ความงามอาจเป็นทั้งเรื่องธรรมชาติและสามารถเสกสร้างได้ ความงามและความทรงเสน่ห์ของคลีโอพัตราเป็นกรณีตัวอย่างความงามที่ถูกสร้างด้วยอำนาจทางการเมืองและการกระทำชำเราทางประวัติศาสตร์
คลีโอพัตรางามจริงหรือ
ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าราชินีคนสุดท้ายแห่งอียิปต์ผู้นี้มีรูปโฉมโนมพรรณงดงาม เปี่ยมเสน่ห์ เป็นนักรักผู้ดึงดูดเพศตรงข้าม และใช้เสน่ห์ทางเพศเป็นอาวุธต่อสู้ทางการเมือง
ทศวรรษที่ผ่านมา ความงามและตัวตนที่ดำรงมากว่า 2,000 ปีของคลีโอพัตราก็ถูกนักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยพยายามสั่นคลอน ข้อเท็จจริงก็คือเราไม่มีหลักฐานอย่างภาพเขียนหรืองานประติมากรรมที่จะแสดงใบหน้าของคลีโอพัตรา หนทางเดียวที่นักประวัติศาสตร์จะเข้าใกล้ความจริงเรื่องความงามของนางได้คือการกลับไปสืบค้นเอกสารและบันทึกทางประวัติศาสตร์ในยุคนั้น โดยเฉพาะจากบันทึกของนักประวัติศาตร์ชาวโรมันที่อาจจะเคยพบเห็นตัวจริงของคลีโอพัตรา
บันทึกของนักประวัติศาสตร์ชาวโรมัน บันทึกไว้ว่า คลีโอพัตรามีความสวยและเสน่ห์เป็นอมตะที่หาได้ยากยิ่ง “นางมีลักษณะเหมือนสตรีไร้เดียงสา มีอารมณ์สนุกสนาน เพ้อฝัน แต่ก็แฝงด้วยความทะเยอทะยานที่ชาญฉลาด และวางตัวได้เหมาะสมกับตำแหน่งอันสูงศักดิ์ของตน”
ขณะที่บันทึกของนักประวัติศาสตร์อีกคนได้บรรยายถึงสุ้มเสียงอันไพเราะของคลีโอพัตราไว้ว่า “อ่อนหวานดุจเสียงพิณ ท่าทางที่แจ่มใสร่าเริง ทำให้นางสามารถสะกดคนฟังให้สงบนิ่งได้ ดังนั้นด้วยรูปกายที่งดงาม สมส่วน และน้ำเสียงที่นุ่มนวลไพเราะราวกับเสียงพิณ ที่กล่าวด้วยลีลาคล่องแคล่วเฉลียวฉลาด จึงเป็นอาวุธที่ร้ายกาจที่สุดของนางยิ่งกว่าอาวุธใดๆ”
เส้นบางๆ ระหว่างเสน่ห์และความสำส่อน
จอยซ์ ไทล์เดสลีย์ นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญในวิชาโบราณวัตถุของอียิปต์ ได้เขียนหนังสือชื่อ Cleopatra: Last Queen of Egypt เพื่อค้นหาตัวตนและความงามปรัมปราของคลีโอพัตราที่ฝังในความทรงจำของคนรุ่นเรา เธอบอกว่าหากจะทำความเข้าใจในเรื่องนี้ เราต้องเพิกเฉยกับทุกสิ่งที่เคยได้ยินมาเกี่ยวกับคลีโอพัตรา เริ่มด้วยข้อหาที่ว่า คลีโอพัตราสำส่อน
“เธอไม่น่าจะเป็นหญิงที่มีเสน่ห์ทางเพศชนิดร้อนแรงเหมือนอย่างที่คนทำภาพยนตร์ชอบทำให้เธอเป็น พวกเราไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดในเรื่องที่ว่าเธอมีคู่รักมากกว่า 2 คน เท่าที่เรารู้เธอมี จูเลียส ซีซาร์ ซึ่งเธอรักและไว้ใจเขามากจนกระทั่งเขาตาย และรักครั้งใหม่กับ มาร์ค แอนโทนี ฉันคิดว่าพวกเรามักจะชอบใจที่เห็นเธอเป็นผู้ใช้เสน่ห์ในการรักษาอำนาจ ซึ่งมันไม่แฟร์”
ไทล์เดสลีย์มองว่าคลีโอพัตราเป็นผู้หญิงเฉลียวฉลาด เธอขึ้นมามีอำนาจกว่า 20 ปี และซื้อเวลาเพื่อไม่ให้อาณาจักรโรมันยึดอำนาจอียิปต์ สิ่งนี้เป็นภัยคุกคามตลอดในช่วงที่เธอมีอำนาจ เธอรับช่วงอำนาจต่อจากพ่อของเธอ ซึ่งพยายามจะทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่คนยากจนและสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแรง เพื่อว่าเมื่อเธอตายไปแล้ว อียิปต์จะสามารถดำรงคงอยู่ต่อไปได้
กระบวนการสร้างความทรงจำต่อคลีโอพัตราอาจเริ่มที่บันทึกของนักประวัติศาสตร์โรมัน ภาพของคลีโอพัตราจากบันทึกของนักประวัติศาสตร์กลายเป็นแรงบันดาลใจเชิงกวีนิพนธ์แด่ วิลเลียม เชคสเปียร์ เขาเขียนโศกนาฏกรรมของ มาร์ค แอนโทนี กับ คลีโอพัตรา ขึ้นมาในปี 1608 จากนั้นโศกนาฏกรรมอันเปี่ยมจินตนาการก็ส่งต่อแรงบันดาลใจไปยังศิลปินตะวันออกแห่งศตวรรษที่ 19 ตามมาด้วยการเขียนคิ้วแต่งหน้าให้คลีโอพัตราของฮอลลีวูดสมัยใหม่ ผ่านใบหน้าของ เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ และ ริชาร์ด เบอร์ตัน ในปี 1963 ซึ่งเพิ่มความแฟนตาซีให้แก่ตำนานคลีโอพัตรา
ไทล์เดสลีย์มองย้อนขึ้นไปยังต้นธารแห่งความเป็นคลีโอพัตรา ว่าความจริงทั้งหมดที่เรารับรู้เกี่ยวกับคลีโอพัตรานั้นเป็นโฆษณาชวนเชื่อของอาณาจักรโรมัน เธอมองว่าภาพจำร่วมสมัยของคลีโอพัตรามักเป็นเรื่องของความงามอันทรงเสน่ห์ โดยละเลยเหตุผลอีกข้อที่สนับสนุนความงามของเธอ นั่นคือเหตุผลทางการเมือง
ความงามที่เพิ่งสร้าง
ในปีที่ 48 ก่อนคริสตกาล คณะที่ปรึกษาของทอเลมีที่ 13 (Ptolemy XIII น้องชายของคลีโอพัตรา) เข้ายึดอำนาจของคลีโอพัตรา นางหนีจากอียิปต์ แต่ต่อมาอำนาจของทอเลมีที่ 13 ถูกลิดรอนเมื่อเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโรม จูเลียส ซีซาร์ ไม่พอใจการกระทำของทอเลมีที่ 13 จึงยกทัพบุกยึดเมืองหลวงของอียิปต์ พร้อมกับตั้งตนเป็นผู้ตัดสินคดีชิงบัลลังก์ระหว่างทอเลมีที่ 13 และ คลีโอพัตรา หลังจากการสู้รบช่วงสั้นๆ ทอเลมีสิ้นพระชนม์ จูเลียส ซีซาร์ คืนอำนาจให้แก่พระนาง
จูเลียส ซีซาร์ พำนักในอียิปต์ตลอดช่วงฤดูหนาว ระหว่างปีที่ 48 ก่อนคริสตกาล – 47 ก่อนคริสตกาล คลีโอพัตราสร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้แก่ตนด้วยการเป็นคนรักของเขา ทำให้อียิปต์ยังคงเป็นความเป็นเอกราชไว้ได้ แต่ยังคงมีกองกำลังทหารโรมัน 3 กองประจำการอยู่ นางให้กำเนิดพระโอรส อย่างไรก็ดี จูเลียส ซีซาร์ ปฏิเสธบุตรของคลีโอพัตราเป็นผู้สืบทอดอำนาจของตน และได้แต่งตั้งให้หลานชายชื่อ ออกุสตุส ซีซาร์ อ็อคตาเวียน เป็นผู้สืบทอดอำนาจแทน ซึ่งต่อมาจะได้เข้าปกครองโรมันในนาม จักรพรรดิออกัสตัส
ต่อมาเกิดเหตุการณ์ลอบสังหาร จูเลียส ซีซาร์ ก่อนกลับถึงอียิปต์เพียงเล็กน้อย ทอเลมีที่ 14 สวรรคตอย่างลึกลับ พระนางแต่งตั้งบุตรชายเป็นผู้ร่วมครองบัลลังก์ ซึ่งมีการสันนิษฐานกันว่าคลีโอพัตราลอบวางยาพิษทอเลมี ผู้เป็นอนุชาของตนเอง
ในปีที่ 42 ก่อนคริสตกาล มาร์ค แอนโทนี หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการชุดที่สองของโรม ขอให้คลีโอพัตราเดินทางมาพบเขาที่เมืองทาร์ซุส ในแคว้นซิลิเซีย เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับความจงรักภักดีของนางต่ออาณาจักรโรมัน ต่อมาทั้งสองก็รักกัน
โปรดจดจำข้าอย่างที่ข้าเป็น
“คลีโอพัตราพยายามจัดการทุกอย่างเพื่อที่จะอยู่รอด เมื่อจักรพรรดิออกัสตัส (อ็อคตาเวียน) มีอำนาจในโรม เขาก็สร้างให้เธอเป็นศัตรูที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้ดูเหมือนว่าโรมันได้รับชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ตามไปด้วย พวกเรา-คนในสมัยปัจจุบันก็ชอบไอเดียที่มีประสิทธิภาพของจักรพรรดิออกัสตัส เพราะมันจะไม่น่าสนใจเลยหากเราพยายามมองเธออย่างที่เธอเป็นจริงๆ” ไทล์เดสลีย์บอกว่า การมองเธอแบบนี้จะทำให้เธอเป็นบุคคลจริงๆ ที่มีเลือดเนื้อ ไม่ใช่การมองแบบเหมารวม
นักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันพยายามจะมองคลีโอพัตราว่าเธออาจจะไม่ได้เป็นหญิงรูปงามก็ได้ อาจจะไม่ได้เป็นหญิงที่ใช้เสน่ห์ยั่วยวนผู้ชายให้หลงใหลก็ได้ อาจจะไม่ได้เป็นนางมารร้ายจอมแผนการอย่างที่ประวัติศาสตร์จารึกไว้ก็ได้ แต่เธอเป็นนักการเมืองผู้หลักแหลม ผู้พยายามจะต่อรองกับอำนาจเพื่อความอยู่รอดของครอบครัวหรืออาณาจักร ซึ่งสุดท้ายเธอก็ได้ชื่อว่าเป็นหญิงร้อยเล่ห์ผู้มีเสน่ห์อย่างแพศยา
“หากมองอย่างเป็นธรรมแล้ว เธอตัดสินใจพลาดที่เลือกข้าง มาร์ค แอนโทนี แทนที่จะเลือกอ็อคตาเวียน ผู้ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นจักรพรรดิ์โรมัน เมื่อการต่อสู่ระหว่างสองฝ่าย มันง่ายมากที่คุณจะตัดสินใจเลือกผิดฝั่ง ถ้าคุณเป็นนักพนัน คุณจะไม่วางเงินของคุณในฝั่งของอ็อคตาเวียนหรอก”
นี่คือมุมมองที่ทำให้เราตีความผิดๆ อย่างที่เราทำต่อเธออย่างทุกวันนี้ หากเธอเลือกข้างถูกและ มาร์ค แอนโทนี เป็นฝ่ายชนะ ประวัติศาสตร์จะวาดใบหน้าให้เธอต่างจากที่เป็นอยู่
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Main way นิตยสาร Way ฉบับที่ 74, มิถุนายน 2557)