น้ำท่วมเมื่อปลายเดือนสิงหาคมยังไม่ทันแห้ง พอย่างเข้าต้นเดือนกันยายน หลายจังหวัดทางภาคเหนือก็ถูกน้ำท่วมซ้ำอีก สาเหตุเพราะการมาเยือนของ ‘ไต้ฝุ่นยางิ’ บริเวณประเทศเวียดนาม ที่แผ่อิทธิพลมาไกลถึงประเทศไทย โดยเฉพาะอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ที่ต้องเผชิญกับน้ำป่าไหลหลาก แม่น้ำเอ่อหนุน และดินถล่ม เหลือทิ้งไว้เพียงความสูญเสีย ซากปรักหักพัง และกองโคลนเกรอะกรัง ก่อนที่มวลน้ำส่วนหนึ่งจะเลาะเลียบแม่น้ำโขงมุ่งสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
บทความนี้ ผมอยากชวนผู้อ่านมาร่วมกันหาคำตอบว่าน้ำท่วมที่จังหวัดเชียงรายและบริเวณข้างเคียง มีสาเหตุมาจากอะไร และเราควรเตรียมรับมือน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในภายภาคหน้าอย่างไร
ภูมิศาสตร์ของจังหวัดเชียงราย
จังหวัดเชียงรายมีสมญานามว่า ‘เหนือสุดแดนสยาม’ โดยมีทิศเหนือติดกับประเทศเมียนมาและลาว ทิศตะวันออกติดกับประเทศลาว ทิศตะวันตกติดกับจังหวัดเชียงใหม่และประเทศเมียนมา ส่วนทิศใต้ติดกับจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และพะเยา
ภูมิอากาศของจังหวัดเชียงรายเป็นแบบร้อนชื้น แต่บนดอยสูงจะมีอากาศเย็นและมีหมอกปกคลุมในฤดูหนาว ส่วนภูมิประเทศประกอบด้วยที่ราบสูงและที่ราบลุ่มขนาดเล็กที่ถูกรายล้อมด้วยเทือกเขา ผืนป่า และแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำกก แม่น้ำอิง แม่น้ำรวก แม่น้ำลาว แม่น้ำสาย แม่น้ำจัน แม่น้ำคำ
ลักษณะทางภูมิศาสตร์ดังกล่าวทำให้จังหวัดเชียงรายมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมและดินถล่มในหลายพื้นที่ แม้ตลอดเวลาที่ผ่านมาจะเกิดไม่บ่อย แต่หลังจากนี้เป็นต้นไป ภาวะโลกร้อน (global warming) จะทำให้ภัยพิบัติต่างๆ มีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น ทุกภาคส่วนจึงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและห้ามชะล่าใจเป็นอันขาด
ทางผ่านของพายุหมุนเขตร้อนแห่งทะเลจีนใต้
ไต้ฝุ่นยางิ (Typhoon Yagi) เป็นพายุหมุนเขตร้อน (tropical cyclone) ที่มีกำลังแรงระดับ 5 ตามมาตราแซฟไฟร์-ซิมป์สัน (Saffir-Simpson scale) พายุหมุนเขตร้อนลูกนี้ก่อตัวขึ้นเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2567 บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก จากนั้นจึงเดินทางผ่านทะเลจีนใต้และส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง มาเก๊า จีน เวียดนาม ลาว เมียนมา และไทย
หากพิจารณาเส้นทางพายุ (storm track) พายุหมุนเขตร้อนส่วนใหญ่จะเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเนื่องจากแรงคอริออลิส (coriolis force) ที่เกิดจากการหมุนรอบตัวเองของโลก หมายความว่าเมื่อพายุหมุนเขตร้อนขึ้นฝั่ง (landfall) ที่ประเทศเวียดนาม จังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากพายุหมุนเขตร้อนก่อนจังหวัดในภาคอื่นๆ
แต่ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีอยู่บ้าง เนื่องจากทิศตะวันออกของประเทศไทยถูกโอบล้อมด้วยเทือกเขาอันนัม (Annamite range) ซึ่งทอดตัวพาดผ่านประเทศลาว เวียดนาม และกัมพูชา เป็นระยะทางประมาณ 1,100 กิโลเมตร หมายความว่าเมื่อพายุหมุนเขตร้อนจากทะเลจีนใต้มุ่งหน้าเข้าหาประเทศไทย เช่น ไต้ฝุ่นยางิในปีนี้ และไต้ฝุ่นโนรู (Typhoon Noru) เมื่อปี 2565 ความเร็วลมของพายุหมุนเขตร้อนจะน้อยลงเพราะถูกขัดขวางด้วยแรงเสียดทานของเทือกเขา ส่วนทิศตะวันตกของประเทศไทยจะถูกขนาบด้วยทิวเขาถนนธงชัยกับเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งช่วยผ่อนแรงของพายุหมุนเขตร้อนที่มาจากอ่าวเบงกอล ทะเลพม่า และทะเลอันดามัน ได้เช่นกัน
ใช่ครับ เทือกเขาคือ ‘ปราการธรรมชาติ’ ที่ช่วยปกป้องพื้นที่ภายในแผ่นดินให้รอดพ้นจากพายุหมุนเขตร้อนที่รุนแรง!!
แต่ประเด็นนี้เราต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า ‘เทือกเขา’ ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้พายุหมุนเขตร้อนสิ้นฤทธิ์ เพราะแรงเสียดทานจากเทือกเขาเป็นแค่ปัจจัยส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ปัจจัยสำคัญคือบนแผ่นดินมี ‘ความชื้น’ และ ‘ความร้อน’ น้อยกว่ามหาสมุทร เมื่อพายุหมุนเขตร้อนไม่มีความชื้นและความร้อนให้กิน พวกมันจึงอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วและตายไป เรื่องน่ารู้คือ ถ้าบนแผ่นดินมีสิ่งกีดขวางน้อย มีความชื้นมาก และมีความร้อนสะสมอยู่เพียงพอ พายุหมุนเขตร้อนอาจรักษาพลังงานไว้ได้นานกว่าปกติหรืออาจทวีกำลังแรงขึ้นชั่วขณะ เรียกว่า ‘ปรากฏการณ์มหาสมุทรสีน้ำตาล’ (brown ocean effect)
น้ำท่วมเพราะธรรมชาติหรือความประมาทของมนุษย์
คำถามสำคัญที่หลายคนอยากรู้คำตอบ คือ มหาอุทกภัยที่จังหวัดเชียงรายและบริเวณใกล้เคียงในครั้งนี้เกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติหรือความประมาทของมนุษย์กันแน่?
หากไล่เลียงสาเหตุทีละประเด็นอย่างถี่ถ้วน เราจะพบว่า ‘ไต้ฝุ่นยางิ’ คือปัจจัยหลักที่ทำให้มีฝนตกในพื้นที่มากกว่าปกติ แต่ความรุนแรงมาจากปัจจัยรองที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ได้แก่ การขยายตัวของชุมชนเข้าประชิดตีนเขา การตั้งถิ่นฐานริมลำน้ำ การรุกล้ำธารน้ำ การสร้างพนังกั้นน้ำเพื่อบีบแม่น้ำให้แคบลง และการสร้างสิ่งกีดขวางการไหลของกระแสน้ำ
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพป่าบนภูเขาให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้ไม่มีพืชพรรณคลุมดินคอยชะลอการไหลของน้ำ การจุดไฟเผาป่าบนภูเขา ทำให้พื้นดินเปลี่ยนสภาพจนซึมซับน้ำได้น้อยลง ไปจนถึงการผันผวนของระดับน้ำโขงเนื่องจากการทำงานของเขื่อนในต่างแดน
สิ่งที่ควรทราบคือ จังหวัดเชียงรายมีสถานีตรวจวัดปริมาณฝนและสถานีตรวจวัดระดับน้ำน้อยเกินไป เนื่องจากปัญหาระหว่างเขตแดน อีกทั้งยังไม่มีระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า (early warning system) ที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัญหาทางระเบียบราชการ เมื่อมาตรการรับมือภัยพิบัติที่ล้มเหลวภายในประเทศ ผนวกกับภัยพิบัติข้ามพรมแดน ผลลัพธ์ที่ตามมาจึงกลายเป็นหายนะครั้งใหญ่!!
ความจริงแล้ว การขาดแคลนสถานีตรวจวัดปริมาณฝนและสถานีตรวจวัดระดับน้ำ ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เราไม่ทราบว่าไต้ฝุ่นยางิกำลังจะมาหรอกครับ เพราะประเทศไทยมีทั้งสถานีตรวจวัดลมฟ้าอากาศ เรดาร์กลุ่มฝน ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา และแบบจำลองเส้นทางพายุ ที่ทำให้เรา ‘มองเห็น’ พายุหมุนเขตร้อนล่วงหน้า และสามารถ ‘ทำนาย’ การเกิดน้ำท่วมได้
ดังนั้นการที่ภาครัฐไม่เตรียมพร้อมรับมือกับปัญหา เอาแต่โทษฟ้าโทษฝน แล้วปล่อยให้ประชาชนช่วยเหลือกันเองตามอัตภาพ จึงสะท้อนความล้มเหลวของภาครัฐได้อย่างชัดเจน
ใช่หรือไม่ว่า แท้จริงแล้วภัยพิบัติไม่ได้มาเร็ว แต่ภาครัฐต่างหากที่เชื่องช้า และพวกเขาควรตระหนักว่าการทำงานโดยไม่ให้ความสำคัญกับประชาชน แต่ใส่ใจกับพิธีรีตองเพื่อสร้างภาพลักษณ์อันเปลือยเปล่า ไม่เคยช่วยเหลือใครได้เลยในยามวิกฤต
การรับมือภัยพิบัติด้วยวิศวกรรมพายุหมุนเขตร้อน
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) ในปัจจุบันทำให้พายุหมุนเขตร้อนทวีความรุนแรงขึ้น ผลกระทบที่ตามมา ได้แก่ ลมกระโชก ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำท่วมขัง ดินถล่ม การกระจายตัวของฝุ่นละออง และเชื้อโรคที่ฟุ้งปลิวไปทั่วท้องฟ้า ซึ่งจะทำให้ผู้คนจำนวนมากไร้ที่อยู่อาศัย ไม่มีอาหาร เจ็บป่วย สัญญาณโทรศัพท์/อินเทอร์เน็ตถูกตัดขาด ไฟฟ้าดับ น้ำไม่ไหล และเส้นทางคมนาคมถูกทำลาย การช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ทั้งคนและสัตว์) จึงทำได้ยากและอันตรายเป็นอย่างยิ่ง
อนาคตอันใกล้ พวกเราอาจต้องเผชิญกับปรากฏการณ์หายาก ไม่ว่าจะเป็น ‘ระเบิดฝน’ (rain bomb) หรือฝนตกห่าใหญ่ลงมาจากเมฆคิวมูโลนิมบัส (cumulonimbus) สีดำทะมึนภายในระยะเวลาอันสั้น สายฝนโปรยปรายจาก ‘แม่น้ำในบรรยากาศ’ (atmospheric river) ซึ่งเกิดจากสายธารของไอน้ำขนาดยักษ์ที่ล่องลอยอยู่บนท้องฟ้า และอีกหลายร้อยปีข้างหน้า มนุษยชาติอาจต้องต่อกรกับอภิมหาพายุหมุนเขตร้อนที่เรียกว่า ‘ไฮเปอร์เคน’ (hypercane) อีกด้วย!!
ท่ามกลางภัยพิบัติที่รอกระหน่ำซ้ำเติม หากภาครัฐยังใส่เกียร์ว่าง ไม่มีการทำงานเชิงรุกและการวางแผนรับมือตั้งแต่เนิ่นๆ ประชาชนที่ประสบภัยพิบัติซ้ำๆ จะยิ่งยากจนลงเรื่อยๆ ปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงรุนแรงขึ้น
อุปสรรคสำคัญคือการทำงานของ ‘ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ’ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สังกัดกระทรวงมหาดไทย ยังห่างไกลจากคำว่า ‘คุณภาพ’ อยู่มาก เนื่องจากถูกครอบงำด้วยอำนาจทางการเมืองแบบรวมศูนย์ ผู้มีอำนาจไม่เคยเข้าใจว่าแต่ละพื้นที่มีบริบทของภัยพิบัติแตกต่างกัน การกระจายอำนาจและงบประมาณลงสู่ท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่เมื่อหัวไม่ส่าย หางก็ไม่กระดิก ประชาชนจึงถูกบังคับให้ตกอยู่ท่ามกลางวังวนของวงจรอุบาทว์ประเภท ‘ตกใจเมื่อภัยมา ภัยลาเดี๋ยวก็ลืม’ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกปีโดยไร้หนทางหนี
ตามความเห็นของผม การรับมือกับพายุหมุนเขตร้อนที่ทำให้เกิดลมกระโชก น้ำท่วม และดินถล่ม ควรดำเนินการตามหลักการวิศวกรรมพายุหมุนเขตร้อน (tropical cyclone engineering) และภูมิสถาปัตยกรรม (landscape architecture) โดยการออกแบบที่อยู่อาศัยให้แข็งแรงและเหมาะสมกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นบ้านใต้ถุนสูง อาคารสองชั้นที่ด้านล่างเปิดโล่ง ตึกที่มีทางเชื่อมลอยฟ้าระหว่างกัน โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่กีดขวางทางไหลของน้ำ และการปรับเปลี่ยนเมืองทึบตันให้กลายเป็นเมืองฟองน้ำ (sponge city) ที่สามารถรองรับน้ำฝน น้ำหลาก และน้ำเอ่อท่วมได้ดี รวมถึงต้องปฏิรูปการคมนาคมและการขนส่ง เพราะอาจมีบางช่วงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนจากการเดินทางด้วยรถมาสัญจรทางเรือแทน
เหนือสิ่งอื่นใด ภาครัฐต้องเร่งจัดทำแผนที่เสี่ยงภัย (hazard map) และระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า ที่ถูกต้อง ครบถ้วน รวดเร็ว เข้าใจง่าย และเข้าถึงประชาชนทุกระดับ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถวางแผนรับมือหรืออพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยได้ทันการณ์ เพราะการวางแผนรับมือภัยพิบัติล่วงหน้าจะใช้งบประมาณน้อยกว่าการฟื้นฟูเยียวยาเสมอ แต่น่าเสียดายที่เราไม่มีทางรู้เลยว่าประชาชนต้องรออีกนานเท่าไร กว่าภาครัฐจะคลานไปถึงเป้าหมายที่ควรจะเป็น
ในฐานะคนที่เติบโตมากับแม่น้ำ และเคยประสบอุทกภัยเนื่องจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของภาครัฐมามากกว่า 10 ครั้ง ผมยังคงมีคำถามอยู่เสมอว่า หากประชาชนต้องยื่นมือเข้ามาประคับประคองกันและกันทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติ โดยภาครัฐแทบไม่มีบทบาทสำคัญใดๆ เราจะมีรัฐบาลและหน่วยงานราชการไปเพื่ออะไร
อ้างอิง
- สมาธิ ธรรมศร. (2558). รู้วิทย์ พิชิตภัยพิบัติ.
- บัญชา ธนบุญสมบัติ. (2553). รู้ทัน ฝนฟ้า อากาศ.
- ปกรณ์ สุวานิช. (2552). ธรณีพิบัติภัย: การเรียนรู้และจัดการ.
- คณาจารย์ภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. (2543). ภูมิศาสตร์ประเทศไทย.
- พายุวิทยาและปรากฏการณ์มหาสมุทรสีน้ำตาล