กลางปี 2564 พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ ในฐานะคอลัมนิสต์ WAY ถูก พงศ์ศิริ คิดดี ฟ้องหมิ่นประมาทจากการเขียนบทความวิจารณ์งานศิลปะ
คดีนี้ได้รับความสนใจทั้งจากผู้คนวงการศิลปะ สื่อมวลชน นักวิจารณ์ รวมถึงประชาชนผู้สนใจวัฒนธรรมการวิจารณ์ เนื่องจากผู้เขียนเป็นนักวิจารณ์ที่มีพื้นฐานการศึกษาด้านศิลปะโดยตรง และมีประสบการณ์ทำงานในแกลเลอรี
ส่วนโจทก์ผู้ฟ้อง เป็นอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยดำรงตำแหน่งรองคณบดี
คดีอาญานี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องทั้งสองศาล โดยมีแนวทางคำพิพากษาเป็นไปในประเด็นและทิศทางเดียวกัน
นี่คือบรรทัดฐานแนวทางการตัดสินของศาล หากจะมีคดีทำนองนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
25 มีนาคม 2564 | WAY เผยแพร่บทความ ‘สมบัติชาติหรือสมบัติใคร ภาษีเรา รัฐเอาไปเปย์งานศิลป์ อะไรเนี่ย ถามจริ๊ง’ เขียนโดย พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ วิจารณ์การซื้อผลงานจิตรกรรมของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) โดยจัดซื้อผลงานราคารวม 19 ล้านบาท ผู้เขียนแสดงทัศนะถึงผลงานของ พงศ์ศิริ คิดดี หนึ่งในศิลปินที่ สศร. ซื้อ โดยเปรียบเทียบจากผลงานช่วงปี 2552 กับปี 2562 ว่าเป็นงานที่ไม่มีพัฒนาการทางศิลปะ และใส่วงเล็บในบทความ กำชับบรรณาธิการผู้ตรวจต้นฉบับให้คงตำแหน่ง ผศ.ดร. นำหน้าชื่อพงษ์ศิริ โดยให้เหตุผลว่าคนพวกนี้ไม่พอใจหากไม่ใส่ยศตำแหน่ง |
29 มิถุนายน 2564 | พงศ์ศิริ คิดดี เป็นโจทก์ฟ้อง พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ ที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา |
กรกฎาคม 2564 | WAY แต่งตั้ง ณฐพงศ์ พิทยาภา เป็นทนายจำเลยสู้คดี |
6 มิถุนายน 2565 | พงศ์ศิริ คิดดี ยื่นฟ้อง พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ เป็นคดีแพ่งต่อศาลแพ่งพระโขนง ข้อหาละเมิด และเรียกค่าเสียหาย 1 ล้านบาท ที่สืบเนื่องมาจากข้อหาหมิ่นประมาทในคดีอาญา |
9 พฤศจิกายน 2565 | ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชเบิกตัว ทัศนัย เศรษฐเสรี และ ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำสืบในฐานะพยานจำเลย |
13 ธันวาคม 2565 | ศาลชั้นต้นพิจารณาว่าบทความจำเลย ตั้งข้อสังเกตถึงการคัดเลือกผลงานจิตรกรรมของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ซึ่งใช้เงินงบประมาณแผ่นดินจากภาษีประชาชนร่วม 19 ล้านบาท เป็นสิทธิที่ประชาชนสามารถตรวจสอบแสดงความเห็นได้ ข้อความกำชับให้ใส่ยศตำแหน่งไม่ได้สร้างความเสียหายให้ผู้ถูกพาดพิง ข้อวิจารณ์ผลงานโจทก์ว่าไม่มีพัฒนาการเป็นมุมมองของจำเลย ซึ่ง ทัศนัย เศรษฐเสรี และ ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความว่าการทำงานศิลปะและการวิจารณ์ เปรียบเสมือนกระจกส่องเกื้อกูลกันการวิจารณ์เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนและการปฏิบัติในหลักสูตรคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อให้เห็นว่าการสร้างสรรค์ศิลปะและการถูกวิจารณ์เป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ปกติ และเป็นที่ยอมรับได้ ข้อความที่จำเลยเขียนในบทความตามฟ้องจึงยังไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ ศาลพิพากษายกฟ้อง |
2 กุมภาพันธ์ 2566 | พงษ์ศิริ คิดดี ยื่นอุทธรณ์ |
25 พฤษภาคม 2566 | จำเลยยื่นแก้อุทธรณ์ |
14 พฤศจิกายน 2566 | ศาลอุทธรณ์ภาค 8 นครศรีธรรมราช ยืนยกฟ้องตามศาลชั้นต้น ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 และ 221 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4172/2555 คดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ห้ามมิให้คู่ความฎีกา เว้นแต่ได้รับอนุญาตหรือรับรองให้ฎีกาได้ |
ธันวาคม 2566 | พงษ์ศิริ คิดดี ยื่นขยายเวลาฎีกา 30 วัน ครั้งที่ 1 |
15 มกราคม 2566 | ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่ได้รับเอกสารฎีกาหรือการยื่นขอขยายเวลาฎีกาอีก ถือว่าคดีอาญาถึงที่สุดตามศาลอุทธรณ์ |