Dry Fasting อาวุธสันติของผู้อดอาหารประท้วง แลกความยุติธรรมกับความตาย

การอดอาหารประท้วง (hunger strike) เป็นการกระทำทางการเมืองอย่างสงบรูปแบบหนึ่ง เพื่อต่อต้านอำนาจ แสดงจุดยืน กดดันหรือเรียกร้องให้เกิดผลลัพธ์บางประการ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ไม่เหลือหนทางอื่นใดในการผลักดันข้อเรียกร้องของตน เช่น ผู้ถูกจับกุมคุมขัง

โดยทั่วไป ผู้ประท้วงจะอดอาหารเป็นระยะเวลานานมากพอที่จะสร้างแรงกดดันแก่ผู้ถูกประท้วงหรือผู้มีอำนาจ เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ต่างจากการอดอาหารช่วงสั้นๆ ที่มักไม่สร้างความกระอักกระอ่วนทางศีลธรรม หรือสร้างแรงกดดันให้เกิดทางแพร่งในการตัดสินใจแต่อย่างใด

แม้ผู้อดอาหารประท้วงส่วนใหญ่ไม่ประสงค์ความตาย แต่บางครั้งบางคนก็อาจเตรียมพร้อมที่จะตายเพื่อให้วัตถุประสงค์ของตนบรรลุผล 

มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) เห็นว่า การอดอาหารประท้วงจนตัวตายเป็นอาวุธทางสันติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและทรงประสิทธิภาพที่สุด เพราะผู้ปฏิบัติยอมทนทุกข์ทรมาน โดยไม่ก่อให้เกิดเภทภัยทางวัตถุและทางกายต่อผู้กระทำผิด (ที่เขากำลังต่อสู้ด้วย) เป้าหมายคือการมุ่งนำเอาส่วนดีของผู้กระทำผิดออกมา (มโนสำนึก ความเห็นอกเห็นใจ หรือความเมตตา) 

แต่ก็ด้วยเหตุนี้ การอดอาหารประท้วงจึงอาจไม่ได้ผลเสมอไป โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ถูกประท้วงไม่ได้มีความรัก ความหวังดี หรือกระทั่งไม่แยแสต่อความเป็นมนุษย์ของผู้อดอาหารประท้วง มิหนำซ้ำ คานธีมิใช่ผู้เดียวที่อาศัยการอดอาหารเป็นวิธีแก้ไขปัญหาส่วนรวม เพียงแต่เขาคือตัวอย่างของผู้ที่ใช้วิธีอารยขัดขืน (civil disobedience) เช่นนี้จนบรรลุวัตถุประสงค์ ทว่าเหยื่อของความอยุติธรรมอีกมากกลับไม่โชคดีเช่นนั้น แม้จะอดอาหารประท้วงจนตัวตาย

เพื่อให้การช่วยเหลือผู้อดอาหารประท้วงเป็นไปอย่างทันท่วงที เคารพสิทธิของผู้ประท้วง และไม่ผิดจรรยาบรรณของแพทย์ โดยเฉพาะสำหรับผู้อดอาหารที่ถูกจับกุมคุมขังอยู่ แพทยสมาคมโลก (World Medical Association: WMA) จึงร่วมกันร่างปฏิญญามอลตาว่าด้วยผู้อดอาหารประท้วง (Declaration of Malta on Hunger Strikers) ในปี 1991

หลักปฏิบัติสำคัญคือ แพทย์ควรตระหนักถึงอาการที่เกิดขึ้นจากการอดอาหารในระยะต่างๆ และในทุกรูปแบบ เพื่อให้คำปรึกษาที่สอดคล้องแก่ความต้องการและสิทธิของผู้ประท้วง

ปฏิญญาดังกล่าวนิยามว่า การอดอาหารประท้วง หมายถึง การปฏิเสธที่จะรับอาหารและสารอาหารเข้าสู่ร่างกายเป็นระยะเวลานานกว่า 48-72 ชั่วโมง หลังจากนั้นหากยังอดอาหารต่อ จะส่งผลเสียต่อร่างกายและสุขภาพของผู้ประท้วง ซึ่งแพทย์ควรดูแลอย่างใกล้ชิด (แต่ห้ามบังคับให้กินอาหาร เพราะเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมและลดทอนศักดิ์ศรี)

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ในวันแรกๆ ของการอดอาหาร ร่างกายของผู้ประท้วงจะทดแทนสารอาหารจากภายนอกด้วยการใช้ไกลโคเจน (glycogen) ที่สะสมในตับและกล้ามเนื้อ มาผลิตสร้างเป็นกลูโคส (gluconeogenesis) ซึ่งเป็นสารให้พลังงานหลักแก่ร่างกายมนุษย์ และกระบวนการนี้จะก่อให้เกิดการสร้างคีโตน (ketone) ขึ้น ซึ่งจะส่งผลข้างเคียงช่วยลดความหิวกระหายของร่างกายลง 

ไกลโคเจนสะสมของร่างกายมนุษย์จะหมดไปหลังอดอาหารได้ 10-14 วัน ร่างกายจะใช้กรดอะมิโนชนิดอื่นในการสังเคราะห์กลูโคส นั่นหมายความว่า กล้ามเนื้อของอวัยวะต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยโปรตีน จะถูกย่อยสลายเพื่อสร้างพลังงาน อาทิ กระดูก ไขสันหลัง เส้นผม ผิวหนัง 

หากน้ำหนักตัวลดลง 18 เปอร์เซ็นต์ หรือกล้ามเนื้อของสมองและหัวใจถูกย่อยสลายเมื่อไหร่ ร่างกายของผู้อดอาหารก็จะเข้าขั้นวิกฤต และต้องเฝ้าระวังทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด

ตัวอย่างเช่นกรณี ใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ และ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม ที่อดอาหารประท้วงช่วงกลางปี 2565 เป็นระยะเวลาร่วม 2 เดือน จนกระทั่งร่างกายของทั้งคู่เผชิญอาการวิกฤต บุ้งมีภาวะโพแทสเซียมต่ำจนอาจเป็นผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและหัวใจวายได้ บุ้งถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลราชทัณฑ์กลางดึกถึง 2 ครั้ง ด้วยอาการหมดสติ หายใจไม่สะดวก ต้องอาศัยการหายใจทางปากร่วมด้วย ส่วนใบปอไม่สามารถประคองตัวเองเพื่อเคลื่อนไหวร่างกายได้ ต้องมีผู้ช่วยพยุง ปวดแสบท้องและอาเจียนอยู่บ่อยครั้ง

ทว่าอาการทั้งหมดที่กล่าวมาคือการอดเฉพาะอาหาร แต่ยังกินน้ำ แต่ในกรณี ‘dry fasting’ หรือการอดทั้งข้าว อดทั้งน้ำ ร่างกายของผู้ประท้วงจะทรุดหนักและเร็วกว่านั้นมาก เนื่องจากร่างกายของมนุษย์โดยทั่วไปจะไม่สามารถอยู่รอดได้ หากปราศจากการดื่มน้ำ 3-4  วัน และความตายจะมาเยือนภายในสัปดาห์แรกของการอดน้ำ

ปฏิญญามอลตาระบุว่า dry fasting เป็นกรณีที่พบได้ยาก เพราะด้วยระยะเวลาที่ร่างกายทนรับไหวนั้นแสนสั้นเกินกว่าที่ข้อเรียกร้องและกดดันของผู้ประท้วงจะบรรลุผลได้จริง จึงไม่มีใครประท้วงด้วยวิธีการอดอาหารเช่นนี้นัก

แต่ข้อยกเว้นกำลังเกิดขึ้น ณ เวลานี้ ในประเทศไทย เมื่อ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ สองนักกิจกรรม ใช้วิธีการ dry fasting อดทั้งข้าวและน้ำ จนล่วงเข้าสู่วันที่ 3 หรือตั้งแต่เย็นวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา หลังยื่นขอถอนประกันตัวเองในคดี ม.112 เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ยุติการดำเนินคดีทางการเมือง และพรรคการเมืองต้องเสนอนโยบายยกเลิก ม.112 และ ม.116

ที่มา

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า