โรงเรียนทาร์ซาน

ภาพประกอบ: Shhhh

 

 

นอกจากเดนมาร์กจะเป็นประเทศขนาดกะทัดรัดครอบคลุมพื้นที่ 43,000 ตารางกิโลเมตร หรือเล็กกว่าประเทศไทย 12 เท่าโดยประมาณ (ไม่นับรวมเขตปกครองตนเองกรีนแลนด์และหมู่เกาะแฟโร) และมีผู้คนอยู่อาศัยในดินแดนที่เต็มไปด้วยเกาะเล็กเกาะน้อยกว่า 400 แห่งเพียง 5.7 ล้านคน เดนมาร์กมีเมืองหลักสี่เมืองด้วยกัน และพื้นที่กว่าสองในสามยังคงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมอยู่

หลายๆ คนคงได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับเดนมาร์กมาบ้าง เพราะปี 2016 เดนมาร์กถูกจัดโดยสหประชาชาติและ OECD ให้เป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก (แต่ปีนี้โดนนอร์เวย์แซงเข้าวินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว) และยังมีคำยอดฮิตติดรายการคำศัพท์เก๋ไก๋ประจำปี 2016 ของดิกชันนารีออกซฟอร์ดอย่าง ‘hygge’ อ่านว่า ‘ฮุกกะ’ มาจากภาษานอร์เวย์ที่แปลว่า ‘คุณภาพชีวิต’ ด้วยความที่คาดว่าคำนี้น่าจะมีรากศัพท์จากภาษานอร์ส ‘hygga’ ที่แปลว่า ‘ปลอบประโลม’ ปัจจุบันคำนี้ได้เข้ามาอยู่ในภาษาเดนมาร์ก และกลายสภาพเป็นแบรนด์ของประเทศนี้ไปโดยปริยาย

‘ฮุกกะ’ เป็นคำนาม แปลว่าศิลปะในการสร้างความใกล้ชิดผูกพัน ความรู้สึกผ่อนคลายในจิตวิญญาณ การหาความสุขจากสิ่งรอบตัวในปัจจุบัน (จากหนังสือ ‘ฮุกกะ ปรัชญาความสุขฉบับเดนมาร์ก พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Openworlds) ดังนั้นชีวิตแบบฮุกกะน่าจะเป็นวิถีชีวิตแบบหนึ่งที่เน้นการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยการรับรู้ถึงปัจจุบัน ใส่ใจกับรายละเอียดในชีวิตประจำวันทั้งกับผู้คนและสิ่งของรอบกาย

การสร้างสัมพันธภาพอันดีกับผู้คนและสภาพแวดล้อมรอบกายของชาวเดนมาร์กนั้นเริ่มตั้งแต่ปฐมวัย เด็กๆ อนุบาลเดนมาร์กสามารถเข้าร่วมกิจกรรม ‘โรงเรียนทาร์ซาน’ (ชื่อที่เราขอตั้งให้เอง) หรือ forest หรือ wood school (skovbørnehave) หรือ forest หรือ wood group (skovgruppe) หรือ nature kindergartens (naturbørnehaver) ได้ ซึ่งกิจกรรมนี้จัดกันหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันออกไป แต่เน้นที่การทำกิจกรรมในพื้นที่ธรรมชาติ อาจจัดเป็นวันหรือต่อเนื่องกันเป็นปีในบางแห่งก็มี

อะไรทำให้ชาวเดนมาร์กคิดว่าการพาเด็กเล็กอายุไม่กี่ขวบออกไปใช้ชีวิตในป่า เป็นเรื่องน่าอภิรมย์และช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กๆ กันนะ

ปัจจุบันเดนมาร์กถือเป็นประเทศที่มีประชากรวัยทำงานสูงมาก ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องการระบบที่เข้ามาช่วยดูแลลูกๆ ของพวกเขา ในปี 1976 รัฐบาลท้องถิ่นในเดนมาร์กได้ออกกฎหมายให้เด็กๆ ทุกคนได้รับการดูแลจากรัฐตั้งแต่อายุ 3 เดือนจนกระทั่งถึงวัยเข้าโรงเรียน พ่อแม่ในเดนมาร์กมีทางเลือกทั้งหมดสี่ทางในการดูแลลูกน้อยได้แก่

1. เนิร์สเซอรี ที่ดูแลเด็กตั้งแต่อายุ 26 อาทิตย์ถึง 3 ขวบ
2. โรงเรียนอนุบาล ที่ดูแลเด็กตั้งแต่อายุสามถึง 6 ขวบ
3. เนิร์สเซอรี่ที่มีเด็กคละวัยตั้งแต่สามเดือนถึง 6 ขวบ
4. พี่เลี้ยงกลุ่มสามารถดูแลเด็กตั้งแต่สามเดือนถึง 3 ขวบ

การใช้ธรรมชาตินอกห้องเรียนมาเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ ณ ประเทศที่ฝนตกกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของปี อากาศก็อาจหนาวจับใจนี่มาจากไหนกันล่ะ

ชาวเดนมาร์กยึดมั่นและถือมั่นในคำว่า frituftsliv หรือ ‘ชีวิตที่อยู่ในอากาศอันบริสุทธิ์’ (เช่นเดียวกับชาวฟินแลนด์ที่รักและเทิดทูน คำว่า happi หรือ ออกซิเจน เป็นชีวิตจิตใจ) การตามหา frituftsliv นั้นเริ่มตั้งแต่ ยุคแรกช่วง 1700 เริ่มมีการมองว่าชีวิตภายนอกนั้นถือเป็นความรื่นรมย์ โดยได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดของรุสโซ (Rousseau) ยุคนั้นกาพย์โคลงกลอน วรรณกรรม ต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่พรรณนาถึงความงามของธรรมชาติ ผู้คนร่ำรวยก็มองว่าการได้ใช้ชีวิตขี่ม้า เดินเล่นนอกบ้านนั้นล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องงดงามของชีวิต

ต่อมาช่วงปลายยุค 1800 วิถีชีวิตอุตสาหกรรมและวิถีคนเมืองเริ่มคืบคลานเข้ามาจนทำให้ผู้คนต้องทำงานยาวนานมากขึ้น ไม่มีเวลาออกกำลังกาย จนเจ้าของโรงงานต่างๆ และเจ้าของที่ดิน ร่วมมือกับสหภาพแรงงานจัดทริปไปท่องธรรมชาติกันเป็นล่ำเป็นสันเพื่อให้แรงงานได้ไปพักผ่อน ลดความเครียดจากการทำงาน ยุคนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพก็เริ่มแนะนำให้ใช้การหย่อนใจในธรรมชาติรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ ที่เกิดจากการใช้ชีวิตภายในอาคารมากเกินไป ยุคนี้เองโรงเรียนอนุบาลต่างๆ เริ่มจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้สูดอากาศบริสุทธิ์จากภายนอกและใช้ชีวิตอย่างสันติร่วมกับธรรมชาติรอบตัว

โรงเรียนอนุบาลแบบเดนมาร์กนั้นได้แรงบันดาลใจมาจากโรงเรียนอนุบาลในเยอรมนีของ Friedrich Frorbel (ปี 1840) โดย ซอเรน ซอเรนเซน (Søren Sørensen) ได้นำมาเปิดในเดนมาร์กโดยเน้นการ ‘เล่นและการเตรียมความพร้อม’ จนกระทั่งปี 1943 จอห์น เบร์เทลเซน (John Bertelsen) นักจัดการเรียนรู้ชายคนแรกของเดนมาร์กได้สร้างสนามเด็กเล่นแบบผจญภัยขึ้นมา มีทั้งขอนไม้เก่า เครื่องมือต่างๆ ของใช้แล้ว เพื่อให้เด็กได้เล่นและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันจนเป็นที่มาของ ‘playful pedagogy’ กระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่นในปัจจุบัน ปี 1952 แอลลา ฟลาเทา (Ella Flatau) ได้ริเริ่ม ‘wandering kindergarten’ (vandrebørnehave) หรือโรงเรียนอนุบาลที่เน้นการเดินป่า โดยจะกลับมาตามจุดนัดพบต่างๆ เพื่อให้พ่อแม่มารับ และได้กลายมาเป็นโรงเรียนธรรมชาติแห่งแรกในที่สุด (nature kindergarten)

ยุคต่อมาผู้คนเริ่มเห็นความสำคัญของวิกฤติพลังงาน ผู้คนตั้งแต่ยุค 1970 จึงให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจและหาความรู้เกี่ยวกับพลังงานและธรรมชาติมากขึ้น ยุคนี้เริ่มมีการเปลี่ยนลักษณะการทำงานและวิถีชีวิตเพื่อให้สามารถออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านได้มากขึ้น ในที่สุดการทำความเข้าใจธรรมชาติผ่านกระบวนการเรียนรู้จึงเป็นพื้นฐานแรกของการใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติด้วยความเคารพและส่งเสริมจิตสำนึกรักธรรมชาติในที่สุด

โรงเรียนทาร์ซานถือเป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบหนึ่งโดยใช้สิ่งแวดล้อมนอกอาคารเป็นพื้นที่หลักในการจัดการเรียนรู้ให้เด็กๆ หลักการมีอยู่เจ็ดประการหลัก ได้แก่

1. การจัดการเรียนรู้แบบองค์รวมเพื่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก โดยเน้นทั้งความสามารถทางความรู้ อารมณ์ สังคม ร่างกาย ความคิดสร้างสรรค์ และด้านจิตวิญญาณ ซึ่งจะทำผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เด็กรับผิดชอบตนเองและส่วนรวมได้ หรือ EF (Executive Function) หมายถึงการควบคุมความคิด การกระทำ และอารมณ์เพื่อไปสู่เป้าหมายต่างๆ ได้ EF จะเกิดขึ้นได้นั้น เด็กๆ ต้องผ่านสถานการณ์และประสบการณ์ต่างๆ ได้แก่

  • สถานการณ์ที่ต้องวางแผน
  • สถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจ
  • สถานการณ์ที่ต้องแก้ไขปัญหา
  • สถานการณ์ที่ต้องใช้วิธีใหม่ๆ
  • สถานการณ์ที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะทาง
  • สถานการณ์ที่ต้องใช้ความมานะ อดทน มุ่งมั่น
    (จากหนังสือ เลี้ยงลูกให้ดี 1-100 ฉบับสมบูรณ์ เขียนโดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์)

2. เด็กแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน ดังนั้นเด็กจึงมีความสามารถที่แตกต่างกันออกไป เด็กๆ ต้องการสภาวะแวดล้อมที่จะส่งเสริมความเชื่อมั่นในตนเอง (self-esteem)

3. เด็กเป็นผู้เรียนที่เต็มไปด้วยพลังและต้องการการเรียนรู้แบบที่มีการโต้ตอบไปมา ดังนั้นการเรียนรู้ที่จัดให้เด็กนั้นควรจัดด้วยกระบวนการแบบ active learning โดยปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างความหมายและความเข้าใจสภาวะแวดล้อมรอบตัวเด็กๆ อยู่เสมอ

4. เด็กต้องการประสบการณ์ตรงจากชีวิตจริง เพื่อเสริมทักษะทางด้านร่างกาย อารมณ์ ภาษา ความคิด และความรู้สึก

5. เด็กจะเรียนรู้ได้ดีในสภาวะแวดล้อมที่เขาเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ที่แท้จริง เด็กๆ ต้องการพื้นที่หลากหลายแบบ ทั้งพื้นที่พักผ่อนและพื้นที่เพื่อความคิดสร้างสรรค์ หลักของการออกแบบพื้นที่เหล่านี้คือความต่อเนื่องในการใช้พื้นที่ภายในและภายนอกอาคารเพื่อทำให้เด็กๆ รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

6. เด็กต้องการเวลาเพื่อทดลองและพัฒนาความคิดของตนเอง ผ่านการเล่นและการทดลอง ทำผิดทำถูก หรือช่วยกันระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหา

7. การเรียนรู้มาจากการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เพื่อช่วยพัฒนาความมั่นใจในตนเองและการสื่อสารกับผู้อื่น เพื่อที่เขาจะสามารถเติบโตมาเผชิญปัญหาต่างๆ ในอนาคตได้ การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเด็กๆ ด้วยกัน ระหว่างเด็กและครอบครัว และสังคมในภาพรวมยังเป็นพื้นฐานสังคมประชาธิปไตยที่พัฒนาอย่างเข้าใจธรรมชาติมนุษย์อีกด้วย

เอาล่ะ โรงเรียนทาร์ซานไม่ได้หมายความว่าจะพาเด็กๆ ไปนอนกลางดินกินกลางทราย ใช้ชีวิตเป็นทาร์ซานจริงๆ หรอก แต่เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ใช้ธรรมชาติรอบตัวเด็กๆ เป็นเนื้อหาหลักในการออกแบบ ว่าแต่เจ้าโรงเรียนทาร์ซานนี้มันจัดกันอย่างไร ใช้เงินเยอะหรือเปล่า ยากเย็นหรือไม่ ลองอ่านตัวอย่างกิจกรรมในโรงเรียนทาร์ซานดูค่ะ

โรงเรียนลักษณะนี้ค่อนข้างมีค่าใช้จ่ายและต้องการพื้นที่ในการจัดกิจกรรม ดังนั้นจึงขึ้นอยู่ว่าคอมมูน หรือเทศบาลท้องถิ่นนั้นๆ ของเดนมาร์กจะสามารถจัดสรรงบประมาณให้กับส่วนนี้ได้มากน้อยแค่ไหน กิจกรรมโรงเรียนทาร์ซานนี้จึงแตกต่างออกไปตามแต่ละท้องถิ่นจะจัดการ

แม่โอ๊ต คุณแม่ชาวไทยของหนุ่มน้อย ออสการ์ วัยเกือบๆ  3 ขวบที่กำลังอยู่ในวัยเตรียมตัวเข้าเรียนในโรงเรียนทาร์ซาน ณ กรุงโคเปนเฮเกน เล่าให้ฟังว่า ด้วยความที่ยังไม่คุ้นชิน และคุณครูก็เข้าใจข้อกังวลข้อนี้ของทั้งแม่และลูก ก่อนเข้าเรียนจึงมีการพาไปทำความรู้จักสถานที่กันก่อน เพื่อสร้างความคุ้นเคย โดยทั้งน้องออสการ์และแม่โอ๊ตสามารถเข้าไปติดตามดูกิจกรรมที่โรงเรียนทำได้อย่างใกล้ชิด รวมถึงแผนที่ข้อมูลต่างๆ ที่คุณแม่สามารถนำมาศึกษาก่อนล่วงหน้าเพื่อช่วยคลายกังวล นอกจากนี้ยังมีมาตรการดูแลความปลอดภัยอื่นๆ อาทิ มีแถบกระดาษติดข้อมือที่มีข้อมูลของเด็ก การขานชื่อนับจำนวนเด็กบนรถบัสทั้งขาไปและขากลับ

และอีกไม่นานโรงเรียนทาร์ซานของน้องออสการ์จะเริ่มต้น ออสการ์จะได้เรียนในเมืองหนึ่งอาทิตย์ สลับกับการเรียนในป่าสองอาทิตย์แบบไปเช้าเย็นกลับ ตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น. ทุกวัน โดยใช้เวลาเดินทางเข้าป่าประมาณ 30 นาที และแน่นอนว่าโรงเรียนมีบริการรถรับส่งน้องออสการ์อย่างสะดวกสบาย ป่าที่ว่านี้เป็นพื้นที่ที่มีอาคารโรงพยาบาลเก่าตั้งอยู่ ถือว่าหลายโรงเรียนก็มาใช้อาคารนี้เป็นศูนย์บัญชาการ โรงเรียนทาร์ซานนั้นมักใช้ครูสามคน ต่อนักเรียน 20 คน กิจกรรมที่เด็กๆ จะได้ทำก็หลากหลายแตกต่างกันไปตามแต่ครูและนักจัดการเรียนรู้จะออกแบบ มีทั้งเดินป่า พัก ทำกับข้าว เล่นเกม ร้องเพลง กิจกรรมรอบกองไฟ และแน่นอนว่าความสำคัญของกิจกรรมทั้งหมดนี้คือการเรียนรู้ผ่านการเล่นที่เป็นอิสระของเด็กๆ

หากเด็กๆ เล่นกันจนเหนื่อย หมดแรง หมดสภาพ ครูจะเตรียมถุงนอนไว้ให้พักผ่อนกันในป่านั่นแหละ (แต่แม่โอ๊ตเล่าว่าเด็กๆ วัยสามขวบที่เดนมาร์กไม่ค่อยนอนกลางวันกันแล้ว ดังนั้นจึงไม่ค่อยจะได้ใช้ถุงนอนกลางป่ากันสักเท่าไหร่ อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อการใช้ชีวิตกลางแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อกันฝน (ใช่ค่ะ เด็กๆ แถวนี้ไม่กลัวฝนค่ะ) รองเท้ากันน้ำ หรือเสื้อผ้าต่างๆ นั้นครูและผู้ปกครองจะช่วยกันเตรียมใส่ถุงของเด็กแต่ละคนเอาไว้อย่างเรียบร้อย เอาเป็นว่าเด็กๆ มีอุปกรณ์พร้อมเล่นในเกือบทุกสภาพอากาศเลยทีเดียว (ฤดูหนาวอันเย็นยะเยือกก็งดกิจกรรมโรงเรียนทาร์ซานไว้ก่อนนะ)

ไปแอบดูข้างในห้องเรียนทาร์ซานกันเถอะค่ะ

คุณ Maud Hyde นักจัดการเรียนรู้ หรือ pedagogue [1] ประจำโรงเรียน Stockholmsgave Centrum เล่าว่าเด็กๆ อายุประมาณ 3 ขวบจะเริ่มเข้าเรียนในอนุบาลทาร์ซาน

เด็กๆ ต้องแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่อบอุ่นเพียงพอต่ออากาศหนาวภายนอก (และการหัดแต่งกายด้วยตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ที่จะสร้างทักษะ EF นั่นคือการดูแลตัวเอง และการแก้ไขปัญหา อากาศหนาวไปร้อนไป ต้องแต่งกายอย่างไรบ้าง) เพื่อออกไปสำรวจรอบๆ โรงเรียน ทั้งกรงไก่ที่มีไข่ให้เก็บ (การรอแม่ไก่ออกไข่เพื่อเก็บไข่ ต้องใช้ทักษะการสังเกต และความมานะ อดทน) รังนก และถังขยะอินทรีย์เพื่อดูว่ามีอะไรกำลังย่อยสลายขยะอินทรีย์อยู่บ้าง เด็กบางคนอาจเล่นกับแมลงสาบ (ที่เขาเขียนว่าเป็นชนิดที่สามารถเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงได้) ที่กำลังไต่อยู่ในลังไม้ และสามารถนำมาทำเป็นอาหารปลาได้ (สถานการณ์ที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะ) หรือบางกลุ่มอาจดูหนูที่เพิ่งเกิด ซึ่งชมกันจากมือของนักจัดการเรียนรู้เลยทีเดียว จนอาจกล่าวได้ว่า

“ตอนมาที่นี่เด็กๆ แต่งกายด้วยชุดสีชมพูสดใส พอกลับออกไปพ่อแม่อาจเจอหนอนในกระเป๋าเด็กๆ ก็เป็นได้”

การเรียนรู้เรื่องราวของไก่ก็จะทำให้นักเรียนเข้าใจเรื่องห่วงโซ่อาหาร และมองเห็นถึงอาหารที่ตนเองกินเข้าไปในแต่ละวัน ซึ่งโดยปกติก็จะซื้อหากันตามซูเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้น โรงเรียนบางแห่งอาจแสดงการฆ่าไก่เพื่อทำเป็นอาหารให้เด็กๆ ดู โดยจะอธิบายว่ามนุษย์เราก็อยู่ในห่วงโซ่อาหารเช่นกัน เราทำอะไรอยู่บ้างในห่วงโซ่อาหารนี้ และเราต้องทำเพื่อให้มีชีวิตเช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่นๆ มีเด็กๆ ดูการเชือดไก่ครั้งนี้กว่า 60 คน แน่นอนว่าหัวข้อและวิธีการเรียนรู้แบบนี้ย่อมเป็นที่ถกเถียงกัน น่าสนใจว่ากิจกรรมนี้มีพ่อแม่ของเด็กหนึ่งคนเท่านั้นที่ไม่ยินยอมให้ลูกเข้าร่วมกิจกรรม

ลองมาอ่านกระบวนการเรียนรู้โดยละเอียดต่ออีกเรื่องนะคะ

“ถึงเวลาอาหารกลางวันแล้ว เด็กๆ หิวแล้วเพราะใช้เวลาทั้งเช้าเดินป่ากัน แต่ว่า! เด็กๆ ดันไปเจอเข้ากับกระดูกอะไรสักอย่างใต้ต้นไม้ เท่านั้นแหละ ความหิวก็มลายหายสิ้น (สถานการณ์ที่ต้องใช้วิธีใหม่ๆ และทักษะการตัดสินใจ ไปต่อเพื่อไปกินข้าว หรือหยุดเก็บกระดูกดี นอกจากนี้ยังได้ทักษะทางสังคมจากการตกลงเจรจากับเพื่อนๆ อีกด้วย)

เด็กๆ เริ่มคุ้ยหากระดูก และทั้งคุยทั้งเดาว่ากระดูกที่คุ้ยเจอเป็นของตัวอะไร เด็กๆ วางแผน กันว่าจะนำพวกกระดูกกลับไปหานักจัดการเรียนรู้ เมื่อกลับไปถึงห้องเรียน เด็กๆ คุยกับครูและนักจัดการเรียนรู้ถึงกระดูกที่พบ ทั้งลูบทั้งคลำ เพื่อเดาว่ากระดูกนั้นๆ เป็นส่วนใดของสัตว์ชนิดใด และคลำดูกระดูกตัวเองเพื่อเปรียบเทียบ นักจัดการเรียนรู้เริ่มเล่าเรื่องราวของกระดูกเหล่านั้นซึ่งพบว่ามันน่าจะเป็นกระดูกสุนัขจิ้งจอกที่ล่านกเป็นอาหาร เด็กๆ ได้เปรียบเทียบกระดูกเหล่านี้กับสัตว์สตัฟฟ์ที่ตั้งอยู่ในโรงเรียน เด็กๆ ไม่เคยได้เห็นสัตว์เหล่านี้จริงๆ แต่ในที่สุดพวกเขาจะคุ้นชินกับร่องรอยของสัตว์เหล่านี้”

การเสี่ยงทดลองทำเรื่องใหม่ๆ หลังจากที่ได้คิดไตร่ตรองอย่างเป็นระบบแล้ว ถือเป็นความท้าทายที่ควรอยู่ในสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ของเด็กๆ เพื่อส่งเสริมกระบวนการประเมินความเสื่ยง และการยอมรับความท้าทายใหม่ๆ ของชีวิต ซึ่งชาวเดนมาร์กถือว่าเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญประการหนึ่ง

[1] ในเดนมาร์กครูและนักจัดการเรียนรู้ไม่ใช่คนคนเดียวกัน เนื่องจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ในเดนมาร์กเน้นกระบวนการองค์รวมที่ให้ความสำคัญกับ ‘สมอง มือ และหัวใจ’ อย่างเท่าเทียมกัน นักจัดการเรียนรู้จึงมีหน้าที่สำคัญสี่ประการได้แก่
1. สร้างสิ่งแวดล้อมที่เด็กจะรู้สึกปลอดภัยและพร้อมจะเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ผ่านการกระตุ้นด้วยกระบวนการต่างๆ
2. เป็นแบบอย่างให้กับเด็กๆ
3. สนับสนุนการพัฒนาทั้งทางสังคมและอารมณ์ของเด็ก
4. ทำงานร่วมกับพ่อแม่

อ้างอิงข้อมูจาก:
http://denmark.dk/en/meet-the-danes/forest-preschools
Understanding the Danish Forest Approach” โดย Pat Brunton และ Linda Thornton
The Danish School Approach บทความโดย Jane Williams-Siegfredsen

 

Author

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
กุลธิดา รุ่งเรื่องเกียรติ 'ครูจุ๊ย' นักวิชาการอิสระ เคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาจากฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ ตลอดจนมีโอกาสไปค้นคุ้ยตำราเรียนของเกาหลีเหนือ ในคอลัมน์ 'เล่า/เรียน' ครูจุ๊ย คุณครูสาวพร้อมแว่นสีสด จะ 'เล่า' เรื่องราวในห้องเรียน สถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ของเด็กและครู ให้ผู้อ่านได้ 'เรียน' ไปพร้อมๆ กัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า