ทำไมเขาจึงอยากได้บ้านของคนอื่นนัก: สิ้นแสงฉาน และการทำให้กลายเป็นพม่า (Burmanization)

“หากรัฐบาลยอมคืนกรรมสิทธิ์หอหลวงเจ้าฟ้าเมืองยองห้วยให้แก่ทายาทเจ้าส่วยแต้ก เกรงว่าบรรดาทายาทจะจัดการแบ่งทรัพย์สินในหอเจ้าฟ้าแล้วนำออกไปขายทอดต่อ…”

วันที่ 23 พฤษภาคม 2020 เจ้าเห่หม่าแต้ก (ၸဝ်ႈေႁႇမႃႇတႅၵ်ႈ) ได้รับจดหมายตอบกลับจากทำเนียบประธานาธิบดีพม่า เนื้อความในจดหมายนั้นเป็นการยืนยันคำตอบที่เธอตั้งตารอมานานกว่า 8 ปี หลังจากที่ได้พยายามยื่นหนังสือทวงคืนกรรมสิทธิ์หอหลวงเจ้าฟ้าเมืองยองห้วย (หรือ หย่องฉ่วย ในภาษาพม่า) ถึง 5 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกเธอทำหนังสือยื่นไปเมื่อปี 2013 สมัยประธานาธิบดีเต็งเส่ง และยื่นซ้ำอีกในปี 2014, 2015 และ 2017 แต่ก็ไม่เคยได้รับคำตอบชี้แจงใดๆ กลับมาเลยสักครั้งเดียว …

วันที่ 12 กันยายน 2019 เธอยื่นหนังสือถึงรัฐบาลพม่าและรัฐฉานอีก นี่เป็นครั้งที่ 5 แล้วที่เธอเรียกร้องให้คืนกรรมสิทธิ์การถือครอง ‘หอหลวงเจ้าฟ้ายองห้วย’ แก่เธอในฐานะทายาทโดยชอบธรรม ถัดจากนั้นมาอีก 8 เดือน เธอก็ได้รับคำตอบยืนยันปฏิเสธ

“โมโหว่าทำไมพวกเขาจึงอยากได้บ้านของคนอื่นนัก” เจ้าเห่หม่าแต้กบอกกับสำนักข่าว shannews แน่นอนว่าคำตอบที่เจ้าเห่หม่าแต้กได้รับจากรัฐบาลพม่านั้น สร้างความไม่พอใจให้แก่เธออยู่มาก

เจ้าเห่หม่าแต้ก เป็นธิดาของเจ้าส่วยแต้ก (ၸဝ်ႈသူၺ်ႇတႅၵ်ႈ) อดีตเจ้าฟ้าเมืองยองห้วย และประธานาธิบดีคนแรกของสหภาพพม่า หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษใน ค.ศ. 1948 เจ้าส่วยแต้กอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดี ตั้งแต่ ค.ศ. 1948-1952

เจ้าส่วยแต้ก (ၸဝ်ႈသူၺ်ႇတႅၵ်ႈ)

หอหลวงเจ้าฟ้าเมืองยองห้วยตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐฉาน ใกล้ทะเลสาบอินเล สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของพม่า หอเจ้าฟ้ายองห้วยใช้เวลาสร้างตั้งแต่ปี 1913-1926 โดยเจ้าฟ้าเซอร์เจ้าหม่อง (Sir Sao Maung) แต่พอสร้างแล้วเสร็จ ท่านก็ถึงแก่พิราลัย ตอนนั้นรัฐบาลอังกฤษเห็นว่าท่านไม่ได้แต่งตั้งทายาทเอาไว้ จึงได้จัดประชุมสภาเจ้าฟ้า และมีมติเลือกเจ้าส่วยแต้ก ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานชายขึ้นเป็นเจ้าฟ้าแทน

หอหลวงเจ้าฟ้าจากคำบอกเล่าของคนใน

เกี่ยวกับประวัติของหอหลวงแบบเจาะลึก เอกวิทย์ สุดานิช (ผู้เขียน หิมาลัยไปทางนี้) คนไทยแรกๆ ที่ได้มีโอกาสเข้าไปคลุกคลีกับทายาทเจ้าส่วยแต้ก (โดยเฉพาะเจ้าเห่หม่าแต้ก ที่เอกวิทย์เรียกว่า ‘อาเล’) ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง Country Manager ของค่ายเบียร์หนึ่งประจำที่ประเทศพม่า ได้เล่าว่า ในช่วงทศวรรษ 1990 เขาได้เข้าไปหอหลวงตั้งแต่ยังเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษของกองทัพและยังไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้า หอหลวงยองห้วยเป็นอาคารไม้สองชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ ผู้ออกแบบคือเจ้าฟ้าแห่งเมืองหมอกใหม่ นามว่า เจ้าคำแหลง ซึ่งได้ไปร่ำเรียนวิชาสถาปัตยกรรมที่อังกฤษ รูปแบบสถาปัตยกรรมหอหลวงยองห้วยจึงได้รับอิทธิพลของศิลปะไทใหญ่ พม่า และสถาปัตยกรรมตะวันตก

ตัวอาคารชั้นล่างก่ออิฐถือปูนแบบฝรั่ง ส่วนชั้นสองเป็นอาคารไม้สักแบบไทใหญ่ และหลังคาท้องพระโรงเป็นหลังคาทรงปราสาทเจ็ดชั้นแบบศิลปะพม่า ซึ่งจำลองแบบมาจากพระราชวังหลวงมัณฑะเลย์ อันเป็นสถานที่ที่เซอร์เจ้าหม่องเติบโตมา เนื่องจากพระเจ้ามินดง กษัตริย์พม่า (ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 1853-1878) รับเซอร์เจ้าหม่องมาเป็นราชบุตรบุญธรรม

เจ้าหม่องสนิทสนมคุ้นเคยดีกับพระเจ้าธีบอ (สีป้อ หรือ ตี่บอ) และพระนางศุภยาลัต กษัตริย์และราชินีองค์สุดท้ายของราชวงศ์พม่า เพราะเติบโตมาด้วยกันในวังหลวงมัณฑะเลย์ ครั้นเมื่อได้ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าเมืองยองห้วย จึงได้รับพระราชทานสิทธิ์ในการยกแปงหลังคาทรงปราสาทเจ็ดชั้นแบบราชสำนักพม่า

ช่างฝีมือที่สร้างหอหลวงเจ้าฟ้า เป็นช่างพื้นเมืองชาวอินทา (อินตา) แห่งทะเลสาบอินเล ชื่อ อูโหง่ (ဦးငို) คำว่า ငို (โหง่) ในภาษาพม่าแปลว่า ร้องไห้ เจ้าฟ้าเห็นว่าชื่อเป็นลาง ไม่เป็นมงคล กลัวว่าจะสร้างหอคำหลวงไม่เสร็จ จึงสั่งให้เปลี่ยนชื่อเป็น อู ทุน อ่อง (ဦးထွန်း​ေအာင်) ซึ่งแปลว่า สำเร็จ และหอคำหลวงก็สร้างเสร็จจริงๆ แม้ว่าจะใช้เวลาสร้างนานเกือบสิบปีก็ตาม

เจ้าเห่หม่าแต้กกางบันทึกประจำตระกูล เธอบอกว่าเงินที่ใช้สร้างหอหลวงเป็นทรัพย์ส่วนตัวของเซอร์เจ้าหม่องและเจ้าพ่อของเธอ และส่วนหนึ่งได้กู้ยืมมาจากรัฐบาลอาณานิคมในสมัยนั้น

เดิมทีนั้น บริเวณหอเจ้าฟ้ามีพื้นที่สิริรวม 28 ไร่ แต่ต่อมาทางการได้ตัดทอนที่ดินบางส่วนออกจนปัจจุบันนี้คงเหลือเพียงแค่ 19 ไร่ ตั้งแต่ปี 2013 รัฐบาลทหารพม่าได้มอบหมายให้รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐฉานเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบหอเจ้าฟ้า และได้ใส่ชื่อขึ้นทะเบียนเป็นอาคารโบราณของชาติที่ต้องอนุรักษ์ โดยได้เปิดหอเจ้าฟ้าให้เป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงรูปภาพ 91 รูป ข้าวของเครื่องใช้ของเจ้าฟ้า 338 ชิ้น รวมถึงเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของเจ้าฟ้า 138 ชุด รัฐบาลรัฐฉานมอบหมายให้เจ้าเห่หม่าแต้ก เป็นผู้ดูแลและคอยอธิบายประวัติหอเจ้าฟ้าและเรื่องราวของชาวไทใหญ่ในมิติต่างๆ แก่นักท่องเที่ยวผู้มาเยือน โดยกำหนดให้มีผู้ช่วย 6 คน แต่ปัญหาคือ เธอไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์

เธอเล่าว่าเคยเปรยๆ เรื่องนี้ไว้กับ ออง ซาน ซู จี 3 ครั้งแล้ว ตั้งแต่เธอขึ้นมารับตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ ซูจีบอกว่าให้เจ้าเห่หม่าแต้กไปคุยกันต่อที่กรุงเนปิดอว์ แต่ปรากฏว่าทางทำเนียบประธานาธิบดีได้ส่งหนังสือลงวันที่ 22 เมษายน 2020 ฉบับนี้มาให้เสียก่อน

แล้วทำไมเขาถึงอยากได้บ้านของคนอื่นนัก

หอหลวงเจ้าฟ้ายองห้วยถูกยึดเป็นสมบัติของกองทัพพม่าในปี 1964 และถูกปล่อยทิ้งร้างจนทรุดโทรมเรื่อยมา …

ย้อนกลับไปตอนที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ รัฐต่างๆ ได้รวมตัวกันก่อตั้งเป็นสหภาพพม่าขึ้น มีประธานาธิบดีและระบบสภา แนวคิดดังกล่าวริเริ่มโดยบรรดาเจ้าฟ้าไทใหญ่ที่พยายามก่อตั้งสหภาพขึ้นตั้งแต่ปี 1945 ซึ่งเดิมทีนั้นตั้งเป้าไว้ว่าจะรวมกับรัฐกะฉิ่นและรัฐฉิ่น แต่ไม่ต้องการผนวกรวมกับพม่า …

ปี 1962 นายพลเนวินปฏิวัติสหภาพพม่า และปกครองประเทศโดยระบอบเผด็จการทหาร หลังเนวินยึดอำนาจแล้ว เจ้าฟ้าเมืองต่างๆ ทุกพระองค์ถูกจับกุมตัวไปคุมขังไว้ที่คุกอินเส่งในเมืองย่างกุ้ง ในฐานะนักโทษการเมือง เจ้าฟ้าบางองค์สิ้นพระชนม์ในคุก รวมถึงเจ้าส่วยแต้กซึ่งก็ได้สิ้นพระชนม์ในคุกอินเส่งหลังอยู่ในคุกนานกว่า 8 เดือน

นับตั้งแต่มีแนวคิด ‘เอกภาพในความหลากหลาย’ เพื่อสร้างชาติพม่า ในรัฐธรรมนูญพม่า ฉบับ ค.ศ. 1947 ประวัติศาสตร์การเมืองพม่าก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ สงครามและการก่อจลาจลหลายต่อหลายครั้งเป็นการช่วงชิงอำนาจจากศูนย์กลางที่ถูกครอบงำโดยชาติพันธุ์พม่า การขึ้นสู่อำนาจของกลุ่มชาติพันธุ์พม่านำไปสู่การเลือกใช้นโยบายทางวัฒนธรรมแบบกลืนกลาย (assimilation) ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลทหารพม่าเลือกใช้มาโดยตลอด นับตั้งแต่ปกครองด้วยระบอบทหารในปี 1962 ที่เป็นอย่างนั้น เพราะต้องการใส่อัตลักษณ์และวัฒนธรรมศูนย์กลางซึ่งเป็นของกลุ่มชาติพันธุ์พม่า เข้าไปในอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ พูดง่ายๆ คือ ต้องการทำให้ทุกคนเป็นพม่า (Burmanization)

จริงๆ แล้วการทำให้ทุกคนเป็นพม่านี้เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1952 ที่รัฐบาลประกาศให้ใช้ภาษาพม่าเป็นภาษาราชการและปิดกั้นความพยายามของรัฐต่างๆ ในการเลือกใช้ภาษาถิ่นเป็นภาษาราชการเทียบเท่าภาษาพม่า และรัฐบาลสมัยนั้นยังชำระประวัติศาสตร์กระแสหลักในแบบเรียนให้เป็นไปตามเวอร์ชั่นเรื่องเล่าของชาติพันธุ์พม่า พยายามลบลืมอัตลักษณ์ชาติพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่พม่า

แม้ว่าระบบเจ้าฟ้าจะถูกทำลายแบบถอนรากถอนโคนไปด้วยเงื่อนไขปัจจัยดังกล่าวแล้ว แต่หอหลวงเจ้าฟ้าหรือบ้านของเจ้าฟ้า ยังเป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มก้อนวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งและใหญ่ไม่แพ้พม่า นั่นก็เป็นคำตอบสุดท้ายว่าทำไมกองทัพพยายามเข้ายึดและทำลายหอหลวงเจ้าฟ้าต่างๆ ในรัฐฉาน จนสถาปัตยกรรมโบราณเหล่านี้มีชะตากรรมไม่ต่างกัน เช่นในปี 1991 กองทัพได้ทุบทำลายหอหลวงเมืองเชียงตุงทิ้ง และสร้างโรงแรมชื่อ ‘Amazing Kengtong Hotel’ ขึ้นมาทับบนพื้นที่ที่เคยเป็นหอหลวง เป็นต้น

ถึงวันนี้ กระบวนการการทำให้ทุกคนเป็นพม่าก็ยังดำเนินอยู่ ยังไม่แล้วเสร็จ ที่ผ่านมามีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะพวกเขามองว่านี่เป็นการสร้างอาณานิคมภายใน

และแน่นอนว่าการที่รัฐบาลมีหนังสือตอบปฏิเสธการคืนหอหลวงเจ้าฟ้ายองห้วย เพราะว่าหอหลวงเจ้าฟ้าแห่งนี้ยังอยู่ในกระบวนการทำให้เป็นพม่าอยู่

ในการทำหนังสือรอบที่ 5 เมื่อเดือนกันยายน 2019 เจ้าเห่หม่าแต้กอธิบายว่า หากรัฐบาลยอมคืนกรรมสิทธิ์หอหลวงเจ้าฟ้า เธอมีแผนจะจัดตั้งมูลนิธิขึ้นดูแล และพัฒนาพิพิธภัณฑ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ …

แต่รัฐบาลยืนยันว่าไม่คืนให้ เหตุผลคือ เกรงว่าจะจัดการดูแลกันไม่ได้ …

บัลลังก์ตั่งทองและรูปถ่ายเก่าๆ ที่จัดแสดงไว้ในหอหลวงเจ้าฟ้ายองห้วยจึงมีเพียงแค่กระดาษชิ้นเล็กๆ ที่ระบุเพียงชื่อสิ่งของและเจ้าของ โดยละ/ลบไว้ซึ่งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังสิ่งของมีค่าและบุคคลในรูปถ่าย อย่างที่รัฐบาลต้องการให้เป็น และหวังให้เป็นอยู่อย่างนั้น

Author

วทัญญู ฟักทอง
มีชื่อพม่าว่า Htay Win เป็น Burmese language lecturer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า