เรื่อง/ภาพ: ณิชากร ศรีเพชรดี
พลังงานหมุนเวียนเป็นความคิดสวยหรูเฉพาะแอคทิวิสต์หัวก้าวหน้า การลงทุนกับพลังงานหมุนเวียนมันแพงเสียจนไม่คุ้มค่ากับการลงทุน หรือ เปิดแอร์วันนี้ สบายเดี๋ยวนี้เลย
วาทกรรมอะไรอีกที่ในอยู่ในความคิดเรื่องการพัฒนาพลังงานของไทย?
‘มองอนาคตพลังงานไทย…เราควรถกกันเรื่องอะไร?’ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา คือเสวนาที่ต่อยอดจากหนังสือเรื่อง มายาคติพลังงานไทย หนังสือและเสวนาที่ชวนผู้เข้าร่วมงานกลับไปทบทวนมายาคติ ที่บล็อกความคิด ไม่ให้เราจินตนาการไปถึงนวัตกรรมที่ดีกว่าในเรื่องพลังงานสะอาดได้
ผูกขาดแถมยังประกันกำไร
ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน นักวิชาการอิสระด้านนโยบายและการวางแผนพลังงาน เริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงแนวคิดเชิงนโยบายชั้นแรกของรัฐ ที่ทำให้การพิจารณาและประตูของการแข่งขันในเชิงพลังงานสะอาดของเอกชนถูกปิดลง
“เหตุผลหนึ่งที่รัฐปิดประตูไม่รับพิจารณานโยบายเรื่องเพิ่มการผลิตพลังงานหมุนเวียน ไม่ใช่ว่าเอกชนไม่สนใจลงทุน หรือมีค่าใช้จ่ายสูงเสียจนเอกชนไม่สนใจ แต่เป็นเพราะรัฐอนุมัติแผน PDP ในปี 2015 ไปกับโควตาสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จำนวนมากแล้ว”
PDP หรือ Power Development Plan คือแผนการจัดหาพลังงานไฟฟ้าระยะยาว 15 -20 ปี โดย PDP ปี 2015 รัฐบาลอนุมัติโควตาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 โรง, ก๊าซธรรมชาติ 15 โรง, นิวเคลียร์ 2 โรง, กังหันแก๊ส 5 โรง และนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศอีกกว่า 10,000 เมกะวัตต์ เหล่านี้ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นราว 2 เท่า คือจากกำลังผลิตสำรอง 15 เปอร์เซ็นต์ ไปเป็น 30 เปอร์เซ็นต์
หากตัดดราม่าเรื่องพลังงานสะอาดออกไป มองเฉพาะนโยบายเพิ่มกำลังผลิตสำรองไฟฟ้า คำถามที่ตามมาอาจอยู่ที่ว่า ถ้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง มันจะเป็นปัญหาตรงไหน ไม่ใช่ว่าเผื่อเหลือดีกว่าเผื่อขาดหรอกหรือ?
เพราะการผลิตอย่างล้นเกินคือการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น และหากย้อนกลับไปดูโครงสร้างการจัดการไฟฟ้าของรัฐจะเห็นว่ากฟผ. มีลักษณะผูกขาด ไม่เท่านั้น มันยังมีกลไกเรื่องการประกันกำไรด้วย
การประกันกำไร คือเกณฑ์ในการกำหนดค่าไฟ โดยใช้ผลตอบแทนจากเงินลงทุน (Return on Invested Capital) ด้วยแนวคิดที่ว่ากำไรของ กฟผ. หลังจากหักภาษีเเล้วจะต้องคิดเป็นประมาณ 6.4 เปอร์เซ็นต์ และ กฟภ. 5.8 เปอร์เซ็นต์
“หมายความว่า ไม่ว่า กฟผ. มีต้นทุนสูงแค่ไหน มันก็จะส่งกลับมาที่เราแน่นอน เพราะเราไปซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายอื่นไม่ได้”
ไม่เฉพาะปัญหา ‘ผูกขาดแถมยังประกันกำไร’ ปัญหาทางโครงสร้างผู้ประกอบการอีกประการ คือปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ตัวอย่างที่ชื่นชมยกขึ้นมาอธิบาย คือกรณีบริษัทลูกอย่าง บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จํากัด (มหาชน), บริษัท เอ็กโก กรุ๊ป และ บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด มีรายชื่อของอดีตกรรมการ กฟผ. ไปเป็นกรรมการของรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นกว่าครึ่ง
“บริษัทลูกของ กฟผ. เหล่านี้ได้เข้าไปทำธุรกิจกับบริษัทต่างประเทศ แล้วสุดท้ายก็เอากลับมาเสนอกับบริษัทแม่ พอจะนึกภาพออกไหมคะว่า…” เสียงของชื่นชมหายไป ก่อนที่จะตามมาด้วยเสียงหัวเราะขื่นดังขึ้นในห้องประชุม
“ฉะนั้น ปัญหาหนึ่งที่ถึงเวลาต้องพูดกันเสียที คือการกลับไปดูการกำกับดูแลนโยบายรัฐ การเปิดให้มีการตรวจสอบ และต้องตรวจสอบทั้งรัฐและก็ผู้กำกับดูแลหรือองค์กรกลางด้วย
“สิ่งที่ดิฉันขอย้ำ คือแนวคิด มายาคติ หรือวาทกรรมที่ว่า ต้นทุนการผลิตพลังงานหมุนเวียนมันแพงเสียจนไม่ใครลงทุน มันไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว มันถูกลงจนพอที่จะแข่งขันกับก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหินได้ ถ้าเพียงแต่ประตูในการพิจารณาของรัฐจะไม่ถูกปิดลง”
รัฐต้องยอมปล่อยวาง
ในฐานะตัวแทนของรัฐวิสาหกิจ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มองว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐต้องถอยไปเป็นเพียงผู้กำหนดแนวทางที่สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันในภาคเอกชน
“ครั้งหนึ่งกระทรวงพลังงานเคยจัดให้ทำ Wind Map หรือแผนที่บ่งศักยภาพของลม แผนที่ตัวนั้นบอกว่าในพื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพต่อการพัฒนาพลังงานลม และชี้ว่าในพื้นที่เขตภาคอีสานและภาคเหนือไม่อาจพัฒนาพลังงานชนิดนี้ได้ แต่ตอนนี้เราเห็นกังหันลมที่ห้วยบง ขณะที่ในพื้นที่ภาคใต้ยังไม่เกิดการพัฒนาพลังงานลมเท่าที่ควร
“ผมไม่ได้บอกว่าการเซอร์เวย์ของรัฐผิดพลาด แต่ต้องการจะชี้ประเด็นว่า รัฐต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เห็นข้อมูล อนุญาตให้เอาวิจัยไปพัฒนาต่อ สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันในเรื่องพลังงาน ไม่กำหนดกฎเกณฑ์หรือติดยึดว่าสิ่งที่รัฐเสนอมานั้นคือจุดสิ้นสุด ที่สุดท้ายแล้วปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างเต็มที่”
ปิยสวัสดิ์ กล่าวถึงมายาคติในวงการพลังงาน กับประเด็นสุดฮิตที่รัฐมักกล่าวว่า ‘พลังงานหมุนเวียนยังไม่ใช่คำตอบ เพราะไม่มีสายส่งไฟฟ้าเนื่องจากสายส่งเต็ม’
“มันเต็มครับ แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าเต็มหรือไม่เต็ม มันอยู่ที่การบริหารจัดการ”
ในมุมมองของปิยสวัสดิ์ เขาเห็นว่าการบริหารจัดการก็ต้องกลับไปคาบเกี่ยวกับการทำให้ระบบเกิดการแข่งขันเสรี และเพราะการแข่งขันจะนำไปซึ่งการพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เหตุผลอีกประการที่เห็นว่าควรปล่อยให้เอกชนเข้ามามีบทบาท คือเหตุผลเรื่องความเสี่ยงในการลงทุน
“อย่าให้รัฐเอาภาษีของประชาชนไปลงทุนในโครงการที่เสี่ยง เว้นแต่เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ในแง่การค้นคว้าหรือเป็นภัยต่อความมั่นคง อีกกรณีคือเป็นโครงการที่เสี่ยงมากเสียจนไม่มีเอกชนใดเข้ามาจัดการ เพื่อที่จะให้ความเสี่ยงนั้นกระจายลงไปในภาคเอกชน เพราะด้วยหลักการของการแข่งขัน อย่างไรก็ตามภาคเอกชนก็จะประคับประคองสถานการณ์ ที่สุดท้ายแล้วประชาชนย่อมได้ผลประโยชน์สูงสุด”
ข้อเสนออีกประการของประธานกรรมการบริษัท ปตท. ในเรื่องที่จะทำให้พลังงานหมุนเวียนมีการพัฒนาและใช้ได้จริงในไทย คือการที่รัฐต้องกำหนดนโยบายพลังงานที่สะท้อนต้นทุนจริง หรือการกำหนดมาตรการ Carbon Tax
“สุดท้ายแล้วหัวใจของการผลักดันแนวคิดพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ได้จริง คือการที่รัฐลดบทบาทลงไปเป็นแต่เพียงผู้กำหนดนโยบาย รวมกับแนวคิดเรื่อง Carbon Tax รวมกับการเปิดให้มีการวิจัยทดลองในสนามจริง เหล่านี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการนำไปสู่แนวคิดเรื่องพลังงานที่แท้จริงในที่สุด”
4 ห้องหัวใจในการปฏิรูปพลังงาน
มองมายาคติเรื่องพลังงานจากมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า หัวใจในการกำหนดอนาคตพลังงานไทย มีหลักใหญ่ใจความอยู่สี่เรื่องคือ เทคโนโลยี, การให้คุณค่า, การกำกับดูแลของภาครัฐ และผู้ประกอบการ
“ผมไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งเฟซบุ๊คจะเข้ามาอยู่ในชีวิตผม (หัวเราะ) คือผมจะชี้ว่า โลกเราพัฒนามาถึงจุดที่ไม่มีใครอีกแล้ว ที่จะไม่เชื่อว่าการพัฒนาเรื่องพลังงานสะอาดจะไม่เกิดขึ้นจริง สำหรับคำถามที่ว่า เมื่อไรการพัฒนาเรื่องพลังงานในบ้านเรา จะเกิดการพลิกโฉมได้จริงเสียที มันอาจจะเป็นเรื่องง่ายๆ แค่การพัฒนาของเทคโนโลยีที่เรียกว่า Disruptive Technology หรือการพัฒนาเครื่องมือ โดยการมองไปยังปัญหาที่ผู้บริโภคประสบ และค่อยๆ แก้และเริ่มจากจุดนั้น”
และการจะพัฒนาเทคโนโลยี หรือ Disruptive Technology ที่จะนำไปสู่การพลิกโฉมที่แท้จริงได้ คือต้องไปดูว่าการพัฒนานั้นมันจะนำไปสู่ ‘การเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนโครงสร้าง’ อะไรบ้าง
“ยกตัวอย่างจากนวัตกรรมโทรศัพท์ การเปลี่ยนจาก 3G มาเป็น 4G ทางผู้ให้บริการเปลี่ยนระบบเครือข่าย ผู้ใช้บริการได้ใช้เทคโนโลยีที่ดีกว่าเดิม แต่ขณะเดียวกันจำนวนผู้ให้บริการก็ยังมีจำนวนเท่าเดิม หมายความว่าการพัฒนาของเทคโนโลยี มีผลทำให้โครงสร้างการให้บริการเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยน คือจำนวนผู้ให้บริการ”
โดยการพัฒนาเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นได้ มีความเกี่ยวพันกับหัวใจห้องที่สอง ‘การให้คุณค่าของประชาชน’
“สมมุติถ้าผมเกิดความไม่สบายใจกับการใช้บริการจากพลังงานถ่านหิน ผมกลับมาประเมินว่า เฉพาะการบริโภคที่บ้านผมหลังเดียว ผมต้องปลูกต้นไม้เพื่อทดแทนพลังงานที่เสียไปอย่างไร และลองเปรียบเทียบกับถ้าผมติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้พลังงานสะอาด ผมจะสามารถรับบริการจากใครได้บ้าง ใครจะเป็นผู้ให้ข้อมูล การพิจารณาตรงนี้มันเกิดจากการเลือกหรือไม่เลือกอะไร ด้วยไปกระทบกับคุณค่าที่ผมตั้งไว้ และเอากลับไปประเมินร่วมกับข้อมูลที่มี”
เดชรัตย้ำว่า การให้คุณค่าของแต่ละคนไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นพ้องต้องกัน เพียงแต่มันคือตัวชี้ขาดว่าเทคโนโลยีแบบใดจะมาเร็วหรือช้า ด้วยกติกาและกระบวนการที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างไร
ในเรื่องเทคโนโลยีและคุณค่า เดชรัตเห็นว่าสองอย่างนี้จะกลับไปผูกโยงกับหัวใจห้องที่สาม ‘การกำกับการดูแลของรัฐ’
“อาจจะเป็นการพูดซ้ำซาก แต่มันเป็นประเด็นเชื่อมโยงที่เรายังไม่เห็นการพัฒนาหรือแก้ไขเท่าไร คืออำนาจหรือการกำกับดูแลของภาครัฐ นโยบายการสนับสนุน กระทั่งการดูแลควบคุม ซึ่งมันจะเชื่อมโยงกลับไปยังปัจจัยเรื่องสุดท้าย คือปัจจัยเรื่องผู้ประกอบการ”
ผู้ให้บริการขนส่ง ผู้ผลิต ผู้รับซื้อ ผู้ให้บริการด้านการเงิน ฯลฯ เหล่านี้คือผู้ประกอบการในฐานะที่เป็นผู้ผลักดันทำให้ระบบครบวงจร ทำให้เกิดการแข่งขัน และผลักดันไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีได้
ก่อนที่วงสนทนาจะจบลง ชื่นชมทิ้งท้ายต่อวาทกรรมเรื่อง ‘การแก้ปัญหาพลังงานคือการบอกให้ผู้บริโภคประหยัดไฟ’ ว่า
“การแก้ปัญหาเรื่องพลังงาน ไม่ใช่ปัญหาเรื่องจิตสำนึก เพราะมันเป็นปัญหาในเชิงนโยบาย รวมทั้งสถานการณ์ปัจจุบัน คือการที่ไฟฟ้าถูกทำให้เป็นสินค้าไป แต่ความจริงพลังงานเป็นสาธารณประโยชน์ อีกหนึ่งเรื่องที่อยากจะฝากไว้ คือทุกวันนี้ประเด็นพลังงานหมุนเวียนเป็นแต่เพียงไม้ประดับ ไม่มีการพัฒนา ไม่มีการเอาข้อมูลมาเปรียบเทียบ และมันไม่เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนเชิงนโยบายเลย”