วันเด็กแห่งชาติคือหนึ่งในนโยบายที่รัฐไทยจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความสำคัญของเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี โดยมีกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการรับหน้าที่ดำเนินการ ตั้งแต่ พ.ศ. 2498
บรรยากาศทางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งอบอวลด้วยกลิ่นของสิทธิและเสรีภาพ ช่วยขยายสิทธิให้โอบรับกลุ่มเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะเด็ก จนกระทั่งก่อให้เกิดวันเด็กสากล (World Children’s Day) และปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของเด็ก ค.ศ. 1959
ในทุกปีเราจะเห็นการจัดกิจกรรมวันเด็กในสถานที่ราชการต่างๆ โดยเฉพาะรัฐสภาและทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเปิดรับเยาวชนเพื่อจุดประกายความฝันของเหล่าอนาคตของชาติ
วันเด็กแห่งชาติ ปี 2566 นอกจากรัฐสภาจะเปิดให้เด็กๆ เข้าไปลองนั่งเก้าอี้นายกฯ อย่างที่เคยทำ กรมราชทัณฑ์ยังเปิดเรือนจำให้เยาวชนเข้าไปทำกิจกรรมเรียนรู้ ทั้งยังต้องการผลักดันให้เรือนจำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในอนาคต
มองอย่างผิวเผิน กิจกรรมเยี่ยมชมเรือนจำอาจเป็นกุศโลบายปลูกฝังให้เด็กเข้าใจกฎหมายและข้อตกลงทางสังคมอย่างอ้อมๆ แต่เมื่อพิจารณาว่า ทุกวันนี้ เด็กและเยาวชนไทยอีกส่วนหนึ่ง ต้องเดินเข้าเรือนจำเป็นว่าเล่นด้วยคดีทางการเมืองที่สืบเนื่องจากการประท้วง ปี 2563-2564 กิจกรรมดังกล่าวกลายเป็นภาพอันน่ากระอักกระอ่วนใจขึ้นมาทันที
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ถึง 15 กันยายน 2565 มีเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองสะสมอย่างน้อย 283 คน จาก 211 คดี นับเป็นร้อยละ 19 หรือประมาณ 1 ใน 5 ของจำนวนคดีทางการเมืองทั้งหมดในไทย (ตัวเลขเหล่านี้รวมถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีมากกว่า 1 คดี)
เมื่อเทียบสติถิของจำนวนเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีสะสมในแต่ละปี ตั้งแต่ม็อบ #เยาวชนปลดแอก (18 กรกฎาคม 2563) จะพบว่า ในปี 2563 มีเยาวชนถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 8 คน จาก 13 คดี ในปี 2564 มีเยาวชนถูกดำเนินคดีสะสมอย่างน้อย 272 คน จาก 189 คดี และในปี 2565 มีเยาวชนถูกดำเนินคดีสะสมอย่างน้อย 283 คน จาก 211 คดี
สถิติชี้ชัดว่า จำนวนเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองเพิ่มขึ้นทุกปี และมีเพียง 39 คดีเท่านั้น ที่สิ้นสุดลงแล้ว ทั้งนี้ เด็กอายุต่ำที่สุดที่ถูกดำเนินคดีมีอายุเพียง 12 ปี
เมื่อจำแนกตามข้อหาจะพบว่า คดีที่เด็กและเยาวชนถูกฟ้องมากที่สุดคือ การฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นับเป็นจำนวน 241 คน จาก 157 คดี รองลงมาคือความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย (มาตรา 215) จำนวน 136 คน จาก 77 คดี ไม่เลิกชุมนุมตามคำสั่งเจ้าพนักงาน (มาตรา 216) จำนวน 87 คน จาก 39 คดี และข้อกล่าวหาอื่นๆ อย่างยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116) ทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358) วางเพลิง เผาทรัพย์ (มาตรา 217) ฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ยิ่งกว่านั้น ปีที่ผ่านมา มีเยาวชนถูกดำเนินคดีในความผิดร้ายแรงอย่างมาตรา 112 ทั้งสิ้น 17 ราย จำแนกเป็นคดีที่อัยการสั่งฟ้องคดีต่อศาลแล้ว 10 คดี คดีที่อยู่ในศาลชั้นต้น 8 คดี และคดีที่สิ้นสุดแล้ว 3 คดี เนื่องจากเยาวชนที่ถูกกล่าวหา ยอมเข้ากระบวนการพิเศษตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว แทนการถูกดำเนินคดีอาญา
ความผิดมาตรา 112 กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ไม่มีโทษปรับหรือโทษอื่นๆ ศาลมีอำนาจเต็มในการใช้ดุลยพินิจกำหนดระยะเวลาต้องโทษ หากวินิจฉัยแล้วว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดจริง
ตัวอย่างเช่นสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ‘เพชร ธนกร’ เยาวชนนักกิจกรรมผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ซึ่งถูกฟ้องในข้อกล่าวหานี้ จากการปราศรัยเรื่องบทบาทของสถาบันกษัตริย์กับการรัฐประหาร ในการชุมนุม #ม็อบ6ธันวา ปี 2563 ซึ่งขณะนั้นธนกรมีอายุเพียง 17 ปี ในที่สุด ศาลตัดสินว่าธนกรมีความผิดจริง และลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565
อย่างไรก็ดี ศาลอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 142 (1) เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นการคุมประพฤติ ให้นำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน อย่างต่ำ 1 ปี 6 เดือน แต่ไม่เกิน 3 ปี หรือไม่เกินกว่าวันที่จำเลยมีอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์ คดีของเพชร ธนกร นับเป็นคดีแรกที่เยาวชนถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 และต่อสู้คดี จนมีคำพิพากษาของศาลออกมา
นอกจากนี้ ตลอดปี 2565 ยังมีเยาวชนถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามจำนวน 24 ราย ในจำนวนนี้มีเด็ก 2 คนที่อายุเพียง 13 ปี (ข้อมูลวันที่ 29 ธันวาคม 2565) ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า เยาวชนที่ตกเป็นเป้าหมายของเจ้าหน้าที่รัฐจะถูกคุกคามซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง และต้องเผชิญการคุกคามหลายรูปแบบ เช่น เข้าควบคุมตัวขณะกำลังทำกิจกรรมทางการเมืองและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ติดตามไปยังที่พักอาศัย ตลอดจนสอดส่องและควบคุมการใช้งานโซเชียลมีเดีย
ความรุนแรงและการคุกคามที่รัฐกระทำต่อเยาวชน เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเด็กอย่างอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ซึ่งระบุว่า รัฐจะมีอำนาจจำกัดสิทธิในการชุมนุมของเยาวชน ก็ต่อเมื่อเห็นว่า การเข้าร่วมการชุมนุมนั้นจะส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของเด็ก และรัฐยังต้องคำนึงถึงหลักกฎหมาย (legality) หลักความจำเป็น (necessity) และหลักความได้สัดส่วน (proportionality) นั่นหมายความว่า รัฐใช้อำนาจได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
แต่จำนวนคดีทางการเมืองของเยาวชนที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า รัฐไทยไม่ได้คำนึงถึงสิทธิเด็กและเยาวชนมากเท่ากับความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ โดยเฉพาะการแจ้งความผิดในคดีที่มีโทษร้ายแรงอย่าง ม.112
ท่ามกลางกระแสวันเด็กแห่งชาติที่วนกลับมาในเดือนมกราคมของทุกปี เด็กและเยาวชนจำนวนมากกลับทำได้เพียงนอนรอคอยความหวังและวาดฝันอนาคตของตนในห้องขัง
อ้างอิง
- วันเยาวชนแห่งชาติ ท่ามกลางเด็ก-เยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองไม่น้อยกว่า 283 คน
- สถิติเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุม ปี 2563-65
- ศาลเยาวชนฯ พิพากษาจำคุก 2 ปี “เพชร” อ้าง ม.112 คุ้มครองทั้งสถาบันกษัตริย์ แต่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งเข้าศูนย์ฝึกอบรมฯ
- รอบปี 2565 ประชาชน-นักกิจกรรม-เยาวชน ถูกจนท.รัฐติดตามคุกคาม-ละเมิดสิทธิอย่างน้อย 349 ราย
- ครึ่งปี 65 ยอดรวมประชาชนและนักกิจกรรมถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามอย่างน้อย 191 ราย เป็นเยาวชนไม่ต่ำกว่า 19 คน อายุต่ำสุดคือ 13 ปี
- ช่วง ก.ย. – ต.ค. 65 ยอดผู้ถูกคุกคามทะยานสูงถึง 56 ราย รวมเยาวชน เหตุบุคคลสำคัญลงพื้นที่ยังเป็นปัจจัยหลัก