ถนนทรงวาด ย่านสุดชิคแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ที่กำลังได้รับความนิยมจากของคนรุ่นใหม่ทั้งหลาย เป็นที่ตั้งของคาเฟ่ ร้านอาหาร และอาร์ตแกลเลอรี ที่ชวนให้หลงใหล เป็นโลเคชันที่เหมาะเจาะสำหรับการถ่ายรูป ด้วยแบ็กกราวด์สุดคลาสสิกจากอาคารโคโลเนียลเรียงรายตั้งตระหง่านตลอดถนน ผ่านวันเวลาจากยุครุ่งเรืองในฐานะย่านการค้าสำคัญของคนไทยเชื้อสายจีน สู่วันที่เคยร่วงโรย และกลับฟื้นคืนมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
ถนนทรงวาด ไม่ได้เป็นเพียงถนน ‘ทรงวาด-ทรงใจ’ ดังที่วัยรุ่นสมัยใหม่เรียกกัน แต่ถนนทรงวาดยังเป็นแหล่งพำนักของผู้พลัดถิ่นที่ต้องอพยพลี้ภัยจากไฟสงครามกลางเมือง ได้เข้ามาอยู่อาศัย ทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่เยาวราช-สำเพ็ง แหล่งท่องเที่ยวและศูนย์กลางทางการค้าสำคัญของกรุงเทพฯ ด้วยระยะเดินที่ไม่ไกลจากสถานที่ทำงาน ทรงวาดคือแหล่งที่พักที่สะดวกสบายของแรงงานเมียนมา แม้ว่าราคาค่าหอจะสูงขึ้น จากกระบวนการปรับทัศนียภาพก็ตาม
ภายในซอยมัสยิดหลวงโกชาอิศหาก (สุเหร่าวัดเกาะ) เราพบกับ ‘โรงเรียนสอนภาษาไทยสำหรับแรงงานเมียนมา’ ภายใต้โครงการชื่อ ‘STAY IN SAMPENG YAOWARAT’ โรงเรียนสอนภาษาไทยและคอมมูนิตีของแรงงานเมียนมาที่อาศัยและทำงานในละแวกดังกล่าว สถานที่นัดพบกับ อภิญญา จารุวัฒนชัยกุล และไลลา ตาเฮ ผู้ดูแลโครงการสอนภาษาไทยและให้ความรู้และคำแนะนำในเรื่องของสิทธิที่แรงงานเมียนมาพึงมี ซึ่งส่วนใหญ่คือแรงงานเมียนมาที่หนีภัยสงครามกลางเมืองเข้ามาทำงานในประเทศไทยในช่วงระยะหลังมานี้
เรานัดพบกันเพื่อฟังเรื่องเล่าของเด็กสาวชาวเมียนมาผู้หนึ่งที่ชะตาชีวิตต้องพลิกผัน พลัดพรากจากครอบครัว จากอนาคตที่สดใสและเสรีภาพที่เคยมี ต้องออกจากมหาวิทยาลัยกลางคัน กลายมาเป็นผู้อพยพขายแรงงานในดินแดนฝั่งไทย
‘เบบี้’ ชื่อใหม่ของเด็กสาวจากมัณฑะเลย์
เรื่องราวชีวิตที่เปลี่ยนแปลงของเด็กสาวชาวเมียนมาผู้นี้ เริ่มขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดย พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ที่ได้ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจี จนเมื่อเกิดการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร คณะรัฐประหารจึงเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง นำไปสู่การจับอาวุธลุกขึ้นสู้ของประชาชนชาวเมียนมาเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย
“สวัสดีค่ะ ชื่อ เบบี้ มาจากเมืองมัณฑะเลย์” เธอกล่าวทักทายเป็นภาษาไทยอย่างชัดเจน เสมือนการฝึกภาษาไทยที่ได้รํ่าเรียนมา 1 ปีไปในตัว ‘เบบี้’ คือชื่อสมมติที่เธอตั้งขึ้นเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง แม้ว่าจะอยู่ในไทยมา 2 ปีแล้วก็ตาม แต่การสัมภาษณ์นี้เธอจะตอบคำถามเป็นภาษาพม่า โดยมี ‘เก๋’ ล่ามภาษาพม่าของทางโครงการเป็นผู้แปลให้
เบบี้ เดินทางมาจากเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของเมียนมา ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าอิรวดี ทางตอนกลางของประเทศ ก่อนเธอเดินทางมายังประเทศไทย เธอกำลังเรียนระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 2 เมื่อถามว่าเธอเรียนสาขาอะไรเธอตอบว่า Philosophy หรือวิชาปรัชญา โดยคาดหวังว่าหากจบการศึกษาแล้วจะสามารถหางานที่มั่นคงได้ เพื่อจะประกอบอาชีพครูตามฝัน ซึ่งทางบ้านก็สนับสนุนด้วยเช่นกัน
“ครอบครัวอยากให้เรียนสูงๆ มีการศึกษาที่ดี จะได้มีอาชีพที่มั่นคง” เธอกล่าว แม้ว่าผลการเรียนของเธออาจไม่ได้โดดเด่นนัก แต่ครอบครัวก็สนับสนุนให้เรียนสูงๆ เธอจึงตัดสินใจเข้าเรียนมหาวิทยาลัย แต่ก็ยังไม่ทราบว่าตนเองต้องการเรียนสายไหนจริงๆ
หากย้อนไปในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 และก่อนการรัฐประหารเมียนมา 2564 สภาพสังคมของเมียนมาในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่เธอสัมผัสได้ถึงอิสรภาพ ชีวิตวัยรุ่นของเธอเต็มไปด้วยความสุข ได้พบเพื่อนในระหว่างเรียน ได้อยู่หอพักร่วมกับเพื่อนๆ เมื่อปิดเทอมก็เดินทางกลับบ้าน ใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไป แต่ทุกอย่างกลับพลิกผันไปอย่างสิ้นเชิงภายหลังการรัฐประหารในปี 2564
ความทรงจำเมื่อ 3 ปีก่อน พรั่งพรูออกมาเป็นภาษาพม่า ตอนนั้นเธอกำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 2 ได้เข้าร่วมการประท้วงเผด็จการทหารมินอ่องหล่าย จนเมื่อมีการปราบปรามและเข้าจับกุมผู้ชุมนุม ทำให้เธอต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น และไม่ได้ไปชุมนุมในที่สุด
“ตอนไปประท้วงในช่วงแรกยังไม่มีการจับกุม แต่พอการประท้วงเริ่มสงบลง พวกทหารเริ่มเข้ามาตรวจค้นในหมู่บ้าน มีการจับกุมคนในหมู่บ้านที่เคยไปประท้วง รุ่นพี่ที่รู้จักก็ถูกจับกุมตัวไปด้วย” เบบี้เล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น
เมื่อถามเหตุผลว่าทำไมถึงไปเข้าร่วมประท้วง เธอตอบทันทีว่า “การรัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง” พร้อมขยายความถึงความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงของชีวิตเธอในช่วงก่อนการรัฐประหารและหลังรัฐประหารว่า “ก่อนการรัฐประหาร ทุกคนมีอิสรภาพในชีวิต ประเทศมีอนาคต ฉันเองก็มีอนาคต สามารถทำสิ่งต่างๆ ที่ตนเองต้องการได้อย่างมีอิสระ แต่การรัฐประหารจำกัดสิทธิเสรีภาพ มีการตัดอินเทอร์เน็ต มีเคอร์ฟิวห้ามออกจากบ้าน มีด่านตรวจมากมาย เพียงเพราะรัฐบาลทหารต้องการอำนาจ แต่ไม่ได้สนใจประชาชนเลย”
“ในหมู่บ้านมีคนโดนจับตัวไป วันต่อมากลายเป็นศพ”
จากรายงาน ‘Myanmar’s internet suppression’ ของสำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) พบว่า ภายในวันที่ 2 เมษายน 2564 มีคำสั่งตัดการเชื่อมต่อทางอินเตอร์เน็ตแทบจะสมบูรณ์ทั้งประเทศ เพื่อสกัดกั้นการชุมนุมประท้วง การนำเสนอภาพและวิดีโอเหตุการณ์ประท้วงถูกกองทัพเมียนมา หรือตัดมาดอว์ (Tatmadaw) ปราบปรามอย่างรุนแรง ปิดกั้นไม่ให้เผยแพร่ไปสู่สายตาชาวโลก
การกดปราบครั้งใหญ่ของตัดมาดอว์ลุกลามไปถึงการสั่งปิดมหาวิทยาลัย ผลักพลเมืองออกจากการศึกษา เพราะตัดมาดอว์เห็นว่ามหาวิทยาลัยเป็นบ่อเกิดของการชุมนุมประท้วง ทั้งคณาจารย์และนักศึกษาต่างต่อต้านการปกครองของรัฐบาลทหาร จุดนี้นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิตของเบบี้
“หลังรัฐประหารไม่ได้กลับไปเรียนอีกเลย รัฐบาลทหารสั่งปิดมหาวิทยาลัย เลยคิดว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง จึงตัดสินใจไปเรียนเป็นผู้ช่วยพยาบาลแทน” หลังจากมหาวิทยาลัยถูกปิด เบบี้จึงไปทำงานเป็นอาสาสมัครพยาบาล และได้ลงเรียนหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลเป็นระยะเวลา 3 เดือน ทำหน้าที่ในแผนกห้องคลอด พาเด็กแรกเกิดเข้าห้องอบและเฝ้าแผนก
“ไปทำงานที่โรงพยาบาล พร้อมเรียนผู้ช่วยพยาบาลไปด้วย ไม่ได้รับค่าแรงเลย พอเข้าเดือนที่ 2 ได้ค่าแรงจากคนไข้ประมาณ 10,000 จ๊าด (157 บาท) ต่อวัน เพราะเขาจ้างพิเศษ พอจะดำรงชีพได้ในแต่ละวัน เพราะไม่ได้ซื้ออะไร สามารถแบ่งเงินส่วนหนึ่งให้กับทางบ้านได้ด้วย”
ความคิดที่จะต้องหางานทำของเบบี้ เกิดขึ้นเพราะต้องการช่วยแบ่งเบาภาระทางบ้านที่มีรายได้จากการทำนา และรายได้จากหยาดเหงื่อแรงกายของพ่อที่ไปขายแรงงานในโรงนํ้าแข็งย่านฝั่งธนฯ แต่สภาวะทางเศรษฐกิจของเมียนมาหลังการรัฐประหาร ทำให้ข้าวยากหมากแพง เงินเฟ้อ อีกทั้งยังถูกนานาชาติควํ่าบาตรทางเศรษฐกิจ ทำให้ค่าครองชีพในประเทศถีบตัวสูงขึ้น และไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต
ครอบครัวของเบบี้ประกอบไปด้วย แม่ น้องชาย และน้า ส่วนเครือญาติก็อาศัยอยู่บ้านเรือนใกล้เคียงกันในหมู่บ้านเดียวกัน ส่วนพ่อเดินทางมาทำงานในไทยตั้งแต่จำความได้ และไม่ได้กลับบ้านมาเป็นเวลาประมาณ 5 ปี จำได้ว่าพ่อกลับบ้านครั้งสุดท้ายตอนเธออายุ 15 ปี หลังโควิด-19 พ่อก็ไม่ได้กลับบ้านอีกเลยเพราะสถานการณ์ระส่ำระสายภายในประเทศเมียนมา
สถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา จากการกดปราบของรัฐบาลทหารเพื่อความมั่นคงทางอำนาจ ส่งผลกระทบต่อชาวเมียนมาที่ตกเป็นเป้านิ่งในการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากข้อมูลของ Armed Conflict Location & Event Data (ACLED) ในรายงาน ‘Myanmar: Mid-year metrics 2024’ พบว่าชาวเมียนมา 22.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 43 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 อยู่ในสภาวะอันตรายจากการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน ทั้งการโจมตีด้วยระเบิด การกดปราบการประท้วง และสงครามการทำสงครามกลางเมือง
ครอบครัวของเบบี้ก็เป็นหนึ่งในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากความมั่นคงของรัฐบาลทหาร เพราะหมู่บ้านที่ครอบครัวเธออาศัยอยู่นั้น เป็นหมู่บ้านที่ประชากรส่วนใหญ่กว่า 98 เปอร์เซ็นต์ ต่อต้านการรัฐประหาร
“แม่บอกว่านอนไม่หลับ กลัวว่าพวกเขา (ทหาร) จะบุกมาเมื่อไรไม่รู้ เวลาออกไปข้างนอกก็กลัวว่าพวกเขาจะมาจับตัวไป หากถูกเรียกตรวจก็จะต้องทำตามคำสั่งทันที พวกเขาจะตรวจค้นโทรศัพท์มือถืออย่างละเอียด หากทหารสงสัยหรือไม่พอใจในข้อมูลก็อาจจะจับตัวไปได้ พวกทหารสามารถเข้ามาในบ้าน ค้นข้าวของ หากเจอของมีค่าก็จะเอาไป ทำให้ทุกคนรู้สึกกลัวไปหมด” จากคำตอบนี้ ทำให้บทสนทนาหยุดชะงักกลางคันด้วยความเงียบ ภาพจากระบอบที่ปกครองด้วยความหวาดกลัว (reign of terror) หวนกลับขึ้นมาจากความทรงจำของเด็กสาวชาวเมียนมาผู้นี้ นํ้าตาของเธอเริ่มไหลริน ก่อนที่เธอจะต่อบทสนทนาด้วยเสียงสั่นเครือว่า “ในหมู่บ้านมีคนโดนจับตัวไป วันต่อมากลายเป็นศพ เพราะโดนข้อหาต่อต้านรัฐบาลทหาร”
เรื่องเล่าเช่นนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในหมู่บ้าน เป็นชะตากรรมที่ไม่มีใครในหมู่บ้านสามารถล่วงรู้ได้ เพราะไม่รู้ว่าพวกเขาจะมาเมื่อไร มีเพียงสัญญาณเตือนภัยที่ทำให้ชาวบ้านรู้ว่าพวกทหารมาถึงแล้ว คือเสียงปืนที่ถูกยิงขึ้นฟ้าเพื่อข่มขู่
บทสนทนาหยุดลงชั่วขณะเพื่อให้ผู้ถูกสัมภาษณ์รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ขณะที่ล่ามแปลภาษาพม่าก็กลั้นนํ้าตาของตนเองไว้ไม่อยู่ หลังแปลคำพูดของแรงงานชาวเมียนมาผู้นี้ทั้งหมดออกมา
ชะตากรรมแรงงานพลัดถิ่น
การเดินถอยหลังของเมียนมาเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมือง ทำให้เศรษฐกิจเมียนมาตกตํ่า ผู้คนไม่มีงานทำ ต้องใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก เบบี้พร้อมด้วยเพื่อนๆ พูดคุยกันว่าจะเดินหน้าชีวิตกันอย่างไร เพราะหากอยู่บ้านเฉยๆ ก็ไม่มีรายได้ เธอจะรองานดูแลคนป่วยก็ไม่รู้ว่าจะมีใครจ้างเมื่อไร ทุกคนเลยลงความเห็นว่าจะเดินทางมาแสวงโชคที่ประเทศไทย เพราะอย่างน้อยก็มีญาติพี่น้อง มีคนรู้จักที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งทางบ้านก็ไม่ได้ห้ามแต่อย่างใด
ภายหลังติดต่อนายหน้าค้าแรงงานเรียบร้อยแล้ว เบบี้พร้อมด้วยเพื่อนรวม 18 คน นั่งรถร่วม 8 ชั่วโมง จากเมืองมัณฑะเลย์มายังเมืองท่าขี้เหล็ก ในรัฐฉาน ที่มีสะพานทอดข้ามมายังอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ก่อนมุ่งตรงมาค้าแรงงานที่กรุงเทพฯ
“มาถึงเมืองไทยก็รองานอยู่ 20 วันค่ะ จนมีเทศกาลกินเจพอดี เจ้าของร้านอาหารในเยาวราชต้องการคนล้างผัก หั่นผัก ล้างจานล้างหม้อ คิดค่าจ้างรายวัน เลยไปทำจนหมดเทศกาล หลังจากนั้นกลับมารองานอีกเกือบเดือน จนได้ไปทำงานที่ร้านกิ๊ฟติดผมแถวสำเพ็ง เข้างานตอน 6 โมงครึ่ง มีเวลาพักเที่ยง 20 นาที ทำงานต่อจนไปถึง 5 โมงครึ่ง ได้ค่าจ้าง 350 บาทต่อวัน”
ด้วยสภาพการทำงานเช่นนี้ เธอก็ได้แต่ก้มหน้าก้มตาทำงานอย่างเดียว ไม่ได้พูดคุยหรือสนทนากับใครมากนัก เพราะไม่สามารถพูดภาษาไทยได้
ราว 28 วัน เบบี้ย้ายงานมาที่ร้านอาหารซีฟู้ดแผงลอยบนถนนเยาวราชประมาณ 2 เดือน ก่อนเปลี่ยนมาทำงานเป็นผู้ช่วยขายของที่ร้านขายเครื่องประดับย่านสำเพ็ง ซึ่งได้ค่าแรงดีกว่างานเดิมที่เคยทำมา เราถามว่าแล้วได้หยุดบ้างไหม เบเบี้สวนด้วยภาษาไทยอย่างทันควันโดยไม่ต้องรอล่ามว่า “ไม่มีวันหยุดค่ะ” เราถามต่อไปว่าเจ้าของร้านไม่มีวันหยุดให้หรือ “ตอนแรกไปสมัครงาน เขาบอกว่าจะให้หยุดทุกวันอาทิตย์ ไปๆ มาๆ ตอนนี้ไม่ได้หยุดแล้ว” หากถามว่าชีวิตลำบากกว่าตอนอยู่ที่บ้านหรือไม่ เธอตอบทันทีว่า “ไม่ลำบาก ถ้ามีงานให้ทำ”
เมื่อถามต่อว่า หากมีวันหยุดอยากทำอะไรเป็นพิเศษไหม เช่น ไปเที่ยว เธอให้คำตอบว่า “ไม่ได้อยากไปไหนเป็นพิเศษ อยากพักผ่อนที่ห้อง เพราะการไปเที่ยวจะต้องเสียเงินเยอะ ก็คงจะเที่ยวเล่นแถวละแวกนี้” เว้นเสียแต่เป็นวันหยุดยาวอย่างเช่น ช่วงสงกรานต์ที่ได้ไปเล่นนํ้าที่ถนนข้าวสาร ไปซื้อของแถวประตูนํ้าบ้าง หรือตอนที่เธออยู่ไทยครบ 1 ปี ก็ได้มีโอกาสไปเที่ยวพัทยา “ชอบมากๆ เลยค่ะ” เธอตอบเป็นภาษาไทย เพราะได้กินกุ้ง ซึ่งเป็นอาหารที่เธอชอบมาก
รายได้จากการทำงานของแรงงานเมียนมาในกรุงเทพฯ ถือว่าไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในกรุงเทพฯ ที่มีค่าครองชีพสูง อีกทั้งต้องประหยัดมัธยัสถ์ เก็บเงินส่วนหนึ่งเพื่อส่งกลับบ้าน ทำให้แรงงานเมียนมาจำนวนมากมักอยู่อาศัยร่วมกันในหอพักห้องเล็กๆ แชร์ค่าเช่า ค่านํ้า ค่าไฟ ร่วมกัน ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้สามารถส่งเงินกลับบ้านได้ราวกึ่งหนึ่งของค่าแรงทั้งเดือน
“ที่ห้องอยู่กัน 5 คนค่ะ ค่าห้องเดือนละ 4,500 บาท รวมค่านํ้าค่าไฟตกคนละ 1,500 บาท มากสุดที่เคยอยู่ในห้องเดียวกันคือ 7 คน” ซึ่งการแชร์ห้องกับเพื่อนๆ ทำให้เบบี้สามารถส่งเงินกลับบ้านได้ถึงเดือนละ 5,000-6,000 บาท คิดเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้แต่ละเดือน กระนั้น การที่ต้องกระเบียดกระเสียรกับค่าครองชีพรายวัน จำต้องทำอาหารกินเองถึงจะช่วยประหยัดได้เยอะ
ในช่วงของการต่ออายุ ‘บัตรชมพู’ (บัตรประจำตัวบุคคลต่างด้าว) ก็มีค่าใช้จ่ายในการต่ออายุ ทำให้ในห้วงเดือนนั้นจะต้องบอกกล่าวที่บ้านว่าจะไม่ส่งเงินให้ บางครั้งอาจมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เข้ามาแทรกด้วย ทำให้ต้องไปยืมญาติหรือคนรู้จักมาก่อน โดยจะส่งคืนให้เป็นรายเดือนไป
คิดถึงบ้าน
การเดินทางเข้ามาทำงานในต่างแดน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัว โดยเฉพาะการสื่อสารในภาษาไทย สำหรับแรงงานเมียนมา การพูดภาษาไทยได้นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการจ้างงานที่ดีขึ้น เบบี้จึงเข้าเรียนคลาสภาษาไทยเป็นเวลา 1 ปี ผ่านโครงการ STAY IN SAMPENG YAOWARAT บนถนนทรงวาด ไม่ไกลจากสถานที่ทำงานและที่พักของเธอนัก
“ตอนมาไทยใหม่ๆ ฟังภาษาไทยไม่รู้เรื่องเลย คุ้นหูอยู่ว่า ทำไมถึงพูดคำนี้ซํ้าๆ แต่ไม่รู้ความหมาย พอมาเรียนภาษาไทย สงสัยตรงไหนก็สามารถถามได้ เข้าใจภาษาไทยมากขึ้น”
การเรียนภาษาไทยสามารถทำให้การชีวิตง่ายขึ้น อีกทั้งการเข้าเรียนภาษาไทยที่นี่ยังสามารถทำให้เธอและแรงงานเมียนมาอีกหลายคนมีความรู้เรื่องสิทธิแรงงานที่พวกเขาควรได้รับ การใช้หลักประกันสังคมต่างๆ ที่พวกเขาล้วนจ่ายเงินเพื่อรับสิทธิตรงนี้ รวมไปถึงการเป็นคอมมูนิตีของแรงงานชาวเมียนมาในพื้นที่ ซึ่งจะมีการทำกิจกรรม คอยให้คำปรึกษาหารือกัน
นอกจากการมาเรียนภาษาไทยในโครงการนี้แล้ว เบบี้ก็ยังติดต่อกับที่บ้านผ่านวิดิโอคอล หรือนัดเจอพ่อที่ทำงานแถวย่านฝั่งธนฯ มีกลุ่มเพื่อนๆ ที่ทำงานด้วยกันหรือเดินทางมาอยู่ไทยเหมือนกัน ถ้ามีอะไรก็จะสามารถปรึกษาปัญหาได้ ถามสารทุกข์สุกดิบ นัดเจอกัน ไปกินข้าวหรือไปเที่ยวด้วยกัน พูดถึงอนาคตกันว่าทำงานที่ไทยครบกี่ปี แล้วจะกลับบ้านกันไหม สำหรับเธอแล้ว “ถ้าสถานการณ์ในประเทศดีขึ้น ก็อยากกลับบ้าน กลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัว”
เกิดคำถามต่อว่า หากสถานการณ์ในเมียนมาดีขึ้น สามารถเดินทางกลับบ้านได้แล้ว จะไปทำอะไรต่อ “ตอนนี้กำลังเก็บเงินอยู่ อยากจะเอาเงินตรงนี้ไปเปิดธุรกิจของตัวเอง อยากกลับไปอยู่กับครอบครัวที่บ้าน”
การเดินทางข้ามพรมแดนจากบ้านเกิดเมืองนอน มาทำงานที่ประเทศไทยร่วม 2 ปี แต่ ‘บ้าน’ ที่เธอจากมา ก็ยังคงเป็นคำตอบสุดท้ายของเด็กสาวชาวเมียนมาผู้นี้ เธอกล่าวด้วยความโหยหาทั้งน้ำตาว่า “คิดถึงอาหารฝีมือแม่ เพราะอาหารพม่าที่ไทยยังไงก็ไม่เหมือนที่บ้าน”
ความฝันอันสูงสุดของเบบี้ คือ “ไม่อยากให้มีรัฐประหาร อยากให้ประเทศมีเสรีภาพ ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ทำอะไรได้อย่างมีอิสระ” อีกทั้งยังหวังว่า “ถ้ามีโอกาสก็อยากกลับไปเรียนอีกครั้ง เพื่ออนาคตที่ดีขึ้น เอาความรู้ไปต่อยอดได้มากขึ้น” ก่อนพูดเชิงติดตลกว่า “แต่ตอนนี้ไม่มีเวลาจะกลับไปเรียนต่อหรือแม้แต่เรียนภาษาไทย เพราะต้องทำงานทุกวัน”