ลี้ภัยทางการเมืองปลอดภัยแค่ไหน กรณีศึกษาจากประเทศจีน

ตั้งแต่ที่ฮ่องกงนั้นได้ถูกรัฐบาลจีนเข้ามารวบอำนาจในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ด้วยการถือวิสาสะปรับแก้บทบัญญัติภายในรัฐธรรมนูญ (Basic Law) เพื่อแทรกข้อบังคับในด้านการแบ่งแยกดินแดน การดึงอิทธิพลของรัฐบาลต่างชาติเข้ามายุ่งเกี่ยว และการใช้อำนาจเหนือดินแดนของรัฐบาลจีนบนแผ่นดินฮ่องกง ฮ่องกงก็ไม่ใช่ดินแดนที่มีเสรีภาพทางการเมือง และการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอีกต่อไป แกนนำม็อบฮ่องกง และวัยรุ่นต่างก็เริ่มวางแผนที่จะอพยพ ย้ายถิ่นฐานออกจากฮ่องกงไปอยู่ประเทศอื่น ใครที่เกิดก่อนยุค 2000 หลายปี พอมีลู่ทาง และพาสปอร์ต BNO ก็พากันอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่อังกฤษเพื่อตั้งรกรากกันใหม่ ส่วนใครที่ไม่มี BNO หรือมีทางเลือกน้อยกว่านั้น ก็ทยอยพากันไปอยู่ไต้หวันบ้าง ออสเตรเลียบ้าง หลายคนต่างยอมรับกันว่าฮ่องกงนั้นไม่ใช่ฮ่องกงแบบเมื่อก่อนอีกต่อไปแล้ว เพราะรัฐบาลจีนได้เข้ามาควบคุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ

จะทำอะไรก็สามารถทำได้เลยโดยตรงไม่ต้องผ่านรัฐสภา หรือผ่านสำนักบริหารพิเศษของ แคร์รี หลั่ม (Carrie Lam) เนื่องจากในขณะนี้จีนได้เข้ามาตั้งสำนักงานด้านความมั่นคง (Office for Safeguarding National Security of the Central People’s Government) ที่เป็นเหมือนตัวแทนของรัฐบาลจีนในการปฏิบัติการใช้อำนาจเหนือดินแดนฮ่องกง ทำให้รัฐบาลจีนสามารถบริหารอำนาจ และอิทธิพลของตนเองภายในฮ่องกงได้อย่างอิสระ เมื่อสัปดาห์ก่อนที่มีการประกาศตัดสิทธิทางการเมืองแกนนำม็อบเยาวชนของฮ่องกง รวม โจชัว หว่อง (Joshua Wong) และพรรคพวกนี้ก็ตั้งข้อสังเกตกันว่าเป็นฝีมือของรัฐบาลจีนที่ได้ส่งใบสั่งลงมายังคณะกรรมการการเลือกตั้งของฮ่องกง ให้พยายามงัดบทบัญญัติทางด้านความมั่นคงมาใช้เป็นเหตุผลเพื่อผลัก โจชัว หว่อง ออกจากกระดานการเมือง แถมในเวลาไล่เลี่ยกันยังมีการประกาศจากสำนักงานตำรวจฮ่องกงอีกด้วยว่าจะออกหมายจับเอาไว้ตามล่าแกนนำม็อบฮ่องกงที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศเยอรมนี สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ

ซึ่งก็เดากันไม่ยากว่าคงไม่พ้นฝีมือของรัฐบาลจีนที่เป็นคนบงการลงมา เพราะรัฐบาลฮ่องกงนั้นคงไม่มีอิทธิพล และความกล้ามากพอที่จะไปงัดข้อกับอังกฤษ และเยอรมนีแน่ๆ ถ้าหากไม่มีรัฐบาลจีนคอยหนุนหลัง (และหลังจากที่ตำรวจฮ่องกงออกหมายจับเตรียมจะตามล่าผู้ลี้ภัยทางการเมืองไม่ทันข้ามวัน ทางเยอรมนีก็ได้ระงับสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับทางฮ่องกงทันที) สิ่งที่น่าสนใจในประเด็นนี้คือ จะมีการออกหมายจับ หรือส่งสัญญาณแกล้งทำทีเป็นจะออกตามล่าบุคคลตามรายชื่อไปเพื่ออะไร ในเมื่อมีความเป็นไปได้น้อยมากๆ ที่จะสามารถส่งคนออกไปตามจับ หรือตะครุบตัวให้กลับมารับผิด ลงโทษ ขึ้นศาล แบบที่จีนกระทำภายในฮ่องกง โดยเฉพาะในสภาพการณ์ที่หลายๆ ประเทศในเครือพันธมิตรของสหรัฐอเมริกากำลังวางแผนจะสั่งระงับสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับทางฮ่องกงออกไปก่อนแบบไม่มีกำหนดตามอังกฤษ และออสเตรเลียเช่นนี้

เหตุผลและความเป็นไปได้หลักๆ คือ การสร้างความหวาดกลัว และเล่นสงครามประสาทกันกับกลุ่มแกนนำที่กำลังลี้ภัยอยู่ภายในต่างประเทศ แม้ว่าในทางเทคนิคแล้วรัฐบาลจีน หรือรัฐบาลฮ่องกงจะไม่สามารถบุกรุกตามเข้าไปจับตัวผู้ต้องหาตามหมายจับในต่างประเทศได้โดยอุกอาจพลการ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะอับจนหนทางไปเสียทีเดียว เพราะหน่วยข่าวกรอง และกองทัพ PLA (People’s Liberation Army) ของประเทศจีนเองก็มีบุคลากรกระจายตัวอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่น้อยหน้าไปกว่าสหรัฐอเมริกาที่มี CIA (Central Intelligence Agency) กระจายตัวอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ เช่นเดียวกัน ยิ่งถ้าพิจารณาจากฐานของกระแสข่าวในคดีอื้อฉาวเกี่ยวกับ ดิคสัน โหยว (Dickson Yeo) ชาวสิงคโปร์ที่เป็นสายลับทำงานหน้าฉากให้แก่รัฐบาลจีนและหน่วยข่าวกรองของจีนโดยใช้เว็บไซต์ LinkedIn เป็นเครื่องมือหลักในการปฏิบัติการ และกรณีการสั่งปิดสถานกงสุลของประเทศจีนภายในมลรัฐเท็กซัส เพื่อจะล้อมจับสายลับจีนในซานฟรานซิสโก เมื่อช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาก็จะยิ่งเห็นภาพ และขีดความสามารถของรัฐบาลจีนในการเล่นเกมนอกประเทศได้ชัดมากขึ้น

การปฏิบัติการตามจับผู้ลี้ภัยทางการเมืองนั้นจึงไม่ใช่สิ่งที่อยู่ห่างไกลจากมือของรัฐบาลจีนจนเกินเอื้อมอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ แต่เป็นเหมือนอย่างที่ CIA ได้แฝงตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกนั้นแล ข้อมูลจากผู้อำนวยการ FBI (Federal Bureau of Investigation) คนปัจจุบันเผยว่าในสหรัฐอเมริกานี้ ทุกเวลา 10 ชั่วโมงจะมีคดีที่เกี่ยวกับรัฐบาลจีนถูกส่งมาให้กับทาง FBI จัดการเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ (ทำให้ล่าสุดนี้มีอย่างน้อยราวๆ 2,500 กว่าคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีนกองอยู่ภายใน FBI) ตัวอย่างของการคุกคามประชาชนภายนอกประเทศโดยหน่วยงานทางด้านความมั่นคงของรัฐบาลจีนก็เช่นการส่งเจ้าหน้าที่ของตนเองบุกเข้าไปสอดแนม ณ บริเวณสถานที่อยู่อาศัยของบุคคลเป้าหมายที่ถูกรัฐบาลจีนเพ่งเล็งโดยตรง ไม่ว่าจะแสดงตัวหรือไม่แสดงตัวก็ตาม ในบางกรณีที่มีการแสดงตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลก็อาจจะไปเคาะประตูบ้านเป้าหมายภายในประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อขอพูดคุย และส่งสัญญาณให้รู้แบบตรงๆ เลยว่าคนคนนั้นกำลังถูกจับตามองโดยรัฐบาลอยู่

หรือในอีกกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือการส่งเจ้าหน้าที่แฝงตัวไปอยู่กับสถาบันภาษาอย่างสถาบันขงจื๊อตามมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งต่างๆ เพื่อทำการสอดส่อง ดูแล และตรวจสอบว่านักวิจัย นักวิชาการ หรือนักศึกษาที่มีพื้นเพมาจากประเทศจีน และฮ่องกงคนใด กลุ่มใดมีพฤติกรรมที่เอนเอียงไปทางการต่อต้าน วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีน ก็จะมีการจัดการในขั้นพื้นฐานด้วยวิธีการเข้าไปแทรกแซงเอากับทางมหาวิทยาลัย แล้วข่มขู่บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยว่าถ้าหากไม่ให้ความร่วมมือก็อาจจะมีมาตรการลงโทษจากทางรัฐบาลจีนได้ หรือในกรณีที่เรื่องราวใหญ่โตกว่านั้นก็อาจจะมีการแฝงตัวเข้าไปทำร้ายร่างกายผู้ที่มีความเห็นต่อต้านรัฐบาลจีนได้ (เช่น ในกรณีการประท้วงคัดค้านกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของฮ่องกง ที่เกิดขึ้นภายในออสเตรเลีย ก็มีข่าวการตะลุมบอนระหว่างคนจีนชาตินิยม และผู้มีความเห็นต่อต้านรัฐบาลจีนจนเกิดเป็นคลิปวิดีโอส่งต่อกันเป็นทอดๆ ในโลกออนไลน์ เมื่อปี 2019)

และด้วยความที่พฤติการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอย่างถี่ๆ ทำให้ในเวลา 4 ปีตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เข้ามาเป็นรัฐบาล สหรัฐอเมริกาได้ทำการยกเลิกวีซ่า J-1 ของประชาชนชาวจีนที่รัฐบาลต้องสงสัยว่ามีความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกับกองทัพ PLA ไปแล้วไม่น้อยกว่า 3,000 คน โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาให้เหตุผลต่อกรณีเหล่านี้ว่า คนที่โดนขึ้นบัญชีดำ หรือโดนกระทรวงการต่างประเทศกีดกันไม่ให้ต่ออายุวีซ่า หรือเข้ามาอาศัยอยู่ในแผ่นดินสหรัฐอเมริกานั้น เป็นเพราะคนเหล่านั้นได้ทำการโกหกและปิดบังสายสัมพันธ์ที่ตนเองมีต่อกองทัพ PLA จากกระทรวงการต่างประเทศในขั้นตอนของการกรอกรายละเอียดภายในวีซ่า (กรณีที่มีการตามล่าสายลับจีนภายในสถานกงสุลจีน ณ ซานฟรานซิสโกในเดือนกรกฎาคม ก็เป็นหนึ่งตัวอย่างของคดีในลักษณะนี้) จะเห็นได้ว่ารัฐบาลจีนนั้นส่งสายลับ และส่งเจ้าหน้าที่ของกองทัพ PLA ออกมาปฏิบัติการนอกประเทศปีละจำนวนมาก

มันจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถสรุปได้ว่ารัฐบาลจีนไม่มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะส่งคนของตนเองตามไปรุกรานผู้ลี้ภัยทางการเมืองยังต่างประเทศ จริงอยู่ที่ว่าการรุกราน หรือคุกคามอาจจะไม่ได้ใช้วิธีการที่โจ่งแจ้งเถรตรงเสมอไปแบบรัฐบาลรัสเซีย (ที่ใช้อาวุธเคมี Nerve Agent ในการลอบสังหารอดีตสายลับของตนเองภายในประเทศอังกฤษ) แต่สิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนได้กระทำอยู่ด้วยแบบแผนวิธีดังกล่าวนั้น ก็มีอิทธิพลมากพอที่จะส่งผลกระทบทางด้านสภาพจิตใจของผู้ลี้ภัยทางการเมือง ให้ต้องพบกับความหวาดระแวง ความหวาดกลัว และความไม่แน่นอนว่าตนเองจะถูกรัฐบาลจีนตามมาคุกคามเมื่อใดบ้าง แค่นี้ก็มากเพียงพอแล้วที่จะทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมือง และการจัดกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มบุคคลที่โดนตามข่มขู่เหล่านี้มีความราบรื่นได้น้อยลงมากขึ้น เพราะต้องมัวระแวดระวัง และกังวลกับคำขู่จากทางรัฐบาลจีน (แกนนำและสมาชิกของกลุ่มม็อบฮ่องกงที่ได้ลี้ภัยออกไปอยู่ต่างประเทศในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมานี้ บางคนก็ยังเก็บตัวเงียบไม่ยอมเปิดเผยตำแหน่งที่อยู่ใหม่ของตนเองเลย เพราะไม่ต้องการให้รัฐบาลจีนล่วงรู้แล้วตามมาคุกคาม)

ตัวชี้วัดตัวหนึ่งที่ช่วยสะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นทุ่มเท และความพยายามในภารกิจด้านงานข่าวกรอง และความมั่นคงนอกประเทศของรัฐบาลจีนว่ามีมากเท่าใดนั้น ให้ดูจากปริมาณเม็ดเงิน และงบประมาณที่รัฐบาลจีนอัดเข้าไปให้แก่กระทรวงความมั่นคงแห่งชาติ (Ministry of State Security) อย่างต่ำๆ 8,000,000,000 ดอลลาร์

ซึ่งจากกรณีการสารภาพความผิดของสายลับชาวสิงคโปร์ที่ทำงานให้กับรัฐบาลจีนนั้น จะทราบว่ารัฐบาลจีนได้ถึงขั้นมอบบัตรกดเงินสดที่สามารถกดเงินออกมาใช้ได้ไม่อั้นให้แก่เขา เพื่อเอาไว้ใช้อำนวยความสะดวกในภารกิจการจารกรรมข้อมูล ความลับทางการค้า อาวุธสงคราม และเทคโนโลยีชนิดต่างๆ ภายในสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะ (ดิคสัน โหยว เปิดบริษัทที่ปรึกษาเอาไว้ใช้เป็นฐานปฏิบัติการ แล้วทำการติดต่อไปจ้างเจ้าหน้าที่รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาให้ขายข้อมูลทางด้านความมั่นคงให้แก่รัฐบาลจีนในราคาครั้งละไม่ต่ำกว่า 60,000 บาท หรือ 2,000 ดอลลาร์)

ฉะนั้นถ้าว่ากันจากจุดนี้ก็อาจกล่าวได้ว่าจีนอาจจะแค่ไม่นิยมมาตรการรุนแรง อุกอาจถึงขั้นลอบสังหารแบบกรณีของรัสเซีย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจีนมีแต่คำขู่ มีแต่การตั้งหมายจับออกมาลอยๆ โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความจริงที่ว่าสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นถูกระงับออกไปก่อนแล้วแต่อย่างใด เพราะจากพฤติกรรม และนโยบายต่างประเทศที่ออกมาผ่านกระทรวงความมั่นคงฯ นั้นก็ค่อนข้างส่งสัญญาณให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าจีนเพียงแค่มีวิธีและแบบแผนในการปฏิบัติการในรูปแบบเฉพาะของจีน ซึ่งก็คือการใช้มาตรการกดดัน และการตามไปเกาะแกะคุกคามในหลายรูปแบบรวมกัน เพื่อให้อีกฝ่ายนั้นรู้สึกถึงอิทธิพลของจีนจนต้องเป็นฝ่ายเลือกที่จะ fade ตัวเองออกไปจากสนามเอง (self-censorship)

ซึ่งสำหรับจีนนั้นวิธีดังกล่าวนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นวิธีที่ได้ผลเป็นอย่างมากต่อประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมืองที่พำนัก หรือหนีไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ หลายครอบครัวที่อพยพไปตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกาเองก็ยอมรับว่าแม้จะอยู่ในแผ่นดินอเมริกา พวกเขาก็ยังกังวลเรื่องรัฐบาลจีนจะตามมาคุกคามกันอยู่

Author

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข
อดีตนักวิจัยฝึกหัดจากสถาบัน Richardson ประเทศอังกฤษ สนใจในประเด็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ กับยุทธศาสตร์ทางด้านการทูตของจีน และไต้หวัน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ มีประสบการณ์ทางด้านมานุษยวิทยาเล็กน้อย ปัจจุบันกำลังศึกษาประเด็นเกี่ยวกับโรฮิงญา และความเป็นไปทางภูมิรัฐศาสตร์ของการเมืองโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า