เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (27 พฤศจิกายน 2562) รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัว โดยประกาศขอลาออกจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย และขอแย้งการแถลงข่าวของประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม) ด้วยเหตุผลดังนี้
- ขอแย้งว่าไม่ได้มีการลงมติอย่างชัดเจน ว่าผู้ใดเห็นด้วยหรือไม่ในแต่ละประเด็น แต่เป็นภาวะจำยอมในการรับมติ จึงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นมติเอกฉันท์ เพราะหากพิจารณาในการอภิปรายจะพบว่า ดิฉันยืนยันชัดเจนมาโดยตลอดในการแบนสารทั้งสาม และยืนยันให้คงมติวันที่ 22 ตุลาคม 2562
- ขอแย้งการแถลงข่าวที่ว่า ไกลโฟเสตไม่เป็นอันตราย เพราะกรรมการรวมทั้งดิฉันได้อภิปรายถึงผลเสียต่อสุขภาพและไม่สามารถจะจัดการความเสี่ยงต่อผู้บริโภค จนพบปนเปื้อนทั้งในสิ่งแวดล้อม ผัก ผลไม้ และน้ำนมแม่
การประกาศลาออกของ รศ.ภญ.จิราพร ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในคณะกรรมการวัตถุอันตราย สืบเนื่องจากเมื่อช่วงเช้าวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ครั้งแรก โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธาน มีมติให้เลื่อนการแบน ‘พาราควอต’ และ ‘คลอร์ไพริฟอส’ ออกไปอีก 6 เดือน เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วน ‘ไกลโฟเซต’ ให้จำกัดการใช้และให้จัดอบรมการใช้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ มติเดิมของที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ให้ยกระดับเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 และให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้งสามภายในวันที่ 1 ธันวาคม นี้
ทว่าภายหลังเมื่อคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทนได้มีการทบทวนมติเดิม โดยให้เหตุผลว่า หากจะยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้งสามสาร อาจมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ เนื่องจากมีสารเคมีที่คงค้างอยู่ประมาณ 23,000 ตัน หากต้องทำลายจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก อีกทั้งยังไม่มีมาตรการรองรับที่เหมาะสมสำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
ต่อมา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน รศ.ภญ.จิราพร ได้โพสต์ข้อความย้ำอีกครั้งว่า ในที่ประชุมครั้งล่าสุดไม่ได้มีการลงมติ และไม่ได้มีการนับองค์ประชุม ดังนั้น ประธานจะไปแถลงข่าวโดยอ้างเสียงมติเอกฉันท์มิได้
ในหนังสือขอลาออกของ รศ.ภญ.จิราพร ยังระบุด้วยว่า “กลไกคณะกรรมการวัตถุอันตรายอันเป็นกลไกที่สำคัญเชิงนโยบายในการตัดสินใจควบคุมวัตถุอันตรายเพื่อความปลอดภัยของประชาชนและสังคม แต่จากการประชุมครั้งที่ผ่านมากลไกดังกล่าวไม่สามารถทำให้เกิดการตัดสินใจในเชิงนโยบายที่ดีได้”
การประกาศลาออกของ รศ.ภญ.จิราพร คือการตอกย้ำถึงเจตนารมณ์ของคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดที่ผ่านมา และยืนยันว่าสารเคมีทั้งสามมีความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
…
รศ.ภญ.จิราพร มีประสบการณ์ทำงานด้านเภสัชศาสตร์เพื่อสังคมมายาวนาน นับตั้งแต่เข้าทำงานที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2517 มีผลงานวิชาการที่สำคัญทั้งระดับนานาชาติและระดับประเทศ
หลังเกษียณปี 2551 รศ.ภญ.จิราพร ยังทำงานเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ได้ช่วยผลักดันการประกาศบังคับใช้สิทธิเพื่อผลิตหรือนำเข้ายา 6 รายการ อาทิ ยาต้านไวรัสเอชไอวี ยาสลายลิ่มเลือด ยารักษาโรคมะเร็ง ทำหน้าที่ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จนได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานสมาพันธ์องค์กรผู้บริโภคอาเซียน และได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสภาเภสัชกรรม
ขณะเดียวกัน รศ.ภญ.จิราพร ยังทำงานวิจัยระบบยาและระบบทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ โดยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการเข้าถึงยา และการเฝ้าระวังผลกระทบจากการเจรจาการค้าระหว่างประเทศต่อระบบสาธารณสุข ช่วยภาคประชาสังคมตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรกัญชาของบริษัทข้ามชาติ ซึ่งเป็นการขอสิทธิบัตรพันธุ์พืชที่ตามกฎหมายไม่ให้ แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญายังรับคำขอดังกล่าวไว้ในกระบวนการพิจารณา
นอกจากนี้ รศ.ภญ.จิราพร ยังรับหน้าที่สืบสานงานจาก ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ในการพัฒนาการแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน และพืชสมุนไพร อาทิ กระท่อม กัญชา และสมุนไพรอื่นๆ ให้สามารถนำกลับมาเป็นแนวทางในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และดูแลสุขภาพประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพได้ อย่างปลอดภัยและมีหลักฐานเชิงประจักษ์
สนับสนุนโดย