อาเตะอาร์ลีน – พี่สาวคนหนึ่ง

 

อาเตะ (ate) ในภาษาตากาล็อกแปลว่าพี่สาว เป็นคำที่รับมาจากคำว่า อาจิ (achi) ในภาษาจีนสำเนียงฟูเจี้ยน ผมเดาต่อไปเองว่า น่าจะใกล้เคียงกับที่คนจีนแต้จิ๋วในไทยที่เรียกพี่สาวว่า อาเจ้

ที่ข้างถนนในมะนิลา มีบุคคลที่ผมนับถือเป็นพี่สาวคนหนึ่ง คือ อาเตะอาร์ลีน ทุกครั้งที่ผมเรียกแกว่า อาเตะ ผมหมายความตามนั้นจริงๆ ไม่ใช่แค่เรียกตามมารยาท ผมรู้จักอาเตะอาร์ลีน ตั้งแต่ตอนไปชิมลางที่มะนิลาปี 2554 อยู่ 10 อาทิตย์ และมารู้จักช่วงที่ผมอยู่ข้างถนนยาวๆ 14 เดือน ปี 2556-2557

อย่างที่เคยเล่าแล้วว่า ในช่วงแรกๆ ของการลิ้มรสชีวิตข้างถนน บาร์ตโตเรเม คือคนที่ผมสนิทด้วยมากที่สุด แต่ด้วยความดิบของเขา ทำให้ผมต้องคอยระแวดระวังตัวตลอดเวลา ไม่รู้ว่าเขาจะเสียงดังทะเลาะกับคนอื่นตอนไหน บาร์ตเคยกินเหล้าแล้วไล่ชกคนอื่นจนตัวเองถูกรถชนเจ็บหนัก บางคืนระหว่างเดินไปนอน เขาก็จับหน้าอกผู้หญิงที่นอนอยู่หน้าตาเฉย ทำให้ผมพูดได้ไม่เต็มปากว่า ตัวเองสะดวกโล่งใจเวลาเดินกับบาร์ต

ตรงกันข้ามกับเวลาที่อยู่กับอาเตะอาร์ลีน ผมเบาใจและรู้สึกสบายมาก ครั้งแรกที่ผมเห็นหญิงร่างท้วม วัยเกิน 50 คนนี้ ผมสังเกตว่า แกมีบุคลิกที่ต่างจากคนไร้บ้านคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าที่ซักสะอาด สวมรองเท้าผ้าใบ ผมไม่แปลกใจเมื่อพี่อาร์ลีนบอกว่า แกเพิ่งเป็นคนไร้บ้านได้แค่สามเดือนเท่านั้น

มากกว่านั้น แกดูใจเย็น มีน้ำใจ และห่วงใยคนอื่นอย่างน่าประทับใจ

คืนหนึ่งบาร์ตแยกกลับไปนอนที่บ้านเมียในสลัม ผมจึงไปนอนกับกลุ่มของอาเตะอาร์ลีน ที่มีเพื่อนร่วมกลุ่มอีกสองคน คือหญิงวัยกลางคนผิวคล้ำรูปร่างบางและป้าผมขาวคุยเก่งอีกคนหนึ่ง ผมคุ้นหน้าทั้งสองคน แต่ไม่สนิทเท่ากับอาเตะอาร์ลีน

ระหว่างทางเดินไปหาที่นอน ผมได้ยินหญิงกลางคนบ่นอุบอิบ ทำนองว่า เธอเป็นสาวโสด ส่วนผมเป็นผู้ชาย ผมจะไปนอนรวมกลุ่มกับเธอได้ยังไง จนตัวเองลังเลที่จะเดินไปกับกลุ่มพวกเขา แต่อาเตะอาร์ลีนย้ำกับผมว่า อย่าสนใจคำพูดของหญิงคนนั้น ผมสามารถไปนอนกับกลุ่มของเธอได้ ไม่มีปัญหา

รุ่งเช้า หญิงวัยกลางคนคนเดิม ก็ทำท่าพูดโทรศัพท์ แต่ผมไม่เห็นโทรศัพท์ เห็นแค่สายเสียบหู เข้าใจว่าเธอคงให้หูฟัง (hands-free)

“พรุ่งนี้นะ เธอจะมารับฉันใช่มั้ย กี่โมงนะ ฉันคอยอยู่นี่แหละ” เสียงของเธอคุยโทรศัพท์ ทำให้ผมเข้าใจว่าเธอกำลังคุยกับคนรักของเธอ

แต่แล้วป้าที่อยู่กลุ่มเดียวกันก็บ่นกับผมว่า “ฉันละรำคาญยายบ้านี่จริงๆ เอาแต่คิดหาแต่ผู้ชาย…บุญเลิศ ไม่รู้เหรอว่า ยายนั่นมันประสาทแดก”

ผมไม่รู้!?

อาเตะอาร์ลีน จึงอธิบายให้ผมฟังว่า หญิงคนนั้นไม่ได้มีโทรศัพท์มือถือ เธอมีแค่หูฟังวิทยุ แล้วก็มโนว่า กำลังคุยโทรศัพท์กับคนรักของเธอ เนื่องจากเธอมีปมฝังใจที่ถูกผู้ชายทิ้งไป โดยอ้างว่าเธอไม่ใช่หญิงบริสุทธิ์ ด้วยเหตุนี้ เธอจึงย้ำอยู่บ่อยๆ ว่า เธอเป็นสาวบริสุทธิ์

“เรารู้ว่าเธอป่วย แล้วอย่างนี้ เราจะทิ้งเธอไว้คนเดียวได้ยังไง” คือความห่วงใยของอาเตะอาร์ลีน และทำให้ผมเข้าใจด้วยว่า หญิงที่ไม่มีคู่สามารถอยู่บนถนนได้ก็ด้วยการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม

ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ผู้หญิงที่ดูสุภาพใจเย็นอย่างอาเตะอาร์ลีนมาลงเอยที่ท้องถนนได้อย่างไร

อาเตะอาร์ลีน เกิดในครอบครัวกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงทางเหนือของเกาะลูซอน ชีวิตความเป็นอยู่วัยเด็กยากลำบาก ข้าวสารมีไม่พอกินตลอดปี ต้องกินหัวเผือก หัวมัน และกล้วยแทนข้าว แต่แกต่างจากเด็กคนอื่นตรงที่พ่อซึ่งมีเชื้อสายจีน ส่งเสริมให้แกได้เรียนหนังสือ ทั้งที่เพื่อนรุ่นเดียวกันได้เรียนแค่ระดับประถมในโรงเรียนที่ต้องเดินเป็นกิโลๆ ไปตามภูเขาจึงจะถึงโรงเรียน

หลังจากจบชั้นประถม พ่อก็ส่งให้มาเรียนต่อในเมืองโดยอาศัยอยู่กับญาติ ระหว่างเรียนก็ช่วยญาติไปด้วย เรียนบ้างหยุดบ้างจนจบมัธยม จากนั้นก็ทำงานที่โบสถ์อยู่พักหนึ่ง จนได้ทุนจากโบสถ์ ให้เรียนระดับประกาศนียบัตร เพื่อไปเป็นครูภาคฤดูร้อนให้กับโรงเรียนบนภูเขา จากนั้นมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่โครงการสหกรณ์ของโบสถ์ที่ได้รับการอุดหนุนจากองค์กรระหว่างประเทศอีกที ทำงานแจกจ่ายนม อาหารเสริมให้กับชุมชนบนพื้นที่สูง

ระหว่างที่แกทำงานอยู่ที่โบสถ์นี้ แกเช่าห้องอยู่ตามอัตภาพ และห้องเช่านี้ก็กลายเป็นที่พักสำหรับหลานๆ จากหมู่บ้านที่เข้ามาเรียนต่อในเมือง หลานคนแล้วคนเล่า มาพักกับแก เรียนจบ ทำงาน มีครอบครัว ไปแล้วหลายคน ส่วนอาเตะอาร์ลีนยังคงโสด ไม่เคยมีคู่ครอง เพราะชีวิตทำงานอยู่แต่กับโบสถ์ ใจร่มๆ มีเรื่องดีเกิดขึ้นกับชีวิต ก็ขอบคุณพระเจ้า หากเจอเรื่องไม่ดี ก็สวดอ้อนวอนขอให้พระเจ้าช่วย

แต่แล้วแกก็เผชิญกับภาวะที่รู้สึกว่า ชีวิตตัวเองไร้ค่า เป็นภาระของหลาน เมื่อโครงการที่แกทำงานต้องยุติ เมื่อไม่มีการอุดหนุนจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันอายุก็มากขึ้น แม้จะไม่แก่คราวยายก็ตาม

“ถึงจุดหนึ่ง พี่คิดว่า ชีวิตเราก็แค่นี้เองเหรอ โตมาทำงาน เลี้ยงหลาน จนหลานโตมีลูก แล้วพี่ก็จะเลี้ยงลูกของพวกเขาอีก จากหลานเคยมาอาศัยพักกับพี่ กลายเป็นพี่ต้องอาศัยหลาน พี่ก็เลยไม่อยากอยู่ อยากหาประสบการณ์ชีวิต เลยลองเข้ามามะนิลา และคิดว่าอยากจะเขียนประสบการณ์ออกมาเป็นหนังสือ” แกหัวเราะให้กับประโยคสุดท้าย เพราะแกเหนื่อยกับชีวิตข้างถนน เกินกว่าจะเขียนอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน

จากประวัติคร่าวๆ เท่านี้ อาเตะอาร์ลีนแทบไม่มีอะไรร่วมกับคนไร้บ้านคนอื่นๆ แกไม่ได้มาจากครอบครัวแตกแยก ไม่เคยต้องโทษ ไม่ใช้สุรายาเสพติด แถมยังมีการศึกษาค่อนข้างสูงอีกด้วย จึงเป็นเรื่องช็อกสำหรับเธอ เมื่อต้องมาเผชิญกับสังคมข้างถนน

“พี่โตมาแค่ในชนบท หรือเมืองเล็กๆ ที่ผู้คนเป็นมิตร สงบ พอพี่มาเห็นพวกนักเลง มีรอยสัก บอกตามตรง พี่กลัว ไม่กล้ามองพวกเขาเลย ครั้งแรกที่พี่เห็นคนต่อยตีกัน พี่ถึงกับตัวสั่น กลัว ร้องไห้เลย”

เมื่อมา เมโทรมะนิลา ในวันแรกๆ อาเตะอาร์ลีนไปอาศัยนั่งหลับที่หน้าโบสถ์ในเมืองปาซาย ติดกับเมืองมะนิลา แต่นานวันเข้าก็ถูกไล่จากยาม สุดท้ายได้ยินคนแนะนำให้มาที่ลูเนต้า จึงมาใช้ชีวิตเช่นเดียวกับคนไร้บ้านหลายคน อาศัยกินข้าวตามโครงการแจกอาหาร ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ใช่วิถีที่แกคุ้นเคย

ตอนผมครบระยะเวลาสิบสัปดาห์ ในปี 2554 และลาแกกลับ อาเตะอาร์ลีนก็บอกว่า แกคงจะกลับต่างจังหวัดด้วยเช่นกัน เพราะชีวิตในมะนิลายากกว่าที่คิดไว้ โดยเฉพาะหน้าฝนที่กำลังมา

แล้วพี่อาร์ลีนก็กอดผมแทนคำลา แกเป็นผู้หญิงคนเดียวที่กอดลาผม คิดว่าคงจะไม่ได้เจอกันอีก

แต่ทว่า เมื่อผมกลับไปมะนิลาอีกครั้งในปี 2556 ผมก็ยังพบอาเตะอาร์ลีน ที่สวนลูเนต้าที่เดิม

ผมยังจำภาพวันแรกที่เราเจอกันใหม่ได้ เมื่อแกเห็นผมมาแต่ไกล แกยิ้มไม่ใช่แค่ที่ปากแต่ด้วยดวงตาที่เบิกโพลงด้วยความดีใจ กึ่งวิ่งกึ่งเดินเข้ามาหา พร้อมกับสวมกอด แทนความรู้สึกที่ไม่ได้พบกันปีกว่าๆ

หลังจากถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ แกก็ผายมือ และพูดว่า

“เห็นมั้ย พี่สามารถรับมือกับหน้าฝนได้ พี่อยู่ที่นี่มาสองปีกว่าแล้ว พี่ทำได้”

อาเตะอาร์ลีนไม่ได้ลืมสิ่งที่แกเคยบอกว่าแกจะกลับบ้าน แต่สุดท้ายแกเลือกที่จะเผชิญหน้ากับชีวิตข้างถนนมากกว่าจะกลับต่างจังหวัด แกช่ำชองชีวิตข้างถนนมากขึ้น ไม่ได้ไปตระเวนกินข้าวตามโครงการแจกอาหาร แต่ยังชีพด้วยการขายพลาสติกปูนั่งเป็นหลัก และด้วยความที่แกเป็นคนซื่อสัตย์ไว้ใจได้ ร้านค้าในสวน ให้แกช่วยเฝ้าร้านเวลาจะไปเข้าห้องน้ำ หรือกลับบ้าน แกเลยมีรายได้เสริมพออยู่ได้

แกยังมีเพื่อนกลุ่มใหม่สามถึงห้าคน ทั้งหมดเป็นผู้ชาย แต่แกวางตัวเก่งมาก ทุกคนคือเพื่อนของแก เท่านั้นไม่มากไปกว่านั้น และดูเหมือนทั้งหมดต่างก็นับถือแก ใครเดือดร้อนไม่มีทุนซื้อพลาสติก ก็ขอยืมจากอาเตะอาร์ลีนก่อน ที่สำคัญ แกเป็นเพื่อนรับฟังปัญหาของคนข้างถนนอย่างใจเย็น ไม่ว่าจะเป็นจากริคกี้ คนที่ตามหาลูกตัวเองที่ถูกเมียหอบหนีไป ดาบิด ที่ชอบพึมพำถึงอดีตเมียที่มีชู้ รวมถึงผมที่จะปรึกษาแกเมื่อผมไม่เข้าใจทัศนะของคนฟิลิปปินส์

“เพราะพี่ทำงานกับโบสถ์มาเป็นยี่สิบปี ทำให้พี่ชินกับการรับฟังปัญหาของคนอื่น เวลาอยู่ที่นี่ พี่ได้ฟังปัญหาเรื่องราวของคนอื่นเยอะแยะ”

ก่อนผมจะกลับเมืองไทยหลังจากอยู่จนครบ 14 เดือน ผมนั่งคุยกับอาเตะอาร์ลีนว่า ผมจะช่วยอะไรแก-คนที่ผมนับถือมากคนหนึ่งได้บ้าง ถึงตอนนั้นผมเห็นแววตาโศกของอาเตะอาร์ลีน เมื่อต้องคิดถึงชีวิตยาวๆ ไม่ใช่แค่วันต่อวัน

“พี่รู้ดีว่า พี่แก่ตัวลงทุกวัน และพี่ก็ไม่สามารถอยู่ที่ข้างถนนได้ตลอดไป วันหนึ่งพี่จะต้องกลับบ้าน”

“พี่อยากจะกลับบ้านมั้ย ถ้าพี่อยากกลับ ผมยินดีช่วยพี่เลย”

“ยังหรอก ยังไม่ใช่ตอนนี้”

“ถ้าจะกลับบ้านได้ พี่คิดว่าพี่ต้องการอะไรบ้าง” ผมรู้ว่า มีบางสิ่งที่สำคัญกว่าค่ารถ

“พี่ต้องมีเงินสักหน่อย เพื่อบอกคนอื่นได้ว่า พี่มาทำอะไรสักอย่างที่มะนิลา ไม่ได้เป็นคนไร้บ้าน…พี่เคยมีเงินเก็บสองสามพันเปโซนะ[1] ช่วงคริสต์มาส-ปีใหม่ แต่ผ่านไปสามเดือน พี่ก็ใช้มันหมดไปแล้ว”

“โอ๊ย เท่านั้นเอง ถ้าเท่านั้น ผมช่วยได้” ผมไม่รู้ว่าผมคิดผิดหรือถูกที่อยากจะกระตุ้นให้แกกลับบ้าน โดยบอกว่า “พี่ไม่คิดถึงหลานพี่เหรอ ป่านนี้หลานพี่คงคิดถึงพี่ อยากให้พี่กลับบ้านแล้ว”

“แน่นอน พี่คิดถึงพวกเขา และพี่ก็คิดว่า พวกเขาก็คงคิดถึงพี่” เสียงของอาเตะอาร์ลีนแสดงความผูกพันระหว่างแกกับหลานๆ ไม่น้อย

“พี่น่าจะกลับบ้านนะ เรื่องเงินไม่ต้องห่วง”

“ยังหรอก พี่ไม่อยากเป็นภาระใคร พี่อยู่ที่นี่กินศักดิ์ศรีดีกว่า แม้จะหิวท้องบ้าง”


 

[1] ประมาณ 1,500-2,250 บาท

 

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า