‘เบ๊น ธนชาติ’ ไทยแลนด์แดนเซอร์เรียล

B01
เรื่อง : อารยา คงแป้น
ภาพ : อนุช ยนตมุติ

 

เบ๊น – ธนชาติ ศิริภัทราชัย ทำหน้าตาจริงจังก่อนตอบคำถามจั่วหัวของเราที่ว่า เขาเป็นคนชิคๆ หรือไม่

“ชิคเลยครับ เป็นคนฮิปๆ ด้วย เพราะถ้าวันไหนไม่ชิคเราจะเริ่มขาดความมั่นใจในตัวเอง เริ่มรู้สึกว่าตัวเราดีพอกับสังคมหรือเปล่าวะ เราค่อนข้างจะแคร์การมองจากคนภายนอกมากกว่าความรู้สึกที่มาจากจิตใจตัวเอง แล้วเราก็เป็นคนเปล่ากลวงมากๆ ถ้าวันไหนตื่นมาแล้วรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง เราจะปั่นจักรยาน Tokyobike ออกไปนั่งคาเฟ่แถวเอกมัย เพื่อสั่งกาแฟดริปที่เป็น single origin

เอาล่ะ พอดีกว่า ผมไม่กวนตีนดีกว่า ความจริงผมเป็นคนเฉยๆ มากกว่า ไม่ได้ชิคอะไรหรอก แต่หลังๆ ชอบมีคนถามว่าเราชิคไหม เป็นฮิปสเตอร์ไหม เราก็ตอบว่าใช่ครับ…จบ”

ถ้าคุณรู้จัก เบ๊น – ธนชาติ แน่นอนว่าคุณต้องรู้จักความชิคในงานของเขา ต้องรู้จัก ลุงเนลสัน ฝรั่งผมยาวหน้าตายียวน พระเอกในคลิปวิดีโอ ‘BKK 1st Time’ และคุณต้องรู้จัก ลุงชัย ฮิปสเตอร์ชาวอุบลราชธานี ที่มีชีวิตสโลว์ ไลฟ์ ปั่นจักรยานฟิกเกียร์ อ่าน Kinfolk และนั่งละเลียดกาแฟยี่ห้อดังอยู่ริมคันนา

แต่ถ้าหากคุณไม่รู้จักเขา เขาคือหนุ่มลูกครึ่งเยาวราช-อุบลฯ ผู้เขียน New York 1st Time หนังสือบอกเล่าประสบการณ์สารพัดครั้งแรก ของคนที่เพิ่งไปอยู่ในเมืองหลวงของโลกอย่างนิวยอร์ก ทั้งการถูกปล้นครั้งแรก เห็นหิมะครั้งแรก หรือแม้กระทั่งสู้กับพายุเฮอร์ริเคนครั้งแรก

นอกเหนือจากนั้น เบ๊นยังเป็นช่างภาพ เป็นคอลัมนิสต์ เป็นโปรดิวเซอร์รายการทีวีที่นิวยอร์ก

และเบ๊นก็เป็นคนขี้ประชด เป็นคนกวนตีน ที่สำคัญเขาเป็นคนที่ชื่นชอบในความเซอร์เรียลของคนไทย ซึ่งสัมผัสได้จากหนังสือของเขา – Once Ubon a Time

ในความยาว 100 หน้านิดๆ เราพบเจอความเซอร์เรียล ความขี้ประชด การเสียดสีให้แสบๆ คันๆ ในแทบทุกหน้ากระดาษ ทุกพารากราฟ ทุกรูปภาพ เอาเป็นว่าเรียกว่ามีความเซอร์เรียลทั้งเล่มน่าจะเหมาะสมที่สุด

ยกตัวอย่างหนึ่งสุดแสนจะยียวนในหนังสือ Once ubon a Time คือ การเล่าเรื่องความเชื่อในโหรศาสตร์บนฝ่ามือ โดยโหราจารย์จะส่องเส้นลายมือผ่านกล้องจุลทรรศน์ เพื่อให้เห็นถึงระดับเซลล์ และการไหลเวียนของโลหิต เพื่อตีความออกมาเป็นคำทำนายอนาคต

เราสงสัย คุณชอบความเซอร์เรียลขนาดนั้นเชียวหรือ?

“ใช่ครับ คือเราอยากทำออกมาให้มันเป็นแนวทดลอง แบบแนว ‘Mockumentary’ เป็นกึ่งสารคดีแต่โคตรเซอร์เรียลเลย แต่งเรื่องนู่น นั่น นี่ เรียกว่าเป็นแนวทดลองแล้วกันครับ เพื่อให้เข้ากับสังคมไทยที่มันฮิปๆ แต่การเขียนงานแบบนี้มันไม่ง่ายนะ สำหรับเรามันยากขึ้น เพราะมันเป็นการผสมระหว่าง fiction กับ nonfiction

“ด้านหนึ่งเราก็พยายามใส่เรื่องจริงผสมลงไป อย่างมุกการดูลายมือโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ คือความจริงมันไม่มีคนทำแบบนี้หรอก แต่เราก็ว่ามันกวนตีนดี”

B03

เบ๊นบอกว่าความเซอร์เรียลนั้นทรงเสน่ห์ มันบ่งบอกถึงความเป็นมนุษย์ และไม่ว่าจะเชื้อชาติชนใด ก็ต้องมีโมเมนต์ของความเหนือจริงเป็นส่วนผสมของชีวิตทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐเท็กซัส ในสหรัฐอเมริกา ที่อนุญาตให้คาวบอยชนเหน็บปืนติดตัวไปไหนต่อไหนก็ได้ ไม่เว้นแม้แต่ร้านกาแฟ หรือในสังคมของชาวคริสเตียนอนุรักษ์นิยม ที่มีการออกล่าชายรักร่วมเพศในยามราตรี เพื่อพาไปขึ้นศาลเตี้ยหรือขับไล่ออกจากหมู่บ้าน

“แต่ละประเทศมันก็มีความเซอร์เรียลของตัวเองนะ แต่เราใกล้ชิดกับความเซอร์เรียลในประเทศเรามากกว่าไงครับ เคยเห็นตามออฟฟิศแถวสีลมไหม ที่มีพระมายืนบิณฑบาต พอคนเดินมาใส่บาตรปุ๊ป ใส่เสร็จพระก็หยิบของกลับไปวางไว้ที่ร้าน แล้วก็เอามาเวียนขายกันใหม่ กลายเป็นการรีไซเคิลของ กลายเป็นว่าเราไปซื้อโมเมนต์นั้น เราไม่ได้ซื้อของให้พระ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ท่าน อันนี้เซอร์เรียลมากเลย”

นอกจากสังคมในภาพกว้างจะอิงแอบอยู่กับเรื่องเหนือจริงแล้ว แน่นอนปัจเจกชนย่อมมีความเซอร์เรียลเป็นของตัวเอง ยกตัวอย่างแบบง่ายที่สุด คือ การเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามเพื่อเพิ่มความดีงามให้ชีวิต

ซึ่งในประเด็นนี้ เบ๊นบอกว่าไม่ต้องไปยกตัวอย่างจากคนอื่นไกล เพราะแม่เขาเองก็เปลี่ยนชื่อ และขอร้องให้ลูกชายเรียกว่า ‘คุณแม่’ แล้วตามด้วยชื่อใหม่ เพราะการมีชื่อใหม่คือการเสริมดวง หรือแม้แต่ยายของเขาก็มีความเซอร์เรียล เพราะแนะให้เอาเขียดไปตบปากเด็กที่เติบโตถึงขวบวัยที่สมควรหัดพูด แต่ยังไม่พูดเสียที

“ยายบอกว่าตบๆ ไปเหอะเดี๋ยวมันก็พูดเองแหละ” จบประโยค เขาเอามือกุมหัวตัวเอง ร้องออกมาด้วยเสียงอันดังว่า เห้ย…อะไรวะเนี่ยยาย เปล่า-เขาไม่ได้พูดกับยาย แต่ว่าพูดกับเรา

หลังเสียงหัวเราะครืนใหญ่ และชาเขียวในแก้วไหลผ่านลำคอ  บทสนทนาก็ทำงานของมันต่อไป

แล้วอะไรคือสุดยอดความเซอร์เรียลในประเทศเรา?

“ถ้าตอบไปแล้วไม่รู้ว่ามันจะเป็นเรื่องที่หนักไปหรือเปล่านะ แต่เราคิดว่าการตีความศาสนาพุทธคือความเซอร์เรียล ถ้าลองศึกษาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา พระพุทธเจ้าตรัสไว้แบบเรียบง่ายมากๆ ใจความก็คือ การโฟกัสในชีวิต คือการเชื่อมั่นสติปัญญาของตัวเอง การคิดแล้วก็ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน นี่คือแก่นที่ท่านให้เรามา แต่หลังๆ มันแตกออกไปเยอะ อย่างเช่นเรื่องวัตถุมงคล เรื่องความคงกระพันเรื่องผลบุญจากชาติปางก่อน”

B05

พอพูดถึงเรื่องวัตถุมงคล เบ๊นนึกความเซอร์เรียลอีกอย่างหนึ่งของเรื่องนี้ขึ้นมาได้

“รู้ไหม มันมีแก๊งพวกนี้ด้วยนะ ที่เขาจะนั่งไปกับปอเต็กตึ๊ง แล้วเวลามีรถชน มีคนตาย เขาจะเอาหลวงพ่อวัดดังๆ ไปแขวนที่รถเพื่อดิสเครดิตว่าไม่เห็นขลังเลย คือเอาไปทำพล็อตหนังได้เลยนะ นี่มัน documentary Sundance ชัดๆ

“ซึ่งเราว่าเรื่องพวกนี้มันไม่ผิด แต่บางครั้งมันเกิดการให้น้ำหนักมากเกินไป แล้วทำให้เราเชื่อมั่นในสติปัญญามนุษย์น้อยลง เพราะเรามั่นใจเหลือเกินว่ามันมีปัจจัยอื่นอีกมากที่มาเป็นตัวกำหนดวิถีของเรา”

กับเรื่องความเชื่อในสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์ได้ เบ๊นไม่ได้มองว่านั่นคือสิ่งงมงาย เพราะความจริงเราและไม่ต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ไปเสียทุกเรื่อง อีกทั้งแต่ละท้องถิ่นย่อมมีความเชื่อที่ต่างกันออกไป

“มันไม่ใช่สิ่งที่แย่ มันไม่ได้แปลว่าการเชื่อแบบนั้นแปลว่ายังไม่พัฒนา” เขาเน้นย้ำ

เบ๊น–ธนชาติ ตั้งขอสังเกตอีกว่า การยึดถือ เชื่อมั่น และศรัทธาในสิ่งที่มอง เป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้คนธรรมดารู้สึกว่าตนเองมีที่เหยียบที่ยืนสังคม

“เราโตมาในสังคมที่การเป็นมนุษย์ธรรมดามันไม่เวิร์ค เราโตมาในสังคมที่มีระดับขั้น การเป็นคนชั้นล่างสุดมันเลยไม่เวิร์ค ไม่เชื่อในศักยภาพของตัวเอง มันเลยต้องยึดถือบางอย่างให้รู้สึกดีขึ้น เพราะเราจะรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างอยู่เหนือเราตลอดเวลา เรารู้สึกว่าคนเราไม่เท่ากันมันก็เป็นความเซอร์เรียล”

B04

ด้วยความที่ไปพำนักอยู่นิวยอร์กนานหลายปี เขาเล่าให้เราว่าสังคมในต่างประเทศ โดยเฉพาะดินแดนเสรีชนอย่างสหรัฐอเมริกา แม้ความเซอร์เรียลของปัจเจกจะมีความเข้มข้นแบบสุดขั้ว แต่ความเป็นคนเท่าเทียมกันของประชากรก็เข้มแข็งอย่างยิ่ง

“เอาจริงๆ ที่เราอยากกลับไปทำงานที่นิวยอร์กเพราะเราไม่ได้ชอบแสงสี ไม่ได้ชอบความเจริญ แต่เราชอบความเป็นมนุษย์สามัญชนที่มีความสุข มีรถเมล์ที่ตรงเวลา มีรถไฟที่ดี เรามีเลนถนน มีฟุตบาทกว้างๆ ให้เราเดินได้ มีประกันรักษาพยาบาลที่ดี มีการดำเนินการทางกฎหมายที่ดี มีการที่คนธรรมดาสามารถต่อสู้กับบริษัทใหญ่ๆ ได้ คือเรารู้สึกว่าอยู่ที่นั่นแล้วเรามีพลังในการเป็นมนุษย์ในยูนิตที่ต่ำที่สุด โดยไม่ต้องมีเส้นมีสาย ไม่ต้องรู้จักคนนั้นคนนี้ เราเชื่อว่ามนุษย์ธรรมดามันมีสิทธิ์มีเสียง”

ซึ่งสภาพสังคมบ้านเรายังคงห่างไกลจากจุดนั้น ?

“มันมีตัวอย่างง่ายๆ ของบ้านเรา อย่างเวลาไปติดต่อราชการ เราไม่เคยเดินเข้าไปดื้อๆ เพราะเราคิดว่ามันช้า เพราะระบบราชการบ้านเรามันไม่ใช่ public service มันเป็นอะไรสักอย่างที่คนแต่ก่อนพูดว่าถ้าอยากเป็นเจ้าคนนายคนให้ไปทำงานราชการ

“เวลาเราจะติดต่ออะไรเราเลยต้องโทรหาใครสักคน ว่าเขารู้จักใครในระบบราชการนี้ไหม ช่วยเดินเรื่องให้ผมหน่อย เพราะการเข้าไปในฐานะคนธรรมดามันไม่เวิร์ค แล้วเราก็ยอมเรื่องพวกนี้ได้ เรามีความอะลุ่มอล่วยกับเรื่องพวกนี้”

ความเซอร์เรียลยังคงปฏิบัติหน้าที่ของมันต่อในไปในทุกวัน ทั้งระดับบุคคลที่เป็นหน่วยเล็กที่สุด หรือระดับสังคมของประชากรหลายสิบล้านคนในประเทศของเรา ความเซอร์เรียลมีทั้งด้านน่ารักและด้านเจ็บปวด แต่หากมองด้วยสายที่ไม่วิพากษ์มันก็เป็นเรื่องตลกดีๆ นี่เอง

“ใช่ๆ มันตลกนะเว้ย สำหรับเรามันดี เพราะเวลาเจออะไรพวกนี้มันได้ความครีเอตเยอะดี เหมือนถูกต่อยกบาล”

ในเมื่อเขาชื่นชอบเรื่องเซอร์เรียลเพราะรู้สึกเหมือนถูกต่อยกบาล เราจึงแอบคิดใจในว่าเขาคงหลงรักความเซอร์เรียลอย่างสุดหัวใจแล้วจริงๆ

…ขอจงสุขสันต์กับความเซอร์เรียล

B06

 

**********************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร WAY ฉบับ 85, พฤษภาคม 2558)

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า