การอดอาหารและสันติวิธียังใช้ได้ผลหรือไม่กับรัฐที่ไร้หัวใจ

การอดอาหารประท้วงมีความเป็นไปได้แค่ 4 ทาง คือ 1) รัฐยอมทำตามข้อเรียกร้อง 2) ผู้ประท้วงถึงแก่ความตาย 3) ผู้ประท้วงถูกบังคับให้อาหาร และ 4) ผู้ประท้วงล้มเลิกไปเอง ซึ่งตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา พบว่าความสำเร็จของผู้ประท้วงทั่วโลกด้วยแนวทางนี้มีจำนวนลดลง ขณะที่อัตราการยอมแพ้ของผู้ประท้วงกลับเพิ่มขึ้น นำมาสู่คำถามว่า รัฐใช้วิธีโต้ตอบอย่างไรกับผู้ที่ประท้วงด้วยการอดอาหาร

คำถามสำคัญนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันในรายการ ‘Friends Talk’ โดยมีผู้เข้าร่วมรายการทั้งสิ้น 3 คน ได้แก่ ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โจเซฟ (นามสมมุติ) นักเคลื่อนไหวอิสระ และ เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์ นักวิชาการอิสระ ดำเนินรายการโดย มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ในหัวข้อ ‘ทำไม? ถึงอดอาหารประท้วง’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566

มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล

การเสวนานี้ไม่ได้พูดถึงเพียงแค่ทำไมผู้ประท้วงถึงเลือกวิธีต่อสู้ด้วยการอดอาหาร ทำไมการอดอาหารเพื่อต่อสู้กับอำนาจรัฐถึงเริ่มไม่เป็นผล แต่ยังร่วมหารือถึงวิธีการทำให้ข้อเรียกร้องด้วยแนวทางสันติวิธีบรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะในช่วงเวลาใกล้ฤดูกาลเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

กรณีการประท้วงของ #ตะวันแบม และผู้ต้องขังคนอื่นๆ ที่ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว อาจจะทำให้สังคมประชาธิปไตยต้องหันมาทบทวนวิธีการต่อสู้กันมากขึ้น


ความนิยมและเสื่อมถอยของปฏิบัติการไร้ความรุนแรงและการอดอาหารประท้วง 

นิยามของ Non-violence หรือปฏิบัติการไร้ความรุนแรง มักถูกเรียกรวมๆ ในภาษาไทยว่า ‘สันติวิธี’ ที่อาจจะทำให้ความเข้าใจของสังคมโดยรวมสับสนได้ เรื่องนี้เสกสิทธิ์อธิบายนิยามผ่านแนวคิดของนักวิชาการด้านสันติวิธีอย่าง ยีน ชาร์ป (Gene Sharp) ว่า ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงมีความแตกต่างจากสันติวิธีเชิงศีลธรรม เพราะชาร์ปมองปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเป็นยุทธวิธีทางการเมืองประเภทหนึ่ง เป็นปฏิบัติการที่ไม่ก่อให้เกิดความบาดเจ็บทางกายภาพแก่ร่างกายฝ่ายตรงข้าม 

เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์

พูดง่ายๆ คือปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงมักแบ่งหยาบๆ 2 ฝั่ง คือ ฝั่งที่ยืนบนฐานศีลธรรมและศาสนา เช่น มหาตมะ คานธี ที่ต้องรักศัตรูจากใจ กับฝั่งยุทธวิธีที่เลือกวิธีนี้เพราะได้ผลบ่อย ชญานิษฐ์เสริมว่า จุดนี้เองที่ทำให้ประเทศไทยมีปัญหาในการนิยาม เพราะเมื่อใช้สันติวิธีในการต่อสู้ ก็มักถูกตีกรอบว่าต้องห้ามด่า ต้องนั่งสมาธิ และประเด็นอื่นๆ ที่ผูกกับศีลธรรม

ชญานิษฐ์ยกตัวอย่างงานศึกษาสันติวิธีของ มาเรีย เจ. สเตฟาน (Maria J. Stephan) และเอริกา เชอโนเว็ธ (Erica Chenoweth) ชื่อ Why Civil Resistance Works: The Strategic Logic of Nonviolent Conflict พบว่า ช่วงระยะเวลาระหว่างปี 1900-2006 มีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม 323 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงมีโอกาสสำเร็จตามข้อเรียกร้องเพียงร้อยละ 26 เท่านั้น ขณะที่กลุ่มที่ใช้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงมีโอกาสสำเร็จตามข้อเรียกร้องถึงร้อยละ 53 จากกลุ่มปฏิบัติการทั้งหมด ตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นว่าปฏิบัติการไร้ความรุนแรงมีประสิทธิภาพและความนิยมสูงมากในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

เสกสิทธิ์ยกตัวอย่างงานศึกษาของ สตีเฟน เจ. สแกนแลน (Stephen J. Scanlan) ลอรี คูเปอร์ สโตลล์ (Laurie Cooper Stoll) และ คิมเบอร์ลี ลัมม์ (Kimberly Lumm) หัวข้อ Starving for Change: The Hunger Strike and Nonviolent Action, 1906–2004 ที่คอยติดตามแนวโน้มการอดอาหารประท้วงในช่วงระยะเวลาเกือบร้อยปี พบว่า แนวโน้มการใช้วิธีนี้สูงขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา ซึ่งจำแนกผลของการอดอาหารประท้วงไว้ 4 รูปแบบ คือ 1) ผู้อดอาหารประท้วงเสียชีวิต 2) ผู้อดอาหารประท้วงถูกบังคับให้ยุติ 3) ผู้อดอาหารประท้วงได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้อง และ 4) ผู้อดอาหารประท้วงยอมแพ้ไปเอง

งานวิจัย Achieving justice by starvation: a quantitative analysis of hunger strike outcomes (2014) ของ แมกเน ฮาเกอแซเทอร์ (Magne Hagesæter)  อธิบายเพิ่มเติมว่า ช่วงปี 1900 เป็นต้นมา การที่ผู้ประท้วงเสียชีวิตหรือถูกบังคับป้อนอาหาร (force-feeding) เกิดขึ้นบ่อยที่สุด คิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ขณะที่โอกาสสำเร็จหรือยอมจำนนไปเองน้อยมาก จนกระทั่งหลังปี 1990 เป็นต้นมา ที่โอกาสในการบรรลุตามข้อเรียกร้องสูงขึ้นแทบจะร้อยละ 50 ก่อนจะค่อยๆ ถดถอยลงเมื่อเข้าใกล้ช่วงเวลาปัจจุบัน

ตีความได้ว่า ในช่วงหลังรัฐไม่ยอมให้ผู้อดอาหารประท้วงถึงแก่ความตาย ขณะเดียวกันก็สามารถหาวิธีการรับมือการอดอาหารประท้วงและลดทอนพลังของข้อเรียกร้องเหล่านี้ได้มากขึ้น 


‘Smart Repression’ อำนาจรัฐกับการลดพลังข้อเรียกร้องของประชาชน

วงเสวนาดำเนินไปถึงจุดที่อธิบายผลลัพธ์ของการอดอาหารประท้วงว่า ยิ่งผู้ประท้วงเข้าใกล้สภาวะวิกฤตมากขึ้นเท่าใด พลังของการประท้วงก็จะสูงขึ้น ดังนั้นรัฐจึงหาทางลดพลังส่วนนี้ลงเพื่อป้องกันกระแสตีกลับของสังคม

เสกสิทธิ์กล่าวว่า ตัวอย่างสำคัญในไทยคือการที่รัฐทำให้สภาวะวิกฤตหรือการเข้าใกล้ความตายของผู้ประท้วงหายไป โดยการปล่อยตัวชั่วคราว หรือการนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อเป็นการแช่แข็งอำนาจของผู้ประท้วงลงไป ซึ่งไม่ใช่วิธีการใหม่ แต่ถูกใช้เมื่อนานมาแล้วในอังกฤษภายใต้กฎหมายชื่อ ‘พระราชบัญญัติแมวและหนู ค.ศ. 1913’ (Cat and Mouse Act) ที่รัฐบาลใช้รับมือการอดอาหารประท้วงของกลุ่มเคลื่อนไหวสิทธิสตรี โดยการให้ปล่อยตัวชั่วคราวแก่ผู้ประท้วงทั้งหมดเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา แต่หากในอนาคตยังคงกระทำความผิดทางการเมืองอีก จะถูกจับกุมเข้าเรือนจำอีกครั้ง ทำอย่างนี้ซ้ำไปเรื่อยๆ

ด้วยเหตุที่การประท้วงในพื้นที่ที่รัฐรับผิดชอบ เช่น เรือนจำ คือพื้นที่ที่ผู้ประท้วงมีเครื่องมือให้เลือกน้อย จึงต้องเลือกวิธีการอดอาหารประท้วง แต่เมื่อผู้ประท้วงถูกเคลื่อนย้ายไปอยู่ในที่ที่มีทางเลือกในการประท้วงมากขึ้นและไม่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบโดยตรงจากอำนาจรัฐ ความสมเหตุสมผลในการอดอาหารประท้วงจึงถูกลดทอนอำนาจลง และรัฐก็รู้สึกว่าความรับผิดชอบของตนเองน้อยลงด้วย โดยที่ไม่ต้องใช้กำลังบังคับหรือทำตามข้อเรียกร้องมากนัก

การโต้ตอบของรัฐในลักษณะเช่นนี้ คือการไม่ใช้กำลังบังคับอย่างชัดเจน แต่เป็นการบังคับที่มองเห็นยากกว่าแบบเดิมมาก ซึ่งผู้ร่วมเสวนาทั้งสามมองว่า ภาครัฐมีการเรียนรู้แบบ learning curve หรือการไต่ระดับความรู้จากประสบการณ์มากขึ้น ชญานิษฐ์เรียกสิ่งใหม่นี้ว่า ‘smart repression’ 

ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์

อย่างไรก็ตาม ชญานิษฐ์กล่าวเสริมเพื่อให้ความเป็นธรรมต่อกรณีการปล่อยตัวชั่วคราวของทั้งตะวันและแบมว่า ผู้ยื่นเรื่องคือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งพวกเขาอาจจะไม่ได้คำนึงถึงประเด็นทางการเมืองเท่ากับจรรยาบรรณในการรักษาชีวิต จึงไม่อยากให้มองว่าทุกอย่างเป็นความร่วมมือกันระหว่างอำนาจรัฐและโรงพยาบาลไปทั้งหมด แต่เหตุการณ์นี้อาจจะบังเอิญให้ประโยชน์แก่รัฐมากกว่าผู้ประท้วงเพียงเท่านั้น


การกดดันที่มีประสิทธิภาพต้องเกิดจากพลังทั้งสังคม

โจเซฟกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนเองเคยกรีดแขนประท้วงระบบยุติธรรมขณะอยู่ในศาล แต่ที่ผ่านมานักกิจกรรมจำนวนมากมักใช้วิธีอดอาหารประท้วง เพราะทุกคนเล็งเห็นว่า ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงคือเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด หากต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในประเทศไทย และวิธีการประท้วงเช่นนี้จะสามารถปลุกพลังบางอย่างของสังคม หรืออาจดึงความสนใจแม้กระทั่งในหมู่คนที่ไม่สนใจการเมือง

โจเซฟยืนยันว่า การผลักดันข้อเรียกร้องผ่านการใช้ร่างกายตนเองเป็นเครื่องมือ นับเป็นการกระทำที่ผู้ประท้วงทุกคนคิดอย่างรอบคอบแล้ว เพื่อกระชากมโนสำนึกของสังคมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้สื่อมวลชนจับตาและผลักดันประเด็นเหล่านี้ไปยังพรรคการเมืองต่างๆ โจเซฟเห็นว่า ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเป็นหนึ่งในการต่อสู้เพียงไม่กี่วิธีที่ยังเหลืออยู่ของคนธรรมดากับความอยุติธรรมทางกฎหมาย 

โจเซฟ (นามสมมติ)

เสกสิทธิ์สรุปว่า ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงมุ่งทำงานกับความรู้สึกของคนในสังคม หากสังคมเห็นอกเห็นใจ และรู้สึกว่าการกระทำของผู้ประท้วงมีความชอบธรรม สังคมก็พร้อมที่จะสนับสนุน ด้วยเหตุนี้สังคมประชาธิปไตยต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งว่า จะเชื่อมโยงวิธีการประท้วงเหล่านี้เข้ากับเป้าหมายทางการเมืองอย่างไร เนื่องจากหลายครั้ง แม้บางวิธีการจะมีความเป็นสันติวิธีสูง แต่กลับไม่ส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายทางการเมือง ดังนั้น เราต้องให้ความสำคัญกับเป้าหมายและวิธีการเท่ากัน

โจเซฟกล่าวเสริมเรื่องวิธีการว่า นอกจากกรณีของตะวันและแบมแล้ว สังคมไทยควรสนใจผู้ประท้วงอดอาหารคนอื่นๆ เช่น สิทธิโชค เศรษฐเศวต หรือ ‘กลุ่มทะลุแก๊ซ’ คนอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว คนเหล่านี้คือกลุ่มคนที่สังคมจะต้องหันมามองและพูดถึงให้มากขึ้น 

ขณะที่ชญานิษฐ์กล่าวว่า แม้แต่ต้นแบบการประท้วงอดอาหารของคานธี ก็ไม่เคยเป็นการประท้วงต่อรัฐบาลอังกฤษโดยตรง หากแต่กระทำไปเพื่อประท้วงคนที่รักคานธี เช่นที่เกิดขึ้นเมื่อเขาอดอาหารประท้วงหลังชาวฮินดูและชาวมุสลิมในอินเดียรบกัน สุดท้ายทั้งสองฝ่ายต้องยุติการฆ่าฟัน เพราะพวกเขาต่างก็รักคานธี ทั้งนี้ ชญานิษฐ์เห็นว่า แม้การอดอาหารจะชอบธรรม แต่ข้อเรียกร้องของแบมและตะวันก็ไม่ได้เรียกร้องกับคนที่รักพวกเขา แต่ส่งตรงไปยังศาลและพรรคการเมือง เพื่อให้คืนสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องหาคดีทางการเมืองคนอื่นๆ ทั้งที่ไม่รู้ว่า ศาลและพรรคการเมืองเหล่านั้นรักตะวันและแบมมากน้อยแค่ไหน 

แน่นอนว่าการอดอาหารและอดน้ำเช่นนี้นำไปสู่การจี้จุดความเป็นมนุษย์ของทุกคน เพื่อให้ทุกคนร่วมกันกดดันศาลและพรรคการเมืองอีกทอดหนึ่ง ซึ่งก็ไม่อาจทราบได้ว่า จะเพียงพอหรือทันกับสถานการณ์หรือไม่

ประการต่อมา ชญานิษฐ์เห็นว่า การประท้วงด้วยสันติวิธีที่ได้ผลจากกรณีศึกษาทั่วโลกมักเกิดจากฝ่ายที่ 3 ในสังคมที่คอยสังเกตการณ์อยู่ด้วย เมื่อคนกลุ่มนี้เห็นว่า สิ่งที่รัฐปฏิบัติต่อผู้ประท้วงไม่มีความชอบธรรม พวกเขาจะเอาใจออกห่างจากรัฐ และเห็นใจผู้ประท้วงมากขึ้น ทว่าชญานิษฐ์เองก็ไม่แน่ใจว่า ทุกวันนี้สังคมไทยยังเหลือฝ่ายที่ 3 อยู่หรือไม่ หรือบางทีสังคมไทยอาจเดินมาถึงจุดที่แบ่งฝ่ายชัดเจนแล้ว

เมื่อเอ่ยถึงประเด็นการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย วงเสวนาก็เคลื่อนไปพูดถึงการขับเคลื่อนประเด็นข้อเรียกร้องสู่พรรคการเมือง โจเซฟเห็นว่า แรงกดดันจากสื่อมวลชน พระพยอม ผู้คนในสังคม และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ส่งผลให้ศาลอยู่เฉยไม่ได้ ต้องขยับตัวบ้าง ดังนั้นการที่คนจำนวนมากร่วมกันพูดและเรียกร้องในเรื่องเดียวกันจะทำให้ผู้มีอำนาจรู้สึกว่า ตนไม่สามารถทำตามอำเภอใจอย่างไรก็ได้ในประเทศนี้

เสกสิทธิ์กล่าวถึงกระแสสังคมว่า อัตราความสำเร็จของการอดอาหารประท้วงขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือ รัฐสภาต้องมีตัวแสดงทางการเมืองที่หลากหลาย โดยเฉพาะช่วงใกล้เลือกตั้งที่พรรคการเมืองทั้งหลายต้องคำนึงถึงบทบาทของตน หากพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคเห็นใจผู้ประท้วงก็อาจส่งผลต่อรัฐบาลทั้งหมด 

ดังนั้น หากจะผลักดันประเด็นและข้อเรียกร้องใดๆ ของผู้อดอาหารประท้วง ผู้คนทั้งสังคมจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการกดดัน และเร่งให้รัฐตัดสินใจ การใช้ยุทธวิธีนี้จะผลักดันให้คนที่อยู่ร่วมกันในสังคมทุกฝ่าย ไม่ว่าจะศาล ผู้ประท้วง หรือพรรคการเมือง เข้าสู่กระบวนการเจรจาเพื่อหาจุดตรงกลางร่วมกันได้ง่ายขึ้น


Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า