1 ตุลาคม 70 ปีวันชาติจีน 114 วัน ประท้วงฮ่องกง

การประท้วงที่ไม่มีแกนนำในฮ่องกงดำเนินมาถึงวันที่ 114 ตรงกับวันชาติจีน การประท้วงครั้งใหญ่ในวันสำคัญเช่นนี้มีกฎข้อเดียว นั่นคือ ‘ยัดชายเสื้อเข้าไปในกางเกง’ โดยผู้ชุมนุมในฮ่องกงนัดหมายเครื่องแต่งกายในแพลตฟอร์มพูดคุยที่เข้ารหัสปลอดภัยอย่างแอพพลิเคชั่น Telegram เพื่อให้ลำบากต่อการแอบพกพาอาวุธในกรณีมีตำรวจนอกเครื่องแบบแฝงตัวในหมู่ผู้ชุมนุม

ผ่านมากว่า 100 วันหลังการประท้วงครั้งใหญ่เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงเมื่อกลางเดือนมิถุนายน สถานการณ์งวดขึ้นทุกขณะ ระหว่างที่ฮ่องกงและจีนนับถอยหลังสู่วันอังคารที่ 1 ตุลาคม หรือวันชาติจีน อันเป็นหมุดหมายที่หลายๆ คนคาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการชุมนุม

 

5 ปีปฏิวัติร่ม 2 วันก่อนวันชาติจีน

วันที่ 1 ตุลาคมเป็นวันชาติจีน หรือวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศเป็นแบบคอมมิวนิสต์ หรือสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 โดยปีนี้ครบรอบ 70 ปี มีการตระเตรียมขบวนพาเหรดทหารและดอกไม้ไฟมากมายล่วงหน้าเป็นเวลานับเดือน พร้อมให้ผู้คนนับแสนเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ทั่วประเทศ และมีแผนจัดงานฉลองกาล่าในช่วงกลางคืนที่จตุรัสเทียนอันเหมินด้วย โดยมีบรรดานักธุรกิจ ประธานองค์กรสื่อมวลชนจากฮ่องกง รวมทั้งผู้นำหญิง แคร์รี หลั่ม (Carrie Lam) เองก็มีกำหนดบินไปยังประเทศจีนเพื่อร่วมเฉลิมฉลองด้วย

ยิ่งใกล้ถึงวันชาติ ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่ปักกิ่งก็ยิ่งหวังจะรักษาภาพลักษณ์ของความเป็น ‘ชาติเดียวกันที่แข็งแกร่ง’ เอาไว้ และจีนก็คงคาดหวังให้ฮ่องกงเป็น ‘เด็กดี’ ที่แสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับจีนด้วยการร่วมแสดงความยินดี

แต่เพียง 2 วันก่อนกำหนดการเฉลิมฉลองวันชาติจีนก็เกิดเหตุปะทะรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมขึ้นในฮ่องกง ระหว่างการชุมนุมครั้งล่าสุด

วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน ผู้ชุมนุมนับพันหลั่งไหลเข้าร่วมการประท้วงเนื่องในโอกาสครบรอบสัปดาห์ที่ 17 ที่ย่านสรรพสินค้าอ่าวคอสเวย์ (Causeway Bay) ในช่วงแรกการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบ จนกระทั่งเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุมในช่วงบ่าย

การชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้มีการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ก่อน โดยทางฝั่งผู้ชุมนุมมีการขว้างก้อนอิฐและระเบิดขวดใส่เจ้าหน้าที่ มีคนพังหน้าต่างสถานที่ทำการของรัฐ เผาทางเข้าสถานีรถไฟใต้ดิน และปิดสถานที่สำคัญ เช่น ย่านการค้าหว่านไจ๋ (Wan Chai) และถนนสายสำคัญๆ ใกล้สำนักงานท้องถิ่นของกองทัพปลดแอกประชาชนของจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อพยายามเดินขบวนเข้าไปให้ถึงสำนักงานใหญ่ที่ทำการรัฐบาลฮ่องกง พื้นที่เป้าหมายของการชุมนุม

ตำรวจฮ่องกงตอบโต้การโจมตีจากผู้ชุมนุมด้วยการฉีดน้ำสีฟ้าจากท่อแรงดันสูงใส่ผู้ชุมนุม สีดังกล่าวล้างออกได้ยากจึงใช้เป็นสีแต้มเครื่องหมายสำหรับเจ้าหน้าที่ว่ามีประชาชนคนใดที่เข้าร่วมการชุมนุมบ้าง นอกจากนี้ตำรวจยังฉีดสเปรย์พริกไทยและยิงแก๊สน้ำตาหลายนัด มีการยิงผู้ชุมนุมด้วยกระสุนยางและกระสุนถุงตะกั่วเพื่อผลักดันผู้ชุมนุมให้ออกห่างจากอาคารที่ทำการรัฐบาลฮ่องกง หน่วยงานด้านการแพทย์ฮ่องกงรายงานว่ามีผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาในวันอาทิตย์ 48 ราย ผู้หญิงหนึ่งรายในนั้นยังคงอาการสาหัสถึงวันจันทร์ที่ผ่านมา

ตกเย็น เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ยิงกระสุนจริงขึ้นฟ้า 1 นัดเป็นการเตือน ตำรวจฮ่องกงกล่าวไว้ในแถลงการณ์ว่า “เจ้าหน้าที่บางคนถูกกลุ่มผู้ชุมนุมหัวรุนแรงล้อมและทำร้าย เจ้าหน้าที่จึงต้องยิงขึ้นฟ้าเป็นการเตือน เพื่อเห็นแก่ความปลอดภัยของตนเองในสถานการณ์คุกคาม”

การประท้วงเมื่อวันอาทิตย์เป็นเหตุสืบเนื่องมาจากการชุมนุมรำลึกเมื่อวันเสาร์ ซึ่งผู้ชุมนุมมารวมตัวกันในโอกาสครบรอบ 5 ปี เหตุการณ์ ‘ปฏิวัติร่ม’ (Umbrella Movement) หรือการชุมนุมเรียกร้องสิทธิ 1 คน 1 เสียงในการเลือกตั้งผู้ว่าฮ่องกง เมื่อ 26 กันยายน 2014 ไม่ต่างไปจากการเรียกร้องในปีนี้ การปฏิวัติร่มเคยสร้างปรากฏการณ์หยุดเมืองฮ่องกงได้ถึง 79 วัน ก่อนจะถูกตำรวจสลายการชุมนุมที่ย่านอ่าวคอสเวย์เช่นเดียวกัน ส่วนปีนี้มีรายงานจากตำรวจว่ามีผู้ชุมนุมถูกจับกุมด้วยข้อหาต่างๆ แล้วทั้งสิ้น 1,596 คน

รัฐบาลฮ่องกงเคยให้สัมภาษณ์ไปเมื่อกลางเดือนกันยายนว่า รัฐบาลจีนที่ปักกิ่งไม่เคยกำหนดเส้นตายในการสลายการชุมนุม และในไฟล์เสียงลับที่สำนักข่าว Reuters เปิดเผยก็มีเพียงเสียงของ แคร์รี หลั่ม พูดยืนยันกับบรรดานักธุรกิจว่า “ทางเขาและเราไม่ได้กำหนดว่าจะต้องจัดการสลายการชุมนุมก่อนวันที่ 1 ตุลาคม” อย่างไรก็ตาม เดวิด หว่อง (David Wong) ผู้ประท้วงวัย 30 ปีคาดการณ์ว่า ทางรัฐบาลปักกิ่งจะไม่มีทางส่งสัญญาณใดๆ อันอาจหมายถึงการ ‘อ่อนข้อ’ ให้กับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมในช่วงการฉลองครบรอบ 70 ปีวันชาติ และน่าจะทำทุกทางเพื่อควบคุมสถานการณ์อย่างที่ตนต้องการ

แม้ว่าจะไม่ได้รับอนุญาตจากตำรวจ แต่ผู้ชุมนุมฮ่องกงประกาศแล้วว่าจะยังชุมนุมต่อไปในวันอังคารที่ 1 ตุลาคม หรือวันชาติจีน เพื่อทวงถามข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อ ซึ่งข้อเรียกร้องหนึ่งในนั้นคือ การขอหลุดพ้นจากอำนาจทางการเมืองของจีนที่ครอบงำระบบเลือกตั้งฮ่องกง และสามารถเลือกผู้ว่าเกาะฮ่องกงได้ด้วยตัวเอง โดยหวังว่าการเผชิญหน้าอาจสร้างความอับอายแก่ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในวันสำคัญ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีการคาดการณ์ถึงการยกระดับการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมด้วย

 

ฮ่องกงในวันชาติจีน

วันที่ 1 ตุลาคม ทางการฮ่องกงจะใช้กำลังเจ้าหน้าที่กว่า 6,000 นาย เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ที่พวกเขาใช้คำว่า “อันตรายที่สุด” ซึ่งอาจจะเกิดจากฝั่งผู้ชุมนุม โดยผู้บัญชาการตำรวจฮ่องกงกล่าวว่า การชุมนุมในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาอาจลุกลามไปสู่ความโกลาหล และรุนแรงถึงขั้น “เข้าใกล้การก่อการร้ายเข้าไปทุกขณะ”

ด้านฝั่งผู้ชุมนุมก็เตรียมรับเหตุวุ่นวายในวันชาติจีนเช่นกัน พวกเขาเชื่อว่าเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจะแฝงตัวเข้ามามากขึ้น จึงมีการนัดแนะให้ทุกคนเอาเสื้อใส่ในกางเกง เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ชุมนุมจริง ไม่ได้มีการซ่อนอาวุธใดๆ ไว้

ที่ผ่านมาตลอดการชุมนุมยืดเยื้อเกือบ 4 เดือน ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาไปทั้งสิ้นมากกว่า 2,000 ถัง และกระสุนยางอีกกว่า 500 นัด

มีชาวฮ่องกงถูกจับเพิ่มอีกอย่างน้อย 2 ราย ระหว่างที่ปักกิ่งกำลังเตรียมการในวันสำคัญ คือ เวนตัส เลา (Ventus Lau) นักกิจกรรม และ เกรเกอรี หว่อง (Gregory Wong) นักแสดง ทั้งคู่ถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับการบุกรุกสถานที่ราชการและสมคบคิดกันก่อความเสียหายทางอาญาระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ส่วนกลุ่ม Civil Human Rights Front ที่เคยเป็นผู้ประสานงานจัดการชุมนุมใหญ่มาแล้วหลายครั้งก็ถูกตำรวจห้ามจัดกิจกรรม ในขณะเดียวกันปักกิ่งก็ขึ้นป้ายโฆษณาชวนเชื่อน้อยใหญ่ทั่วเมืองเพื่อให้ประชาชนอ่านแล้วเกิดความรักชาติ

เดนิส โฮ (Denise Ho) นักร้องและนักกิจกรรมชาวไต้หวันที่ออกมาเรียกร้องให้สมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐผ่านกฎหมายต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนในฮ่องกงก็ถูกชายสวมหน้ากากโจมตีด้วยการเทสีแดงลงบนหัว ขณะกำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่อหน้าคนนับแสน

“ฉันคิดว่าคนฮ่องกงคงไม่หวั่นเกรงหรือยอมแพ้เพราะสถานการณ์เช่นนี้” โฮกล่าว

ในไต้หวันเองก็จับตาดูสถานการณ์ของฮ่องกงอย่างใกล้ชิดด้วยความกังวลว่าไต้หวันอาจเผชิญกับแผนการ ‘รวมชาติจีน’ ด้วย เนื่องจากจีนมองว่าประเทศไต้หวันเป็นเพียงอีกจังหวัดหนึ่งที่แยกตัวออกมาและควรถูกยึดกลับไปอยู่ภายใต้การควบคุมของจีน แม้ต้องใช้กำลังยึดกลับไปก็ต้องทำ และจีนพยายามหว่านล้อมไต้หวันด้วยแนวคิด ‘1 ประเทศ 2 ระบบ’ เช่นเดียวกับระบบที่จีนใช้กับฮ่องกง เพื่อการันตีเสรีภาพบางประการให้กับไต้หวัน

ปัจจุบันฮ่องกงถือได้ว่ามีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยไม่เต็มใบ เนื่องจากสิทธิในการเลือกผู้ว่าฯ นั้นต้องเลือกผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมักเป็นคนที่จีนแผ่นดินใหญ่เลือกมาให้แล้ว โดยมีคนฮ่องกงเพียง 1,200 คนเท่านั้นที่จะมีสิทธิเลือกตั้ง

 

5 ข้อเรียกร้องที่ไม่เปลี่ยนแปลง

ผู้ชุมนุมฮ่องกงยังคงยืนยันว่ารัฐบาลต้องบรรลุข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ได้แก่ ให้มีการถอนกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนโดยสมบูรณ์, หยุดนิยามการชุมนุมเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ว่าเป็นการก่อจลาจล, ให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุม และห้ามดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม, ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุของตำรวจ และให้ชาวฮ่องกงมีสิทธิอย่างแท้จริงในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ (universal suffrage) โดยที่ผ่านมาทำสำเร็จไปเพียงข้อแรกเท่านั้น หลังจากแคร์รีออกมาประกาศยกเลิกร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนอย่างเป็นทางการผ่านโทรทัศน์ในวันที่ 4 กันยายน แต่ไม่มีทีท่าจะตอบสนองต่อข้อเรียกร้องอื่น โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในการเลือกตั้ง แม้โฆษกรัฐบาลจะออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อวันเสาร์ว่าความคิดแบบ ‘1 คน 1 เสียง’ เป็นประเด็นที่ได้รับการบรรจุอยู่ในกฎหมายพื้นฐาน (Basic Law) ของฮ่องกง และรัฐบาลจะปรับปรุงเพื่อบรรลุเป้าหมายให้ได้ในที่สุด

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:

edition.cnn.com

abc.net.au

edition.cnn.com

bloomberg.com

theguardian.com

scmp.com

 

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า