เสียงจากชนเผ่าพื้นเมือง ถึงรัฐที่ล้มเหลวในการจัดการสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน

การมาเยือนเมืองไทยของเฟมินิสต์จากนานาประเทศ ภายใต้งาน ‘15th AWID International Forum 2024’ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทำให้เรื่องราวปัญหาที่ไม่ว่าจะอยู่หลืบมุมใดต่างก็ถูกนำมากางให้เห็นชัดๆ ในที่แจ้ง

สภาพการณ์ที่ถูกกดทับซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อถูกเล่าออกมาจึงพบว่ามีผู้เผชิญชะตากรรมเดียวกันอยู่ไม่น้อย เพียงแค่เปลี่ยนบริบทประเทศไปเท่านั้น 

มัจฉา พรอินทร์ ลาว เลสเบี้ยน เฟมินิสต์ ผู้ถูกเลือกให้เป็นหนึ่งใน ‘BBC 100 Women 2023’ (ผู้หญิงที่เป็นแรงบันดาลใจและมีอิทธิพล 100 คนจากทั่วโลก) ในฐานะผู้ขับเคลื่อนปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ และเรียกร้องสิทธิให้กับชนเผ่าพื้นเมืองและผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในงานระดับนานาชาติครั้งนี้เธอหยิบยกสิ่งที่คลุกคลีอยู่มาบอกเล่าเน้นย้ำว่าวิกฤตต่างๆ ยังคงอยู่ และเธอยังคงเดินหน้าต่อสู้ด้วยวิธีที่เธอเชื่อมั่นมาโดยตลอด

มัจฉาขับเคลื่อนด้วยกลไกของ ‘มูลนิธิสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน’ อันมีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้และส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิงและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง นำโดยผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือที่เรียกกันว่า LBQ 

“เราไม่มีทางแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืนถ้าปราศจากการมีส่วนร่วมของผู้หญิงและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง” เธอกล่าว ซึ่งดึงความสนใจผู้คนในห้องได้เป็นอย่างดี

ทุกคนในห้องสี่เหลี่ยมขนาดไม่ใหญ่มากนักมาจากหลากหลายประเทศ รวมถึงคนไทยที่นั่งอยู่ในห้องนี้มีทั้งคนที่ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องชนเผ่าพื้นเมือง เรื่องเด็กและเยาวชน และเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผู้หญิงเท่านั้น 

มัจฉาเริ่มต้นเล่าถึงบริบทที่กำลังเผชิญจากการถูกคุกคามในมิติสิทธิมนุษยชนและวิกฤตทางด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแย่งชิงทรัพยากร การถูกจำกัดสิทธิในการเข้าป่า ในการหาอาหาร ในการเข้าถึงแหล่งน้ำ หรือแม้กระทั่งมีน้ำแต่ปนเปื้อน ไม่มีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ควรจะมี ไม่มีกลไกในการทำน้ำให้สะอาด

ในยุคทุนนิยมแบบนี้ไม่มีพื้นที่ละเว้นจากการแทรกซึมของนายทุน พื้นที่ที่ชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่ถูกรุกล้ำจากภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเหมืองแร่ หรือธุรกิจพืชเชิงเดี่ยวที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง นำมาสู่การผลิตโดยใช้สารเคมีเข้มข้น

หัวใจของการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาให้กับชนเผ่าพื้นเมืองคือ ‘เยาวชน’ โจทย์ของมูลนิธิฯ คือจะทำอย่างไรให้เยาวชนในพื้นที่ลุกขึ้นมามีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงปัญหาทั้งหมดที่ว่ามา

เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองจาก 3 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก ได้ร่วมบอกเล่าผลกระทบภายในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งแม่ฮ่องสอนและตาก คือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามเมียนมากว่า 70 ปี และยังไม่สิ้นสุดลง และทั้ง 3 คนถัดจากนี้เป็นตัวแทนชนเผ่าพื้นเมือง คือบุคคลที่ทำงานร่วมกันกับมูลนิธิฯ ผลักดันประเด็นสิทธิต่างๆ ให้กับชนเผ่าพื้นเมืองมาแล้ว 20 ปี

ป่าต้องห้ามสำหรับคนชนเผ่า

มะเมียะเส่ง สิริวลัย คือเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ จากชุมชนบ้านแม่สามแลบ ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ชุมชนบ้านแม่สามแลบตั้งอยู่บนพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา มีการอพยพเข้าออกชุมชนอยู่บ่อยครั้ง ผู้คนกว่าครึ่งหนึ่งไร้สัญชาติ ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เด็กและผู้หญิงเข้าไม่ถึงการศึกษา ชุมชนเข้าไม่ถึงระบบสาธารณูปโภคอย่างเป็นธรรม

เรื่องใหญ่ที่ถูกนำมาพูดเป็นเรื่องหลักของวันนี้คือ สิทธิที่ดินและสิ่งแวดล้อม ไม่มีไร่หมุนเวียนอีกแล้ว เพราะชาวบ้านไม่มีที่ดินสำหรับเพาะปลูกอีกต่อไป บ้านแม่สามแลบกำลังจะได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อน อันเป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐที่คนในพื้นที่ไม่เคยมีส่วนร่วม

ชุมชนนี้ถูกประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปในป่าเพื่อทำกินตามวิถีได้ เพราะถูกควบคุมด้วยกฎหมายและนโยบาย แต่ผู้หญิงหลายคนยังจำเป็นต้องเข้าไปหาอาหารในป่า เพราะไม่มีพื้นที่ให้ทำเกษตรกรรม

ในภาวะที่ยากลำบาก ขาดแคลนอาหาร มะเมียะเส่งกล่าวว่า ผู้หญิงได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะต้องแบกรับงาน care work (งานดูแลและบริการที่ไม่ได้รับค่าจ้าง) ที่มากขึ้น จากเดิมที่มีภาระมากมายอยู่แล้ว ดูแลทุกอย่างในบ้าน ทุกคนในบ้าน ล้วนเป็นภาระรับผิดชอบอันหนักอึ้งที่ต้องแบกเอาไว้

“ผู้หญิงเป็นคนไปหาน้ำในลำธาร เดินจากยอดดอยลงไปข้างล่าง ไปหอบน้ำกลับมาให้ลูกให้ผัวใช้”

วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ยังทำงานอย่างแข็งขัน เด็กผู้หญิงเข้าถึงการศึกษาได้น้อยกว่าเด็กผู้ชาย เมื่อทุนที่มีอย่างจำกัดทำให้ต้องเลือก การเลือกให้เด็กผู้ชายได้เรียนเป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่ต้องลังเลสำหรับชนเผ่าพื้นเมือง อีกทั้งเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศก็ไม่เคยถูกยอมรับ

มะเมียะเส่งเพียงแค่แนะนำให้เรารู้จักชุมชนของเธอ ยังไม่ได้แตะต้องไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือสภาพภูมิอากาศที่ตั้งใจจะเล่าให้ฟังมากนัก แต่ความซับซ้อนของปัญหาถูกเผยออกมาให้เห็นอย่างจัง ผู้หญิงต้องแบกรับภาระมากมาย แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุน ทั้งผู้มีความหลากหลายทางเพศยังเสี่ยงต่อการถูกผลักออกไปจากชุมชนของตัวเอง ในขณะเดียวกันทุกคนก็ยังต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติจากการไม่ถูกยอมรับในฐานะชนเผ่าพื้นเมือง และถูกเลือกปฏิบัติจากการไม่มีสัญชาติด้วย

ผันน้ำชุมชนกระทบสิ่งแวดล้อม

ดาวรุ่ง เวียงวิชา จากชุมชนแม่อมกิ จังหวัดตาก เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยง ก่อนหน้านี้เธอเป็นนักเรียนทุนของมูลนิธิสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ตั้งแต่ช่วงมัธยมศึกษาตอนต้น จนเรียนจบระดับปริญญาตรี

เดิมทีชุมชนแม่อมกิทำอาชีพเกษตรกรไร่หมุนเวียน ดาวรุ่งเน้นย้ำว่าการทำไร่หมุนเวียนคือการทำเกษตรที่ถือเป็นการรักษาผืนดินไปในตัวด้วย แต่ปัจจุบันกฎหมายและนโยบายรัฐทำให้ชาวบ้านต้องหยุดการทำไร่หมุนเวียนไป ต้องหันมาทำพืชเชิงเดี่ยว ใช้สารเคมีที่เข้มข้น ใช้เมล็ดพันธุ์ตัดต่อพันธุกรรม ซึ่งใช้ทุนเยอะและไม่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ทำให้ชาวบ้านขาดทุน เป็นหนี้ และยังเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

ปัญหาเรื่องสาธารณูปโภคของชุมชนแม่อมกิที่ดาวรุ่งอาศัยอยู่ ไม่ต่างอะไรนักจากที่มะเมียะเส่งเล่า แม้จะอยู่กันคนละจังหวัดก็ตาม ไม่มีน้ำสะอาดใช้ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีอินเทอร์เน็ต และถนนหนทางเข้าไม่ถึง

ชุมชนแห่งนี้กำลังจะถูกประกาศให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นการประกาศที่ชุมชนไม่มีส่วนร่วม และชุมชนไม่เคยเห็นด้วยเลยแม้แต่น้อย

นอกจากนี้ยังมีโครงการผันน้ำยวม แม่น้ำในหมู่บ้านที่จะไหลไปรวมกันโดยผ่าน 3 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก ดาวรุ่งกล่าวว่าหากมีการผันน้ำแล้ว เดิมทีชาวบ้านที่ไม่มีน้ำใช้หรือเข้าไม่ถึงทรัพยากรอยู่แล้วก็จะยิ่งถูกผลักออกไปเป็นคนที่ไม่มีน้ำไม่มีดิน ซึ่งโครงการผันน้ำยวมนี้จะส่งผลกระทบทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

“ถ้ามีการผันน้ำยวม ชุมชนจะแตกสลาย ประชากรในพื้นที่ทั้งชุมชนของเรา และชุมชนอื่นๆ จะสลายไปด้วย” ดาวรุ่งกล่าว

ผลพวงของไร่สตรอว์เบอร์รีเชิงเดี่ยว

ชุมชนสุดท้ายที่มาร่วมบอกเล่าบริบทและปัญหาของพื้นที่คือ ชุมชนบ้านหนองคริซูใน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี ปภาวดี กองสูงเนิน เป็นตัวแทน 

หากพูดถึงอำเภอสะเมิง สตรอว์เบอร์รีเป็นหนึ่งในสิ่งที่นักท่องเที่ยวจะนึกถึง แต่ในความเป็นจริงมีเรื่องราวเบื้องหลังที่ไม่ได้สวยงามน่าเก็บเกี่ยวเท่าไรนัก

ชุมชนบ้านหนองคริซูในเป็นชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองที่ไม่ได้ถูกยอมรับในสิทธิชนเผ่า เข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลที่เป็นธรรม และยังได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายของรัฐ ทั้งการเตรียมประกาศเขตพื้นที่อุทยาน เขตป่าสงวน รวมถึงนโยบายทวงคืนผืนป่า ทำให้คนในชุมชนไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรในชุมชนของตัวเองได้

นอกจากนี้คนในชุมชนยังได้รับผลกระทบจากการเข้ามาดำเนินงานของภาคธุรกิจ เหมืองแร่ดีบุก แร่ทังสเตน ที่ดำเนินงานมามากกว่า 60 ปีแล้ว ซึ่งนอกจากคนในชุมชนจะเข้าไม่ถึงทรัพยากรแล้วยังถูกแย่งชิงไปอีก ทั้งที่ดินที่ชุมชนสูญเสียไป แหล่งน้ำขนาดใหญ่ของชุมชน สูญเสียไปทั้งหมด

เช่นเดียวกันกับชุมชนของดาวรุ่งในจังหวัดตาก ที่นี่ไม่มีการทำไร่หมุนเวียนและแปรเปลี่ยนมาเป็นการทำพืชเชิงเดี่ยวที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการปลูกสตรอว์เบอร์รีที่ทำให้ดินเสีย

“ตอนนี้ดินในชุมชนแทบจะปลูกอะไรไม่ค่อยขึ้นแล้ว เลยต้องใช้สารเคมีที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ น้ำที่ใช้กินใช้ดื่มที่มีอยู่น้อยมากอยู่แล้วก็ปนเปื้อนสารเคมี และยังมีการแย่งชิงน้ำกันอีก” ปภาวดีกล่าว

นอกจากนี้การปลูกสตรอว์เบอร์รียังทำให้คนในชุมชนติดหนี้จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพราะต้องกู้เงินมาเพื่อทำการเกษตร และต้องเผชิญกับการซื้อขายในราคาที่ไม่เป็นธรรม

ทั้งติดหนี้ ไม่ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ เพราะไม่มีเงินซื้อสารเคมีที่จะใช้สำหรับเร่งผลผลิตหรือกำจัดศัตรูพืช ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกับผลผลิตอีกด้วย

ปภาวดีเล่าต่อว่า ภายใต้ปัญหาเหล่านี้ผู้หญิงต้องทำงานอย่างหนัก ใน 1 วัน ต้องทำงานกว่า 10 ชั่วโมง เมื่อมีประจำเดือนก็จะใส่ผ้าอนามัยเพียง 1 ผืนตลอดทั้งวัน

“ตัวเราเองเคยโดนแม่ถามว่า ทำไมใช้ผ้าอนามัยเปลืองจัง เพราะแม่ใช้แค่ 3 ผืนต่อประจำเดือน 1 รอบ”

ชั่วขณะหนึ่งปภาวดีหยุดเล่า เพราะก้อนสะอื้นเข้ามาแทนที่คำพูดที่กำลังเอื้อนเอ่ย ทั้งห้องเงียบงันจนกระทั่งได้ยินเสียงลมหายใจเข้าออกของเธอ กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่แต่งกายตามอัตลักษณ์ชนเผ่าตัวเองจากประเทศต่างๆ พากันหลั่งน้ำตาให้กับชะตากรรมที่คล้ายคลึงกันนี้ที่พวกเธอไม่เคยเลือก แต่ต้องอยู่กับมันมาชั่วชีวิต

การร้องไห้อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำได้ในขณะนี้เพื่อเยียวยาความเจ็บปวดที่กำลังเผชิญ และในขณะเดียวกันสำหรับคนที่กำลังเผชิญอยู่ การได้ร้องไห้ร่วมกันอาจจะแสดงถึงความเป็นมนุษย์มากที่สุด และกำลังบอกต่อกันว่าทุกคนพร้อมที่จะเคียงบ่าเคียงไหล่กัน

ในบริบทแบบนี้หลายคนอาจมีคำถามผุดขึ้นมาว่า “แล้วเราจะทำอย่างไรได้” มันยากมากที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ เพราะพี่น้องชนเผ่าไม่มีสัญชาติ หลายคนออกไปทำงานข้างนอกไม่ได้ พี่น้องชนเผ่าถูกทำให้ต้องอยู่ในบ้านโดยมีกฎหมายลงกลอนล็อกประตูเอาไว้

วางรากฐานที่แข็งแรงจากเยาวชน

มัจฉา ในฐานะที่ทำงานคลุกคลีอยู่กับชนเผ่าพื้นเมืองทางภาคเหนือมาหลายสิบปีเล่าต่อว่า บริบทของชนเผ่ามีเรื่องการตีตราผู้หญิงอย่างเข้มข้น เด็กผู้หญิงถ้าไม่ได้ไปโรงเรียนจะเสี่ยงถูกจับแต่งงานตั้งแต่ยังเด็ก

“เด็กผู้หญิงหรือผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ ถ้าพ่อแม่รู้ว่าเป็น LGBTQIA+ จะถูกบังคับให้แต่งงาน นี่คือปัญหาที่เราในฐานะเฟมินิสต์ต้องตอบสนองและทำอะไรบางอย่าง”

มัจฉากล่าวก่อนจะเปิดประเด็นว่า ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมามูลนิธิสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนทำอะไรมาแล้วบ้าง

เธอเล่าว่า เมื่อมูลนิธิฯ รู้ว่าถ้าเด็กผู้หญิงไม่ได้ไปโรงเรียนจะต้องถูกจับแต่งงาน จึงมีแนวคิดเรื่องการมอบทุนการศึกษา 10 ปี ซึ่งใน 10 ปี มีเด็กผู้หญิงเกือบ 1,000 คน จบ ม.6 โดยมะเมียะเส่งจบปริญญาเอก ส่วนดาวรุ่งและปภาวดีจบปริญญาตรี

10 ปีให้หลัง ทั้ง 3 คน กลับไปที่หมู่บ้านของตัวเองเพื่อไปดูว่าในหมู่บ้านมีปัญหาอะไรและจะแก้ปัญหาอย่างไร ทำให้ในระยะ 10 ปีหลัง มูลนิธิฯ มีพันธกิจเพิ่มเติมในเรื่องการศึกษา

ทั้ง 3 หมู่บ้านนี้ได้จัดตั้งโรงเรียนผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมือง ให้ผู้หญิงมาพบปะกัน กินข้าวด้วยกัน นั่งคุยกัน และทำอาชีพร่วมกัน

ในระดับมหาวิทยาลัยมีการจัดเฟมินิสต์แคมป์ อบรมนักศึกษาและรับนักศึกษาฝึกงานชนเผ่าพื้นเมือง ให้ไปสำรวจและศึกษาปัญหาชุมชนของตัวเอง ศึกษาปัญหาของเด็กนักเรียนชนเผ่าพื้นเมือง

ทั้งยังมีงานวิจัยของทุกชุมชน ซึ่งขณะนี้เป็นงานวิจัยชิ้นที่ 4 ของชนเผ่าพื้นเมือง วิจัยชิ้นที่ 1 คือการทำเรื่องที่ดิน จากการตั้งคำถามที่ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้หญิงที่ไร้สัญชาติเข้าถึงที่ดิน ในช่วงโควิดเกิดวิจัยชิ้นที่ 2 เรื่องผลกระทบจากโควิดต่อผู้หญิง เด็ก และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้รัฐบาลช่วยเหลือ และมีนโยบายอย่างไรต่อคนไร้สัญชาติ ในวิกฤตโควิดและชนเผ่าพื้นเมือง

เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ทางมูลนิธิฯ เจอปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงเริ่มทำวิจัยชิ้นที่ 3 เรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ได้รับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงไม่ได้รับความเป็นธรรม

จากงานวิจัยชิ้นที่ 3 จึงทำให้เกิดนวัตกรรมชนเผ่าพื้นเมืองขึ้นมา โดยเรียกว่าโปรแกรม economic justice คือการมีทางออกในเรื่องเศรษฐกิจให้กับผู้หญิง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ มัจฉากล่าวว่าเราต้องลดรากปัญหา ซึ่งก็คือการถูกพรากสิทธิในที่ดิน ทรัพยากร และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการที่นายทุนเข้ามาสร้างผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมตลอด 60 ปีที่ชนเผ่าพื้นเมืองเผชิญด้วย

สร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยงานวิจัย

แม้ปัญหาจะยังคงอยู่ แต่กระบวนการเหล่านี้ทำให้มันกร่อนลงไปบ้าง ตัวแทนชนเผ่าทั้ง 3 คน บอกเล่าถึงวิธีการทำงานกับข้อท้าทาย และเพื่อที่จะออกจากปัญหาทั้งหลายนั้นต้องทำอย่างไร

เริ่มต้นที่มะเมียะเส่งเท้าความก่อนว่า เธอเองได้รับการ empower จากกระบวนการอบรมต่างๆ เช่นเดียวกันกับที่ผู้หญิงในชุมชนก็ได้รับการ empower ส่งเสริมศักยภาพในเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และได้เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของเพศตัวเอง

โดยเฉพาะการทำความเข้าใจเรื่องประจำเดือน เนื่องจากในชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับประจำเดือนไม่ถูกต้องนัก เช่น เข้าใจว่าเป็นของเสีย เป็นสิ่งที่ตีตราผู้หญิงตามความเชื่อโบราณ เมื่อทำความเข้าใจใหม่ ทำให้ผู้หญิงในชุมชนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาวะของตัวเองมากขึ้น

สำหรับงานวิจัยที่มูลนิธิฯ ทำเรียกกันว่า ‘งานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมโดยใช้แนวคิดเฟมินิสต์ โดยและเพื่อผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ’ ซึ่งมะเมียะเส่งเน้นย้ำว่า สาเหตุที่ต้องเป็นผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในสมการความไม่เป็นธรรม

“เมื่อไรก็ตามที่ผู้หญิงและเยาวชน LGBTQIA+ ได้รับความเป็นธรรม เมื่อนั้นแปลว่าจะเกิดความเป็นธรรมทางสังคม และความเป็นธรรมทางเพศต่อทุกคนแน่นอน” นี่คือถ้อยแถลงที่มะเมียะเส่งกล่าวอย่างหนักแน่น

ตลอดกระบวนการวิจัยได้มีเจ้าของปัญหาอยู่ในทุกๆ กระบวนการ เพราะด้วยแนวคิดของการทำวิจัยเชื่อว่า คนที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุดว่าอะไรคือแนวทางแก้ไขปัญหา ก็คือเจ้าของปัญหาอย่างผู้หญิงและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศนั่นเอง

เมื่อต้องการแสวงหาทางออก จึงเกิดความพยายามในการรวมกลุ่มผู้หญิงและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง แต่ยังมีข้อจำกัดที่ผู้คนไร้สัญชาติเดินทางมารวมกลุ่มกันได้อย่างยากลำบาก ประกอบกับยังมีพันธะที่ต้องดูแลครอบครัว การหุงหาอาหารให้กับลูกและสามีเป็นสิ่งที่วางมือได้ยากเย็นนัก

“ถ้าเราย้ายที่รวมกลุ่ม ไปจัดกิจกรรมในชุมชน ก็เสี่ยงที่ผู้ชายจะมาก่อกวน เพราะพวกเขาไม่อยากเห็นผู้หญิงมีอำนาจ มีความเข้มแข็ง ไม่อยากเห็นผู้หญิงมีพลังที่จะต่อสู้ และมีความภาคภูมิใจในตัวเอง”

อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มผู้หญิงที่เริ่มเข้าใจและมีความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง กลับมาทำงานวิจัยร่วมกันกับทางมูลนิธิฯ เพื่อศึกษาเรื่องผลกระทบของวิกฤตสิ่งแวดล้อม จากนั้นได้มีการจัดทำแผนที่ชุมชน จึงได้เห็นว่าชุมชนตั้งอยู่ในพื้นที่ไม่ปลอดภัย เสี่ยงน้ำท่วม ดินถล่ม

“น้ำท่วมครั้งนี้เราก็ไม่ได้รับการเยียวยาสักบาท เป็นเพราะพวกเราเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่ไม่มีสัญชาติ” มะเมียะเส่งเล่า

การขับเคลื่อนได้รับการตอบรัฐจากหน่วยงานท้องถิ่นบ้างแล้ว คือการที่ อบต. ได้จัดหางบประมาณสำหรับจัดการน้ำ หลังจากที่กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองบ้านแม่สามแลบขับเคลื่อนมาหลายปี

ในส่วนของงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ มะเมียะเส่งเล่าว่า ได้มีการขับเคลื่อนแนวทางของชุมชน เพื่อให้สาธารณะได้รับรู้ว่ามีการต่อสู้เพื่อทวงคืนความยุติธรรมในเรื่องสังคมและเพศ และจะมีการขับเคลื่อนในเชิงนโยบายและกฎหมาย ทั้งเรื่องการให้สัญชาติ การยอมรับชนเผ่าพื้นเมือง การยกเลิกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิอย่างกฎหมายอุทยานแห่งชาติ การยกเลิกโครงการพัฒนาขนาดใหญ่

มัจฉากล่าวเสริมถึงเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งคือ การพยายามจะสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รัฐกะเหรี่ยงในเมียนมา

“การที่เราต่อสู้เพื่อยุติโครงการนี้มันไม่ได้ส่งผลแค่พี่น้องกะเหรี่ยงในฝั่งไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพี่น้องกะเหรี่ยงในเมียนมาด้วย และเป็นการส่งเสียงให้ยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วย”

การทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการกับชนเผ่าพื้นเมืองผู้หญิงและเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากจะทำให้พบปัญหาที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ยังมีการขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขปัญหาถึงภาครัฐ รวมถึงจัดทำสินค้าชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อแก้ปัญหาการเผชิญกับสภาวะทางการเงินที่ฝืดเคืองและความไม่เท่าเทียมทางด้านรายได้

ทั้งชุมชนของมะเมียะเส่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ชุมชนของดาวรุ่งในจังหวัดตาก และชุมชนของปภาวดีในจังหวัดเชียงใหม่ มีโครงการส่งเสริมอาชีพให้กับกลุ่มผู้หญิงเพื่อสร้างอาชีพและรายได้สำหรับครอบครัวในอนาคต ทำให้คนในชุมชนได้เห็นถึงการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เศรษฐกิจในชุมชน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังหาทางแก้ไขได้ยากลำบาก แต่กลับพบปัญหาชัดเจนขึ้นในภาคเหนือ คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ภาคเหนือของประเทศไทยมีวิกฤต PM2.5 เกินค่ามาตรฐานตั้งแต่เดือนมกราคม ยาวไปจนถึงเดือนเมษายน และเป็นอย่างนี้มาเกือบ 20 ปี โดยที่รัฐบาลไทยไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ 

ชนเผ่าพื้นเมืองเจอกับวิกฤตนี้ด้วยเงื่อนไขที่เข้าไม่ถึงหน้ากากอนามัย คนที่เจ็บป่วยไปโรงพยาบาลแต่ก็ไม่มีเครื่องช่วยหายใจที่เพียงพอ ต้องไปรอคิวเพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจ ประกอบกับอากาศที่ร้อนขึ้นก็ยิ่งทำให้ปัญหาสุขภาพน่าเป็นห่วงมากยิ่งขึ้นด้วย

ยิ่งในชุมชนบ้านหนองคริซูใน จังหวัดเชียงใหม่ ที่ปภาวดีอาศัยอยู่ห่างกับเหมืองแร่เพียงประมาณ 1 กิโลเมตร ในช่วงที่ฝุ่น PM2.5 รุนแรง ชุมชนก็ยิ่งได้รับผลกระทบอย่างสาหัส หนำซ้ำยังโดนตีตราจากคนภายนอกว่าเป็นต้นเหตุของฝุ่นพิษ

เปิดรับสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ปลดล็อกความเป็นธรรม

ภาพรวมของการบอกเล่าทั้งหมดทำให้เห็นว่า รัฐยังคงไม่ยอมรับสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง รัฐมีนโยบายที่จะแย่งชิงที่ดินและทรัพยากรอยู่ และดูราวกับว่าจะมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ เช่น โครงการผันน้ำยวม โครงการสร้างเขื่อนสาละวิน การตั้งหน้าตั้งตาขยายเขตอุทยานฯ และเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าต่างๆ ที่จะทำให้ที่ดินทำกินของชุมชนหายไป รวมถึงวิถีชีวิตที่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้วและอีกหลายชุมชนก็กำลังค่อยๆ เปลี่ยนไป ตอกย้ำด้วยการที่นายทุนเองก็เข้ามาฉกฉวยผลประโยชน์จากชุมชนไปด้วยเช่นกัน

ทั้งหมดนี้รวมกับภัยพิบัติที่ไม่เคยมีการจัดการ ภัยแล้ง ชุมชนไม่มีน้ำดื่ม น้ำปนเปื้อนสารเคมี เพราะไม่มีกลไกใดๆ ที่จะทำให้น้ำสะอาด ภัย PM2.5 ภัยดินถล่มที่มีผู้คนเสียชีวิตอย่างต่อเนื่องมาหลายปี

“ในระดับโลกตอนนี้เราเชื่อว่าทางออกเรื่องสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมืองบวกกับวิทยาศาสตร์ แต่ในประเทศไทยกลับโทษชนเผ่าพื้นเมืองว่าเป็นสาเหตุของ PM2.5 เป็นสาเหตุของดินสไลด์ ดินถล่ม น้ำท่วม เพราะปลูกข้าวโพด ทั้งที่สาเหตุจริงๆ คือรัฐบาลล้มเหลวในเรื่องของนโยบายและกฎหมายในการปกป้องคุ้มครองวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง” มัจฉากล่าว

นี่จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมฟากฝั่งของมัจฉาและทุกคนในมูลนิธิสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ต้องทำให้เยาวชนเข้มแข็งและลุกขึ้นมาป่าวประกาศด้วยตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่เขาต้องการ เขาต้องการเปลี่ยนกฎหมายนโยบาย ต้องการยุติเขื่อน ยุติเหมือง ยุติโครงการพัฒนาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และต้องการให้ชุมชนของเขามีพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้หญิงและเด็ก เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างมีส่วนร่วม

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า