การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อนำไปสู่การลดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยพื้นฐานทั่วไปที่เราทราบและคุ้นเคยกันดีคือ การใช้มาตรการทางกฎหมายในการสั่งห้ามดื่ม ห้ามขายในปั๊มนํ้ามัน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี มาตรการทางกฎหมายนั้นจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ล้วนขึ้นอยู่กับการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ในอีกทางหนึ่งการใช้มาตรการทางกฎหมาย ‘แบบเพียวๆ’ จะไม่ประสบความสำเร็จเลย หากไม่นำมาปฏิบัติไปพร้อมกับมาตรการทางสังคมอื่นๆ ที่มีกฎหมายเป็นตัวรองรับในการควบคุมอีกทบหนึ่ง
บทความชิ้นนี้จะพาไปสำรวจมาตรการอื่นๆ นอกเหนือไปจากมาตรการทางกฎหมายที่เน้นการเป่า-ปรับ-จับ-ขัง ตัวอย่างเช่น กรณีศึกษาจากประเทศสิงคโปร์ที่ใช้วิธีกำหนด ‘พื้นที่พิเศษ’ หรือจัดโซนนิงสำหรับการดื่มโดยเฉพาะ ขณะที่สหรัฐอเมริกาดินแดนแห่งเสรีภาพ มีวัฒนธรรม ‘เมาไม่เสิร์ฟ’ โดยให้ผู้ประกอบการต้องใช้ดุลยพินิจตรวจสอบอาการคนเมาก่อนที่จะเสิร์ฟต่อ และรับผิดชอบหากเกิดอุบัติเหตุจากการที่ลูกค้าเมาแล้วขับ ซึ่งผู้เสียหายสามารถฟ้องผู้ประกอบการเหล่านั้นได้
เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่ผู้ประกอบการจะต้องร่วมรับผิดชอบด้วย และกฎหมายยังมีผลครอบคลุมไปถึงผู้โดยสารที่จะโดนหางเลขไปด้วย หากปล่อยให้ผู้ขับขี่เมาแล้วขับ
มาตรการเหล่านี้เป็นการผสมผสานระหว่างมาตรการทางกฎหมายควบคู่ไปกับมาตรการทางสังคม เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องในระบบนิเวศของของดื่มต้องร่วมกันรับผิดรับชอบด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวัฒนธรรมการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ (responsibel drinking) ให้เกิดขึ้นจริง
สิงคโปร์
พื้นที่สาธารณะดื่มได้ แต่ห้ามเมาเรื้อน
สิงคโปร์เป็นประเทศที่ถูกยอมรับโดยดุษฎีถึง ‘ความเข้มงวด’ ในการกวดขันและจัดระเบียบทางสังคม คนไทยรับรู้ถึงความเข้มงวดของสิงคโปร์จากมาตรการห้ามเคี้ยวหมากฝรั่ง ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายและอาจเจอโทษปรับ 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 27,000 บาท) เลยทีเดียว
ความเข้มงวดของสิงคโปร์อยู่ในทุกอณูของกฎหมายและมาตรการทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการจำกัดอายุ ห้ามเมาแล้วขับ และการกำหนดเวลาขาย
นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นต้นมา รัฐบาลสิงคโปร์เพิ่มความเข้มงวดในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากยิ่งขึ้น มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อการจัดหาและการบริโภค ค.ศ. 2015 (Liquor Control Supply and Consumption) Act 2015) โดยวางกรอบเวลาและอาณาเขตอย่างชัดเจน และบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 2023 เป็นต้นมา
เนื้อหาของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีความเข้มงวดกวดขันตั้งแต่ ‘ปัจเจกบุคคล’ ไปจนถึง ‘พื้นที่พิเศษ’ สำหรับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะ และมีกฎระเบียบพิเศษในการกำกับอีกชั้นหนึ่ง
ตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ว่าด้วยเรื่องของการเมาในพื้นที่สาธารณะ เพียงแค่ปัจเจกชนคนใดเมาในพื้นที่สาธารณะโดยไม่สามารถดูแลตัวเองได้ จะมีโทษปรับ 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 27,000 บาท) หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ หากกระทำซํ้าโทษจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
หากปัจเจกชนคนใดเมาจนก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ รุกลํ้าเคหะสถาน ถือว่ามีความผิดเช่นกัน จะถูกปรับ 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 27,000 บาท) หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ หากกระทำซํ้าโทษจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
อย่างไรก็ตาม การดื่มในพื้นที่สาธารณะสามารถกระทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบเวลาที่กำหนด รวมไปถึงการจัดพื้นที่พิเศษสำหรับการบริโภคแอลกอฮอล์ที่จะมีข้อบังคับยิบย่อยลงไปอีก อาทิ
ห้ามดื่มในพื้นที่สาธารณะ ระหว่างเวลา 22.30 น. ของวันนั้น จนกระทั่ง 07.00 น. ของอีกวันหนึ่ง
ห้ามดื่มในสถานประกอบการที่มีใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระหว่างเวลา 23.59 น. จนกระทั่ง 06.00 น. ของอีกวันหนึ่ง
วันหยุดนักขัตฤกษ์ ห้ามดื่มในพื้นที่สาธารณะตั้งแต่ 19.00 น. ไปจนถึง 07.00 น. ของวันถัดไป
มาตรการโซนนิงกระชับพื้นที่นักดื่ม
พื้นที่ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Liqour Control Zone: LCZ) ถือเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อการจัดหาและการบริโภค ค.ศ. 2015 โดยมีพื้นที่เพียง 2 แห่งเท่านั้นที่อนุญาตให้ดื่มได้ภายใต้การควบคุมพิเศษนี้คือ เกลัง (Geylang) ย่านสถานบันเทิงเก่าแก่ของสิงคโปร์ และลิตเติลอินเดีย (Little India) ซึ่งมีความเข้มงวดมากกว่าการดื่มในพื้นที่สาธารณะเสียอีก เรียกได้ว่าเป็นการ ‘กระชับพื้นที่’ เครื่องดื่มมึนเมาให้อยู่ในพื้นที่เฉพาะหรือการจัดโซนนิง พร้อมกำหนดเวลาในการดื่มซ้อนเข้าไปอีกทบหนึ่ง
ตามกฎหมายระบุว่า ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างเวลา 22.30 น. ของคืนวันศุกร์ จนกระทั่งเวลา 07.00 น. ของวันจันทร์ ซึ่งหมายความว่า ชาวสิงคโปร์ไม่สามารถดื่มในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ หากมีการกระทำผิดกฎหมายในพื้นที่ LCZ นี้ เช่น การจัดหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยปราศจากใบอนุญาต ขายเกินเวลากำหนด จะมีโทษปรับ 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 270,000 บาท) รวมไปถึงการสั่งปิดกิจการ อีกทั้งตำรวจสามารถใช้ดุลยพินิจในการจำกัดการเข้าออกของบุคคลที่อายุไม่ถึงเกณฑ์อีกด้วย
สหรัฐอเมริกา
‘เมาไม่เสิร์ฟ’ ความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการ
สหรัฐอเมริกา ดินแดนแห่งเสรีภาพที่รัฐไม่อาจพรากสิทธิหลายๆ อย่างไปจากชาวอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นการนับถือศาสนา เสรีภาพในการพูด การถือครองอาวุธปืน และการค้าเสรี แต่การมีเสรีภาพในสหรัฐอเมริกาย่อมตามมาด้วย ‘ความรับผิดรับชอบ’ เสมอ แม้แต่เสรีภาพในการค้าน้ำเมา การเสิร์ฟเครื่องดื่มมึนเมาอย่างไม่มีวิจารณญาณ
การควบคุมอุบัติเหตุอันเกิดจากการเมาแล้วขับของสหรัฐอเมริกา มีฐานแนวคิดเรื่องความรับผิดชอบที่ขยายออกไปนอกเหนือจากปัจเจกบุคคล แผ่คลุมไปจนถึงการรับผิดชอบร่วมของสถานประกอบการที่ให้บริการแก่ผู้ก่อเหตุ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุขณะเมาแล้วขับ กรอบกฎหมายไม่เพียงแต่ให้ผู้ขับขี่ที่มึนเมาต้องรับผิดชอบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสถานประกอบการที่ให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย หลักการทางกฎหมายที่เรียกว่า ‘Dram shop’
กฎหมาย Dram shop เป็นกฎเกณฑ์ที่ถือว่าธุรกิจต้องรับผิดในการให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่นหรือตนหลังจากการดื่ม อันมีต้นกําเนิดมาจากกฎหมายจารีตประเพณีของอังกฤษ กฎหมายนี้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในสหรัฐอเมริกา โดยปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม วัตถุประสงค์หลักของกฎหมายนี้มี 2 ประการ เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากการดื่ม และเพื่อส่งเสริมด้านการบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีความรับผิดชอบของสถานประกอบการ
กฎหมาย Dram shop แตกต่างกันอย่างมีนัยสําคัญในแต่ละมลรัฐ ซึ่งสะท้อนแนวทางที่หลากหลายในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วประเทศ แม้ว่ารายละเอียดเฉพาะจะแตกต่างกัน แต่องค์ประกอบของกฎหมายจะคล้ายคลึงกัน อันได้แก่ เกณฑ์ความรับผิดและข้อยกเว้นต่างๆ โดยทั่วไปรัฐจะกําหนดให้สถานประกอบการต้องรับผิดชอบในการให้บริการแก่ลูกค้า เช่น ผู้ดื่มที่มึนเมาหรือผู้เยาว์
บางมลรัฐอาจกําหนดมาตรฐานความรับผิดที่เข้มงวดกว่ามลรัฐอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ในมลรัฐเท็กซัส สถานประกอบการต้องรับผิดชอบต่อการเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับบุคคลที่เห็นได้ชัดว่ามีอาการมึนเมา ซึ่งแสดงถึงภาระของผู้ประกอบการในการพิสูจน์และใช้วิจารณญาณ อันเป็นกฎหมายที่ค่อนข้างเข้มงวดเมื่อเทียบกับมลรัฐข้างเคียงอย่างนิวเม็กซิโก
มีเงินก็ดื่มต่อไม่ได้ ถ้าเมาแล้วเสียทรง
คำว่า ‘เมาอย่างเห็นได้ชัด’ (visible intoxication) และ ‘เมาอย่างชัดเจน’ (obvious intoxication) คำทั้งสองที่ดูคล้ายคลึงกันนี้มีผลทางกฎหมายแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเขตอำนาจศาล ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความเข้มงวดที่ต่างกันไปในแต่ละมลรัฐ
‘เมาอย่างเห็นได้ชัด’ หมายถึง สภาวะที่แสดงความมึนเมาอย่างเห็นได้ชัดสําหรับบุคคลทั่วไป ซึ่งหมายความว่าผู้ดื่มต้องแสดงพฤติกรรมที่สังเกตได้หรือมีอาการทางร่างกายที่บ่งบอกว่าพวกเขาอยู่ภายใต้ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์
หลายมลรัฐใช้คำว่า ‘เมาอย่างเห็นได้ชัด’ เป็นเกณฑ์ในการกำหนดความรับผิดภายใต้กฎหมายนี้ โดยให้สถานประกอบการใช้ดุลยพินิจ ‘งดเสิร์ฟ’ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลที่แสดงอาการบกพร่องอย่างชัดเจน เช่น การพูดไม่ชัด เดินสะดุด เดินลําบาก เดินเซ ดวงตาแดงก่ํา การตอบสนองล่าช้า ไม่อยู่กับร่องกับรอย มีกลิ่นของแอลกอฮอล์ สัญญาณเหล่านี้ชัดเจนเพียงพอสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมพิเศษจะรับรู้ได้ว่าเป็นอาการมึนเมา
ตัวอย่าง กฎหมายร้านขายเหล้าของมลรัฐนิวเม็กซิโกกำหนดความรับผิดโดยอิงจากการให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลที่มีอาการมึนเมาอย่างเห็นได้ชัด โดยเน้นไปที่พฤติกรรมที่สังเกตได้ว่าผู้ดื่มสูญเสียสมรรถภาพบางอย่าง
ส่วนคำว่า ‘มึนเมาอย่างชัดเจน’ หมายถึง สภาวะที่แสดงสัญญาณของความมึนเมานั้นเด่นชัดและไม่ผิดเพี้ยนจนปรากฏให้ผู้สังเกตการณ์เห็นได้ทันที โดยความบกพร่องของผู้ดื่มนั้นชัดเจนและยากจะปฏิเสธ
ตัวชี้วัดความมึนเมาอย่างชัดเจน เช่น การไร้ความสามารถในการทรงตัว หรือไม่สามารถเดินได้ การพูดไม่ชัดจนถึงจุดที่เข้าใจยาก ทักษะการเคลื่อนไหวที่บกพร่องอย่างรุนแรง พฤติกรรมที่ไม่อยู่กับร่องกับรอยหรือก้าวร้าว และกลิ่นแอลกอฮอล์ที่รุนแรง สัญญาณเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าบุคคลนั้นไม่เพียงมีความบกพร่องในการควบคุมตนเองเท่านั้น แต่ยังมึนเมาอย่างมีนัยสําคัญในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น
เขตอำนาจศาลบางแห่ง เช่น มลรัฐเท็กซัส ใช้คำว่า ‘มึนเมาอย่างชัดเจน’ เป็นเกณฑ์ที่เข้มงวดกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ ‘มึนเมาอย่างเห็นได้ชัด’ มาตรฐานนี้กำหนดให้สถานประกอบการงดให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลที่มีความบกพร่องอย่างชัดเจนและไม่ผิดเพี้ยน จนถึงขอบเขตที่บุคคลทั่วไปสามารถรับรู้ถึงความมึนเมาของผู้ดื่มได้
สำหรับผู้ประกอบการ การพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในรัฐที่ใช้มาตรฐาน ‘มึนเมาอย่างชัดเจน’ อาจเป็นการยากที่จะพิสูจน์ว่าพนักงานไม่รับรู้ถึงความมึนเมาของผู้ดื่ม ดังนั้นกฎหมายจึงกําหนดให้ผู้ประกอบการต้องมีการฝึกอบรมพนักงานเสิร์ฟเพื่อสร้างดุลยพินิจและคอยสังเกตความเมาของผู้ดื่มในร้าน
สถานประกอบการอาจต้องรับผิดทางกฎหมายหากมีหลักฐานว่า ผู้ให้บริการทำการเสิร์ฟหรือจัดหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคล ‘ผู้ที่มึนเมาอย่างชัดเจน’ ทั้งที่ปรากฏชัดเจนว่าจะก่อให้อันตรายต่อบุคคลนั้นและผู้อื่น
บทลงโทษต่อผู้ประกอบการหากกระทำผิด
- ธุรกิจที่กระทำผิดภายใต้กฎหมาย Dram shop จะถูกปรับเป็นเงิน โดยค่าปรับเหล่านี้ขึ้นอยู่กับเขตอํานาจศาลและสถานการณ์เฉพาะของแต่ละคดี
- การระงับหรือเพิกถอนใบอนุญาต หน่วยงานกํากับดูแลที่รับผิดชอบการออกใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจระงับหรือเพิกถอนใบอนุญาตของสถานประกอบการในการให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บทลงโทษนี้มักถูกกําหนดสําหรับการทำผิดที่ร้ายแรงหรือมีความผิดซ้ําๆ
- บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บจากผู้ดื่มที่มึนเมาอาจยื่นฟ้องทางแพ่งต่อสถานประกอบการเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย คดีเหล่านี้สามารถขอค่าชดเชยค่ารักษาพยาบาล การสูญเสียค่าจ้าง และความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานที่เกิดจากเหตุการณ์
การกําหนดความรับผิดชอบภายใต้กฎหมาย Dram shop จำต้องประเมินจากปัจจัยหลายประการ สถานประกอบการต้องรับผิดชอบหากพวกเขาให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลที่มึนเมาหรือยังไม่บรรลุนิติภาวะอย่างจงใจ ข้อกําหนดในการพิสูจน์หลักฐานมีทั้งคําให้การของพยาน ภาพจากกล้องวงจรปิด หรือรายงานของตํารวจที่แสดงให้เห็นถึงการบริการที่มากเกินควรหรือความประมาทเลินเล่อของผู้ให้บริการ และหลักฐานเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญในการประเมินระดับความรับผิดชอบระหว่างลูกค้าที่มึนเมากับสถานประกอบการ
ผลกระทบและประสิทธิผลของกฎหมายให้ร้านร่วมรับผิด
การศึกษาชี้ให้เห็นว่ากฎหมายชุดนี้มีส่วนช่วยในการลดอุบัติเหตุทางถนนโดยการสร้างแรงจูงใจในการให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีความรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม กฎหมายเหล่านี้ยังคงมีข้อถกเถียงอยู่เมื่อภาคธุรกิจต่างๆ อ้างถึงข้อกังวลทางกฎหมาย ผลกระทบเศรษฐกิจ และการบังคับใช้ โดยโต้แย้งว่าพวกเขาต้องแบกรับภาระจากการกระทําของผู้ดื่มอย่างไม่เป็นธรรม
ขณะที่สาธารณชนชาวอเมริกันมีความเห็นในประเด็นนี้แตกต่างกันออกไป โดยมีตั้งแต่กลุ่มที่สนับสนุนมาตรการความปลอดภัยสาธารณะนี้ที่ต้องปรับปรุงให้เข้มงวดขึ้น ไปจนถึงผู้ที่กังวลว่ากฎหมายอาจจะเข้มงวดมากเกินไปจนอาจส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมบริการได้
กฎหมาย Dram shop ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความปลอดภัยให้กับสังคมโดยขยายขีดความรับผิดชอบของภาคส่วนอื่นๆในสังคมให้ช่วยกันสอดส่องมากขึ้นโดยไม่ผลักภาระไปให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ดื่มอยู่ฝ่ายเดียว กฎหมายชุดนี้ควรค่าแก่การถูกหยิบยกไปพิจารณาในกลุ่มประเทศที่ประสบปัญหาการเพิ่มขึ้นของอุบัติที่เหตุบนท้องถนนจากการเมาแล้วขับอย่างยิ่ง เว้นแต่ประเทศเหล่านั้นต้องการปกป้องกำไรของร้านเหล้าและเศรษฐกิจมากกว่าชีวิตของประชาชน
ญี่ปุ่น
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมาแล้วขับ ต้องรับโทษด้วย
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์หนักหน่วง เครื่องดื่มของมึนเมาวางพร้อมมื้ออาหารเป็นเรื่องปกติโดยทั่วไป แต่ในทางกลับกัน ญี่ปุ่นก็เป็นประเทศที่มีความปลอดภัยบนท้องถนนสูง อุบัติเหตุการจราจรตํ่า ซึ่งสวนทางกับวัฒนธรรมการดื่มจัดนี้
แน่นอนว่า กฎหมายที่ละเอียดถี่ถ้วน คือตัวตั้งต้นของความปลอดภัยบนท้องถนน รวมถึงความเข้มงวดของมาตรการ ‘เมาไม่ขับ’ ในญี่ปุ่น ซึ่งมีการจำแนกแยกย่อยระดับความเมาออกเป็นหลายระดับ ได้แก่
การขับขี่ยานพาหนะโดยมีปริมาณแอลกอฮอล์ 0.3 มิลลิกรัมต่อเลือด 1 มิลลิลิตร หรือแอลกอฮอล์ 0.15 มิลลิกรัมต่อลมหายใจ 1 ลิตร เกณฑ์นี้จึงเท่ากับ ‘เมาแล้วขับ’ มีโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน (ประมาณ 227,000 บาท) เพิกถอนใบขับขี่ 3 ปี
แต่ไม่ได้หมายความว่า สภาวะที่ตํ่ากว่าตัวชี้วัดเมาแล้วขับจะทำให้หลุดพ้นจากความผิดได้ เพราะญี่ปุ่นยังมีการกำหนดให้การขับรถภายใต้ฤทธิ์สุรา ที่มีแอลกอฮอล์ในลมหายใจน้อยกว่า 0.25 มิลลิกรัม ต้องจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 เยน อีกทั้งพักการใช้ใบขับขี่ 90 วัน หากเมาแล้วขับทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็จะมีโทษจำคุก สำหรับทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ ไม่เกิน 12-15 ปี และทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต จำคุกไม่เกิน 15 ปี
ความเข้มงวดและผลทางกฎหมายจากการเมาแล้วขับยังครอบคลุมไปถึงสภาวะแวดล้อมของการเมานั้นด้วย เช่น ผู้โดยสาร และผู้ประกอบการ เป็นต้น
นั่งรถคนเมา-ให้ยืมรถ-คนขาย-คนเชียร์ให้ดื่ม ‘โดน’ เหมือนกัน
ตามกฎหมายการจราจรทางบกของญี่ปุ่นยังกำหนดให้บุคคลแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับเหตุแห่งการเมาแล้วขับนั้นต้องรับผิดชอบด้วย หากผู้ที่เมาแล้วขับนั้นกระทำผิดกฎหมาย
ผู้จัดหาหรือให้ยืมรถจนก่อให้เกิดการเมาแล้วขับ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน และต้องรับโทษทางอาญาเช่นเดียวกับผู้กระทำผิดด้วยเช่นกัน
กรณีผู้โดยสารรถยนต์ที่ไปกับผู้ขับขี่เมาแล้วขับ จะมีโทษจำคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 เยน เพิกถอนหรือพักใช้ใบอนุญาต (มีหลายเคสที่ผู้โดยสารถูกยกเลิกใบขับขี่เป็นเวลา 2 ปี เมื่อรู้ว่าคนขับเมา แต่ขอให้ไปส่ง หรือนั่งรถไปด้วย)
คนขายหรือคนเชียร์ให้ดื่มจนก่อให้เกิดการเมาแล้วขับ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 เยน เพิกถอนหรือพักใช้ใบอนุญาต หากทางร้านทราบว่า ผู้บริโภคมาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยใช้รถยนต์และปล่อยปละละเลยให้ดื่ม จะต้องรับโทษตามผู้ก่อเหตุด้วย
อ้างอิง
- Legal Risks Bartenders Face for Over Serving Alcohol
- ‘Intoxication’ May Not Always Be Visible
- California Department of Alcoholic Beverage Control – Licensing Penalties
- Texas Alcoholic Beverage Code, Chapter 2
- Liquor Control (Supply and Consumption) Act 2015
- Drinking laws in Singapore (March 2023)
- What is the legal limit for drunk driving in Japan, and what happens if I drive under the influence?
- Eradicate drunk driving!!
- กฎหมายจราจรทางบกของญี่ปุ่น เกี่ยวกับการเมาแล้วขับในญี่ปุ่นมีดังนี้