นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ: “เหลือเวลาไม่มากแล้ว” จรรยาบรรณแพทย์และการเคารพเจตนารมณ์ผู้อดอาหารประท้วงความอยุติธรรม

จากการตัดสินใจถอนประกันตนเองของ ‘ตะวัน’ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ ‘แบม’ อรวรรณ ภู่พงษ์ ที่ตัดสินใจอดอาหารและน้ำเพื่อยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1) ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 2) ยุติการดำเนินคดีทางการเมือง และ 3)พรรคการเมืองต้องเสนอนโยบายยกเลิก ม.112 และ ม.116 โดยการประท้วงดังกล่าวล่วงเข้าสู่วันที่ 5 จนสภาพร่างกายของทั้งคู่เข้าสู่สภาวะวิกฤต หลายฝ่ายเริ่มแสดงความกังวลและถกเถียงถึงวิธีการประท้วงนี้เป็นวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม การประท้วงด้วยการอดอาหารและน้ำ (dry fasting) มีผลต่อร่างกายได้มากกว่าการอดอาหารประท้วง (hunger strike) เพราะทุกอวัยวะภายในจะเริ่มรวน นำไปสู่สภาวะไตวาย เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จนเกิดอาการเบลอ อ่อนแรง และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ภายใน 7-10 วันเท่านั้น การเดิมพันกับสังคมครั้งนี้ของตะวันและแบมจึงนับว่ามีราคาที่ต้องจ่ายสูงมาก

ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังไม่มีทางออก และปลายทางที่อาจจะเกิดขึ้นได้มีตั้งแต่การบังคับให้อาหาร (force-feeding) ไปจนถึงการเสียชีวิต 

WAY พูดคุยกับ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา ในฐานะผู้ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคมมาหลายสิบปี เพื่อสำรวจมุมมองด้านจรรยาบรรณแพทย์ การดูแลรักษา และการปฏิบัติกับผู้ต้องหาทางการเมืองที่มีเจตนารมณ์ในการประท้วงด้วยการเอาชีวิตเข้าแลก 

“พวกเขาควรได้เข้าสู่กระบวนการพูดคุยอีกครั้งในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ซึ่งไม่ใช่คุกแน่ๆ และไม่ใช่เพื่อเกลี้ยกล่อม แต่เพื่อให้เกิดการทบทวนใหม่ ว่าพวกเขายังสามารถเดินไปสู่เป้าหมายได้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อไป” 

การหาแนวทางตรงกลาง การคาดการณ์ล่วงหน้า รวมไปถึงการตัดสินใจร่วมกันเพื่อป้องกันสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด ยังคงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมติดตาม ร่วมผลักดัน และร่วมรักษาชีวิตที่เท่าเทียมกันในสิทธิความเป็นมนุษย์

สภาพร่างกายของทั้งตะวันและแบม ถ้านับถึงวันนี้จะมีภาวะอย่างไรบ้าง

ตอนนี้ทั้งคู่อดอาหารและน้ำเข้าสู่วันที่ 5 (23 มกราคม) แล้ว อดทุกอย่างจนไม่มีอะไรเข้าสู่ร่างกาย ปกติการอดอาหาร 2-3 วัน ระบบร่างกายก็รวนแล้ว ตอนนี้เข้าสู่วันที่ 5 จึงนับเป็นสภาวะวิกฤตมาก 

ตอนนี้ร่างกายของทั้งคู่น่าจะเข้าสู่กระบวนการขาดน้ำอย่างรุนแรง เมื่อร่างกายขาดน้ำ ระบบอวัยวะอื่นๆ ก็ขาดน้ำไปด้วย ประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะก็จะลดลง ยกตัวอย่างเช่น ความดันตก สมองขาดน้ำ จนทำให้การรับรู้ การสื่อสาร และการตัดสินใจช้าลง กล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวจะไม่สามารถประสานงานได้เหมือนเดิม ทรงตัวลำบาก สมดุลเกลือแร่จะแย่ลง 

สิ่งเหล่านี้จะส่งผลในระยะยาวด้วยไหม

คงไม่ยาวหรอกนะ การอดอาหารจะอยู่ได้ประมาณ 1-2 เดือน แต่อดน้ำอยู่ได้เพียง 7 วัน ไม่เกิน 10 วัน ตับจะล้มเหลว ไตจะวาย ภูมิต้านทานลด ร่างกายจะทรุดลงจนช็อคและเสียชีวิต 

มองไปถึงวันข้างหน้า หากทั้งคู่ยุติการประท้วงไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม ต้องทำอย่างไรเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวจนกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้อีกครั้ง

ประเด็นที่สำคัญเวลาเรารักษากลุ่มคนที่อดอาหารและน้ำมาเป็นระยะเวลานาน อาจจะไม่ใช่จากการประท้วงทางการเมืองอย่างเดียว แต่จากการลอยคอในทะเลหรือประสบอุบัติภัยต่างๆ แพทย์ต้องระวังสิ่งที่เรียกว่า ‘Refeeding Syndrome’ ให้มาก

หลักการคือต้องค่อยๆ ให้กินอาหารและน้ำทีละนิด เกลือแร่ก็เช่นกัน เพราะในสภาวะที่ร่างกายขาดสารอาหารแล้วเราป้อนทุกอย่างกลับเข้าไปอย่างรวดเร็ว ร่างกายคนไข้ก็จะดูดซับสารอาหารในปริมาณมากทันที เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเกิดสภาวะเกลือแร่ไม่สมดุล เกิดภาวะเกลือแร่ล้นเกินจนร่างกายอาจแย่ลงได้ ขณะที่ลำไส้ซึ่งไม่ได้รับสารอาหารมาอย่างยาวนานก็จะปฏิเสธการรับอาหาร ทำให้ปวดท้องหรืออาเจียนออกมาได้ 

ทางที่ดีต้องค่อยๆ ปรับค่าสมดุลร่วมกับการดูแลทางการแพทย์และการให้น้ำเกลือ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ 

ในกรณีคนไข้ทั่วไป จรรยาบรรณแพทย์ในการดูแลรักษาควรทำอย่างไร

จรรยาบรรณหลักของแพทย์จริงๆ คือการเคารพการตัดสินใจของคนไข้ เคารพต่อความคิดความเห็นของเขา ภายใต้การตัดสินใจที่สมบูรณ์ด้วยเหตุผลและมีสติสัมปชัญญะ ตัวอย่างคือ คนไข้มะเร็งที่ขอไม่รับการรักษาแล้ว โดยตัดสินใจด้วยสติสัมปชัญญะและมีข้อมูลที่เพียงพอ แพทย์ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของเขา หากเป็นผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวก็ต้องเคารพการตัดสินใจของญาติ นี่เป็นศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่แพทย์ทุกคนต้องเคารพ ร่างกายและชีวิตเป็นของเขา ไม่ใช่ของหมอ

กรณีการอดอาหารและน้ำด้วยเจตนารมณ์ทางการเมือง แพทย์ต้องใช้หลักจรรยาบรรณเดียวกันนี้ด้วยหรือไม่

เช่นเดียวกัน เพราะเขาได้ตัดสินใจภายใต้เหตุและผลที่ชัดเจนดังในแถลงการณ์และการประกาศต่างๆ สิ่งที่แพทย์ทำได้คือการเคารพการตัดสินใจ 

แต่ก็ไม่ได้แปลว่าแพทย์จะไม่ช่วยอะไรพวกเขาเลย เพราะภายใต้การตัดสินใจไปแล้วนั้น แพทย์ยังสามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่พวกเขา สร้างความไว้วางใจ จัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุย หรือหารือเข้มข้นกับผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมได้ เพื่อหาทางออกที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้จนนำมาสู่การช่วยชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้และจำเป็นต้องทำ ไม่ใช่ปล่อยพวกเขาไปตามยถากรรม 

ในกรณีฉุกเฉิน เช่น การหมดสติ พวกเขายังสามารถปฏิเสธการรักษาได้หรือไม่

ปฏิเสธได้ มี 2 หนทาง หนทางแรกคือการปฏิเสธ ณ ขณะนั้นหากพวกเขายังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน หนทางที่สองคือ การแสดงเจตจำนงล่วงหน้า เช่น หนังสือแสดงเจตจำนง เป็นต้น หากมีเจตจำนงชัดเจนแล้ว แม้จะหมดสติไปแล้ว เราก็ต้องเคารพในเจตจำนงเดิมของเขา 

การประกาศเจตนารมณ์ของทั้งคู่ตั้งแต่ช่วงถอนประกันตนเอง จนถึงช่วงเวลาปัจจุบัน ถือว่าเข้าข่ายการแสดงเจตจำนงล่วงหน้าด้วยหรือไม่

แล้วแต่การตีความ ส่วนตัวผมมองว่า นั่นคือการแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนแล้ว เพราะแสดงเจตนารมณ์ในขณะที่พวกเขายังมีสติครบถ้วน และพวกเขาทำตามที่กล่าวเอาไว้จริง

หากขึ้นอยู่กับการตีความ ใครคือผู้ตีความเจตจำนงของทั้งคู่ 

คงต้องเป็นคณะกรรมการที่ดูแลร่วมกัน เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและยากในการตัดสินใจ 

จริงๆ เรื่องนี้ถ้าจะแก้ปัญหา ผมคิดว่าภาครัฐต้องแก้ปัญหาด้วยการตั้งที่ปรึกษาร่วมกัน อาจจะมีฝั่งทนายความของทั้งคู่ ญาติ และตัวแทนภาครัฐ และต้องย้ายทั้งคู่ไปดูแลในโรงพยาบาล หากหลังการพูดคุยให้คำปรึกษาอย่างเข้มข้น เขามีเจตนารมณ์ในการอดอาหารและน้ำต่อ แพทย์ก็จะได้สามารถปฏิบัติการเฝ้าระวังภาวะที่จะกระทบสุขภาพที่หลีกเลี่ยงได้ให้มากที่สุด เพราะโรงพยาบาลเปลี่ยนเป็นคุกชั่วคราวได้อยู่แล้ว โดยทั่วไปเมื่อมีคนป่วยมาจากคุก เราก็ดูแลได้ มีการจำกัดเสรีภาพ จำกัดการเข้าถึงมือถือ อาจจะมีโซ่ตรวน แต่ก็จะมีการดูแลทางการแพทย์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก

หากทั้งคู่มีความคลางแคลงใจต่อโรงพยาบาลในสังกัดกรมราชทัณฑ์ ก็ควรให้ไปยังโรงพยาบาลในสังกัดของรัฐอื่นๆได้ทุกแห่ง นี่น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ก็ได้ เพราะทั้งคู่เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ 

กระบวนการทำงานของโรงพยาบาลในสังกัดกรมราชทัณฑ์แตกต่างจากโรงพยาบาลทั่วไปหรือไม่ ทำไมทั้งคู่จึงรู้สึกไม่ปลอดภัยกับโรงพยาบาลนี้ 

คิดว่ากระบวนการคงไม่ต่าง แต่ความแตกต่างที่สุดคงเป็นเรื่องของความเชื่อมั่น ซึ่งแพทย์คงมีจรรยาบรรณแพทย์ไม่ต่างกัน แต่โรงพยาบาลหลักนอกกรมราชทัณฑ์มีแพทย์หลายสาขาและรับมือกับการดูแลในสภาวะวิกฤตได้ดีกว่า

การไปโรงพยาบาลนอกราชทัณฑ์ ข้อดีคือมีความโปร่งใส มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นประโยชน์กับภาครัฐ ราชทัณฑ์ และรัฐบาลมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะแสดงให้เห็นว่ามีความพยายามที่จะดูแลสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ให้ดีที่สุด เราควรรีบย้ายทั้สองคนไปโรงพยาบาลด้วย ในช่วงที่เขายังมีสติสัมปชัญญะอยู่ สร้างบรรยากาศการพูดคุยให้คำปรึกษาที่อบอุ่น ไว้วางใจได้ และเคารพความคิดของน้องเขา เผื่อมีการเปลี่ยนใจ ในการดำรงเป้าหมายที่อาจบรรลุได้ในอนาคตหากยังรักษาชีวิตไว้ได้  แต่หากทิ้งไว้ในคุกหรือส่งตัวออกมาช้า สองคนนี้จะเสียชีวิตแน่ เพราะผมเชื่อว่าเขาทั้งสองเอาจริงกับการประท้วงครั้งนี้

ถึงจุดหนึ่ง การบังคับให้กินอาหาร (force-feeding) สามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่

หากเคารพในความเป็นมนุษย์นิยมก็คงจะไม่ทำ จริงๆ แพทย์ไม่มีสิทธิ์ทำแบบนั้น เพราะมันไม่เคารพต่อเจตนารมณ์ของเขา 

ในบางประเทศที่มีการอดข้าวประท้วงทุกวันนี้ก็ยังมีการทำกันอยู่ วิธีการก็คือ จับมัดคนไข้เอาไว้แล้วใส่สายยางเข้าไปทางจมูก ก่อนจะป้อนสารอาหารเข้าไป จะไม่ค่อยใช้สายน้ำเกลือ เพราะคนไข้อาจดิ้นจนเข็มหลุดได้ง่าย ซึ่งผลกระทบหลักๆ คือส่งผลกระทบต่อจิตใจเป็นสำคัญ และไม่เคารพความเป็นมนุษย์ของเขา

ใครจะเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในการบังคับให้กินอาหาร

ถ้าอยู่ในคุกก็คงเป็นเจ้าหน้าที่ในราชทัณฑ์ แต่ก็ต้องมีแพทย์หรือพยาบาลในการใส่ท่อต่างๆ แต่เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แนวปฏิบัติทางการแพทย์ในการบังคับให้อาหารนั้น เราจะไม่ทำกัน 

ย้อนกลับไปเรื่องการเคารพการตัดสินใจของคนไข้ หากคนไข้มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์แล้ว แพทย์สามารถเพิกเฉยต่อเจตนารมณ์ของคนไข้ได้หรือไม่

เมื่อสติสัมปชัญญะของเขาไม่สามารถตัดสินใจได้แล้วหลังอดน้ำอดข้าวจนอาการแย่ลง แพทย์ก็ต้องไตร่ตรองถึงเจตนารมณ์ของผู้อดอาหารอดน้ำประท้วง หากเขามีเจตนาชัดก็ต้องเคารพการตัดสินใจของเขา 

ถ้าเช่นนั้น เจตนารมณ์ที่ประกาศไว้ตั้งแต่แรกว่าจะปฏิเสธการรักษา แพทย์สามารถข้ามไปได้เลยหรือไม่ 

หากถามความเห็นส่วนตัวของผม ผมก็อยากจะข้ามไปเลยนะ ไม่อย่างนั้นก็จะไม่สามารถรักษาชีวิตของเขาไว้ได้ แต่ถ้าเรามีวิธีที่ดีกว่านั้นก็จะดีที่สุด คือ ให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาจนเกิดข้อตกลงที่ยอมรับได้ที่จะยุติการอดอาหารและน้ำ ในขณะที่พวกเขายังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนสมบูรณ์

หากปล่อยให้ถึงขนาดสมองไม่ทำงานจากการขาดน้ำรุนแรง ตรงนั้นจะยากแล้วในการแก้ไขปัญหา

ทางออกที่ดีที่สุดจากสถานการณ์นี้คืออะไร

มีสิ่งที่เรียกว่า ‘Intensive Counseling’ คือ พวกเขาควรได้เข้าสู่กระบวนการพูดคุยอีกครั้งในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ซึ่งไม่ใช่คุกแน่ๆ และไม่ใช่เพื่อเกลี้ยกล่อม แต่เพื่อให้เกิดการทบทวนใหม่ ว่าพวกเขายังสามารถเดินไปสู่เป้าหมายได้ในขณะที่ยังมีชีวิต

กระบวนการนี้ไม่ใช่ทำสำเร็จได้เพียงครั้งเดียว อาจต้องพูดคุยกัน 2 ครั้ง 3 ครั้ง หรือมากกว่านั้น อย่างไรก็ตาม หากพวกเขายังยืนยันที่จะใช้วิธีเดิมต่อไป ก็ยังสามารถประท้วงด้วยวิธีการนี้ต่อไปได้ในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุด ภายใต้เจตจำนงอันแน่วแน่ของเขาที่เราต้องเคารพ

สิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นคือ หากเกิดความสูญเสียไปแล้ว แพทย์ที่ดูแลอยู่ถือว่าผิดจรรยาบรรณในการช่วยชีวิตหรือไม่

เป็นคำถามที่ตอบยากนะ เพราะมันคือทางสองแพร่ง (dilemma) ของสังคมทั้งหมด แต่เมื่อเกิดในสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด หากเราดูแลเต็มที่แล้ว แม้เราจะเสียใจแต่เราไม่ผิดจรรยาบรรณ แต่การบังคับ feed อาหารต่างหากที่ผิดจรรยาบรรณ 

คำถามที่ควรถาม คือ ในฐานะแพทย์หรือเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ที่รับผิดชอบชีวิตพวกเขา เราทำอย่างไรได้บ้างเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์นี้ให้ได้มากที่สุด ฝ่ายราชทัณฑ์จะจัดกระบวนการดูแลผู้ต้องขังเช่นนี้อย่างไรด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ ที่ทั้งเคารพเจตนารมณ์ของเขาและพยายามให้เกิดการแก้ปัญหาจนสามารถเปลี่ยนใจผู้ต้องขังจนออกจากวิกฤตได้  

เป็นการตัดสินใจที่ยากหากจะมีการสูญเสีย แต่ควรคิดล่วงหน้าเอาไว้ และเป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรม ควรถามกระทรวงยุติธรรมด้วยซ้ำ มันอาจเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องสมบูรณ์ แต่เป็นคำถามที่จำเป็นสำหรับการเตรียมตัวเผชิญสถานการณ์วิกฤตที่กำลังมาถึง

คำถามสุดท้าย แพทย์ทั่วไปควรวางตัวอย่างไรในการเลือกระหว่างการรักษาชีวิต กับการเคารพเจตนารมณ์คนไข้ 

โดยหลักการ เราต้องเลือกเคารพเจตนารมณ์ของคนไข้ แต่ถ้าพูดแบบตรงไปตรงมานะครับ แพทย์ถูกสอนให้รักษาชีวิตเป็นหลัก ตัวอย่างสำคัญคือ พุทธทาสภิกขุที่ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่ขอใส่ท่อช่วยหายใจ แต่เมื่อท่านเป็นอะไรไปเหล่าลูกศิษย์และแพทย์ก็ตัดสินใจใส่ท่อ ให้ท่านไปนอนโรงพยาบาลอีก 2 เดือน จึงเสียชีวิต 

ดังนั้นชุดความคิดหลักของแพทย์ไทยคือ รักษาชีวิตไว้ก่อน ซึ่งก็ไม่ได้ผิด แต่การเคารพสิทธิในการตัดสินใจของคนไข้ในกรณีนี้สำคัญกว่า เพราะนี่คือศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของตะวันและแบม 

ผมยังหวังว่าจะมีตรงกลางอยู่ จริงๆ พื้นที่ตรงกลางยังมีได้หากทุกฝ่ายร่วมพูดคุยกันเพื่อจะแก้ไขสถานการณ์นี้ เวลาเหลือน้อยมากๆแล้วครับ

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า