อี้อู หมู่บ้านต้นคริสต์มาส

credit: epa.eu

แม้คริสต์มาสจะไม่ใช่เทศกาลหลักของสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ ‘หมู่บ้านคริสต์มาส’ กลับซ่อนตัวอยู่ที่นี่

หมู่บ้านคริสต์มาส เป็นอีกชื่อของเมืองอี้อู (Yiwu) ดินแดนตอนกลางของมณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang) อุปกรณ์ตกแต่งในเทศกาลคริสต์มาสประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของโลกถูกส่งตรงมาจากโรงงานรอบๆ เมืองนี้ จนใครๆ ก็เรียกเมืองอี้อูว่า ‘ตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลก’ ห่างจากเซี่ยงไฮ้เพียงหนึ่งชั่วโมงนิดๆ ของรถไฟความเร็วสูง

ในเทศกาลศิลปะของตลาดค้าส่งแห่งเมืองอี้อู (Festival Arts subdivision of the Yiwu International Trade Market) ทุกๆ วันคือวันคริสต์มาสเพราะที่นี่ คือตลาดค้าส่งสิ่งละอันพันละน้อยของเทศกาลคริสต์มาสที่ใหญ่ที่สุดในโลก

แต่ละโรงงานคือแหล่งชุมชนคนผลิตของเหล่านี้ ซึ่งนั่งเรียงกันเป็นแถว ซอยแบ่งพื้นที่ด้วยคอกกั้นเล็กๆ รอบตัวแต่ละคนรายล้อมไปด้วยสินค้าต่างๆ ตั้งแต่หน้ากากซานต้า ถุงเท้ายาว ต้นคริสต์มาสจำลอง และเครื่องประดับแวววาวมากมาย

credit: epa.eu

พื้นที่ทำงานเล็กๆ ของแต่ละคน ทำหน้าที่ไม่ต่างจากโชว์รูม ให้ลูกค้าเดินผ่านไปผ่านมาเลือกซื้อ จับจ่ายในปริมาณค้าส่ง

“ต้นคริสต์มาสที่เราทำเกือบทั้งหมดส่งขายที่ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงสายรุ้งตกแต่งและไฟประดับด้วย” เหริ่งกั๋วอัน (Reng Guoan) ผู้จัดการทั่วไปของโรงงานต้นคริสต์มาส Sinte An ที่ผลิตต้นคริสต์มาสปีละกว่า 1 ล้านต้น เขายังบอกอีกว่า

“ส่วนคนอังกฤษชอบต้นแบบคลาสสิก ไม่มีไฟฟ้าประดับมากกว่า ขณะที่คนออสเตรเลียไม่ค่อยชอบซื้อต้นปลอม พวกเขาชอบเข้าป่าแล้วตัดของจริงมาเลย”

เทียบกับมณฑลอื่นๆ เจ้อเจียงมีสภาพเศรษฐกิจดีที่สุด แม้แรงงานหลักจะมาจากคนต่างถิ่นที่อพยพเข้ามาหารายได้ที่ดีกว่า

ในห้องใต้ดินแสงไฟสลัว ของโรงงานผลิตเครื่องประดับซินฉั่ว (Xin Shua) หวาง (Wang) คุณยายวัย 65 กำลังง่วนอยู่กับการเรียงสายรุ้งตกแต่งกองมหึมา ลงในกล่องกระดาษแข็ง

“ยิ่งฉันแพ็คได้มากเท่าไหร่ ฉันก็ยิ่งได้เงินมากเท่านั้น” หวางได้ค่าแรงจากการแพ็คและติดฉาก กล่องละไม่ถึง 1 เพนนี

“ถ้ายังมีงาน เราก็ทำงานไปทุกวัน” หวางบอกเช่นนั้น

เมื่อสองปีที่แล้ว Nomadic Design Studio บริษัทที่ปรึกษาด้านการออกแบบ เดินทางเพื่อตามหาต้นทางของสินค้าต่างๆ ปลายทางคือเมืองอี้อู โดยส่งช่างภาพ โทบี สมิธ ลงพื้นที่เพื่อเก็บภาพบรรยากาศ และสิ่งที่เขาเห็นคือ

“กลุ่มคนทำงานอย่างขยันขันแข็ง แต่ก็ไม่ได้ไร้ชีวิตชีวาอย่างหุ่นยนต์ โอกาสสัมผัสสารเคมีอันตราย ตัวทำละลายต่างๆ ก็มีอยู่ ถ้าเปรียบเทียบกับการผลิตด้วยเครื่องจักรแบบโลกตะวันตก ที่นี่อาจจะเสียเปรียบอยู่บ้าง แต่ที่ชนะเลิศคือบรรยากาศการทำงานที่ดูผ่อนคลายและมีความสุขมากกว่าโรงงานอื่นๆ”

 


อ้างอิงข้อมูลจาก: theatlantic.com
aljazeera.com

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า