จันจิรา สมบัติพูนศิริ: ปกติคือความขัดแย้ง ความรุนแรงต่างหากคือปัญหา

photo: รวินทร์ สุจฉายา/The Momentum

หากหยิบยกประเด็นความรุนแรงในสังคมไทย บ่อยครั้งมักจะนึกถึงความขัดแย้งทางการเมือง หรือความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ ทว่าท่ามกลางความรุนแรงเหล่านี้ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่น่ากังวล นั่นคือ ความรุนแรงในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เรียกว่า ‘อาชญากรรมเชิงกลุ่ม’

“ความรุนแรงในสังคมไทยมีหลายเฉดที่ต่างกัน เราอาจต้องเริ่มจากคำถามว่า คนเข้าใจว่าความรุนแรงในสังคมไทยคืออะไร ทำไมคนใช้ความรุนแรงกับคนอื่นได้ง่ายขนาดนี้ ทำไมคนเคยชินกับความรุนแรง เกิดอะไรขึ้นกับความคิดเรื่องคุณค่าของชีวิตคน”

WAY ชวนสนทนากับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิจัยหัวหน้าโครงการ Monitoring Center on Organized Violence Events (MOVE) สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แม้ประเด็นความรุนแรงที่พูดคุยในครั้งนี้จะมีจุดตั้งต้นจากเหตุโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 37 ราย (รวมผู้ก่อเหตุ) แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ควรมองข้ามความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันจนกลายเป็นความเคยชิน เพราะไม่ว่าความรุนแรงนั้นจะเป็นความรุนแรงรูปแบบใด สังคมก็ควรหันกลับมาร่วมตั้งคำถาม ถกเถียง เพื่อไม่ให้การใช้ความรุนแรงถูกนำไปเป็นข้ออ้างในการจัดการปัญหาความขัดแย้งครั้งแล้วครั้งเล่า

ทำไมเราจึงไม่ควรเรียกเหตุการณ์ความรุนแรงที่ใช้อาวุธปืนว่าเป็นเพียงเหตุ ‘กราดยิง’ แต่ควรเรียกว่าเป็นเหตุ ‘สังหารหมู่’

สาเหตุที่ต้องเรียกว่า ‘สังหารหมู่’ เพราะเวลาที่เราพูดแค่ว่า ‘กราดยิง’ มันทำให้เห็นเพียงบางเหตุการณ์เท่านั้น เช่น การก่อเหตุโดยใช้อาวุธปืนที่โคราช ปี 2563 การบุกยิงในช่วงโควิดเมื่อปี 2564 (อดีตทหารเกณฑ์บุกยิงผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม ปทุมธานี และยิงพนักงานร้านสะดวกซื้อ) หรือเมื่อช่วงกลางปีนี้ (กรณีจ่าสิบเอกก่อเหตุยิงเพื่อนร่วมงานภายในกรมยุทธศึกษาทหารบก) รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในลักษณะนั้นอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งคำว่าสังหารหมู่มีความหมายครอบคลุมมากกว่า อย่างกรณีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งใช้ทั้งมีด ปืน และมีการฆ่ายกครัว ก็นับว่าเป็นการสังหารหมู่

จากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หนองบัวลำภู สะท้อนสังคมไทยอย่างไร

เรามองในฐานะของคนทำงานวิจัยที่เก็บข้อมูลเรื่องความรุนแรงและดูปรากฏการณ์ในสังคมไทยมาสักระยะ โดยการวิเคราะห์จะมี 2 ระดับ หนึ่ง – วิเคราะห์ระดับปัจเจกบุคคล สอง – ระดับโครงสร้างสังคม 

ในแง่ปัจเจกนั้นเราจะดูว่าทำไมคนคนนี้ถึงทำแบบนี้ หรืออย่างผิวเผินที่สุด เราจะเห็นพาดหัวข่าวใช้คำค่อนข้างหวือหวาเพื่อดึงดูดความสนใจ อาทิ ตำรวจคลั่ง ตำรวจติดยา คนเลว ซึ่งการใช้คำเหล่านี้ทำให้บดบังหลายเรื่อง เช่น ผลการชันสูตรร่างกายผู้ก่อเหตุเบื้องต้นไม่พบสารเสพติด หรือการบอกว่าเขาคลั่ง โดยที่เราก็ไม่รู้ว่าเขามีประวัติเข้ารับการรักษาปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่

เมื่อมีการใช้คำลักษณะดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความรู้สึกว่า การสังหารหมู่ที่หนองบัวลำภูเป็นกรณีที่โดดเด่น จนแยกขาดจากเหตุการณ์อื่นในสังคมไทย และรู้สึกว่าคนที่ใช้ความรุนแรงขนาดนั้นได้ต้องเป็นคนเลว คนคลั่ง คนติดยาเท่านั้น

จากการรวบรวมบทวิเคราะห์ในหลายกรณีจะพบว่า ปรากฏการณ์แบบนี้มันสุดโต่งจริง แต่นั่นหมายความว่า เราทุกคนก็มีโอกาสที่จะทำอะไรแบบนั้นได้เหมือนกัน อย่าคิดว่าเขาเป็นกรณีที่โดดเด่นเพราะคลั่ง บ้า หรือติดยาเท่านั้น และปรากฏการณ์นี้ยังทำให้เห็นว่า ทุกคนอาจเคยอยู่ในห้วงสถานการณ์ที่คล้ายกับผู้ก่อเหตุคนนี้ด้วยก็ได้ นั่นคือ

หนึ่ง – เขาถูกให้ออกจากงาน เพราะคดีครอบครองยาเสพติด 1 เม็ด แน่นอนว่าตำรวจไม่ควรจะทำผิด แต่บางครั้งชีวิตเราก็มีโอกาสเจอกับการทำผิดพลาดในที่ทำงาน หรือการทำผิดพลาดในสังคมได้ จึงน่าตั้งคำถามว่า ทำไมไม่มีการให้อภัยคนที่ทำงานผิดพลาด ขณะที่ผู้มีอำนาจมากทำผิดพลาดมากกว่าผู้มีอำนาจน้อย กลับแทบไม่ได้รับการลงโทษ ทว่าผู้มีอำนาจน้อย หรือตำรวจชั้นผู้น้อย ทำผิด 1 ครั้ง ถึงกับโดนลงโทษให้ออกจากงาน และไม่มีท่าทีเห็นใจจากผู้บังคับบัญชา กลายเป็นการผลักให้คนคนนั้นรู้สึกอยู่บนขอบเหว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่คนในสังคมไทยเจอกันเยอะ คือเป็นลักษณะสังคมที่ไม่ให้อภัยต่อความผิดพลาดของปัจเจกบุคคล บางครั้งถึงกับมีการก่นด่ากันบนโลกออนไลน์

สอง – ภาวะปัญหาทางจิตไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคล แต่เป็นเรื่องเงื่อนไขทางสังคมที่ผลักให้คนไปถึงจุดที่อยู่บนขอบเหว จากการถูกให้ออกจากงาน จนเกิดเป็นความรู้สึกว่าตัวเองเป็นตำรวจ เป็นพ่อ เป็นสามีที่ไม่ดี ทำให้จิตตก ซึ่งปัญหาทางจิตเป็นเรื่องที่ทุกคนมีโอกาสเจอ แม้จะไม่สุดโต่งอย่างกรณีที่เกิดขึ้น

สาม – ความคิดที่ว่า การใช้ความรุนแรง การชกต่อย การถือปืนของผู้ชายเป็นเรื่องธรรมดา ขณะเดียวกันบทบาทของผู้ชายก็ถูกคาดหวังว่า ต้องเป็นผู้นำครอบครัว เป็นที่พึ่ง กระทั่งต้องไม่ล้มเหลว เมื่อคนแบกความคาดหวังนี้ไม่ได้ ก็ทำให้รู้สึกล้มเหลวและชีวิตตกต่ำ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของโครงการ MOVE พบว่า ผู้ใช้ความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ช่วงวัยรุ่นถึงวัยทำงาน

นอกจากวิเคราะห์ความรุนแรงระดับปัจเจกบุคคลแล้ว ระดับสังคมเป็นอย่างไร

อีกระดับของการวิเคราะห์ คือระดับเชิงสังคม โดยมี 3 เรื่องย่อย หนึ่ง – การเข้าถึงอาวุธปืน ซึ่งในสังคมไทยมีครอบครองอาวุธปืนทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย แน่นอนว่ากฎหมายมันหละหลวม แต่การจัดการระดับกฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอ เราต้องตั้งคำถามกันต่อว่า การจัดการอาวุธปืนเถื่อนที่กลาดเกลื่อนในสังคมไทยควรทำอย่างไร คนที่ได้ประโยชน์จากการมีอาวุธเถื่อนในสังคมเยอะขนาดนี้เป็นใคร แล้วเราจะทำอย่างไรต่อเรื่องเหล่านี้ได้บ้าง

สอง – โครงสร้างอำนาจในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน ระบบราชการ หรือครอบครัว เวลาที่คนเราถูกกดไม่ให้คนพูดจาโต้เถียงหรือแสดงความเห็นที่ต่างออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ด้านล่างของโครงสร้างนั้น ซึ่งถูกกดมาก คับข้องใจมาก และไม่มีช่องทางไหนในการต่อสู้กับอำนาจด้านบน ประกอบกับเมื่อคนคนนั้นมีอาวุธปืนอยู่ในมือ การใช้อาวุธปืนจึงเป็นการปลดปล่อยตัวเองออกจากการกดทับของอำนาจ ในทางกลับกัน ไม่ใช่ว่าผู้มีอำนาจจะไม่ใช้ความรุนแรงหรืออาวุธปืน แต่เขามีช่องทางการแสดงอำนาจแบบอื่น เช่น ด่าลูกน้อง ทำโทษลูกน้อง

สิ่งที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่ผู้ด้อยอำนาจที่เข้าถึงอาวุธและมีความโกรธเคืองผู้มีอำนาจ มักจะใช้ความรุนแรงกับผู้ที่ด้อยอำนาจกว่า อย่างกรณีโคราช (ผู้เสียชีวิต 30 ราย รวมผู้ก่อเหตุ) มีการสังหารคู่กรณีที่อยู่ในค่ายทหารก็จริง แต่เหยื่อส่วนใหญ่กลับเป็นประชาชน หรือเหตุการณ์สังหารหมู่กรณีอื่นๆ ก็มักก่อเหตุโดยเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย จึงต้องตั้งคำถามต่อโครงสร้างหน่วยงานความมั่นคงเหล่านั้นว่า พวกเขาปฏิบัติอย่างไรบ้างกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย ถึงขนาดบีบให้คนคนหนึ่งลงมือก่อเหตุแบบนั้นได้ แล้วทำไมคนที่ด้อยอำนาจถึงมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนที่ด้อยอำนาจเหมือนกัน แล้วสมการของกลไกอำนาจในสังคมไทยทำงานอย่างไร

สาม – จากการเก็บข้อมูลของโครงการ MOVE ตั้งแต่ปี 2559-2565 ปรากฏว่า เหตุรุนแรงที่เราเจออันดับต้นๆ เป็นความรุนแรงที่มาจาก ‘อาชญากรรมเชิงกลุ่ม’ (criminal gang-based violence) และเหตุส่วนใหญ่มาจากความขัดแย้ง อย่างกรณีที่มีคู่กรณีชัดเจน เช่น นาย A ทะเลาะกับนาย B ไม่ถูกกัน เพียงเพราะเขม่นกัน หรือการทะเลาะด้วยเหตุของศักดิ์ศรี อาทิ สมาชิกของกลุ่มหนึ่งถูกอีกกลุ่มพูดจาเหยียดหยาม แทนที่จะโต้ตอบกลับด้วยวาจาเพื่อทำความเข้าใจกัน กลับกลายเป็นการทำร้ายกันเลย

เราจะเห็นว่าวิธีการที่คนจัดการกับความขัดแย้ง คือการกระโดดจากการทะเลาะหรือมีเรื่องคับข้องใจกับคนคนนั้น แล้วก็เก็บเอาไว้นานๆ ไม่มีการพูดถึง ไม่มีการเคลียร์ ไม่มีการทะเลาะกันทางวาจา หรือวิธีอื่น ไปสู่จุดที่ทำร้ายกัน และที่น่าสนใจคือเป็นการใช้อาวุธปืนหรือมีดขนาดใหญ่ ซึ่งน่าสงสัยว่า ทำไมไม่มีทางเดินไปสู่ทางออกจากความขัดแย้งแบบอื่น ทำไมถึงทำร้ายกันเร็วขนาดนี้

กรณีสังหารหมู่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หนองบัวลำภู ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีคู่กรณีที่ชัดเจน แต่มันสะท้อนว่า ผู้ก่อเหตุมีความคับข้องใจ มีความรู้สึกอยากแก้แค้นกับอะไรที่เป็นนามธรรม และพยายามจะส่งสารบางอย่าง เพียงแต่ข้อมูลยังไม่ถูกเปิดเผยออกมาว่า ทำไมถึงต้องเป็นศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ทำไมไม่เป็นที่อื่น 

นี่จึงเป็นการจัดระดับการวิเคราะห์ให้เห็นว่า เวลาที่เราบอกว่าเห็นบทเรียนอะไร มันมีเต็มไปหมด และเหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นปัญหา ถ้าเปรียบประเทศไทยเป็นร่างกาย มันก็เต็มไปด้วยความป่วย

จากการทำวิจัยมีข้อค้นพบไหมว่า ทำไมการจัดการความขัดแย้งในสังคมไทยจึงมักก้าวกระโดดไปสู่การใช้ความรุนแรงโดยทันที

สมมุติฐานหนึ่งคือ การมีข้อต้องห้าม (taboo) ของคนเวลาเจอความขัดแย้ง คนจะไม่ค่อยรู้สึกอยากเผชิญหน้า ไม่อยากรับรู้ว่ามีความขัดแย้ง เช่น เวลาเพื่อนทำบางอย่างที่ขัดใจ คนส่วนใหญ่จะเก็บความรู้สึกนั้นไว้และทับถมไปเรื่อยๆ กระทั่งจุดหนึ่งที่เกิดการ snap ซึ่งเรื่องนี้น่าพูดคุยกันต่อว่า ทำไมความขัดแย้งในสังคมไทยจึงเป็นเรื่องที่คนมักหลบเลี่ยง

ประเด็นต่อมา เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณค่า เช่น การเสียหน้า หลายคนไม่กล้าแสดงความเห็นของตัวเองว่า ไม่พอใจอะไร ไม่ชอบอะไร ขัดแย้งกับใคร เพราะกลัวว่าจะทำให้อีกฝ่ายเสียหน้า เสมือนการเอาความขัดแย้งขึ้นมาเปิดเผย และบางครั้งถ้าพวกเขากล้าแสดงความคิดเห็นของตัวเอง ผู้ใหญ่บางคน เพศสภาพชาย หรืออยู่ในบทบาทที่สำคัญ ก็รู้สึกเสียหน้าขึ้นมาจริงๆ ซึ่งบางทีปะปนกับความรู้สึกเหมือนโดนดูถูกเหยียดหยามด้วย เมื่อความรู้สึกคาบเกี่ยวกันมากจึงกลายเป็นการระเบิดทางอารมณ์ที่รวดเร็ว ด้วยเหตุปกป้องเกียรติศักดิ์ศรี

ประเด็นที่สาม ระบบการศึกษา วาทกรรมสาธารณะ (public discourse) หรือกระทั่งวิธีการที่สื่อรายงานข่าว คล้ายกับไม่ได้บอกว่าการทะเลาะกันจะมีทางใดที่สามารถจัดการกับความขัดแย้งนั้นได้บ้าง อย่างเวลาที่สื่อรายงานข่าวก็มักนำเสนอคุณค่าเรื่องการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง หรือคุณค่าเรื่องการเสียหน้ามาผลิตซ้ำเรื่อยๆ เหมือนเราข้ามบทเรียนเรื่องวิธีการจัดการความขัดแย้ง ทั้งเรื่องส่วนตัว เรื่องที่ทำงาน เรื่องระดับชุมชน รวมถึงเรื่องระดับประเทศ

ฉะนั้นคนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าอย่าขัดแย้งกันเลย สามัคคีกันดีกว่า เราก็ถูกสอนมาแบบนี้ เวลาที่เราไม่พอใจใครจึงไม่เห็นทางเลือกอื่นว่าจะทะเลาะกันยังไงได้บ้าง อย่างการทะเลาะที่สร้างสรรค์ การทะเลาะที่เป็นการเคลียร์ใจกัน อาจจะเถียงกันได้หรือตะโกนว่ากันก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธทำร้ายกัน

สามประเด็นนี้ทำให้สังคมไทยรู้สึกว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องนอกตัว เป็นเรื่องประหลาด ทั้งที่จริงแล้วความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติมาก

การให้ความรู้เรื่องการแก้ไขปัญหาความรุนแรงอย่างเร่งด่วน ควรเริ่มต้นจากอะไร

ปัญหาความรุนแรงเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ซึ่งความรุนแรงในสังคมไทยมีหลายเฉดที่ต่างกัน เราอาจต้องเริ่มจากคำถามว่า คนเข้าใจว่าความรุนแรงในสังคมไทยคืออะไร ทำไมคนใช้ความรุนแรงกับคนอื่นได้ง่ายขนาดนี้ ทำไมคนเคยชินกับความรุนแรง เกิดอะไรขึ้นกับความคิดเรื่องคุณค่าของชีวิตคน

อย่างกรณีสังหารหมู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หนองบัวลำภู ในระดับครอบครัวและชุมชน จะทำอย่างไรให้มีความคิดเรื่องการให้อภัยคน โดยเฉพาะคนที่พ่ายแพ้กับชีวิต คนที่ทำผิดพลาด แทนการสมน้ำหน้าหรือผลักให้เขาเป็นคนเลว คนคลั่ง ครอบครัวหรือสังคมทำความเข้าใจและช่วยเขาได้ไหม

สำหรับระดับประเทศ เรื่องเชิงนโยบายมีสิ่งที่ต้องทำเยอะ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาอาวุธปืน ต้องคิดถึงนโยบายในลักษณะที่แก้ได้เลย เช่น นักการเมืองหลายคนพูดถึงการแก้กฎหมายการครอบครองปืน การพิจารณาเรื่องใบอนุญาตครอบครองปืนให้เข้มข้นมากขึ้น หรือการให้ตำรวจใช้ปืนราชการ ไม่ใช่ซื้อปืนใช้เอง

ทั้งนี้ หากเราแก้ไขสาเหตุของปรากฏการณ์ทางสังคมเพียงสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง ปรากฏการณ์นั้นก็ยังมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้อีก ฉะนั้นเราจำเป็นต้องผลักหลายเรื่องไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ ปัญหาที่น่ากังวลมากกว่าเรื่องที่ว่าเราจะแก้ไขในระดับนโยบายได้หรือไม่ คือเรื่องความเสื่อมโทรมของสถาบันทางการเมือง ในทางรัฐศาสตร์มีสิ่งที่เรียกว่า ‘สถาบันของรัฐ’ (state institution) เมื่อรัฐสมัยใหม่เกิดขึ้นมาเพื่อสร้างระบบราชการที่จะช่วยจัดการชีวิตของผู้คนให้มีระบบระเบียบ มีระบบรักษาความปลอดภัย โดยดำรงชีวิตได้อย่างปกติ สามารถหาเลี้ยงชีพ มีครอบครัว และมีอนาคต ระบบรัฐคือการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเหล่านี้ ในเชิงสถาบันจึงต้องมีตำรวจ กองทัพ โรงเรียน โรงพยาบาล ระบบจัดเก็บภาษี และอื่นๆ

ในรัฐที่มีศักยภาพเข้มแข็ง เวลาเจอวิกฤตที่หลากหลายมักจะคลี่คลายปัญหาเหล่านั้นได้ แม้อาจจะไม่สามารถแก้ได้ทันที แต่สถาบันก็ทำงานเพื่อคลี่คลายปัญหา ขณะที่สังคมไทยช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถาบันของรัฐทำงานได้แย่ลงทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันตำรวจ สถาบันกองทัพ สถาบันการศึกษา และอีกหลายสถาบัน ทั้งๆ ที่ทั้งหมดควรจะเป็นบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ

เราเห็นได้ชัดจากช่วงโควิด-19 ที่เกิดคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับระบบสาธารณสุขของเรา เกิดอะไรขึ้นกับงบประมาณที่ใช้ไปกับการสาธารณสุข เกิดอะไรขึ้นกับจำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอ หรือเหตุการณ์ความรุนแรงก็สะท้อนว่า ทำไมตำรวจนอกราชการคนนี้ถึงมีปืนได้ แล้วทำไมเวลาเกิดเหตุตำรวจไม่มาทันทีหรือมาไม่ทันเวลา หลายอย่างทำให้ความเน่าเฟะของสถาบันของรัฐถูกเปิดโปงมากขึ้นและเสื่อมลงไปเรื่อยๆ โดยไม่มีความพยายามที่จะฟื้นฟู ปรับปรุง หรือปฏิรูป สุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือประชาชน

ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่ารัฐควรจะแก้ปัญหาอย่างไร แต่จะมีเจตจำนงทางการเมืองในการแก้ปัญหาหรือไม่ อันนี้เป็นคำตอบอีกชุดหนึ่ง ความน่ากังวลอยู่ที่ว่า เจตจำนงทางการเมืองในการแก้ปัญหามีน้อยลงทุกที สถาบันของรัฐที่ควรจะสร้างประโยชน์สาธารณะทั้งหลาย ช่วงหลังกลับแย่ลง ถ้าเราเติบโตมาในช่วงเกือบ 40 ปี จะเห็นว่าแย่ลงจริง แล้วถ้าเราไม่รีบทำอะไรบางอย่าง ภาวะป่วยเป็นมะเร็งของประเทศไทยก็ยากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะเยียวยา

ในระยะหลังมานี้ ทำไมเราจึงพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ

ถามว่าความรุนแรงในสังคมไทยถี่ขึ้นไหม มากขึ้นไหม มันก็ขึ้นๆ ลงๆ มีจุดที่พีคและมีจุดที่ดาวน์ เงื่อนไขที่ปรากฏในสังคมช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โรคระบาดที่เกิดขึ้นเป็นเพียงวิกฤตหนึ่งที่ถาโถมเข้ามา แต่จริงๆ แล้วเราเริ่มมีวิกฤตเศรษฐกิจ เรามีภัยธรรมชาติ และยังไม่รวมถึงเรื่องการเมืองอีก

เวลาเก็บข้อมูลเรื่องความรุนแรง แน่นอนว่ามีทั้งข้อมูลความรุนแรงเรื่องการเมือง หรือความรุนแรงเรื่องใหญ่ๆ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ (ร้อยละ 27) ที่เราคาดว่าจะเจออยู่แล้ว แต่ความรุนแรงในชีวิตประจำวัน (ร้อยละ 32) ก็มีเยอะไม่แพ้กัน ซึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤตระดับโครงสร้าง และผู้คนยากที่จะอธิบายได้ว่า ทำไมชีวิตเขาแย่ลง หลายกรณีเป็นเรื่องของการหมดหวัง ความโกรธ ความท้อแท้ ความหงุดหงิด หรือความคับข้องใจ ขณะเดียวกันเขาก็ไม่มีแหล่งของความหวังอื่น 

ฉะนั้นเวลาที่คนเจอวิกฤต ปัญหา อารมณ์ หรือความรู้สึกที่ยากจะจัดการ จึงไปลงกับเรื่องส่วนตัว เรื่องครอบครัว เรื่องระหว่างกลุ่ม หรือเรื่องระดับชุมชน ซึ่งเรามักเจอความรุนแรงในประเด็นส่วนตัวค่อนข้างเยอะ รวมถึงเรื่องความสัมพันธ์หรือธุรกิจก็มี เพราะปัญหาระดับโครงสร้างจัดการไม่ได้ การหันไปลงกับอะไรที่เป็นปัญหาระดับเล็กจึงดูจัดการได้ง่ายกว่า และดูเหมือนว่าจะมีบทบาทในการจัดการได้มากกว่า

ถ้ายังไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด วิกฤตความรุนแรงในสังคมไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป

ในแง่ข้อมูลเชิงประจักษ์ เราคาดการณ์ระยะยาวได้ยาก ตัวเลขสถานการณ์ความรุนแรงวิ่งขึ้นวิ่งลง และแต่ละปีก็ไม่เหมือนกัน ลักษณะความรุนแรงของเหตุสังหารหมู่สามารถพูดได้ว่า ปรากฏการณ์สังหารหมู่เป็นแรงบันดาลใจที่ส่งต่อถึงกัน คนที่ทำก่อนหน้านี้ก็เป็นแรงบันดาลใจให้คนถัดไป ซึ่งพอเราเห็นเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เราก็น่าจะคาดเดาเพื่อป้องกันล่วงหน้าได้ ฉะนั้นเวลามีคนบอกว่าเขาจะทำ เชื่อเขาเถอะว่าเขาจะทำจริง อย่างอดีตตำรวจที่ก่อเหตุที่หนองบัวลำภูก็เคยพูดไว้ว่า จะทำให้ดังกว่ากรณีโคราชอีก เราต้องให้น้ำหนักกับคำพูดของผู้ที่อาจเป็นผู้ก่อเหตุ ต้องเยียวยาเขา อย่าทำโทษเขาอย่างเดียว เพราะในทางหนึ่งคนเหล่านี้ก็เป็นเหยื่อของสังคม 

ส่วนในอนาคตเหตุการณ์จะรุนแรงขึ้นไหม ถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ที่แน่ๆ ก็คือ มันจะดำเนินแบบนี้ต่อไป

ข้อสังเกตจากฐานข้อมูลของเรา ไม่ใช่ว่าทุกเหตุการณ์จะสุดโต่งเหมือนเหตุสังหารหมู่ที่หนองบัวลำภู แต่เป็นเหตุการณ์ที่มีลักษณะเนิบๆ (slow burn) คือมีเหตุใช้ความรุนแรงทำร้ายจนเสียชีวิต 1-2 คน หรือ 3-4 คนต่อวัน ซึ่งเหตุการณ์ที่เราเก็บข้อมูลส่วนใหญ่มักมีจำนวนเหยื่อไม่เกิน 10 คน แต่ความรุนแรงแบบนี้จะทำให้คนชิน เพราะในงานวิจัยเชิงจิตวิทยา เวลาที่เกิดอะไรขึ้น แม้ว่าจะมีความรู้สึกช็อกในตอนแรก แต่พอเกิดเหตุแบบนี้เรื่อยๆ แล้วเหตุที่เกิดมีจำนวนเหยื่อน้อยลง คนก็จะไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาหรือเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักในระดับสังคม ทำให้คนอยู่กับมันได้

อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องเตือนอยู่เสมอว่า ความรุนแรงไม่ว่าจะรูปแบบใดก็เป็นภัยของสังคม เราทุกคนต้องช่วยกันทำให้ความรุนแรงไม่เป็นทางเลือกในการจัดการปัญหาความขัดแย้ง

ทำอย่างไรไม่ให้คนรู้สึกชินชากับความรุนแรงในสังคม

อาจจะต้องระดมสมองจากหลายหน่วยงาน หลายภาคส่วน ในทางหนึ่งต้องปรับปรุงวิธีการเล่าข่าวของสื่อ โดยเฉพาะสื่อที่หยิบประเด็นมาแบบฉาบฉวย รายงานความรุนแรงแบบเอามัน เพื่อให้คนเห็นภาพ ตื่นเต้น และอยากติดตาม แล้วจะได้ยอดไลก์ ยอดการมีส่วนร่วม (engage) 

อันที่จริงในมิติของการรายงานข่าวยังสามารถนำเสนอในรูปแบบอื่นได้ เช่น สกู๊ปข่าวที่นั่งคุยกันว่า คนคนหนึ่งเปลี่ยนสถานะจากคนธรรมดาอย่างพวกเราไปเป็นผู้ใช้ความรุนแรงแบบสุดโต่งขนาดนั้นได้ยังไง ถ้าเราคลี่คลายเส้นทางชีวิตของคนที่ใช้ความรุนแรงจำนวนมาก ดูว่ามีเหตุการณ์หรือจุดเปลี่ยนอะไรที่ทำให้พวกเขาเลือกใช้ความรุนแรง แล้วนำไปเป็นบทเรียนให้กับคนอื่นๆ ต่อไปได้

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความรุนแรงของคนไทยที่ยกระดับอย่างรวดเร็ว จะมีกลไกอะไรในเชิงสาธารณสุขที่ช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาหรือไม่ หากมองเชิงกฎหมายที่ไม่ใช่แค่การลงโทษ แต่เป็นที่พึ่งให้คนได้ ก่อนที่เขาจะไปถึงจุดที่ใช้ความรุนแรง

ฐานข้อมูลของโครงการ MOVE ที่มีประเด็นน่าสนใจแบบนี้ ถูกนำไปใช้ต่อยอดอย่างไรบ้าง

จริงๆ ประเด็นหลักของงานวิจัยที่เราทำคือ กระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม แต่พอเราค้นหาข้อมูลสถิติปราฏการณ์ความรุนแรงในสังคมไทย กลับพบว่ามันไม่มี เราเลยทำฐานข้อมูลเพื่อให้สาธารณชนนำไปใช้

ในเชิงการจัดการ เรามีงบประมาณสำหรับโครงการระยะแรกเพื่อทดลองทำฐานข้อมูล ซึ่งถ้าเราจะเก็บข้อมูลโดยย้อนเวลากลับไปไกลกว่านี้ก็อาจไม่มีนักวิจัยเพียงพอที่จะเก็บข้อมูลได้ แต่เราก็คาดหวังว่าในอนาคตจะมีเงินทุนในการทำฐานข้อมูลนี้ต่อ

เหตุผลที่เลือกเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2559 เพราะเป็นช่วงที่ผ่านพ้นเหตุการณ์รัฐประหารแบบเข้มข้นแล้ว มีการรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา แล้วการรายงานข่าวก็เริ่มมีเสรีภาพมากขึ้น ปี 2559 จึงเป็นหมุดหมายของเราในแง่ของเงื่อนไขทางการเมือง เพื่อที่จะเก็บข้อมูลจากการรายงานข่าวที่ปราศจากการแทรกแซงทางการเมืองได้ ซึ่งเราเก็บข้อมูลจากสื่อหนังสือพิมพ์หลัก 5 ฉบับ คือฉบับภาษาอังกฤษของ Bangkok Post และ Nation ส่วนฉบับภาษาไทยจาก ผู้จัดการ ข่าวสด และไทยรัฐ เพื่อให้มีความคละกันในแง่จุดยืนทางการเมือง

หน่วยข้อมูลที่เราใช้เป็น ‘เหตุการณ์’ (event) คือเหตุการณ์ความรุนแรงที่มาจากการคิดคำนวณ วางแผนไว้ (organized violence) เพราะว่าเราไม่สามารถเก็บปรากฏการณ์ความรุนแรงทุกประเภทได้ เช่น ความรุนแรงที่มาจากการทะเลาะกันส่วนตัว หรือความรุนแรงในความสัมพันธ์ ซึ่งมีเยอะมาก เราจึงเลือกหน่วยข้อมูลในเชิงสังคมเพื่อที่จะได้เห็นภาพของสังคม

สาเหตุที่เราเก็บข้อมูลความรุนแรงเหล่านี้คือ 

หนึ่ง – เวลาเราทำงานวิจัย แล้วเห็นนักวิจัย นักวิชาการในสังคมไทยมีสมมุติฐานหลายอัน แต่บางทีไม่มีข้อมูลสนับสนุนเพียงพอ เราก็เลยอยากจะทำข้อมูลเบื้องต้นแบบนี้ให้

สอง – บางทีบางสมมุติฐานไม่ตรงกับข้อมูล หรือไม่สะท้อนความเป็นจริงในสังคมไทย อย่างเวลาที่บอกว่าปัญหาภาคใต้น่ากังวล ซึ่งก็น่ากังวลจริงและเห็นว่าเป็นปัญหาใหญ่ แต่เมื่อนำมาวางในภาพใหญ่ของปัญหาประเทศไทย จากข้อมูลที่เรานับตามช่วงปีที่กำหนดไว้ เอาเข้าจริงแล้วเราพบว่าคนไทยเสียชีวิตจากเหตุอาชญากรรมความรุนแรงในชีวิตประจำวันมากกว่าการเสียชีวิตจากการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้

มันทำให้เรากลับมาตั้งคำถามกับหลายอย่าง เช่น งบประมาณของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) แม้จะมีการทำงานหลักอยู่ที่สามจังหวัด แต่งบประมาณก็ไปลงกับเรื่องเหล่านั้นหมด แล้วงบประมาณสำหรับเรื่องอื่น อาทิ ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นสาเหตุความเครียดของคน ทำไมถึงไม่มี ทั้งๆ ที่เป็นภัยต่อสุขภาพของคน ทำไมหน่วยงานของรัฐจึงไม่ตอบโจทย์นั้นบ้าง

ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่ได้บอกว่าข้อมูลของเราจริงที่สุดนะ เนื่องจากข้อมูลเราก็มีข้อจำกัดจากการเลือกประเภทข้อมูล

หากองค์กรต่างๆ อยากจะนำฐานข้อมูลเหล่านี้มาใช้งานต้องทำอย่างไรบ้าง

ตอนนี้เรายังไม่ได้เผยแพร่ฐานข้อมูลสู่สาธารณะ แต่ฐานข้อมูลหลักๆ คือเป็นหน้ากระดานของข้อมูล และผู้ใช้งานสามารถเลือกชุดข้อมูลที่ตัวเองสนใจได้ เช่น ช่วงเวลา ประเภทของเหตุการณ์ความรุนแรง ประเภทผู้ใช้ความรุนแรงหรือผู้ก่อเหตุ ประเภทของสถานที่ เป็นต้น จากนั้นจะแสดงผลออกมาเป็นรูปภาพ ชาร์ต กราฟ แผนที่ รวมถึงยังดูรายละเอียดอื่นๆ ได้อีก อย่างข้อมูลรายจังหวัด แล้วก็มีข้อมูลสรุปด้วย

สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ ข้อมูลที่เราเก็บมานั้นสอดคล้องกับสถิติความรุนแรงของการใช้อาวุธปืนในประเทศไทย ลำดับแรกคือกรุงเทพฯ สองคือนครศรีธรรมราช เราพบว่านครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่มีการยิงกันและเสียชีวิตจากอาวุธปืนเยอะมาก กระนั้น กรุงเทพฯ ก็มีสถิติเยอะกว่า 

นอกจากนี้ ฐานข้อมูลยังสามารถเลือกได้ว่าจะแสดงผลเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ และข้อมูลที่เราจะเปิดตัวในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ เป็นข้อมูลช่วง 2559-2563 เมื่อสิ้นสุดโครงการในกลางปีหน้า ข้อมูลจะอัพเดตถึงปลายปี 2564

ถ้ารัฐนำข้อมูลจากฐานข้อมูลนี้ไปใช้ จะเกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง

การจัดประเภทข้อมูลของเรามีฐานทางทฤษฎีจากความรู้รัฐศาสตร์ เรื่องความขัดแย้งและความรุนแรง เช่น หากจะหาวิธีป้องกันเหตุ ในฐานข้อมูลก็จะแสดงช่วงเวลาที่เกิดเหตุ ส่วนใหญ่คือช่วงหัวค่ำและเป็นพื้นที่เปิด เป็นไปได้ไหมที่รัฐจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตรา เพิ่มไฟส่องสว่างในพื้นที่สุ่มเสี่ยง หรือในพื้นที่เชิงพาณิชย์สามารถตั้งจุดตรวจรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดมากขึ้นได้ไหม เป็นต้น นี่คือมาตรการแบบเอากอเอี๊ยะแปะแผลไว้ก่อน ซึ่งรัฐทำได้

ส่วนการใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย จากข้อมูลจำนวนผู้ที่ใช้ความรุนแรงและเหยื่อส่วนใหญ่ หากดูแค่เรื่องเพศสภาพ คือผู้ชาย และเป็นวัยรุ่นถึงวัยกลางคน หรืออย่างเรื่องความรุนแรงทางเพศสภาพ เราก็แยกออกมาเป็นหนึ่งหมวดเลย เกณฑ์ที่เราสนใจคือการใช้ความรุนแรงทางเพศที่ส่งผลให้บาดเจ็บล้มตาย โดยเลือกข้อมูลเฉพาะเหตุการณ์ที่ส่งผลให้บาดเจ็บล้มตายและเป็นเหตุการณ์ที่ข่าวรายงานว่ามีการคิดไตร่ตรองวางแผนไว้ ไม่ใช่เหตุอาชญากรรมที่เกิดจากความหึงหวง (crime of passion)

เราไม่ได้บอกให้รัฐไปเพ่งเล็งคนกลุ่มนี้นะ เพียงแต่จะทำอย่างไรให้ผู้ชายที่ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัวหรือเป็นเหยื่อ โดยเฉพาะคนที่เป็นเหยื่อทางเพศ มีที่พึ่ง เราจะมีนโยบายอะไรที่จะช่วยได้บ้าง อย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เน้นให้ความสนใจกับผู้หญิงและเด็ก แต่จริงๆ แล้วผู้ชายก็เป็นทั้งเหยื่อและผู้ก่อเหตุ เราจะมีนโยบายอะไรที่จะช่วยเขาได้บ้าง ไม่ใช่แค่เฉพาะผู้หญิงหรือเด็กเท่านั้น

เราไม่ดูแคลนทางแก้ที่แม้จะเป็นทางแก้เล็กๆ ระยะสั้นมันทำได้เลย ขณะที่ในเชิงนโยบายภาพใหญ่เราก็ต้องเห็น โดยเฉพาะแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพราะเมื่อเกิดปรากฏการณ์หนึ่งๆ ขึ้นมา ย่อมเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขทางสังคมหลายเรื่อง

Author

นันทิกร วิทูรสุนทร
จบการศึกษาจากคณะสังวิทฯ (เน้นสังคมวิทยา ไม่ใช่มานุษยฯ อย่างที่คนอื่นเข้าใจ) แต่พักการลงฟีลด์มาจับคีย์บอร์ด เมาส์ ปากกา และโทรศัพท์ เป็นมิตรแท้ของกองบรรณาธิการ(ที่มักเป็นศัตรูกับตารางเวลา) นอกจากนั้นยังจับหวีแปรงปรนนิบัติแมว รักการอ่านหนังสือโดยเฉพาะเวลาฝนตก และอ้อมกอดอุ่นของผ้าห่ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า