อุทกภัยไร้พรมแดน: เขื่อนแม่น้ำโขง ผู้ประสบภัยหลากชาติพันธุ์ และสินเชื่อเพื่อสร้างเขื่อนโดยธนาคารไทย

ความมั่นคงทางพลังงานของไทย ถูกผูกไว้อย่างไม่มีทางเลือกกับโครงการก่อสร้างเขื่อนบนแม่นํ้าโขงในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยเฉพาะ 3 เขื่อนสำคัญคือ เขื่อนหลวงพระบาง ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างและคืบหน้าแล้วราวร้อยละ 30 โครงการเขื่อนปากแบงและปากลาย โดยทั้ง 3 เขื่อน กฟผ. ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปแล้วเรียบร้อย 

สำหรับเขื่อนหลวงพระบาง ได้รับเงินสินเชื่อในการสร้างเขื่อนตามการเปิดเผยข้อมูลของ Equator Principles ว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ซึ่งเป็นธนาคารไทยแห่งแรกและแห่งเดียวที่รับหลักการ Equator Principles ให้การสนับสนุนสินเชื่อในโครงการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง และจะต้องเปิดเผยการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ให้สาธารณะได้รับทราบ 

หากเขื่อนหลวงพระบางดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้นในปี 2573 เมืองหลวงพระบาง ในฐานะเมืองมรดกโลก ที่ตั้งอยู่ท้ายเขื่อนเพียง 25 กิโลเมตร มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติมหาศาล ขณะที่ประชาชนชาวลาวที่อาศัยอยู่เหนือเขื่อนขึ้นไปต้องประสบกับการถูกบังคับให้พลัดถิ่น บ้านเกิดเมืองนอน ที่ดินทำกิน จะต้องจมอยู่ใต้ผืนนํ้าอย่างน้อยอีก 35 ปีต่อจากนี้

ส่วนโครงการเขื่อนปากแบงและปากลายนั้นอยู่ในระหว่างการหาสินเชื่อเพื่อการก่อสร้าง ซึ่งหลายฝ่ายยังคงมีความหวังว่า โครงการเขื่อนทั้ง 2 แห่งนั้นจะไม่เดินหน้าก่อสร้าง โดยเฉพาะประเด็น ‘ผลกระทบข้ามพรมแดน’ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม และสิทธิมนุษยชน จนกระทบเข้ามายังพรมแดนประเทศไทย หากมีเขื่อนเพิ่มขึ้นในแม่นํ้าโขง 

การหยุดโครงการเขื่อนในแม่นํ้าโขง จำต้องเริ่มต้นที่การหยุด ‘สินเชื่อ’ ของธนาคารไทยจำนวนมากที่ได้ประกาศรับหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ให้คำนึงถึงผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและทำการประเมินความเสี่ยงอย่างรอบด้าน และท้ายที่สุด โครงการสร้างเขื่อนต่าง ๆ ที่มีตัวอย่างในการสร้างผลกระทบข้ามพรมแดนเชิงประจักษ์มาแล้ว ธนาคารพาณิชย์ควรยกให้สินเชื่อเช่นนี้เป็น ‘รายการสินเชื่อต้องห้าม’ (exclusion list) ในที่สุด 

ภาพสุดท้ายก่อนบ้านลาดหานจะจมนํ้า 

เป็นเวลากว่า 1 วันครึ่ง เรือช้า (slow boat) เส้นทางห้วยทราย-ปากแบง-หลวงพระบาง เทียบฝั่งยัง หมู่บ้านลาดหาน (Lat Han) แขวงอุดมไซ (Oudomxay) ริมนํ้าโขง ใกล้พรมแดนระหว่างแขวงอุดมไซกับแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว

สะพานข้ามแม่นํ้าโขง รถไฟความเร็วสูงลาว-จีน สัญลักษณ์แห่งการพัฒนาอันรุดหน้าของ สปป.ลาว ตั้งอยู่ด้านหลังหมู่บ้านลาดหาน การพัฒนาด้วยอัตราเร่งสูงจนมองไม่เห็นชีวิตคนเล็กคนน้อย กำลังคืบคลานเข้าใกล้บ้านลาดหานเรื่อย ๆ

บ้านลาดหาน เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ชุมชนอยู่อาศัยหน้าแน่นราว 200 หลังคาเรือน มีเศรษฐกิจดี ลักษณะของบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านสองชั้น กึ่งไม้กึ่งปูน มีร้านขายยาราว 4 ร้าน ร้านขายของชำขนาดใหญ่หลายแห่ง ขายทั้งสินค้าบริโภค-อุปโภค ตั้งแต่เห็ดเข็มทอง สำหรับประกอบเมนูจิ้นดาด (หมูกระทะแบบลาว) เนื้อสดและเนื้อแช่แข็ง ยันของใช้และเสื้อผ้า มีวัดที่สวยงามขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้าน อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของผู้คนในละแวกนั้น โรงเรียนจึงมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย เปิดสอนในระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา มีนักเรียนราว 500-600 คน

แต่อีกไม่นาน ภาพหมู่บ้านลาดหานที่เราเห็น จะกลายเป็นความทรงจำจมอยู่ใต้น้ำโขง เหลือไว้เพียงแค่ภาพถ่าย เนื่องจากโครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าหลวงพระบาง (Luang Prabang Hydropower Project: LPHP) กำลังจะเปลี่ยนหมู่บ้านลาดหาน ที่ตั้งอยู่เหนือเขื่อนเพียง 6 กิโลเมตร (ราว 20 นาทีทางเรือ) ให้เป็นอ่างเก็บนํ้า หากดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้นตามแผนในปี 2573 

ชาวบ้านลาดหานต้องถูกบังคับให้ย้ายจากถิ่นฐาน (forced displacement) ออกจากพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินของบรรพบุรุษที่ตกทอดมาหลายร้อยปี ไปยังพื้นที่ซึ่งรัฐบาลแขวงอุดมไซยได้จัดสรรให้ เหนือขึ้นไปบนภูเขาท้ายหมูบ้านภายในปี 2569 นี้ พวกเขาต้องละทิ้งวิถีชีวิตที่เคยผูกพันกับสายนํ้า ถูกรื้อถอนความชำนาญในการหาอยู่หากินเพื่อดำรงชีวิต ไม่มีหลักประกันใดว่า พวกเขาจะสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างราบรื่นได้หรือไม่

“ปีหน้าต้องย้ายออกจากหมู่บ้าน ไปยังที่ใหม่ที่จัดไว้ให้เหนือขึ้นไปบนภูเขานู่น” เสียงจากชาวบ้านลาดหานคนหนึ่ง ที่กำลังขะมักเขม้นทำ ‘ไซ’ ขายให้กับคนในหมู่บ้าน 

เมื่อถามว่าทำไซดักปลาใช่หรือไม่ “บ่แม่น ทำไซขึ้นบ้านใหม่ คนในหมู่บ้านมาจ้างทำ”

ไซที่ว่านี้มีขนาดราว 1 ฟุต สำหรับติดไว้ที่หน้าประตูบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล อุดมทรัพย์สิน และโชคลาภตอนขึ้นบ้านใหม่ โดยบ้านใหม่ที่ว่านี้คือ บ้านใหม่ที่จะต้องย้ายไปในปีหน้า

บทสนทนาดำเนินต่อ เมื่อถามเขาว่ารู้หรือยังว่าต้องย้ายไปอยู่ที่ไหน เขาชี้ไปที่ภูเขาลูกที่เห็นอยู่เบื้องหน้า “ย้ายไปทางข้างบนเขานั่น คงได้ไปรวมกับคนที่มาจากหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง” 

“โชคบ่ดี บ้านหลังนี้ถูกตีว่าเป็นบ้านประเภท 1 ก็จะได้พื้นที่เท่าเดิมราว 20 ตารางเมตร” 

ทางการจำแนกประเภทที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนออกเป็น 5 ประเภท โดยประเภทที่ 1 มีขนาดเล็กสุด เมื่อลองนึกภาพเปรียบเทียบบ้านใหม่ของหญิงวัยกลางคนคงมีพื้นที่เล็กกว่าเดิม พื้นที่ใช้สอยเท่าคอนโดมิเนียมแบบสตูดิโอใจกลางกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ

จากการพูดคุยกับชาวบ้านลาดหานคนอื่น ๆ จะพบว่า ประเด็นสำคัญที่สุดที่ถูกพูดถึงคือเงินชดเชยจากทางการลาว ถึงวันนี้หลายครอบครัวยังไม่ได้รับเงินชดเชยจากการต้องสูญเสียที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน จำต้องเปลี่ยนอาชีพ รวมไปถึง วิถีชีวิตของพวกเขาจะถูกรื้อถอนอย่างสิ้นเชิง 

หมู่บ้านลาดหานได้รับการสำรวจจากผู้แทนบริษัทผู้พัฒนาโครงการเขื่อนหลวงพระบางและเจ้าหน้าที่รัฐ มีการทำเครื่องหมายกำกับเลขที่หมู่บ้านไว้ เพื่อเตรียมการโยกย้ายภายใน 2 ปีนี้

จากการศึกษาของนักวิชาการด้านกฎหมายที่ได้ตีพิมพ์บทความลงใน Heinrich Böll Stiftung ได้ทำการศึกษากฎหมายของ สปป.ลาว ที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ดินและการชดเชยเยียวยาจากกรณีการต้องอพยพโยกย้ายถิ่นจากโครงการพัฒนาเขื่อน 

ในกรณีของเขื่อนหลวงพระบาง รัฐบาลแขวงหลวงพระบางได้ประกาศค่าชดเชยให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนนี้ โดยตีราคาค่าชดเชยคือ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างริมถนนใหญ่ที่ 150,000 กีบต่อตารางเมตร (238 บาท) และที่ดินสวนและนาที่ 3,000 กีบต่อตารางเมตร (5 บาท)1 ที่ถูกตั้งคำถามว่าราคาค่างวดของการชดเชยนี้เป็นธรรมหรือไม่ 

ทำให้ชาวบ้านบางส่วนแสดงความกังวลกับค่าชดเชยที่ไม่อาจเพียงพอต่อการเริ่มต้นชีวิตใหม่ และแผนการโยกย้ายที่ไร้ซึ่งความแน่นอน 

บ้านลาดหานเป็นเพียง 1 ใน 26 หมู่บ้าน เหนือเขื่อนหลวงพระบางที่จะต้อง ‘เสียสละ’ ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้จมนํ้าเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในฐานะ แบตเตอรีแห่งเอเชีย (Battery of Asia) อพยพโยกย้ายไปลงหลักปักฐานยังพื้นที่จัดสรรใหม่ 

ไซต์งานก่อสร้างหมู่บ้านที่ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นจากที่ราบริมฝั่งโขงขึ้นมาบนพื้นที่เขา ความคืบหน้า ณ ปัจจุบัน ได้มีการเคลียร์พื้นที่ป่าเดิม ถมที่ใหม่เพื่อการปลูกสร้างที่อยู่อาศัย

ทว่า ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง ไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่ 26 หมู่บ้านเหนือเขื่อนเท่านั้น แต่จะสร้างผลกระทบที่ยาวไกลกว่าที่คนทั่วไปคาดคิด จนกลายเป็น ‘ผลกระทบข้ามพรมแดน’ ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิทธิมนุษยชนไปพร้อมกัน ที่สามารถอภิปรายได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

แนวต้นไม้สูงขึ้นไปจากริมฝั่งโขงราว 10 เมตร ถูกกระแสนํ้าพัดโค่นลงและจมอยู่ใต้นํ้าจนยืนต้นตายในที่สุด รวมไปถึง บ้านหลายหลังริมนํ้าโขงก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน

ตัวอย่างผลกระทบเชิงประจักษ์ที่เกิดจากการสร้างเขื่อนในแม่นํ้าโขง ไม่จำเป็นต้องย้อนไปไกลนัก เพียงแค่ 2 เดือนก่อนหน้านี้ การปล่อยมวลนํ้ามหาศาลจาก เขื่อนจิ่งหง ในประเทศจีน ทำให้ระดับนํ้าโขงขึ้นสูงขึ้นฉับพลัน เกิดอุทกภัยข้ามพรมแดนสร้างความเสียหายต่อทั้งชาวไทยในจังหวัดเชียงราย และชาวลาวที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งนํ้าอย่างหนักมาแล้ว หากมีเขื่อนเพิ่มขึ้นอีกพวกเขาจะต้องเผชิญกับภัยพิบัติซํ้าซาก ไม่ว่าจะอยู่เหนือเขื่อน ท้ายเขื่อน หรือแม้กระทั่งตรงกลางระหว่างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานนํ้า ที่จะต้องถูกมวลนํ้าบีบอัดจากทุกด้าน ด้วยคำโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็น ‘พลังงานสะอาด’ เพื่อ ‘ความมั่นคงทางพลังงาน’ ของประเทศไทย และการพัฒนาเศรษฐกิจของ สปป.ลาว   

3 เขื่อนเพื่อความมั่นคงทางพลังงานที่ล้นเกินของไทย

เขื่อนหลวงพระบาง เป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างเขื่อนบนแม่นํ้าโขงเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานนํ้า ขนาด 1,460 เมกะวัตต์ ส่งออกกระแสไฟฟ้าไปยังประเทศไทย ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วตั้งแต่ปี 2563 มีความคืบหน้าในการก่อสร้างแล้วราวร้อยละ 30 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2573  ทั้งนี้ กฟผ. ได้ลงนามในสัญญาการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนหลวงพระบางไปแล้วเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 โดยลงนามในข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เป็นเวลา 35 ปี2 อีกทั้ง เขื่อนหลวงพระบางตั้งอยู่ทางเหนือห่างจากเมืองมรดกโลกหลวงพระบางเพียง 25 กิโลเมตร3

โครงการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบาง มีความคืบหน้าแล้วราวร้อยละ 30 ณ ปัจจุบันมีการกั้นลำนํ้าโขงทางด้านขวามือเพื่อสร้างประตูระบายนํ้าเป็นระยะทางราว 600 เมตร ในส่วนทางด้านซ้ายมือยังเปิดให้เรือโดยสารสัญจรอยู่ หากการก่อสร้างประตูระบายนํ้าเสร็จสิ้นจะมีการปิดลํานํ้าโขงทั้งหมด เพื่อสร้างสถานีผลิตไฟฟ้าพลังงานนํ้า ซึ่งจะทำให้แม่นํ้าโขงในบริเวณดังกล่าวถูกปิดกั้น   

ด้านหน้าไซต์งานเขื่อนหลวงพระบาง ทางขวายังไม่มีการกั้นลำนํ้า ยังคงสามารถเดินเรือได้ตามปกติ คาดว่า หากการก่อสร้างทางระบายนํ้าเสร็จสิ้น ถึงจะเริ่มกั้นลำนํ้าทางขวามือเพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานนํ้า

ข้อมูลภายในเว็บไซต์ของ Equator Principles ระบุว่า ธนาคารไทยคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ (Siam Commercial Bank: SCB) ธนาคารไทยแห่งแรกและแห่งเดียวที่รับหลักการ Equator Principles และจะต้องเปิดเผยรายชื่อโครงการ ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อโครงการ (project finance) จากธนาคาร ในกรณีที่โครงการดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้สาธารณชนได้รับทราบ ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้สนับสนุนสินเชื่อให้กับโครงการเขื่อนหลวงพระบางในปีงบประมาณ 2566 อย่างไรก็ดี ไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าธนาคารไทยอื่นใดร่วมสนับสนุนสินเชื่อในโครงการนี้หรือไม่ 

Equator Principles คืออะไร
หลักการ Equator Principles คือ กรอบบริหารจัดการความเสี่ยงสำหรับสถาบันการเงิน ที่ต้องประเมินและจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของโครงการที่จะเข้าไปการลงทุน เสมือนมาตรฐานสำหรับสนับสนุนการตัดสินใจด้านความเสี่ยงอย่างรับผิดชอบ


หลักการ Equator Principles ในทางปฏิบัติต้องทำอย่างไร
สถาบันการเงินต้องมีกระบวนการและมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ ด้วยการประเมินสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมไปถึง ประเด็นชาติพันธุ์ แรงงาน และชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการที่สถาบันทางการเงินจะลงทุนหรือให้สินเชื่อ 
โดยจะพิจารณาไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่ไม่ดำเนินการตามหลักการอีเควเตอร์ เช่น โครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสังคมอย่างมีนัยสำคัญ 


ที่มา: https://equator-principles.com/ 

จากการลงนามในข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าและสินเชื่อจากธนาคารไทยที่พร้อมเพรียงเช่นนี้ ทำให้โครงการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบาง สามารถเดินหน้าก่อสร้างได้4 ธุรกรรมทางการเงินดังกล่าว ผลักดันให้แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ส่ง จดหมายเปิดผนึกถึงธนาคารไทยพาณิชย์ เรื่องข้อกังวลต่อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนํ้าหลวงพระบางในการปฏิบัติตามหลัก Equator Principles ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2567 เนื่องจาก ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารแห่งแรกของประเทศไทยที่ลงนามรับหลัก Equator Principles ว่าด้วยการบริหารความเสี่ยง (risk management) สำหรับสถาบันทางการเงิน เพื่อประเมินโครงการต่าง ๆ ว่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

ไม่เพียงแค่เขื่อนหลวงพระบางเท่านั้น องค์กรแม่นํ้านานาชาติ (International Rivers) ยังระบุว่า มีโครงการเขื่อนที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการโครงการ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังนํ้าในอนาคต โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อและลงนามในข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreements: PPAs) ในระยะยาวแล้วคือ เขื่อนปากแบง (Pak Beng) ขนาด 912 เมกะวัตต์ (ตั้งห่างจากแก่งผาได ชายแดนไทย-ลาว อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เพียง 90 กิโลเมตร) และเขื่อนปากลาย (Pak Lay) ขนาด 770 เมกะวัตต์ (ตั้งห่างจากอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ราว 90 กิโลเมตร) 

แม้ว่าทั้ง 3 เขื่อนนี้เป็นโครงการที่ตั้งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านคือ สปป.ลาว แต่ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนทั้ง 3 แห่ง นอกจากจะก่อความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์ของประชาชนใน สปป.ลาวแล้ว ยังส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย ทั้งประชาชนที่อาศัยตามริมแม่นํ้าโขง5

นอกจากนี้ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองจะต้องเผชิญกับค่าไฟที่แพงขึ้น จากพลังงานสำรองที่ล้นเกินความจำเป็น จากข้อมูลของ JustPow พบว่า วันที่ 6 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 34,443.1 เมกะวัตต์ โดยประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบอยู่ที่ 49,571.79 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นกำลังไฟฟ้าสำรอง 43.92 เปอร์เซ็นต์จากความต้องการไฟฟ้าสูงสุด ทั้งที่ ประเทศไทยควรมีไฟฟ้าสำรองที่ 15 เปอร์เซ็นต์โดยคิดจากการใช้ไฟฟ้าสูงสุด6

การบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าสำรองของไทยที่ประมาณการเกินความจำเป็น จนพลังงานสำรองล้นเกินถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนพลังงาน7 แนวโน้มการเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึง การสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ทุนพลังงานไทยเข้าไปลงทุนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ทำให้ไทยสำรองพลังงานไฟฟ้าด้วยการเซ็นอนุมัติโรงไฟฟ้า หรือสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอยู่เรื่อยไป 

แน่นอนว่า การสร้างเขื่อนเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าในแม่นํ้าโขง ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนปากแบง หรือแม้กระทั่งเขื่อนปากลาย ต่อค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นของคนไทยโดยตรง มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม ที่จะเกิดขึ้นไปพร้อมกับค่าไฟของคนไทยกลับตั้งอยู่ใกล้เขื่อนหลวงพระบาง คือ ‘เมืองมรดกโลกหลวงพระบาง’ ที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติเพียงเอื้อมมือ

แผนที่แสดงถึงที่ตั้งของเขื่อนในแม่นํ้าโขงทั้งหมด จากต้นนํ้าในประเทศจีนที่เรียกว่า ‘แม่นํ้าโขงตอนบน’ (Upper Mekong River) ที่ไหลลงมาผ่านประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 ประเทศซึ่งเป็น ‘แม่นํ้าโขงตอนล่าง’ (Lower Mekong River) | ที่มา: https://www.internationalrivers.org

หลวงพระบาง มรดกโลกในความเสี่ยงภัยพิบัติ

เมืองหลวงพระบาง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลก (World Heritage Site) จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อปี 2538 จากเกณฑ์ชี้วัดว่าเมืองหลวงพระบางมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ห้อมล้อมไปด้วยสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ เนื่องจากเมืองตั้งอยู่ริมฝั่งแม่นํ้าโขงและพื้นที่ชุ่มนํ้า แหล่งที่อยู่อาศัยของปลานานาพันธุ์ รวมไปถึงการทำการเกษตร ขณะที่สิ่งปลูกสร้าง อาคารบ้านเรือน มีลักษณะอันโดดเด่นตามรูปแบบศิลปะดั้งเดิมและโคโลเนียลแบบลาว กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ทั้งยังเป็นศูนย์กลางของศิลปวัฒนธรรมของลาวอีกด้วย  

จุดท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไม่ไกลจากเมืองหลวงพระบาง เป็นที่ตั้งของเมืองปากอู (Pak Ou) ที่มีถํ้าปากอู หรือ ถํ้าติ่ง (Pak Ou Caves, Tham Ting) สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ภายในเต็มไปด้วยพระพุทธรูปโบราณนับพันองค์ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ผู้มาเยือนเมืองหลวงพระบาง จะต้องเดินทางล่องเรือบนแม่นํ้าโขงเพื่อไปชมความงดงาม

ครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ผู้ทำงานด้านการอนุรักษ์แม่นํ้าโขงร่วม 3 ทศวรรษ ผู้ได้รับรางวัล ‘รางวัลสิ่งแวดล้อมโกลด์แมน (Goldman Environmental Prize) ประจำปี 2565 รางวัลที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘โนเบลการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม’ แสดงทัศนะต่อการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางเพื่อให้เห็นภาพว่า หลวงพระบางเป็นเมืองมรดกโลกได้ เพราะประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันรุ่มรวย จากการเข้ามาอยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่เอาเมืองหลวงพระบางเป็นศูนย์กลาง โดยมีเส้นทางคมนาคมในการติดต่อสำคัญคือแม่นํ้าโขง ซึ่งมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ 

ดังนั้น ความรุนแรงของผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบาง ไม่ได้กระทบระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติหรือพันธุ์ปลาเพียงอย่างเดียว แต่มันจะมีผลกระทบต่อเมืองมรดกโลกแห่งนี้ด้วย 

“ถ้าเขื่อนหลวงพระบางสร้างเสร็จ มันจะสร้างผลกระทบมหาศาล เพราะหลวงพระบางตั้งอยู่ท้ายเขื่อน การเปลี่ยนแปลงของระดับนํ้าโดยการควบคุมเขื่อนจะส่งผลกระทบรุนแรง อีกทั้งยังมีแม่นํ้าสายย่อยเช่น นํ้าคานและนํ้าอู ซึ่งทั้งสองสายย่อยนี้ ล้วนมีเขื่อนหลายแห่งแล้ว”

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ

ครูตี๋ตั้งประเด็นว่า ในเมื่อแม่นํ้าอู ตั้งอยู่ทางตอนเหนือห่างจากเมืองหลวงพระบางประมาณ 25 กิโลเมตร ไม่ไกลจากโครงการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางมากนัก บนลำนํ้ามีเขื่อนตั้งอยู่แล้ว 7 เขื่อนด้วยกัน หากฝนตกหนักเขื่อนทั้งหมดจะต้องปล่อยนํ้า ส่วนแม่นํ้าคาน พาดผ่านด้านเหนือของตัวเมืองหลวงพระบาง ก่อนไหลไปบรรจบแม่นํ้าโขง ซึ่งบนแม่นํ้าคานนี้มี 2 เขื่อนที่ขวางลำนํ้าอยู่ หากไม่สามารถรับนํ้าได้ก็ต้องปล่อยนํ้า รวมถึงเขื่อนหลวงพระบางด้วย หากก่อสร้างเสร็จสิ้น มวลนํ้ามหาศาลจากทุกเขื่อนที่ถูกปล่อยออกมาจะมาถึงเมืองหลวงพระบางอย่างรวดเร็ว แน่นอนเมืองมรดกโลกแห่งนี้จะต้องจมนํ้าอย่างแน่นอน

ไม่เพียงการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง การสร้างเขื่อนในแม่นํ้าโขงและแม่นํ้าสาขาของแม่นํ้าโขงไม่ว่าจะที่ใดก็ตาม เมื่อมีการปล่อยนํ้าออกมา ครูตี๋ย้ำภาพจากสายตาที่ประสบพบเห็นมาว่า นํ้าจะมาไว และรุนแรงเหมือนระเบิด สร้างความเสียหายอย่างรวดเร็ว

ปากแม่นํ้าอู ไหลลงมารวมกับแม่นํ้าโขงที่บริเวณปากอู ตั้งอยู่ตรงข้ามกับถํ้าติ่ง เหนือขึ้นไปไม่กี่กิโลเมตรจะพบ เขื่อนนํ้าอู ที่บ้านห้วยโล

เหตุผลในการก่อสร้างเขื่อนในแม่นํ้าโขง มักจะผูกพ่วงอยู่กับเหตุผลด้านพลังงาน ทั้งมายาคติว่าด้วยพลังงานสะอาด และมายาคติว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งความรู้ปัจจุบันล้วนแล้วแต่มีข้อมูลข้อโต้แย้งหักล้างได้ทั้งสิ้น 

การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนโดยอ้างความเป็นพลังงานสะอาดนั้น ไม่คุ้มค่ากับความเสียหายต่อระบบนิเวศ ทั้งยังละเมิดสิทธิชุมชน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ตลอดแนวแม่น้ำโขง ขณะเดียวกันการอ้างความมั่นคงทางพลังงาน ก็มีข้อมูลหักล้างว่าประเทศไทยกำลังอุปทานการผลิตพลังงานล้นเกินอยู่แล้ว

ในฐานะผู้ร่วมชะตากรรมและติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขงมายาวนาน ครูตี๋ แห่งกลุ่มรักษ์เชียงของ ยืนยันข้อมูลและสมมติฐานของเขาว่า เขื่อนสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา ขณะเดียวกัน องค์กรที่ควรทำหน้าที่แก้ปัญหา ก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้

“การพัฒนาพลังงานไม่เหมือนสมัยก่อนแล้ว มันมีแหล่งพลังงานทางเลือกมากมาย  มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมากแล้ว ดังนั้น ผมจึงอยากกล่าวว่า เขื่อนในแม่นํ้าโขงไม่ตอบโจทย์พลังงานหรอก มันตอบโจทย์เรื่องทุนมากกว่า โดยเฉพาะทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในโครงการเขื่อนแม่นํ้าโขง มันส่งผลกระทบด้านภัยพิบัติและค่าไฟที่แพงขึ้น ตรงนี้เกี่ยวข้องกับระเบียบกฎหมายว่าด้วยธรรมาภิบาลโดยตรง”

“ปัญหาแม่นํ้าโขง จริง ๆ แล้วคือ ปัญหาองค์กรกลางที่เข้ามาทำงาน เพราะแม่นํ้าโขงเป็นแม่นํ้านานาชาติ จึงจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกัน แต่องค์กรกลางที่เราเห็นบทบาทมาตลอด คณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขง (Mekong River Commission: MRC) หรือ กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lanchang Cooperation: MLC) ทั้งสองนี้เป็นองค์การระหว่างประเทศที่เกิดจากความร่วมมือในกลุ่มลุ่มนํ้าโขงไหลผ่าน ทำอะไรได้บ้างที่เป็นชิ้นเป็นอันได้บ้าง ในการแก้ไขปัญหาแม่นํ้าโขง ตรงนี้ผมมองว่า เป็นประเด็นใหญ่เช่นกันที่ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ในแม่นํ้าโขง” นิวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

เขื่อนหลวงพระบาง สร้างผลกระทบแบบดาวกระจาย 

ในห้วงเวลาก่อนการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง รัฐบาลลาว ได้แจ้งผ่าน คณะกรรมการแม่นํ้าโขงแห่งชาติลาว (Lao National Mekong Committee) ไปยังคณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขง เพื่อขอคำปรึกษาแนะนำก่อน (Prior Consultation) จากเลขาธิการ MRC (MRC Secretariat) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ให้เป็นไปตามกระบวนการที่เป็นทางการเท่านั้น 

ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2563 MRC ได้เผยแพร่รายงาน Techinical Review Report: Prior Consultation for the Proposed Luang Prabang Hydropower Project ในเดือนมิถุนายน 2563 ภายหลังกระบวนการให้คำแนะนำตรวจสอบระยะเวลา 6 เดือน จัดทำโดย The Council Study ชี้ให้เห็นถึงจุดบกพร่องเชิงวิศวกรรม เพื่อให้มีการทบทวนและปรับปรุงเชิงเทคนิคทางวิศวกรรม รวมไปถึง ‘ผลกระทบข้ามแดน’ ที่จะมีต่อเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้นภายหลังการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง 

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะและการประเมินของ MRC ไม่ได้หมายถึง การอนุมัติหรือไม่อนุมัติโครงการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางแต่อย่างใด 

อีกข้อกังขาหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาคือ ความปลอดภัยของเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งในรายงานระบุว่า โครงการเขื่อนหลวงพระบางถูกจำแนกว่ามี ‘ความเสี่ยงสูงสุด’ (extreme risk) ตามมาตรฐาน Lao Electric Power Technical Standards (LEPTS 2018) แต่จากรายงานพบว่า ผู้พัฒนาโครงการ (developer) ให้คำมั่นว่า การออกแบบจะเป็นไปตามมาตรฐานของ LEPTS 2018 ทั้งนี้หากเขื่อนหลวงพระบางแตก เมืองหลวงพระบางทั้งเมืองต้องจะจมอยู่ใต้นํ้า8

เมื่อรายงานฉบับดังกล่าวเผยแพร่ออกมา คณะกรรมาธิการร่วม MRC ได้ออกแถลงการณ์จากกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการไฟฟ้าพลังนํ้าหลวงพระบางใน สปป.ลาว (Statement on the Prior Construction Process for the Luang Prabang Hydropower Project in Lao PDR) ระบุ ทุกฝ่ายใน MRC มีความกังวลในประเด็นผลกระทบสะสมที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อน และผลกระทบข้ามแดน ซึ่งมีการเรียกร้องให้รัฐบาลลาวพยายามทุกวิถีทางในการชี้ให้เห็นถึงผลกระทบข้ามพรมแดนที่มีต่อประเทศสมาชิกอื่น ๆ9

ในเวลาต่อมา แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย ได้ แสดงจุดยืนต่อการเดินหน้าโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ในมิติทางการเงินและการธนาคาร ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เรียกร้องให้ ธนาคาร 7 แห่ง ระงับกระบวนการพิจารณาการสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง และยกให้โครงการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในแม่นํ้าโขงทั้งหมดเป็น ‘รายการสินเชื่อต้องห้าม’ (exclusion list) ของธนาคาร อันเป็นเหตุก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้านภูมิรัฐศาสตร์ และด้านการเงินที่ธนาคารไทยจะต้องเผชิญหากเลือกสนับสนุนโครงการ

อีกด้านหนึ่ง แม่นํ้าโขงถือเป็นแหล่งการประมงนํ้าจืดขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก มีสายพันธุ์ปลามากกว่า 1,000 ชนิดเป็นขุมทรัพย์ใต้นํ้า หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตผู้คนสองฝั่งแม่น้ำมาช้านาน 

อนาคตของชาวประมงริมฝั่งโขงตกอยู่บนความไม่แน่นอน หากเขื่อนหลวงพระบางสร้างเสร็จสิ้นในปี 2573 การประมงบริเวณเหนือเขื่อนหลวงพระบางขึ้นไปจะลดลงถึงร้อยละ 40 เนื่องจากปริมาณของปลาที่เคยจับได้แต่เดิมนั้นมีมากถึง  40,000-60,000 ตันต่อปี จะเหลือเพียง 16,000-24,000 ตันต่อปี10

ชาวลาวที่ต้องพึ่งพาแม่นํ้าโขงในฐานะแหล่งอาหารที่สำคัญ

เช่นเดียวกับแม่นํ้าโขงตอนกลางถึงล่างทั้งเวิ้งนํ้า ตลอดพรมแดนไทยและลาว ที่จะต้องเผชิญกับปัญหาปริมาณปลาที่จะจับได้ลดลง อันเป็นปัญหาที่กระจายตัวไปทั่วคุ้งนํ้าจากเหนือเขื่อนหลวงพระบาง ท้ายเขื่อนที่จรดปากแม่นํ้าโขงที่เวียดนาม

รายงาน Report on the joint World Heritage Centre / ICOMOS mission to the Town of Luang Prabang (Lao PDR) ขององค์การ UNESCO11 ตีพิมพ์ในเดือนเมษายน 2565 ระบุว่า สถานการณ์ด้านผลกระทบที่มีต่อเมืองหลวงพระบาง จากรายงานการศึกษาฉบับต่าง ๆ รวมไปถึงการประเมินผลกระทบมรดกโลก (Heritage Impact Assessment: HIA) ก่อนหน้านี้ ไม่เพียงพอและไม่สามารถชี้ได้ว่า การสร้างเขื่อนหลวงพระบางจะไม่ส่งผลกระทบต่อมรดกโลก เนื่องจากแม่นํ้าโขงและแม่นํ้าคานที่ห้อมล้อมเมืองหลวงพระบางไว้ เป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรม อีกทั้งไม่ได้ยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน จนนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า รัฐบาล สปป.ลาว ควรหาแนวทางป้องกันเพื่อยุติโครงการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง หรือย้ายโครงการดังกล่าว และโครงการอื่น ๆ ออกไปจากพื้นที่ละเอียดอ่อน มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อคุณค่าเมืองมรดกโลก   

“ชะตากรรมของคนริมฝั่งโขง ขึ้นอยู่กับธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อ”

ข้อสรุปรวบรัดหนักแน่นนี้ ออกมาจากปากคำของ ดร.สมนึก จงมีวศิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยกลุ่มการศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch) ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร

ปลาหลากหลายชนิดจากแม่นํ้าโขง แหล่งอาหารสำคัญของคนสองฝั่งนํ้า เริ่มมีจำนวนลดลงอย่างมาก จากการเดินสำรวจตลาดเช้าเมืองหลวงพระบาง พบว่า ขนาดของปลาเล็กลง รวมไปถึง ร้านขายปลาเริ่มลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

ดร.สมนึก หรืออาจารย์เขียว เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ เขาชี้ประเด็นสำคัญว่า สถาบันการเงินหรือธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อ รับข้อมูลการศึกษาและการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) จากทางผู้พัฒนาโครงการเพียงด้านเดียวเท่านั้น แต่ไม่พิจารณาการปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ที่วางอยู่บนหลักการสากลแต่อย่างใด

“โครงการเขื่อนในแม่นํ้าโขงหลายโครงการมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม Environmental Impact Assessment (EIA) เมื่อนานมาแล้ว อายุอานามของ EIA เหล่านี้อาจมีอายุมากกว่าทศวรรษ ไม่มีความสมบูรณ์ ไม่มีการอัปเดตข้อมูลที่ทันสมัย อีกทั้งยังเป็นการศึกษาและประเมินผลกระทบที่มาจากฟากฝั่งของผู้พัฒนาเขื่อนฝั่งเดียวเท่านั้น ที่ไม่ใช่การประเมินผลกระทบที่ครอบคลุมทุกมิติ”

ข้อมูลการประเมินผลกระทบโครงการเขื่อนต่าง ๆ จากผู้พัฒนาโครงการเขื่อนที่จัดทำขึ้นเมื่อทศวรรษก่อน ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์แม่นํ้าโขงในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เมื่อความรู้และหลักวิชาการเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทางเลือกนวัตกรรมการผลิตกระแสไฟฟ้าก็มีมากขึ้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนอีกต่อไป 

ดร.สมนึก เสนอหลักการใหม่ขึ้นมาว่า หากจำเป็นต้องสร้างเขื่อน การประเมินที่ครอบคลุมทุกด้านแบบ ‘การประเมินด้านสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์’ (Strategic Environment Assessment: SEA) อันหมายถึงการประเมินลำนํ้าทั้งหมดตั้งแต่ต้นนํ้าจรดปลายนํ้า แม่นํ้าสาขา เขื่อนที่มีอยู่แล้ว ผลกระทบต่อเมืองต่าง ๆ ผลกระทบทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสิทธิมนุษยชน ทั้งหมดนี้จะต้องถูกนำมาใช้วิเคราะห์ประเมิน เพื่อให้เห็นความรอบด้านของการศึกษาจริง ๆ และจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงผลดีและผลเสีย 

ดังที่ ดร.สมนึก กล่าวอย่างรวบรัดหนักแน่นไปข้างต้น ตัวละครสำคัญของโครงการสร้างเขื่อนคือ สถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ ที่ล้วนสมัครใจเข้ารับหลักการสากลนั่นคือ หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) นำมาปฏิบัติว่า สถาบันการเงินหรือธนาคารควรต้องดำเนินธุรกรรมตาม 3 เสาหลักคือ 

1) การปกป้องสิทธิ (protect) แม้ว่าเสาที่หนึ่งนี้ จะเป็นหน้าที่ของรัฐในการปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่หลักการ UNGPs เรียกร้องให้ธนาคารเองต้องปกป้องสิทธิของประชาชนด้วย

2) การเคารพสิทธิ (respect) ก่อนการปล่อยสินเชื่อในโครงการต่าง ๆ ธนาคารต้องเปิดรับข้อมูลศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน มิใช่ข้อมูลเพียงด้านเดียวจากผู้พัฒนา ต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ไม่ละเลยข้อร้องเรียน และมีแผนการจัดการที่ชัดเจนต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น        

3) ในฐานะผู้ปล่อยสินเชื่อ ธนาคารควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการชดเชยเยียวยา (remedy) แม้จะไม่ใช่ผู้พัฒนาโครงการโดยตรงก็ตาม

“เขื่อนหลวงพระบาง ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ในอีกด้านหนึ่ง หลวงพระบางเป็นมรดกโลกได้เพราะเมืองหลวงพระบางมี คุณค่าสากล (universal values) คุณค่าสากลตรงนี้มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปในเชิงลบทั้งหมด หากเกิดการสร้างเขื่อน ไม่ว่าจะเป็น คุณค่าทางประวัติศาสตร์ (historical value) คุณค่าทางสังคม (social value) คุณค่าทางศาสนาและความเชื่อ (spiritual value)” ดร.สมนึก ชี้ให้เห็นว่า การละเมิดคุณค่าทางวัฒนธรรม และคุณค่าทางสังคมที่สั่งสมมานาน คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างถึงราก

“ธนาคารจะประเมินเพียงแค่กำไรหรือผลประโยชน์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะเงินที่งอกเงยของธนาคารขึ้นมานั้น มันต้องแลกมาด้วยความอยุติธรรมที่ชาวบ้านได้รับ แลกมากับความเดือดร้อนจากโครงการสร้างเขื่อน” 

ดร.สมนึก จงมีวศิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยกลุ่ม EEC Watch

“ผมอยากเรียกร้องด้วยว่า ธนาคารไทยไม่ควรปล่อยสินเชื่อให้กับผู้พัฒนาโครงการเขื่อนอีกต่อไป เพราะคุณกำลังไปทำลาย 3 เสาหลัก UNGPs ให้พังครืนลงทันที”  

นอกจาก 3 เสาหลัก UNGPs แล้ว ดร.สมนึก ยกกรอบการประเมินความเสี่ยง ESG พร้อมอธิบายให้เห็นภาพว่า การลงทุนในโครงการเขื่อนไม่ว่าจะที่ใดก็ตาม ต้องประเมินผล E-Environment (สิ่งแวดล้อม) S-Social (สังคม) และ G-Governance (ธรรมาภิบาล)  หากโครงการใดโครงการหนึ่งมีปัญหาที่ E ตั้งแต่ต้น S และ G จะมีปัญหาตามไปด้วย หรือมีปัญหาที่ตัวใดตัวหนึ่ง อีก 2 ตัวที่เหลือก็มักจะมีปัญหาตามมา

“ถ้ามันมีปัญหาหมด ธนาคารไม่น่าจะมีข้ออ้างใดให้ปล่อยสินเชื่อได้ อย่างเขื่อนหลวงพระบางมีปัญหาหมด ดังที่ผมชี้ไปข้างต้นถึงคุณค่าต่าง ๆ ของเมืองมรดกโลกแห่งนี้ ภายใต้กลไกสำหรับการพิจารณา ESG ตรง ๆ”

“หากธนาคารพาณิชย์ยังปล่อยสินเชื่อให้โครงการเขื่อนเช่นนี้ เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นมา ในความเห็นของผม ผมมองว่าธนาคารควรรับผิดชอบ ให้เป็นไปตามหลักการ UNGPs ในเสาสุดท้าย นั่นคือ ต้องร่วมเยียวยาด้วย”

มีแผนปฏิบัติการ แต่ต้องผลักดันให้เป็นกฎหมาย 

ในปี 2562 รัฐบาลไทยได้ประกาศแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights) ภายหลังรับหลักการชี้แนะ UNGPs ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่แผนปฏิบัติการระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565-2570) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทว่าแผนปฏิบัติการฯนี้ตั้งแต่ระยะแรกเป็นต้นมา มิได้มีสถานะทางกฎหมายแต่อย่างใด

“เราต้องมีมาตรการทางกฎหมาย” ส. รัตนมณี พลกล้า นักกฎหมาย มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ทนายความที่ยืนหน้าบัลลังก์ศาล ต่อสู้คดีการฟ้องร้องโครงการเขื่อนไซยะบุรี ที่ยืดเยื้อยาวนานนับทศวรรษ แสดงความมุ่งมั่นในการผลักดันหลักการชี้แนะ UNGPs และแผนปฏิบัติการฯ ให้เป็นมาตรการทางกฎหมายและการกำกับดูแลที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ภาคธุรกิจนำไปปฎิบัติตามอย่างจริงจัง มิใช่เพียงการรับหลักการเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรเท่านั้น

“เราเคยเรียกร้องให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามากำกับดูแลอย่างเข้มข้นมากขึ้น ให้ธนาคารพาณิชย์ออกนโยบายสาธารณะหรือข้อกำหนดมาก่อน หากมีการละเมิดสิทธิจริง จากการร้องเรียน จะต้องทำการตรวจสอบได้ มีมาตรการลงโทษได้ อย่างน้อยเราจะยังมีกลไกเอามาใช้ได้ เพราะธุรกิจหรือบริษัทที่รับหลักการชี้แนะ UNGPs เขาจะต้องมีการตั้งหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของพวกเขา” 

ทนาย ส. สะท้อนจากประสบการณ์ให้เห็นว่า หากธนาคารพาณิชย์รับเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง ไม่เพิกเฉยต่อความอยุติธรรมที่กำลังเกิดขึ้น ตั้งแต่เริ่มกระบวนการพิจารณาสินเชื่อให้กับโครงการเขื่อน ปัญหาด้านผลกระทบจะไม่ลุกลามเหมือนที่เกิดขึ้นจากกรณีเขื่อนไซยะบุรี ที่เธอผู้นี้ลุกขึ้นยืนหน้าบัลลังก์ต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวบ้านมาแล้ว 

“สมมติว่า บริษัทรับรายงานจากทางผู้พัฒนาเขื่อนเพียงอย่างเดียว แต่พอชาวบ้านส่งเรื่องร้องเรียนไป ไม่ยอมตรวจสอบ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร มันทำให้หลักการชี้แนะฯ ดูแย่ลง เพราะมันไม่ได้ทำให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนมันดีขึ้น เป็นเพียงความรับผิดชอบต่อสังคมเชิงบรรษัท (Corporate Social Responsibility: CSR) อีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น 

“ในต่างประเทศเขาคุยกันว่า CSR ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์แล้ว UNGPs ต่างหากที่ภาคธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญแทน เช่น คุณไปลงทุนในโครงการเขื่อนไซยะบุรี แล้วเอาเงินเพียงกระผีกหนึ่งไปทำ CSR สร้างโรงเรียน อะไรแบบนี้มันเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถยอมรับได้ การเยียวยาไม่ใช่แค่เรื่องของการจ่ายค่าเสียหายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำการฟื้นฟูด้วย” 

“เขื่อนไซยะบุรีเป็นกรณีตัวอย่างของผลกระทบข้ามพรมแดน จากนํ้ามือของธนาคารไทยที่ปล่อยสินเชื่อ และภาครัฐของไทยทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ยิ่งทำให้เราเห็นภาพของอนาคตว่าหากเขื่อนหลวงพระบางหากสร้างเสร็จสิ้น มันจะมีผลกระทบต่อเมืองมรดกโลกอย่างแน่นอน นํ้าก็จะท่วม หากเขื่อนปากแบงและเขื่อนปากลายสร้างเพิ่มอีก มันก็จะยิ่งไปกันใหญ่ ซึ่งทางรัฐบาลลาวเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ มองแค่ว่าเขาจะได้อะไรจากเขื่อน และต้องถามว่าประโยชน์จากเขื่อนนั้นเป็นของใครด้วย”

ส. รัตนมณี พลกล้า นักกฎหมาย มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ทนายความในคดีการฟ้องร้องเขื่อนไซยะบุรี

โครงการสร้างเขื่อน ควรเป็นสินเชื่อต้องห้าม (exclusion list)

ในยุคหนึ่ง โครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าผุดขึ้นภายใต้แนวคิดพลังงานสะอาด แต่หลายทศวรรษที่ผ่านมา ผลการศึกษาและข้อมูลใหม่ ๆ ต่างก็ให้ข้อสรุปชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำจากเขื่อนก่อให้เกิดผลกระทบกว้างขวาง ไม่คุ้มค่าที่จะสร้าง หลายประเทศจึงเริ่มไล่รื้อทุบเขื่อนแทนที่จะสร้างใหม่ เนื่องจากมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพ และส่งผลกระทบน้อยกว่า 

การประมวลข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ในมือของ แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย ที่ไล่เรียงมาจากผลกระทบจากโครงการเขื่อนในแม่นํ้าโขงทั้งหมด ไม่ว่าจะตั้งอยู่ห่างจากชายแดนไทยมากน้อยขนาดไหน ล้วนสร้างความเดือดร้อนในระดับรากหญ้าจากชุมชนถึงคนในเมือง

การต่อสู้ของนักสิ่งแวดล้อม ทนายความสิทธิชุมชน องค์กรไม่แสวงหากำไร (NGOs) รวมไปถึงองค์การระหว่างประเทศอย่าง สหประชาชาติ (United Nations: UN) ต่างมีเป้าหมายร่วมกันที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง และคาดหวังว่าภาคธุรกิจจะให้ความสำคัญต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.พิชามญชุ์ เอี่ยวพานทอง คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Working Group on Business and Human Rights Member) ประจำสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commisioner for Human Rights: OHCHR) ในฐานะผู้ทำงานด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน แสดงความคาดหวังว่า 

“สิ่งที่เราอยากเห็นนอกจากการประกาศรับหลักการชี้แนะฯ คือ ธุรกิจหรือธนาคารจะต้องนำมาปฏิบัติให้เห็นโดยทั่วกัน โดยในขั้นแรกพวกเขาจะต้องดำเนินการเฝ้าระวังเพื่อตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence: HRDD) แต่ปัญหาที่เราพบคือ ธุรกิจหรือธนาคารเหล่านั้นปราศจากการปฏิบัติที่ชัดเจน” 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นหลักการตามความสมัครใจ ยังไม่มีกลไกบังคับให้ธุรกิจปฏิบัติตาม รศ.ดร.พิชามญชุ์ จึงเชิญชวนทุกฝ่ายร่วมมือกันอุดช่องว่าง

“หน้าที่ในการกำกับดูแลให้ภาคธุรกิจปฏิบัติตามหลักการชี้แนะ UNGPs เป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย ภาคประชาสังคม (civil society) นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (human rights defenders) และภาครัฐ (state) จะต้องเข้ามาถือธงนำ ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนตามเสาหลักที่ 1 สร้างสภาพแวดล้อมที่ถูกต้องเหมาะสมให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชนไปตามเสาหลักที่ 2 สร้างระเบียบข้อบังคับขึ้นมาเพื่อให้ภาคธุรกิจดำเนินการตามหลักการชี้แนะฯ และนำมาปฏิบัติอย่างแข็งขัน เพื่อยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้น” 

พร้อมกันนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เพื่อให้ศาลไทยมีอำนาจในการพิจารณา ขณะเดียวกันภาคธุรกิจหรือธนาคารต้องประเมินความเสี่ยงข้ามพรมแดนที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ความคุ้มครองและเคารพประเด็นสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะ UNGPs

“หากธนาคารไม่ระแวดระวังในการปล่อยสินเชื่อ หรือไม่ดำเนินการเฝ้าระวังเพื่อตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน หรือ HRDD เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการต่าง ๆ ที่ภาคธุรกิจหรือธนาคารได้เข้าไปลงทุนจะช่วยปกป้องสิทธิและเคารพสิทธิมนุษยชน ไปตามความคาดหวังของหลักการชี้แนะฯ นี้ หากไม่เป็นเช่นนั้น ธนาคารจะต้องประสบกับปัญหาต่าง ๆ มากมาย”

รศ.ดร.พิชามญชุ์ เอี่ยวพานทอง คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ประจำสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ในหลากหลายวาระ แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย ได้เสนอข้อเรียกร้องจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นให้ธนาคารต่าง ๆ เดินหน้าสู่การปฏิบัติของ ‘การธนาคารที่ยั่งยืน’ 

ในกรณีของโครงการเขื่อนในแม่นํ้าโขง แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย ได้เรียกร้องให้ธนาคารต่าง ๆ ยกให้สินเชื่อโครงการเขื่อนในแม่นํ้าโขง ให้อยู่ในรายการ ‘สินเชื่อต้องห้าม’ (exclusion list) อีกทั้ง ธนาคารควรนำหลักการเช่น Equator Principles หรือหลักการอื่น ๆ เข้ามาเป็นแนวทางหลักในการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการที่มีความเสี่ยงสูงจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างรุนแรง    

พร้อมกันนี้ ธนาคารจำเป็นต้องมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนที่ครอบคลุมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับผลกระทบจากโครงการที่ธนาคารสนับสนุนสินเชื่อ รวมทั้งมีกระบวนการตรวจสอบ และกลไกเยียวยาที่ถูกต้องเหมาะสม หากโครงการดังกล่าวส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างรุนแรง ซึ่งประโยชน์ทั้งหมด ไม่เพียงจะตกอยู่กับประชาชนที่เดือดร้อนเท่านั้น แต่เป็นภาพลักษณ์ที่ดีของธนาคาร ว่าคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามจากโครงการที่ได้เข้าไปลงทุนอย่างรอบด้าน ยกมาตรฐานของธุรกิจให้สูงขึ้นในเชิงปฏิบัติตามหลักการชี้แนะ UNGPs ด้วย

เพียงแค่เขื่อนไซยะบุรีแห่งเดียว ส่งผลกระทบข้ามพรมแดนต่อประชาชนคนไทยไปแล้ว หากเขื่อนหลวงพระบางสร้างเสร็จสิ้น มีประชาชนริมสองฝั่งโขงต้องรับชะตากรรมเดียวกันกว่า 60 ล้านคน และการปักหมุดตอกเสาเข็มสร้างเขื่อนเพิ่มเข้าไปนั้น จะยิ่งส่งผลกระทบที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก 

เหตุการณ์นํ้าท่วมใหญ่ 3 อำเภอริมฝั่งโขง ที่จังหวัดเชียงราย อันเป็นผลมาจากการปล่อยนํ้าจากเขื่อนในแม่นํ้าโขงของจีน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นเป็นวงกว้าง ท่ามกลางความกังวลใจของประชาชนในพื้นที่ว่า หากโครงการเขื่อนปากแบง เกิดขึ้นเมื่อไร พวกเขาอาจจะต้องสูญเสียที่ดินทำกินไปอย่างไม่หวนคืน รวมไปถึงเขื่อนปากลาย ที่จะสร้างผลกระทบต่อประชาชนคนไทยในเขตพื้นที่ภาคอีสาน

“ธนาคารในฐานะผู้ให้สินเชื่อ ไม่ควรปล่อยสินเชื่อโครงการสร้างเขื่อนอีกแล้ว มากกว่านั้นธนาคารต้องกำหนดให้โครงการสร้างเขื่อน โดยเฉพาะโครงการที่ตั้งอยู่บนแม่นํ้านานาชาติ (transboundary river) เป็น ‘รายการสินเชื่อต้องห้าม’ (exclusion list)”

ไพรินทร์ เสาะสาย ผู้ประสานงานการรณรงค์ องค์กรแม่นํ้านานาชาติ

สุดท้ายนี้ แนวร่วมฯ ยังคงมีความหวังว่าธนาคารจะทบทวน พิจารณาให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง และปากลาย (Pak Lay) ใน สปป.ลาว ด้วย 
แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย จึงได้ส่ง จดหมายเปิดผนึกถึงธนาคารพาณิชย์ไทย เรื่อง ข้อเสนอแนะต่อธนาคารในการพิจารณาให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ปากแบง (Pak Beng) และ ปากลาย (Pak Lay) ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพิ่มเติมอีกฉบับ โดยแนบคำถามและข้อกังวลต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการเขื่อนปากแบงและปากลาย อ้างอิงจากหลักการ Equator Principles เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการดังกล่าว


เชิงอรรถ
  1. อัตราแลกเปลี่ยน 629 กีบ = 1 บาท ↩︎
  2. Deetes, P., & Lee, G. (2023, March 30). Pak Lay and Luang Prabang dam Power Purchase Agreements (PPAs): Who benefits? International Rivers. Retrieved October 7, 2024, from https://www.internationalrivers.org/news/pak-lay-and-luang-prabang-dams-who-benefits ↩︎
  3. Luang Prabang Hydropower Project – Mekong River Commission. (n.d.). Mekong River Commission. Retrieved October 7, 2024, from https://www.mrcmekong.org/news_and_events/luang-prabang-hydropower-project ↩︎
  4. W., P. (2023, March 23). EXCLUSIVE: Power purchase deals for controversial Luang Prabang and Pak Lay dams signed, paving way for large-scale construction on the Lower Mekong_ and impacts. Bangkok Tribune. Retrieved October 7, 2024, from https://bkktribune.com/power-purchase-deals-for-controversial-luang-prabang-and-pak-lay-dams-signed-paving-way-for-large-scale-construction-on-the-lower-mekong_-and-impacts ↩︎
  5. Deetes, P., Sohsai, P., & Roberts Davis, T. L. (2024, June 25). Sites of Struggle and Sacrifice: Mapping Destructive Dam Projects along the Mekong River. International Rivers. Retrieved October 3, 2024, from https://www.internationalrivers.org/news/sites-of-struggle-sacrifice-mapping-destructive-dam-projects-along-the-mekong-river ↩︎
  6. การใช้ไฟฟ้าพีค 34,443.1 MW ไม่ว่าจะพีคแค่ไหนแต่สำรองไฟก็ยังล้นเกิน. (n.d.). JustPow. Retrieved October 11, 2024, from https://justpow.co/peak-and-reserve-margin ↩︎
  7. 2 หยุด 4 ต้อง ค่าไฟฟ้าแพง ไม่ใช่เหตุบังเอิญ รัฐบาลต้องแก้ไข. (2023, April 21). สภาองค์กรของผู้บริโภค. Retrieved October 11, 2024, from https://www.tcc.or.th/electricity-bill-gov ↩︎
  8. Mekong River Commission. (2020, June). Technical Review Report Prior Consultation for the Proposed Luang Prabang Hydropower Project. www.mrcmekong.org. Retrieved October 7, 2024, from https://www.mrcmekong.org/wp-content/uploads/2024/08/TRR-of-LPHPP.pdf ↩︎
  9. Mekong River Commission. (2020, June 30). Statement on the Prior Consultation Process for the Luang Prabang Hydropower Project in Lao PDR. www.mrcmekong.org. Retrieved October 7, 2024, from https://www.mrcmekong.org/assets/Publications/MRC-Statement-on-PC-for-Luang-Prabang.pdf ↩︎
  10. Mekong River Commission. (2020). Technical Review Report Prior Consultation for the Proposed Luang Prabang Hydropower Project. Mekong River Commission. https://www.mrcmekong.org/wp-content/uploads/2024/08/TRR-of-LPHPP.pdf ↩︎
  11. เอกสารรายงานฉบับเต็ม UNESCO & International Council on Monuments and Sites. (2022, April 4). Report on the joint World Heritage Centre / ICOMOS mission to the Town of Luang Prabang (Lao PDR), 4 – 9 April 2022. UNESCO. Retrieved October 7, 2024, from https://unesdoc.unesco.org/ark:/48223/pf0000390813 ↩︎

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า