ยารักษาไวรัสตับอักเสบซีแพงมาก เกี่ยวอะไรกับเรา

DSC_9594-1
ภาพ: มูลนิธิเข้าถึงเอดส์

 

เงิน 2.5 ล้านบาท สามารถทำอะไรได้มากมาย ตั้งแต่พาไปเราเที่ยวรอบโลกแบบประหยัดได้ประมาณ 4 รอบ ซื้อคอนโดใกล้รถไฟฟ้า หรือบ้านเดี่ยวสักหลักในเขตปริมณฑล แต่สำหรับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี หากต้องการหายขาด ก็มียาตัวใหม่ที่มีประสิทธิภาพดี ผลข้างเคียงต่ำ ระยะเวลาการรักษาลดลงกว่าเดิม แต่ค่ารักษาในสหรัฐ ณ ตอนนี้อยู่ที่เกิน 2.5 ล้านบาทมาหน่อย

เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (30 สิงหาคม) ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เข้ายื่นคำคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรของยาโซฟอสบูเวียร์ (sofosbuvir) ยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ที่มีราคาแพงกว่า 2.5 ล้านบาทต่อการรักษาหนึ่งคนในสหรัฐ (ดู Infographic: ขายบ้าน ขายนา รักษาไวรัสตับอักเสบซี)

โดยหวังพึ่งกฎหมายสิทธิบัตรปลดล็อคการผูกขาดตลาด เปิดโอกาสให้องค์การเภสัชกรรมและบริษัทยาชื่อสามัญรายอื่นสามารถผลิตยาและขายได้ในราคาที่เป็นธรรม และมียาดังกล่าวอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ

ตัวแทนทั้งสององค์กรใช้มาตรการคัดค้านก่อนได้รับสิทธิบัตร มาตรา 31 ตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร ขอใช้สิทธิ์คัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรยาโซฟอสบูเวียร์ ที่ยื่นขอรับสิทธิบัตรในไทยโดยบริษัทยาสัญชาติอเมริกัน กิลิแอด (Gilead Pharmasset LLC) ทั้งนี้ ได้ยื่นเอกสารคำคัดค้านและหลักฐานกว่า 1,000 หน้าต่อเจ้าหน้าที่สำนักสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยหวังว่าทางสำนักฯจะไม่รับพิจารณาคำขอฯดังกล่าว

WAY ได้สอบถามไปยัง เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์เรื่องการเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในประเด็นความคืบหน้าหลังจากการยื่นเอกสารคัดค้านครั้งนี้ และคำแนะนำสำหรับใครก็ตามที่อาจสงสัยว่าตัวเองเสี่ยงต่อไวรัสตับอักเสบซี

ยาใหม่ไฉไลกว่าเก่า!

กรณียาโซฟอสบูเวียร์ในประเทศไทยอาจดูเหมือนยาใหม่ เฉลิมศักดิ์ให้ข้อมูลว่า เพิ่งได้รับทะเบียนยาจาก อย. เมื่อปลายปี 2558 และมีจำหน่ายในบางโรงพยาบาลเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

โซฟอสบูเวียร์อยู่ในกลุ่มยา DAA (Direct Acting Antiviral) ต่างกับยาเก่า ซึ่งเป็นยาฉีด รู้จักกันในชื่อ เพกกิเลต อินเตอร์เฟียรอน (Pegylated Interferon: Peg-IFN) เป็นยาประเภทชีววัตถุ คือเมื่อฉีดเข้าไป จะไปสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาสู้กับไวรัส

ขณะที่โซฟอสบูเวียร์จะเป็นตัวยาที่เข้าไปจัดการไวรัสโดยตรง ประสิทธิภาพดีกว่า ผลข้างเคียงน้อยกว่ามาก เวลาใช้ จะใช้โซฟอสบูเวียร์เป็นหลัก คู่กับยาอีกตัว เช่น ดาคลาทาสเวียร์ (Daclatasvir) คือต้องใช้ยาสองตัว การรักษาจึงจะได้ผลสูงสุด

แม้ยาตัวนี้จะดีขึ้นกว่าเดิมเท่าไหร่ก็ตาม แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ ค่ารักษาในเมืองไทย อยู่ที่ราว 430,000-495,000 บาทต่อการรักษา 12 สัปดาห์ และยานี้ยังไม่อยู่ในบัญชียาหลัก พูดง่ายๆ ก็คือ ยังไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของบัตรทอง หรือประกันสังคม

สำหรับผู้ป่วย ขณะนี้คงต้องใช้ยาฉีดตัวเดิม ซึ่งพบผลข้างเคียงหลายประการ อาทิ ผมร่วง ตัวซีด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด บางรายที่ทนไม่ไหวก็ต้องขอเลิกรักษา บางรายทนรักษาจนครบแล้ว แต่พบว่าไม่ได้ผลเพราะไม่ตอบสนองกับสายพันธุ์ที่ตัวเองเป็น

ไวรัสตับอักเสบซีมีทั้งหมด 7 สายพันธุ์ ยาตัวเดิมที่เป็นยาฉีด จะตอบสนองดีสุดกับสายพันธุ์ที่ 3 แต่สายพันธุ์อื่นๆ การรักษาจะด้อยลงไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่สภาพตับว่ามีพังผืดขึ้นระดับไหน หรือความรุนแรงของโรคพัฒนาไปถึงระดับไหน

“ยาตัวใหม่จะให้ประสิทธิภาพดีกว่า รักษาได้ประสิทธิผลประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ผลข้างเคียงน้อยกว่า ระยะเวลารักษาสั้นลง เหลือแค่ 3 เดือน จากเดิมอยู่ที่ 6, 12, 24 เดือน ขึ้นอยู่กับสภาพตับ และปัจจัยร่วม เช่น มีการติดเชื้อร่วมกับเชื้อเอชไอวีด้วยไหม” เฉลิมศักดิ์กล่าว

DSC_9486-1

ตรวจไว แก้ไขได้เร็ว

อย่ารอให้มีอาการแล้วค่อยไปตรวจ เพราะจะช้าเกินไป

“นี่ก็เป็นเหมือนภัยเงียบ กว่าหลายคนจะรู้ ก็เริ่มมีอาการตับอักเสบ หรือจะเป็นตับแข็งแล้ว คือรู้สึกอ่อนเพลีย ซีด เลือดจาง ซึ่งมันอาจจะแฝงอยู่นานแล้ว ผ่านระยะฟักตัวแล้วจึงมีอาการ ถ้าไม่ตรวจเลือด เราก็ไม่รู้”

การติดต่อของไวรัสตับอักเสบซี จะคล้ายกับเอชไอวี คือติดทางเลือดและทางเพศสัมพันธ์ หรือบางคนได้รับเลือดตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ได้คัดกรอง ก็มีสิทธิ์เป็นไวรัสตับอักเสบซีได้

หากใครคิดว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี แล้วพบผลบวกในการตรวจครั้งแรก ยังต้องผ่านการตรวจอีกขั้นตอนหนึ่งในสามเดือนถัดไป เพื่อให้ทราบว่าเป็นไวรัสตับอักเสบซีชนิดเรื้อรังหรือไม่ เนื่องจากร่างกายบางคนสามารถจัดการไวรัสได้ด้วยตัวเอง

“การตรวจจึงต้องตรวจสองครั้ง พอทราบผลครั้งแรกว่าเป็นบวก ก็ต้องตรวจคอนเฟิร์มว่าเป็นชนิดเรื้อรังหรือเปล่า พอทราบว่าเป็นชนิดเรื้อรัง คราวนี้ต้องเริ่มมาคิดเรื่องการรักษา ส่วนมากก็จะไม่ค่อยมีคนรู้ เพราะร่างกายก็ดูปกติ จนกระทั่งตับเริ่มมีพังผืด เริ่มอักเสบขึ้นมา แล้วเพิ่งจะมารู้ตอนนั้น”

2016-08-31 sofosbuvir

ยาตัวเดียว ขอสิทธิบัตร 13 ฉบับ!

13 คำขอมาจากบริษัทเดียวกันทั้งหมด เพราะฉะนั้น มันเป็นโจทย์ใหญ่ และเป็นช่องว่างใหญ่ในเรื่องการรับจดสิทธิบัตรในประเทศไทย ถ้าทั้ง 12 คำขอ ผ่านหมดทุกคำขอ (จากข้อมูลที่บริษัทละทิ้งคำขอไปหนึ่งฉบับ) ก็จะผูกขาดตลาดไปเกินกว่า 20 ปี

นั่นหมายความว่า เมื่อคำขอแรกหมดระยะเวลาความคุ้มครอง ก็จะมีคำขอที่ 2 3 4 5 ทยอยออกมาเรื่อยๆ โดยบริษัทยาจะอ้างเหตุผลต่างๆ นานาในเรื่อง ‘ความใหม่’ อยู่ตลอดเวลา

3 คุณสมบัติ ยื่นขอรับสิทธิบัตรยา (คลิกชมคลิป ‘ต่อเวลายาแพง…ไม่สิ้นสุด’)

  1. เป็นนวัตกรรม มีความใหม่ ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน
  2. ต้องมีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น
  3. สามารถผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้

“13 คำขอที่ว่า จะเหลื่อมเวลากันไปเรื่อยๆ ยาตัวเดียว…ในประเทศไทยตอนนี้เราค้นเจอ 13 คำขอ แต่ที่สหรัฐ เขาขอจดทั้งหมด 27 คำขอ”

เฉลิมศักดิ์เพิ่มเติมว่า ตอนนี้นอกจากรอความคืบหน้าจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา อีกส่วนที่ขับเคลื่อนไปพร้อมกันคือ งานศึกษาเรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของยาโซฟอสบูเวียร์กับยาตัวอื่นๆ ซึ่งกำลังจะยื่นต่อทางคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อพิจารณานำเข้าบัญชียาหลักหรือไม่ หากสำเร็จ ทุกคนก็มีสิทธิ์จะใช้ยาตัวนี้ได้ฟรี ไม่ว่าจะเป็นระบบบัตรทอง ระบบประกันสังคม หรือสิทธิประโยชน์ข้าราชการ

ระหว่างนี้อาจจะมีการต่อรองราคายาเพิ่ม หรือประกาศใช้ CL ก็เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการฯจะพิจารณาต่อ รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข

 


 

logo sponsor

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า