ภาพประกอบ: Shhhh
เซอร์เคน โรบินสัน ผู้แต่งหนังสือเรื่อง โรงเรียนบันดาลใจ (แปลเป็นภาษาไทยเรียบร้อยแล้วโดยสำนักพิมพ์ openworlds) เคยกล่าวเอาไว้ในแอนิเมชั่นประกอบการเล่าเรื่อง ‘RSA ANIMATE: Changing Education Paradigms’ หรือ ‘การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ด้านการศึกษา’ ที่มีคนเข้ามากดดูกดฟังบน Youtube อย่างถล่มทลายด้วยยอดวิวกว่า 15 ล้านครั้ง เกี่ยวกับการทดสอบวัดความรู้ต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจว่า
They have spent ten years at school being told that there is one answer – it’s at the back…and don’t look, and don’t copy, because that’s cheating. I mean, outside schools, that’s called collaboration.
เด็กๆ ร่ำเรียนที่โรงเรียนมาเป็นสิบปี ถูกตอกย้ำว่า คำตอบ (ของแบบฝึกหัดหรือข้อสอบมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น และมันอยู่ด้านหลังของหนังสือ แล้วอย่าแอบดูก่อน อย่าลอกกัน เพราะนั่นคือการโกง คือผมจะบอกน่ะว่านอกโรงเรียน เขาเรียกการทำแบบนี้ว่า collaboration
ฟังท่านเซอร์แล้วแบบนี้จะหมายความว่าเราจะเรียนเชิญเด็กๆ ให้ใครจักใคร่ลอกลอก เอาที่สบายใจเลยอย่างนั้นหรือ? เรากำลังจะยอมรับว่าทำอย่างไรก็ได้ขอแค่ให้ได้ผลงานเป็นพอเท่านั้นหรือคะท่าน? จะดีหรือคะท่าน???
ก่อนจะเลยเถิดไปกันใหญ่ ผู้เขียนขอเสนอว่าท่านเซอร์คงคิดและพยายามจะบอกว่า วิธีหาคำตอบของอะไรบางอย่างไม่ได้มีเพียงวิธีเดียวเท่านั้น และการพยายามร่วมกันค้นหาคำตอบด้วยวิธีการต่างๆ นานา ตามวิถีที่ถูกกับจริต แม้จะเป็นการดูคำตอบก่อนแล้วช่วยกันล้วงแคะแกะรื้อ พยายามทำความเข้าใจจากปลายทาง ก็ก่อให้เกิดการเรียนรู้ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ทั้งนั้น อรรถาธิบายนี้เป็นการตีความแบบเข้าข้างท่านเซอร์อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูทีเดียว เพราะเอาเข้าจริงแล้ว กระบวนการ collaboration ต้องอาศัย ‘ความร่วมมือ’ จากผู้ที่ร่วมทำงานอยู่ด้วยกัน นั่นหมายความว่าแต่ละคนต้องพยายามประกอบร่างสร้างการเรียนรู้ขึ้นมาด้วยกัน ซึ่งออกจะขัดกับแนวคิดและมุมมองที่เห็นว่าการศึกษาหาความรู้เป็นการใส่ข้อมูล/ความรู้ให้นักเรียนผ่านกระบวนการเรียนรู้ ฝึกฝน และประเมินผลแบบปัจเจก ซึ่งทุกอย่างในกระบวนการนี้ควรพิสูจน์ผลเชิงปัจเจกได้ตลอดเส้นทาง และคำตอบที่ถูกต้องจะมีเพียงคำตอบเดียว คล้ายกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ (แต่การทดลองทางวิทยาศาสตร์ก็มีข้อจำกัดในการสรุปผลเช่นกัน ดังที่จะได้เห็นจากตัวอย่างในบทความนี้ค่ะ)
อีกนัยหนึ่ง collaboration ตั้งอยู่บนฐานความคิดที่ว่าความรู้นั้นเป็นสิ่งที่ผู้เรียนสร้างขึ้นมาเองตามแต่ประสบการณ์การเรียนรู้ของตนเองทั้งจากทางครอบครัว สังคม และห้องเรียน ซึ่งล้วนส่งผลต่อการตีความต่างๆ บนโลกรอบตัวพวกเขา ดังนั้นข้อสรุปของเรื่องหนึ่งจึงมีได้หลากหลายตามแต่ผู้เรียนจะค้นพบ กระบวนการเดินทางตามหาความรู้จึงสำคัญอย่างยิ่ง ส่วนครูผู้สอนก็ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ชี้ชวน ชี้แนะแนวทาง จุดประกาย ซักถามให้ผู้เรียนได้เลือกตามหากันต่อเอาเอง
เมื่อพยายามแปลคำว่า collaboration เป็นภาษาไทย อาจถอดความออกมาได้ทั้ง ‘การร่วมแรงร่วมใจ’ ‘การร่วมมือ’ หรือ ‘การทำงานร่วมกัน’ คำว่า ‘ร่วม’ จึงเป็นจุดร่วมของคำนี้อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งในกระบวนทัศน์การศึกษาสมัยใหม่ collaboration ถูกระบุเอาไว้ว่าเป็นทักษะหนึ่งที่นักเรียนควรมีและต้องได้รับการฝึกฝนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการดำรงชีวิตในยุคศตวรรษที่ 21
อ่านๆ ไปแล้วเหมือนจะเป็นการย้อมแมวขาย ด้วยว่าการ ‘ร่วม’ กันทำอะไรสักอย่างนี้ก็ดูจะเกิดขึ้นในห้องเรียนอย่างเป็นเรื่องแสนจะธรรมดาสามัญ เอาที่เห็นกันจนชินตาคือการทำงานกลุ่ม สิ่งนี้ไม่ได้ปลูงฝังกระบวนการ collaboration ให้เกิดขึ้นประจำใจนักเรียนอย่างเราๆ ท่านๆ มานานนมแล้วหรอกหรือ?
คำตอบคือ ไม่ค่ะ ไม่เลย ผู้เขียนขอส่ายหน้าแรงๆ ประกอบด้วยค่ะ
คุณปิแอร์ ดิลเล็นบูร์ก (Pierre Dilenbourg) ได้ใช้ความอุตสาหะอย่างยิ่งยวดในการอธิบายกระบวนการ collaborative learning หรือการเรียนรู้ร่วมกันจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถกเถียงกับนักวิชาการสายการศึกษามาอย่างโชกโชน เจ้าตัวได้อธิบายสรุปเอาไว้กว้างๆ อย่างที่เจ้าตัวก็ยังไม่พึงพอใจมากนักว่า collaborative learning เป็น ‘สถานการณ์’ ที่คนสองคนหรือมากกว่านั้นเพียรพยายามเรียนรู้อะไรบางอย่างร่วมกัน ซึ่งการเรียนรู้ที่ว่านั้นหมายนับตั้งแต่การแก้ปัญหาสักอย่างจนกระทั่งถึงการทำความเข้าใจเนื้อหาสาระของวิชาหนึ่งๆ ร่วมกัน และคำว่าร่วมกันนั้นไม่จำกัดช่องทาง โดยจะเป็นการเรียนในห้องเรียนด้วยกัน การติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือวิธีอื่นๆ ก็ถือเป็นอันใช้ได้ทั้งสิ้น
ดูไปแล้วหลักใหญ่ใจความเห็นจะมุ่งไปทาง ‘ความเพียรพยายามเรียนรู้อะไรบางอย่าง’ ดังนั้น การพยายามช่วยกันทำการบ้านจนสุดท้ายได้คำตอบเดียวกันหรือได้ข้อสรุปเหมือนกันนั้นก็ถือได้ว่านักเรียนได้เรียนรู้ด้วยวิธีการ collaborative learning แล้วเช่นกัน
ส่วนการลอกการบ้านแบบ ‘ก๊อป-วาง’ โดยไม่ผ่านการช่วยกันขบคิดใดๆ ก็ไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ใดๆ เช่นกัน
ในการเรียนระดับอุดมศึกษา การทำข้อสอบเป็นกลุ่มยังพอมีให้เห็นอยู่บ้าง ไม่นับว่าเป็นเรื่องต้องตระหนกตกใจแต่อย่างใด ผู้เขียนเองก็เคยผ่านการทำข้อสอบระดับปริญญาโทที่ประเทศฟินแลนด์ โจทย์มอบหมายให้ช่วยกันเขียนรายงานวิเคราะห์ปัญหาพร้อมเสนอทางแก้ไขในวิชา Project Cycle Management ด้วยความที่ผู้สอนในขณะนั้นต้องการจำลองบรรยากาศให้คล้ายกับโลกการทำงานจริงมากที่สุด จึงมีการตั้งปัญหาให้แก้ ประกอบกับความกดดันด้านเวลา และต้องร่วมกันทำงานให้สำเร็จเป็นทีม ข้อสอบลักษณะนี้จึงเหมาะสมอย่างยิ่ง
และจากประสบการณ์ที่ผ่านมา การหาสมดุลของความคิดจากคนหลายๆ คนในระยะเวลาอันจำกัดจำเขี่ยนั้นมีความโหดตั้งแต่ระดับกลิ้งครกขึ้นภูเรือจนถึงกลิ้งขึ้นดอยอินทนนท์ทีเดียว
ส่วนในระดับห้องเรียนมัธยมศึกษาหรือต่ำกว่า การทำข้อสอบเป็นกลุ่มอาจไม่จำเป็นต้องเริ่มจากการรวมหัวกันระดมความคิดเป็นกลุ่มเสมอไป ครูอาจให้นักเรียนลองลงมือทำหรือศึกษาด้วยตัวเองก่อน แล้วเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ใช้ ‘ตัวช่วย’ เช่น การลองพูดคุยปรึกษากับเพื่อน แล้วย้อนกลับมาทำข้อสอบของตัวเองก็ย่อมได้ ด้วยวิธีนี้ นักเรียนจะเป็นผู้เลือกคำตอบที่ต้องการด้วยตัวเอง ส่วนครูอาจต้องทำหน้าที่กำหนดและควบคุมกรอบกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่น กำหนดเวลาในการปรึกษากัน แน่นอนว่าต้องมีนักเรียนที่ไม่เตรียมตัวมาและรอถามคำตอบจากเพื่อนเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นส่วนที่ครูต้องเข้าไปจัดการเพื่อสอบถามปัญหากับนักเรียนคนนั้นๆ และแก้ไขอย่างเหมาะสม (ซึ่งเป็นอีกหัวข้อใหญ่ที่น่าถกเถียงกันต่อเหลือเกิน)
เหตุผลหนึ่งของปัญหานักเรียนติดสอยห้อยตามเพื่อนและไม่ทำอะไรเลย ไม่ว่าจะในการสอบ การทำงานกลุ่ม การนำเสนองาน ฯลฯ อาจเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการเรียนการสอนที่ไม่ได้บ่มเพาะกระบวนการ collaboration แก่นักเรียนมาก่อน แต่จู่ๆ ก็คาดหวังให้นักเรียนทำได้เลยราวกับมีเวทย์มนตร์ ในส่วนนี้ผู้สอนเองก็ต้องกลับมาทบทวนตัวเองให้ถี่ถ้วนเช่นกันว่าได้ติดอาวุธทางความคิดหรือมอบเครื่องมือในการทำงานเป็นกลุ่มให้นักเรียนได้เพียงพอแล้วหรือยัง เพราะ collaborative learning เป็นสถานการณ์ที่ต้องให้ผู้สอนช่วยกระตุ้นนักเรียนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันผ่านวิธีการและกิจกรรมหลากหลายประการ อาทิ
- การเตรียมกลุ่มนักเรียน จะให้เด็กเก่งอยู่คละกับเด็กที่อ่อน หรือแยกกลุ่มกันไปเลย จะให้เลือกกลุ่มกันเองหรือสุ่มเลือก
- กระบวนการวางแผนการทำงานร่วมกัน มีการแยกไปทำความเข้าใจงานที่ต้องทำเดี่ยวๆ ก่อน แล้วค่อยร่วมกลุ่มกัน หรือร่วมกลุ่มกันเลยไม่มีกระบวนการใดๆ หรือร่วมกันวางแผนกันเป็นกลุ่ม แบ่งงานและบทบาทอย่างชัดเจน แล้วค่อยเริ่มงาน
- การแบ่งปันความรู้ที่ได้ จะทำเฉพาะภายในกลุ่ม หรือทั้งห้องเรียน ด้วยวิธีใดบ้าง
เหล่านี้ยังเป็นเรื่องต้องถกเถียงกันว่ากระบวนการแบบใดที่จะสามารถช่วยให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันได้ดีที่สุด นักเรียนแต่ละคนแต่ละกลุ่มก็มีลักษณะแตกต่างกันไป งานของครูจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการให้เหมาะสมกับนักเรียนมากที่สุด
เรื่องราวการเรียนเป็นกลุ่มดำเนินมาถึงตอนนี้ หลายคนคงมีคำถามว่า เรียนน่ะทำเป็นกลุ่มได้ ไม่ได้แปลกประหลาดอะไร แต่ไอ้เรื่องสอบจะทำเป็นกลุ่มได้จริงหรือ และที่สำคัญ “จะวัดได้ยังไงว่าผู้เรียนคนนั้นๆ รู้เรื่องและเข้าใจสิ่งที่เรียนจริงๆ”
ถ้าจะวัดและประเมินผลอย่างง่ายคือ ดูว่าผลงานที่ออกมาเป็นอย่างไร เป็นไปตามตัวชี้วัดหรือไม่ก็ย่อมทำได้เช่นกัน แต่นั่นก็เป็นการพิจารณาเพียงปลายทางซึ่งยังไม่ได้มองเส้นทางที่เด็กๆ เดินร่วมกันมากว่าจะได้ชิ้นงานชิ้นหนึ่งออกมา ซึ่งหากมองลึกลงไป สิ่งที่จะสังเกตได้ก็คือกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ที่จะติดตัวนักเรียนไปตลอด อาทิ
- Induction หรือการให้เหตุผลแบบอุปนัย โดยนักเรียนได้พิจารณาใช้เหตุผลที่มีเพื่อคาดเดา สรุป หรือคาดการณ์หรือไม่
- Cognitive load หรือภาระทางปัญญา คือปริมาณกำลังสมองที่ใช้ในการแก้ปัญหา ความจำขณะที่คนเราทำกิจกรรมบางอย่างอยู่ หรือ working memory ของคนเราสามารถกักเก็บความรู้ได้ประมาณ 7-9 หน่วย และด้วยความรู้นั้นไม่ได้เชื่อมโยงกันเป็นโครงข่าย 4G เรียบร้อยแล้ว สมองเราจึงต้องทำหน้าที่นั้นเอง การทำงานร่วมกันและเกิดกระบวนการแบ่งปันภาระทางปัญญาก็ถือว่าเป็นสัญญาณของการเรียนรู้แบบหนึ่งแล้ว และอาจดียิ่งขึ้นไปกว่านั้นถ้าผู้ที่อยู่ในกลุ่มสามารถเข้าใจความสามารถของแต่ละคนที่แตกต่างกัน และจัดสรรปันส่วนการทำงานให้สอดคล้องกับความถนัดได้ นักเรียนแต่ละคนก็จะไม่จำเป็นต้องใช้งานสมองหนักเกินกว่าที่จะรับไหวจนเกิดภาวะ ‘เมมฯ เต็ม’ แถมยังสบายใจที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองคุ้นเคย ซึ่งจะเอื้อให้สามารถแสดงศักยภาพของตัวเองได้แจ่มชัดขึ้น
- Self-Explanation หรือการอธิบายตัวเอง นักเรียนต้องบอกเล่าถ่ายทอดข้อมูลหรือความคิดของตัวเองแก่คนอื่นในบริบทที่อยู่กันเป็นกลุ่มก้อน เพื่อการทำงานร่วมกันให้สำเร็จ กระบวนการนี้ช่วยให้นักเรียนได้ทบทวนความคิดและวิธีการสื่อสารของตัวเองให้ผู้อื่นเข้าใจตรงกัน
- Conflict หรือความขัดแย้ง การที่คนขัดแย้งกันถือเป็นกระบวนการทางสังคมแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ได้หมายถึงการทะเลาะเบาะแว้ง แต่หมายถึงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้วิธีการจัดการสิ่งนี้โดยยังต้องมุ่งเป้าหมายการจัดการภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปได้
สำหรับผู้เขียน การทำงานเป็นกลุ่มอย่างมีระบบและประสิทธิภาพสอนให้ผู้เรียนรู้จักรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันซึ่งถือว่าเป็นทักษะอันจำเป็นเหลือเกิน อันที่จริงก็ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน และในอนาคตด้วย
ความท้าทายของ collaborative learning หรือแคบกว่าในชื่อว่า ‘peer learning’ คือการที่ครูเองต้องช่วยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้กับนักเรียนทุกๆ คนอย่างเท่าเทียมกันด้วยวิธีกระตุ้นหนุนเสริมที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของนักเรียน นอกจากนั้นปัจจัยด้านวัฒนธรรม อย่างเช่น การไม่กล้าแสดงความคิดเห็น การกลัวความผิดพลาดต่อหน้าผู้อื่น ทัศนคติแง่ลบต่อความคิดต่าง ฯลฯ อาจยังเป็นอุปสรรคต่อการสร้างการเรียนรู้แบบนี้ให้เกิดขึ้นจริงได้
ในบริบทการเรียนนั้นอาจเห็นภาพจริงได้มากพอสมควร แต่การสอบวัดผลเป็นกลุ่มนี่มันจะใช้ได้จริงเหรอ ถ้าเรานำกระบวนการ collaboration มาใช้กับการสอบจะเป็นอย่างไร การสอบเป็นกลุ่มจะสามารถวัดผลการเรียนของนักเรียนได้ไหม และนักเรียนจะเรียนรู้จากเพื่อนระหว่างการสอบได้จริงเหรอ คุณจันทรเลขา ซิงห์ (Chandralekha Singh) จากภาควิชาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก มลรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ได้ทดลองเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนจากการสอบทีนักเรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างสอบ (อย่างนี้ก็ได้เหรอ)
มาค่ะ เรื่องมันเป็นแบบนี้ค่ะ
คุณซิงห์ใช้ข้อสอบ Conceptual Survey of Electricity and Magnetism หรือมีชื่อเล่นเรียกกันง่ายๆ ว่า CSEM ซึ่งเป็นแบบทดสอบมาตรฐานวัดความรู้เรื่องไฟฟ้าและแม่เหล็ก (เน้นเรื่องแคลคูลัสในวิชาฟิสิกส์) ของนักเรียน ประกอบไปด้วยคำถามปรนัยห้าตัวเลือก จำนวน 32 ข้อ ซึ่งดูแล้วการมั่วให้ถูกออกจะเป็นเรื่องที่ยากสักหน่อย
ข้อสอบ CSEM จะมีหน้าตาประมาณนี้ค่ะ
ข้อสอบข้างบนนี้วัดความรู้เรื่องแรงระหว่างประจุไฟฟ้า โดยถ้าวางวัตถุที่มีขนาดประจุไฟฟ้าต่างๆ ในสถานการณ์ที่กำหนดนี้จะทำให้ขนาดประจุไฟฟ้าบนวัตถุในระบบเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ก่อนเรียนคุณเขาก็จัดการเรียนการสอนในหลักการฟิสิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการสอบ และด้วยข้อสอบที่ต้องอาศัยการถกเถียงเกี่ยวกับหลักการและทฤษฎีต่างๆ กันสักหน่อย คุณซิงห์จึงสนใจว่านักเรียนที่ทำข้อสอบแบบฉายเดี่ยวกับนักเรียนที่ทำข้อสอบเป็นกลุ่มจะมีคะแนนสอบแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไรบ้าง และวิธีใดจะทำให้ความรู้ที่เกิดขึ้นนั้นคงทนกว่ากัน ทดลองโดยแบ่งนักเรียนออกเป็นสองกลุ่ม ทั้งสองกลุ่มจะต้องสอบข้อสอบ CSEM จำนวนสองครั้งระหว่างช่วงสองคาบต่อเนื่องกันโดยไม่รู้มาก่อนว่าจะมีการทำข้อสอบสองครั้ง
กลุ่มแรก คือกลุ่มที่เริ่มจากการทำข้อสอบเดี่ยวตามด้วยการสอบแบบกลุ่ม หรือ IG จำนวน 74 คน หรือ 37 คู่
ส่วนอีกกลุ่มจะกลับกัน คือทำข้อสอบกลุ่มก่อนและค่อยทำข้อสอบเดี่ยวหรือ GI จำนวน 54 คน หรือ 27 คู่
ทั้งสองกลุ่มจะได้ทำข้อสอบเดี่ยวและกลุ่มเป็นเวลาชุดละ 50 นาที โดยมีช่วงพักระหว่างเปลี่ยนวิธีการทำข้อสอบ และต้องคืนข้อสอบที่ทำช่วงแรกแก่ครูเพื่อป้องกันการบอกข้อสอบระหว่างพัก ดังนั้นระหว่างเปลี่ยนวิธีการสอบ นักเรียนก็จะไม่รู้อยู่ดีว่าคำตอบที่ตอบไปนั้นถูกหรือผิดอย่างไร
โดยผลที่ได้คือ
นักเรียนกลุ่ม GI นั้นได้คะแนนเฉลี่ยแทบจะไม่ต่างกันเลย คือช่วงที่ทำข้อสอบเดี่ยว นักเรียนได้คะแนนเฉลี่ยราว 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนช่วงที่ทำข้อสอบกลุ่มนั้นนักเรียนได้คะแนนราว 71 เปอร์เซ็นต์ แต่กลุ่ม IG กลับได้ผลคะแนนต่างกันมาก กล่าวคือ นักเรียนได้คะแนน 56 เปอร์เซ็นต์ ช่วงทำข้อสอบเดี่ยวและ 74 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงทำข้อสอบกลุ่ม ทั้งนี้ นักเรียนใช้เวลาสอบเกือบทั้งหมดในการทำข้อสอบกลุ่ม แต่การทำข้อสอบเดี่ยวนักเรียนใช้เวลาไปเพียง ⅓ ของเวลาที่ใช้ในการทำข้อสอบกลุ่มเท่านั้น
นอกจากนี้ หลังจากกระบวนการทดลองดังกล่าวเสร็จสิ้นไปแล้วสองสัปดาห์ นักเรียนต้องกลับมาทำข้อสอบ CSEM อีกครั้งหนึ่งด้วยตัวเองเพื่อวัดผลว่าความรู้ที่ได้ไปแล้วยังคงติดตัวพวกเขาอยู่หรือไม่ ผลการทำข้อสอบครั้งสุดท้ายนี้ชี้ให้เห็นว่านักเรียนกลุ่ม IG ได้คะแนนมากกว่ากลุ่มที่ไม่เคยได้สอบแบบกลุ่มเลยถึงราว 10 คะแนน
น่าเสียดายว่าผลการทดลองโดยรวมไม่อาจสรุปความแตกต่างทางสถิติของผลสอบระหว่างกลุ่ม GI และ IG เนื่องด้วยจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่น้อยเกินไป แต่ก็ยังพอมีผลการทดลองปลอบใจว่านักเรียนที่ตอบผิดในรอบการสอบเดี่ยวสามารถเลือกคำตอบที่ถูกต้องได้ในรอบการสอบกลุ่มมากกว่าการสอบแบบเดาสุ่มคำตอบถึง 10 เท่า และคะแนนที่ได้เพิ่มขึ้นนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่านักเรียนจะเก่งหรืออ่อนแต่ประการใด
เหนือสิ่งอื่นใด คุณซิงห์ได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า สิ่งสำคัญคือการนำกระบวนการเรียนรู้แบบกลุ่มประกอบกับกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติมทั้งในห้องเรียนและการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยรูปแบบต่างๆ อาทิ การทำกิจกรรมสะสมคะแนนนอกห้องเรียนร่วมกัน มากกว่าการปล่อยให้นักเรียนทำงานกลุ่มกันเองโดยไม่มีกระบวนการใดๆ มาสนับสนุนและช่วยเหลือพวกเขาค่ะ
สุดท้ายแล้ว การสอบวัดผลเป็นไปเพื่อชี้วัดว่านักเรียนเข้าใจบทเรียนมากน้อยเพียงใด การสอบเป็นกลุ่มสามารถนำปรับใช้ได้จริงบ้างหรือไม่ คำถามสำคัญสองข้อที่ต้องถามจากผลการทดลองของงานวิจัยชิ้นนี้คือ
- การสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับต่างๆ นั้นทำเพื่อใครบ้าง และยังจำเป็นอยู่มากน้อยเพียงใดในบริบทปัจจุบัน
- วิธีการเรียนรู้แบบใดจะช่วยให้นักเรียนสามารถสร้างทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับอนาคตของพวกเขาได้
ทั้งสองข้อเป็นคำถามที่อยากให้ทุกๆ คนไม่ว่าจะเป็นผู้กำหนดนโยบาย โรงเรียน ครู พ่อแม่ผู้ปกครอง และนักเรียน ช่วยกันลองคิดดูดีๆ จะช่วยกันคิดแบบ collaboration หรือจะกลับไปคิดคนเดียวก่อนแล้วค่อยมาแลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ ก็ย่อมได้ เพราะจักรวาลเรื่องการศึกษาไม่ได้มีข้อสอบเป็นศูนย์กลางเพียงเท่านั้น ไม่มีหนึ่งคำตอบตายตัว และต้องอาศัยการร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ช่วยกันคิดร่วมกันค่ะ