ทำไมเราถึงคุยเรื่อง Bitcoin กับ ชายหนุ่มหน้าตี๋ และอารมณ์ดี ลิ่ว-วสันต์ ลิ่วลมไพศาล
- เขาคือผู้ร่วมก่อตั้ง เว็บไซต์และชุมชนคนในวงการไอทีและเทคโนโลยี www.blognone.com ตั้งแต่ปี 2547
- เขาจบปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 และปริญญาโทจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- เขาคือคนเขียนบทความต่างๆ เรื่อง Bitcoin ลงใน blognone และ Lew คือชื่อที่เขาใช้ในโลกออนไลน์
- แม้จะเป็นผู้สนใจและเกาะติดชนิดหาตัวจับยากแต่เขาไม่มี Bitcoin เป็นของตัวเองแม้สักเหรียญ แต่สำคัญที่สุด คือ…
- “ตามทันไหมครับ” วสันต์พูดประโยคนี้ขึ้นมาบ่อยมากตลอดการสนทนา – เรื่องไม่ง่ายและเป็นความรู้ใหม่แบบนี้ เรียกว่าขอความรู้คงไม่ผิดนัก หลายๆ คำตอบเขายินดีรีรันอย่างน้อยสองสามครั้งจนกว่าเราจะหายตาใส ก่อนจะไปสู่คำถามยากๆ ถัดไปอย่างเข้าใจร่วมกัน
จึงมั่นใจได้เลยว่า เลคเชอร์วิชา Bitcoin ถัดจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป คนสอนใจดีแน่นอน
Bitcoin คืออะไร?
bitcoin.co.th อธิบายสั้นๆ ไว้ว่า Bitcoin คือ สกุลเงินดิจิตอล ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของระบบเน็ตเวิร์คคอมพิวเตอร์
อธิบายให้ยาวและมีชีวิตชีวามากกว่านั้น ก็คือ เงินที่ ‘cashless’
“หมายความว่าการที่เราเป็นเจ้าของเงิน 500 บาท ซึ่งมันอาจมาในรูปกระดาษ (ธนบัติ) หรือเหรียญ นั่นคือสิ่งแทนมูลค่า แต่สำหรับ Bitcoin ไม่มีวัตถุแทนมูลค่า แต่เราเป็นเจ้าของตัวเลขมูลค่า 500 บาทจริงๆ และสามารถโอนไปให้คนอื่นได้” วสันต์ ลิ่วลมไพศาล เริ่มต้นอธิบาย
ย้อนกลับไปเดือนมกราคม ปี 2552 Bitcoin เกิดขึ้นจากบุคคลที่ชื่อ ซาโตชิ นากาโมโตะ (Satoshi Nakamoto) ดูจากชื่ออาจจะคิดว่าเขาคือคนญี่ปุ่น แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าเขาคือใคร
มีข่าวลือต่างๆ นานาเกี่ยวกับเขา บ้างก็ว่าเขาเป็นคนออสเตรเลีย บ้างก็ว่าเขาคือเจ้าของ Bitcoin กว่า 1 ล้านเหรียญ หรือกว่า 100,000 ล้านบาท (มูลค่าราคาขาย ณ วันนี้ 1 Bitcoin = 326,239.66 บาท)
“ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร แต่เชื่อกันว่า เขาน่าจะมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ระดับปริญญาเอกที่เข้าใจระบบ Distributed Computing (กระจายตัว) ซึ่งเฉพาะทางในสายคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี”
Bitcoin ต่างจากเงินทั่วไปอย่างไร
นากาโมโตะคิด Bitcoin ขึ้นมาเพื่อให้เป็นเงินที่ ‘ไร้ศูนย์กลาง’ (decentralized) เพราะเขาไม่เชื่อและไม่ชอบในระบบธนาคารและรัฐบาล
“ทำไมต้องให้ใครหรือองค์กรใดมาดูแลเงินของเราด้วย” คำถามตั้งต้นของนากาโมโตะ
“ข้อหนึ่ง รัฐบาลไม่ชอบใคร สามารถอายัดบัญชีได้ ยึดเงินได้ ข้อสอง รัฐบาลยังสามารถควบคุมวงเงินในระบบได้ด้วย ถ้าแบงก์ชาติเกิดอยากพิมพ์ธนบัติออกมาเยอะๆ ก็ทำได้ (ในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติ คงต้องมีขั้นตอนมากกว่านั้น) ที่ผ่านมามันก็เคยมีเคสบ้าๆ เกิดขึ้นเหมือนกัน เช่น บางประเทศประกาศยกเลิกธนบัตรบางประเภท บางธนาคารยึดเงินบางบัญชีคืนทั้งระบบไปดื้อๆ” วสันต์อธิบาย
เงินดิจิตอลสกุลนี้จึงเกิดขึ้นด้วยจุดแข็งที่ว่า ไม่มีใครอยู่เหนือใคร ไม่มีใครสั่งยึดเงินใคร และไม่มีใครสามารถทำอะไรกับเงินใครได้
ความเจ๋งก็คือ มันเกิดขึ้นมาจากคนคนเดียว หรือหลายคนก็ไม่รู้ แต่มันเป็นชื่อเดียวที่ปรากฏขึ้นมา พร้อมเอกสารดีไซน์ และ code จากอากาศธาตุ
อยากมี Bitcoin ทำอย่างไร
สำหรับคนทั่วไปถ้าต้องการมีบัญชี Bitcoin แค่ดาวน์โหลดโปรแกรมชื่อ Bitcoin Wallet แล้วโปรแกรมจะให้สร้างบัญชี หรือ address ขึ้นมาให้เป็นตัวเลข ซึ่งบัญชีนี้จะมาพร้อมกุญแจลับหรือพาสเวิร์ด โดยหนึ่งคนจะสร้างกี่บัญชีก็ได้ ขอเพียงแต่จำกุญแจลับได้ก็พอ
วสันต์อธิบายต่อว่า ทุกครั้งที่เราดาวน์โหลดและรันโปรแกรม Bitcoin Wallet มันก็จะไปเชื่อมกับคอมพิวเตอร์เจ้าของบัญชี Bitcoin คนอื่นๆ โดยอัตโนมัติ และหน้าใหม่สามารถไปขอดาวน์โหลดตารางการโอน-ถอนเงิน (รายการเดินบัญชี) ทั้งหมดตั้งแต่เริ่มมี Bitcoin ในปี 2009 มาเก็บไว้ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเองได้
วิธีการหา Bitcoin ที่ง่ายและแพง (มากกก) คือ ซื้อตามบริษัทรับซื้อ-ขาย Bitcoin อัตราแลกเปลี่ยนตอนนี้ (ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2560) ราคาขาย 0.1 Bitcoin = 11,377 บาท ราคารับซื้ออยู่ที่ 11,914 บาทต่อ 0.1 Bitcoin
“เราก็แค่ไปซื้อแล้วก็สั่งโอนเข้าบัญชีของเรา ก็เหมือนหุ้น มีคนเสนอซื้อเท่าไหร่ เสนอขายเท่าไหร่ก็จับคู่กันไป ราคาจึงวิ่งมาก เมืองไทยก็เริ่มมีตลาดซื้อขายบ้าง”
ว่าด้วยนักขุด (Miner)
อีกวิธีที่ยากกว่าคือ แปลงร่างเป็น ‘นักขุด Bitcoin’ หรือ ‘Miner’
“นักขุด (Miner) ต้องแก้สมการชั้นครูที่นากาโมโตะกำหนดไว้ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า Blockchain หรือกระบวนการที่ให้ทุกคนช่วยกันทำงานงานหนึ่ง เพื่อประกาศว่าสถานะของตารางการโอนเงินของทั้งระบบเป็นอย่างไร และใครที่ประกาศสถานะล่าสุด หรือ Block ได้เร็วที่สุด คนนั้นก็จะได้รางวัลเป็น Bitcoin จำนวนหนึ่ง ซึ่งสมการนี้จะมีให้แก้เพื่อประกาศ Block ทุกๆ 10 นาที
ทำไมถึงต้องมี Blockchain?
วสันต์ ชี้ว่า ความต่างอย่างหนึ่งของ Bitcoin คือ ไร้ศูนย์กลาง ไม่มีเซิร์ฟเวอร์ของสถาบันใดดูแล ฉะนั้นคนใช้งานก็ต้องดูแลกันเอง โดยมีแรงจูงใจคือรางวัลที่ดึงให้คนอยากเข้ามาแก้สมการและชิงประกาศ Block (รายการเดินบัญชี) เป็นคนแรก
เปรียบเทียบว่าธนาคารทุกวันนี้ทำหน้าที่ดูแลสมุดบัญชีอยู่เล่มหนึ่งที่บันทึกว่าใครมีเงินเท่าไหร่ ใครโอนให้ใครก็ไปบอกธนาคารให้บันทึกลงสมุดไป ว่าเงินหายจากนาย ก. ไปอยู่กับนาย ข. แล้ว แต่ใน Bitcoin สมุดมีแต่ปกเปล่าๆ ไม่มีกระดาษข้างใน แล้วนักขุดทุกคนก็แย่งกันมาเอากระดาษรายการบัญชีมาวางทับกันไปเรื่อยๆ หน้าแรกอาจจะระบุว่านาย ก. มีเงิน 100 Bitcoin หน้าสองก็ระบุว่านาย ก. โอนให้นาย ข. 25 Bitcoin เหลือเพียง 75 Bitcoin
“เป็นกติกาของระบบเลยว่า ถ้าคุณสามารถแก้สมการแล้วประกาศสถานะของตารางเงินทั้งระบบเป็นคนแรก จะมีเงินจากอากาศธาตุเข้าตัวเองจำนวนหนึ่งในระบบเสมอ แล้วคนอื่นก็ยอมรับ ถ้าเทียบกับสมุดบัญชี ทุกหน้าของสมุดก็จะมีบรรทัดแรกสามารถโอนเงินโดยไม่มีที่มาได้ เช่น นาย ค. เป็นคนประกาศบล็อก ก็จะมีบรรทัดแรกบอกว่า โอนเข้านาย ค. 50 Bitcoin อยู่”
การประกาศบล็อกช่วงแรกๆ ผลตอบแทนอยู่ที่ 50 Bitcoin แต่นากาโมโตะออกแบบให้เงินรางวัลลดลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป
“ตอนนี้จะอยู่ที่ 12.5 Bitcoin โดยมูลค่าที่ได้จะลดลงทีละครึ่งตามช่วงเวลา”
Blockchain คืออะไร
ถ้าเริ่มงงตรงบรรทัดนี้ อยากเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ ว่า Bitcoin คือเงินในบัญชี Blockchain ก็คือตารางการฝาก-ถอน-โอนเงิน
- Blockchain ทำหน้าที่เหมือนบัญชีกลางที่รวมทุกการเคลื่อนไหวของ Bitcoin ถ้าเปรียบ Bitcoin เป็นเงินในบัญชีธนาคาร Blockchain ก็คือ ตารางการฝาก-ถอน-โอนเงิน
- ทุกคนที่เปิดบัญชี Bitcoin โดยการดาวน์โหลดและรันโปรแกรม Bitcoin Wallet คอมพิวเตอร์ของเราจะไปเชื่อมกับคอมพิวเตอร์เจ้าของบัญชี Bitcoin คนอื่นๆ โดยอัตโนมัติ และนักเล่นหน้าใหม่ทุกคนสามารถดาวน์โหลดตารางการโอน-ถอนเงินทั้งหมดตั้งแต่เริ่มมี Bitcoin (ปี 2009) นี้ได้จากคนอื่นๆ มาลงที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเองได้
- เมื่อทุกคนมีตารางการโอน-ถอนเงินทั้งหมด จึงนำไปสู่การแข่งกันแก้สมการของนากาโมโตะ
- สมการของนากาโมโตะตั้งขึ้นมาเพราะระบบไร้ศูนย์กลางของ Bitcoin หมายความว่าไม่มีเซิร์ฟเวอร์หลักคอยบันทึกการทำธุรกรรมของแต่ละบัญชี แต่ในโลกของ Bitcoin หน้าที่บันทึกนี้เป็นของทุกคน
- นากาโมโตะ ออกแบบไว้ให้มีการบันทึก Block ทุกๆ 10 นาที คนที่จะบันทึก Block ได้ก็ต้องแก้สมการที่นากาโมโตะสร้างขึ้นมาให้ได้
- ผู้ชนะคือผู้ที่แก้สมการได้แล้วประกาศสถานะการฝาก-ถอน-โอนเงินล่าสุดได้เป็นคนแรก จะได้ Bitcoin เป็นรางวัล เรียกระบวนการนี้ว่า การประกาศ Block และเรียกบรรดานักแก้สมการนี้ว่า นักขุด (Miner)
การ์ดจอที่หายไป
การจะประกาศ Block ได้ ต้องแก้สมการให้ได้ก่อน แก้อย่างไร หนึ่งในวิธียอดนิยมคือ การใช้บริการการ์ดจอช่วยประมวลผล
“การ์ดจอทุกวันนี้ พลังประมวลผลสูงมาก ในการ์ดจอเป็นหน่วยประมวลผลเล็กๆ เยอะมาก พลังรวมสูงมาก เขาก็เอาสมการในการแก้ Bitcoin ไปรันอยู่ข้างในเพื่อจะได้ประกาศ Block ใหม่แล้วได้ Bitcoin มา”
ราคาการ์ดจอต่อหนึ่งชิ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 10,000-30,000 บาท เมนบอร์ดของคอมหนึ่งเครื่องบรรจุได้หกการ์ดจอ ถามว่าคุ้มไหม วสันต์ไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ยิ่งกว่าแช่แป้งคืองานคอมมาร์ทที่ผ่านมา คนแห่ซื้อการ์ดจอจนหมดงาน ลุกลามไปถึงห้างร้านพันธุ์ทิพย์-มาบุญครองที่เข้าขั้นขาดตลาด
“นักขุดบางรายก็เป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีศูนย์ข้อมูลของตัวเอง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือใช้ไฟหนักมาก ยกตัวอย่างในจีน เขาไปเช่าทั้งชั้นในโรงงานไฟฟ้าเพื่อเปิดศูนย์ข้อมูลและขุด Bitcoin แล้วซื้อไฟตรงจากที่นั่นเลย เพราะต้นทุนมีไม่กี่อย่างคือ ค่าไฟ ค่าแอร์ ค่าคน คุ้มไหมไม่รู้แต่มีคนทำ หรือบางรายก็ไปตั้งบริษัทที่ประเทศหนาวๆ เช่น ไอซ์แลนด์ ประหยัดค่าแอร์ไง (หัวเราะ) เปิดพัดลมเอาก็เย็นเหมือนกัน”
เริ่มจากการใช้ซื้อพิซซ่า
แรกๆ มูลค่า Bitcoin ไม่สูงถึงขนาดนี้ จำกัดกลุ่มกันอยู่ในกลุ่มคนเนิร์ดๆ ในสายไอทีคอมพิวเตอร์ ที่สนใจในระบบมากกว่ามูลค่า
“เริ่มมาจากการเล่นกันขำๆ แรกๆ ระบบมันน่าสนใจมากสำหรับคนสนใจไอที ส่วนใหญ่เป็นเด็กเอกคอมพิวเตอร์ ลองเล่นดูกัน แล้วเริ่มจัดปาร์ตี้ ขายพิซซ่า ประมาณว่า เจ้าของร้านพิซซ่าประกาศว่าใช้ Bitcoin ซื้อพิซซ่าได้”
ถัดจากนั้นจึงเป็นการโอน-ถอนระดับขำๆ เพื่อทดสอบระบบในหมู่นักเลงไอที สักพักเริ่มมีการตั้งบริษัทรับซื้อขายอย่างจริงจัง แต่ราคาไม่แพงมาก 1 Bitcoin เท่ากับ 5-10 ดอลลาร์เท่านั้น
โอนง่าย ขายคล่อง
พอตลาดเริ่มขยายขึ้น นอกจากซื้อมาขายไปไว้เก็งกำไรลงทุนแล้ว หลายคนมักใช้บริการโอนเงินข้ามประเทศผ่าน Bitcoin ข้อดีอยู่ที่รวดเร็ว เสียค่าธรรมเนียมน้อย บางครั้งก็ไม่เสียเลย เมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารที่เสียมากกว่าทั้งเวลาและค่าธรรมเนียมการโอน
“ระบบโอนเงินผ่าน Bitcoin ค่าธรรมเนียมการโอนจะให้แก่นักขุดหรือ Miner โดยผู้โอนสามารถบอกได้ว่า ใครก็ตามที่ประกาศ Block เอาเงินค่าโอนจากฉันเลย 0.5 Bitcoin จากเงินที่โอนทั้งหมด 100 Bitcoin พอประกาศปุ๊บ นักขุดก็จะแย่งกันเข้ามาประกาศ Block แล้วแย่งชิงคำโอนนี้มาใส่ Block ตัวเองโดยการแก้สมการให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะจ่ายทั้งค่าธรรมเนียมการโอนและค่าประกาศ Block คนแรก”
นักขุดบางคนอาจไม่เก็บค่าธรรมเนียมการโอนเลยก็ได้ เพราะหวังแค่ประกาศ Block เป็นคนแรก ผลประโยชน์ก็ตกที่คนโอนไป ได้โอนเงินฟรีแถมเร็วกว่าธนาคารเป็นไหนๆ
“แต่ก่อนเราใช้บริการโอนผ่าน MoneyGram หรือไม่ก็ Western Union ซึ่งต้องมีทุนใหญ่มากๆ ในการ set up ระบบ แต่เดี๋ยวนี้ Bitcoin ทำได้ ตอนนี้อัตราการทำการโอนของ Bitcoin อยู่ที่สี่ครั้งต่อวินาที จริงๆ มันน้อยมากเมื่อเทียบกับ Visa ที่บอกว่ารับได้ 65,000 รายการต่อวินาที แต่อย่าลืมว่า Bitcoin เกิดขึ้นจากใครไม่รู้ แต่มัน run อยู่จริงและมีคนโอนเงินไปมาจริง”
ความรวดเร็วในการโอนนี้ ทำให้ Bitcoin ไปไกลมากขึ้นเรื่อยๆ หลายประเทศเปิดรับซื้อขายด้วย Bitcoin โดยเฉพาะญี่ปุ่น รัฐบาลประกาศให้เป็นสินทรัพย์ที่ถูกกฎหมาย อีกทั้งยังยกเลิกภาษีผู้บริโภค 8 เปอร์เซ็นต์ อีกด้วย
ล่าสุด Marui ห้างสรรพสินค้าชื่อดังในญี่ปุ่น เซ็นสัญญาหุ้นส่วนกับ BitFlyer ผู้ให้บริการแลกเปลี่ยน Bitcoin ในการติดตั้งระบบ payment solution แล้ว ทำให้ Marui เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่แห่งแรกในญี่ปุ่นที่เริ่มรับการจ่ายเงินด้วย Bitcoin ก่อนหน้านี้ก็มีร้าน BIC Camera และสายการบิน Peach Airlines ที่ประกาศรับ Bitcoin ไปก่อนหน้านี้
ข้อเสียก็มีมาก ท่ายากก็เยอะ
ความที่เป็นสกุลเงินที่ไร้ศูนย์กลาง ไม่มีใครควบคุม ชื่อบัญชีใช้เป็นตัวเลข ไม่สามารถระบุตัวบุคคล จึงเป็นช่องทางฟอกเงินของมิจฉาชีพโดยเฉพาะกลุ่มค้ายาเสพติด
“จะแบงก์ชาติหรือ FBI ก็ไม่สามารถสั่งให้บล็อกหรืออายัดบัญชีได้”
แต่ก็ใช่ว่าจะไร้วิธีสะกดรอยตามเสียทีเดียว…
“ผมไปงาน INTERPOL World เมื่อสองปีก่อน ก็มีบริษัทรับจ้างสอบสวน Bitcoin แล้วนะ เพราะโดยระบบมันเปิดเผยหมดว่าบัญชีไหนมีเงินเข้าออกเท่าไหร่บ้างเพียงแต่ไม่ระบุชื่อ ถ้าพบบัญชีค้ายาเสพติดในเว็บหนึ่ง รับเป็น Bitcoin บริษัทนี้ก็จะไล่ track จนกระทั่งรู้ว่า Bitcoin ถูกแลกเป็นเงินออกไปที่ไหน ก็ค่อยไปขอความร่วมมือจากประเทศนั้น”
Bitcoin มาไม่มาไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ …
“เอิ่ม (คิดนาน) ถ้าเป็นเทรนด์ในระดับใช้งานในชีวิตประจำวัน ผมไม่คิดว่าเร็วๆ นี้จะเป็น อาจเป็นเฉพาะกลุ่ม ผู้สนใจ หรือชีวิตมีเงื่อนไขตรงกับการใช้งานบางอย่าง เช่น ประเทศที่โอนเงินข้ามประเทศลำบากมากๆ แต่ถ้าคุณอยากเล่น Bitcoin โดยเก็งกำไรแบบหุ้น ผมว่าหุ้นไทยเองก็มีหุ้นที่กระโดดไปกระโดดมา ถ้าคุณชอบการลงทุนสนุกๆ หุ้นตรงไปตรงมากว่า เข้าใจง่ายกว่าด้วย
“ผมไม่แน่ใจว่าอีก 10-20 ปี เราจะใช้ Blockchain อื่นๆ หรือเปล่า ยังมีสกุลเงินดิจิตัลอื่นอีกมาก แต่พวกนี้ทำให้ธนาคารปรับตัว
“มันเป็นตัวคาดโทษ กำหนดมาตรฐานว่า เฮ้ย มันมีระบบที่มีใครไม่รู้สร้างขึ้นมาแล้วมันเวิร์ค รับผิดชอบเงินมูลค่าวันละร้อยล้านบาทได้”
แล้วเราควรมี Bitcoin หรือเปล่า
ถ้าไม่เข้าใจมัน ก็อย่าไปยุ่งกับมันครับ (หัวเราะ) ตรงไปตรงมา เพราะวิธี handle เป็นวิธีเฉพาะที่คนทั่วไปไม่เข้าใจ ยกตัวอย่างกุญแจลับ กุญแจสาธารณะ คืออะไร คุณเข้าใจมั้ยว่าปกติเราเอาสมุดบัญชีธนาคารให่ใครดู ไม่มีปัญหาอะไร แต่สมมติว่าคุณให้ญาติดูเลขที่บัญชี Bitcoin พร้อมกุญแจลับ ญาติขอถ่ายรูปไป เพียงเท่านั้นเงินเราอาจหายไปจากบัญชีได้หมดเลย
ปลอดภัยแค่ไหนนะ
“ปลอดภัยถ้าคุณใช้งานเป็น (หัวเราะ) สมการที่นากาโมโตะออกแบบอาจมีภาวะแปลกๆ เกิดขึ้นบ้างบางครั้ง เช่น ซอฟท์แวร์ยอดนิยมบางตัวมี bug ทำให้นึกว่าเงินโอนไปแล้ว แต่ยังไม่โอน แต่รวมๆ แล้วก็ยังทำงานได้ดีใน 8 ปีที่ผ่านมา
“หรือมี glitch บางจังหวะบ้าง ไม่ราบรื่น แต่รวมๆ มันไปต่อได้”
สำหรับคนใช้เอง ความที่ไม่มีสมุดบัญชี ชื่อบัญชีหรือ หรือ ก็มาเป็นตัวเลข ซึ่งมาพร้อมกุญแจลับหรือพาสเวิร์ด นั่นหมายความว่า ถ้าใครก็ตามรู้เลขที่บัญชีเราพร้อมพาสเวิร์ด Bitcoin ที่อุตส่าห์ขุดแล้วเก็บหอมรอบริบก็อาจหายวับได้ในพริบตาตามที่วสันต์ยกตัวอย่างข้างต้น
ยกตัวอย่างเมื่อปี 2556 แมตต์ มิลเลอร์ พิธีกรหลักรายการ 12 Days of Bitcoin ของรายการทีวีบลูมเบิร์ก เซอร์ไพรส์พิธีกรคู่ อดัม จอห์นสัน และ ทริส รีแกน ด้วยการมอบการ์ดของขวัญ Bitcoin ในนั้นบรรจุเงิน 20 ดอลลาร์ให้ แล้วจอห์นสันก็โชว์การ์ดพร้อมพาสเวิร์ดที่มาในรูปแบบ QR code ผ่านหน้าจอทั้งหมดกินเวลาแค่ 10 วินาที ซึ่งก็นานพอสำหรับการสแกน QR code ผ่านโทรศัพท์มือถือแล้วเอาเงินจากการ์ดของขวัญนั้นไป
เสือปืนไวผู้นั้นใช้ยูสเซอร์เนมว่า milywaymasta เขาอธิบายผ่าน Reddit ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า
“คนพวกนั้นซูมกล้องทีวีเพื่อให้เห็นโค้ด QR อย่างชัดๆ เป็นเวลา 10 วินาที มันตลกมาก ผมจึงสอยมันมาซะเลย แม้มันจะมีมูลค่าแค่ 20 ดอลลาร์ แต่มันก็เร้าใจมาก ผมจะจัดการส่งเงินจำนวนนี้กลับคืนหลังจากมิลเลอร์บอกรหัสอันใหม่ให้ผม เพราะโค้ดอันเก่านั้นคนอื่นสามารถนำไปรูดได้”
แม้ว่าสุดท้ายแล้ว milywaymasta บอกว่าจะคืนเงินกลับให้กับมิลเลอร์ แต่มิลเลอร์ปฎิเสธ และยกเหตุการณ์นี้ให้เป็นบทเรียนครั้งยิ่งใหญ่ในระบบความปลอดภัยของBitcoin
“คุณเก่งมากที่ขโมยได้ในเวลาเพียงเสี้ยววินาที แต่ก็ถือว่าเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ ดังนั้นคุณสมควรจะได้รับเงิน 20 ดอลลาร์ เก็บมันไว้เถอะ”
ทำไมเขียนเรื่อง Bitcoin แต่ไม่มี Bitcoin
เหตุผลทั้งปวงที่เขาหันมาศึกษาเงินสกุลนี้ เพราะสนใจในเชิงวิศวกรรมมากกว่ามูลค่า
“ระบบมันเจ๋งมาก ในโลก Bitcoin คอมพิวเตอร์ทุกตัวเป็นเซิร์ฟเวอร์ และทุกตัวไม่ไว้ใจกันเลย พร้อมจะแทงหลังกันเองเสมอ เพราะทุกตัวอยากขโมยเงิน ในโลกอันโหดร้ายใบนี้ (ยิ้ม) นากาโมโตะสร้างเงื่อนไขเดียวกันที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างน่าประหลาด”
ในแง่เทคโนโลยีแล้ว เราสามารถสร้างเงินแบบเดียวกับ Bitcoin ขึ้นมาเล่นกันเองกับเพื่อนๆ ได้ ซอฟท์แวร์มีให้โหลดมาดัดแปลงแก้ไขกันได้ ทำให้มีคนใช้แนวคิดแบบเดียวกันสร้างเงินสกุลอื่นๆ ที่ทำงานคล้ายๆ Bitcoin มากมาย ความสนใจผมคงจำกัดอยู่ในแนวทางนี้ ว่าเอามา run ดูว่ามันสร้างเงินขึ้นมาอย่างไรและมันทำงานได้อย่างไร”
ผ่านไปชั่วโมงกว่า เข้าสู่ช่วงท้ายของเลคเชอร์วิชา Bitcoin เราถามว่ามีเจ้าเงินดิจิตอลไว้ในครอบครองกี่เหรียญ วสันต์ยิ้มกว้างและส่ายหัว
“ไม่เล่นครับ หนึ่ง – เพราะมันแพง ช่วงแรกๆ ที่ผมอ่านหนังสือเรื่อง Bitcoin 1 เหรียญก็เป็นร้อยดอลลาร์แล้วครับ จะมาซื้อเล่นขำๆ ก็ไม่ใช่เรื่องเหมือนกัน
“อีกเหตุผลคือ เพราะไม่มีเหตุผลต้องใช้ อยากลงทุนไหม ไม่อยาก นึกไม่ออกว่าจะใช้ทำอะไรเหมือนกัน ถามว่าอยากไปซื้อการ์ดจอ 8 ใบ 10 ใบ มานั่งขุดมั้ย ก็ไม่อยากเท่าไหร่ บ้านร้อนอยู่แล้ว เปลืองแอร์ (หัวเราะ)