สิทธิบัตรกัญชาบนคราบน้ำตาประชาชน

ราวกับซานตาคลอสย่องเอาของขวัญมาใส่ไว้ในถุงเท้าที่แขวนไว้ปลายเตียง เมื่อ สนช. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. ในวาระ 3 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 ด้วยคะแนน 166 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง โดยถือเป็นมติเอกฉันท์

เปิดกล่องของขวัญพบรอยยิ้มอันทารุณ

สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. คือการอนุญาตให้ใช้กัญชาและกระท่อมในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัยและพัฒนา รวมถึงเกษตรกรรม พาณิชยกรรม วิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ยังเปิดช่องให้ใช้กัญชาเพื่อการศึกษาวิจัยกับมนุษย์ได้เป็นครั้งแรก แต่เมื่อแกะกล่องของขวัญชิ้นนี้กลับพบรอยยิ้มอันทารุณ

รอยยิ้มอันทารุณที่ว่านี้คือคำร้องขอจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาของบริษัท GW Pharmaceuticals บริษัทยาที่ตั้งขึ้นในอังกฤษ ร่วมกับ Otzuka บริษัทยายักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ยื่นขอสิทธิบัตรกัญชาจำนวน 7 คำขอ จากทั้งหมด 10 คำขอ (เท่าที่มีการเปิดเผย) ในประเทศไทย

กฎหมายกัญชาอาจขึ้นรา

คำร้องขอสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาของบริษัทต่างชาติเป็นเรื่องที่ยื่นคำขอเข้ามาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งสถานะของกัญชาและกระท่อมยังเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับ พ.ศ. 2522

จากการตรวจสอบโดยองค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ และนักวิชาการด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา พบคำขอสิทธิบัตรขัดต่อมาตรา 5 และมาตรา 9 เช่น ขัดต่อมาตรา 5 (1) เพราะไม่ใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ มาตรา 5 (2) ไม่ใช่การประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น อีกทั้งยังขัดมาตรา 9 (1) ซึ่งเกี่ยวข้องกับสารสกัดจากสัตว์หรือพืช มาตรา 9 (4) เกี่ยวกับวิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์ หรือสัตว์ และขัดต่อมาตรา 9 (5) การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย เพราะกัญชายังคงเป็นสารเสพติดที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวิจัยได้

มูลนิธิชีววิถี รายงานว่า การปล่อยให้สถานะของคำขอสิทธิบัตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายค้างคาเช่นนี้ จะเป็นการปิดกั้นการวิจัยและพัฒนาขององค์การเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยและหน่วยงานของรัฐ เอกชน วิสาหกิจขนาดเล็กในประเทศไทย ตามมาตรา 35 ใน พ.ร.บ.สิทธิบัตรได้ให้การคุ้มครองชั่วคราวแก่ผู้ยื่นคำขอสิทธิบัตร ผู้ยื่นคำขอสามารถยื่นหนังสือคัดค้านว่าการวิจัยดังกล่าวนั้น ตนได้ยื่นขอสิทธิบัตรไว้แล้ว โดยมีผลนับตั้งแต่วันที่ยื่นขอสิทธิบัตร ซึ่งหมายความว่าสามารถเรียกค่าเสียหายย้อนหลังได้หากคำขอสิทธิบัตรนั้นได้รับการจดทะเบียน

การผูกขาดไม่หยุดอยู่แค่นั้น เพราะสายพันธุ์กัญชาที่ใช้ในการผลิตยาซึ่งมีที่มาจากประเทศไทย เอเชีย และหลายประเทศจากซีกโลกใต้จะถูกผูกขาดในระยะเวลาอันใกล้จากระบบสิทธิบัตร และ/หรือ ระบบสิทธินักปรับปรุงพันธุ์ (plant breeder’s right)

คำขอจดสิทธิบัตรจำนวน 7 คำขอนี้อาจเป็นเหตุผลหลักที่รัฐบาลยังไม่ทูลเกล้า ร่าง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. เพื่อลงพระปรมาภิไธย ทำให้ผู้ป่วยในประเทศไทยไม่สามารถเข้าถึงการใช้กัญชาและพืชกระท่อมทางการแพทย์ในการรักษาโรค ทั้งยังขัดขวางการทำวิจัยและเสียโอกาสในพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาและพืชกระท่อมทางการแพทย์

ภาคประชาสังคมพร้อมเคลื่อนไหวใหญ่

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 มกราคม มีการหารือเพื่อหาข้อยุติปัญหาสิทธิบัตรกัญชาระหว่างองค์กรภาคประชาสังคม ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยรังสิต มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) และสภาการแพทย์แผนไทย กับนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เห็นด้วยกับข้อเสนอของภาคประชาสังคม เช่น ยกเลิกคู่มือแนวปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ใช้แนวปฏิบัติของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นซึ่งเปิดให้มีการจดสิทธิบัตรสารสกัดจากพืช รวมถึงการแก้ไขกฎระเบียบและกฎหมายสิทธิบัตรให้แสดงที่มาของทรัพยากรชีภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่นเดียวกับ กฎหมายสิทธิบัตรของจีน หรือ อินเดีย เป็นต้น

แต่กรณีการยกเลิกสิทธิบัตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้จึงตั้งคณะทำงานที่มีผู้เข้าร่วมการประชุมร่วมหารือ โดยภาคประชาสังคมกำหนดให้หาข้อยุติให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน

7 วันผ่านไป – วันนี้ (17 มกราคม) เพจ FTA Watch ออกแถลงการณ์ ‘ปลดล็อคกัญชาทางการแพทย์แท้ง’ หลังการนัดหมายหารือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาล้มเหลว

ในแถลงการณ์ร่วมของภาคประชาสังคม ระบุว่า การประชุมในวันนี้ ไม่มีฝ่ายนโยบายในระดับรัฐมนตรี หรือผู้มีอำนาจตัดสินใจในระดับกรม เช่น อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือรองอธิบดี เข้าร่วมประชุม มีเพียงผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและผู้อำนวยการกองสิทธิบัตรเข้าร่วมประชุม

“ผลการหารือเพื่อแก้ปัญหาสิทธิบัตรกัญชาระหว่างภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ชัดเจนว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์มีเจตนาไม่ต้องการยกเลิกสิทธิบ้ตรคำขอสิทธิบัตร ที่ขัดมาตรา 9 ที่ว่าด้วยสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือขอสิทธิบัตรไม่ได้ โดยเฉพาะมาตรา 9 (5) ที่ว่าด้วยการประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีอนามัย หรือสวัสดิภาพของประชาชน”

“การที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาปล่อยให้คำขอเหล่านี้ยังคาอยู่ในระบบ เป็นเหตุผลหลักที่รัฐบาลยังไม่ทูลเกล้า ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติด แม้จะผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อปลดล็อคการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อลงพระปรมาภิไธย ทำให้ผู้ป่วยในประเทศไทยเข้าไม่ถึงการใช้กัญชาและพืชกระท่อมทางการแพทย์ในการรักษาโรคและยังขัดขวางการทำวิจัยและเสียโอกาสในพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาและพืชกระท่อมทางการแพทย์”

ในแถลงการณ์ ระบุว่า ภาคประชาสังคมกัญชาเพื่อการแพทย์จะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลพร้อมหารือกับประชาชนทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และผู้มีอำนาจ เพื่อเคลื่อนไหวทั้งทางสังคมและการเมืองให้มีการยกเลิกคำขอสิทธิบัตรดังกล่าวโดยเร็ว

สิทธิบัตรกัญชาบนคราบน้ำตาของประชาชน

หากสิทธิบัตรของต่างชาติดังกล่าวได้รับการจดทะเบียน บริษัทยาของต่างชาติจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนายาจากกัญชา ทั้งจากการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายยาจากกัญชาในประเทศไทย แทนที่จะเป็นประชาชนในประเทศ ผู้ป่วยจากโรคพาร์กินสัน ลมชัก มะเร็ง เนื้องอก โรคเกี่ยวกับจิตเวช อาการปวดจากโรคต่างๆ จะต้องซื้อยาในราคาแพง

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า