บุญเลิศ วิเศษปรีชา ‘The Right to the City’ ตามหาวิสัยทัศน์ผู้ว่าฯ กทม. ต่อคนจนเมือง

ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นอาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่คลุกคลีอยู่กับประเด็นคนจนเมืองและคนไร้บ้านมายาวนาน นี่คือนักวิชาการที่ไม่ได้สังเคราะห์ข้อมูลผ่านจำนวนนับเท่านั้น แต่ยังเดินเท้าเข้าไปสำรวจความคิดจิตใจของคนชายขอบกลางมหานคร เพื่อผลักประเด็นและเป็นปากเสียงให้กลุ่มคนที่เสียเปรียบทางสังคมถูกได้ยินมากขึ้น

อีกไม่กี่วันถัดจากนี้ กรุงเทพมหานครจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ป้ายหาเสียงและคำโฆษณาปรากฎในสื่อและพื้นที่สาธารณะมากน้อยแตกต่างกัน แต่สิ่งที่นักมานุษยวิทยาคนนี้เฝ้ามองก็คือ ไม่ค่อยมีการนำประเด็นเรื่องคนจนเมืองมาจัดวางแล้วกำหนดทิศทางอย่างมีวิสัยทัศน์ โดยโอบกอดทุกผู้คนไว้ในนโยบาย ไม่ว่าเขาคนนั้นจะปรากฎภูมิลำเนาบนบัตรประชาชนเป็นคนกรุงเทพฯ เป็นคนต่างจังหวัด เป็นแรงงานข้ามชาติ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากการพัฒนาเมืองร่วมกัน

บอกกล่าวในช่วงต้นเอาไว้ว่า แนวคิด ‘The Right to the City’ คือหัวใจหลักของบทสนทนา    ว่าด้วยสิทธิในการออกความเห็นว่าเมืองควรเป็นอย่างไร ระหว่างคนเดินเท้ากับหาบเร่แผงลอย ระหว่างพื้นที่สีเขียวกับชุมชนแออัด จุดตัดและความสมดุลควรอยู่ตรงไหน กระทั่งเมืองจะดีขึ้นได้อย่างไรหากได้ผู้ว่าฯ ที่มีวิสัยทัศน์และมองเห็นว่าคนกรุงเทพฯ เรือนล้านล้วนเกี่ยวข้องกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ประเด็นอื่นใดนอกจากนั้นเป็นการตั้งคำถามต่อสังคมว่า ทำอย่างไรประชาชนอีก 75 จังหวัดที่เหลือจะได้เล่นบทนี้บ้าง หรือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นเอกสิทธิ์ที่สงวนไว้เฉพาะคนกรุงฯ

ถ้าประเมินจากป้ายผู้สมัครบนท้องถนน อาจารย์เห็นคนจนอยู่ในถ้อยคำโฆษณาหาเสียงเหล่านั้นบ้างไหม

ยังไม่มากเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับภาพส่วนใหญ่ คนกรุงเทพฯ คาดหวังอะไร และผู้สมัครก็คงเดาว่าเขาคงจะตอบคำถามพวกนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน แก้ปัญหารถติด น้ำท่วม พูดไปเรื่องพื้นที่หน่อยก็คือพื้นที่สีเขียว และถ้าพูดถึงคุณภาพชีวิตก็อาจจะพูดถึงสวัสดิการบ้าง พูดถึงโรงเรียน รักษาพยาบาลบ้าง ก็เป็นภาพแบบนี้

สิ่งที่ผมคิดว่าหายไป ซึ่งไม่แน่ใจว่าดีหรือไม่ดีก็คือว่า เราไม่เห็นภาพรวมที่ใครจะบอกว่า เขาจะ shape เมืองไปในทิศทางไหน ถ้าเขาเห็นตรงนั้น เราก็จะถามว่า ทางที่คุณอยากมุ่งไป คุณมีแนวทางหรือมีนโยบายที่จะนำไปสู่เป้าหมายผ่านวิสัยทัศน์นั้นหรือเปล่า อันนี้ผมไม่เห็น

ถ้าดูถ้อยคำหลักๆ ของป้ายหาเสียง มันจะมีคำคล้ายคลึงกัน เช่น กรุงเทพฯ ต้องดีกว่า, กรุงเทพฯ ต้องไปต่อ, เปลี่ยนกรุงเทพฯ, คนเท่ากัน เวลาพูดว่า “คนเท่ากัน” แสดงว่าสถานการณ์ทุกวันนี้ คนไม่เท่ากันใช่ไหม

คนเท่ากันนี่ก็น่าสนใจ ผมว่าคนที่พูดชัดที่สุดน่าจะเป็นคุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แต่ถ้าเป็นพรรคอื่นก็ยังไม่ชัดขนาดนี้ คือคนจะพูดว่าเปลี่ยนกรุงเทพฯ เปลี่ยนให้ดีขึ้น แต่ดีขึ้นยังไง ดีขึ้นในสายตาคนกลุ่มหนึ่งกับดีขึ้นในสายตาคนอีกกลุ่มอาจจะไม่เหมือนกัน คำว่า “คนเท่ากัน” อาจจะเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดว่าดีขึ้นในความหมายของการยกระดับคนที่เสียเปรียบทางสังคมขึ้นมา ผมว่าอันนี้ในแง่ความเป็นรูปธรรมอาจจะชัดเจนกว่า

แล้วคนที่เสียเปรียบทางสังคม โดยเฉพาะคนจนเมือง เราวัดกันแบบไหน

ถ้าพูดกันบนตัวเลข ก็คือรายได้เท่านั้นเท่านี้ ถกเถียงกันว่าเส้นความยากจน (Poverty line) อยู่ที่เท่าไหร่ และใครอยู่ภายใต้เส้นนี้ แล้วเขาเป็นคนที่อาศัยอยู่ในเมือง นี่คือคำนิยามว่า คนจนเมือง (Urban poor) มาได้ยังไง 

คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจยากจนกว่าเส้นที่กำหนด และอยู่ในพื้นที่ของเมือง ก็เป็นมิติหนึ่งซึ่งอาจจะแคบไป สำหรับผม – ผมทำวิจัยเรื่องคนจนเมืองแล้ว define คนจนเมืองว่า คนที่อยู่อาศัยในย่านของคนที่มีรายได้น้อย อยู่ในชุมชนแออัด คนที่เช่าที่อยู่อาศัยคุณภาพต่ำ ราคาถูก การพูดว่าคนจนอยู่ที่ไหน และเขามีชีวิตอย่างไรมันเห็นภาพมากกว่า การพูดว่าเขามีรายได้เท่านั้นเท่านี้ ซึ่งมันไม่เห็นคุณภาพชีวิตเขาเท่าไหร่

เราพูดเรื่องเส้นรายได้อย่างเดียวมันไม่พอ?

ไม่พอ ในทางวิชาการก็พูดกันเยอะว่าวัดความยากจนด้วยเส้นรายได้ไม่พอ เพราะว่ารายได้ก็ต้องเปรียบเทียบกับรายจ่าย และก็คุณภาพชีวิตที่เขามี บางคนบอกว่ารายได้ขนาดนี้ เขาสามารถไปหาสิ่งที่ทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้หรือไม่ บางคนก็คิดถึงในเรื่องเหล่านี้ด้วย

ถ้าพูดถึงพื้นที่ของคนจนล่ะครับ คนจนในเมืองกับคนจนทั่วๆ ไปมีนัยสำคัญที่ต้องแบ่งหรือแตกต่างกันอย่างไร

เงื่อนไขต่างกัน บริบทของเมืองต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจของเมือง มองแบบสายที่ใช้เศรษฐกิจเป็นหลักหน่อย เศรษฐกิจของเมืองมีผลต่อวิถีชีวิตของคน ดังนั้น บริบทของเมืองต่างกันทำให้คนเมืองแต่ละเมืองไม่เหมือนกันแน่ๆ ยกตัวอย่างเช่น เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองที่พึ่งพาเศรษฐกิจท่องเที่ยว เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึงโควิดเนี่ย คนจนเมืองที่เชียงใหม่ซึ่งพึ่งพาเศรษฐกิจท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบเยอะ 

คนจนเมืองในภาคตะวันออกอย่างชลบุรีเป็นทั้งเมืองท่องเที่ยวด้วย และเป็นเมืองอุตสาหกรรมด้วย ดังนั้นก็จะมีคาแรคเตอร์อีกแบบหนึ่ง คนในภาคอุตสาหกรรมซึ่งยังมีงานทำ ก็จะได้รับผลกระทบจาก โควิดน้อยกว่า

ทางสงขลาภาคใต้ แต่เดิมเป็นชุมชนประมงและเมืองขยายตัวจากด้านการค้าขาย และมาจนถึงเรื่องปัจจุบันเนี่ย สงขลามีบริบทที่เขากำลังเสนอตัวเองให้เป็นเมืองมรดกโลก ฉะนั้นในการที่จะเป็นเมืองอนุรักษ์ เมืองวัฒนธรรม มันก็ส่งผลต่อชีวิตผู้คน ส่งผลต่อวิธีหารายได้ของคน ในแต่ละบริบทของที่อยู่ที่ต่างกัน มันทำให้คนจนเมืองประกอบอาชีพในภาคต่างๆ ของแต่ละเมืองแตกต่างกัน 

ทีนี้พูดถึงกรุงเทพฯ – กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความเข้มข้นมากที่สุด เป็นทั้งเมืองที่พึ่งพาภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยว เป็นทั้งเมืองที่มีการก่อสร้างสูง คนจำนวนมากทำงานในภาคก่อสร้าง ภาคบริการที่ไม่เพียงแต่เรื่องท่องเที่ยว ยังมีภาคทำงานตามสำนักงานตามออฟฟิศตามแม่บ้านต่างๆ กรุงเทพฯ ก็ยังมีงานรองรับเยอะ 

อีกทั้งกรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองที่มีความแออัดมากกว่าเพื่อน ถ้าเราพูดถึงที่อยู่อาศัยของคน เราจะพบว่าคนจนเมืองในกรุงเทพฯ อยู่ในที่อยู่อาศัยหนาแน่นแออัดมากกว่า หากเปรียบเทียบกับชุมชนแออัดที่เชียงใหม่หรือสงขลา ที่นั่นเรายังเห็นว่าเขายังพอมีบริเวณบ้านให้เดินได้บ้าง ไม่แออัดเหมือนกรุงเทพฯ ซึ่งพื้นที่หายากเต็มที ถ้าตรงไหนพอมีพื้นที่ว่างเปล่าพออยู่ได้ก็จะมีการเบียดแทรกแออัดกันอยู่

จากการคลุกคลีอยู่กับประเด็นคนจนมานาน อาจารย์เห็นความสัมพันธ์และทิศทางความจนกับการพัฒนาเมืองที่เกิดขึ้นอย่างไร

เมื่อดูจากวิถีชีวิตของพวกเขามีสองเรื่องที่ผมเห็นเป็นเรื่องสำคัญ หนึ่ง คนจนเมืองที่อาศัยอยู่ในเมือง เขาพยายามจะแทรกหาที่อยู่ในเมืองเป็นที่อยู่ราคาถูก นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคนจนเมืองจำนวนมากส่วนใหญ่ที่เราไปเจอก็คืออยู่ในชุมชนแออัด ทำไมเขาถึงอยู่ในชุมชนแออัด ก็เพื่อที่ว่าเขาจะได้ที่อยู่ราคาถูก สอง ก็คืออยู่ใกล้แหล่งงาน การอยู่ใกล้แหล่งงานทำให้เขามีต้นทุนค่ารถ ค่าเดินทางถูก

สองประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจว่า ทำไมคนจนเขาอยู่รอดในเมืองได้ เขายอมรับข้อแลกเปลี่ยน คือ ยอมอยู่ในที่อาศัยราคาถูก คุณภาพไม่ดี เพื่อแลกกับการอยู่ใกล้แหล่งงาน เมื่อเทียบกับคนทั่วไป คนจบปริญญาตรีหรือทำงานเป็นพนักงานก็จะไปเช่าอะพาร์ตเมนต์ที่ราคาแพงกว่านี้ แต่ถ้าเป็นคนจนล่ะ หากต้องเช่า เขาพยายามจะหาห้องเช่าราคา 1,500 ใครจะไปเชื่อว่ามีห้องเช่าราคา 1,500/2,000/3,000 บาทในกรุงเทพฯ แต่มันแลกมาด้วยคุณภาพที่ไม่ดี เพื่อคนที่ทำงานแบบแม่บ้าน เป็น รปภ. ที่ไม่มี OT เงินเดือนไม่ถึง 9,000 บาทเลยนะครับ ที่บอกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 331 บาทต่อวันเนี่ย ถ้าเขาหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็จะไม่ได้ค่าแรงฉะนั้นรายได้เขาไม่ถึง 9,000 บาทต่อเดือน 

อยู่ได้ยังไง อยู่ได้ด้วยการต้องมีที่อยู่อาศัยราคาถูก แล้วเดินทางล่ะ ค่าเดินทางคนกรุงเทพฯ แพงมากนะครับ ค่ารถไฟฟ้าไม่ต้องพูดถึงเลย คนจนไม่ได้ขึ้น ดขาเลือกทางอื่น  อย่างผมลงพื้นที่ชุมชนแถวพญาไทก็จะพบเลย คนที่อยู่แถวนั้นเขาเดินไปทำงาน บางคนอาจจะนั่งรถเมล์บ้าง แค่นั้นเต็มที่แล้ว

แสดงว่ารายได้ที่อาจารย์พบว่าดูเหมือนจะดีขึ้น เอาเข้าจริง มันก็ไม่ได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย

ใช่ๆ ถามนักศึกษาจบใหม่จะรู้ดีที่สุด นักศึกษาจบใหม่เทียบกับค่าครองชีพ ถ้าเขาอยากจะยังชีพแบบมีมาตรฐานเนี่ย เขาจะต้องหาอะพาร์ตเมนต์เดือนละ 6-7 พันบาท เขาต้องคิดค่าเดินทาง 100 บาทเป็นอย่างน้อย เขาเสียค่า fix cost พวกนี้เท่าไหร่

แล้วค่าครองชีพที่แพงขึ้นเนี่ย นักศึกษาจบใหม่บอกว่า 20,000 บาทต่อเดือนยังไม่พอเลย (เน้นเสียง) แล้วถามว่าคนมีเงินเดือนประมาณนี้แล้วยังต้องเลี้ยงครอบครัวด้วย เขาอยู่ได้ยังไง ก็อยู่ด้วยการจำกัดค่าที่อาศัย และอยู่ไม่ไกลจากแหล่งงาน ซึ่งมันหาได้ง่ายเสียที่ไหน ถ้าอยากจะอยู่คอนโดในเมือง เห็นราคามันแตะไม่ได้อยู่แล้ว เขาก็ต้องอยู่ในย่านที่คุณภาพแย่หน่อย

ถ้าดูภาพรวมประชากรในกรุงเทพฯ สัดส่วนคนจนเมืองในนี้เป็นอย่างไร

ตัวเลขอยู่ประมาณล้านกว่าคน ต้องเรียกว่าไม่สามารถนับแบบประชากรลงทะเบียนได้ ประชากรกรุงเทพฯ จริงๆ มีแค่ 5.7 ล้านคน คนมีสิทธิ์ออกเสียงแค่ 4.7 ล้านคน แต่เราทราบกันดีว่าในกรุงเทพฯ มีประชากรแฝงจำนวนมาก ดังนั้น ประชากรในชุมชนแออัดที่เราพูดกัน หากนับทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่ประมาณหนึ่งล้านคน เฉพาะกรุงเทพฯ อาจจะหย่อนลงมาหน่อย

แต่ในจำนวนเหล่านั้นก็อาจไม่ได้เป็นคนกรุงเทพฯ ตามบัตรประชาชน?

ใช่ครับ เพราะพอเราไปดูคนจนเมือง เราจะไม่ดูประเด็นนั้น เราดูเพียงว่าในชุมชนนั้นมีผู้อยู่อาศัยกี่คน

พอเราคุยกันในห้วงเวลาที่กำลังจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ประเด็นก็คือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็อาจไม่ได้มีอำนาจล้นมือถึงขั้นจะเปลี่ยนโฉมหน้าของเมืองได้ฉับพลันทันที หากผู้ว่าฯ จะต้องจัดการเรื่องคนจน มันมีอะไรบ้างที่อาจารย์เห็นว่าควรทำและทำได้

ผมเข้าใจข้อจำกัดนะ แต่ภาพรวมผมคิดว่านโยบายที่เสนอกันเนี่ย เกี่ยวข้องกับชีวิตคนจนเมืองไม่มากนัก อย่างเรื่องทั่วๆ ไป เช่น ทางเท้า โอเค มันเป็นเรื่องทั่วๆ ไป เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ควรทำ แก้น้ำท่วม รถติด ใครๆ ก็ควรทำนะครับ แต่เรื่องที่กระทบกับคนจนนะ ผมดูสัก 2 เรื่อง เรื่องแรก คนต้องมีที่อยู่ การจัดการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยเนี่ย ผมว่าคนก็พูดถึงน้อย อาจจะด้วยเหตุผลที่ผู้ว่าฯ ก็มีข้อจำกัดหรืออำนาจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ยังมีน้อย แต่ว่าในอังกฤษเนี่ย การจัดการที่อยู่อาศัยเป็นหน้าที่ของเมือง ของบ้านเราก็จะเป็นการเคหะฯ เป็นสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นหน่วยงานส่วนกลางไป แต่ว่ากรุงเทพมหานครไม่ได้จัดการเรื่องนี้นัก 

ความจริงแล้วมันมีหลายพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานครนะครับ เช่น ชุมชนที่อยู่ตามริมคูคลอง ชุมชนที่เขาอยู่กันแล้วจะจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียน พอจดทะเบียนแล้วจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาชุมชนจากเขต มันเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้อาจจะมีผู้สมัครพูดนะ แต่มันไม่ได้เป็นจุดเน้นเท่าไหร่

เรื่องที่สอง มีการพูดเรื่องการลดค่ารถเมล์ ค่ารถไฟฟ้า ผมก็ไม่แน่ใจว่าคนที่เขาทำงานจะขึ้นรถไฟฟ้าได้มากน้อยขนาดไหน แต่ผมคิดว่าประเด็นที่สองเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของคนในชุมชน จากงานวิจัยที่เราทำมาพบว่าช่องทางในอดีตที่ทำให้คนจนเมืองรุ่นที่เขาอพยพมาจากต่างจังหวัด แล้วพอจะยกฐานะทางเศรษฐกิจได้ คือ พวกคนที่ประกอบอาชีพเป็นผู้ประกอบการในเมือง คนที่หาบเร่แผงลอยทั้งหลาย อาชีพแบบนี้เป็นอาชีพสำหรับคนที่ไม่ได้มีวุฒิการศึกษาสูง แต่ถ้าทำงานกินค่าแรงรายวันมันก็ได้ระดับหนึ่ง แต่มันไม่มาก คนที่จะเก็บเงินเป็นก้อนได้มันมาจากอาชีพที่ค้าขายริมทาง แต่อาชีพค้าขายริมทางในปัจจุบันนี้มันถูกจำกัดมากขึ้น อันเนื่องมาจากความเข้มงวดในการใช้พื้นที่ของเมือง 

ผมเคยคิดว่าอาชีพค้าขายริมทางเป็นอาชีพที่คนจำนวนมากสามารถยกสถานะทางเศรษฐกิจได้ แต่ความเข้มงวด หรือพูดชัดๆ ก็คือ การจัดระเบียบเมือง การใช้คำว่าทวงคืนพื้นที่ทางเท้า และก็ขับไล่คนที่ค้าขาย ทำให้ช่องทางนี้เป็นช่องทางที่จำกัดมากขึ้น ผมถามคนในชุมชนก็จะบอกเลยว่ายุคก่อนที่เรียกว่า “ผ่อนผัน” คำว่าผ่อนผันมันไม่ได้แปลว่าปล่อยปละละเลย แต่แปลว่ามีการจัดระเบียบ มีการทำความสะอาดทุกสัปดาห์ และก็มีกฎกติกาที่ต้องดูแลความสะอาด มันทำให้เขาพอที่จะค้าขายได้ แต่ทุกวันนี้พอห้ามเขาค้าขายตามพื้นที่สาธารณะ แล้วเขาต้องไปเช่าที่อยู่เนี่ย เช่าไม่ไหว หลายคนบอกว่าเงินแต่ละวันต้องจ่ายค่าเช่ามากกว่ารายได้ที่เหลือเข้าบ้านอีก ไม่ต้องพูดถึงว่าจะไปออกแบบรถเข็นให้ function ยังไง เพราะปัญหาก็คือจะไปจอดรถเข็นตรงไหนที่จะไม่ถูกเทศกิจไล่ อันนั้นคือโจทย์ที่สำคัญมากกว่า 

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็พูดด้วยความเข้าใจ คนจำนวนหนึ่งจะรู้สึกว่า ‘เฮ้ย ทางเท้าก็จำเป็นต้องเดินอย่างปลอดภัย’ สำหรับผมมันต้องหาจุด balance จุดสมดุลระหว่างการที่ไม่ได้ปล่อยปละละเลยกับการขับไล่ไปเด็ดขาด เรามีนโยบายที่ค่อนข้างขัดแย้งกัน คือ ด้านหนึ่งก็ชอบพูดว่าเรามี Street Food ที่เป็นเอกลักษณ์ เรายอมให้มี Street Food ในถนนบางเส้น ขนาดคนลงมาเดินถนนมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเยาวราชเนี่ย เราจะเห็นคนลงมาเดินบนถนนสักหนึ่งเลนอยู่แล้ว คนไปกินอาหาร ไปเดินถ่ายรูปได้ แต่ว่าเรายอมให้แค่ที่เดียวนะ ที่อื่นเรายอมไม่ได้เด็ดขาด ทั้งสองเรื่องนี้ (ที่อยู่อาศัยและเศรษฐกิจชุมชน) เกี่ยวข้องกับการใช้พื้นที่ของเมือง

เรื่องทางเท้าเราอาจไม่แปลกใจ แต่กรณีที่อยู่อาศัย ผู้ว่าฯ กทม. มี power พอที่จะทำได้ใช่ไหม

ผมยึดว่า… คือผมเห็นมีนโยบายนะ แต่ถ้าเราพูดเอียงไปถึงใครมันจะดีหรือเปล่า (นิ่ง – คิด) คืออย่างผมเห็นคุณวิโรจน์พูดถึง Affordable Housing คือที่อยู่อาศัยในราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้

ข้อจำกัดสำคัญที่เราเห็นว่า ทำไมราคาที่อยู่อาศัยมันแพง โจทย์ใหญ่ก็คือที่ดินในเมืองมันแพง เมื่อมันไม่มีการจัดการเรื่องต้นทุนของราคาที่ดิน คุณสร้างคอนโดที่ไหนมันก็ราคาแพง เผื่อมีผู้สมัครที่เขาพูดถึงว่าเขาจะแบ่งที่ดินของรัฐ ที่ดินของหน่วยราชการที่มันไม่จำเป็นย้ายออกไปนอกเมืองได้บ้าง แล้วเอาที่ดินนั้นมาทำที่อยู่อาศัยได้ไหม ผมคิดว่าอันนี้ก็เป็นวิธีการหนึ่ง โอเค มันไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ผู้ว่าฯ แต่ผมว่ามันเป็นวิสัยทัศน์ที่เสนอได้ และก็ผลักดันให้รัฐบาลกลางเห็นชอบว่าต้องสนับสนุนนโยบายแบบนี้ 

ผมเปรียบเทียบบ่อยนะ ผมก็เขียนงานลง WAY ว่าในสิงคโปร์สามารถแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยได้ (อ่านเพิ่มเติม – ถอดโมเดลที่อยู่อาศัยที่รัฐอุดหนุน (Public Housing) ในสิงคโปร์) เพราะว่ารัฐให้ใช้ที่ดินของรัฐเพื่อที่อยู่อาศัย ทำให้ต้นทุนที่อยู่อาศัยมันราคาถูก แต่บ้านเราเนี่ย ต่อให้เป็นที่ดินของรัฐ ก็ยังให้เอกชนเช่าเพื่อสร้างผลตอบแทนค่าเช่าแพงที่สุด ฉะนั้น ด้วยวิธีคิดที่มุ่งแต่กำไรนะครับ มันจึงทำให้คนจนถูกกีดกัน

ทั้งที่ฐานเสียงของคนจนเอาเข้าจริงก็ไม่น้อยนะครับ ถ้าการออกแบบนโยบายเมืองมันเอื้อกับคนจน ก็น่าจะดึงคะแนนได้ไม่น้อย

ได้ แต่นโยบายที่นำเสนออยู่ จะนำเสนออะไรที่ดูใกล้กว่านั้น ง่ายกว่านั้น เช่น ผู้สูงอายุ เราก็พบว่าผู้สูงอายุที่มีรายได้อยู่แล้ว หรือกลุ่มชนชั้นกลางก็อาจไม่รู้สึกว่าเงินเพิ่มจาก 600 เป็น 800 หรือ 1,000 อาจไม่รู้สึก… แต่ว่าสำหรับคนที่มีรายได้น้อย มีเงินเพิ่มมันก็ดีกว่า คือเขาก็คิดถึงนโยบายที่ทำได้ในแง่นี้

คนกลุ่มหนึ่งบอกว่าขอทางเท้าดีๆ คนอีกกลุ่มหนึ่งก็บอกขอขายของบนทางเท้าได้ไหม อันนี้เฉพาะแค่คนทั่วไปยังมีความขัดแย้งเลย แล้วคนออกแบบนโยบายจะทำอย่างไร ต้องยืนอยู่ฝั่งไหน

ผมเสนอคำนี้นะ ผมทำงานวิจัยและมีอย่างหนึ่งที่เสนอเป็นคอนเซปต์ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่ค่อยมีคนพูดถึง แต่ในงานวิจัยที่ผมทำพูดถึงมากก็คือ The Right to the City สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง ผมคิดว่าการหาเสียงที่ผ่านมาไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้เลย ประเด็นที่พูดกันว่าคนเดินเท้าอยากได้ทางเท้าที่ดี คนค้าขายบอกขอแบ่งพื้นที่ให้ฉันได้ขายของบ้างเถอะ เรื่องแบบนี้เราต้องเชิญคนทุกกลุ่มที่จะมีส่วนร่วมในการออกสิทธิ์ออกเสียง 

ที่ผ่านมาคนที่มีสิทธิ์ในการออกเสียงเพื่อตัดสินใจใช้พื้นที่ของเมือง คือ คนที่มีอำนาจรัฐกับคนที่มีทุนใหญ่ นี่ผมพูดถึงว่าภาคประชาสังคมเองก็ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะคนจน แต่ว่าคนหลากหลายกลุ่มในเมืองควรจะได้มีสิทธิ์ที่จะมีส่วนร่วมในเมือง

ผมใช้คำว่า The Right to the City ไม่ใช่หมายความแค่สิทธิ์ที่จะอยู่ในเมือง แต่เป็นสิทธิที่จะออกแบบเมืองโดยคำนึงถึงประโยชน์เชิงสังคม การออกแบบเมืองที่ผ่านมาคำนึงถึงธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ คิดถึงแต่กำไรสูงสุด เช่น จะดึงนักท่องเที่ยวอย่างไร แต่เราไม่รู้ว่าการพัฒนาที่เกิดขึ้น ยิ่งพัฒนามันยิ่งผลักคนจนออกไป

การได้ผู้ว่าฯ เป็นใครสักคนหนึ่งมันส่งผลอะไรขนาดเลยหรือ โดยเฉพาะหากเทียบกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ผ่านๆ มา

ผมเปรียบเทียบนะ คนรุ่นหลังๆ อาจจะไม่เห็น แต่ที่ผ่านมา คนที่เคยทำงานชุมชนมานานอย่างคุณพิจิตต รัตตกุล เนี่ย ถามใครก็บอกว่าคุณพิจิตตเป็นผู้ว่าฯ ของชนชั้นกลาง มาจากการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นผู้อำนวยการบริหารแห่งมูลนิธิศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Center) ในยุคหนึ่งคุณพิจิตตก็พูดว่าอยากจะได้พื้นที่สีเขียว ปรากฏว่าข้าราชการเขตตอบสนองมากเลย ก็ตัดสินใจไปไล่ชุมชนเพื่อจะทำสวนหย่อม พอชาวชุมชนไปร้องเรียน ไม่ใช่ร้องเรียนธรรมดานะ ไปชุมนุมที่หน้าศาลาว่าการ กทม. คุณพิจิตตก็เปลี่ยนนโยบายเลย คุณพิจิตตบอกว่าที่ไหนมีชุมชนอยู่ต้องแบ่งให้ชุมชนสามารถอยู่ และสร้างพื้นที่สีเขียวให้เป็นของชุมชนได้ 

ผมคิดว่าเราได้เห็นคาแรคเตอร์ผู้ว่าฯ กทม. ที่รับฟังเสียงของประชาชน อันที่สอง สมัยคุณพิจิตตเช่นกัน ตอนนั้นมีการพูดกันว่าต้องดูแลสิ่งแวดล้อมให้น้ำใสสะอาด แต่อีกด้านหนึ่งที่เรามักไม่ค่อยตระหนักเลยว่าในกรุงเทพฯ มีชุมชนที่อาศัยอยู่ริมคูคลองเยอะไปหมด คุณอยากได้น้ำใส มันมาพร้อมกับการไล่รื้อชุมชนริมคูคลอง ฉะนั้นคุณจะจัดการยังไง คุณพิจิตตเป็นคนบอกว่าจะจัดการให้คนสามารถอยู่คู่กับคลองได้ ผมคิดว่าถึงแม้จะทำเป็นรูปธรรมได้มากน้อยอย่างไร แต่ว่าโดยวิสัยทัศน์ที่ตระหนักว่าการออกนโยบายอะไรมันมีผลกระทบอีกด้านหนึ่งเสมอ และไม่ใช้วิธีแบบ top-down แต่ต้องรับฟังเสียงประชาชน นี่เป็นคาแรคเตอร์ที่สำคัญ 

แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถ้าจะพูดก็คือ ทำไมเราไม่รู้สึกว่าเปลี่ยนผู้ว่าฯ แล้วมันมีอะไรเปลี่ยน ผมว่าเราอยู่กับผู้ว่าฯ แนวข้าราชการเก่าเสียนาน และเป็นผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้งนี่ยิ่งชัดเจนว่าไม่ค่อยตอบสนอง แต่ในยุคก่อนเก่าหรือก่อนหน้านี้ ผู้ว่าฯ 2-3 สมัยที่มาจากพรรคเดียวกัน ก็เป็นพรรคที่ไม่ค่อยตอบสนองนัก ผมคิดว่าเราไม่ค่อยรู้สึกว่ามีผู้ว่าฯ แล้วมันจะเปลี่ยนมาก ถ้า 10 ปีที่ผ่านมามีผู้ว่าฯ ที่รับฟังมากกว่านี้ เรื่องต่างๆ อาจจะดีกว่านี้ก็ได้นะ

สิ่งที่คุณพิจิตตทำ ถือว่าเป็น The Right to the City ได้ไหม

ไม่ถึงขนาดนั้น แต่ใช้คำว่ามันก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมขึ้นได้ คือผมพูดถึง The Right to the City คือผมไม่อยากพูดคำนี้โดยใช้ว่าการมีส่วนร่วมเชิงเทคนิคในการออกความเห็น มันเป็นแนวคิดแบบเชิงวิพากษ์วิจารณ์ลึกกว่านั้น The Right to the City พูดถึงการมีส่วนร่วมในเมือง คนทุกกลุ่มจะมีส่วนร่วมได้มันต้องคิดไปไกลกว่าตรรกะการหากำไรสูงสุด เพราะถ้าคิดแบบตรรกะหากำไรสูงสุด พื้นที่ที่คุณเปิดให้ประมูลไม่ว่าจะคนจน ชนชั้นกลาง ก็ไม่สามารถประมูลแข่งได้ ฉะนั้น คุณไม่ต้องแปลกใจ คุณจะเห็นพื้นที่ในเมืองมากมาย พื้นที่ที่เป็นชุมชนเก่าถูกรีโนเวทแล้วก็มีทุนใหญ่มาเช่าแทน ซึ่งมันไม่ได้กระทบแค่คนจน แต่กระทบชนชั้นกลางด้วย เพราะถ้าสู้กันในเกมของการประมูล ใครมีเงินมากกว่าก็ได้ที่ดินแปลงนั้นไป คนจนจะเข้าไม่ถึง แต่เราต้องใช้การคิดถึงประโยชน์เชิงสังคมที่ก่อประโยชน์กับคนจำนวนมาก ในทางวิชาการก็มีการพูดถึง Use Value กับ Exchange Value คุณใช้ที่ดินนั้นเพื่อแบ่งให้คนอื่นมีที่อยู่อาศัย เป็น Basic Need เป็นความต้องการขึ้นพื้นฐาน กับคุณคิดว่าที่ดินนั้นมันมีมูลค่าในการแลกเปลี่ยน คุณเอาไปทำคอนโดแพงๆ คุณหาผู้เช่า ผู้ซื้อจากต่างประเทศ มันจะยิ่งกีดกันคนออกไป ยิ่งสะท้อนว่าเพิ่มความเหลื่อมล้ำในเมือง

แต่บางคนก็เห็นว่า ผู้ว่าฯ กทม. ไม่ได้มี power อะไรมากนัก

ถึงแม้จะมีข้อจำกัดและผมก็ตระหนักในข้อจำกัดนั้น แต่เปรียบเทียบกับปัญหาจราจรก็แบบเดียวกัน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจราจรเยอะ ซึ่งกรุงเทพมหานครอาจจะเป็นแค่ส่วนน้อย  แต่ทำไมผู้ว่าฯ พูดเรื่องการจราจรเยอะ จะลดค่ารถไฟฟ้า จะปฏิรูปขนส่งมวลชน นั่นหมายความว่า ต่อให้ ผู้ว่าฯ กทม. ไม่มีอำนาจเต็ม แต่ในฐานะผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง คุณสามารถเสนอได้ บอกรัฐบาลกลาง เวลาคุณประมูล คุณจะต้องคำนึง คุณจะต้องสร้างเงื่อนไขการประมูลเพื่อให้คอนโทรลเกี่ยวกับค่าโดยสารด้วยสิ ถ้าคุณพูดเสียงดังออกมาตั้งแต่ตอนนั้น ผมคิดว่ารัฐบาลกลางก็จำเป็นต้องฟัง เรื่องบางเรื่องถึงแม้จะไม่มีอำนาจในตัวบทกฎหมาย แต่ว่าการเป็นปากเป็นเสียงในฐานะที่เราเป็นตัวแทนท้องถิ่น เราห่วงใยคนกรุงเทพฯ เรื่องค่ารถไฟฟ้าแพง ผมว่าก็พูดได้ 

ยุคคุณพิจิตตผมยังจำได้เลย มีป้ายก่อนเขาจะมาเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวเท่าไหร่ เขาเป็นไปสองปี พื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เขาบอกให้เขตต่างๆ ไปเจรจากับเจ้าของที่ดิน เจ้าของที่ดินปล่อยที่ดินรกร้าง เราจะขอทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นสีเขียว ขอความร่วมมือไปพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วน ไปพัฒนาพื้นที่ริมคลอง ทำสวนหย่อม คือ ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้ถึงแม้จะไม่ได้ใช้เงิน แต่มันอยู่ที่วิสัยทัศน์ ถ้าคุณทำวิสัยทัศน์ให้มันจริงจังได้ ผมคิดว่าการดูแลคนในชุมชนก็เช่นเดียวกัน

ถ้าต้องพูดถึงแรงจูงใจในการออกแบบนโยบายที่ครอบคลุมคนทุกคน เพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีคนรวย ชนชั้นกลาง คนจน แต่ยังมีประชากรแฝง คนไร้บ้าน แรงงานข้ามชาติ คำถามคือจะทำอย่างไรให้ทุกคนได้ประโยชน์จากการออกแบบนโยบายแม้ว่าเขาไม่ได้มีสิทธิ์ออกเสียงก็ตาม

อันดับแรกเลยเราไม่สามารถคิดแยกส่วนได้ สมัยผมทำงานกับคนไร้บ้านตั้งแต่ยี่สิบปีแรกๆ ยังมีทัศนะของเจ้าหน้าที่เทศกิจว่า คนพวกนี้ไม่ใช่คน กทม. มีสักกี่คนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ใน กทม. คือเขาไม่อยากจะดูแลคนไร้บ้านนั่นเอง วิธีคิดแบบนี้มันไม่ได้ ต่อให้เขาไม่ใช่คน กทม. คุณจะขับรถพาเขาไปพ้นเขตรังสิต ให้มันพ้นเขตกรุงเทพฯ แล้วทิ้งเขาไว้อย่างนั้นเหรอ ไม่ได้ เขาก็กลับมาอีก

ผมพยายามจะทำให้เห็นว่าเราทั้งหลายต่างสำคัญ และเชื่อมต่อกันยังไง ไม่ว่าคนมีทะเบียนบ้านในกรุงเทพฯ หรือคนไม่มีทะเบียนบ้านในกรุงเทพฯ ระหว่างคนรวยกับคนจน เราก็ไม่สามารถคิดแยกส่วนได้ เราจะออกแบบนโยบายสร้างเมืองที่จะมีส่วนสาธารณะหย่อมเดียวที่สวยงาม แต่คนอื่นๆ เขาไม่ได้ใช้เลย มันก็เป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่เหมาะสม คือเราไม่สามารถที่จะคิดถึงคนที่มีทะเบียนบ้านในกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว เพราะว่าทุกคนต่างพึ่งพาซึ่งกันและกัน 

เราใช้คำว่า interdependence (การพึ่งพาซึ่งกันและกัน) ผมทำงานสอนหนังสือ ทำวิจัย ผมทำงานได้อย่างเดียว มีงานอีกหลายอย่างที่ผมทำไม่ได้ ผมต้องพึ่งพาคนมาเก็บขยะที่หมู่บ้าน ถ้าไม่มีพวกเขาเราอยู่ไม่ได้ และรู้ไหม เขาเป็นคนสาจากประเทศเพื่อนบ้าน ย้อนไปตั้งแต่ที่ คสช. ยึดอำนาจใหม่ๆ แล้วบอกจะเข้มงวดกับแรงงานข้ามชาติ แล้วแรงงานข้ามชาติกลัวก็กลับไปหมด คุณมีปัญหาเรื่องคนเก็บขยะ ขาดแรงงานก่อสร้าง เนี่ยมันชัดเจนมากว่าเราไม่สามารถที่จะมองข้ามคนกลุ่มนี้ได้ เราไม่สามารถที่จะมองแค่คนต่างจังหวัดที่มาทำงานในเมืองเท่านั้น คนกลุ่มนี้สำคัญแน่ๆ เพราะว่าอะไร เพราะว่าคนกลุ่มนี้ทำงานหลายๆ อย่างที่คนจำนวนมากไม่ทำ เขาทำงานในส่วนของภาคบริการ อาทิเช่น คุณลองคิดดูถ้าคุณไม่มีคนเก็บขยะ ถ้าคุณไม่มีแม่บ้านทำความสะอาด โรงพยาบาล สถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้า คุณจะอยู่ไปได้ยังไง คนกลุ่มนี้เราเคยสนใจเขาไหมว่าเขาอยู่ที่ไหน คุณภาพชีวิตเขาเป็นยังไง

ผมยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ที่สิงคโปร์ตอนโควิดระบาดใหม่ๆ สิงคโปร์ก็เป็นประเทศซึ่งได้ชื่อว่าจัดการโควิดได้ดีนะครับ แต่พอเกิดการระบาดรอบสอง รูัมั้ยการระบาดเริ่มต้นที่ไหน… เริ่มต้นในที่อยู่ของแรงงานข้ามชาติ จนนายกฯ สิงคโปร์ต้องออกมาขอโทษแรงงานข้ามชาติ พวกคุณเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสิงคโปร์ แต่เราดูแลพวกคุณน้อยไป เราปล่อยให้พวกคุณไปอยู่ในอะพาร์ตเมนต์ถูกๆ แออัด แชร์ห้องอาบน้ำ แชร์ห้องกินข้าว พอติดคนหนึ่ง จึงแพร่ถึงคนอื่นๆเร็ว อันนี้แหละเป็นตัวอย่างว่าถ้าคุณจะดูแลแต่ตัวเองแล้วคุณไม่ดูแลคนอื่นมันไม่ได้ 

สมมติถ้าคุณมีวิธีคิดแบบฉันจะดูแลเฉพาะคนที่มีทะเบียนบ้าน คุณจะตรวจโควิดเฉพาะคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ ถ้าคุณเป็นคนงาน แต่ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ ผมจะไม่ตรวจโควิด แล้วคุณจะปล่อยให้เขาติดโควิดไปเรื่อยๆ เหรอ ถ้ามีคนเจ็บป่วย แล้วคุณไม่ดูแลเขา คุณจะปล่อยให้ลูกหลานเขาอยู่ยังไง ตอนผมอยู่สหรัฐอเมริกา เพื่อนผมเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หย่ากับสามี ปรากฏว่ารัฐดูแลเขาดีมาก เพราะรัฐคิดแล้วว่าถ้าไม่ดูแลเขาดีๆ เด็กเหล่านี้โตมาติดยาเสพติดน่ะแย่กว่า ในทางตรงกันข้าม คุณให้สวัสดิการดูแลแม่เลี้ยงเดี่ยว ให้แม่เลี้ยงเดี่ยวได้อยู่ในอะพาร์ตเมนต์ ขอให้มั่นใจว่าคุณส่งลูกไปโรงเรียนสม่ำเสมอนะ เพราะมันทำให้คุณภาพของทั้งสังคมดีกว่าที่คุณปล่อยปละละเลย 

ฉะนั้นในเรื่องนี้เรื่องความเหลื่อมล้ำ ผมจะพูดบ่อยๆ ว่า เวลาเราช่วยคนที่เดือดร้อน เราไม่ได้แค่ช่วยให้คนที่ลำบากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ทำให้คุณภาพของทั้งสังคมดีขึ้นด้วย ถ้าคุณไม่ช่วยคนรายได้น้อยให้มีรายได้ดีขึ้น เขาก็ต้องขายของหาบเร่อยู่วันยันค่ำ แต่ถ้าคุณบอกอยากให้ลูกหลานเขามีรายได้ดี มีการศึกษาดี มีงานที่ดีทำ คุณก็ต้องช่วยลูกหลานเขา แต่ถ้าคุณปล่อย คุณผลักให้ลูกหลานไปทำงานที่มีรายได้น้อย เขาก็ไม่สามารถที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตตัวเองได้

ถ้ามองดูพัฒนาการของนโยบาย ช่วงเวลาหนึ่งก็บอกว่าจะแก้ปัญหารถติด คลองสวยน้ำใส มีพื้นที่สีเขียว แต่พอมายุคหนึ่งการหาเสียงของผู้สมัครผู้ว่าฯ จะมีคอนเซปต์ประมาณว่า “ถ้าไม่เลือกเราเขามาแน่” ซึ่งแนวคิดนี้เกี่ยวพันกับการเมืองภาพใหญ่โดยตรง

คนกรุงเทพฯ ก็มีตรรกะในการเลือกตั้งแต่ละครั้งก็มีความเข้าใจยากนะ คือ ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายมาอธิบายภายหลังเหตุการณ์ทั้งนั้นนะ แต่ว่าตอนก่อนเลือกตั้งผมคิดว่าไม่มีใครมั่นใจที่จะพูดได้ขนาดนั้น อย่างเช่น คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน และ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร อันนั้นเป็นการเลือกโดยเหตุผลว่ารัฐบาลเป็นพรรคเพื่อไทย ก็เกิดความรู้สึกว่าก็อยากจะถ่วงน้ำหนักหน่อย พรรคเพื่อไทยได้เสียงจำนวนมากในสภาเหมือนจะใช้อำนาจเหิมเกริมเกินไปแล้ว คนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะที่เป็นชนชั้นกลางก็อยากเลือกพรรคตรงกันข้ามกับรัฐบาลไว้ถ่วงน้ำหนัก เป็นการเลือกแบบไม่ได้คาดหวังเลยว่าเขาจะทำหน้าที่อะไรได้ดี อย่างคุณอภิรักษ์ตอนหลังก็มามีประเด็นเรื่องทุจริตรถดับเพลิงใช่ไหม หรือตอนคุณหม่อมสุขุมพันธ์เนี่ย ตอนลงครั้งแรกไม่ได้มีผลงานเลย แต่คนเลือกสมัยสองเพราะไม่อยากให้พรรคเพื่อไทยชนะ

อีกเรื่องนึงที่ผมสังเกตเห็น ช่วงหนึ่งเราอาจจะพูดเรื่องน้ำท่วม รถติดกันมาก แต่ถ้าเป็นยุคนี้เนี่ย ผู้สมัครแต่ละคนพูดถึงแต่เรื่องการใช้ระบบ AI (Artificial Intelligence) การใช้ระบบดิจิทัล ซึ่งสำหรับผมเนี่ยมันตอบคำถามได้ระดับหนึ่ง แต่ที่ต้องตระหนักก็คือ ไม่ใช่ทุกคนนะครับที่สามารถเข้าถึงระบบ AI ได้ ตอนที่เราสำรวจเราพบว่ามีคนจำนวนมากที่เข้าไม่ถึง โดยเฉพาะคนสูงอายุ และมีรายได้น้อย คนที่ยังใช้โทรศัพท์รุ่นกดปุ่มเนี่ยเขาจะเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ผมคิดว่าการวางอยู่บนระบบดิจิทัล ต้องรู้จักคำว่า digital divide ด้วย คือการแบ่งแยกกันด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ไม่เท่ากัน ระบบการลงทะเบียนออนไลน์ทั้งหลายเนี่ย ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าถึงได้ ไม่ใช่ทุกคนที่มีเน็ตพร้อมจะเข้าถึงตลอดเวลา ถามว่าเขามีโทรศัพท์ไหมก็มี แต่ว่ายังมีคนจำนวนมากที่ไม่มีสมาร์ทโฟน

เรื่องที่กำลังมีการทำแคมเปญคู่ขนานกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็คือ เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั้งประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ก็เคยมีการเสนอมาพักใหญ่ๆ แล้ว ไม่ว่าจะปีกการเมืองฝั่งไหนก็เห็นปลายทางตรงกันว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง

ตั้งแต่ผมเป็นนักศึกษา ช่วงหลังพฤษภา 35 ก็มีการพูดกันว่าประชาธิปไตยไม่ใช่มีแค่ไล่ รสช. ไล่พลเอกสุจินดา แต่จะวางรากฐานทั้งระบบได้ยังไง รากฐานหนึ่งก็คือการกระจายอำนาจ ต่อมาประเด็นเรื่องกระจายอำนาจมันอ่อนลง กลายเป็นเรื่องปฏิรูปการเมืองจนได้รัฐธรรมนูญปี 2540 ทีนี้ตอนนั้นก็มีการพูดกันมากเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เป็นหนึ่งในข้อเสนอ แต่ว่าเราเจอโจทย์ใหญ่สำคัญก็คือมหาดไทยหยั่งรากลึกในโครงสร้างอำนาจรัฐเสียจนเป็นคนขัดขวางที่สำคัญ ผมคิดว่าอันนั้นก็ทำให้การเคลื่อนไหวเลือกตั้งผู้ว่าฯ ฝ่อไป 

พูดอย่างให้เครดิตหน่อยนะ มีอาจารย์ที่พูดเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง คือ อาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วก็อีกท่านหนึ่งก็คืออาจารย์สุชาย ตรีรัตน์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ สมัยผมเป็นนักศึกษา อาจารย์สุชายเป็นคนหนึ่งที่พูดเรื่องนี้มาก ตอนหลังกลายเป็นว่าเรื่องการกระจายอำนาจนั้นพรรคประชาธิปัตย์ทำให้มันลงมาเหลือแค่ว่าให้เลือกตั้ง อบต. สมัยก่อนมีสภาตำบลอำนาจน้อยกว่าอบต. ปัจจุบัน

ในแง่ของหลักการแล้ว ผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งย่อมมีข้อดีมากกว่าข้อเสียแน่ๆ เราได้ผู้ว่าฯ ที่ต้องแคร์และต้องรับฟังเสียงจากประชาชน และประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ดีกว่าผู้ว่าฯ ที่หมุนเวียนกันไปประจำจังหวัดต่างๆ เป็นผู้ว่าฯ ที่แบบ เออ ขอมากินตำแหน่งนี้ก่อนเกษียณ เป็นเกียรติเป็นศรี แล้วจะไม่ทำอะไรที่จะบกพร่อง คิดแบบนี้มันทำให้ไม่เกิดการพัฒนา

ในแง่ความจำเป็น ผมคิดว่าจำเป็นแน่ๆ แต่ว่าในเชิงการจัดการจำเป็นต้องหาคำตอบกัน เช่น แล้วผู้ว่าฯ ปัจจุบันจะอยู่ตรงไหน หน่วยงานต่างๆ ที่เราเรียกว่าการปกครองส่วนภูมิภาคในจังหวัดๆ ทั้งหลาย พาณิชย์จังหวัด อบจ. จะไปอยู่ตรงไหน เขาจะไปอยู่กับผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งไหม มันมีคำถามแบบนี้ซึ่งจำเป็นต้องไปว่ากัน ต้องตอบตรงนี้ก่อน บางคนก็พูดว่ายุบไปเลย คุณไม่ต้องมีกรมไปอยู่ตรงนั้นแล้ว เอาคนมาขึ้นอยู่กับจังหวัดหมด ถ้าคุณดูหนังต่างประเทศ เราจะพบว่าตำรวจทั้งหลายมันขึ้นอยู่กับเมืองใช่ไหม แต่บ้านเรามันรวมศูนย์มาก สตช. ตำรวจทั่วประเทศใหญ่ขนาดไหน กรมการปกครอง คุณคุมผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ คุณใหญ่โตขนาดไหน มันรวมศูนย์มาก อำนาจมาก เขาก็ไม่ยอมเสียอำนาจ

ผมคิดว่ามีอยู่ 2 ประเด็นที่คนเบื่อหน่ายกับผู้ว่าฯ แต่งตั้ง คือ หนึ่ง ผู้ว่าฯ ไม่ได้มีความยึดโยงผูกพันกับพื้นที่ ผู้ว่าฯ ในอีสานมาจากใต้ ผู้ว่าฯ ภาคใต้มาจากภาคเหนือ วนเวียนเป็นเก้าอี้ดนตรี สอง การมาเพื่อรอเกษียณ แล้วทำตัวแบบไม่อยากยุ่งกับอะไรเลยเพราะกลัวด่างพร้อยในช่วงท้ายของชีวิตราชการ

ใช่ครับ เราคิดว่าผู้ว่าฯ ที่เป็นคนท้องถิ่นเขาน่าจะรู้ปัญหาของคนท้องถิ่นดีกว่า อย่างเช่นคนที่เกิดและโตที่เชียงใหม่ รักจังหวัดเชียงใหม่ ก็ควรมีสิทธิ์เสนอตัวมาบริหารเมืองที่เขารัก  เป็นผู้ว่าฯ ที่รู้จักรากเหง้าของเมือง ไม่ใช่ผู้ว่าฯ ที่มาจากที่อื่นแล้วต้องใช้เวลามาเรียนรู้ อย่างคุณไปเรียนรู้ภาคใต้ ปัญหาที่อ่อนไหวขนาดนี้คุณจะส่งคนที่ไม่รู้เรื่องไปได้ยังไง มันจำเป็นต้องเอาคนที่พร้อม ไม่ใช่แค่เวียนกัน แล้วก็เสียโอกาสจำนวนมาก แล้วมันจะมีคนจำนวนหนึ่งที่ทำงาน routine เลย ไม่ค่อยมีงานที่เป็นงานสร้างสรรค์เท่าไรนัก

ลองยกตัวอย่างง่ายๆ ที่จังหวัดขอนแก่นเขาบอกจะตั้งบริษัทจำกัดแล้วทำรถไฟฟ้า  แต่ว่าแค่เขาจะทำตรงนั้นมันยากมากเลย เพราะเขาไม่มีอำนาจ เขาต้องไปขออำนาจจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งๆ ที่เรื่องการจราจรมันควรจะเป็นเรื่องของท้องถิ่น แต่บ้านเราเป็นประเทศที่แปลกนะครับ ถ้ามองให้พ้นจากกรุงเทพฯ ประเทศเราเป็นประเทศที่แปลกมาก มีงานวิจัยจากต่างประเทศที่บอกว่าระบบขนส่งมวลชนในประเทศเราเป็นระบบที่มีแค่กรุงเทพฯ ที่มี ขสมก. ส่วนจังหวัดอื่นๆ ต้องใช้ระบบสัมปทาน บางจังหวัดมีรถแดงวิ่งเป็นระบบบ้าง ไม่เป็นระบบบ้าง เหมาบ้าง เราจึงเป็นประเทศที่มีแต่รถกระบะและมอเตอร์ไซค์เต็มไปหมด เพราะไม่ได้มีการออกแบบระบบขนส่งมวลชนไว้เลย

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า