เรื่อง : อาทิตย์ เคนมี
ภาพ : อนุช ยนตมุติ
ในราตรีที่หลับใหล เมืองกรุงอันสับสนอลหม่านเคลื่อนผ่านเข้าสู่รัตติกาล เหล่าแมลงสาบเริงร่า วิ่งพล่านจากฝาท่อระบายน้ำออกหากินตามซอกหลืบอับๆ …มันเป็นเวลาเดียวกับที่เขาสะพายเป้ขึ้นหลัง แบกอุปกรณ์สัมภาระเพื่อออกปฏิบัติการบางอย่าง เป้าหมายข้างหน้าคือสถานที่รกร้างที่ไหนสักแห่งใจกลางเมือง
ราวกับหน่วยจรยุทธ์…เขาสืบเท้าฝ่าความมืด เร้นกายอยู่หลังซากกำแพงปรักหักพัง เหลียวซ้ายแลขวา เมื่อลับสายตาผู้คน ภารกิจจึงเริ่มต้น กระป๋องสีสเปรย์กระชับแน่นในอุ้งมือ เสียงฟืดฟาดของลมหายใจหอบถี่ดังสลับกับเสียงแก๊สกระป๋องที่พ่นละเลงบนกำแพง เติมสีสัน วาดลวดลาย เปลี่ยนความหม่นมัวของผนังแตกร้าวให้กลับมามีชีวิตชีวา
หลังภารกิจลุล่วง เขาสลายตัวไปพร้อมกับความมืด ทิ้งไว้เพียงร่องรอยของงาน ‘กราฟฟิตี้’ (graffiti) ให้ผู้คนสงสัยเล่น
เพียงชั่วข้ามคืน งานศิลปะข้างถนนก็ปรากฏสู่สายตาชาวเมืองที่นั่งรถเมล์ผ่านไปมา บ้างโผล่อยู่ตามซอกโน้นซอยนี้ ข้างป้ายรถเมล์ ใต้สถานีรถไฟฟ้า ทางเดินเลียบคลองแสนแสบ กระทั่งเรียกได้ว่าเกือบจะทั่วบ้านทั่วเมือง จนหลายคนนึกสงสัย – หมอนี่เป็นใครกัน?
ดูจากลายเส้นที่ปรากฏ บ่งบอกถึง ‘ลายเซ็น’ อันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้พอจะประเมินได้ว่า มนุษย์คนนี้คงไม่ใช่จิ๊กโก๋มือบอนธรรมดาๆ
ในแวดวงสตรีทอาร์ต เรียกเขาว่า ‘อเล็กซ์ เฟซ’ (Alex Face)
เด็กหญิงมาร์ดี
แดดเปรี้ยงยามบ่าย เราพบ อเล็กซ์ เฟซ บนเครนสูงราวตึกสามชั้น เขากำลังเมามันกับการละเลงภาพการ์ตูนเด็กหญิงหน้าตายู่ยี่บนผนังตึกเก่าข้างสถานีรถไฟฟ้าราชเทวี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดนิทรรศการกลางแจ้งที่ชื่อ ‘บุกรุก’ ภายใต้การรวมตัวกันของเหล่าสตรีทอาร์ตติสท์ ทั้งไทยและเทศเกือบ 30 ชีวิต
อเล็กซ์บอกกับเราว่า อันที่จริงเขาไม่ค่อยพึงใจนักกับการแสดงงานที่ต้องอยู่ภายใต้กรอบและข้อจำกัดที่มีผู้อื่นกำหนดให้ เพราะสตรีทอาร์ต ของแท้มันต้องออกไปเผชิญโลกใต้ดินโดยลำพัง ออกไปผจญกับสถานการณ์เฉพาะหน้า โดยเฉพาะในยามวิกาลที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น นั่นคือความท้าทายในการทำงาน
มันต้องลักลอบทำหรือแอบทำ มันถึงจะสนุก แล้วถ้าวันไหนที่ออกไปพ่นสีแล้วรอดกลับมาบ้านได้ ไม่โดนจับ มันรู้สึกเหมือนกับว่า…เยสสส…พิชิตแล้ว
เขาทำท่ากำหมัดเหมือนนักฟุตบอลฉลองชัยเวลายิงเข้าประตู
สำหรับเขา คำว่า ‘ศิลปะ’ ไม่จำเป็นต้องอยู่บนเฟรมผ้าใบหรืออยู่ในแกลเลอรีเสมอไป แต่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกๆ หนแห่งที่มี ‘ที่ว่าง’ และจินตนาการ แต่หากจะเรียกขานเขาว่า ‘ศิลปิน’ ก็อาจฟังดูสูงส่งและอหังการเกินไป เหตุผลเดียวที่ทำให้เขาลุกขึ้นมาขีดๆ เขียนๆ พ่นๆ เพียงเพราะว่า ชอบวาดรูป – ก็เท่านั้น
อเล็กซ์ชอบวาดรูป วาดการ์ตูนมาตั้งแต่เด็กๆ จนเส้นทางชีวิตนำพาไปสู่รั้วคณะสถาปัตยกรรม ภาควิชาวิจิตรศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ช่วงชีวิตวัยคะนองเมื่อราว 10 กว่าปีก่อนนี่เองที่อเล็กซ์เริ่มหลุดเข้าไปในวงโคจรของสตรีทอาร์ต มารู้สึกตัวอีกทีก็พบว่า งานกราฟฟิตี้ของตัวเองไปโผล่อยู่ทั่วทุกตรอกซอกซอย
“ตอนนั้นเพื่อนซื้อหนังสือเกี่ยวกับงานกราฟฟิตี้ของพวกอเมริกันมาให้ดู ก็เริ่มรู้สึกว่า เฮ้ย…มันเจ๋งมาก ผิดกับสิ่งที่เราเรียนในห้องเรียน ซึ่งทุกอย่างจะต้องละเอียด พิถีพิถันทุกขั้นตอน แต่พอมาเจองานกราฟฟิตี้ก็รู้สึกได้ทันทีว่ามันใช่ มันเหมือนได้ทลายมิตินั้นออกไปเลย เพราะมันทำได้เร็ว ไม่ต้องการความเนี้ยบอะไรมาก คิดอะไรได้ก็พ่นไปเลย” นั่นคือช่วงเวลาที่เขาสัมผัสได้ถึงวิถีขบถของชาวสตรีทอาร์ต และการแหวกเฟรมผ้าใบไปสู่การแสดงงานข้างถนน
ยุคนั้นกระแสกราฟฟิตี้กำลังเฟื่องฟูพร้อมๆ กับการไหลบ่าของวัฒนธรรมฮิพฮอพ ประกอบกับหลังยุคฟองสบู่แตก ตึกร้างผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด หมู่วัยรุ่นจึงนิยมรวมตัวกันที่นั่น บ้างเข้าไปเล่นสเก็ตบอร์ด บ้างเข้าไปพ่นสีสเปรย์ โดยส่วนใหญ่มักพ่นชื่อฉายาตัวเองหรือชื่อแก๊งต่างๆ นานา เรียกกันว่าสาย ‘ฟอนท์’ หรือ Letter Style กับอีกสายหนึ่งคือพ่นเป็นรูปภาพ หรือที่เรียกว่า Character Style
อเล็กซ์ก็ไม่ต่างกับวัยรุ่นคนอื่นๆ เขาเองเคยหลงใหลได้ปลื้มกับการพ่นชื่อเสียงเรียงนามตัวเองบนกำแพง เพราะงานกราฟฟิตี้แท้จริงแล้วก็คือ การสำแดงตัวตน ประกาศศักดา ประกาศอาณาเขต
“ตอนแรกผมก็บ้าไปตามกระแสอัตตา มันเหมือนรู้สึกภูมิใจอะไรบางอย่างที่ได้เห็นชื่อตัวเองเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด แล้วก็ยึดติดกับมันอยู่นาน ยิ่งเมื่อก่อนนี้ผมค่อนข้างจะเมาหนักอยู่พอสมควร ถ้าซดเบียร์เข้าไปเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครหยุดผมได้ ผมไม่สนใจเลยว่าคนรอบข้างจะมองยังไง ถ้าคิดจะพ่นก็พ่นเลย” เขาสารภาพและยอมรับว่า ชีวิตในช่วงวัยนั้นเรียกได้ว่า ‘เกรียน’ พอสมควร
เมื่อถึงจุดหนึ่ง เขาเริ่มเบื่อหน่ายกับรูปแบบกราฟฟิตี้ที่ซ้ำซากจำเจ ประกอบกับพื้นฐานทางศิลปะที่สู้อุตส่าห์ร่ำเรียนมา ทำให้ฉุกคิดถึงการทำงานที่สร้างสรรค์มากขึ้นและค่อยๆ พัฒนาฝีมือตัวเอง เริ่มจากการสร้างคาแรคเตอร์ในแต่ละชิ้นงานด้วยการพ่นเป็นรูปหน้าคนที่ดูมีมิติและใส่ฝีมือชั้นเชิงมากขึ้น
“พอทำไปสักพักผมก็เริ่มคิดว่า งานกราฟฟิตี้มันควรจะมีแมสเสจอะไรบางอย่างที่จะสื่อสารกับคนทั่วไปได้ ไม่ใช่แค่โชว์อัตตาอย่างเดียว แต่น่าจะแชร์อะไรกันได้บ้าง เพื่อให้คนที่นั่งรถเมล์ผ่านไปมามีอารมณ์ร่วมไปกับงานเรา หรืออย่างน้อยก็ต้องเกิดคำถามขึ้นมาบ้างล่ะ”
จนกระทั่งในวันที่ ‘มาร์ดี’ ลูกสาวของเขาลืมตาขึ้นมาดูโลก แววตาของทารกน้อยที่ดูเหมือนกำลังสับสนกังวลกับโลกใบใหม่ของเธอ ทำให้เกิดคำถามมากมายประดังเข้ามาในหัวของอเล็กซ์ – ทำไมเด็กผู้หญิงคนนี้จึงมีสีหน้าเคร่งเครียดนัก โตขึ้นเธอจะต้องพบเจอกับอะไรบ้าง และอนาคตจะเป็นอย่างไร?
เพราะเหตุนี้ ใบหน้าอ้วนกลมระคนสงสัยของมาร์ดีจึงส่งอิทธิพลไปถึงชิ้นงานของเขาโดยตรง จนทุกวันนี้ภาพของเด็กหญิงมาร์ดีได้กลายเป็นที่จดจำสำหรับคนทั่วไปที่พบเห็นตามรายทางและเป็นลายเซ็นของอเล็กซ์ไปแล้วโดยปริยาย
ศัตรูหมายเลข 1
เมื่ออเล็กซ์เติบโตข้ามพ้นวัยคะนองและมองย้อนกลับไปยังแวดวงศิลปะอันเดอร์กราวด์ เขามองว่าช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา งานกราฟฟิตี้ในเมืองไทยยังไม่มีพัฒนาการก้าวหน้าเท่าที่ควร หลายคนยังคงมีความสุขอยู่กับการพ่นชื่อตัวเอง และสำหรับบางคนอาจเพียงแค่เดินตามกระแสแฟชั่น เห็นได้จากคนทำงานศิลปะจำนวนหนึ่งที่กระโจนเข้าสู่งานสตรีทอาร์ต และพร้อมจะประกาศตัวว่าเป็นสตรีทอาร์ตติสท์ แม้ว่าวิถีชีวิตจริงอาจไม่เคยสัมผัสรสชาติดิบเถื่อนข้างถนนมาก่อนก็ตาม
“คุณสมบัติของสตรีทอาร์ตติสท์ ข้อแรกก็คือ คุณต้องลงไปทำงานข้างถนนจริงๆ และมีผลงานปรากฏอยู่จริง เพราะความท้าทายในการทำงานแบบนี้บางครั้งก็เหมือนการออกรบแบบกองโจร ต้องหิ้วอุปกรณ์ไปกลางค่ำกลางคืน ทำงานเสร็จก็รีบเผ่น แล้วรอให้คนมาเห็นผลงานตอนเช้า”
ความตื่นเต้นท้ายของงานกราฟฟิตี้ นอกจากจะต้องทำงานด้วยความรวดเร็วฉับไวภายใต้เงื่อนไขเวลาอันจำกัดแล้ว บางครั้งต้องอาศัย ‘ฝีปาก’ ในการเจรจาพาทีหากเจอเจ้าหน้าที่หรือเจ้าของที่ ยิ่งกว่านั้นอาจต้องอาศัย ‘ฝีตีน’ ในบางจังหวะ
“โลกของชีวิตกลางคืนมันมีอะไรที่น่ากลัวกว่าตำรวจอีกมาก อย่างพวกอันธพาล เด็กแว้น ขี้ยา ผมเองเคยเกือบโดนไล่กระทืบอยู่หลายครั้ง เพราะดันไปพ่นกำแพงบ้านนายทหาร พอเขาสืบจนรู้ว่าผมเป็นใคร ผมก็เริ่มรู้สึกว่าชีวิตไม่ปลอดภัยแล้ว จนสุดท้ายต้องย้ายบ้านหนี”
อเล็กซ์เปรียบเปรยให้ฟังว่า การทำงานกราฟฟิตี้ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องเผชิญกับมุมมืดเหล่านี้ในสังคม ทว่าศัตรูหมายเลข 1 ของสตรีทอาร์ต หาใช่ตำรวจ เทศกิจ รปภ. หรือเจ้าของที่ แต่กลับเป็นนักทำลายล้างในวงการกราฟฟิตี้ด้วยกันเอง หรือที่เรียกกันว่า ‘บอมบ์เบอร์’
หากว่ากันตามกฎ-กติกา-มารยาทของชาวกราฟฟิตี้ มีแนวปฏิบัติอย่างหนึ่งที่ยึดถือกันว่า การพ่นทับชิ้นงานของผู้อื่นจะกระทำมิได้ ยกเว้นว่างานชิ้นใหม่จะต้องเจ๋งกว่า เหนือชั้นกว่า แต่โชคร้ายที่กราฟฟิตี้ชาวไทยมักจะไม่เคารพกติกา
“ถ้าจะพ่นทับคนอื่นจะต้องทำให้ดีกว่าเดิม เพียงแต่ว่าบ้านเรากลับไม่มีใครทำตามกฎนี้เลย พวกบอมบ์เบอร์แบบนี้แหละที่จะทำให้วงการกราฟฟิตี้เสื่อม เพราะมันทำให้ดูสกปรก ไปพ่นทับงานคนอื่นจนเละหมด ขณะที่อุดมการณ์ของผมคือ ต้องการเปลี่ยนพื้นที่เสื่อมโทรมรกร้างให้มันสวยขึ้น ไม่ใช่แย่ลง” อเล็กซ์พึมพำอย่างเสียอารมณ์
จากใต้ดินสู่บนดิน
ชีวิตอีกภาคหนึ่งของอเล็กซ์ เฟซ หรือ พัชรพล แตงรื่น หนุ่มวัย 30 ต้นๆ มิได้หลบๆ ซ่อนๆ อยู่แค่ในโลกศิลปะใต้ดิน ทุกวันนี้เขาออกมายืนกลางที่แจ้งด้วยการจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งที่ 2 ชื่อชุด ‘The Underground Adventure 2012’ เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา เป็นการนำเสนอผลงานทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะการจัดวาง และสื่อวิดีทัศน์
แน่นอนว่า มาร์ดีคือผู้อยู่เบื้องหลังของแรงบันดาลใจในการสร้างงาน
อาจเป็นเพราะเรามีลูกด้วย ทำให้เราโตขึ้น มองอะไรกว้างขึ้น ถ้าไม่มีลูก ผมก็อาจจะเรื่อยๆ เปื่อยๆ เหมือนเดิม แต่หลังจากนี้ผมจะไม่ยอมเสียเวลาอีกต่อไป ถ้าเราเต็มที่กับมันแล้ว เจ๊งก็เจ๊ง ได้ก็ได้
แม้วันนี้ชื่อของอเล็กซ์จะถูกเลื่อนชั้นขึ้นมาอยู่บนดิน ถีบตัวเองขึ้นมาเป็นศิลปินเต็มขั้น แต่ก็ใช่ว่าเขาจะหลงลืมกลิ่นอันเดอร์กราวด์
“ถ้าขายรูปได้ ผมก็จะมีเงินเอาไปทำงานสตรีทอาร์ตของผมต่อ แล้วผมจะทำให้มันอลังการยิ่งกว่าเดิมอีก” อเล็กซ์เผยรอยยิ้มุมมปาก
ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม…แต่นาทีนี้เขากำลังตกเป็นเป้าของบอมบ์เบอร์ซะแล้ว