เพื่อผลักตัวเองออกจากความเศร้า เธอและเขาจึงเต้นสวิง

ภาพ: ชลิตา สุนันทาภรณ์/คีรีบูน วงษ์ชื่น
ภาพประกอบ: Shhhh

 

ทำไมคุณจึงเต้นสวิง?

ถามใหม่อีกครั้ง คุณคิดภาพการเต้นตามขนบนิยมว่าอย่างไร? ผู้ชายในสูทครบชิ้นโอบประคองคู่และนำทิศทางคู่ของเขาให้ขยับและก้าวตาม ถ้าเผลอเหยียบเท้ากันเข้า ก็เท่ากับเธอนั้นช่างเงอะเงิ่น และไม่โอนอ่อนผ่อนตามจังหวะการก้าวนำของคู่ตรงข้ามเอาเสียเลย

แต่เต้นสวิงไม่ใช่แบบนั้น เพราะมันคือการปล่อยให้คู่เต้น-ไม่ว่าจะหญิง-ชาย หญิง-หญิง ชาย-ชาย หรือกระทั่งเต้นกันให้ครบคู่เวียนกันตลอดทั้งฟลอร์ – ได้ออกไปเต้นกันให้สุดตัว ทั้งผลักดึง เหนี่ยวรั้ง โหนตัว กระทั่งหมุนตัวสี่ห้าตลบ มันคือการเต้น แต่มันคือการเต้นอย่างสุดตัวและเป็นอิสระ

ทำไมคุณจึงเต้นสวิง?

ถามใหม่อีกครั้ง ทำไมคุณต้องมาดูคนเต้นสวิง หรือภาพยนตร์สารคดีอย่าง Alive and Kicking สุขสวิง!! ด้วย

เพื่อตอบคำถามนี้ เย็นวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา Documentary Club ร่วมกับ Bangkok Swing จัดเวที Doc+Talk ที่บริเวณโรงภาพยนตร์เอสเอฟเวิลด์ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์ โดยเชิญนักเต้นและผู้ร่วมก่อตั้ง Bangkok Swing ชุมชนสวิงแดนซ์ในเมืองไทยอย่าง โน้ต-มาลียา โชติสกุลรัตน์ โอ๊ต-ชยะพงศ์ นะวิโรจน์ และ แบงค์-นิทัสน์ อุดมดีพลังชัย สมาชิกกลุ่ม Bangkok Swing ขึ้นวงพูดคุย แต่ทีเด็ดจริงๆ แล้ว คือฟลอร์สวิงท้ายงานนั่นต่างหาก!!!

ทำไมคุณจึงเต้นสวิง?

“เราเต้นสวิงเพราะไปช็อบปิ้งเสื้อผ้าวินเทจมือสอง ตอนเราเรียนอยู่ที่ลอนดอน เพราะคนที่รักของเก่า ไม่ใช่แค่ชอบของเก่าใช่มั้ย แต่คือบรรยากาศ ชุมชน และเรื่องเล่าของมัน” จุดเริ่มต้นของมาลียาอาจง่ายดายแค่เพียงนี้ แต่เธอเล่าให้เห็นบรรยากาศของชุมชนต่างประเทศว่า ส่วนใหญ่แล้ว ถ้ามีตลาดเสื้อผ้ามือสองที่ไหน ก็มักจะมีคนเต้นสวิงอยู่ข้างๆ กัน

ไม่ต้องเข้าไปเต้นในคลับบาร์หรูหรา เพียงมีเครื่องดนตรี พื้นที่ และคนที่ทนไม่ไหวกับบีทแจ๊สชวนเต้นเคลื่อนโยกร่างกายนั้น ทุกคนก็ออกมาเต้นกันได้

“และจริงๆ จุดเริ่มต้นของสวิงแดนซ์มาจากข้างถนน จากกลุ่มคนผิวสีที่เหนื่อยล้าจากการทำงานและการแบ่งแยกทางสังคม วัยรุ่นผิวสีจำนวนหนึ่งออกมาเต้นในช่วงค่ำ และเมื่อวัยรุ่นผิวขาวเห็นแบบนั้น เขาก็อยากจะปลดปล่อยความสนุกแบบนั้นบ้าง จึงค่อยเริ่มแพร่หลายไปยังกลุ่มวัยรุ่นผิวขาวมากขึ้น

“แต่ที่พวกเขารู้สึกชอบใจ เพราะมันมาพร้อมกับความรู้สึก ‘ไม่อยากถูกครอบงำจากคู่เต้นซึ่งเป็นผู้ชาย’ อีกแล้ว”

ชยะพงศ์และนิทัสน์เสริมว่า ช่วงเวลาของการเริ่มต้นอยู่ที่ปี 1920 ซึ่งนั่นใกล้เคียงกับจุดเวลาบนเส้นประวัติศาสตร์ ที่ผู้หญิงเริ่มไม่อยากอยู่ในกรอบที่ผู้ชายขีดขึ้นอีกแล้วด้วย 

ทำไม ‘พวกเขา’ จึงเริ่มเต้นสวิง

เริ่มจากกลุ่มคนดำก่อน เริ่มต้นในช่วงสมัยสงคราม ในสมัยที่พวกเขายังถูกแบ่งแยกจากสีผิว ผู้คนจำนวนหนึ่งเก็บหอมรอมริบเพียงเพื่อจะออกไปเต้นกันให้สุดเหวี่ยงในคลับย่านฮาร์เล็ม (Harlem) เพราะไม่มีอะไรจะช่วยผ่อนคลายความทดท้อใจและความกดดันได้เท่ากับเรื่องเล่าในบทเพลง ในบีทจังหวะ ในเพลงแจ๊ส ในเพลงบลูส์ และแน่นอนที่สุด…ในการเต้นอย่างสุดชีวิตเช่นนั้นอีกแล้ว

แต่แล้วสวิงแดนซ์ก็หายไปราวกับไม่เคยมีชุมชน มีกิจวัตรเช่นนี้มาก่อน

“ฉันจะทำอะไรได้ ก็ต้องทำงานน่ะสิ”

คือปากคำของ นอร์มา มิลเลอร์ (Norma Miller) หญิงชราผิวสีที่เคยเห็นและอยู่ในชุมชนที่สวิงแดนซ์เบิกบาน ภาพยนตร์อธิบายเพิ่มเติมคำตอบของเธอว่า เพราะช่วงนั้นสงครามยุติลง ผู้คนต้องกลับมาใช้ชีวิตปกติ พวกเขาเริ่มสร้างครอบครัวและชีวิตครั้งใหม่ หลังจากที่ถูกทำให้หายไปเพราะสงคราม 

และไม่ใช่ร่องรอยหลักฐานทั้งหมดหายไปกับภัยสงคราม เพราะมีเทปและภาพชุมชนสวิงแดนซ์จำนวนหนึ่งเก็บรักษาไว้ได้ และมันถูกเปิดอีกครั้งราวปี 1980 บรรยากาศขาวดำในเทปชุดนั้น เร้าใจเพียงพอที่จะให้บรรพบุรุษของพวกเขา กลับไปสร้างชุมชนเช่นนั้นอีกครั้งหนึ่ง

นอร์มา มิลเลอร์ นักเต้นสไตล์ ‘ลินดี้ ฮ็อบ เป็นที่รู้จักในฐานะ Queen of Swing
สวิงแดนซ์ส่งท้ายก่อนกลับบ้าน

ทำไม ‘คนจำนวนหนึ่ง’ จึงเต้นสวิง

คำถามถูกจุดขึ้นบนเวที ทำไมเรา – คนไทย คนเอเชีย – จึงเต้นสวิง จึงรู้สึกร่วมกับวัฒนธรรมเช่นนั้น

“มันเหมือนการเต้นลูกทุ่ง เหมือนชุมชน” มาลียาตอบไว้เช่นนั้น และอธิบายว่า ถ้าเหตุผลที่คนต่างประเทศเต้นสวิงกันราวกับทักษะนั้นอยู่ในสายเลือด นั่นก็เพราะมันคือประวัติศาสตร์ของเขา คือเรื่องเล่า คือมุมมอง คือชีวิต

“แต่เมื่อวัฒนธรรมกระจายมาสู่แถบเอเชีย ในกลุ่มบ้านเรา แน่นอนว่ามุมมองของเราต่อสวิงแดนซ์ก็อาจเปลี่ยนไป ไม่เหมือนกัน คาแรคเตอร์กลุ่ม ก็ขึ้นกับคนในชุมชนสวิงแดนซ์นั้นๆ ด้วย”

แต่ถ้าความหลากหลาย คือคุณค่าของวัฒนธรรมที่แตกต่าง และความสนุกจากเสียงเพลงอาจไม่ใช่เรื่องเฉพาะพื้นที่ ดังนั้นแล้ว การรู้สึกทนไม่ไหวกับจังหวะ กับความสดใส กับจังหวะเพลงที่ชวนให้ทิ้งทุกอย่างเพียงแค่ออกเต้น เท่านั้นก็ดูจะเพียงพอให้ลุกขึ้นมาเต้นอย่างสุดเหวี่ยงได้

อีกครั้ง… ทำไมคุณจึงเต้นสวิง?

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า