รัฐแคลิฟอร์เนียจ่อแบนผลิตภัณฑ์แอบอ้างสัญลักษณ์รีไซเคิล

วันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา เสียงส่วนใหญ่ในสภารัฐแคลิฟอร์เนียลงมติให้มีการแบนบริษัทต่างๆ ที่มีการใช้สัญลักษณ์รีไซเคิลบนผลิตภัณฑ์ของตัวเอง จนกว่าบริษัทเหล่านี้จะพิสูจน์ได้ว่าวัสดุที่นำมาใช้สามารถรีไซเคิลได้จริง เนื่องจากพบผลิตภัณฑ์จำนวนมากที่ใช้สัญลักษณ์รีไซเคิล ทั้งๆ ที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้จริง ทำให้เกิดผลเสียต่อระบบการรีไซเคิล

เบน อัลเลน (Ben Allen) สมาชิกวุฒิสภารัฐแคลิฟอร์เนียให้ความเห็นว่า เหตุผลในการใข้สัญลักษณ์รีไซเคิลเป็นเรื่องการโฆษณามากเสียกว่าการอนุรักษ์ “มีคนจำนวนมากที่ทำการแยกขยะใส่ถังรีไซเคิล ด้วยเหตุที่มันมีสัญลักษณ์รีไซเคิลบนผลิตภัณฑ์ ทั้งยังคิดว่ามันจะถูกนำไปรีไซเคิล แต่ตามจริงแล้ว ขยะเหล่านี้กลับถูกส่งตรงไปยังบ่อฝังกลบ”

ด้าน ไฮดี แซนบอร์น (Heidi Sanborn) กรรมการบริหารแห่ง the National Stewardship Action Council ก็ให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า สัญลักษณ์รีไซเคิล “เป็นการบอกให้ผู้คนซื้อสินค้าในระดับจิตใต้สำนึก” เพราะเมื่อซื้อสินค้าไปแล้ว ผู้ซื้อจะรู้สึกว่าตัวเองมีพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแซนบอร์นมองว่า นี่เป็นการหลอกลวงผู้บริโภคของบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์

“ไม่ควรมีใครสามารถโกหกต่อหน้าสาธารณชนได้” แซนบอร์นกล่าว

สำหรับการผลักดันกฎหมายในรัฐแคลิฟอร์เนียนี้ เกิดจากการรวมตัวกันขับเคลื่อนระหว่างองค์กรทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ กับรัฐบาลท้องถิ่น ตลอดจนถึงบริษัทจัดการขยะเอกชน โดยบริษัทที่ทำเกี่ยวกับการรีไซเคิลกล่าวว่า การเคลื่อนไหวนี้จะช่วยพวกเขาในการคัดแยกขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้จริงออกจากถังขยะรีไซเคิล หมายความว่า มันจะเป็นการลดปริมาณวัสดุที่ไม่ควรอยู่ในกระบวนการรีไซเคิลออกไปได้จำนวนมาก

ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ กลับเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้จะสร้างความสับสนให้แก่ผู้บริโภค โดยบริษัทเหล่านี้ได้ให้เหตุผลไปยังฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐแคลิฟอร์เนียผ่านเอกสารเวียนว่า “มันจะสร้างนิยามของการรีไซเคิลที่ไม่สามารถใช้เป็นเกณฑ์กับผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อน และบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งได้” ทั้งนี้ บริษัทขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น the American Chemistry Council, the Plastics Industry Association and Ameripen ต่างก็ลงชื่อบนเอกสารฉบับนี้ และมีข้อเสนอว่า รัฐแคลิฟอร์เนียควรรอการตัดสินใจในระดับประเทศจากกลุ่มการเมืองในวอชิงตันก่อน

กลุ่มอุตสาหกรรมยังกล่าวอีกว่า หากผลิตภัณฑ์ของตนถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ บริษัทก็จะไม่มีการลงทุนในเทคโนโลยีที่จะมารีไซเคิลผลิตภัณฑ์เหล่านี้

ทั้งนี้ จากการประเมินของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (Environmental Protection Agency: EPA) วัสดุที่ถูกนำไปรีไซเคิลมากที่สุดคือกระดาษและโลหะ ในขณะที่มีพลาสติกซึ่งถูกบริโภคในสหรัฐ เพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่ถูกนำไปรีไซเคิล

The New York Times ยังรายงานว่า ตลอดหลายปีมานี้ แม้จะมีข้อตกลงห้ามเคลื่อนย้ายขยะพลาสติก แต่ทางการสหรัฐกลับยังคงขนขยะพลาสติกไปยังต่างประเทศ จนทำให้แม่น้ำและลำธารท้องถิ่นหลายแห่งต่างได้รับผลกระทบ

ที่มา

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า