ขออนุญาตแชร์นะคะ: 5 เรื่องปังบนแฟนเพจ WAY Magazine ปี 2018

เวลามีเนื้อหาอะไรที่ถูกอกถูกใจบนเฟซบุ๊คมักจะมีคอมเมนต์หนึ่งโผล่มาท่ามกลางบรรดาคอมเมนต์อื่นๆ ว่า “ขออนุญาตแชร์นะคะ” แน่นอนสำหรับคนทำเนื้อหาย่อมรู้สึกยินดีปรีดาเป็นอย่างยิ่งอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราสังเกตมากกว่านั้นคือ เนื้อหาแบบไหนที่ผู้อ่านชื่นชอบ กดไลค์ ใส่คอมเมนต์ และขอแชร์ ก่อนได้รับคำตอบว่า ไม่มีอะไรที่แน่นอนว่าเนื้อหาเช่นใดเป็นสูตรสำเร็จ บางเรื่องที่ตั้งใจทำก็ไม่ได้ปังอย่างที่คิด บางเรื่องที่ใช้เวลาจัดการเพียงน้อยนิดก็สร้าง impact ในวงกว้างได้เช่นกัน

ที่คิดแบบนั้นไม่ได้กล่าวกันลอยๆ เพราะหลักฐานที่พบผ่านสถิติบนเฟซบุ๊คบอกว่า นี่คือ 5 อันดับเนื้อหาที่มี reach มากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา

…..

อันดับ 5 รีวิว น้องพี่ที่รัก

สุดยอดรอมคอม นักแสดงประทับใจไม่รู้ลืมทุกคน

ณิชคุณ นี่ไม่น่าเชื่อ บอกว่าจะไม่รัฐประหารๆ จู่ๆ มาเฉ้ย แต่ก็แสดงดี น่ารักน่าเอ็นดู ฉากสุดประทับใจคือตอนออกกำลังกายจับกบ ถ้าบอกว่าหน้ามืดจริงๆ นี่ก็เชื่ออะ

ญาญ่า นี่ฝีมือการแสดงหายห่วงอยู่แล้ว ดูแล้วโคตรกดดัน “นี่ก็ถอยจนไม่รู้จะถอยยังไงแล้ว” ฉากนี้มีน้ำตาซึมอะ

แต่ซันนี่ นี่คือที่สุดละของการแสดงแบบไม่ต้องเปลืองแรง เล่นทีเดียว มีมีมล้อยันลูกหลานเหลนโหลนภายหน้า โดยเฉพาะในการ์ตูนใบ้ที่เป็นมุกคลาสสิกตลอดกาล

พล็อตคลิเช่ไปหน่อย ยิงมุกรัวๆ ช่วงแรก จนหลังๆ ไม่รู้เหลืออะไรให้ลากอีกมั่งกว่าจะเลือกตั้ง

อ้อ หนังยังไม่จบนะ ภาคต่อไม่รู้มาเมื่อไหร่ แต่จักรวาลน้องพี่ที่รักนี่น่าจะวางแผนไปอีกยี่สิบปีตามยุทธศาสตร์

ให้ 9/10 ดีงามทุกภาคส่วน หักแต้มนึงเพราะหดหู่ ดันเสือกคล้ายเรื่องจริง

อันดับ 4 ความคับข้องใจของสถาปนิกหนุ่ม

ไม่รู้ว่าอะไรไปก่อกวนจิตใจให้ ‘โจ้ ศิลา’ สถาปนิกและนักวาดการ์ตูนในตำนานเกิดคันในง่ามความคิดขนาดนี้ แต่การเล่าเรื่องผ่านลายเส้นยึกยืออย่างประณีตกลับสร้างความขมขื่นให้มิตรรักนักอ่านอย่างล้นหลาม เรื่องนี้ไม่เพียงแต่กระตุกต่อมหัวเราะทั้งน้ำตาเท่านั้น แต่สร้างการถกเถียงและแลกเปลี่ยนเป็นวงกว้าง ระหว่างภาพฝันของคนอยากมีบ้าน การออกแบบของสถาปนิก และชีวิตจริงที่ไม่ได้สวยงามเหมือน reference ที่หามาจาก pinterest

อันดับ 3 สายสตรีท

โดยข้อเท็จจริงแล้ว นี่คือคลิปวิดีโอเพื่อโปรโมทหนังสือเล่มใหม่ของสำนักพิมพ์ WAY of BOOK แต่ ‘แบงก์ สิทธิกร’ ผู้ไม่เคยปฏิเสธคำร้องขอของผู้ใด และเป็นน้องใหม่ในกองบรรณาธิการซึ่งมีคำพูดติดปากว่า “ได้ครับๆ” กลับทำให้คลิปนี้สนุกมากกว่าการขายของ

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งย่อมต้องยกความดีความชอบให้กับต้นเรื่องคือ บุญเลิศ วิเศษปรีชา ผู้เขียนหนังสือ สายสตรีท: มานุษยวิทยาข้างถนนในมะนิลา ซึ่งเก็บบันทึกงานวิชาการที่เปี่ยมไปด้วยสีสันแล้วมาถ่ายทอดให้เราได้ฟังและได้อ่าน

อันดับ 2 ภาพพูด ‘4 ปีแล้วไอ่สัส’

22 พฤษภาคม มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ออกมาชุมนุมบนท้องถนน ‘อนุชิต นิ่มตลุง’ ช่างภาพประจำกองบรรณาธิการเดินทางไปที่นั่นเพื่อบันทึกเหตุการณ์ก่อนนำภาพเหล่านั้นมาสื่อสารบนแฟนเพจแบบประหยัดถ้อยคำ

อัลบั้มภาพชุดนั้นถูกแชร์อย่างกว้างขวาง ทว่ามีภาพหนึ่งที่โดดเด้งขึ้นมา มันไม่ใช่ด้วยสีหน้าและท่าทางของผู้ชุมนุม แต่เพราะกระดาษลังแผ่นเดียวที่ถูกเขียนด้วยลายมือว่า “เราไม่ได้มายึดทำเนียบ คสช. ต่างหากยึดมาตั้ง 4 ปีแล้วไอ่สัส”

เมื่อภาพพูดเองได้เช่นนี้จึงพอเข้าใจแล้วว่า ทำไมไม่จำเป็นต้องสิ้นเปลืองถ้อยคำมาอธิบายเหตุการณ์

อันดับ 1 ประเทศกูมี

‘ประเทศกูมี’ บทเพลงแห่งปีที่กระตุกสังคมให้ลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจ และตั้งคำถามต่อสังคมอย่างตรงไปตรงมา เพลงนี้ได้รับความสนใจเพียงใดวัดได้จากพฤติกรรมของกองบรรณาธิการที่ปกติถึงยามเย็นจะเน้นฟังเพลงอินดี้ อัลเทอร์เนทีฟร็อค เมทัล เคป๊อป และคาราบาว ยังต้องเปลี่ยนแนวมาฟังเพลงแร็พ

ระหว่างที่สังคมกำลังโยกหัวตามจังหวะแร็พ กองบรรณาธิการตัดสินใจกดปุ่ม pause บน player แล้วเดินทางไปสัมภาษณ์ศิลปินกลุ่ม Rap Against Dictatorship ณ คอนเสิร์ตแห่งหนึ่ง เพื่อตั้งคำถามถึงเบื้องหลังของบทเพลงนี้ที่สั่นสะเทือนไปทั้งสังคม ก่อนได้รับคำตอบกลับมาด้วยท่อนแร็พว่า “มีคำถามจากสังคม ว่าทำไปทำไม คำตอบมีอย่างเดียว ทำสิ่งที่มึงไม่ทำไง”

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า