ภาพ: ณัฐพล สุวรรณภักดี
“ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะนี้ ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยมิเพียงได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้และอาหารดังเช่นประชาชนในเมืองเท่านั้น แต่ยังได้รับผลกระทบจากอคติทางชาติพันธุ์และการบังคับใช้กฎหมายโดยไร้มนุษยธรรมจากภาครัฐด้วย เราไม่อาจปล่อยให้เพื่อนร่วมสังคมต้องถูกเลือกปฏิบัติและตกสำรวจจากกระบวนการเยียวยาทุกรูปแบบเช่นนี้ หากยังเชื่อมั่นว่าทุกเลือดเนื้อและชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ใดๆ ก็ล้วนมีคุณค่าความเป็นคนเท่ากัน”
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ภาคี #SAVEบางกลอย ได้รับแจ้งจากชุมชนบ้านบางกลอยว่า ขณะนี้ชาวบ้านจำนวน 13 คน กำลังตกอยู่ในสภาวะเจ็บป่วยที่คาดว่าเกิดจากการขาดแคลนอาหารอันเนื่องจากการไร้ที่ดินทำกินและขาดรายได้ ประกอบกับการถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการต่อสู้ของชุมชน และการที่ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ป่าเพื่อเก็บหาอาหารเลี้ยงชีพและครอบครัว ยิ่งในวิกฤติโรคระบาดที่พวกเขาต้องไร้งาน ไร้ซึ่งแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพ และไร้ซึ่งหนทางประทังชีวิต
การป่วยไข้ของชาวบ้านทั้ง 13 คน มีอาการที่แตกต่างกัน ทั้งต้อกระจก ไมเกรน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ปวดท้อง มีลมในปอดมาก หอบ ไอ และโรคความดัน ขณะเดียวกัน ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่มีแนวโน้มของอาการหนักขึ้น รวมถึงมารดาที่ไม่สามารถให้นมบุตรได้ และทารกแรกเกิดที่พิการจนไม่สามารถบริโภคน้ำนมแม่ได้ตามปกติ
ผ่านมา 1 สัปดาห์ จนถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 จำนวนชาวบ้านที่เจ็บป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีก 21 คน รวมทั้งหมด 34 คน โดยมีอาการตั้งแต่ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แขนขาอ่อนแรง เบื่ออาหาร เวียนหัว ไมเกรน ความดัน นอกจากนั้นยังมีแม่ลูกอ่อนที่ไม่มีน้ำนมให้บุตร 11 คน มีเด็กพิการแรกเกิดอายุ 3 เดือน ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแก่งกระจาน 1 คน และพบผู้ติดเชื้อโควิด 1 คน รวมทั้งมีกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อเพิ่ม 2 ครัวเรือน หรือประมาณ 10 คน
ภาคี #SAVEบางกลอย คือกลุ่มที่ติดตามการต่อสู้ของชาวบ้านบางกลอยอย่างต่อเนื่อง จึงได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง 3 หน่วยงานรัฐ ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อช.)
ในจดหมายเปิดผนึก ได้ระบุถึงถ้อยคำจากการพูดคุยกับชาวบ้าน ใจความว่า ขณะนี้ชาวบ้านบางกลอยส่วนใหญ่ยังคงรับประทานอาหารจากการบริจาคเป็นหลัก เช่น ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และปลากระป๋อง ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการน้อย และชาวบ้านกำลังประสบปัญหาการขาดรายได้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงไม่มีเงินเพียงพอในการซื้ออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมารับประทานในครัวเรือน
“ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่สามารถผลิตพืชอาหารรับประทานในครัวเรือนได้ จากปัญหาที่ดินทำกินที่ไม่เพียงพอและไม่เหมาะสมต่อการทำการเกษตร รวมถึงชาวบ้านยังกังวลในการเข้าไปหาอาหารในป่าตามวิถีชีวิตดั้งเดิม เนื่องจากเกรงกลัวการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นโดยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อีกทั้งยังไม่ทราบว่าขอบเขตการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ป่าของชุมชนอยู่ตรงไหน เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการสำรวจพื้นที่การใช้ประโยชน์ในป่าตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 แต่อย่างใด” แถลงการณ์ระบุ
พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร หนึ่งในชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ได้กล่าวว่า
“เรื่องเข้าไปหาอาหารในป่า ชาวบ้านก็ยังกังวลมาก ทีแรกเราเจอโควิด เราก็คิดว่าเข้าไปหาอะไรกินในป่าก็ได้ พวกปลา พืชผักอะไรต่างๆ แต่ว่าตอนนี้ชาวบ้านก็ยังกลัวมาก เพราะอุทยานฯ เขาอาจจะลาดตระเวนแล้วมาเจอเรา ตอนนี้ก็ยังกินอาหารเหมือนเดิม เป็นอาหารบริจาค ก็ต้องกินไป เพราะไม่มีอะไรกิน”
หลังจากที่ พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ได้เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปัจจุบันมีการลงพื้นที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ถึงกระนั้นชาวบ้านก็ยังคงต้องรับประทานอาหารจากการบริจาคที่ไม่มีสารอาหารเพียงพอ บางครัวเรือนยังพอที่จะปลูกพืชผักบนที่ดินของตัวเองได้บ้าง และพอจะนำมาเจียดแบ่งขายในชุมชน ทว่าปัญหาที่เป็นรากลึกคือ เศรษฐกิจของชุมชน ที่ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากไม่มีเงินเพียงพอจะซื้ออาหารที่มีอยู่จำนวนจำกัดเหล่านั้นได้
ด้านของ พชร คำชำนาญ ผู้ประสานงานภาคี #SAVEบางกลอย มองว่า สถานการณ์เจ็บป่วยของคนในชุมชนนั้นรุนแรงกว่าที่คิดไว้มาก คาดว่าเป็นการสั่งสมปัญหามาหลายปีนับตั้งแต่ถูกอพยพ เพราะชาวบ้านไม่สามารถทำกินได้ ไม่มีอาหารที่เหมาะสม และถูกละเลยมาอย่างยาวนาน เป็นเหมือนระเบิดเวลาที่มาปะทุในช่วงวิกฤติโควิดพอดี และขณะนี้ชาวบ้านกำลังจะอดตาย ซึ่งเป็นภาพสะท้อนว่าชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอยนั้นถูกมองว่าเป็นอื่น และเป็นเพียงหน่วยนับทางประชากรในสายตาของรัฐไทยมาโดยตลอด
“มันคือการทิ้งให้ชาวบ้านตายจริงๆ ไม่ใช่การฆ่าด้วยวาทกรรมอีกต่อไปแล้ว พื้นที่นี้เป็นเหมือนคุกคุมขังชาวบ้านจนเกิดเป็นภาวะขาดสารอาหาร มันคือการถูกบังคับให้อพยพ ถูกบังคับให้อดอยาก คำถามคือในเมื่อสถานการณ์มาถึงจุดนี้แล้ว เราควรต้องบังคับกดขี่เขาต่อไปจริงๆ ไหม สังคมไทยหรือสังคมโลกได้อะไรจากการทำร้ายชุมชนกะเหรี่ยงที่บ้านบางกลอยหรือ เราจะภาคภูมิใจกับมรดกโลกบนความเจ็บป่วยและความตายของชาวบ้านจริงๆ หรือ”
ในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ประกอบด้วยข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
1. ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดช่องให้ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าตามวิถีชีวิตดั้งเดิม โดยการดำเนินการสำรวจพื้นที่เก็บหาของป่าตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านบางกลอย และระหว่างนี้ต้องหยุดการข่มขู่ คุกคาม หรือบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นโดยปราศจากมนุษยธรรม เพื่อให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารตามธรรมชาติได้ในสถานการณ์ที่ยังไร้ที่ดินทำกิน
2. ให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งดำเนินการแก้ปัญหาอาการเจ็บป่วยของชาวบ้าน โดยการลงพื้นที่ตรวจอาการโดยละเอียด อำนวยการเรื่องการรักษาพยาบาล รวมถึงให้มีแนวทางตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เชิงรุก และจัดหาอุปกรณ์สำหรับป้องกันการติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ให้ชาวบ้านชุมชนบ้านบางกลอย
3. ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เร่งช่วยเหลือเยียวยาปัญหาปากท้องของชาวบ้านโดยเร่งด่วนที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการจัดหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้เพียงพอต่อการบริโภคของชุมชน
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 สมชาย ฝั่งชลจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 10 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) ยืนยันให้ทั้ง 3 หน่วยงาน ต้องเอื้ออำนวยในการแก้ไขปัญหาชาวบ้านในเรื่องภัยพิบัติจากโควิด-19 และความอดอยากของชาวบ้าน โดยย้ำว่าให้มองคนเหล่านี้เป็นคนเท่าเทียมกันกับพวกเรา