ์ อาจจะยังไม่มี ถ้าเป็นรูปธรรมที่สุดก็อาจจะเป็นวัคซีนของไฟเซอร์ที่ทดลองในเด็กอายุ 12-18 ปีมาแล้ว ส่วนตัวเลขอื่นๆ เราก็คงต้องรอไปก่อน เนื่องจากตอนนี้บริษัทหลายแห่งก็กำลังทำข้อมูลให้เราสามารถอ้างอิงเพิ่มเติม

ถ้าเชื้อไวรัสกลายพันธุ์เหมือนที่มีสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์แอฟริกาใต้ เพิ่มขึ้นมาอีก เราจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ หรือไม่

ถ้าเป็นสายพันธุ์อังกฤษก็คงไม่เป็นอะไรมาก เพราะประเทศเขาก็ใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาจัดการได้ สำหรับเชื้อที่กลายพันธุ์มากกว่านี้ วัคซีนแต่ละตัวตอนนี้ก็แทบไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย เพราะใช้ไวรัสจากอู่ฮั่นมาเป็นต้นแบบแทบทั้งสิ้น แต่เมื่อมีเชื้อที่กลายพันธุ์เพิ่มขึ้น ต่อไปอาจพบว่าวัคซีนเริ่มจะได้ผลไม่ดีเท่าไหร่ 

แต่ขณะเดียวกันต่อให้สังคมมีภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว เราก็ยังต้องพัฒนาวัคซีนตัวใหม่ๆ ต่อไป หรืออาจจะต้องใช้วัคซีนเข็มที่ 3 มาช่วย แต่สำหรับคนที่คิดว่า ถ้าอย่างนั้นทำไมไม่รอให้มีวัคซีนตัวใหม่ล่าสุดออกมาก่อนแล้วค่อยไปฉีดทีเดียว ผมอยากจะเตือนว่าวัคซีนตัวใหม่ๆ อาจจะใช้ไม่ได้ผลกับสายพันธุ์เก่าๆ

ผมมองว่าสิ่งสำคัญเรื่องผลของวัคซีนกับชนิดของไวรัส COVID-19 แต่ละสายพันธุ์นั้น คือการที่ภาครัฐไทยต้องวัดประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละตัวด้วยตนเองบ้าง เพราะผลของวัคซีนแต่ละตัว ในแต่ละพื้นที่อาจจะให้ผลไม่เหมือนกันก็ได้ 

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า หากเป็นวัคซีนประเภทอะดีโนไวรัส (adenovirus vaccine: กลุ่มของเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดอาการหลากหลาย ทั้งระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และตา) ซึ่งคุณและผมก็อาจมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว ถ้าไวรัสบุกรุกร่างกายเข้ามา แล้วถ้าบังเอิญเราเคยติดเชื้ออะดีโนไวรัสสายพันธุ์ตรงกันกับสายพันธุ์ที่ใช้ทำวัคซีน ก็อาจทำให้วัคซีนใช้ไม่ได้ผล ดังนั้นเราจึงควรมีแพทย์หรือนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญคอยศึกษาข้อมูลเหล่านี้ให้รัฐบาลมากขึ้น

ที่ผมเน้นย้ำว่าเราจำเป็นต้องมีนักวิชาการหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลกับรัฐบาลหรือออกมาพูดกับประชาชน ก็เพราะว่าเกือบทุกรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกรู้ดีว่า ถ้าให้ผู้นำฝ่ายบริหารออกมาพูดอยู่คนเดียวเป็นเรื่องยากที่ทุกคนจะเชื่อ ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะเชื่อนักวิชาการคนนั้นแค่ไหน

สหรัฐอเมริกาในสมัย โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ก็ไม่ค่อยเชื่อนักวิชาการอย่าง แอนโธนี ฟาวซี (Anthony Fauci) มากนัก ขณะที่ของไทยก็เคยมี คุณหมอประเสริฐ ทองเจริญ (อดีตที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสไข้หวัดนก) ที่ใช้วิธีรวมตัวคนเก่งๆ มาช่วยกันระดมความคิด แล้วจึงหาข้อสรุปเพื่อนำไปรายงานต่อกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาล จนสมัยนั้นนักข่าวต้องเข้าหาแกก่อนที่แกจะไปถึงรัฐบาลเสียด้วยซ้ำ รัฐบาลในสมัยนั้น (พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี) จึงค่อนข้างพึ่งพิงผู้เชี่ยวชาญ ในขณะที่รัฐบาลปัจจุบันไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการมากนัก การสื่อสารของรัฐบาลจึงยังติดๆ ขัดๆ อยู่

การสื่อสารของรัฐบาลชุดนี้ที่ค่อนข้างมีปัญหา สาเหตุเป็นเพราะอะไร

ผมว่าความคลางแคลงใจของรัฐบาลมันมีมานานแล้ว แต่ถ้าจะเอาเรื่องการจัดการการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา ผมว่ามันเริ่มมาจากกระแสความคลางแคลงใจเรื่องการจัดการจำนวนหน้ากากอนามัยที่ดูไม่โปร่งใส และความคลางแคลงใจนั้นก็ดำเนินเรื่อยมา

สถานการณ์ในปัจจุบัน ภาครัฐขาดคนที่มีวาจาสิทธิ์ คือพูดไปแล้วต้องทำให้คนเชื่อได้ว่าสิ่งนั้นเป็นความจริง หรือพร้อมจะทำตามได้ ในด้านจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อต่างๆ ที่เขาสื่อสารออกมา ผมเชื่อนะว่าเป็นตัวเลขจริง แต่การตีความข้อมูลตัวเลขเหล่านั้นต่างหากที่ยิ่งทำให้ประชาชนเคลือบแคลงใจมากกว่าเดิม เพราะการพยายามตีความตัวเลขเหล่านั้นไปในทิศทางที่เขาต้องการ บางทีมันก็ดูฝืนจนผู้ฟังรู้สึกไม่น่าเชื่อถือ

ขณะเดียวกัน ข้อมูลอีกหลายเรื่องก็ไม่ได้รับการเปิดเผยทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญมาก อย่างเช่น แต่ละวันมีการตรวจผู้ติดเชื้อไปทั้งหมดกี่คน เพราะตัวเลขที่ระบุออกมาแค่ว่าตรวจพบผู้ติดเชื้อทั้งหมดกี่คน แต่ไม่ได้บอกว่าตรวจไปกี่คน จนคนเริ่มเล่าลือกันไปต่างๆ นานา ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อวันละ 1,500 กว่ารายนั้น เป็นเพราะมีการตรวจหรือเปล่า แล้วที่ยังไม่ได้ตรวจล่ะ ซึ่งตรงนี้สำคัญนะครับ เราไม่รู้เลยว่าขีดจำกัดความสามารถในการตรวจของเราอยู่ที่ไหนกันแน่

ยิ่งประชาชนคลางแคลงใจภาครัฐแบบนี้ ยิ่งส่งผลให้คนไม่เชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนด้วย

ความเชื่อมั่นต่อการฉีดวัคซีนและเรื่องการส่งต่อข้อมูลหรือการสื่อสารข้อมูลทางการแพทย์แบบนี้ เป็นเรื่องของวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อย่างประเทศในแถบยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาที่เป็นแหล่งใหญ่ของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เขาจะยึดถือหลัก ‘ไม่เชื่อไว้ก่อน’ หลักการนี้เป็นมาตรฐานปกติและไม่ใช่การคุกคามอะไร ดังนั้นจะให้เชื่อต้องให้ข้อมูลมาก ซึ่งจะสวนทางกับมาตรฐานความเชื่อในแบบประเทศโลกที่สามที่หากผู้นำพูดอะไรออกมาก็ต้องเชื่อฟัง ห้ามสงสัย ดังนั้นจึงมีโอกาสค่อนข้างสูงที่ข้อมูลระดับลึกจะไม่ถูกตีพิมพ์ในประเทศโลกที่สาม กระบวนการสื่อสารข้อมูลเรื่องวัคซีนจึงอาจจะเป็นการไปบอกเฉพาะผู้นำ แล้วผู้นำก็นำไปบอกประชาชนบางส่วน กระบวนการสื่อสารก็จบลงเท่านั้น

ประชาชนควรมีสิทธิเลือกวัคซีนเองได้หรือไม่

ผมว่าสถานการณ์ในประเทศไทยจะกลายเป็นว่า ประชาชนจะตัดสินระหว่างฉีดหรือไม่ฉีด ถ้าถามว่าประชาชนมีสิทธิไม่ฉีดไหมก็มีสิทธิอยู่แล้ว เราควรบังคับให้ประชาชนฉีดไหม ซึ่งผมเชื่อว่าทำไม่ได้ แต่ถ้าหากไม่เกิดการฉีดเป็นวงกว้างเราก็จะอยู่แบบนี้กันต่อไปเรื่อยๆ และผลกระทบรุนแรงต่อมาก็จะไปสู่ภาคเศรษฐกิจ

ส่วนการที่ภาครัฐจะมาบังคับให้เราฉีดวัคซีนตัวไหนเป็นพิเศษหรือไม่นั้น คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากประชาชนเองก็ยังมีสิทธิยืนยันที่จะไม่ฉีดวัคซีนที่พวกเขาไม่อยากฉีด หลักการทั่วไปของการฉีดวัคซีนแบบบังคับคือ มันจะต้องเกิดอันตรายร้ายแรงต่อสังคมโดยรวม แต่อัตราการป่วยและความร้ายแรงในปัจจุบันยังไม่ถึงขั้นที่จะเกิดการบังคับให้ฉีดวัคซีนเฉพาะตัวใดตัวหนึ่งเป็นพิเศษโดยรัฐบาล

คนทั่วไปอย่างเราๆ สามารถทำอะไรได้บ้างระหว่างรอวัคซีน

คำว่าระหว่างรอวัคซีนนี้ ผมว่ามันคือระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวนานมาก ต่อให้วัคซีนมาถึงแล้ว แต่แผนการฉีดก็ยังต้องบริหารอีกเยอะมากหากจะทำให้ได้ตามเป้าเหมือนที่รัฐบาลประกาศ

ผมมองว่าสเกลที่เราน่าจะพอทำได้คือ การฉีดให้ได้ 200,000 เข็มต่อวัน หรืออาจต้องใช้เวลาฉีดกันประมาณ 1 ปีครึ่ง ซึ่งก็เหนื่อยเอาเรื่องอยู่ ถ้าลดลงเหลือ 100,000 เข็มต่อวัน ก็จะยืดออกไปเป็น 3 ปี ถ้าลดลงอีกก็จะเป็น 5 ปี เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ประเทศไทยยังต้องจัดหาวัคซีนมาเป็นจังหวะสอดคล้องกับอัตราการฉีด หากมีช่วงขาดก็จะยิ่งยืดระยะเวลาออกไป

ระหว่างนี้ สิ่งที่เราทำได้คืออย่าตื่นตระหนกจนเกินไป เพราะหากเราไม่ได้ใช้ชีวิตเสี่ยงมากนัก อัตราป่วยหนักเพราะโรคนี้ก็ถือว่ายังน้อยอยู่สำหรับคนอายุน้อย ถ้าคิดอัตราความเสี่ยงเป็นตัวเลขออกมา จริงๆ แล้วการขับรถออกไปบนถนนอาจจะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าอีก ขณะที่คนที่น่าเป็นห่วงคือคนที่เขาไม่สามารถกักตัวได้ ต้องทำมาค้าขาย หรืออยู่ในชุมชนที่ค่อนข้างแออัด สิ่งที่เราทุกคนน่าจะทำกันได้ในขณะนี้คือ คอยช่วยเหลือกันและกัน อุดหนุนคนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้ แล้วประคับประคองกันไปเรื่อยๆ จนกว่าวัคซีนจะมาถึง

ส่วนอีกกระแสหนึ่งที่มองว่า โรคนี้กำลังจะกลายเป็นโรคเฉพาะของประเทศโลกที่สามนั้น ผมว่าไม่น่าจะเป็นเฉพาะประเทศโลกที่สามเพราะโรคนี้กำลังกลายเป็นโรคประจำถิ่นของโลกเหมือนโรคอื่นๆ และการที่ประเทศโลกที่หนึ่งจะรับมือโรคระบาดทั้งหลายได้มากกว่าประเทศโลกที่สามนั้น ก็เป็นเช่นนี้มาโดยตลอดอยู่แล้ว

ภัยพิบัติจากโรคระบาดครั้งนี้ให้บทเรียนอะไรกับเราบ้าง

บทเรียนสำคัญอย่างหนึ่งคือ เราได้เห็นภาคประชาชนหรือหน่วยงานอื่นนอกจากภาครัฐ ออกมามีส่วนร่วมในการรับมือค่อนข้างน้อย ที่ผมพูดแบบนี้เพราะเราแทบไม่เห็นนักวิทยาศาสตร์ หมอเก่งๆ หรือคนอื่นๆ ได้ออกมาพูดเลย ถึงจะไม่ใช่สถานการณ์ที่เราถูกเซ็นเซอร์ก็ตาม แต่พอเป็นแบบนี้มันก็กึ่งๆ เซ็นเซอร์ จนหลายคนไม่กล้าออกมาพูดอะไร

ดังนั้นผมคิดว่าเรากำลังต้องการการระดมความคิดที่มากกว่านี้ เพื่อจะรับมือกับ COVID-19 ที่กำลังจะทวีความรุนแรงไปเรื่อยๆ ต่อให้นักวิชาการจะมีหลากหลายเสียงที่ขัดแย้งกัน แต่หนึ่งในนั้นย่อมต้องมีความคิดดีๆ อยู่แน่ และเราจะสามารถหยิบตรงนั้นออกมาใช้ประโยชน์ได้

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า