วิเคราะห์ศึก ‘ศักดิ์ vs ศรี’ ตอบโต้ความรุนแรงเชิงโครงสร้างด้วยกำปั้น ไม่อาจนำมาซึ่งคำตอบ

ยิ่งสังคมมีการแบ่งขั้วแบ่งข้างและเห็นต่างทางความคิดมากเท่าไหร่ ‘ความรุนแรง’ ก็มักกลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณามากเท่านั้น แต่ความรุนแรงก็เฉกเช่นเดียวกับคำนามธรรมอื่นๆ ที่กินความหมายกว้างขวางมาก กระทั่งเมื่อใครก็ตามพูดคำว่า รุนแรง เขาอาจจะหมายถึงคนละเรื่องกับสิ่งที่คนอื่นๆ ในสังคมเข้าใจก็ได้

เหตุการณ์ ‘ลุงศักดิ์’ ชายวัยกลางคน บุกทำร้ายร่างกาย ‘นักร้อง’ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขณะกำลังแถลงข่าวกรณีฟ้องร้อง โน้ส-อุดม แต้พานิช ได้จุดประเด็นให้สังคมไทยถกเถียงกันเรื่องความรุนแรงอีกครั้ง 

บ้างเห็นว่า การชกหน้าเป็นเพียงความรุนแรงทางกายภาพที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับความรุนแรงเชิงโครงสร้างในระบบยุติธรรม ปล่อยให้เกิด ‘นิติสงคราม’ หรือการใช้กฎหมายกลั่นแกล้งคนเห็นต่างทางการเมืองอย่างไม่เป็นธรรม ศรีสุวรรณที่เที่ยวฟ้องร้องคนอื่นไปทั่วจึง ‘สมควร’ โดนเสียบ้าง เพราะการฟ้องชาวบ้านชาวช่องไปทั่วจนสร้างความเดือดร้อน เสียเงิน เสียเวลา และเสียโอกาสในการดำเนินชีวิต แต่บ้างก็เห็นว่า ความรุนแรงเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในทุกกรณี และความรุนแรงทางกายภาพก็ไม่ช่วยให้เราสามารถแก้ไขความรุนแรงที่เกิดจากโครงสร้างได้ 

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.00-16.00 น. คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเสวนาหัวข้อ ‘ศึก ‘ศักดิ์’ vs. ‘ศรี’ ถึง ‘กรณีล็อกคอ’: ฤาความรุนแรงจะคือคำตอบสำหรับความขัดแย้งทางการเมืองไทย?’ เพื่อเปิดเวทีถกเถียงว่า เกิดอะไรขึ้นกับสังคมกันแน่ เหตุใดความรุนแรงจึงกลายเป็นคำตอบอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้สำหรับคนหลายกลุ่ม ตลอดจนเรายังมีทางเลือกอื่นนอกจากการใช้ความรุนแรงอีกไหม

‘โครงสร้างและวัฒนธรรม’ ความรุนแรงที่มองไม่เห็น แต่ก็ทำร้ายชีวิตคนได้

หากยังจำกันได้ เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ให้ความเห็นต่อกรณีการทำร้ายร่างกาย ศรีสุวรรณ จรรยา ไว้ว่า “การชกไม่ใช่ความรุนแรง เป็นการสั่งสอน แต่ถ้าใช้ความรุนแรงคือใช้มีด ใช้ไม้ ใช้ปืน” อย่างไรก็ดี ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลับเห็นว่า คำพูดดังกล่าวเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน 

ชญานิษฐ์อธิบายว่า การตัดสินว่าพฤติกรรมใดเป็นความรุนแรงหรือไม่ ไม่อาจมองเพียงแค่ว่าใช้อาวุธหรือไม่ แต่ต้องดูที่พฤติกรรม ต่อให้ใช้อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น หมัดและเท้า ก็นับเป็นความรุนแรงได้ และยังไม่ขึ้นอยู่กับเจตนาเช่นกัน คุณอาจมีเจตนาดีที่ต้องการจะสั่งสอน แต่กระนั้นมันก็เป็นความรุนแรงอยู่ดี ยิ่งไปกว่านั้น ความรุนแรงยังไม่ขึ้นอยู่กับกฎหมายอีกด้วย เช่น ความรุนแรงโดยรัฐ ก็มักไม่ผิดกฎหมาย มิหนำซ้ำ ความรุนแรงจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยล้วนเกิดขึ้นในนามของ ‘ความดี’ และความพยายามในการรักษากฎหมายด้วยซ้ำ

บ่อยครั้งที่ความรุนแรงที่เรามองเห็นไม่ชัดกลับฆ่าคนทั้งเป็นได้ ชญานิษฐ์แบ่งความรุนแรงเหล่านั้นออกเป็น 1) ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และ 2) ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม

ความรุนแรงเชิงโครงสร้างคือ ‘อะไรก็ตาม’ (ที่ไม่ใช่มนุษย์) ที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างศักยภาพของมนุษย์กับสิ่งที่มนุษย์เป็นจริงๆ แม้จะไม่ทำร้ายร่างกายใคร แต่ความรุนแรงเหล่านี้ก็จะส่งผลทางลบต่อชีวิตมนุษย์ ขัดขวางไม่ให้บรรลุถึงศักยภาพที่ควรมีได้ และเมื่อความรุนแรงนั้นไม่ได้เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ดังนั้นแม้เราจะจัดการกับตัวบุคคลให้พ้นจากสมการได้แล้ว ความรุนแรงเชิงโครงสร้างก็ไม่ได้หายไปแม้แต่น้อย

“เราคิดว่าจัดการศรีสุวรรณได้ด้วยการต่อย แต่นั่นไม่จริงหรอก วันรุ่งขึ้นสื่อวิ่งหาแกมากกว่าเดิมอีก เรียกง่ายๆ ว่า ‘ได้แสง’ เต็มที่ แล้วก็เดินหน้าฟ้องมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ต่อให้ศรีสุวรรณหยุดฟ้องจริง ความรุนแรงเชิงโครงสร้างก็ยังคงเดินหน้าต่อ และตัวแสดงอื่นๆ ก็ก้าวมาทำหน้าที่แทนได้อยู่ดี เพราะกฎหมายยังอนุญาตให้คนที่ไม่ใช่เจ้าทุกข์สามารถฟ้องร้องในคดีอาญาโทษสูงได้”

ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม คือการสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรง ทั้งในทางกายภาพและเชิงโครงสร้าง เพื่อจัดการหรือกำจัดบุคคลที่เขาเห็นว่ากำลังละเมิดคุณค่าสูงสุดของสังคมอยู่ หากไม่มีใครจัดการ ฉันก็ต้องทำ ในแง่นี้ คนที่ล็อกคอธนาธรกับคนที่ต่อยศรีสุวรรณจึงเป็นเพียงคนละด้านของเหรียญเดียวกัน เพราะต่างก็คิดว่าตนเป็น ‘ตัวแทนหมู่บ้าน’ ที่ต้องจัดการอะไรสักอย่าง

“คนหันไปใช้ความรุนแรงทางกายภาพ เพราะคิดว่าเราไม่มีทางเลือกอื่นๆ แล้ว แต่เราจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างด้วยความรุนแรงทางกายภาพได้จริงหรือ

ความรุนแรงเชิงโครงสร้างในสมรภูมิการเมืองไทย

พรรณิการ์ วานิช กล่าวว่า สังคมการเมืองไทยมีการสร้างความเกลียดชังและด้อยค่าความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่เห็นต่างทางการเมืองอย่างเป็นระบบ ทั้งการจัดตั้งกลุ่มคนมาโจมตีด้วยวาจา เช่น ตะโกนด่าทอต่อหน้าระหว่างปราศรัย ด่าทอในโลกออนไลน์หรือ ‘cyber bullying’ การใช้สื่อมวลชนของตนในการด้อยค่า สร้าง ‘เฟคนิวส์’ เพื่อป้ายสีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง เป็นต้น แรกๆ อาจดูขบขัน แต่เมื่อกระบวนการเหล่านี้ถูกใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเริ่มซึมซับอยู่ในความรู้สึกของสังคมกระทั่งกลายเป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่ถูกตั้งคำถามอย่างน่าขนลุก 

“น่าสนใจว่า การด้อยค่าความเป็นมนุษย์อย่างเป็นระบบนี้เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์การปราศรัยเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ลานพญานาค (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต) อย่างมีนัยสำคัญ เราจึงไม่ใช่แค่พวกเห็นต่างทางการเมือง แต่ยังถูกมองว่า ‘พวกมึงไม่ใช่มนุษย์’ ดังนั้น การทำอะไรที่รุนแรงกับคนเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้” พรรณิการ์กล่าว 

อย่างไรก็ดี พรรณิการ์เห็นว่า แม้กระบวนการสร้างความเกลียดชังเพื่อให้คนในสังคมใช้ความรุนแรงในการจัดการผู้เห็นต่างจะน่ากลัว แต่เราต้องไม่ยอมเล่นตามเกมและต้องไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรง พร้อมมองว่า กระบวนการเหล่านี้เป็นเพียงหนึ่งในความท้าทายที่นักเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมต้องเผชิญอยู่แล้ว

“ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะมาจากฝั่งไหน สุดท้ายแล้วล้วนขัดขวางการรณรงค์ทางการเมือง 

“ในการทำงานทางการเมือง คุณต้องการให้คนฟัง เชื่อ แล้วเปลี่ยนใจ คุณจึงจะชนะทางการเมือง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดความรุนแรง ในท่ามกลางสมรภูมิ เสียงมันอื้ออึงเกินกว่าที่เราจะเปลี่ยนใจใครได้”

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักกิจกรรม เห็นว่ารัฐไทยมีส่วนในการสร้างความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เช่น การใช้กฎหมายในการจัดการและปราบปรามบุคคลที่เห็นต่างขนานใหญ่ อย่างน้อยก็ตั้งแต่การยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เรื่อยมาจนกระทั่งการใช้ พรก.ฉุกเฉิน ในการปราบม็อบ โดยไม่เลือกสถานที่ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น การเคลื่อนไหวในรั้วมหาวิทยาลัยและโรงเรียนสามารถกระทำได้อย่างอิสระ กระทั่งความรุนแรงที่ใช้ปราบผู้เห็นต่างได้ยกระดับขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการใช้กฎหมายอาญา ‘มาตรา 112’ และ ‘มาตรา 116’

“ขณะนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีมากกว่า 1,000 คน สิ่งเหล่านี้คือความรุนแรงที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะกฎหมายมีไว้เพื่อรักษาความสงบ แต่จริงๆ แล้ว มันคือการใช้ความรุนแรงผ่านกฎหมายเพื่อจัดการผู้เห็นต่าง” นอกจากการไล่ฟ้อง ปนัสยายังกล่าวถึงความรุนแรงของระบบยุติธรรมในรูปแบบอื่นๆ อาทิ การส่งเจ้าหน้าที่ไปคุกคามถึงบ้าน การติดตามตัวตลอดเวลา การติดกำไล EM เป็นต้น

งามศุกร์ รัตนเสถียร อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นว่า กรณี ‘ลุงศักดิ์’ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า สังคมไทยมีบาดแผลจากความรุนแรงมาอย่างยาวนาน เราอาศัยอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่คนพร้อมเลือกใช้ความรุนแรงตอบโต้กันและกัน ไม่เว้นกระทั่งคนในครอบครัว 

แต่ความรุนแรงทางกายภาพก็เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ศรีสุวรรณกล่าวเองว่าเขาจะไม่ใช้ความรุนแรง (ทางกายภาพ) ตอบโต้แม้ว่าตนมีศักยภาพจะทำเช่นนั้น นี่สะท้อนว่า เขายังไม่เข้าใจว่าความรุนแรงมีหน้าตาอย่างไรได้บ้าง ศรีสุวรรณและเจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยเห็นว่า กฎหมายที่ผิดปกติและความยุติธรรมที่บิดเบี้ยวเองก็นับเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ทำร้ายชีวิตคนได้

“เราอนุญาตให้กฎหมายปิดปากคน บรรยากาศการแสดงความคิดเห็นในประเทศนี้มันต่ำมาก แต่รัฐกลับเปิดโอกาสให้คนใช้ความรุนแรงต่อกันได้”

เมื่อความรุนแรงไม่ใช่คำตอบ เราจะตอบโต้ความรุนแรงกันอย่างไร

รุ้ง-ปนัสยา เล่าว่า บ่อยครั้งที่เธอได้ยินคำถามว่า ถูกกระทำด้วยความรุนแรงมากมายขนาดนี้ ไม่คิดจะโกรธบ้างหรือ ไม่อยากตอบโต้ด้วยความรุนแรงบ้างหรือ  เธอตอบว่า โกรธและอัดอั้นใจมาก “เราโกรธสังคมที่ไม่เป็นธรรม เราโกรธผู้มีอำนาจที่ใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบ คุณได้อำนาจมาอย่างไม่ถูกต้องด้วยซ้ำ ความโกรธเกิดขึ้นในใจได้ แต่กับการต่อสู้และเคลื่อนไหวทางการเมือง เราต้องยืนยันในสันติวิธี”

“บางคนบอกว่าโลกสวยเกินไปไหม สันติวิธีแล้วจะชนะเหรอ ยังไม่เห็นทางออกเลย แต่จริงๆ มีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า การใช้สันติวิธีประสบความสำเร็จมากกว่าการใช้ความรุนแรงถึง 3 เท่า”

ปนัสยายืนยันว่า แม้การต่อสู้ด้วยสันติวิธีไม่ใช่เรื่องง่าย และยังเรียกร้องความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการอย่างมหาศาล แต่เราสามารถเปลี่ยนความโกรธเกรี้ยวมาเป็นอารมณ์ขันในการต่อสู้ได้ พร้อมยกตัวอย่างศิลปะหรือวิธีการเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ที่พยายามสื่อสารว่า ฉันกำลังต่อต้านคุณอยู่นะ แต่จะไม่ใช้ความรุนแรงเด็ดขาด เช่น  การ์ตูนล้อการเมืองผลงานของ ‘ไข่แมว’ และ ‘สะอาด’ การใช้โบว์ขาวของเด็กนักเรียน การชูป้ายผ้า หรือกระทั่งบทเพลงทางการเมืองของ ‘วงสามัญชน’

“แน่นอนว่า สันติวิธีไม่ได้การันตีว่าเราจะไม่ตกเป็นเป้าของความรุนแรงจากอีกฝ่าย แต่เราต้องอดกลั้นให้ได้ หากจะตอบโต้ก็ทำได้ตามความเหมาะสม ไม่ใช่ใช้ความรุนแรงให้เกินกว่าที่ถูกกระทำ เราโต้กลับได้ ไม่ใช่เพื่อจะทำร้ายใคร แต่เราโต้เพื่อแสดงให้เขาเห็นว่า สิ่งที่เขาทำกับเรามันรุนแรงมาก เราไม่ยอมนะ สันติวิธีไม่ใช่การนั่งเฉยๆ แล้วรอเขากระทืบ”

“เราอยากให้คนเคารพในความเป็นมนุษย์ของคนอื่นๆ ด้วย เราไม่อยากทำร้ายมนุษย์คนอื่นเพียงเพราะเราเห็นไม่ตรงกัน เราเป็นวัยรุ่นที่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดี สังคมที่ทุกคนจะอยู่ได้อย่างปลอดภัย สังคมที่เป็นมิตรต่อกัน ความขัดแย้งไม่ใช่ความรุนแรง แต่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา แต่ความรุนแรงเป็นสิ่งที่เราไม่ปรารถนาเลย”

ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในเชิงเห็นด้วยว่า การใช้ความรุนแรงไม่สามารถทำให้เราสนทนากันได้ 

“เรารู้อยู่แล้วว่าความรุนแรงเป็นสิ่งไม่ดี ไม่ควรเกิดขึ้น แต่ทำไมมันจึงยังดำรงอยู่และไม่ถูกแก้ไขสักที แสดงว่าต้องมีกลไกบางอย่างในสังคมที่คอยหล่อเลี้ยงมันไว้ จนกลายเป็นความรุนแรงในชีวิตประจำวัน หรือ everyday violence”

บุญเลิศยกตัวอย่างที่ แนนซี เชเปอร์ ฮิวจ์ (Nancy Scheper-Hughes) นักมานุษยวิทยาอเมริกัน เสนอว่า ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ความรุนแรงเชิงโครงสร้างก็จะยิ่งสูงขึ้นด้วย แต่ผู้คนในสังคมนั้นๆ จะมีวิธีการแปลความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันให้อยู่ในรูปแบบที่ตัวเองยอมรับได้ เช่น เมื่ออัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของเด็กพุ่งสูงขึ้น ผู้คนก็จะปลอบใจพ่อแม่ว่า ลูกๆ ที่เสียชีวิตจะไปเกิดเป็นเทวดาตัวน้อยๆ บนสวรรค์ โดยที่ละเลยไม่พูดถึงความยากจนและความอดอยากซึ่งเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง หรือกระทั่งในสังคมฟิลิปปินส์ที่บุญเลิศทำการศึกษาภาคสนาม เมื่อคนไร้บ้านก่ออาชญากรรมแล้วโดนตำรวจยิงตาย ผู้คนก็พากันบอกว่า “สมควรตายแล้ว” 

อย่างไรก็ดี บุญเลิศแย้งว่า หากเราคิดว่าสิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นความความรุนแรงเชิงโครงสร้าง คำว่า “สมควรโดนซะบ้าง” จึงอาจเป็นปัญหาที่เราต้องพิจารณากันเสียใหม่ เราควรตั้งคำถามว่า เหตุการณ์เป็นแบบนี้ได้อย่างไร แล้วมันลงเอยแบบนี้ได้อย่างไร แทนที่จะยอมรับว่า การใช้ความรุนแรงทางกายภาพโต้กลับเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ต่างจากกรณีที่หลายๆ คนสนับสนุนลุงศักดิ์และบอกว่าศรีสุวรรณสมควรโดนเสียบ้าง

“เราควรต้องคิดใหม่ว่า ทำอย่างไรจึง ถึงพูดได้ว่า มันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น (ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงทางกายภาพ) เรามีทางอื่นๆ ที่จะแก้ไขปัญหาอีกไหม”

บุญเลิศเห็นว่า อาการสะใจที่ศรีสุวรรณถูกทำร้ายร่างกายอาจสะท้อนความรู้สึกของคนจำนวนมาก ซึ่งเห็นว่า ระบบยุติธรรมตามปกติไม่ทำงาน หรือมี ‘สองมาตรฐาน’ แต่นั่นก็ยิ่งสะท้อนว่า เราต้องไปแก้ที่ตัวกลไกรัฐซึ่งไร้ประสิทธิภาพต่างหาก หากใช้ตรรกะว่าความรุนแรงต้องตอบโต้ด้วยความรุนแรง 

“ต่อไปเราไม่ต้องมีกองกำลังส่วนตัว (private army) หรือต้องพึ่งพาเจ้าพ่อหรือครับ ทำไมคนอีกฝั่งหนึ่งเขาจะคิดเหมือนเราไม่ได้บ้าง บางคนยินดีที่จะตบสั่งสอนแล้วเสียค่าปรับไม่กี่บาท ผมว่าเดี๋ยวก็จะมีคน ‘ตบเพื่อพ่อ’ ได้เหมือนกัน 

“ผมคงไม่กล่าวโทษคนที่อยากจะทำ แต่การใช้ความรุนแรงไม่ใช่เรื่องเท่ มันไม่ได้ดูเท่เลย”

“มีคนบอกว่าสันติวิธีแล้วเมื่อไหร่จะชนะ ผมว่าต้องตั้งคำถามกลับทันทีเลย คุณคิดว่าใช้ความรุนแรงแล้วจะชนะเหรอครับ มีกองทัพมากพอจะยึดอำนาจไหม ต่อให้คุณชนะ แต่จะสร้างสังคมที่ดีด้วยการกดปราบคนอื่นอย่างรุนแรงเหรอ ผมว่าสังคมที่ปราศจากความรุนแรงไม่อาจสร้างได้ด้วยการใช้ความรุนแรงหรอกครับ”

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า