ในระดับชาติ บราซิลกำลังเผชิญปัญหามากมาย โดยเฉพาะการชุมนุมที่กรุงบราซิเลีย เพื่อขับไล่ประธานาธิบดีดิลมา รุสเซฟฟ์ และพรรคแรงงาน (Partido dos Trabalhadores: PT) เรื่องปัญหาการคอร์รัปชัน แต่สิงหาคมปีนี้ โอลิมปิกฤดูร้อนที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ทำให้เกิดการปัดฝุ่นปัญหาก้อนใหญ่ไปซุกไว้ใต้พรมที่ ริโอ เดอ จาเนโร
ในฐานะที่ได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2016 ริโอ เดอ จาเนโร ตั้งใจจะให้การแข่งขันกีฬาครั้งนี้เป็นมหกรรมกีฬา ‘สีเขียว’ โดยเมืองที่มีประชากร 6.3 ล้านคน จะใช้พลังงานสะอาด ทำถนนใหม่ เพิ่มระบบขนส่ง แก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย สร้างเขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดูแลธรรมชาติ ปรับปรุงผังเมือง สร้างระบบสาธารณูปโภคใหม่ และแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด-สลัม (favelas)
ริโอ เดอ จาเนโรขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่การจราจรมีสภาพสาหัสที่สุด สิ่งเหล่านี้จะถูกแก้ด้วยการวางแผนจราจรใหม่ สร้างการเดินทางรูปแบบอื่น ทั้งรถไฟ รถประจำทาง รถไฟใต้ดิน ซึ่งนอกจากจะทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น ยังเป็นการลดจำนวนรถบนถนนและลดมลพิษในอากาศ
แต่เมื่อเวลาใกล้เข้ามา ภาพฝันของโอลิมปิกสีเขียวยังห่างไกลความจริง บราซิลต้องเผชิญกับปัญหากับความ ‘ไม่พร้อม’ หลายด้าน และมีเสียงวิจารณ์เชิงลบไม่น้อย ทำให้การดำเนินการล่าช้ากว่ากำหนด โดยในปี 2015 รายจ่ายทั้งหมดเกินงบประมาณไปมาก จนผู้ว่าการเมืองริโอ เอดูอาร์โด ปาเอส ต้องออกมายอมรับว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ตามแผนทั้งหมด
หนึ่งในปัญหาที่มากกว่าเรื่องเงินๆ ทองๆ ก็คือการบริหารจัดการสิทธิ์ โอกาส และคุณภาพชีวิตของคนเมืองที่อาศัยอยู่ในสลัม เพราะหนึ่งในวิธีการจัดระเบียบเมืองให้สะอาด คือการย้ายชุมชนแออัดออกไป
ปฏิบัติการณ์กวาดสลัม
วิลาออโตโดรโม (Vila Autódromo) ชุมชนที่ตั้งอยู่ริมทะเลสาบจาคาเรปากัว (Jacarepaguá) มาตั้งแต่ปี 1967 ข้อมูลจาก Catalytic Communities กลุ่ม NGO ในริโอระบุว่า ในวิลาออโตโดรโมมีผู้อยู่อาศัยกว่า 700 ครัวเรือน ก่อนหน้านี้มีการเจรจาระหว่างชาวบ้านกับทางการเมืองริโอหลายครั้ง และในปี 2015 ผู้ว่าการเมืองริโอ ประกาศทุ่มงบประมาณราว 900,000 ดอลลาร์ สร้างที่พักอาศัยใหม่ 32 หลัง เพื่อรองรับครอบครัวเหล่านี้บนพื้นที่สลัมเดิม จะมีการสร้างที่พักอาศัยใหม่ในพื้นที่สีเขียว มีสระว่ายน้ำ ร้านอาหาร โรงเรียน และร้านค้า ก่อนที่มหกรรมกีฬาโอลิมปิกจะเริ่มขึ้นในวันที่ 5 สิงหาคม
ทว่าการเจรจาไม่เป็นผล เพราะในสายตาชาวบ้าน รายละเอียดของข้อตกลงนั้นคลุมเครือ ด้วยเหตุผลว่าอยู่ใกล้พื้นที่ของ Olympics Park เมื่อศาลอนุมัติให้เริ่มการรื้อถอนเมื่อต้นเดือนมีนาคม บ้านหลายหลังก็เริ่มถูกทุบ ชาวบ้านส่วนใหญ่ย้ายออกไปเพราะแรงกดดันจากภาครัฐ หรือไม่ก็รับเงินตอบแทนจากการเป็นค่าชดเชยในการหาที่อยู่ใหม่ แต่ก็ยังมีอีกราว 50 ครอบครัวที่ยืนยันว่าไม่ย้ายออก ขณะที่ฝ่ายทางการเมืองริโอเองบอกว่า มีเพียง 30 กว่าครอบครัวยืนกรานว่าจะอยู่ในวิลาออโตโดรโม
จากนั้นบ้านเรือนส่วนใหญ่ถูกทำลายและเคลียร์พื้นที่ ผู้อยู่อาศัยที่เหลือมีน้ำและไฟฟ้าใช้เพียงบางช่วง และถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐกดดันให้ย้ายออกตลอดเวลา กระทั่งต้นเดือนมีนาคม มีหมายศาลให้ทุบบ้านทั้งหมด ทำให้บ้านของ มาเรีย ดา เปนญา นักกิจกรรม แกนนำชาวบ้าน และโฆษกอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มผู้ประท้วง ถูกรถบุลโดเซอร์บุกเข้ามาทุบทันที
ก่อนหน้านี้ วิลาออโตโดรโมเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการต่อสู้ระหว่างชาวบ้านในสลัมกับเมืองริโอ มาเรีย ดา เปนญา ต้องเจอกับแรงกดดันให้ย้ายออกตลอดเวลา เธอให้เหตุผลว่า มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติกินเวลาแค่สองสัปดาห์ และเมื่อโอลิมปิกจบลง แล้วทำไมพวกเขาจะอยู่ในบ้านเดิมที่อยู่มากว่า 23 ปีไม่ได้
บ้านของเธออยู่ห่างจากบริเวณที่ก่อสร้างพื้นที่ Olympics Park ไม่ถึง 100 เมตร และไม่ต่างจากบ้านอื่นๆ ในแถบนั้นที่เบียดเสียดกันแน่นจนเป็นชุมชนแออัด เธอยกพื้นบ้านเป็นสองชั้น มีระเบียงสำหรับดูบรรยากาศกีฬาโอลิมปิก และชาววิลาออโตโดรโมคือหนึ่งในเจ้าบ้าน มาเรีย ดา เปนญา กล่าวในปี 2015 ว่า เธออยากจะอยู่ที่นั่นเมื่อโอลิมปิกเริ่มต้นขึ้น และจะสู้เพื่อให้ได้สิทธิ์อยู่ให้ได้ แต่ท้ายที่สุด เมื่อการพูดคุยเจรจาระหว่างเมืองและชุมชนล้มเหลว บ้านของเธอก็เหลือเพียงซากอิฐ
ตั้งแต่ปี 2009 ครัวเรือนในริโอ เดอ จาเนโร 22,059 หลัง ต้องย้ายที่อยู่ ด้วยเหตุผลว่า ‘มีความเสี่ยง’ หรือไม่ก็อยู่ในเส้นทางของการวางแผนคมนาคมและระบบสาธารณูปโภคใหม่เพื่อรองรับโอลิมปิก 2016 ทางเมืองเคยยืนยันว่า วิลาออโตโดรโมคือชุมชนเดียวที่จะถูกย้ายออก เพราะอยู่ใกล้พื้นที่หลักของ Olympics Park โดยครอบครัวส่วนใหญ่ได้ย้ายไปอยู่ในคอนโดมิเนียมที่ปาร์เกคาริโอกา (Parque Carioca) ห่างจากพื้นที่เดิมเพียง 1 กิโลเมตร
จัดระเบียบเมือง
ในความเป็นจริง ไม่ใช่แค่วิลาออโตโดรโมที่ถูกบังคับให้ย้ายออกไปจากใจกลางเมือง ข้อมูลจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนแห่งหนึ่งระบุว่า เฉพาะในริโอ มี 3,000 กว่าครอบครัวต้องย้ายออกจากบ้านของตัวเอง ขณะที่ชาวบราซิลอีก 200,000 คนทั่วประเทศกำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน บางคนต้องย้ายออกไปไกลจากที่ทำงาน เพราะบ้านตั้งขวางการตัดถนนสายใหม่ บางคนบอกว่า ทางการเอาเอกสารที่พวกเขาไม่รู้รายละเอียดมาให้เซ็น ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่รู้ว่ากำลังจะถูกย้ายไปไหน พร้อมข้อเสนอค่าชดเชยด้วยจำนวนเงินที่พวกเขาบอกว่า ไม่สามารถใช้หาที่อยู่ใหม่ได้เลย
เช่นเดียวกับที่ Almada Condominium ที่ซานตาครูซ ห่างจากริโอ 60 กิโลเมตร บ้านหลายหลังต้องถูกไล่ที่ เพราะตั้งอยู่บนเส้นทางของรถ BRT สาย Transcarioca ซึ่งเชื่อมระหว่างสนามบินกับเมืองบาร์ฮา ดา ทิจูกา (Barra da Tijuca) ที่ตั้งของสนามส่วนใหญ่ที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และต้องย้ายออกไปไกลจากบ้านเดิม 30 กิโลเมตร โดยกลุ่ม NGO ในบราซิลให้ความเห็นว่า โครงข่ายมหาศาลของ BRT นี้จะเป็นกำแพงกั้นระหว่างคนรวยในเมืองกับคนจนที่อยู่รอบนอก
ตัวแทนของคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิก (Olympic Organizing Committee) บอกว่า บรรดาครอบครัวที่ถูกย้ายออกไปจะช่วยชีวิตของคนไว้ได้จำนวนมาก ถนนสายใหม่และระบบขนส่งใหม่จะถูกสร้างขึ้นมาแทนที่ ก็เพื่อให้คนเดินทางไปไหนมาไหนได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังอ้างว่า เหตุผลหนึ่งที่เกิดสลัมขึ้นในริโอเพราะระบบขนส่งที่ไม่มีคุณภาพ เมื่อมีระบบขนส่งที่ดี คนที่ออกไปอยู่นอกเมืองก็สามารถเดินทางเข้ามาได้สะดวกขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนแออัด
อย่างไรก็ตาม นักกิจกรรมและนักวิชาการลงความเห็นว่า นั่นคือการบังคับให้ย้ายออกเพื่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่มากกว่าจะช่วยชีวิตคนจน เพราะทางการไม่อยากให้บรรดาสนาม อาคาร และพื้นที่ที่ก่อสร้างมาเพื่อรองรับการแข่งขันกีฬา ถูกทิ้งร้างเหมือนในประเทศอื่นๆ
ปลายทางที่บ้านใหม่
ชาวบ้านบอกว่า นี่ไม่ใช่การ ‘ย้ายออก’ แต่เป็นการ ‘ถูกส่งไป’ และหนึ่งในปลายทางที่รัฐเสนอคือ OITI Complex ที่คัมโปแกรนจิ (Campo Grande) กลุ่มอพาร์ตเมนต์ให้เช่าที่อยู่ห่างไกล แห้งแล้ง ไม่มีต้นไม้ ไม่มีระบบขนส่งที่ดี และไม่มีโรงเรียน
ดร.เมลิสซา เฟอร์นันเดซ อาร์ริโกอิตา นักสังคมวิทยาจาก London School of Economics (LSE) ได้ทำการศึกษากลุ่มอพาร์ตเมนต์ 384 ยูนิต ที่ The Recanto da Natureza ห่างจากริโอ 50 กิโลเมตร ชาวบ้านที่ถูกย้ายมามีปัญหาไม่มีงานทำ หลายคนต้องรับงานมาทำที่บ้าน แม้จะมีกฎห้ามว่า ห้ามใช้อพาร์ตเมนต์เป็นสถานที่ทำงาน
กว่า 3 ใน 4 ของครอบครัวที่ต้องย้ายออกไปเพราะโอลิมปิก 2016 ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ถูกย้ายไปอยู่บ้านในโครงการของการเคหะ Minha Casa Minha Vida (MCMV) – My home, My life ขณะที่บางส่วนเลือกไปอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัยเดิม และราว 8,600 ครอบครัวย้ายไปอยู่ในเขตตะวันตกของประเทศ ห่างออกจากตัวเมือง 60 กิโลเมตร ซึ่งคาดการณ์กันว่า ด้วยระยะทางที่ห่างจากใจกลางเมือง และระบบขนส่งที่ไม่ดี จะทำให้เกิดปัญหาขนาดใหญ่ขึ้น เช่น โอกาสเข้าถึงแหล่งงาน ไปจนถึงปัญหาสุขภาพจิต จนเกิดเป็นสลัมแห่งใหม่ในที่สุด
นอกจากปัญหาเรื่องงาน รายจ่ายก็ยังมากขึ้น เพราะในพื้นที่ห่างไกลไม่มีโรงเรียน โรงพยาบาล และสาธารณูปโภคจำเป็นอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต นอกจากนี้ MCMV ยังเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ากับกองกำลังผิดกฎหมาย ซึ่งทำหน้าที่เก็บส่วยและค่าคุ้มครองเดือนละประมาณ 8-13 ดอลลาร์ แลกกับการรับประกันความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยจากกลุ่มค้ายาเสพติด แก๊ส และเคเบิลทีวี หากใครไม่จ่าย ก็ต้องย้ายออกไป ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ตัดสินใจขายที่อยู่ใหม่ แล้วย้ายกลับไปอยู่บ้านในสลัมแบบเก่า
หลังโอลิมปิก
เมื่อการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจบลง ทางการของเมืองริโอต้องหาทางใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทั้งหมดเพื่อไม่ให้เป็นที่รกร้าง และเนื่องจากมีการกวาดสลัมออกไปอัดแน่นอยู่นอกเมือง คาดว่า ราคาที่ดินบริเวณกลางเมืองจะถีบตัวขึ้นสูง อพาร์ตเมนต์ระดับหรูจะผุดขึ้นเคียงข้างห้างสรรพสินค้า บ้านพักนักกีฬาจะกลายเป็นที่พักระดับไฮเอนด์
พื้นที่อย่างวิลาออโตโดรโม ชุมชนริมน้ำซึ่งก่อนหน้านี้ก็เริ่มมีกลุ่มทุนรุกคืบเข้ามาสร้างอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ หลังจากถูกบังคับให้ย้ายออกไปเพื่อจัดระเบียบพื้นที่รับโอลิมปิก คาดกันว่า เมื่อโอลิมปิกจบลง บริเวณริมทะเลสาบจาคาเรปากัวจะถูกพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยราคาแพง อย่างคอนโดหรูที่มองเห็นวิวริมน้ำ
ทันทีที่มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติในปี 2016 จบลง ริโอ เดอ จาเนโร อาจต้องพบกับปัญหาก้อนใหญ่มากกว่าก่อนที่โอลิมปิกจะเริ่มขึ้น และแม้โอลิมปิกคราวนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจของบราซิล แต่เชื่อกันว่า รายรับมหาศาลจะไม่ได้ถูกนำไปพัฒนาการศึกษา ปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยในประเทศ หรือสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน เพราะมันคือการกวาดต้อนคนส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวริโอออกไป ขณะที่ทำให้คนอีกกลุ่มหนึ่งมีรายรับมหาศาลหลังงานมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติสิ้นสุดลง
อ้างอิงข้อมูลจาก:
telegraph.co.uk
starmedia.us
nytimes.com
npr.org
theguardian.com
ibtimes.com
time.com