นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจเมื่อปี 2557 ส่งผลให้ประเทศไทยถูกแช่แข็งเป็นเวลายาวนานร่วมทศวรรษ เศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณถดถอย ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมสูญเสียศักยภาพการแข่งขัน ทั้งยังถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
เมื่อเศรษฐกิจเริ่มพ่นพิษหนักขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงหันหน้าเข้าหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยหวังว่าอุตสาหกรรมน้ำเมาจะช่วยต่อสัญญาณชีพเศรษฐกิจไทย พ่วงไปกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการให้กระเตื้องขึ้นมาได้
อย่างไรก็ตาม การผ่อนปรนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยมาตรการต่างๆ ทำให้สังคมเกิดความกังวลระหว่างความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจกับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นตามมาต่อสังคม
กล่าวเฉพาะในแง่รายได้ แม้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียน แต่เป็นที่ทราบกันดีว่ามูลค่าการตลาดของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยที่สูงถึง 500,000-600,000 ล้านบาทต่อปีนั้น ถูกผูกขาดโดยผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย อีกทั้งปัจจุบันยังไม่มีการปลดล็อกกฎหมายการผลิตและจำหน่ายเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการรายย่อยหรือธุรกิจชุมชน ดังนั้นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากมาตรการต่างๆ ของรัฐจึงอาจตกอยู่ที่นายทุนใหญ่ ไม่เกิดการกระจายรายได้ที่แท้จริง
ในแง่ผลกระทบทางสังคม ประเทศไทยต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขอันเกิดจากอุบัติเหตุทางถนน ค่ารักษาพยาบาล และปัญหาสุขภาพ ด้วยเหตุนี้จึงมีข้อเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้รัฐพิจารณาถึงมาตรการป้องกันและลดผลกระทบทางสังคมควบคู่ไปด้วย เพื่อหาจุดสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจกับผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสังคม
เปิดผับถึงตี 4 กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยฤทธิ์แอลกอฮอล์
มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลทยอยเข็ญออกมา เริ่มตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้วคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566 ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ สาระสำคัญคือการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงจนถึง 04.00 น. ในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด 1 อำเภอ ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต และอำเภอเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566
นอกจากนี้ สถานบริการที่ตั้งอยู่ในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมทั่วประเทศ ก็สามารถเปิดบริการได้ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้นได้เช่นกัน
มาตรการต่อมาที่รัฐบาลผลักดันอย่างต่อเนื่องคือ การปรับลดอัตราภาษีไวน์ สุราแช่ และสถานบันเทิง เริ่มตั้งแต่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 โดยกรมสรรพสามิตให้เหตุผลว่า เป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและเกิดการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีรายละเอียดดังนี้
– ไวน์และสปาร์กลิ้งไวน์ที่ทำจากองุ่น เดิมเก็บภาษีตามมูลค่า 10% ปรับลดเหลือ 5% และอัตราภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์จาก 1,500 บาทต่อลิตรที่ 100 ดีกรี ลดเหลือ 1,000 บาทต่อลิตรที่ 100 ดีกรี
– ฟรุตไวน์ หรือสุราแช่ผลไม้ที่มีส่วนผสมขององุ่น หรือไวน์องุ่น เดิมเก็บภาษีตามมูลค่า 10% ปรับลดเหลือ 0%
– สุราแช่พื้นเมือง เช่น อุ กะแช่ สาโท ที่มีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี เดิมเก็บภาษี 10% ปรับลดเหลือ 0%
– สถานบันเทิง เช่น ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ บาร์ ค็อกเทลเลาจน์ ฯลฯ ปรับลดอัตราภาษีจาก 10% เป็น 5% ของรายรับ (จนถึง 31 ธันวาคม 2567)
ภาคเอกชนหนุนมาตรการขยายเวลาขายเหล้า-เบียร์
ปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่ การขยายเวลาการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากเดิม 10 ชั่วโมงต่อวัน (11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น.) โดยอาจอนุญาตให้จำหน่ายในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. ได้ หรือนำร่องในบางจังหวัดก่อน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายมาตรการที่อยู่ในขั้นตอนพิจารณา เช่น หลักเกณฑ์การโฆษณา การสื่อสารการตลาด ฉลากคำเตือน การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นต้น
ธนากร คุปตจิตต์ ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ให้ความเห็นในเวทีเสวนาวิชาการ หัวข้อ ‘การกระตุ้นทางเศรษฐกิจกรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์: เหตุผลทางเศรษฐกิจ และมุมมองทางสังคม’ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิชีววิถี (BioThai) ระบุว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลต้องมีการทบทวนกฎหมายที่ล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน เช่น ยกเลิกการจำกัดเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วง 14.00-17.00 น.
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร และตัวแทนภาคเอกชนได้ร่วมกันทำหนังสือเปิดผนึกถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณามาตรการช่วยเหลือโดยเร่งด่วน ก่อนที่ธุรกิจร้านอาหารจะปิดตัวลงมากกว่านี้ ทั้งร้านอาหารริมทาง สตรีตฟู้ด แผงลอย เอสเอ็มอี เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันซบเซาอย่างหนัก
หนึ่งในข้อเสนอของภาคเอกชนคือ ขอให้แก้ไขกฎหมายที่ล้าหลังในการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ช่วงเวลา 14.00-17.00 น. ซึ่งเป็นคำสั่งคณะปฏิวัติฉบับที่ 253 ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2515 โดยเป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อป้องกันข้าราชการไปนั่งดื่มในเวลางาน ซึ่งขัดแย้งกับยุคสมัยปัจจุบันที่ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว
ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยินดีรับพิจารณาข้อเสนอของธุรกิจร้านอาหารเรื่องการแก้กฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 14.00-17.00 น. เพราะทางรัฐบาลเองก็พยามผลักดันเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งหวังว่าเรื่องนี้จะทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าต้องศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เสียก่อน เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเชิงสถิติในด้านผลกระทบทั้งทางมิติสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจที่ชัดเจน อีกทั้งการแก้ไขกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นหน้าที่ของ สส. และ สว. ที่จะต้องพิจารณา
‘วันพระใหญ่’ ขายเหล้าในสนามบินได้ สถานีรถไฟรอลุ้น
ท่ามกลางข้อถกเถียงเรื่องการขยายเวลาจำหน่ายที่ยังไม่ได้ข้อสรุป รัฐบาลก็ได้ผลักดันมาตรการเพิ่มเติม โดยวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 3/2567 ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม มีมติให้ปรับปรุงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 คือ วันอาสาฬหบูชา วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ให้สามารถจำหน่ายได้ในอาคารอากาศยานนานาชาติ 6 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และหาดใหญ่ เพื่อให้เกิดการใช้จ่าย สร้างรายได้ และเป็นการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศ
ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ขอให้มีการพิจารณายกเว้นสถานที่ หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในบริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถที่อยู่บนทางรถไฟ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศนั้น คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และ รฟท. จะร่วมกันหารือถึงแนวทางและมาตรการควบคุมที่เหมาะสมต่อไป
สถิติตายเพิ่ม หลังเปิดผับถึงตี 4
จากการติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวด้วยการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงจนถึง 04.00 น. ในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด 1 อำเภอ นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ (ครปอ.) ระบุว่า จากข้อมูลเดือนมกราคม 2567 เทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2566 พบผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นชัดเจน โดยพื้นที่กรุงเทพฯ เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 46.6% ภูเก็ต 35.7% เชียงใหม่ 22.5% ส่วนชลบุรีและเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี เพิ่มกว่า 10%
เช่นเดียวกับ นายแพทย์คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระบุว่า จากฐานข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในเดือนมกราคม 2567 ใน 5 พื้นที่นำร่องรวม 205 คน เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดือนมกราคมปีก่อนหน้า ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 49 คน
นอกจากนี้ จากสถิติอุบัติเหตุเฉพาะในช่วงเวลา 02.00-05.59 น. พบการเสียชีวิต 18 คน เพิ่มจากปีก่อน 8 คน หรือเพิ่มขึ้น 80% โดยแนวโน้มนี้เหมือนกันทั้ง 4 จังหวัด จึงยืนยันได้ว่านโยบายขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานบริการ เกิดผลกระทบรุนแรงคือ การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้นอย่างน้อย 8 คนต่อเดือน หรือประมาณ 100 คนต่อปี
นพ.คำนวณ ยังกล่าวยืนยันหลักการสำคัญว่า การพัฒนาเศรษฐกิจต้องไปคู่กับการพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ ประชาชนสุขภาพดี ได้รับความเสมอภาค และปราศจากภัยอันตรายที่ไม่จำเป็น
ค้านขยายเวลาจำหน่าย ลดจำนวนคนเมาแล้วขับ
รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ แสดงความเห็นคัดค้านการขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วง 14.00-17.00 น. ว่า แม้ข้อกำหนดเรื่องการห้ามจำหน่ายเหล้าเบียร์ในช่วงเวลาดังกล่าวจะมาจากประกาศคณะปฏิวัติที่บังคับใช้มากว่า 50 ปีแล้ว แต่ก็มีข้อดีคือช่วยลดการดื่มในช่วงกลางวัน-เย็น และลดจำนวนคนเมาบนท้องถนนได้
นอกจากนี้ยังมองว่า การขยายเวลาการเปิดสถานบันเทิงอาจจะไม่ได้กระตุ้นการท่องเที่ยวมากนัก แต่กลับสร้างผลกระทบเพิ่มขึ้นจากการเมาแล้วขับ จึงเสนอว่ารัฐบาลควรทบทวนยกเลิกนโยบายนี้โดยเร็ว
นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1.8 ล้านคน ต้องเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูสุขภาพ และแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งอุบัติเหตุและเจ็บป่วยกว่า 20,000 คนต่อปี อีกทั้งยังเป็นภาระค่าใช้จ่ายสุขภาพ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขต้องทำงานเพิ่มขึ้น
นักวิชาการห่วงผลกระทบ กระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่คุ้มเสีย
ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. … อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระ 2 ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจมีการผ่อนปรนมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องการขยายเวลาจำหน่าย การโฆษณา และอื่นๆ นำมาสู่การเคลื่อนไหวของนักวิชาการ บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงนักการศาสนา ซึ่งมีความเป็นห่วงผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นตามมา จึงได้ร่วมกันเข้าชื่อกว่า 1,000 รายชื่อ เพื่อเสนอความเห็นและข้อห่วงใยไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รวมถึงพรรคการเมืองทุกพรรค เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในแถลงการณ์ได้ระบุถึงข้อเสนอ 3 ข้อ ได้แก่
1. ควรคงมาตรการควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งด้านอายุ เวลา และสถานที่
2. ห้ามการโฆษณา ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่า มาตรการด้านภาษี การควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการห้ามการโฆษณา เป็น 3 วิธีที่มีประสิทธิผลและคุ้มค่าในการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
และ 3. เร่งปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคม ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งการบัญญัติกฎหมาย
ผศ.ดร.ชิดตะวัน ระบุด้วยว่า การหวังพัฒนาเศรษฐกิจด้วยสินค้าอบายมุข เป็นแนวนโยบายสาธารณะที่ผู้แทนปวงชนและรัฐบาลพึงสังวร เพราะอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานทางความคิด รวมถึงพฤติกรรมของคนในสังคม
ขณะที่ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในงานสัมมนาสาธารณะ หัวข้อ ‘ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จุดสมดุลเพื่อสังคมและเศรษฐกิจ’ เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมาว่า จากข้อมูลในปี 2565 อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมูลค่าถึงเกือบ 600,000 ล้านบาท โดยรัฐมีรายได้จากภาษีอยู่ที่ 150,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็สร้างผลกระทบและความสูญเสียทางสังคม เช่น อุบัติเหตุ ค่ารักษาพยาบาล ไม่ต่ำกว่า 170,000 ล้านบาท
ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ นักวิจัยอาวุโส TDRI เปิดเผยตัวเลขว่า ในปี 2565 อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไทยเกือบ 600,000 ล้านบาท มาจากมูลค่าการขายถึง 500,000 ล้านบาท มูลค่าการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน 6,550 ล้านบาท เป็นเบียร์ 3,900 ล้านบาท ไวน์องุ่น 2,400 ล้านบาท
แต่ขณะเดียวกัน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างต้นทุนแก่สังคมไทย ประมาณการเบื้องต้น 170,000 ล้านบาท แบ่งเป็นผลกระทบต่อสุขภาพ 94,000 ล้านบาท (55%) ผลกระทบจากปัญหาอุบัติเหตุทางถนน 53,000 ล้านบาท (31%) ผลกระทบจากการบาดเจ็บต่างๆ 17,000 ล้านบาท (10%) และผลกระทบจากปัญหาอาชญากรรม 7,000 ล้านบาท (4%)
จากผลการศึกษาของ TDRI เรื่อง ‘การทบทวนนโยบายและมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต่อการส่งเสริมสมดุลด้านการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน’ ระบุว่า ไทยควรควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เหมาะสมและพอดี โดยมีข้อเสนอ 3 ข้อ ได้แก่
1. มุ่งเน้นปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยแก้กฎหมายโฆษณาไม่ให้มุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี และต้องไม่อวดอ้างสรรพคุณหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด
2. ลดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในทางที่ผิด ยกเลิกสินบนรางวัล ลด/เลี่ยงการใช้ดุลยพินิจเกินขอบเขตจนกระทบหลักธรรมาภิบาล
และ 3. เพิ่มมาตรการลดผลกระทบเชิงลบทางสังคม อาทิ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต และครอบครัว จากอุบัติเหตุเมาแล้วขับ บำบัดฟื้นฟูผู้ติดสุราเรื้อรัง ตั้งด่านตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ต่อเนื่องตลอดปี รวมถึงปรับเกณฑ์การลงโทษเมาขับ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้เป็นเสียงสะท้อนหลากหลายมุมมองของหลายภาคส่วนที่ต้องการส่งไปถึงรัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการทบทวนมาตรการว่าด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และชั่งน้ำหนักความเหมาะสมระหว่างผลบวกทางเศรษฐกิจ กับผลลบทางสังคมที่จำเป็นต้องดำเนินควบคู่กันอย่างสมดุล
อ้างอิง
- กระตุ้นเศรษฐกิจด้วย ‘ธุรกิจน้ำเมา’ บนทางแพร่งของผลกำไรกับรายจ่ายของสังคม
- กรมสรรพสามิตปรับลดอัตราภาษี ไวน์ สุราแช่ และสถานบันเทิง เริ่ม 23 ก.พ. 67 นี้
- ธุรกิจร้านอาหาร ยื่นหนังสือ ‘นายกฯ’ วอนหามาตรการอุ้มก่อนล้มกันหมด ชี้เศรษฐกิจซบเซาหนัก
- นายกฯ ยินดีรับพิจารณา ข้อเสนอธุรกิจร้านอาหาร แก้กฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 14.00-17.00 น. เร่งผลักดันการท่องเที่ยว หวังช่วยเหลือผู้ประกอบการ
- “สมศักดิ์”โยนเป็นเรื่องของสภา หลังนายกฯรับข้อเสนอแก้กฎหมายเวลาขายเหล้า
- เครือข่ายป้องกันภัยฯ บุก สธ.ค้านขยายขาย “แอลกอฮอล์”
- คกก. นโยบายฯ เห็นชอบ ให้ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทอท. จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันห้ามขายได้ ส่วนสถานีรถไฟให้ทบทวนมาตรการป้องกันควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกครั้ง
- เครือข่ายงดเหล้าฯ จวกการรถไฟเสนอขอผ่อนปรนขายเหล้าเบียร์ หลังรัฐไฟเขียวขายได้ในสนามบินนานาชาติ 5 วันพระใหญ่
- ‘หมอคำนวณ’ เปิดตัวเลขคนตายจากเมาแล้วขับ พุ่ง 80% ใน 4 จังหวัดนำร่องเปิดผับถึงตี 4
- นักวิชาการ-บุคลากรการแพทย์ กว่าพันคนเข้าชื่อ ส่งถึงนายกฯ คุมเข้มกม.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- เปิดผลศึกษานโยบายควบคุมน้ำเมาเสนอเพิ่มโทษใช้ยาแรงถ้าขายให้เด็ก – ทบทวนปิดผับตี4