ศิลปะ (แม่ง) เป็นเรื่องของเสรีภาพ

 

คำว่า ‘แม่ง’ ที่แทรกกลางระหว่าง ‘อะไร’ กับ ‘ก็เป็นศิลปะ’ ซึ่งเป็นชื่อหนังสือ ART IS ART, ART IS NOT ART: อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ ของ ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ ประหนึ่งคำถามประชดประชันถึงกิจกรรมหรือผลลัพธ์ทางศิลปะที่ดูเหมือนจะไม่เป็นศิลปะ แต่ชิ้นงานศิลปะและแนวคิดในการทำงานของศิลปินที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เลือกมาเล่าก็ค่อนข้างยืนยันว่า กรอบของงานศิลปะเป็นอะไรที่กว้างขวางมาก งานอย่าง Fountain (1917) ของ มาร์แซล ดูชองป์ ที่ภาณุหยิบมาเล่าเป็นบทนำของหนังสือก็ทำให้ผู้อ่านเตรียมรับมือกับการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของงานศิลปะโดยศิลปินร่วมสมัยที่รออยู่ทั้งเล่ม ในเมื่อโถฉี่ได้กลายเป็นงานศิลปะที่มีอิทธิพลต่อแวดวงศิลปะอย่างมากชิ้นหนึ่งของโลก

 

นี่คือสาส์นชั้นต้นของหนังสือเล่มนี้ ‘อะไรก็เป็นศิลปะได้ ถ้า…’

แน่นอนว่ามีหลายเหตุผลที่ค้ำยันถึงกิจกรรมที่ดูไร้สาระอย่างการนอน การนำอุจจาระของศิลปินมาอัดกระป๋อง ฯลฯ ว่าเป็นงานศิลปะ ภาณุเขียนหนังสือเล่มนี้ประหนึ่งคิวเรเตอร์ในพิพิธภัณฑ์งานอาร์ตที่เลือกงานศิลปะมาเล่าให้ฟังถึงแนวคิดของศิลปิน และผลที่งานชิ้นนั้นส่งต่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อแวดวงศิลปะรวมถึงสังคม

หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่ดูเหมือนกับว่า ‘อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ’ แต่มันก็คือศิลปะนี่นะ

หนังสือแบ่งเป็น 6 พาร์ท ผู้เขียนกรุ๊ปเรื่องเล่าเกี่ยวกับศิลปะประเภทต่างๆ ไว้ชัดเจน

1. Conceptual Art

2. Pop Art

3. Surrealism

4. Abstract Art

5. New Media

และปิดท้ายด้วย

6. ศิลปินหญิงในโลกศิลปะที่ชายเป็นใหญ่

บริบทของงานศิลปะแต่ละประเภท เบื้องหลังความคิดที่ภาณุหยิบมาเล่าด้วยน้ำเสียงไม่ประหยัดอารมณ์ขัน ทำให้ผู้อ่านเห็น ‘สาส์นชั้นที่สอง’ ของหนังสือที่พูดถึงงานศิลปะร่วมสมัยเล่มนี้

หนังสือเล่มนี้กำลังบอกว่า ศิลปะคือพื้นที่ของเสรีภาพ

นี่คืองานศิลปะ 5 ชิ้นที่ WAY เลือกหยิบมาจากหนังสือเล่มนี้มาเล่าต่อในพื้นที่นี้อีกที เพื่อยืนยันถึงสมมุติฐานข้างต้น

 

How to Explain Pictures to a Dead Hare (1965) / โจเซฟ บอยส์

ที่มาภาพ: artgallery.nsw.gov.au/collection/works/434.1997.9/

 

How to Explain Pictures to a Dead Hare เป็นศิลปะแสดงสดในแกลเลอรีชเมลา ดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 1965

ผู้ชมเฝ้ามองการแสดงของศิลปินผ่านกรอบหน้าต่างของแกลเลอรี ในนั้นเราจะเห็นศิลปินนั่งบนม้านั่ง พอกน้ำผึ้งทั่วศีรษะก่อนจะปิดทองคำเปลว กอดซากกระต่ายตายแล้วในอ้อมแขน เขาอธิบายถึงภาพวาดที่แขวนในแกลเลอรีให้กระต่ายที่ตายแล้วฟัง (ผู้ชมชมการพูดคุยกับกระต่ายที่ตายแล้วของเขาอีกที) เขาใช้เวลา 3 ชั่วโมงในการแสดงหรือการพูดกับกระต่ายที่ตายแล้ว

ภาณุอธิบายว่า:

การแสดงสดครั้งนี้ก็เป็นจุดสูงสุดของการขยายขอบเขตความเข้าใจในความหมายของศิลปะสำหรับบอยส์ เป็นการกระทบกระแทกแดกดันถึงพิธีกรรมในการ ‘อธิบายศิลปะ’ ของเหล่าศิลปินทั้งหลาย ซึ่งส่วนใหญ่คนดูจะนิ่งฟังอย่างเงียบงันบื้อใบ้ไร้ความคิดเห็นใดๆ ไม่ต่างอะไรกับกระต่ายที่ตายแล้ว ขณะที่บอยส์สนับสนุนและผลักดันให้เกิดการโต้เถียงทางความคิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศิลปะ การเมือง หรืออะไรก็ตาม

 

The Black Square (1915) / คาซิมีร์ มาเลวิช

ที่มาภาพ: revolution.film/post/149319674093/kazimir-malevich-the-black-square-c-1915

 

The Black Square จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจ เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย ก็อย่างที่เห็นในภาพ สีดำตามภาพเลยพี่น้อง

หลังจากสร้างงานชิ้นนี้ในปี 1915 ซึ่งได้รับเสียงอื้ออึงในทางมึนงงและชื่นชมจากปัญญาชนว่า งานชิ้นนี้ได้เปิดพื้นที่ให้เกิดเสรีภาพทางความคิดและการตีความ เป็นการปฏิวัติความคิดที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในแวดวงศิลปะรัสเซีย

กระทั่งในปี 1924 เมื่อ โจเซฟ สตาลิน ก้าวขึ้นสู่อำนาจ พรรคคอมมิวนิสต์ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนรวมถึงเหล่าศิลปิน สตาลินกำหนดให้ศิลปะแนวสัจสังคมนิยม (Socialist Realism) กลายเป็นนโยบายหลักของการทำงานศิลปะในรัสเซียยุคนั้น บังคับให้ศิลปินวาดภาพหรือทำประติมากรรมที่เป็นโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์ สตาลินไม่ต้องการให้ประชาชนมีความคิดเป็นของตนเอง ประชาชนต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐโดยไม่มีข้อแม้

งานศิลปะนามธรรมของมาเลวิช รวมถึงเหล่าศิลปินหัวก้าวหน้าที่เปิดโอกาสให้คนแสดงออกทางความคิดอย่างเสรีเป็นที่ชิงชังของสตาลิน ผลงานของมาเลวิชส่วนใหญ่ถูกยึดและทำลาย แต่หลังจากที่มาเลวิชเสียชีวิต มีการเปิดเผยว่าภาพวาด The Black Square หลุดรอดจากการถูกยึดทำลาย เพราะถูกเก็บซ่อนโดยครอบครัวของเขามาตลอด

ภายหลังปี 1998 กระทรวงวัฒนธรรมของสหพันธรัฐรัสเซียได้สิทธิ์ซื้อภาพนี้ในมูลค่าหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยการสนับสนุนทางการเงินจากวลาดิเมียร์ โปตานิน ซึ่งได้ส่งต่อให้พิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจ

ภาณุเล่าถึงเหตุผลที่นายโปตานินบริจาคภาพที่มีมูลค่าสูงเข้าพิพิธภัณฑ์ ดังนี้

เขา (โปตานิน) เป็นคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าที่รักในเสรีภาพและประชาธิปไตย เขาเกลียดเผด็จการและสตาลินเข้าไส้ งานศิลปะของมาเลวิชที่เปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของเสรีภาพและการต่อสู้กับเผด็จการ จึงเป็นสิ่งที่โปตานินรักและหลงใหล เขาจึงอยากมอบให้เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์เพื่อให้เพื่อนร่วมชาติของเขาได้ร่วมชื่นชมกันเท่านั้นเอง

 

Remembering (2009) / อ้าย เว่ยเว่ย

ที่มาภาพ: .khanacademy.org/humanities/global-culture/global-art-architecture/a/ai-weiwei-remembering-and-the-politics-of-dissent

ตัวอักษรจีนที่เห็น แปลว่า ‘เธอเคยอยู่อย่างมีความสุขบนโลกใบนี้เป็นเวลาเจ็ดปี’ มันกอปรขึ้นจากกระเป๋าของนักเรียนที่เรียงต่อกันบนอาคาร

กระเป๋าเหล่านี้จำลองมาจากกระเป๋าของนักเรียนชั้นอนุบาลในมณฑลเสฉวนที่เสียชีวิตจากการถล่มของอาคารเรียนอย่างง่ายดาย หลังเกิดแผ่นดินไหวปี 2008 อ้าย เว่ยเว่ยสืบค้นสาเหตุที่อาคารเรียนพังทลายลงมาอย่างง่ายดายจนเชื่อมโยงกับการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ เป็นเหตุให้นักเรียนเสียชีวิตกว่าห้าพันคน และเขาเผยแพร่ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย

อ้าย เว่ยเว่ย ถูกทางการจีนตามเล่นงานด้วยวิธีการต่างๆ แต่เขาไม่เคยยุติการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีน

ภาณุเล่าว่า ประโยค ‘เธอเคยอยู่อย่างมีความสุขบนโลกใบนี้เป็นเวลาเจ็ดปี’ คือประโยคที่อ้าย เว่ยเว่ยได้ฟังมาจากคำพูดของพ่อแม่เด็กที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น

 

Mirror Box (2016) / มิโล มัวเร

ที่มาภาพ: attn.com/stories/9541/milo-moire-statement-about-consent-with-mirror-box

 ก่อนหน้า Mirror Box มิโล มัวเร ใช้การเปลือยกายในที่สาธารณะในการสนับสนุนสิทธิสตรีและประท้วงการถูกคุกคามทางเพศของผู้หญิงในเยอรมนี

Mirror Box คือศิลปะการแสดงสดที่สร้างประสบการณ์ระหว่างผู้ชมงานศิลปะกับตัวศิลปินที่ถึงเนื้อถึงตัวมากๆ เธอสร้างกล่องกระจกเงารูปสี่เหลี่ยมคางหมูสวมคลุมเรือนร่าง ตัวกล่องมีช่องที่ถูกคลุมด้วยผ้าแดง เธอป่าวประกาศให้คนที่ผ่านไปมาล้วงมือเข้าไปสัมผัสเรือนร่างของเธอได้เป็นเวลา 30 วินาที

“ฉันชื่อมิโล มัวเร เป็นศิลปินแสดงสด และยืนอยู่ที่นี่วันนี้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศของสตรี ผู้หญิงมีความต้องการทางเพศไม่ต่างจากที่ผู้ชายมี แต่เรามีสิทธิ์ในการตัดสินใจด้วยตัวเองว่าเมื่อไหร่ที่เราต้องการจะถูกสัมผัสหรือไม่ และวันนี้คุณก็มีโอกาสสัมผัสร่างกายฉันผ่านกล่องเป็นเวลา 30 วินาทีได้อย่างเสรี” เธอประกาศผ่านโทรโข่ง

ภาณุ เล่าในหนังสือว่า ผลงานชิ้นนี้เป็นการตอกย้ำถึงเสรีภาพในการแสดงออกถึงความปรารถนาของสตรีเพศ โดยกระจกเงาที่ติดอยู่บนกล่องสะท้อนถึงความปรารถนาในร่างกายผู้หญิงของผู้ชาย กระจกเงาสะท้อนให้พวกเขามองเห็นตัวเอง

มัวเรแสดงออกถึงความรู้สึกและเสรีภาพทางเพศของอิตถีเพศอย่างตรงไปตรงมา สำรวจพรมแดนของศิลปะ ความลามกอนาจาร รวมถึงตอกหน้าระบบศีลธรรมของชนชั้นกลางได้อย่างแสบสัน

ผลลัพธ์ของงานศิลปะชิ้นนี้ทำให้เธอถูก (ตำรวจ) จับและโดนปรับข้อหากระทำอนาจารเช่นการแสดงงานศิลปะก่อนหน้าหลายครั้งที่ผ่านมาของเธอ

 

One and Three Chairs (1965) / โจเซฟ โคซุธ

ที่มาภาพ: en.wikipedia.org/wiki/One_and_Three_Chairs

สิ่งที่เราเห็นในงานศิลปะจัดวางชิ้นนี้ก็คือ เก้าอี้จริงๆ 1 ตัวที่วางอยู่ตรงกลาง ด้านขวาของเก้าอี้คือภาพถ่ายเก้าอี้ตัวนี้ที่ขยายขนาดเท่าของจริง ด้านซ้ายของเก้าอี้คือกระดาษสำเนาขนาดใหญ่ที่พิมพ์ความหมายของคำว่า ‘เก้าอี้’ จากพจนานุกรม

ศิลปินกำลังจะพูดเรื่องอะไรกับผู้ชมเก้าอี้ ภาพถ่ายเก้าอี้ และความหมายของเก้าอี้ตามพจนานุกรม

ภาณุเล่าว่า One and Three Chairs คืองานศิลปะจัดวางที่มีการหมุนเวียนเปลี่ยนสถานที่จัดไปยังเมืองและประเทศต่างๆ ซึ่งทำให้เก้าอี้จริงๆ และภาพถ่ายเก้าอี้ขนาดเท่าของจริงจะเปลี่ยนไปตามเก้าอี้ที่หาได้ในท้องถิ่นนั้นๆ สิ่งที่คงเดิมคือกระดาษสำเนาที่พิมพ์ความหมายของคำว่า ‘เก้าอี้’ จากพจนานุกรม กล่าวคือ ถ้างานศิลปะจัดวางชิ้นนี้เวียนไปจัดที่เมืองหรือประเทศใด ไม่ต้องนำเก้าอี้จากการจัดแสดงครั้งแรกไป แต่ให้หาใช้เก้าอี้ตัวไหนก็ได้ แล้วถ่ายภาพเก้าอี้ตัวนั้นขยายขนาดเท่าของจริงมาจัดวางตามรูป ดังนั้นเวลาที่งานชิ้นนี้ไปจัดแสดงในสถานที่ใหม่ จะต้องถ่ายรูปขึ้นใหม่ทุกครั้ง

โจเซฟ โคซุธ อธิบายถึง One and Three Chairs ว่า

“ผมนำวัตถุที่คนทั่วไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเช่น ‘เก้าอี้’ มาวางไว้ โดยให้ทางซ้ายของเก้าอี้มีรูปถ่ายขนาดเท่าของจริงติดอยู่ และทางขวาเป็นกระดาษที่ถ่ายสำเนาความหมายของวัตถุชิ้นนี้ ตามพจนานุกรม เวลาที่คุณมองไปยังเก้าอี้ จะต้องมีทุกสิ่งที่ปรากฎอยู่ไม่ผิดเพี้ยน ดังนั้นเวลาที่ผลงานชิ้นนี้เปลี่ยนสถานที่จัดแสดง จึงต้องถ่ายรูปขึ้นมาใหม่ทุกครั้ง ผมชอบที่ตัวงานมีอะไรมากกว่าที่คุณเห็น แม้จะเปลี่ยนสถานที่ เก้าอี้ และภาพถ่าย หากท้ายที่สุดมันก็ยังคงเป็นงานชิ้นเดิมอยู่ดี งานชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึง ‘ความคิด’ ที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในงานศิลปะ หาใช่องค์ประกอบอื่นใดไม่”

ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องเชื่อคำพูดของโคซุธก็ได้ แต่ภาณุขยายความต่อจากคำอธิบายของเจ้าของผลงานชิ้นนี้ว่า:

ด้วยเหตุนี้เอง สิ่งที่ถูกส่งต่อเพื่อนำไปจัดแสดงในสถานที่ต่างๆ จึงไม่ใช่วัตถุอย่างผลงานศิลปะ (เก้าอี้) หากแต่เป็น ‘ความคิด’ ของโคซุธต่างหาก พูดง่ายๆ คือเราไม่จำเป็นต้องขนเก้าอี้ไปแสดงที่ไหนต่อไหนให้เมื่อยตุ้ม หากแต่ส่งต่อ ‘ความคิด’ ของเขาไปแสดงมากกว่า

ตัวอย่างงานศิลปะ 5 ชิ้นที่ WAY นำมาสาธิตในพื้นที่นี้ น่าจะพอทำให้เราพูดได้ว่าหนังสือ ART IS ART, ART IS NOT ART: อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ ของ ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ กำลังจะบอกเราว่า ศิลปะ (แม่ง) คือเรื่องของเสรีภาพ (โว้ย)

 

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า