สำรวจ ‘สันติวิธี’ หรือ ‘ปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรง’ ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ผ่านสายตาชาวกรุงเทพฯ

ตลอดระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในภาพใหญ่ของสังคมการเมืองไทย เหตุการณ์การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของพรรคอนาคตใหม่ จนไปถึงเหตุการณ์ชัยชนะในสนามเลือกตั้งของพรรคก้าวไกล และความพ่ายแพ้ของพรรคก้าวไกลต่อกลไกอำนาจ ‘รัฐพันลึก’ ที่ทำให้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งอันดับ 1 กลับต้องลงเอยด้วยการไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลได้ เหตุการณ์เหล่านี้ถือเป็นชนวนเหตุสำคัญต่อขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในสังคมไทย 

กลุ่มต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวย่อมมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป บ้างเพื่อแสดงออกต่อความอยุติธรรม แสดงออกต่อจุดยืนและเจตจำนงในการเลือกตั้ง เรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ต้องเคารพเสียงประชาชนในการให้ความเห็นชอบ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี หรือเรียกร้องให้พรรคการเมือง เช่น พรรคเพื่อไทยให้จับมือกับพรรคก้าวไกล อย่าข้ามขั้วไปจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ เป็นต้น

ท่ามกลางการเคลื่อนไหวมากมายที่เกิดขึ้น ผู้คนในสังคมไทยต่างก็มีทัศนะที่แตกต่างกันไปต่อการเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่ม บ้างเห็นด้วย บ้างเห็นแย้ง บ้างก็ไม่ได้ให้ความสนใจเท่าไรนัก สิ่งที่น่าสนใจคือปัจจัยที่คนในสังคมให้คุณค่าต่อขบวนการเคลื่อนไหวแต่ละกลุ่มคืออะไร

หากมองจากกรณีของม็อบ #พร้อม ที่นำโดย สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ที่เชิญชวนผู้คนสวมรองเท้าผ้าใบและออกมาชุมนุมแปรอักษร แสดงจุดยืนต่อ สว. เทียบกับการบุกสาดสีและเผาตุ๊กตาหุ่นฟางที่พรรคเพื่อไทยของ ‘กลุ่มทะลุวัง’ จะเห็นได้ว่าสังคมต่างมีทัศนะต่อการเคลื่อนไหวของทั้งสองกลุ่มที่แตกต่างกัน

เมื่อพิจารณาจากข้อถกเถียงในสังคม ทั้งในโลกออนไลน์และโลกออฟไลน์แล้ว มิติที่ผู้คนสนใจมากที่สุดต่อขบวนการเคลื่อนไหวในแต่ละครั้ง คือมิติด้าน ‘วิธีการ’ มากกว่า ‘ประเด็น’ หรืออีกนัยหนึ่งผู้คนสนใจว่า วิธีการที่แต่ละกลุ่มใช้ มี ‘ความรุนแรง’ มากน้อยแค่ไหน ซึ่งระดับความรุนแรงที่คนในสังคมรู้สึก จะนำไปสู่การเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วยต่อกลุ่มเคลื่อนไหวนั้นๆ 

‘สันติวิธี’ เป็นคำที่ถูกยกมาใช้เสมอ เมื่อพูดถึงการเคลื่อนไหวทางการเมือง และบ่อยครั้งก็ถูกใช้ปะปนไปกับ ‘ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง’ แต่ในเมื่อนิยามของทั้งสองคำนี้มีความหมายต่างกัน การปฏิบัติและการยอมรับความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวของคนในสังคมจึงต่างกันออกไปด้วย

วันที่ 23 สิงหาคม 2566 เวลา 13.30-15.30 น. รองศาสตราจารย์ ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา และ อุเชนทร์ เชียงเสน ได้จัดการอภิปรายผลสำรวจความคิดเห็น ‘การเคลื่อนไหวแนวทางไม่ใช้ความรุนแรงในทัศนะของชาวกรุงเทพมหานคร’ ณ ห้องประชุมชั้น 4 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยผลสำรวจชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย ‘สันติวิธีในทางปฏิบัติ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง’

WAY สรุปประเด็นที่น่าสนใจจากผลสำรวจความคิดเห็นข้างต้น เพื่อมองมิติด้านความรุนแรงในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ผ่านสายตาของชาวกรุงเทพมหานคร

ชาวกรุงเทพฯ ร้อยละ 44.2 มองว่า สันติวิธีคือการประท้วงที่ไม่ผิดกฎหมาย 

จากกลุ่มตัวอย่างชาวกรุงเทพฯ จำนวน 500 คน ในช่วงวัยที่แตกต่างกัน พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 91 เคยได้ยินคำว่า ‘สันติวิธี’ แสดงให้เห็นว่าคำคำนี้เป็นที่รับรู้ของคนทั่วไป 

โดยนิยามขอบเขตความหมายของคำว่า ‘สันติวิธี’ นั้น คณะผู้วิจัยนิยามโดยใช้ขอบเขตที่มีความหมายอย่างแคบที่สุด คือ การไม่กระทำ (non-action) จนไปสู่ความหมายที่กว้างที่สุดคือคำว่า การกระทำที่ไม่ใช้ความรุนแรง (nonviolent action) ซึ่งในทางวิชาการคือ การกระทำที่ไม่ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือมุ่งหมายให้เกิดความบาดเจ็บอันตราย

จากผลการสำรวจพบว่า กลุ่มใหญ่ที่สุดร้อยละ 44.2 มองว่าสันติวิธีหมายถึง การประท้วงที่ไม่ผิดกฎหมาย 

ขณะที่รองลงมา ร้อยละ 28.4 มองว่าอาจผิดกฎหมายได้ แต่ต้องไม่กระทบสิทธิของผู้อื่น ร้อยละ 20.2 มองว่าอาจผิดกฎหมายและกระทบกับสิทธิของคนอื่นได้ แต่ต้องไม่ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และกลุ่มสุดท้าย ร้อยละ 7.2 มองว่าสันติวิธีหมายถึงการไม่กระทำอะไรเลย

กว่าร้อยละ 70 มองว่าปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรง คือการแสดงออกที่สร้างผลกระทบต่อผู้อื่นหรือสังคมน้อย

เมื่อสำรวจรูปแบบการแสดงออก กลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 70 มองว่าเป็นการแสดงออกที่ไม่ใช้ความรุนแรง และเป็นการแสดงออกหรือกิจกรรมที่กลุ่มตัวอย่างยอมรับได้มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1) การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น ผูกโบขาว ใส่เสื้อดำ ติดสติ๊กเกอร์ 2) การบอยคอต ไม่ซื้อสินค้าหรือบริการของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และ 3) การเดินขบวนบนท้องถนน 

จุดน่าสนใจคือ การแสดงออกที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 70 มองว่าเป็นการแสดงออกที่ไม่ใช้ความรุนแรงและยอมรับได้มากที่สุด เป็นการแสดงออกซึ่งสร้างผลกระทบต่อผู้อื่นหรือสังคมน้อยนั่นเอง

ความต่างของวัย มีผลต่อการมองความรุนแรงรูปแบบต่างๆ

ความสัมพันธ์ระหว่างอายุกับระดับของการยอมรับการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ มีแนวโน้มลดลงตามช่วงอายุ แต่มีเพียงบางประเด็นเท่านั้นที่ไม่สอดคล้องกัน โดยรูปแบบการประท้วงที่คน Generation Z (อายุ 18-25 ปี) เกือบครึ่งหนึ่ง คือร้อยละ 48.5 ยอมรับว่าการสาดสีใส่ป้ายของหน่วยงานรัฐหรือท้องถนนเป็นวิธีการที่ไม่รุนแรง

ขณะเดียวกันกลุ่มช่วงอายุอื่นๆ มีการยอมรับกิจกรรมนี้ต่างกันมาก คือกลุ่ม Generation Y (อายุ 26-43 ปี) ร้อยละ 20.7 Generation X (อายุ 44-58 ปี) ร้อยละ 20.7 และ Baby Boomer (อายุ 59-77 ปี) ร้อยละ 11.30 เท่านั้น 

ประเด็นข้อเรียกร้องมีส่วนสำคัญไม่แพ้รูปแบบการเคลื่อนไหว 

ไม่ใช่แต่เพียงรูปแบบของการเคลื่อนไหวเท่านั้น แต่ประเด็นข้อเรียกร้องก็มีผลต่อการพิจารณาว่าการเคลื่อนไหวนั้นเป็นการกระทำที่รุนแรงหรือไม่ 

ชาวกรุงเทพฯ มองว่าประเด็นการเรียกร้องที่ไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง เช่น ปัญหาชาวบ้าน เศรษฐกิจปากท้อง (92.0%) ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ และผลกระทบจากการพัฒนา (90.8%) หรือประเด็นสิทธิความเท่าเทียมทางเพศและความปลอดภัยทางเพศ (92.6%) ประเด็นเหล่านี้ได้รับการยอมรับมากที่สุด ว่าไม่ใช่การเคลื่อนไหวที่มีความรุนแรงและสามารถกระทำได้

ขณะที่ประเด็นการเรียกร้องซึ่งเป็นประเด็นทางการเมืองจะได้รับการยอมรับน้อยกว่า เช่น การแก้ไขกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ (87.2%) การต่อต้านหรือขับไล่รัฐบาล (77.4%) การปฏิรูปกองทัพ (74.4%) และประเด็นที่คนให้การยอมรับน้อยที่สุด คือประเด็นการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ (48.8%) 

อ่านความหมาย ‘สันติวิธี’ หรือการไม่ใช้ความรุนแรงในสายตาชาวกรุงเทพฯ

ผลสำรวจนี้สะท้อนทัศนคติของผู้คนในสังคมทั่วไปว่า มีความเข้าใจเรื่องสันติวิธีค่อนข้างจำกัด เพราะการมองว่าปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงจะต้องเป็นการกระทำที่ไม่ผิดกฎหมายนั้น ในทางวิชาการเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะมีการกระทำหลายอย่างที่ละเมิดกฎหมาย แต่เป็น ‘สันติวิธี’ เช่น อารยะขัดขืน (civil disobedince) ซึ่งเป็นการกระทำที่ตั้งใจละเมิดกฎหมาย และผู้กระทำยอมรับที่จะรับโทษตามกฎหมาย เพื่อให้สังคมตื่นตัวและตระหนักว่านโยบายหรือกฎหมายบางอย่างไม่เป็นธรรม

หากพิจารณาควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายในสังคมไทยยังขาดหลักนิติรัฐ และมีการใช้กฎหมายในการ ‘ควบคุม’ มากกว่า ‘คุ้มครอง’ สิทธิของประชาชน เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เป็นต้น ดังนั้น การจำกัดกรอบการกระทำที่ไม่รุนแรงว่าต้องถูกกฎหมายเท่านั้น ทำให้วิธีการอื่นๆ ที่โดยทั่วไปในทางวิชาการถือเป็นสันติวิธี คือไม่ได้ทำให้บาดเจ็บ ล้มตาย หรือทรัพย์สินเสียหาย กลับได้รับการยอมรับหรือเห็นว่าเป็นสันติวิธีน้อยลงไปด้วย

ในด้านการยอมรับรูปแบบการเคลื่อนไหวที่มองว่าจะต้องไม่กระทบกับสิทธิของคนอื่นนั้น เป็นการขัดกับธรรมชาติของการชุมนุมประท้วงที่มักจะเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะอยู่แล้ว ยากที่จะหลีกเลี่ยงการสร้างผลกระทบต่อผู้อื่น นอกจากนี้ การสร้างผลกระทบต่อผู้อื่น หรือขัดขวางช่องทางปกติในการใช้ชีวิตของคนในสังคม กลุ่มเคลื่อนไหวต่างก็ทำลงไปเพื่อเรียกร้องให้ผู้คนหันมาสนใจ และกดดันผู้มีอำนาจหรือผู้เกี่ยวข้องให้เข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ

สำหรับประเด็นการเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรงมักจะได้รับการยอมรับน้อยกว่า แต่อย่างไรก็ดีประชาชนก็ยังเชื่อว่าประเด็นเหล่านั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องได้ แม้ในมุมมองของตนเองอาจมองว่าเป็นประเด็นที่มีความรุนแรงก็ตาม 

ส่วนประเด็นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แม้จะได้รับการยอมรับน้อยที่สุด แต่หากพิจารณาว่าประเด็นนี้เคยเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและ ‘ต้องห้าม’ ในสังคมไทย ก็ถือว่าสังคมไทยมีความก้าวหน้าในการถกเถียงในประเด็นนี้มากขึ้น

ประชาชนยังไม่สิ้นศรัทธาในสันติวิธี

โดยภาพรวมจากการสำรวจในครั้งนี้ แม้ความเข้าใจและการยอมรับต่อการเคลื่อนไหวที่ไม่ใช้รุนแรงของชาวกรุงเทพฯ จะมีลักษณะที่จำกัด แต่ในแง่ความเชื่อมั่น คนส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นว่าสันติวิธียังคงเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาในสังคมไทย จากกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.8 ที่เชื่อมั่นว่าแนวทางสันติวิธีจะสามารถใช้คลี่คลายความขัดแย้งในสังคมไทยได้นั่นเอง

Author

ณัฐภัทร มาเดช
นักเขียน นักแปล นักวิ่ง

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า