การละเมิดเสรีภาพในการอ่าน (freedom to read) ด้วยการสั่งแบนหนังสือที่ผู้มีอำนาจมองว่าไม่เหมาะสมสำหรับนักเรียนนักศึกษา เป็นปัญหาที่คุกคามระบบการศึกษาของอเมริกาอย่างเงียบๆ มาช้านาน และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เมื่อหนังสือจำนวนมากโดยเฉพาะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสีผิวและ LGBTQ ถูกนำออกจากห้องสมุดของโรงเรียนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
สมาคมนักเขียนอเมริกัน (Pen America) รายงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2021 ถึงมิถุนายน 2023 ว่ามีหนังสือถูกดึงออกจากห้องสมุดในโรงเรียนต่างๆ มากถึงกว่า 4,000 เล่มแล้ว และหากดูตัวเลขเฉพาะ 6 เดือนแรกของปีนี้พบว่ามีหนังสือถูกคำสั่งแบนไปแล้ว 874 เล่ม จากคำสั่งแบนหนังสือทั่วประเทศ 1,477 คำสั่ง (หนังสือบางเล่มถูกแบนในหลายโรงเรียน) มากกว่าคำสั่งแบนหนังสือในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 28 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉลี่ยแต่ละเดือนมีหนังสือประมาณ 100 กว่าเล่ม ถูกดึงออกจากระบบการศึกษาทั้งในห้องเรียนและห้องสมุด และอาจมีบางครั้งที่คำสั่งแบนหนังสือขยายตัวไปถึงห้องสมุดสาธารณะที่อยู่นอกรั้วสถานศึกษา
ในจำนวนคำสั่งแบนหนังสือ 1,477 คำสั่งของปีนี้นั้น ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นการแบนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติและการเหยียดผิว ซึ่งรวมถึงการมีตัวละครในหนังสือเป็นคนผิวสีอีก 26 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือกระจายตัวกันในกลุ่มหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับไสยศาสตร์ ลัทธิซาตาน ความรุนแรง และการต่อต้านสถาบันครอบครัว
รัฐที่มีการแบนหนังสือมากที่สุดในปีนี้คือ เท็กซัส ฟลอริดา มิสซูรี ยูทาห์ และ เซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย
หนังสือเล่มที่ถูกแบนมากที่สุดคือ Gender Queer: A Memoir ของ ไมเอะ โคเบบ (Maia Kobabe) เนื้อหากล่าวถึงความยากลำบากในการเปิดเผยตัวตนและการค้นพบอัตลักษณ์ทางเพศ ถูกแบนจากโรงเรียนในรัฐต่างๆ มากถึง 11 รัฐ (ดูรายชื่อหนังสือที่ถูกแบนมากที่สุด 50 เล่มได้ที่ The 50 Most banned books in America)
การแบนหนังสืออย่างเป็นระบบ
ก่อนหน้านี้การแบนหนังสือเกิดจากความต้องการของผู้ปกครองที่มองว่า หนังสือบางเล่มมีเนื้อหาไม่เหมาะกับบุตรหลาน จึงทำเรื่องไปยังโรงเรียนเพื่อขอให้พิจารณาไม่ให้ใช้หนังสือเล่มนั้นๆ เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนในห้องเรียน และบางครั้งอาจขอให้โรงเรียนไม่นำหนังสือนั้นเข้าสู่ระบบห้องสมุดเลย หากมีในห้องสมุดอยู่แล้วก็ขอให้นำหนังสือออกจากระบบ แต่ช่วงหลังสมาคมห้องสมุดอเมริกา (American Library Association) พบว่า ผู้ที่เสนอรายชื่อหนังสือที่สมควรถูกแบนในโรงเรียนกลับเป็นกลุ่มก้อนทางสังคมในรัฐนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม ในภาพรวมแล้วรัฐที่พบว่ามีการแบนหนังสือหนังสือมากที่สุดคือ เท็กซัส เพนซิลวาเนีย ฟลอริดา และโอคลาโฮมา ซึ่งสมาคมนักเขียนอเมริกันและสมาคมห้องสมุดอเมริกามองว่า การแบนเช่นนี้เป็นปัญหาที่คุกคามสิทธิพื้นฐานของประชาชนอย่างสำคัญยิ่ง
“เราพบว่าหนังสือที่ถูกแบนในทุกวันนี้ไม่ได้เป็นการร้องขอมาจากผู้ปกครองของนักเรียนจริงๆ แต่เราพบว่าคนกลุ่มเหล่านี้ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ได้เข้าไปนั่งในคณะกรรมการห้องสมุดทั้งในนามตัวแทนองค์กรและส่วนตัว แล้วก็เสนอรายชื่อหนังสือที่ต้องการให้เอาออกจากห้องสมุด โดยรายชื่อหนังสือที่คนกลุ่มนี้เสนอ ก็เป็นรายชื่อหนังสือชุดเดียวกับกลุ่มที่สนับสนุนการเซ็นเซอร์หนังสือเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย” เดโบราห์ คาล์ด เวลล์-สโตน (Deborah Caldwell-Stone) ผู้อำนวยการฝ่ายเสรีภาพทางปัญญาของสมาคมห้องสมุดอเมริกา กล่าว
นอกจากการจัดการให้ฝ่ายอนุรักษนิยมได้มีที่นั่งในคณะกรรมการห้องสมุดแต่ละแห่งมากขี้นแล้ว ยังพบว่ามีความเคลื่อนไหวสำคัญที่ไปไกลถึงขั้นการแก้ไขกฎหมาย เพื่อห้ามไม่ให้หนังสือบางเล่ม บางหมวดหมู่ เข้าถึงเด็กๆ
กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รอน เดอซานตัส (Ron DeSantis) ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา ได้ลงนามในกฎหมาย 4 ฉบับ ที่ถูกตราขึ้นเพื่อควบคุมกลุ่มบุคคลเพศทางเลือก (LGBTQ) เป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นชุดของกฎหมายที่เข้มงวดมากจนถูกเสียดสีว่าทำให้แม้แต่การพูดคำว่า ‘เกย์’ ก็เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในรัฐนี้ เนื้อหากฎหมายที่รุนแรงที่สุดคือการห้ามบุคคล ‘ข้ามเพศ’ ใช้ระบบสาธารณูปการพื้นฐานต่างๆ ร่วมกับบุคคลที่มีเพศสภาพปกติ
ส่วนที่ส่งผลถึงสิทธิในการอ่านและการเรียนรู้ของเด็กๆ ในระบบโรงเรียนคือ ห้ามไม่ให้มีการสอนเรื่องรสนิยมทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศในชั้นเตรียมอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 2 (เกรด 8) ส่วนการสอนด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ให้สอนได้ตั้งแต่นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นต้นไป กฎหมายวางข้อกำหนดลึกลงไปถึงเนื้อหาที่จะมีการเรียนการสอนในห้องเรียน โดยกำหนดให้โรงเรียนต้องสอนว่า “เพศถูกกำหนดโดยชีววิทยาและการทำงานของระบบสืบพันธุ์เมื่อแรกเกิด เพศชายทางชีวภาพทำให้เพศหญิงทางชีวภาพตั้งครรภ์เมื่อเกิดการปฏิสนธิระหว่างไข่ของผู้หญิงและสเปิร์มของผู้ชาย” ข้อบังคับนี้มีผลทั้งกับโรงเรียนสังกัดรัฐบาล และโรงเรียนภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ (charter school) ทุกแห่งในฟลอริดา
การออกกฎหมายของผู้ว่าการรัฐฟลอริดาในครั้งนี้เป็นการต่อยอด ‘กฎหมายสิทธิของผู้ปกครองในระบบการศึกษา’ ซึ่งเดอซานตัสลงนามประกาศใช้ในเดือนมีนาคม ปี 2022 ห้ามไม่ให้บุคลากรของโรงเรียน รวมถึงบุคคลที่ 2 สอนหรือบรรยายเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 3
ผลของการมีกฎหมายที่ห้ามไม่ให้เด็กๆ เรียนรู้เรื่องอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศ ทำให้หนังสือภาพประกอบสำหรับเด็กเรื่อง And Tango Makes Three ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2005 กลายเป็นหนังสือต้องห้ามสำหรับเด็กระดับก่อนอนุบาลถึงมัธยมปีที่ 2 ในรัฐฟลอริดา
And Tango Makes Three บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของเพนกวินหนุ่ม 2 ตัว ในสวนสัตว์เซ็นทรัล พาร์ค รัฐนิวยอร์ก ที่ช่วยกันอุปการะดูแลแทงโก้ ลูกเพนกวินกำพร้า จนเกิดภาพครอบครัวเพนกวิน 3 ตัว ที่กลายเป็นขวัญใจเด็กๆ อเมริกันทั่วประเทศ
แบนมา-สู้กลับ ปรากฏการณ์ปกป้องสิทธิในการอ่านของเด็กอเมริกัน
วันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา ศาลแขวงในฟลอริดา ตอนกลาง รับฟ้องคดีประวัติศาสตร์คดีหนึ่งที่โจทก์คือนักเรียนระดับอนุบาลและประถมศึกษา 6 คน อายุระหว่าง 5-12 ปี ร่วมกับผู้ปกครองและผู้แต่ง And Tango Makes Three ฟ้องสำนักงานเขตการศึกษาฟลอริดาในข้อหาเลือกปฏิบัติและละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของผู้เขียนและเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลของนักเรียน
เด็กๆ ทั้ง 6 คน ที่ร่วมเป็นโจทก์บอกว่าพวกเขาต่างอยากอ่าน And Tango Makes Three ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน เด็กวัย 5 ขวบ อยากรู้เรื่องราวของเพนกวินน้อยแทงโก้ เด็กสาววัย 12 ขวบ ที่นิยามตนเองว่าเป็นคนกลุ่ม LGBTQ+ อยากอ่านเรื่องราวของครอบครัวเพศเดียวกันที่อุปการะเด็ก เพราะนั่นอาจเป็นโครงสร้างครอบครัวในอนาคตของเธอ ขณะที่เด็กอีกคนหนึ่งที่โตมากับยายและพี่ชายระบุว่า เขาอยากเห็นเรื่องราวของครอบครัวที่มีรายละเอียดของสมาชิกในครอบครัวต่างจากครอบครัวทั่วไป เช่นเดียวกับครอบครัวที่หล่อหลอมเขาอยู่ในปัจจุบัน
ทนายความของฝ่ายโจทก์บอกว่า การต่อสู้เพื่อให้เด็กๆ ในฟลอริดาได้อ่าน And Tango Makes Three นอกจากจะเป็นการปกป้องสิทธิและเสรีภาพในการพูดและการแสดงออกแล้ว ยังเป็นการปกป้องค่านิยมแบบอเมริกันในการเลี้ยงดูลูกอย่างมีความรับผิดชอบ เปิดกว้าง และเอื้ออาทรทางจิตวิญญาณ
การฟ้องร้องครั้งนี้เป็นคดีที่ 2 ที่มีการฟ้องหน่วยงานด้านการศึกษาของรัฐ ด้วยข้อหาที่เนื่องด้วยการแบนหนังสือ เดือนพฤษภาคมปีนี้ สมาคมนักเขียนอเมริกันและสำนักพิมพ์จำนวนหนึ่งเพิ่งยื่นฟ้องสำนักงานเขตการศึกษาเอสแคมเบีย เคาน์ตี้ (Escambia County) ในเพนซาโคลา (Pensacola) ที่สั่งแบนหนังสือ 10 เล่ม ในคราวเดียวไปแล้ว และคาดว่าน่าจะมีการฟ้องร้องในลักษณะนี้ตามมาอีก
ขณะที่เด็กนักเรียนระดับในฟลอริดาเลือกเคลื่อนไหวด้วยกระบวนการทางกฎหมายโดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครอง เด็กหนุ่มสาวชั้นมัธยมในเพนซิลวาเนียโต้กลับการกระทำของผู้ใหญ่ที่ปิดกั้นโลกแห่งการอ่านของพวกเขา ด้วยการรวมกลุ่มกันอ่านหนังสือต้องห้ามเหล่านั้น
โรงเรียนต่างๆ ในรัฐเพนซิลวาเนีย เริ่มนำหนังสือเกี่ยวกับเชื้อชาติ สีผิว LGBTQ ออกจากห้องสมุดเป็นจำนวนมากตั้งแต่กลางปี 2021 เด็กๆ เริ่มสังเกตว่าสถานการณ์เดียวกันเกิดขึ้นกับโรงเรียนในรัฐต่างๆ จนพวกเขาเริ่มวิตกว่าหนังสือดีๆ จะหายไปจากสังคมของเด็กอเมริกัน ต้นปี 2022 เด็กหนุ่มสาววัย 13-16 ปี ของโรงเรียนย่านคุตส์ทาวน์ (Kutztown) ในตอนกลางของเพนซิลวาเนีย กลุ่มหนึ่งประมาณ 15 คน นัดพบกันที่ร้านหนังสือเล็กๆ ชื่อว่า Firefly หรือหิ่งห้อย เพื่อพูดคุยกันถึงสถานการณ์ที่โรงเรียนของพวกเขานำหนังสือจำนวนมากออกไปจากห้องสมุด การพูดคุยกันในวันนั้นจบลงด้วยการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ของพวกเขา ก่อนจะตั้งเป็น ‘ชมรมหนังสือต้องห้าม’ (A Banned Book Club) นัดพบกันที่ร้านหิ่งห้อยทุก 2 สัปดาห์ เพื่ออ่านและพูดคุยกันกันถึงหนังสือต้องห้ามเหล่านั้น
“หนูชอบอ่านหนังสือ และหงุดหงิดที่เห็นหนังสือถูกแบน โดยเฉพาะเวลาที่เขาสั่งแบน เขาไม่ได้ถามความเห็นของพวกเราเลย” โจซลีน ดิฟเฟนโบจ์ (Joselyn diffenbaugh) วัย 14 ปี หนึ่งในผู้ก่อตั้งชมรมหนังสือต้องห้าม กล่าว
หนังสือที่สมาชิก ‘ชมรมหนังสือต้องห้าม’ อ่านและพูดคุยกันไปแล้ว เช่น Animal Farm นิยายเสียดสีการเมืองและสะท้อนความโหดร้ายของการปกครองระบบอำนาจนิยม ของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ที่ผู้นำไทยเคย (อาจด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์) แนะนำให้คนไทยอ่าน, The Hate U Give โดย แองจี โธมัส (Angie Thomas) นวนิยายสำหรับผู้ใหญ่ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของหนุ่มผิวดำที่ไม่มีอาวุธ ถูกยิงโดยตำรวจผิวขาว ซึ่งเป็นหนังสือที่สมาคมห้องสมุดอเมริกาพบว่าถูกแบนมากเป็นอันดับที่ 8 ในบรรดาหนังสือที่ถูกแบนทั้งหมด และ Maus: A survivor’s Tale ผลงานของอาร์ต สปิเกิลแมน (Art Spiegelman) การ์ตูนเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ในปี 1992 เนื้อหาบอกเล่าถึงประสบการณ์ตรงของพ่อของสปิเกิลแมนเอง ในช่วงที่นาซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
“เราเน้นไปที่หนังสือที่เพิ่งถูกแบนใหม่ๆ โดยเฉพาะหนังสือที่เกี่ยวกับเชื้อชาติและ LGBTQ+ แต่เราก็สนใจอ่านหนังสือที่เคยถูกแบนในยุคก่อนๆ ด้วย เพราะเราอยากรู้ว่าเหตุใดหนังสือเหล่านั้นจึงถูกแบนในอดีต เพื่อเทียบกับเหตุผลที่หนังสือถูกแบนในยุคปัจจุบัน” ดิฟเฟนโบว์ กล่าว
ชาวเมืองในรัฐมิสซูรีโต้ตอบการแบนหนังสือในระบบห้องเรียนและห้องสมุดของโรงเรียนต่างๆ ด้วยการระดมเงินกันซื้อหนังสือต้องห้ามเหล่านั้นส่งให้กับเด็กๆ ที่อยากอ่าน ฮีทเตอร์ เฟลมมิ่ง (Heather Fleming) แม่ของลูกในวัยเรียน 3 คน ก่อตั้ง ‘โครงการหนังสือต้องห้าม’ (Banned Book Program) มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาหนังสือที่ถูกแบนให้กับผู้ที่ต้องการอ่าน โดยระดมเงินบริจาคแล้วสั่งซื้อหนังสือที่ถูกแบนจากร้านหนังสือต่างๆ เพียง 3 วันแรกของการเปิดตัว โครงการหนังสือต้องห้ามก็ได้รับเงินบริจาคมากถึง 12,500 เหรียญ (ประมาณ 433,000 บาท) พร้อมรายชื่อหนังสือที่มีผู้แจ้งความประสงค์ขอรับกว่า 500 เล่ม โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากร้านหนังสือที่มีเจ้าของเป็นคนผิวดำ
นอกจากนี้ยังมีการต่อสู้ในระดับปัจเจกทั้งของเด็กและผู้ปกครองกระจายตัวทั่วไปในหลายเมืองหลายรัฐ มีคุณพ่อลูกสองคนหนึ่งในพื้นที่เขตการศึกษาเวนทซ์วิลล์ (Wentzville) สมัครรับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการโรงเรียนเพื่อให้มีสิทธิโหวตไม่เห็นด้วยกับการแบนหนังสือในอนาคต มีเด็กน้อยวัย 7 ขวบ เขียนอีเมล (โดยการช่วยเหลือของแม่) ส่งคณะกรรมการโรงเรียนเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยที่โรงเรียนนำหนังสือที่เธออยากอ่านออกไปจากห้องสมุด พร้อมทั้งเสนอแนะว่า แทนที่จะนำหนังสือออกจากห้องสมุดไปเลย โรงเรียนควรใช้ระบบการอ่านอย่างมีเงื่อนไข โดยเด็กๆ ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองก่อนจึงจะสามารถอ่านได้
สมาคมห้องสมุดอเมริกา กับการตอบโต้อย่างเป็นขบวนการ
บุคคลกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศรายชื่อหนังสือต้องห้าม และต้องนำหนังสือออกจากระบบของห้องสมุดคือ เหล่าบรรณารักษ์ โดยสมาคมห้องสมุดอเมริการะบุว่า แต่ละปีมีบรรณารักษ์ทั่วประเทศถูกบีบให้ลาออกเป็นจำนวนมาก เพราะพวกเขาปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งของผู้บริหารที่ให้นำหนังสือออกจากห้องสมุด
“การทำให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้และข้อมูล คือภารกิจของเราที่สมาคมห้องสมุดอเมริกาในทุกวันนี้ ดังนั้น พวกเราในฐานะบรรณารักษ์ จึงต้องขยับไปอยู่แนวหน้าของสมรภูมินี้ทั้งที่เราไม่ได้ต้องการ” เทรซี ดี. ฮอลล์ (Tracie D. Hall) ผู้อำนวยการบริหารของสมาคมห้องสมุดอเมริกา กล่าว
ฮอลล์เป็นผู้หญิงผิวดำคนแรกที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของสมาคมห้องสมุดอเมริกา นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1876 เธอเข้ารับตำแหน่งในปี 2020 ช่วงไล่เลี่ยกับที่โรงเรียนและรัฐต่างๆ ทั่วอเมริกาดำเนินนโยบายแบนหนังสือกันอย่างเข้มข้น ภารกิจในการต่อสู้เพื่อให้ชาวอเมริกันเข้าถึงหนังสือจึงเป็นพันธกิจสำคัญของเธอและสมาคมห้องสมุดอเมริกา ซึ่งก็คือการต่อสู้กับความพยายามแบนหนังสือของรัฐและโรงเรียนต่างๆ
ฮอลล์และสมาคมห้องสมุดอเมริกาผลักดันโครงการรวมพลังต่อต้านการแบนหนังสือ (Unite Against Book Bans) เพื่อขับเคลื่อนให้ชุมชนต่างๆ ลุกขึ้นมาเรียกร้องปกป้องสิทธิในการอ่านของชุมชนตัวเอง มีการเก็บรวบรวมสถิติตัวเลขการแบนหนังสือของรัฐต่างๆ เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูล เปิดช่องทางให้มีการร้องเรียนการเซ็นเซอร์ด้านการอ่านที่แต่ละคนประสบ ให้คำแนะนำในการจัดกิจกรรมเพื่อต่อต้านการแบนหนังสือ เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งที่โครงการรวมพลังต่อต้านการแบนหนังสือดำเนินการอยู่ มีห้องสมุดและบรรณารักษ์จำนวนมากทั่วประเทศ รวมถึงนักเรียน นักศึกษา นักอ่าน นักเขียน กลุ่มองค์กรทางภาคประชาสังคม รวมถึงบริษัทเอกชน และบรรดาคนดังเข้าร่วมเป็นพันธมิตรของโครงการเป็นจำนวนมาก
เรื่องราวการแบนหนังสือและการต่อต้านนโยบายการแบนหนังสือ จากที่เคยเป็นพันธกิจเพียงของนักเรียน พ่อ แม่ ผู้ปกครองบางกลุ่ม กลายเป็นพันธกิจร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม การรวมตัวกันแต่ละครั้งของผู้ที่เห็นด้วยกับโครงการนี้ มีจำนวนผู้เข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นทุกปี การรวมตัวครั้งใหญ่สุดที่มีผู้เข้าร่วมนับพันคนเพิ่งเกิดขึ้นกลางเดือนกรกฎาคมที่กรุงชิคาโก และเกิดการรวมกลุ่มขนาดเล็กในชุมชนต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนสังคมด้วยวัตถุประสงค์เดียวกันคือ ‘ปกป้องเสรีภาพในการอ่าน’ ทั่วอเมริกา
การขับเคลื่อนของโครงการรวมพลังต่อต้านการแบนหนังสือ ทำให้ฮอลล์และบรรณารักษ์ห้องสมุดอื่นๆ ที่เข้าร่วมขบวนการตกเป็นเป้าถูกข่มขู่คุกคาม จากบรรดาฝ่ายอนุรักษนิยม ขณะเดียวกันก็ทำให้ฮอลล์ได้รับการโหวตให้เป็น 1 ใน 100 คน ผู้ทรงอิทธิพล ประจำปี 2023 จากการจัดอันดับของนิตยสาร Time และเป็น 1 ใน 50 ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 50 ปี ที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสังคม (50 Over 50: Impact List) จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) ประจำปี 2023 ที่เพิ่งประกาศผลเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ผลรูปธรรมที่สำคัญของโครงการรวมพลังต่อต้านการแบนหนังสือปรากฎชัดเจนในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เมื่อ เจ. บี. พริตซ์เกอร์ (J.B.Pritzker) ผู้ว่าการรัฐอิลลินอยส์ลงนามรับรองกฎหมายต่อต้านการแบนหนังสือ กฎหมายฉบับดังกล่าวให้อำนาจรัฐบาลของรัฐอิลลินอยส์สั่งงดให้เงินทุนจากภาครัฐแก่ห้องสมุดต่างๆ ในรัฐอิลลินอยส์ที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของสมาคมห้องสมุดอเมริกา ที่ระบุไว้ว่า “สื่อสำหรับการอ่าน ไม่ควรต้องถูกถอดถอนหรือจำกัด เพียงเพราะไม่เป็นที่ยอมรับของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง”
“เราไม่อาจปล่อยให้กลุ่มชาตินิยมผิวขาวในประเทศของเรามาเป็นผู้ตัดสินว่า ประวัติศาสตร์ของใครควรได้รับการบอกเล่าต่อ สิ่งนี้ต้องไม่เกิดขึ้นที่รัฐอิลลินอยส์” พริตซ์เกอร์ กล่าว
แน่นอนว่าการยืนหยัดในจุดยืนของรัฐอิลลินอยส์ได้รับการตอบรับอย่างดีจากสมาคมห้องสมุดอเมริกาและพันธมิตรในโครงการรวมพลังต่อต้านการแบนหนังสือ
“ประวัติศาสตร์จะบันทึกไว้อย่างแน่นอนว่า เรา-บรรณารักษ์และสมาชิกสภานิติบัญญัติ ผู้นำพลเมือง และกลุ่มคนที่มีหน้าที่ดูแล บริการชุมชน ไม่ได้ยืนเฉย และปล่อยให้สิทธิในการอ่านและการเข้าถึงห้องสมุดอย่างเสรีถูกพรากไปจากเรา” เทรซี ฮอลล์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในวันที่ผู้ว่าการรัฐอิลลินอยส์ประกาศตนเป็นรัฐแรกที่มีกฎหมายต่อต้านการแบนหนังสือ
ฮอลล์และชาวอเมริกันตระหนักดีว่า ความพยายามการแบนหนังสือของฝ่ายอนุรักษนิยมจะไม่สิ้นสุดลง และพวกเขาก็หวังว่าการเปิดทางของรัฐอิลลินอยส์จะทำให้รัฐอื่นๆ ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา และเดินตามหนทางที่รัฐอิลลินอยส์ได้ถากถางไว้
อ้างอิง:
- Banned in the USA: State Laws Supercharge Book Suppression in Schools
- Book bans in US public schools increase by 28% in six months, Pen report finds
- Students and authors sue Florida school district that banned a book about two male penguins
- DeSantis signs ‘Don’t Say Gay’ expansion and gender-affirming care ban
- How some students are fighting back against book bans in their schools
- ‘Adults are banning books, but they’re not asking our opinions’: meet the teens of the Banned Book Club
- Illinois becomes the first state in the U.S. to ban book bans