กำลังเป็นประเด็นร้อนกรุ่นควัน กับ ‘กัญชา’ ที่กำลังจะถูกปลดล็อคให้นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้
นับเป็นสัญญาณที่ดี เพราะรู้กันมานานแล้วว่า ในฐานะสมุนไพร กัญชาคือพืชยาชนิดหนึ่ง ที่มีคุณประโยชน์ในการบำบัดรักษาโรค บรรเทาอาการเจ็บปวด แต่สำหรับประเทศไทย ปราการสำคัญที่ทำให้กัญชาไทยยังไม่ไปต่อคือกฎหมายยาเสพติด ที่ยังมีชื่อของกัญชาอยู่ในยาเสพติดประเภทที่ 5 แม้จะมีการทดลองสารสกัดได้ แต่ตามกฎหมาย เรายังไม่สามารถนำมาทดลองกับมนุษย์เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้จริง เป็นที่มาของการผลักดันให้มีการแก้กฎหมายยาเสพติด
แต่เมื่อคนไทยเห็นประโยชน์ของกัญชา ต่างชาติก็เห็น และมีหลายบริษัทที่เตรียมเข้าถือสิทธิบัตรในการใช้ประโยชน์จากกัญชา โดยเฉพาะการนำสารสกัดจากกัญชาไปใช้ในการผลิตยา และจากข้อมูล มีรายชื่อของบริษัทต่างชาติ 11 ราย ที่ผ่านขั้นตอนการยื่นคำขอแล้ว และนี่คือภาพรวมว่า ถ้าต่างชาติถือสิทธิบัตรกัญชาไทย อะไรจะเกิดขึ้น
เกิดอะไรขึ้น ถ้าบริษัทต่างชาติยื่นคำขอสิทธิบัตร
แม้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะยืนยันว่า บริษัทที่เข้ามายื่นคำขอนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับการจดสิทธิบัตร แต่ในทางปฏิบัติ หากท้ายที่สุดแล้ว บริษัทต่างชาติได้สิทธิบัตรในการประดิษฐ์นั้นไป เท่ากับว่าสิทธิในการผลิต ใช้ ขาย เสนอขาย และนำเข้า เป็นเวลา 20 ปีนั้นจะย้อนไปถึงวันที่ยื่นขอ
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ บรรดาบริษัทที่ยื่นคำขอและผ่านขั้นตอนการตรวจสอบเบื้องต้นและได้มีการประกาศโฆษณามีสิทธิตามมาตรา 35 ทวิ ที่จะ ‘บอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร’ กับองค์กรหรือกลุ่มนักวิจัยของไทยได้ว่า พวกเขาอยู่ในระหว่างการยื่นขอสิทธิบัตรในงานชิ้นนี้อยู่ เป็นเหตุให้ทั้งองค์การเภสัชกรรมและทีมนักวิจัยไม่สามารถทำการวิจัยหรือทดลองสารสกัดจากกัญชาที่ตรงกับการประดิษฐ์นั้นได้ เพราะหากบริษัทต่างชาติได้สิทธิในการผลิตไป เท่ากับว่าองค์กรของไทยเป็นผู้ฝ่าฝืน และต้องชำระค่าเสียหายย้อนไปถึงวันที่ยื่นคำขอ
คำขอจดสิทธิบัตรไปถึงขั้นตอนไหน
ข้อมูลจากไบโอไทยระบุว่า มีการยื่นเรื่องขอจดสิทธิบัตรของบริษัทต่างชาติจากอังกฤษและญี่ปุ่นทั้งหมด 11 คำขอ ตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งผ่านขั้นตอนการยื่นคำขอ ชำระค่าธรรมเนียม อยู่ในขั้นตอนการประกาศโฆษณาและการตรวจสอบการประดิษฐ์ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 ไม่มายื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ 1 คำขอ (ละทิ้งคำขอรับสิทธิบัตร)
กลุ่มที่ 2 ยังไม่ยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ 7 คำขอ (รอภายใน 5 ปี)
กลุ่มที่ 3 เป็นการยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ 3 คำขอ
กรมทรัพย์สินทางปัญญามีสิทธิยกคำขอได้
สำหรับข้อสงสัยที่ว่า ทำไมกรมทรัพย์สินทางปัญญาถึงรับคำขอของบริษัทต่างชาติ กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้เหตุผลว่า การยื่นคำขอรับสิทธิบัตรเป็นสิทธิที่ผู้ประดิษฐ์จะพึงดำเนินการได้ตามกฎหมายสิทธิบัตร ไม่สามารถยกเลิกคำขอได้
แต่ตามกฎหมายของประเทศไทย มีวิธียกคำขอสิทธิบัตรได้ คือ
กฎหมายสิทธิบัตร มาตรา 5 ภายใต้บังคับมาตรา 9 การประกาศขอรับสิทธิบัตรต้องเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น และสามารถประยุกต์ได้ทางอุตสาหกรรม
กฎหมายสิทธิบัตร มาตรา 9 (1) ระบุว่า จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช เป็นการประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ หรือไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ ดังนั้น สารสกัดกัญชา ซึ่งเป็นสารสกัดจากพืช จึงไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ตั้งแต่แรก
ยกตัวอย่างเช่น การใช้ไฟโตแคนนาบินอยด์ในการรักษามะเร็ง ซึ่งบริษัทแห่งหนึ่งได้ยื่นขอสิทธิบัตรจนมาถึงขั้นตอนการประกาศโฆษณาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2557 นั้น ขัดต่อกฎหมายมาตรา 9 (1) อย่างชัดเจน เพราะเป็น ‘สารสกัดต้นแคนนาบิส’ (cannabis plant extract)
กฎหมายสิทธิบัตร มาตรา 9 (4) การวินิจฉัย บำบัด รักษาโรคมนุษย์หรือสัตว์ เป็นการประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร
กฎหมายสิทธิบัตร มาตรา 28 (1) ถ้าอธิบดีเห็นว่าการประดิษฐ์นั้นไม่ถูกต้องตามมาตรา 17 หรือไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 9 ให้อธิบดีสั่งยกคำขอนั้น
กฎหมายสิทธิบัตร มาตรา 30 เมื่อมีการประกาศโฆษณาแล้ว ปรากฏว่าคำขอรับสิทธิบัตรไม่ชอบด้วยมาตรา 5 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 หรือมาตรา 14 ให้อธิบดีสั่งยกคำขอสิทธิบัตร
กฎกระทรวง ฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ข้อ 6 การประดิษฐ์ที่ยื่นคำขอนั้นไม่ได้ตามมาตรา 9 ให้พนักงานหรือเจ้าหน้าที่เสนอรายงานอธิบดีเพื่อสั่งยกคำขอสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรได้
ดังนั้น เมื่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้ปฏิบัติตามนี้ ในสายตาของภาคประชาสังคมถือว่าเป็นการละเลย
บริษัทต่างชาติผู้ยื่นคำขอสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชา
CBD: Cannabidiol สนับสนุนโดย |