เรียนภาษาอังกฤษ…แค่ไหนที่เธอว่าดีพอ

ภาพประกอบ: Shhhh

 

จากข่าวที่กระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้บังคับใช้นโยบาย ‘ห้ามสอนภาษาอังกฤษ’ แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 โดยให้เริ่มเรียนภาษาอังกฤษในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยพุ่งเป้าไปที่โรงเรียนประถมและสถาบันเอกชน หากฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษที่หนักหนาเอาการ

กระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้เกิดนึก ‘เฮี้ยน’ มาห้ามปรามทำไม ในเมื่อยิ่งเริ่มเรียนภาษาที่สองเร็วเท่าไรมันก็น่าจะเป็นเรื่องดีกับเด็กสิ

แต่ทำไมเกาหลีใต้ไม่คิดเช่นนั้น แล้วตกลงเด็กๆ ต้องเริ่มเรียนภาษาต่างประเทศ (การเรียนภาษาโดยที่เด็กคนนั้นไม่ได้มาจากครอบครัวที่มีพ่อแม่ใช้สองภาษาในบ้าน) เมื่อไรกัน

เริ่มเลย จะรออะไร ไม่เช่นนั้นจะไม่ทันการ

นักทฤษฎีสายการเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง (Second Language Acquisition: SLA) เคยนำเสนอ critical period hypothesis มันมีชื่อเล่นว่า CPH หมายความถึงช่วงเวลาที่เด็กสามารถเรียนรู้ภาษาได้ดีที่สุด โดยในงานเขียนของ ไวล์เดอร์ เพนฟิลด์ (Wilder Penfield) และ ลามาร์ โรเบิร์ตส์ (Lamar Roberts) ในปี 1959 ระบุว่าช่วงก่อนอายุ 9 ขวบคือวัยที่เหมาะสมที่สุดในการเรียนภาษา เพราะสมองมนุษย์ยังยืดหยุ่นพอเหมาะพอดีสำหรับทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในการใช้เรียนภาษาอยู่

ต่อมาในปี 1967 เอริค เลนเบิร์ก (Eric Lenneberg) แย้งว่าต้องเรียนก่อนเข้าวัยเจริญพันธุ์ เพราะตอนนั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองจะเริ่มจำกัดภารกิจให้กับชิ้นส่วนข้างซ้ายและขวาของมันเอง (laterization) ดังนั้นถ้าการเรียนภาษาเกิดขึ้นหลังจากนี้ไปจะเป็นงานยากแล้ว

แต่แล้วในปี 1973 สตีเฟน แครชเชน (Stephen Krashen) กลับบอกว่ากระบวนการจำกัดภารกิจของสมองนั้นจบไปตั้งแต่เด็กอายุ 5 ขวบ วัยรุ่นนี่ช้าไปแล้วจ้า ทั้งนี้ทั้งนั้นสมมุติฐานนี้มักใช้กับทักษะด้านการออกเสียงและไวยากรณ์

อีรุงตุงนังเหลือเกิน

อีกเสียงสนับสนุนหนึ่งฟันธงแน่นอนว่าเราต้องรีบ 2-3 ขวบปีแรกคือการวางรากฐานของชีวิต ทักษะความสามารถต่างๆ ถึงร้อยละ 50 จะถูกพัฒนาจนกระทั่งอายุ 4 ขวบ และอีกร้อยละ 30 ในช่วงอายุ 8 ขวบ การเรียนภาษาที่สองตั้งแต่ 3 ขวบจึงน่าจะเหมาะสม แต่การเรียนภาษาในช่วงอายุ 3 ขวบต้องจัดการให้เป็นไปตามพัฒนาการของช่วงวัย นั่นคือเรียนผ่านการเล่น หรือเพลง ไม่ใช่การเรียนแต่ไวยากรณ์หรือการท่องจำเพียงอย่างเดียว

อีกเหตุผลหนึ่งคือ การจัดการของสมองเราเอง เมื่อเรียนภาษาที่หนึ่งสมองจะจดจำเสียงต่างๆ เอาไว้ และมองว่าทุกเสียงสำคัญเท่ากันหมด ถ้าเสียงต่างๆ ในภาษาที่สองนั้นคล้ายกับภาษาที่หนึ่ง สมองจะเก็บเสียงเหล่านั้นไว้ในหมวดเดียวกันกับภาษาที่หนึ่ง แต่เมื่อเกิดเสียงที่แตกต่างออกไป สมองจะมองว่าต้องเก็บไว้อีกที่หนึ่ง จึงทำให้การออกเสียงบางเสียงยากสำหรับผู้เรียนภาษาที่สองที่มีระบบเสียงแตกต่างจากภาษาที่หนึ่งมากๆ

แต่ทว่า CPH นั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ได้อธิบายเรื่องระยะเวลาที่เด็กใช้ในการเรียนรู้ภาษาที่สองจนกระทั่งสามารถใช้ภาษาได้เหมือนเจ้าของภาษา และยังมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่พบว่าหลังจากผ่านพ้นช่วง CPH ไปแล้ว เด็กที่อายุมากขึ้นก็ยังสามารถเรียนรู้ภาษาที่สองได้ดีอยู่ อย่างงานของ เอลเลน เบียลิสสต็อค (Ellen Bialystok) และ เคนจิ ฮะคุตะ (Kenji Hakuta) ในปี 1994 ก็พบว่าความสามารถในการเรียนภาษาของคนจะลดลงเมื่ออายุ 20 ปี

เรียนช้าหน่อยก็ไม่เป็นไรนี่

เมื่อสำรวจผลการวิจัยอื่นๆ เพิ่มเติมก็พบว่า มีทั้งงานวิจัยที่ระบุว่าเด็กอายุ 12-15 ปีเรียนภาษาที่สองได้ดีกว่าเด็กที่อายุน้อยกว่า (เรียนในที่นี้คือการเรียนทั้งในห้องเรียนและตามธรรมชาติ) เพราะทักษะด้านการคิดเชิงนามธรรม การคิดวิเคราะห์ แยกแยะ จัดกลุ่ม และการอนุมานพัฒนาเต็มที่แล้ว

โรเบิร์ต บลาย-โรมัน (Robert Bley-Vroman) ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในงานเขียนปี 1988 ว่า ผู้ที่เรียนภาษาที่สองต้องอาศัยการเรียนรู้ประเภทอื่นๆ ด้วย การเรียนรู้ภาษาด้วยวิธีการเรียนไวยากรณ์ไม่ใช่วิธีการซึมซับภาษาตามธรรมชาติแบบการเรียนภาษาที่หนึ่ง ซึ่งนั่นหมายความว่า ผู้เรียนจะไม่มีวันประสบความสำเร็จถึงขั้นสื่อสารภาษาที่สองได้เหมือนภาษาที่หนึ่ง ‘เป๊ะ’ แต่สมมุติฐานนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงเป็นวงกว้างอยู่ดี

ยูบิน อะบูตาเลบี (Jubin Abutalebi) นักประสาทวิทยา-ภาษาศาสตร์จิตวิทยา อธิบายว่าคนเราเรียนภาษาที่สองผ่านโครงสร้างระบบประสาทแบบเดียวกับที่เราใช้เรียนภาษาที่หนึ่งนั่นแหละ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้ไวยากรณ์ ดังนั้นการจะมีทักษะภาษาที่สองใกล้เคียงกับภาษาที่หนึ่งก็ยังมีความเป็นไปได้อยู่

โอย…เหนื่อย

สรุปว่าไม่มีข้อสรุป

และเป็นเรื่องที่วงการนักวิชาการเลิกพยายามหาข้อสรุปแล้ว เพราะโจทย์นี้ไม่เข้ากับยุคสมัยอีกต่อไป

ด้วยความหลากหลายของภาษาอังกฤษ การนิยามว่าภาษาอังกฤษมีอันเดียวแบบเดียว-ซึ่งนั่นคือแบบประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่หนึ่ง จึงไม่น่าจะยุติธรรมเท่าใดนัก แล้วไทยเรานี่จัดอยู่ในบริบทการเรียนภาษาแบบไหนกัน

การเรียนภาษาอังกฤษเป็น ‘ภาษาที่สอง’ (English as a second language) คือการที่เด็กพูดกับพ่อแม่ด้วยภาษาหนึ่งและออกไปเรียนในโรงเรียน หรืออยู่ในสังคมที่พูดอีกภาษาหนึ่ง จึงยังเรียกว่าประเทศไทยเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองไม่ได้เต็มปาก สังคมเราใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกันจริงๆ ในวงที่จำกัดมาก ดังนั้นการเรียนเพื่อความเป็นเลิศแบบภาษาที่หนึ่งจึงเป็นเรื่องที่ต้องนำมาขบคิดกันจริงๆ จังๆ ก่อนว่ามีความจำเป็นมากน้อยขนาดไหน

ความจริงแล้วอาจกล่าวได้ว่าการเรียนภาษาอังกฤษบ้านเราเป็นการเรียนในฐานะ ‘ภาษาต่างประเทศ’ (English as a foreign language) เราได้เรียนจากห้องเรียนเสียส่วนใหญ่ ไม่ใช่จากที่บ้านหรือสภาพแวดล้อมภายนอก เมื่อเป็นเช่นนั้น ข้อถกเถียงเรื่อง CPH อาจใช้ไม่ได้กับทุกคน เพราะคนไทยไม่สามารถเข้าถึงสภาพแวดล้อมเช่นนั้นได้เท่าเทียมกัน หรือหากต้องการก็คงต้องใช้ต้นทุนไม่น้อย (โชคดีที่มีอินเทอร์เน็ตแล้ว ต้นทุนก็ลดลงบ้าง)

เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 15,335 เหรียญต่อปี แต่ค่าใช้จ่ายในการเรียนภาษาต่างประเทศในสถานศึกษาบางแห่งอาจสูงถึง 1,500 เหรียญต่อเดือน หมายความว่ามีคนเพียงหยิบมือหนึ่งเท่านั้นที่มีต้นทุนชีวิตพอจะจ่ายเงินจำนวนนี้

ปัญหาของประเด็นนี้คือนิยามของความสำเร็จในการเรียนภาษาต่างประเทศ เราต่างมุ่งมั่นตามหาความ ‘เป๊ะ’ แบบภาษาที่หนึ่งหรือเจ้าของภาษา ซึ่งต้องคิดอีกทีว่าจำเป็นสำหรับทุกคนหรือไม่ หรือ กระทั่ง ‘ยังจำเป็นอยู่หรือไม่’

การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศนั้นหากมุ่งไปที่เรื่องความสามารถในการสื่อสารตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งเอาไว้ และลดความสำคัญของการออกเสียงหรือไวยากรณ์ในระดับ ‘เป๊ะ’ ลงบ้าง ก็อาจเพียงพอแล้วหรือไม่ และเราอาจต้องพิจารณาประเด็นอื่นๆ ในการเรียนภาษาต่างประเทศอีกเพื่อทบทวนนิยามความสำเร็จที่หลากหลายขึ้น อาทิ

  • อายุที่ผู้เรียนเริ่มเรียนภาษาต่างประเทศซึ่งอาจส่งผลต่อความยากง่ายในการเรียนรู้
  • ความแตกต่างของภาษาที่หนึ่งและสอง
  • ฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้เรียน
  • สภาพแวดล้อมและบริบทวัฒนธรรมที่คนคนนั้นใช้ชีวิตอยู่ (มีการใช้ภาษาที่สองมากน้อยขนาดไหน หรือได้รับการสนับสนุนการเรียนภาษามากเพียงใด ภาษาที่เรียนอยู่นั้นมีสถานะเป็นภาษาสำคัญมากน้อยเพียงใดในสังคมนั้นๆ)

ที่สุดแล้วนิยามของความสำเร็จในการเรียนภาษาต่างประเทศนั้นหลากหลายมากกว่าไวยากรณ์และการออกเสียง เกาหลีใต้คงกำลังมองเห็นถึงความสำคัญของประเด็นอื่นๆ เหล่านี้มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองเรื่องความ ‘เป๊ะ’ แบบภาษาที่หนึ่ง ซึ่งอาจนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำได้ เมื่อทุกคนลงแข่งขันเพื่อวิ่งไปสู่ความเป็นเลิศทางภาษา ใครมีต้นทุนมากกว่าก็จะสามารถเข้าเส้นชัยได้เร็วกว่า เจ็บตัวน้อยกว่า สบายตัวกว่า ส่วนคนที่เข้าไม่ถึงความ ‘เป๊ะ’ ลักษณะนี้ก็อาจถูกสังคมปล่อยให้อยู่ที่เดิมต่อไป

ข้อนี้พอจะสรุปได้ค่ะ


ขอบคุณ:
ม.ล.ฐนิสา ชุมพล จากสถาบันภาษา Asian Institute of Technology
ดร.ปัทมวรรณ จิมากร ซิลลิ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ้างอิงข้อมูลจาก:
aljazeera.com
psychologytoday.com
parent.com
ef.co.th
Three Misconceptions about Age and L2 Learning
Stefka H. Marinova-Todd, D. Bradford Marshall and Catherine E. Snow Source: TESOL Quarterly, Vol. 34, No. 1 (Spring, 2000), pp. 9-34
In Teachers of English to Speakers of Other Languages, Inc. (TESOL)

Author

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
กุลธิดา รุ่งเรื่องเกียรติ 'ครูจุ๊ย' นักวิชาการอิสระ เคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาจากฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ ตลอดจนมีโอกาสไปค้นคุ้ยตำราเรียนของเกาหลีเหนือ ในคอลัมน์ 'เล่า/เรียน' ครูจุ๊ย คุณครูสาวพร้อมแว่นสีสด จะ 'เล่า' เรื่องราวในห้องเรียน สถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ของเด็กและครู ให้ผู้อ่านได้ 'เรียน' ไปพร้อมๆ กัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า